Tag: กฎแห่งกรรม

ความคาดหวังของพ่อแม่

July 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,855 views 0

ความคาดหวังของพ่อแม่

ความคาดหวังของพ่อแม่

เมื่อเป็นพ่อแม่เรามักอยู่กับความหลงผิด เพราะเราต่างสร้างอนาคตให้ลูก แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นตามโชคชะตาของแต่ละคน

บทละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าสุทโธทนะ ในละครซีรี่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนที่ ๔๒ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่มีพลังมากกว่าความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลก

คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจจะรวมไปถึง เจ้านาย คู่รัก เพื่อน ฯลฯ ก็ย่อมมีความหวังให้คนที่ตนรักและดูแลเป็นไปในทางที่ตนเข้าใจว่าดี ตามความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลของกรรมนั้นมีพลังมากกว่า หากเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดให้เป็นไปตามใจของเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายลงด้วยพลังแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือใครในโลก

มนุษย์พยายามฝืนกรรมลิขิตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะถึงแม้เราจะฝืน เราจะพยายามเท่าใด ทุกชีวิตก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมที่ทำมา อย่างเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านมีกรรมที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็มาห้ามท่านไม่ได้ มันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น เพราะท่านทำกรรมมาเช่นนั้น

ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจว่าดีนั้น คือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีไหวพริบ ขาดความแววไวต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตนได้ยึดสิ่งที่ตนว่าดีไปแล้วจึงไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นๆ ทั้งที่จริงทุกสิ่งผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปไม่หยุดตามวิบากกรรมที่ได้ทำมา

พ่อแม่ที่มองแค่เพียงว่าบุตรนี้คือของของตน ต้องเป็นไปตามแนวทางของตน ต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ คือผู้ที่สร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะความยึดมั่นถือมั่น นั่นเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครมาเกิด เขามีกรรมของเขามาอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเบื้องหลังเสมอ เขามีกรรมเป็นของเขา เรามีกรรมเป็นของเรา ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันแต่แท้ที่จริงแล้ว เราแต่ละคนมีกรรมแยกกันไป

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยปละละเลย เพราะการเลี้ยงดูบุตรก็เป็นกรรมดีของเราเช่นกัน การเลี้ยงดูบุตรเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นเราก็ควรจะสร้างกรรมดีของตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าผลนั้นจะเกิดดีหรือไม่ เพราะผลที่เกิดนั้นจะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากหลายเหตุปัจจัยและไม่ว่าผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร กรรมดีของเรานั้นได้ทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว เป็นประโยชน์แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,330 views 0

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม กฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที เพียรทำดีเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผลดีดังใจหวัง ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้….

  • ทำดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ดีตอบ ไม่เห็นคุณค่า
  • ช่วยให้คำปรึกษาให้เขาคลายทุกข์ แต่เขากลับไม่เอาดีตามเรา
  • แนะนำสิ่งที่ดีให้กลับเขา แต่เขากลับเมินเฉย หันไปเอาทางผิดอีกด้วย
  • ทำดีเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจใยดี
  • เป็นคนดีในสังคม แต่กลับโดนหาว่าไม่มีคุณค่า โดนหาว่าบ้า
  • . . . หรือการทำสิ่งดีใดๆก็ตาม ที่อยากให้เกิดผลดี แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เกิดผลดีเสียที

ในบทความนี้เราจะมาขยายเรื่องกรรมในมุมของการทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งจะมีเนื้อหาที่แบ่งเป็นหัวข้อด้วยกัน 6 ข้อ

1). ทุกข์เพราะไม่เข้าใจเหตุ

ทุกข์จากการทำดีแล้วไม่เกิดผลดีสมดังใจหมาย คือขุมนรกที่คอยเผาใจคนดี ให้หมดกำลังใจในการทำดี ให้ลังเลในความยุติธรรมของกรรม ให้หลงผิดในเส้นทางธรรม นั่นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่จริงทุกสิ่งที่เกิดนั้นสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่า “เหตุ” ทั้งหมดนั้นมันมีอะไรบ้าง และมักเดาว่าสิ่งต่างๆไม่มีเหตุ พอไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็เลยเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งนั้นได้

