Tag: เรื่องอจินไตย

การดูดวงเป็นการเดา

November 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,051 views 0

การดูดวง“เป็นการเดาผลของกรรมในอนาคต

1. การเดาใจ ทายใจ หรือเดาอะไรก็ตาม ศาสนาพุทธไม่สรรเสริญเรื่องพวกนี้

2. ผลของกรรม เป็นเรื่องอจินไตย คิดไปก็ปวดหัว เดาไม่ได้ ไม่ควรคิด ไม่ใช่เรื่องสถิติ

3. การเชื่อเพราะเขาเป็นหมอดูหรือเกจิอาจารย์คนดัง มีชื่อเสียง น่าเคารพ ผิดกาลามสูตรเต็มๆ

4. นักหลอกลวงมักพูดเพ้อเจ้อ พูดเลื่อนลอย กลับกลอก ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง เป็นไสยศาสตร์ เป็นเวทมนต์ ไม่ชัดเจน ลึกลับ ไม่เหมือนศาสนาพุทธที่ไม่ลึกลับ ธรรมะเป็นสิ่งที่ยินดีให้ผู้สนใจเข้ามาพิสูจน์ความจริงได้เสมอ

5.อนาคตไม่แน่นอน

พุทธศาสนิกชนที่ยังหลงมัวเมากับการดูดวงอยู่ ก็ยังห่างไกลจากการพ้นทุกข์มากนัก และห่างไกลธรรมะด้วยเช่นกัน หากต้องการเจริญในธรรม ให้เลิกหลงงมงายกับสิ่งเหล่านี้เสียก่อน

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,250 views 0

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

….ผลกำไรที่ได้รับมานั้นคุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือ

การลงทุนในตลาดหุ้น เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอันมากในหมู่คนเมืองและคนทำงานในยุคสมัยนี้ เพราะนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์นั้นดูเหมือนว่าเป็นนักลงทุน มองการไกล วิเคราะห์เก่ง แล้วยังสามารถสร้างรายได้ขึ้นมาได้จริงๆด้วย เป็นอะไรที่ตอบโจทย์โลกธรรมทั้งในมุมของลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อย่างเต็มที่

แม้ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มากมายขนาดที่ว่าการขยันหาเงินทั้งชีวิตก็อาจจะไม่ได้เงินมากเท่าลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งก็มีบุคคลที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นตัวเป็นตนกันมากมาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนเหล่านี้ได้

การประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น มีปัจจัยที่ส่งผลมากกว่าสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาหรือวิเคราะห์ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นั่นคือพลังงานของกรรม ขึ้นชื่อว่ากรรมก็เป็นเรื่องอจินไตยยากจะคาดเดาผล แต่การจะเกิดกรรมนั้นก็มาจากการกระทำ เราสามารถมองเผินๆได้ว่าเพราะเขามีการวิเคราะห์เป็นการกระทำเขาจึงประสบความสำเร็จ แต่ในมิติของกรรมนั้นลึกซึ้งกว่านั้นมาก

เพราะการจะเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือสิ่งที่เรียกว่าประสบผลสำเร็จ จะต้องมีกรรมทั้งในส่วนของปัจจุบันคือการวิเคราะห์และตัดสินใจ และกรรมในส่วนของอดีตที่เราเคยทำมาสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจึงจะเป็นผลที่ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ดังนั้นหากเราสังเกตดีๆว่า แม้เราจะลงทุนตามคนที่ประสบความสำเร็จแต่เราจะไม่ได้รับเหตุการณ์ดังที่เราคาดหมายตลอดไป นั่นเป็นเพราะกรรมของเรา เราไม่มีกรรมที่จะได้รับลาภจากการลงทุนในลักษณะนี้เราจึงไม่มีทางได้มัน ไม่ว่าเราจะพยายามเท่าไรเราก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ เว้นเสียแต่ว่าเราสะสมกิเลสเข้ามากๆ หมกมุ่นเข้ามากๆ เราจึงจะพอประสบความสำเร็จได้บ้าง แต่นั่นก็หมายถึงเราแลกมาด้วยบาปจำนวนมาก เพราะไม่มีอะไรที่เราจะได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำ การที่เราจะได้รับอะไรสักอย่าง เราต้องแลกมาด้วยบางสิ่งบางอย่างเสมอ และสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรามองเห็นก็ได้

