Tag: สรรเสริญ

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,081 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

August 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,210 views 0

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก เกิดมาไม่สวยตามที่คนอื่นเขาเข้าใจ ยังต้องไปลำบากทำให้มันสวยของมันมาดีอยู่แล้วก็ไปเสริมเติมแต่งตัดต่อให้มันเป็นไปตามความอยาก โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่จริงแล้วทำไปเพื่ออะไร…

การมีความสวยงาม มักดูเป็นเรื่องดี มีแต่คนอิจฉา อยากจะเป็น อยากจะสวยบ้าง อยากจะดูดีบ้าง เหล่าหญิงผู้ที่เข้าใจว่าตัวเองมีหน้าตาธรรมดาทั่วไปก็เลยต้องลำบากไปหาเครื่องเสริมเติมแต่งให้หน้าตาออกมาดูดี หรือถ้ายังไม่พอใจก็จะเริ่มแต่งตัว ไปจนถึงเปิดนั่นนิด เปิดนี่หน่อย จนถึงกระทั่งใช้ร่างกายของตนเป็นจุดขาย โดยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเราอยากจะสวยไปทำไม…

มีหลายคนที่ไม่ได้เกิดมาสวยเลิศเลอ ก็เลยต้องพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสวย ต้องหาเครื่องบำรุง เครื่องประดับ เสื้อผ้าหน้าผม จนกระทั่งการไปผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ออกมาสวยหรือดูดี เหตุที่ผลักดันความอยากสวยเหล่านี้ ถ้าจะอ้างกันไปคงจะมีหลายประการ แต่ถ้าจะเจาะลงรากลึกๆก็คงจะเป็นเรื่องของความหลงในรูปของตัวเอง กับอยากให้ผู้อื่นสนใจ

ความหลงในรูปและ อยากให้ผู้อื่นสนใจ

คือเข้าใจว่า สวยจึงจะดี ต้องดูดีผิวเนียนหุ่นดี จึงจะดี ต้องมีหน้าตาแบบนั้น แต่งกายแบบนี้จึงจะดี ฯลฯ และหลงไปในความสวยของตัวเอง เสพติดความสวยจนต้องหาสิ่งมาปรนเปรอบำเรอความสวย

ความหลง ความอยากหรือกิเลสเหล่านี้ ถ้ามีมากๆก็จะทะลักออกข้างนอก ไม่อยู่ข้างในตัว คือจะเริ่มเผยแพร่ความสวยของตนออกไป เช่นถ่ายรูปตัวเอง ทำท่าแบบนั้นแบบนี้ เริ่มเปิดโป้เปลือยออกสู่สาธารณะ เพราะความหลงในความสวยของตัวเองมันมากจนควบคุมไม่ไหว และหลงเข้าใจผิดว่าเป็นของควรอวด เข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งควรค่าแก่การนิยม เข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งดี จึงทำให้ไม่สำรวมกายแจกจ่ายออกให้ผู้อื่นรู้ว่าฉันสวย ฉันดูดี สนใจฉันสิ ดังนั้นเหตุหลักๆที่ผลักดันให้คนเกิดความอยากสวยก็คือ ความอยากให้ผู้อื่นสนใจ เป็นที่สนใจ เป็นที่นิยมชมชอบ หรือติดโลกธรรมนั่นเอง

ความอยากให้ผู้อื่นสนใจไม่ได้หมายเพียงแค่เรื่องคู่ แต่เป็นเรื่องที่ขยายไปไกลถึงกระทั่งหมกมุ่นในคำสรรเสริญ คำชม ความนิยมชมชอบ ดังที่จะเห็นได้ชัดในปัจจุบัน มีผู้หญิงมากมายสร้างตัวเองให้เป็นที่นิยม บ้างก็ขายความสวย บ้างก็ขายความน่ารัก บ้างก็ขายเรื่องราว บ้างก็ขายไปถึงร่างกาย เช่น เอาร่างกายส่วนนั้นส่วนนี้มาโชว์ เปิด โป้ เปลือยกันไปเพื่อแลกกับความนิยมชมชอบ

ความนิยมชมชอบเป็นเสมือนแหที่หว่านลงไปในทะเล แท้ที่จริงแล้ว คนเราก็มักจะมีแรงผลักดันจากความเหงา การต้องการคนเข้าใจ เธอเหล่านั้นใช้วิธีด้านปริมาณเพื่อจะมาคัดคุณภาพของสิ่งที่จะได้รับ เพราะเมื่อสร้างความสวยงามที่มากขึ้น ก็จะมีคนเข้ามามากขึ้น เมื่อมีคนเข้ามามากขึ้นก็จะสามารถเลือกได้มากขึ้น สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นเรื่องของการมีคู่

แต่ในความจริง ความสวยงามหรือความนิยมเหล่านั้นจะดึงเอามาได้เฉพาะคนที่มีกิเลส เหมือนการตกปลาก็คงจะมีเฉพาะปลาที่หิวโหยและโง่เท่านั้นที่จะมากินเหยื่อ ดังนั้นการตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาความสวยดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นบทความจนกลายมาเป็นที่นิยม ก็เพียงแค่หาเหยื่อโง่ๆ ที่มาหลงไปกับความสวยและยินยอมพร้อมใจจะมาปรนเปรอกิเลสของตัวเองได้เท่านั้นเอง

