Tag: ความหลงผิด

เรียนรู้วิกฤติพุทธจาก กระแสสังคมในช่วงการป่วยของคุณปอ ทฤษฏี

November 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,119 views 0

จากช่วงนี้ เราจะเห็นได้ว่ามีกระแสแปลกๆออกมามากมาย เช่นคนนั้นจะแก้กรรมให้ คนนั้นจะหาวิธีพ้นกรรม ปัดกรรม ชะลอกรรม ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่เป็นศาสตร์ในเชิงลึกลับ ที่ไปยุ่งวุ่นวายกับกรรมคนอื่น ซึ่งมักจะเข้าขีดเดรัจฉานวิชาอยู่เนืองๆ

ในส่วนตัวแล้วหากผมเห็นว่าใครอวดอ้างว่าตนหรืออาจารย์ของตนนั้นมีอิทธิฤทธิ์ในการจัดการกรรมของคนอื่น ผมก็จะกาหัวไว้ก่อนเลยว่ามิจฉาทิฏฐิแบบสุดๆ

ซึ่งในช่วงนี้เราก็จะได้เห็นความเพี้ยนในความเป็นพุทธ บ้างก็มีภาพลักษณ์เป็นคนดีแต่ก็เห็นผิดเชื่อผิดๆ ซ้ำร้ายอาจจะยังมีพวกอลัชชี ผีผ้าเหลืองที่คอยบั่นทอนความเป็นพุทธด้วยความหลงผิดของตนอีก

ขนาดพระพุทธเจ้าไปห้ามญาติรบกัน 3 ครั้ง สุดท้ายก็ยังห้ามไม่ได้ เพราะเขามีกรรมเป็นของเขา ซึ่งช่วงหลังมานี่มีคนเก่งเกินพระพุทธเจ้าเยอะ ตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์อวดอ้างวิธีแก้กรรม ปัดเป่าทุกข์ ฯลฯ

….ก็เรียนรู้กันไป ว่าในปัจจุบันพุทธนั้นผิดเพี้ยนไปขนาดไหนแล้ว

ผลของกรรมเกิดจากสิ่งที่เราทำมา (เรามีกรรมเป็นของตน)

กรณีของคุณปอ ทฤษฎี หากว่าเขาจะหายหรือไม่หายนั้นก็เป็นไปตามกรรมที่เขาทำมา

เราไม่สามารถทำอะไรให้เขามีผลกรรมจากเราได้ กรรมไม่สามารถโยกย้ายได้ ใครทำอะไรไว้คนนั้นก็รับ อ่านต่อ…

ความคาดหวังของพ่อแม่

July 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,870 views 0

ความคาดหวังของพ่อแม่

ความคาดหวังของพ่อแม่

เมื่อเป็นพ่อแม่เรามักอยู่กับความหลงผิด เพราะเราต่างสร้างอนาคตให้ลูก แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นตามโชคชะตาของแต่ละคน

บทละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าสุทโธทนะ ในละครซีรี่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนที่ ๔๒ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่มีพลังมากกว่าความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลก

คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจจะรวมไปถึง เจ้านาย คู่รัก เพื่อน ฯลฯ ก็ย่อมมีความหวังให้คนที่ตนรักและดูแลเป็นไปในทางที่ตนเข้าใจว่าดี ตามความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลของกรรมนั้นมีพลังมากกว่า หากเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดให้เป็นไปตามใจของเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายลงด้วยพลังแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือใครในโลก

มนุษย์พยายามฝืนกรรมลิขิตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะถึงแม้เราจะฝืน เราจะพยายามเท่าใด ทุกชีวิตก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมที่ทำมา อย่างเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านมีกรรมที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็มาห้ามท่านไม่ได้ มันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น เพราะท่านทำกรรมมาเช่นนั้น

ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจว่าดีนั้น คือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีไหวพริบ ขาดความแววไวต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตนได้ยึดสิ่งที่ตนว่าดีไปแล้วจึงไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นๆ ทั้งที่จริงทุกสิ่งผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปไม่หยุดตามวิบากกรรมที่ได้ทำมา