2). กิเลสในคนดี

ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมบวกกับพลังของกิเลสจึงทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น เรามักจะมีอาการอยากให้เกิดดีมากกว่าเหตุปัจจัยที่มี เป็นความโลภที่ผลักดันให้อยากได้ดีเกินจริง พอเห็นคนอื่นไม่เอาดีตามก็มักจะเกิดอาการไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ฯลฯ เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งดีนั้น ซ้ำร้ายอาจจะมีอาการแข่งดีเอาชนะ ถือตัวถือตน ยกตนข่มคนอื่น ดูถูกดูหมิ่นเขาอีกที่เขาไม่เอาดี และเมื่อเห็นคนที่ไม่ได้ทำดีแต่กลับได้ดีก็อาจจะไปอิจฉาเขาอีกด้วย อาการเหล่านี้คือลีลาของกิเลส ที่ซ่อนตัวอยู่ในความดีที่ยังทำให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง

3). กรรมเขากรรมเรา

ถ้าเราตระหนักว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมดีที่เราทำก็เป็นของเรา กรรมที่เขาไม่เอาดีก็เป็นของเขา กรรมเรากับเขาไม่ได้ปนกัน กรรมเป็นของใครของมัน เราจะไม่ทุกข์ใจเลยหากว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดผลดี เพราะความจริงนั้นมันมีความดีเกิดขึ้นมาตั้งแต่เราทำดีแล้ว ส่วนเขาจะเอาดีหรือไม่ก็เป็นกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเราเลย

แต่เรามักหลงเอากรรมของเราไปปนกับกรรมของเขา เอามาผูกกัน เอามาเกี่ยวโยงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว แท้จริงแล้วเมื่อเราไม่ทำชั่วทำแต่ความดี ก็จะมีผลของการทำดีเกิดขึ้นกับเรา ผลใดที่เกิดหลังจากนั้นเป็นผลของกรรมจากหลายเหตุปัจจัยที่มาสังเคราะห์กัน เราก็รับแต่ผลของกรรมในส่วนของเรา ถ้าเผลอทำดีปนชั่ว เราก็แค่รับกรรมดีกรรมชั่วนั้นมาเป็นของเรา ไม่ต้องไปแบกกรรมของคนอื่นไว้ด้วย ทำดีแล้ววางดีเลย ปล่อยวางผลไปเลย จะเกิดอะไรขึ้นมันเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้ทำดีที่ได้ทบทวนแล้วว่าดีจริงไปแล้ว ก็จบเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดดีตามที่ทำหรือไม่ ไม่ต้องทำดีเพื่อหวังผลให้เกิดดี

4). ทำดีไม่ได้ดีเพราะมีชั่วมากั้นไว้

การที่เราทำดีแล้วไม่เกิดผลดีให้เห็นนั้น เพราะมีกรรมชั่วของเรามากั้นไว้ ไม่ให้เราได้เห็นผลดีตามที่เราทำ กรรมชั่วเก่าของเราทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมของใครเลย กรรมอาจจะจัดสรรคนที่เหมาะสมต่อการชดใช้กรรมชั่วของเรา ให้เขาได้แสดงตามบทละคร ให้เราได้ชดใช้กรรมชั่วของเราโดยมีเขามาเล่นในบทบาทคนชั่วที่คล้ายเราในอดีต ให้เราได้รับกรรมของเราและเขาก็จะได้เรียนรู้ดีรู้ชั่วตามกรรมของเขาต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะไม่เอาดีตามเรา แม้ในชาตินี้เราก็เคยไม่เอาดีตามที่คนอื่นแนะนำมามากมาย พ่อแม่บอกให้ขยันเรียน เพื่อนบอกให้แก้นิสัยเสีย ฯลฯ การไม่เอาดีในอดีตของเรานั้นสร้างกรรมไว้มากมาย นี่แค่ชาตินี้ชาติเดียวนะ เวลากรรมส่งผลก็อาจจะเอาส่วนของชาติก่อนๆมาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราคิดหวังว่าจะทำดีแล้วให้เกิดดีโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ชาตินี้ฉันก็ไม่เคยดื้อ ชาตินี้ฉันก็เป็นคนว่าง่าย แต่ทำไมไม่มีใครยินดีฟังในสิ่งดีที่ฉันพูดเลย ฯลฯ นั่นเพราะไม่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งดี และเหมาเอาเองว่าถ้าตนเองทำดีจริงแล้วจะต้องเกิดดีทุกครั้ง พอกรรมเขาเล่นกลไม่ให้เป็นอย่างนั้น คนดีที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็อกหักอกพังกันไป