จริงอยู่ที่ว่าผู้ชายนั้นชอบคนสวย ก็ไม่ต่างกันจากผู้หญิงที่ชอบผู้ชายดูดี เป็นความหลงในรูปของร่างกาย เป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นของหยาบ รู้ได้เพียงแค่ใช้การมอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสของผู้ชายเหล่านั้นจะหยุดลงแค่เสพรูปกาย เขาเหล่านั้นยังมีความต้องการอีกมากมายที่คุณอาจจะคิดไม่ถึง จึงเรียกได้ว่า สวยอย่างเดียวไม่เพียงพอจะเติมเต็มกิเลสเขาได้หรอก

ดังนั้น ไม่ว่าจะพยายามที่จะสวยเพื่อบำรุงบำเรอกิเลสตัวเอง หรือปรนเปรอกิเลสของผู้อื่น ก็มีปลายทางเป็นนรก ที่เดือดร้อนใจ และความผิดหวังด้วยกันทั้งนั้น เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเติมได้เต็ม ยิ่งเติมก็ยิ่งพร่อง ยิ่งเติมก็ยิ่งขาด

ผู้ที่ยังอยากสวยพึงพิจารณาให้เห็นลึกลงไปถึงความอยากของตัวเองว่า อยากสวยไปทำไม? สวยแล้วอยากจะได้อะไร ?อยากได้มาแล้วจะเอามาทำอะไร? ได้มาแล้วจะสุขจริงไหม? แล้วจะสุขเช่นนั้นไปตลอดไหม? ทั้งหมดที่ทำมาคืออะไร?เป็นไปเพื่อสร้างสุขหรือแท้จริงแล้วเป็นทุกข์?

หากว่าเราเข้าใจว่าความอยากสวยเหล่านั้นเป็นเพียงแค่คำสั่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกให้เราหลงไป เราก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง สุดท้ายแล้วถึงจะมีความสวยแต่ก็ไม่ยึดติดความสวย ถึงจะไม่สวยก็ไม่ไขว่คว้าหาความสวย เพราะรู้แน่ชัดในใจแล้วว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่สาระแท้ของชีวิต

– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

August 26, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,916 views 0

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

คนเราเมื่ออยากจะได้บางสิ่งบางอย่าง ก็ต้องพยายามแสวงหามา ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของก็คงจะง่าย มีรูปร่าง ขนาด ที่รู้ว่าจะต้องหยิบจับอย่างไรเพื่อจะให้ได้มา ต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ถึงจะได้ครอบครอง แต่ถ้าเป็นเรื่องของคน เรื่องของจิตใจ สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้มา ต้องจ่ายเท่าไหร่ ต้องทำดีแค่ไหน ถึงจะมีสิทธิ์ครอบครอง…

คงจะเหมือนสภาพที่ยิ่งทำเท่าไหร่ก็ยิ่งไกล ระยะห่างที่ดูเหมือนจะไม่ไกลแต่ก็ไม่มีวันไปถึง คือช่องว่างของจิตใจระหว่างคนสองคนที่ไม่สามารถวัด ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า เท่าไหร่ถึงจะพอ…

ใจของคนเราคงเหมือนหลุมของกิเลส ถ้ามีใครสักคนไปเติมจนเต็มก็คงจะได้โอกาสครอบครอง แต่ใครจะรู้ล่ะว่าหลุมแห่งกิเลสนั้นกว้างยาวลึกเท่าไหร่ ต้องใส่อะไรลงไปถึงจะเต็ม

หลุมกิเลสต้องใส่อะไรลงไปบ้าง? ความสนุกสนาน ความสวยงาม ความดูดี ความมั่นคง ความอบอุ่น มีฐานะ เงินทองของมีค่า ชื่อเสียง อุดมการณ์ ความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ การเอาใจใส่ …ฯลฯ แค่คิดว่าจะต้องใส่อะไรลงบ้างไปก็ปวดหัวแล้ว ปัญหาต่อมาคือต้องใส่ไปมากเท่าไหร่ และต่อเนื่องขนาดไหน จนกว่าจะเติมกิเลสให้เขาพอใจกับสิ่งที่เราหยิบยื่นให้จนเขาคิดว่าเราดีพอสำหรับการสนองกิเลสของเขา

…บางคนใส่แค่ ความสวยงาม หน้าตาดี ก็ยินยอมให้ครอบครองกันแล้ว

…..บางคนใส่ คำพูดหวานๆ คำโกหก คำหลอกลวง ก็ยินยอมให้ครอบครองกันแล้ว

…….บางคนต้องใส่ เงินทองของมีค่า ฐานะ ความมั่นคง ถึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

………บางคนต้องใส่ ความมีชื่อเสียง มีหน้าตาในสังคม ความเป็นที่ยอมรับ ถึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