….หุ้นขึ้นก็กิเลสขึ้น หุ้นตกก็กิเลสขึ้น

ถ้าหากเรามีเวลาทบทวนใจของเราดีๆ จะสังเกตได้ว่าเวลาที่หุ้นที่เราถือครองอยู่นั้นปรับค่าขึ้นหรือมีแนวโน้มที่จะขึ้นจิตใจของเราก็จะฟูขึ้นด้วยความดีใจ ตามติดมาด้วยความโลภที่จ้องจะขายเมื่อถึงราคาที่เราพอใจ บ่อยครั้งที่ชะล่าใจขายไม่ทันแล้วสุดท้ายราคาร่วงลงมา และบ่อยครั้งที่รีบขายทั้งที่ราคายังพุ่งขึ้นไปได้อีก ไม่มีเหตุการณ์ใดเลยที่ไม่มีกิเลสเข้าไปปนในกระบวนการเหล่านั้น ทุกความดีใจเสียใจล้วนปนไปด้วยกิเลสทั้งสิ้น

แม้ว่ายามหุ้นตก จิตใจก็ตกต่ำตาม ด้วยความเสียดายเงินที่ลงไป พยายามติดตามข่าวด้วยใจที่หวังว่ามันจะขึ้น จะได้เงินจะมากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลในเรื่องของการลงทุนนั้นก็เป็นไปในรูปแบบของการพนันทั้งสิ้น แม้เราจะนิยามมันว่า การลงทุน มีการวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย แม้จะดูเหมือนเป็นนักวิเคราะห์ เป็นผู้รู้ เป็นนักวางแผน แต่ก็อยู่ใต้เกมของกรรมกิเลสที่เรียกว่าอบายมุขอยู่ดี

….หุ้นคืออบายมุข

การลงทุนในหุ้นแม้จะได้รับการยอมรับในสังคม แม้จะไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่ผิดในทางธรรม เป็นทางเสื่อมแห่งอบายมุขอยู่ดี ไม่ว่าเราจะสรรหานิยามมาปรุงแต่งการลงทุนให้ดูสวยหรูเพียงใด ดูดีมีประโยชน์แค่ไหน การลงทุนเหล่านี้ก็เป็นได้แค่หนึ่งในทางฉิบหายของชีวิตหรือที่เรียกว่าอบายมุข นั่นคือการพนันนั่นเอง

ลักษณะของการพนันคือการลงทุนไปหนึ่งหน่วยแต่หวังจะให้มันงอกเงยมากกว่าหนึ่งหน่อยโดยอาจจะใช้ตรรกะเข้ามาคิดคำนวณและก็มีโอกาสที่จะหนึ่งหน่วยนั้นจะหายไปด้วย ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการพนันแบบแท้ๆ ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ ไม่ใช่ทางที่ถูกของพุทธ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางสู่ความผาสุกในชีวิต

….หุ้นกับความผาสุกในชีวิต

เรามักจะได้รับข้อมูลว่าการลงทุนนั้นทำให้ร่ำรวยและสบายในตอนท้ายของชีวิต ทำให้ชีวิตผาสุกซึ่งเป็นค่านิยมในยุคนี้ที่คนจะลงทุนในตลาดหุ้น แต่ในยุคก่อนหน้านี้การลงทุนจะต่างออกไป คือจะลงทุนให้เวลากับหน้าที่การงาน ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน คือลักษณะที่เห็นได้ชัดในคนยุคเบบี้บูม แต่พอมาในยุคนี้เรากลับลงทุนในการพนัน โดยใช้การพยากรณ์ การวิเคราะห์ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าเดา การเดานี้มันก็มีข้อมูลเหมือนกันไม่ใช่ว่าไม่มี เช่นการเดาข้อสอบเราก็เดาว่าคำตอบส่วนใหญ่น่าจะเป็นข้อนี้มากที่สุด เช่นเดียวกันกับการลงทุนในตลาดหุ้น แม้ว่าจะมีข้อมูลมากมายมหาศาลวิเคราะห์กันจนหัวหมุน สุดท้ายก็สรุปลงตรงที่การเดา