5). ทำดีแล้วได้ดีอย่างใจทุกครั้งไม่มีประโยชน์

การที่เราทำดี แนะนำสิ่งดี ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฯลฯ แล้วเกิดดีขึ้นทุกครั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการพ้นทุกข์ เพราะหากผลดีเกิดทุกครั้งก็จะไม่มีอะไรขัดใจ พอไม่มีอะไรขัดใจก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นกิเลส ไม่เห็นความโลภของตัวเองที่อยากได้ดีเกินจริง ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความอิจฉาในการทำดีของผู้อื่นฯลฯ

การทำดีแล้วได้ผลดีนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพาให้พ้นจากวิสัยของโลก การไปสู่โลกุตระไม่ได้ไปด้วยการทำดี แต่จะไปได้ก็ต่อเมื่อทำลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดให้ติดอยู่กับโลก ดังนั้นการทำดีแล้วไม่ได้อย่างใจหวังนี่แหละเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง

การทำดีแล้วได้ผลดีอาจจะได้ประโยชน์ในด้านความสุข ความสบาย แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในด้านการพ้นทุกข์ เพราะความสุขความสบายที่ได้รับมานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรอวันดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร และส่วนมากก็เป็นเพียงสุขลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกซ้อนไว้อีกที

6). ทำดีไม่เท่ากับล้างกิเลส

การทำดีนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ แต่การมุ่งทำแต่ความดีเพื่อให้พ้นทุกข์นั้นไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แม้ว่าแนวคิดและข้อปฏิบัติของลัทธิอื่นทั่วโลกจะมุ่งสอนให้คนหยุดชั่วทำดี แต่ในหลักการของพุทธยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่หลุดโลก(โลกียะ) อยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก พ้นจากโลกไปแล้ว นั่นคือสภาพของโลกุตระที่เกิดจากการชำระล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปโดยลำดับ

การล้างกิเลสไม่ได้ทำให้เกิดผลดีโดยตรง ที่เห็นได้ง่ายเหมือนกับการทำดีที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเป็นการเข้าไปทำลายกิเลสซึ่งเป็นเชื้อชั่ว ทำลายเชื้อที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นหลัก เมื่อทำลายกิเลสเรื่องใดได้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปทำความชั่ว ไปสร้างทุกข์ในเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่เกิดดีให้เห็น แต่ก็ไม่มีทุกข์ นั่นหมายถึงจะไม่ตกต่ำไปสู่ความทุกข์ ส่วนจะทำความดีตามสมมุติโลกหรือตามที่สังคมเข้าใจนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งกำจัดทุกข์เป็นหลัก เรียนเรื่องทุกข์และสืบหาต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้นจนกระทั่งทำลายมันทิ้งจนหมด เราอาจจะเคยเห็นคนดี ทำดี ปฏิบัติตัวดี แต่หนีไม่พ้นทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติของพุทธจะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ จะทำให้คนดีที่ทำดี ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดดีและความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม

การล้างกิเลสจะทำให้คนเป็นคนดีแท้ แม้อาจจะไม่ดีอย่างออกหน้าออกตาหรือดีอย่างที่โลกเข้าใจ แต่จะดีเพราะไม่มีชั่วปนอยู่ ไม่มีความหลงผิดปนอยู่ เป็นความดีแบบที่พ้นไปจากโลก ไม่หลงวนอยู่ในโลก แม้จะยังต้องอยู่ในสังคมแต่ก็จะสามารถอนุโลมให้เกิดดีไปด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่ยึดดีในแนวทางของโลก เพราะรู้ดีว่าโลกุตระนั้นสุขยิ่งกว่า ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และสมบูรณ์ที่สุดจนหาอะไรเปรียบไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

3.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

January 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 17,907 views 2

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

เป็นประโยคที่สั้นและกระชับที่สุดที่ใช้ในการพิจารณาธรรม หากเราเข้าใจและยอมรับในความจริงของประโยคนี้ได้ เราก็จะไม่ต้องทุกข์ใจจากเหตุการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นเลย