…………และบางคนอาจจะต้องใส่ อุดมการณ์ ความเห็นที่ตรงกัน ความเข้าใจที่เสมอกัน จึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

แค่คิดว่าเราจะต้องหาอะไรมาเติมให้อีกฝ่ายยอมรับ และเห็นว่าตัวเราดีพอสำหรับเขา ก็เหนื่อยสุดแสนจะเหนื่อย เพราะบางคุณสมบัติ อาจจะไม่ได้มีมาแต่กำเนิด ไม่ได้หน้าตาดี ไม่ได้มีฐานะ ไม่ได้มีความรู้ ชื่อเสียง สุดท้ายก็ต้องลำบากพัฒนาตัวเอง โดยมีกิเลสที่มีชื่อเรียกเล่นๆแบบไพเราะเสนาะหู ว่า “ความรัก” เป็นตัวนำ

แต่ขึ้นชื่อว่ากิเลส ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก เรียนรู้ได้ยาก กำจัดได้ยาก หลุมแห่งกิเลสที่เราเคยเข้าใจว่าต้องเติมแค่นั้นแค่นี้ถึงจะเต็ม ไม่ได้คงสภาพอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ทุกครั้งที่เราใส่ความเสพสมใจให้กับเขา หลุมกิเลสจะเปิดกว้างและลึกขึ้น ขยายตัวขึ้นเพื่อที่จะรองรับกิเลสที่มากกว่า แม้ว่าเราจะพยายามถมมันลงไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือสุขลวงๆ สักเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกว่า เราห่างไกลออกไปจากความรักมากขึ้นเรื่อยๆ

และคนที่โชคร้าย ก็จะสามารถเติมกิเลสกันจนเต็มได้ครอบครอง ได้เสพสมอารมณ์ ได้แต่งงานกัน สมรสกัน ได้โอกาสในการมีลูก มีครอบครัวร่วมกัน เป็นการหนีจากทุกข์แห่งความเหงา เปล่าเปลี่ยว ความใคร่อยาก ไปเจอทุกข์อีกแบบ คือทุกข์แบบคนคู่ ทุกข์แบบมีครัวมาครอบไว้ กรงขังที่ยากจะหลุดออกมาได้ และบ่วงที่มีชื่อว่าลูก เสพสมอยู่กับสุขลวง ที่ให้สุขนิดหน่อย แต่ทุกข์มากมาย

ส่วนคนที่โชคดีก็จะเรียนรู้ว่า หลุมแห่งกิเลสของเขาหรือเธอเหล่านั้น ไม่มีวันที่จะถมเต็ม เขาก็มีกิเลสของเขา เราก็มีกิเลสของเรา และหันมามองว่าจริงๆ เราเองนั่นแหละ ที่จะเอาเขามาเติมเต็มกิเลสของเรา เราจะต้องได้เขามาครอบครองถึงจะเสพสมใจ ปัญหาก็คือเราเองก็ไม่เคยจะเติมตัวเองจนเต็มเสียที ยังเป็นคนที่ขาดที่พร่องอยู่เสมอ และถึงแม้ว่าจะได้ครอบครองเขาแล้วมันยังไง? มันสุขเหมือนวันแรกไหม? มันจะค่อยๆลดลงใช่ไหม?

แค่หลุมกิเลสในตัวเราก็ใหญ่มากพอแล้ว ยังต้องลำบากไปยุ่งวุ่นวายกับกิเลสของคนอื่นอีก แล้วไปหวังว่าเขาจะมาเติมเต็มกิเลสให้กับเรา เป็นฝันลมๆแล้งๆ คนที่เราหวังไม่มีวันจะสวยงามคงทนได้ตลอดไป ไม่มีวันมีฐานะร่ำรวยมั่นคงได้ตลอดไป ไม่มีวันมีชื่อเสียง เกียรติยศได้ตลอดไป ไม่มีวันที่ความฝันหรืออุดมการณ์ของเขาจะไม่สลายหรือเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีวันจะดูแลเราหรืออยู่ให้เราแลดูได้ตลอดไป ทุกอย่างเสื่อมไปตลอดเวลา

เราเองก็เป็นหลุมกิเลสที่มีแต่จะลึกและกว้างขึ้นทุกๆวัน ถ้ามัวแต่ไปยุ่งกับกิเลสของคนอื่น ก็ไม่มีวันได้จัดการกิเลสของตัวเอง หลุมกิเลสที่กว้างและลึกไม่มีวันเติมเต็มด้วยการหามาเสพ แต่ต้องใช้การพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงว่า กิเลสนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นทุกข์ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และให้เห็นลึกลงไปถึงราก ว่าจริงๆแล้วเราต้องการเสพอะไรกันแน่ อยากได้มาเพื่ออะไร เรายึดเราติดเราหลงในอะไร หากเราเห็นตามจริงแล้วว่าเราหลงยึดอะไร ก็เหมือนได้เห็นประตูสู่การปลดเปลื้องกิเลสเหล่านั้น ที่เหลือก็แค่พยายามเดินไปให้ถึงประตู เปิดมันและเดินออกไป เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

26.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์