เมื่อชีวิตมีแต่การคาดเดา ไม่ได้สร้างทรัพย์ขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจและความสามารถอย่างแท้จริง ก็ต้องวัดดวงกับเศรษฐกิจและสังคม เป็นการพนันที่อ้างอิงระบบใหญ่ขึ้นมามากกว่าการใช้ไพ่หรือลูกเต๋าเท่านั้นเอง

ดังนั้นการจะมีชีวิตผาสุกบนพื้นฐานของอบายมุขนั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย ผู้ประสบความสำเร็จนั้นก็เป็นเพียงคนที่กินกุศลเก่า เอากรรมเก่าของตนเองมาใช้เสพกิเลส ส่วนคนที่โลภอยากได้ตามเขาก็ต้องเจ็บช้ำไปตามๆกันเพราะตัวเองไม่มีกุศลเก่าให้กินให้ใช้เหมือนคนอื่นเขาก็เลยต้องขาดทุนกันเรื่อยไป

ผู้ที่คิดจะเอาดีในทางธรรม หรือต้องการจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หากยังข้องแวะกับอบายมุขหรือการลงทุนในตลาดหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน ก็ยากจะพบกับความผาสุกในชีวิต เพราะกิเลสหยาบแสนหยาบในระดับอบายมุขตัวเองยังพ้นไปไม่ได้ ยังยินดีที่จะจมอยู่ในนรกโดยแลกมาด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ก็ไม่มีวันที่จะออกจากขุมนรกนี้ได้ ไม่มีวันผาสุก ต้องวนเวียนอยู่ในความฉิบหายอีกนานแสนนาน

….ความร่ำรวยไม่ได้หมายความว่าจะสนองกิเลสได้ทุกอย่าง

การที่เรามีความร่ำรวย มีเงินทองสนองกิเลสนั้นไม่ได้หมายความจะสนองกิเลสได้ทุกอย่างเสมอไป ในมุมคนที่ไม่เคยมีลาภ มีเงินทองก็มักจะมองว่า หากฉันมีเงินฉันจะมีความสุข หากฉันร่ำรวยชีวิตของฉันจึงเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แบบนี้มันคิดแบบคนไม่เคยมี พอไม่เคยมีก็ไม่เคยเห็นกิเลสตัวเอง

กิเลสนี่แหละคือสิ่งที่เหนือชั้นเหนือความร่ำรวยขึ้นไปอีก หากเรามีลาภเราก็จะอยากได้ยศ พอมียศเราก็จะอยากได้สรรเสริญ ทั้งหมดเพราะเราเมาในโลกียสุขนั่นเอง กิเลสไม่เคยปล่อยให้เราพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน มันจะกระตุ้นความอยากในจิตใจของเราให้ออกไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่แพงกว่ามาเสพเสมอ

เมื่อเรามีเงิน กิเลสก็จะชักจูงเราไปเสพสิ่งต่างๆเพื่อบำเรอกิเลส การหาเงินเก่งไม่ได้หมายความว่าจะเก็บเงินเก่ง ถึงจะเก็บเงินดีอย่างไรสุดท้ายก็ต้องเสียไปให้กิเลสอยู่ดี ถ้าจะสรุปจริงๆก็คงจะเป็นหาเงินเพราะกิเลสตั้งแต่แรก มันมีกิเลสเป็นตัวบงการแต่แรก ยอมเป็นทาสกิเลสตั้งแต่เริ่มจนจบนั่นแหละ