การที่เรายังมีอาการทุกข์ใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สมดังใจ สิ่งที่หวังไว้ก็ไม่เกิด สิ่งที่เกิดก็ไม่ได้หวัง ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาต่อว่า, หกล้ม, รถชน, ยืนจนเมื่อยก็ไม่มีใครลุกให้นั่ง, โบกแท็กซี่แล้วเขาไม่ไป, ซื้อของแล้วโดนโกง, ให้เงินเขายืมแล้วเขาไม่คืน, เจอแต่คนที่ไม่ชอบ, ขโมยเข้าบ้าน,, ทำเงินหาย, โดนขโมยผลงาน, เงินเดือนไม่ขึ้น, โบนัสไม่มี, โดนใส่ร้าย, ถูกนินทา, โดนไล่ออก, กลายเป็นคนพิการ, คนใกล้ชิดเจ็บป่วยจนเดือดร้อน, คนที่รักจากไป ฯลฯซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นผลจากกรรมของเราทั้งนั้น

ในส่วนของทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อเรากระทบกับเหตุการณ์เหล่านั้น ทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม ถึงแม้คำว่า “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” จะเป็นประโยคสั้นๆที่ใครก็ท่องได้ จำได้ พูดได้ แต่กลับเป็นประโยคที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยากที่สุดในโลก

คนที่เข้าใจเรื่องกรรมอย่างถ่องแท้จะไม่มีเรื่องอะไรให้ทุกข์ใจเลย เพราะรู้ดีว่าสิ่งที่ได้รับคือสิ่งที่เราทำมา เราไม่มีทางได้รับในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ การที่เราได้รับสิ่งที่ทำมานั้นมันก็ยุติธรรมดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือร้ายที่เข้ามาในชีวิต มันก็มาจากผลของการกระทำของเราทั้งสิ้น แล้วเรายังจะโทษใครอีก ยังจะเรียกร้องจากใครอีก ยังจะกล้าคิดอีกหรือว่าเรากำลังถูกโชคชะตาเล่นตลก

เหล่าคนผู้มีความเห็นผิดมักจะสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่มีเหตุผล เช่น เพราะโชคดี เพราะดวงตก เพราะปีชง เพราะคนนั้นเขาไม่ดี เพราะเจ้านายลำเอียง เพราะเศรษฐกิจไม่อำนวย อะไรต่อมิอะไรที่จะอ้างขึ้นมาได้ให้ตัวเองได้สบายใจ โดยป้ายความผิดหรือโยนความรับผิดชอบของเหตุการณ์เหล่านั้นให้พ้นตัว

เขาเหล่านั้นมักจะมีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อเรื่องกรรม มักจะคิดว่าฉันไม่ควรได้รับสิ่งร้ายเหล่านั้น แต่เวลาได้รับสิ่งดีที่ไม่ได้ทำมาในชาตินี้กลับไม่เคยตระหนักหรือทักท้วงอะไร อะไรที่ดีก็ยินดีรับทั้งหมดโดยไม่เคยหาเหตุผล ไม่เคยคิดว่าได้มาอย่างไร แต่เวลาเจอสิ่งร้ายก็จะหาคนผิดทันที มองไปที่คนอื่นทันที คนนั้นไม่ดีอย่างนั้น คนนี้ไม่ดีอย่างนี้ ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ดี ขัดหูขัดตาไปหมด

คนมันเห็นผิดแบบนี้ มันไม่เชื่อกฎแห่งกรรมแบบนี้ ถ้าเราเชื่อจริงๆเราจะไม่สงสัยเลยว่าเราได้รับสิ่งร้ายนั้นเพราะอะไร แม้จะไม่รู้สาเหตุแน่ชัด แต่จะชัดเจนในใจว่าฉันทำมาเอง แล้วก็จะสงบใจ ไม่ทุกข์ สงบเสงี่ยมเจียมตัวรับกรรมที่ตัวเองทำไว้ด้วยความยินดี

การที่เราสามารถมีจิตยินดีแม้ว่าจะได้รับสิ่งร้ายอยู่นั้น ก็เพราะรู้ว่ารับกรรมนั้นแล้วก็หมดไป สิ่งร้ายก็หมดไป สิ่งดีที่ทำไว้ก็มีโอกาสส่งผลได้เร็วขึ้น กรรมไม่มีวันหมดไปได้เองอยู่แล้ว ต้องสนองจนเกิดผลเท่านั้นถึงจะหมด ดังนั้นเมื่อเรารู้ชัดแล้วว่าสุดท้ายยังไงก็ต้องโดน เราก็ควรจะรับผลกรรมด้วยจิตใจที่เป็นสุข ดีกว่าที่จะต้องมาคอยรับกรรมอย่างทนทุกข์