พ่อแม่ที่มองแค่เพียงว่าบุตรนี้คือของของตน ต้องเป็นไปตามแนวทางของตน ต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ คือผู้ที่สร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะความยึดมั่นถือมั่น นั่นเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครมาเกิด เขามีกรรมของเขามาอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเบื้องหลังเสมอ เขามีกรรมเป็นของเขา เรามีกรรมเป็นของเรา ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันแต่แท้ที่จริงแล้ว เราแต่ละคนมีกรรมแยกกันไป

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยปละละเลย เพราะการเลี้ยงดูบุตรก็เป็นกรรมดีของเราเช่นกัน การเลี้ยงดูบุตรเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นเราก็ควรจะสร้างกรรมดีของตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าผลนั้นจะเกิดดีหรือไม่ เพราะผลที่เกิดนั้นจะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากหลายเหตุปัจจัยและไม่ว่าผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร กรรมดีของเรานั้นได้ทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว เป็นประโยชน์แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สาระของศีล

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,579 views 0

สาระของศีล

สาระของศีล

การมีศีลนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในความเจริญของผู้แสวงหาหนทางสู่การพ้นทุกข์ แต่ในความเป็นศีลนั้นก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละความเห็นความเข้าใจซึ่งมีทั้งการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น บ้างก็เข้าใจความหมายของศีลผิดไป ซึ่งเหตุเหล่านั้นทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาระแท้ของศีลได้

ผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ถือศีลเพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสุขที่จะทำให้หลงวนเวียนเสพสุขอยู่ในภพนี้ แต่จะใช้ศีลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือขัดเกลากิเลส เพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลสเท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดเป้าหมายเดียวของเหล่าสาวกในพระพุทธศาสนา

เราจะจำแนกลักษณะของความเข้าใจในศีลออกมา 3 แบบคือ ถือศีล ทิ้งศีล ศึกษาศีล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1).ถือศีล

การถือศีล รับศีลมาถือ นำมาปฏิบัติ เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเห็นประโยชน์ของศีลว่าการมีศีลนั้นจะนำความสุขความเจริญมาให้ ทั้งยังป้องกันภัยต่างๆที่จะเข้ามาสู่ชีวิต และยังเป็นการสร้างกุศลให้กับชีวิตตนอีกด้วย

ผู้ที่ถือศีลนั้นจะมีทั้งแบบยึดอาศัยกับแบบยึดมั่นถือมั่น ผู้ที่ยึดอาศัยหรือการ “สมาทาน” นั้นก็จะใช้ศีลเป็นเครื่องประกอบในการทำคุณงามความ ใช้ศีลเพื่อความสุขความเจริญ แต่เมื่อเกิดความยึดดีถือดี เป็นความยึดมั่นถือมั่นในศีล หรือที่เรียกว่า “สีลัพพตุปาทาน” คือความยึดมั่นและงมงายในศีลและข้อปฏิบัติเป็นหนึ่งในอุปาทาน ๔

การถือศีลแบบยึดอาศัยกับยึดมั่นถือมั่นจะแตกต่างกันตรงที่ความตึงเครียด ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะถือศีลอย่างไม่ปล่อยวาง เคร่งเครียด, ยึดว่าศีลนั้นเป็นที่สุด, คนต้องมีศีลแบบนั้น, พระต้องมีศีลแบบนี้, ปฏิบัติแบบนี้จึงเรียกว่าถือศีล, ใครถือศีลได้มากข้อกว่าก็น่าเคารพกว่า, ฉันถือศีลได้เท่านั้นเท่านี้, ฉันไม่เคยทำศีลขาดหรือด่างพร้อย, มักจะมีอาการยกตกข่มผู้อื่นร่วมด้วย รวมทั้งมีอาการติดดีประกอบอยู่เพราะเหตุแห่งความยึดมั่นในศีลนั้น