ซ้ำร้ายเงินและความมั่งคั่งไปด้วยยศและชื่อเสียงก็ยังไม่ใช่สิ่งที่บันดาลสุขให้ได้เสมอไป หากเราพบว่าตัวเรานั้นเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ถึงจะร่ำรวยและมีคนนับหน้าถือตาเพียงใด ก็คงจะไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้เท่าก่อนหน้าที่เราจะพบว่าเราป่วยอย่างแน่นอน นั่นเพราะเงินซื้อไม่ได้เสียทุกอย่าง คนที่ลงทุนในตลาดหุ้นแล้วมองว่าถ้ามีเงินก็จะได้สนองกิเลสได้นั้นเป็นการประเมินกำลังของกิเลสที่ผิดอย่างมหันต์

….ความไม่เที่ยงของหุ้นและชีวิตนักลงทุน

แม้ว่าเราจะมองว่าการลงทุนในหุ้นเป็นการออมเงินที่ได้ผลกำไรดีวิธีหนึ่ง แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่เที่ยงอยู่ดี เพราะในมุมของโลกียะถ้ามีผลดีก็ต้องมีผลไม่ดีอยู่คู่กันเสมอ การออมในหุ้นจึงเป็นคำเรียกที่ดูดีเอาไว้หลอกคนโลภให้มั่นใจในการเล่นหุ้นเท่านั้นเอง

การที่เรามีเงินมากมายในตลาดหุ้นไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นหลักประกันในชีวิตของเราได้เสมอไป ยังมีเหตุปัจจัยอีกมากมายที่บีบให้เราต้องสละทรัพย์ทั้งหมดเพื่อสิ่งอื่น เช่นเมื่อเราเล่นหุ้นไปสักพักสะสมวิบากบาปได้จนเหมาะสม กรรมก็อาจจะดลบันดาลให้เราหรือคนรักของเราป่วย ทำให้เงินที่เราสะสมมาต้องถูกใช้ไปหมดในพริบตาก็ว่าได้

ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ตลาดหุ้นมีสภาพไม่เที่ยงนั้นมีมากไปหมด ตั้งแต่เศรษฐกิจและสังคม จนถึงการปั่นหุ้นของคนมีกิเลสด้วยกันก็ทำให้เกิดสภาพเหล่านั้น เมื่อสภาพเหล่านั้นไม่เที่ยงแต่เรากลับไปยึดเกาะด้วยหมายที่จะเอาชนะ ยึดมั่นถือมั่นว่าฉันนี่แหละแน่ ฉันนี่แหละคือคนที่จะได้กำไรในสภาพไม่เที่ยงเหล่านี้ ดูสิกิเลสมันอหังการขนาดไหน ขนาดเห็นกันอยู่ชัดๆว่าเป็นการพนันบนสภาพที่แปรผันตลอดเวลายังเมามายในอบายมุขกันได้อย่างภาคภูมิใจ

คงจะเหมือนดังที่เขาเปรียบไว้ว่า “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” แต่จะว่าเหมือนก็คงไม่ใช่ แมลงนี่มันมีปัญญาน้อย การที่มันจะหลงในแสงสีของไฟก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลก แปลกตรงคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น มนุษย์ผู้ประเสริฐแต่กลับหลงเมามายอยู่ในอบายมุขและเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มองว่าการพนันอย่างการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องดีเสียอย่างนั้น

….วิบากกรรมของคนเล่นหุ้น

ขึ้นชื่อว่าอบายมุข หรือทางฉิบหายในชีวิตแล้ว วิบากกรรมหรือผลกรรมที่เกิดจากการเล่นหุ้นนั้นคงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ในมุมแรกคือหากเราประสบความสำเร็จจากการเล่นหุ้น ก็จะไปเหนี่ยวนำหรือเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเล่นหุ้นตาม แล้วก็จะมีคนที่เข้าสู่อบายมุขเพิ่ม แม้เขาจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ถือว่าเป็นการชักจูงคนเข้าสู่อบายมุข แม้จะมีหน้าตาสดใส แต่งตัวดี ผูกไทด์ใส่สูทสร้างภาพดูหรูหราน่าชื่นชมอย่างไร สุดท้ายก็เป็นแค่ทูตแห่งอบายมุขเท่านั้นเอง