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำลังรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นไม่น่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่สมใจเราหวัง ให้รู้ไว้เถิดว่า เรากำลังเริ่มที่จะไม่ยุติธรรมแล้ว เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนั้นคือความยุติธรรมที่สุดแล้ว และนั่นก็คือกฎแห่งกรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

10.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เชื่อเรื่องดวง ไม่มีวันพ้นทุกข์

November 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,672 views 0

เชื่อเรื่องดวง ไม่มีวันพ้นทุกข์

เชื่อเรื่องดวง ไม่มีวันพ้นทุกข์

ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความรีบเร่งและสับสน ในสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแต่กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ทางจิตใจที่ยากจะเยียวยา แม้ว่าจะหันหน้าเข้ามาหาศาสนาเท่าไรแต่ก็ไม่รู้สึกว่าทุกข์จะหายไป ทำบุญทำทานเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ สุดท้ายจึงต้องหาสิ่งยึดมั่นจิตใจ ที่เรียกว่า “การดูดวง

การดูดวง ดูหมอ การทำทายทายทัก ทรงเจ้า เข้าทรง ดูฤกษ์ ดูฮวงจุ้ย การทำนายและการพยากรณ์ต่างๆกลับกลายเป็นที่ยึดถือทางจิตใจของใครหลายคน เป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตและสังคมถึงขนาดที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนได้เลยทีเดียวเช่นบางคนเชื่อในเรื่องอาถรรพ์เจ็ดปีของคนที่คบหาดูใจกัน หรือเบญจเพส พอเชื่ออย่างนั้นจิตก็ปักมั่นว่าจะเกิดสิ่งร้าย จิตจึงตกสู่ความหดหู่ กังวล และความรู้สึกที่เป็นลบเหล่านั้นเองก็ดูดดึงให้เกิดสิ่งร้ายจนได้ยกตัวอย่างเช่นเรื่องอาถรรพ์เจ็ดปี ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเชื่อ เวลามีเหตุการณ์ผิดใจกันเกิดขึ้นก็จะมีความไม่ชอบใจ บวกกับความเชื่อเสริมแรงให้ทุกข์เข้าไปอีก หรือกระทั่งความเชื่อนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้ทุกข์ ทั้งๆที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ทุกข์ขนาดนั้นเลย

หรือการดูดวงทำนายทายทัก เช่น ไปดูหมอ แล้วเขาทักว่าจะได้แฟนเป็นข้าราชการ เมื่อได้ฟังดังนั้นก็ตั้งความหวัง จิตจะเริ่มคัดครองคนที่เข้ามาในชีวิตโดยอัตโนมัติ ถ้าไปเจอข้าราชการ ที่มีรูปลักษณ์ตรงกับใจ จึงคิดว่าคนนั้นต้องใช่แน่นอน เป็นความหลงในรูป บวกกับความงมงายเสริมแรงกันไป เมื่อได้เจอคนที่หวังก็จะยิ่งปักมั่น เชื่ออย่างเต็มใจ สุดท้ายก็เทหมดหน้าตัก ทุ่มให้ทุกอย่าง คาดหวังทุกอย่าง และมักจะจบลงด้วยความผิดหวัง

การดูดวงเหล่านั้น ตามหลักศาสนาพุทธท่านว่าเป็น “เดรัจฉานวิชา” เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่จะนำมาซึ่งความโง่ สร้างโดยคนโง่ เชื่อโดยคนโง่ เป็นวิชาที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎแห่งกรรม แต่เป็นไปตามสถิติและตรรกะวิธี ซึ่งเป็นวิสัยของโลกียะ เมื่อเป็นไปตามโลกจึงได้แค่วนอยู่ในโลก สุข ทุกข์แบบโลกๆ

การทำนายทายทักเหล่านี้ยังผิดต่อมหาศีล คือศีลที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา ที่คุมความเชื่อและความเป็นไปโดยรวมของพุทธศาสนิกชน เพราะการดูดวงหรือแม้แต่การทำนายทายทักที่เข้าใจว่ารู้จริงเห็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญการทำนาย การเดาใจ หรือการใช้อาเทสนาปาฏิหาริย์ แม้ว่าจะสามารถใช้ได้จริงก็ตาม