ถึงแม้ว่าจะการยึดอาศัยศีลเพื่อสร้างความสุขความเจริญ หรือการยึดมั่นถือมั่นในศีลจนงมงาย แม้จะถือศีลได้ปกติแต่ไม่มีปัญญารู้แจ้งในกิเลสก็เรียกได้ว่าถือไปแบบนั้น“เหมือนกับมีเพชรและรู้ว่าเพชรมีค่าขายได้มีราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเพชรไปใช้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์” เช่นนั้นก็ยังไม่ใช่การเข้าถึงคุณประโยชน์สูงสุดของศีลในพุทธศาสนา การถือศีลเพื่อความสุขความเจริญนี้ยังเป็นเพียงแค่ประโยชน์เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแก่นสารสาระของศีล ดังนั้นคนที่ยึดเอาศีลเป็นเพียงประโยชน์เพื่อเสพสุขจากกุศลกรรม ย่อมยังไม่พบกับความพ้นทุกข์

2).ทิ้งศีล

ในข้อนี้จะยกตัวอย่างของความเห็นผิดในการถือศีล ซึ่งมีให้เห็นได้ในปัจจุบัน คือการทิ้งศีล ไม่มีศีล ไม่ปฏิบัติศีลซึ่งในส่วนของคนที่ยังไม่ถือศีลเพราะยังไม่มีปัญญาเห็นคุณประโยชน์ในศีลจะขอยกไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

คนบางกลุ่มบางจำพวก ตีความหมายของศีลนั้นไปตามความเข้าใจของเขา เช่น ศีลคือความปกติ ดังนั้นรักษากายใจให้ปกติก็ถือว่ามีศีล สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน เมื่อเห็นผิดในกระบวรการปฏิบัติดังนั้นจึงไม่มีการศึกษาในสาระของศีลแต่ละข้อว่ามีไว้เพื่ออะไร เพราะในรายละเอียดของศีลแต่ละข้อนั้นถูกจำแนกให้ขัดเกลากิเลสในมุมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านได้แยกย่อยไว้ให้ค่อยๆเรียนรู้และปฏิบัติศีลไปโดยลำดับ มิใช่เพื่อการบรรลุธรรมในทันที

ยกตัวอย่างหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่สาวกท่านหนึ่งจำศีลมากมายไม่ได้ เลยไปขอศีลจำนวนน้อยกับพระพุทธเจ้า ท่านก็ให้ไว้สามข้อ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต คือมีกายวาจาใจที่ดีงามไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลส ซึ่งเหมาะกับปัญญาของสาวกท่านนั้นเท่านั้น การที่เราจะรับศีลที่สั้นกระชับในระดับนี้มาปฏิบัติ อาจจะทำให้เกิดความหลงผิดเข้าข้างตนเองก็ได้ว่าฉันก็สุจริตทั้งสามอย่างนะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมไม่สมฐานะ ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังเมื่อศึกษาพระไตรปิฎก เพราะใช่ว่าท่านทำได้แล้วเราจะทำได้ อินทรีย์พละมันต่างกัน ซึ่งมักจะทำให้คนที่ขี้เกียจปฏิบัติธรรมหาช่องทางให้ตนได้ศึกษาธรรมได้แบบง่ายๆสบายๆ เพราะความหลงผิดนั่นเอง

กลับมาที่การรักษาใจให้ปกติที่คนบางจำพวกถือเอาเป็นข้อปฏิบัติหรือศีล เมื่อศีลของเขาคือความปกติ เขาจึงมุ่งรักษาใจให้ปกติ โดยที่มักจะใช้วิธีสมถะเข้ามากดข่มจิตใจให้ปกติ เมื่อทำได้เช่นนั้นก็มักจะหลงผิดเข้าใจว่าศีลมีเพียงเท่านี้ ตีทิ้งศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อีกมากมาย โดยไม่รู้เนื้อหาสาระแท้ในแต่ละข้อทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเห็นผิดหรือความขี้เกียจถือศีลมากๆก็ได้ จึงตีความหมายให้เป็นว่าถ้าทำเพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องถือศีล ไม่ต้องมีศีล เพียงแค่รักษาใจให้บริสุทธิ์ตามที่เข้าใจก็ถือว่ามีศีลแล้ว