แล้วเงินที่เราลงทุนไปในตลาดหุ้นนั้นสร้างอะไรให้กับเรา ในมุมของนักลงทุนเขาก็จะบอกว่านำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศชาติเจริญ แต่ในมุมของธรรมะไม่ใช่แบบนั้น เงินที่เราลงทุนไปในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้นต้องดูให้ดีว่าเขามีธรรมาภิบาลหรือไม่ เขาประกอบสัมมาอาชีวะหรือไม่ ผิดมิจฉาวณิชชาหรือไม่ หากเขาทำธุรกิจบาป เราก็จะกลายเป็นคนที่สนับสนุนบาป ก็ได้บาปร่วมกันกับเขาไป แต่ถ้าหากฉากหน้าเขาเป็นธุรกิจที่ดี แต่รู้หรือไม่ว่าเงินที่ลงทุนนั้นถูกโยกย้ายไปมาอยู่เสมอ ธุรกิจของเขาอาจจะเป็นธุรกิจที่ดี แต่เขาเอาเงินลงทุนที่เราลงไปส่วนหนึ่งไปลงทุนกับอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นธุรกิจบาป เราก็ต้องรับในวิบากกรรมส่วนนี้ไปด้วย เพราะเราเป็นหนึ่งในแรงหนุนให้เขามีกำลังไปทำบาป

ทีนี้พอเราสนับสนุนธุรกิจบาปเข้ามากๆ บาปก็จะกลับมาเล่นงานเราเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเราไปลงทุนในธุรกิจอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์เช่นไก่ทอด เราก็จะอยากสนับสนุนให้บริษัทที่เราลงทุนไว้มีกำไรเราจึงกินไก่ทอดนั้น พอมีคนมาชวนให้กินมังสวิรัติซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่บาปของเราจะก็จะต่อต้านในทันทีเพราะขัดแย้งกับสิ่งที่เราลงทุนไว้ เห็นไหมนี่เป็นเพียงมุมเล็กๆที่เกิดจากความเห็นผิดไปในอบายมุขเท่านั้น

วิบากบาปจากการลงทุนในตลาดหุ้นยังมีอีกมาก หากสังคมยังเคลื่อนที่ไปด้วยทุนนิยม ชีวิตจะไม่มีวันพบกับความผาสุกเลย ลองสังเกตเมืองใหญ่ที่มีเงินมากมายมหาศาล มีเม็ดเงินหมุนเวียนกันสร้างวัตถุได้ยิ่งใหญ่มากมาย แต่กลับมีความสุขไม่มากเท่าประเทศเล็กๆอย่างภูฏานซึ่งแทบจะไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เลย

คนที่หลงว่าทุนนิยมคือความสุขนี่แหละคือวิบากบาปของคนที่หลงมัวเมาในเงิน ในความมั่งคั่งจนบดบังความจริงของชีวิต กิเลสมันจะบังไว้หมด ทำให้หลงว่าเงินและความเจริญของประเทศคือความสุข มันจะไม่เห็นว่าความพอเพียงคือความสุข และความเข้าใจนี้เองที่จะผลักดันให้พวกเขาเดินหน้าสู่นรกอย่างมั่นใจ นี้เองคือพลังแห่งวิบากบาปที่ทำให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