เหตุนั้นเพราะการเดาใจ ทายใจ ไม่ทำให้ใครพ้นทุกข์ ไม่ได้ทำให้กิเลสใครลดลง และไม่ทำให้คนพึ่งตนเอง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการพึ่งตน พึ่งพากรรมของตนเอง ไม่ใช่พึ่งสิ่งอื่น เมื่อเราเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เราจะไม่สนใจการดูดวง

เพราะเราจะรู้แน่ชัดแล้วว่าการทำดี ทำให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเรา ดังเช่นสิ่งดีที่เกิดขึ้นในชีวิตเราทุกวันนี้ก็เกิดมาจากกรรรมดีที่เราเคยทำมา ซึ่งเมื่อรู้เช่นนี้แล้วก็ไม่ต้องรอให้ใครมาพยากรณ์ มาทำนายดวงให้ เพราะถ้าตนเองอยากพบกับสิ่งที่ดี ได้เจอคนดี ได้งานดี ได้มีชีวิตที่ดี ก็เพียงแค่กระทำกรรมดี แล้วในวันใดวันหนึ่ง ชาติในชาติหนึ่งก็จะได้รับผลของกรรมดีนั้นอย่างแน่นอน

ในส่วนของกรรมชั่วก็เช่นกัน เมื่อเราได้รับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ทำให้ทุกข์ใจ คนที่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม จะไม่โทษดวงชะตาฟ้าลิขิตใดๆ เพราะรู้แน่ชัดว่าชั่วที่ได้รับอยู่นี้ เป็นสิ่งที่เราเคยทำมาก่อนอย่างแน่นอน อาจจะในชาตินี้ หรือในชาติก่อน

ในเมื่อเราเองก็มักได้รับผลดีหรือกรรมดี ที่เราไม่เคยได้ทำมาในชาตินี้ เช่น เกิดมาก็มีพ่อแม่เลี้ยงดู ซื้อของเล่นให้ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำกรรมดีอะไรให้กับพ่อแม่เลย ดังนั้นกรรมดีที่ได้รับนั้นคือกรรมเก่าที่สะสมมา ซึ่งเมื่อเรายินดีรับสิ่งที่ดี เราก็ควรจะต้องยินดีรับสิ่งชั่วที่เราเคยทำมาเช่นกัน

การรับกรรมดีนั้น ส่วนใหญ่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่มีใครทุกข์ใจ ไม่มีใครลำบากใจ แต่พอได้รับสิ่งชั่วก็กลับทุกข์ใจ ลำบากใจ ขุ่นมัว หาคนผิด โทษดินโทษฟ้า ไม่เข้าใจว่าทำไมฉันต้องมารับกรรมนี้ ซึ่งนั้นเป็นลักษณะของมิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด เพราะเราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับเราทำมาแล้วทั้งนั้น กรรมชั่วนั้นก็เช่นกัน มันเป็นของเราอย่างแน่นอน

เมื่อเรายินดีรับกรรมชั่วที่ได้ทำไว้อย่างยินดีเต็มใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่า นี้คือสิ่งชั่วที่เคยทำมา และเป็นสิ่งที่ทำให้เราสังวรระวังที่จะไม่ทำชั่วอีก

ในอีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อเราได้รับกรรมชั่วแล้วไม่ยอมรับว่าตัวเองทำมา จะเกิดสภาพที่เรียกว่าโกหกซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ผิดศีลข้อ ๔ ว่าด้วยการพูดปด คิดโกหกเข้าไปอีก เพราะเราไม่ยอมรับผลกรรมชั่วทั้งๆที่เราทำมา แถมยังโกหกว่าคนอื่นเป็นคนทำอีก เมื่อคิดแบบนี้ก็ต้องทุกข์ตั้งแต่ไม่ยอมรับกรรมชั่ว และทุกข์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ทำกรรมชั่วใหม่อีก นั่นคือการผิดศีล เรียกได้ว่าถ้าเข้าใจเรื่องกรรมไม่กระจ่างแจ้ง ก็จะมีโอกาสได้รับทุกข์ถึงสองต่อ หรืออาจจะมากกว่านั้นตามความหลงผิด

สรุปรวมได้ว่าการเชื่อในเรื่องดวงหรือการทำนายทายทัก ทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกตรงสู่ความพ้นทุกข์ ) ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากความทุกข์นั้นได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

2.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์