เราสามารถเข้าใจว่าศีลคือความปกติได้ แต่นั่นคือผลของการปฏิบัติจนเกิดความปกติ ไม่ใช่ทำให้เกิดความปกติขึ้นในจิตด้วยการพยายามกำหนดจิต เช่น เมื่อเราถือศีลกินมื้อเดียว เราจะทำอย่างไรให้กินมื้อเดียวได้ด้วยใจปกติ ไม่มีความอยากกินที่เกินมื้อ ไม่มีความร้อนรน ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีความหดหู่ หรือลังเลสงสัยในศีลนี้ว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร

หรือหากเรามองว่าศีลคือความพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่จะทำให้อยู่อย่างเป็นสุขไม่เบียดเบียนกัน ถ้าหมายถึงศีล ๕ นั้นก็คงใช่ แต่พอขึ้นมาถึงศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็มักจะทำให้มนุษย์ในปัจจุบันขัดข้องใจที่จะถือศีลนั้นๆ โดยเฉพาะจุลศีลในข้อกินมื้อเดียว เรียกว่าหักความคิดตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปทิ้งเลยทีเดียว การกินมื้อเดียวไม่ใช่เพียงแค่ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส แต่ยังเป็นความพอดีสูงสุดในชีวิตด้วย แล้วพื้นฐานของมนุษย์นั้นอยู่ตรงไหน? ความไม่เบียดเบียนกันควรจะวัดจากจุดไหน? แล้วศีล ๑๐ เบียดเบียนตนและผู้อื่นน้อยกว่าศีล ๕ ไหม? ถ้าเบียดเบียนน้อยกว่าก็ควรจะให้ศีล ๑๐ เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์สิ ในเมื่อศีลแต่ละข้อมีความยากง่ายและนัยสำคัญที่แตกต่างกันทำไมเราจึงไม่สามารถเข้าใจแก่นสารสาระเหล่านั้นได้?

อย่างที่ได้กล่าวมาตอนต้น เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นมีเป้าหมายเดียวคือเป็นไปเพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลส นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจ เพราะรู้ชัดว่าเมื่อกิเลสนั้นคลาย ความสงบสุขจะเกิดขึ้นมาเองโดยลำดับ ดังนั้นการถือศีลก็ย่อมเป็นไปเพื่อขจัดกิเลสที่หมักหมมในสันดาน มิใช่เพียงเพื่อความสุขความเจริญดังที่กล่าวไว้ในข้อแรก

ความปกตินั้นคือ “ผล” แต่คนสับสนกลับเอาผลมาเป็น “มรรค” พอปฏิบัติกลับหัวกลับหางกัน มันก็ผิดเพี้ยนไปหมด จนทำให้เข้าใจแก่นสารสาระของศีลผิด จึงนำมาซึ่งการทิ้งศีล มองศีลเป็นเพียงสิ่งพื้นฐานที่รู้จักแล้วก็วางได้ ปฏิบัติศีลเพียงแค่กายวาจาแต่ไม่เข้าใจ จนอาจหลงผิดถึงขั้นดูหมิ่นผู้มีศีลได้

เช่น หลงผิดเข้าใจไปว่าเราคือผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีล คนที่เคร่งศีลคือคนที่ยึดมั่นถือมั่น ยิ่งคนที่ถือศีลมากๆยิ่งจะถูกมองว่าบ้า โต่ง หรือตึงเกินไป เหตุหนึ่งเพราะตนเองไม่สามารถถือศีลเหล่านั้นได้ พอถือแล้วก็ทรมานจากฤทธิ์ของกิเลส เลยต้องหย่อนลงมา จึงเกิดความเห็นผิดว่าการถือศีลคือโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วนั่นคือสภาพของอัตตกิลมถะหรือการทรมานตนเองด้วยความยึดดี