….การลงทุนในโลกียะกับชาติภพที่ไม่มีวันจบสิ้น

นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นหรือในการลงทุนอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายๆกัน คือนักลงทุนที่วิเคราะห์และเข้าใจได้เพียงความเป็นอยู่ในชีวิตนี้เท่านั้น จึงตัดสินใจลงทุนแม้ว่ามันจะเป็นอบายมุข จะเป็นการพนันแค่ไหนก็ยินดีที่จะทำเพราะมองเห็นเพียงแค่ว่า ขอให้ฉันมีชีวิตที่สุขสบายในชาตินี้ก็เพียงพอ

แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้จบแค่ตาย ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านของภพหนึ่งไปภพหนึ่ง เปลี่ยนจากคนแก่เปลี่ยนชีวิตที่ใกล้ตายไปเป็นชีวิตใหม่ โดยใช้กรรมเก่าที่ทำมาในชาติที่ผ่านมา ร่วมกับกรรมเก่าที่เก็บสะสมไว้หลายต่อหลายชาติก่อนหน้านี้ สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นร่างใหม่ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมแก่กรรม

ดังที่เราเห็นได้ว่า เราเกิดมาพร้อมกับปัจจัยที่ไม่เท่ากันในแต่ละคน บางคนรวย บางคนจน บางคนหน้าตาดี บางคนธรรมดา บางคนปกติ บางคนพิการ ในเมื่อผลของกรรมคือการรับสิ่งที่เราทำมา แต่เราเกิดมาเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็มีพ่อแม่มาเลี้ยงแล้ว ดังนั้นไม่ว่าการเกิดมาในภพใด จะยากดีมีจน มีคนรักมีคนดูแลหรือถูกทิ้ง ล้วนเกิดจากกรรมที่สะสมไว้ทั้งนั้น เป็นการนำกุศลกรรมเก่ามากินมาใช้ในช่วงที่ยังเป็นเด็ก

ทีนี้นักลงทุนที่มองเพียงแค่ชาติเดียวก็จะลงทุนพลาด จะลงทุนไปเพียงแค่ในเชิงโลกียะ หรือแม้จะทำกุศลก็ทำไปเพียงแค่ในเชิงโลกียะ การจะเกิดมารวยหรือจนนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือการเกิดใดๆล้วนต้องประสบทุกข์ ไม่ว่าจะปุถุชนหรือพระอรหันต์ก็ต้องเจอกับทุกข์

ดังนั้นการลงทุนของนักลงทุนทั่วไปก็จะสามารถทำให้ตัวเองมีกินมีใช้ในชาตินี้หรืออย่างมากก็ชาติหน้าเท่านั้น แต่นักลงทุนที่เก่งกว่าจะมองเห็นไปถึงวัฏสงสารที่แสนยาวไกล จึงวางแผนได้ไกลกว่า วิเคราะห์ได้ลึกซึ้งกว่า เห็นไปถึงรูปและนามที่สะสมมา เห็นกิเลส เห็นภพ เห็นชาติ เห็นการเกิดและการดับใดๆก็ตามในโลกนี้ จึงสามารถจัดสรรการลงทุนให้เป็นไปทางโลกียะและโลกุตระอย่างเหมาะสม ลงทุนทั้งทางโลกและทางธรรมให้เป็นไปอย่างกุศล ทางโลกก็เพื่ออาศัย ทางธรรมก็เพื่อดับกิเลส อาศัยเกิดและดับไปอย่างนี้ทุกชาติ สร้างกุศลซึ่งเป็นกำไรแท้สะสมไปทุกชาติ

ดังนั้นนักลงทุนข้ามภพข้ามชาติจึงไม่กลัวจน แต่จะกลัวรวย เพราะการรวยนั้นหมายถึงการเบิกกุศลเก่ามาใช้เกินพอดี แต่การจนนั้นคือการออม และเก็บสะสมกุศลที่ตัวเองไว้กินใช้ภายหน้า ซึ่งเหมือนกับธนาคารกรรมที่เก็บสะสมไว้ ส่วนจะมีมากน้อยเพียงไร คงมีเพียงนักลงทุนผู้นั้นเท่านั้นที่จะรู้ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

17.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,095 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์