ตอนแรกก็เห็นว่าศีลดีก็เลยพยายามถือศีล แต่พออินทรีย์พละไม่พอมันก็จะทรมาน พอทรมานก็ลดศีลหรือเลิกถือศีล มันก็สบายจากความหลุดพ้นในการทรมานตนด้วยความยึดดีเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าการถือศีลเป็นสิ่งที่โต่ง แต่การถือศีลที่เกินกำลังนั้นเองคือสิ่งที่โต่ง แต่พอทิ้งศีลก็มักจะเข้าสู่ทางโต่งอีกทางคือไหลไปตามกามเลย ไปหลงเสพกาม แล้วก็ติดสุขจากกาม โดยมากจะกู่ไม่กลับเพราะเห็นผิดในการถือศีลไปแล้ว

ในศีลของนักบวชก็เช่นกัน เมื่อไม่เข้าใจสาระของศีล จึงเหลือแต่วินัย ในทุกวันนี้ศีล ๒๒๗ ข้อ คือพระวินัย ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสให้นักบวชในศาสนาของท่านถือศีล ๓ คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก แต่นักบวชทุกวันนี้กลับไม่มีศีล มีแต่วินัย เพราะไม่เข้าใจสาระของศีล จึงทิ้งศีล คงไว้เพียงวินัย หากเราจะลองเอาศีล ๓ หมวดนี้มาตรวจสอบความถูกต้องในปัจจุบัน ก็จะพบว่าส่วนมากผิดศีล เพราะไม่เคยมีศีล ไม่เคยศึกษาในศีล ไม่เห็นประโยชน์ในศีลนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ทิ้งศีล และไม่ถือศีลอย่างงมงาย เพียรศึกษาให้เข้าถึงสาระแท้ของศีล

3).ศึกษาศีล

การมีศีลนั้นคือการศึกษาเพื่อที่จะละเว้นสิ่งที่ชั่ว เว้นขาดจากการเบียดเบียนตนและผู้อื่น เริ่มต้นจากการศึกษาประโยชน์ของศีลเพื่อถือศีลก่อนเป็นอันดับแรก แล้วถือศีลนั้นไว้เพื่อศึกษาสาระแท้ของศีล นั่นคือการศึกษากิเลสในตนผ่านการถือศีล

สาระแท้ของศีลนั้นมีไว้เพื่อเปิดประตูสู่การชำระกิเลส หากไม่มีศีลมากำหนด ก็ไม่สามารถมีสิ่งใดที่จะมาทำให้เราเห็นทุกข์จากกิเลสได้ ศีลนั้นคือหนึ่งในองค์ประกอบของการพ้นทุกข์ ซึ่งหากไม่เริ่มจากศีลก็ต้องเริ่มจากปัญญาที่พัฒนาจนเห็นประโยชน์ของการถือศีล ดังนั้นหากจะปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ ก็ต้องเริ่มจากศีลอยู่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกสาวกเสมอว่าเธอจงศึกษาในศีล ๓ หมวดดังที่ยกมาอธิบายก่อนหน้านี้

การศึกษาในศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร? เมื่อเราถือศีล ศีลก็จะเป็นกำแพงไม่ให้เราไปเสพสิ่งเดิมๆที่เราเคยหลงติดหลงยึดได้ง่ายนัก อย่างน้อยก็เป็นกำแพงในใจ ซึ่งเมื่อศึกษาแรกๆ กำแพงก็จะไม่แข็งแรง เราก็มักจะปีนกำแพงออกไปเสพสุขในสิ่งที่ละเมิดศีลตามแรงยั่วของกิเลส เราก็ต้องใช้ไตรสิกขา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญานี่แหละในการสร้างความแข็งแกร่งของกำแพงศีล เจริญขึ้นไปจนถึงขั้นเกิดหิริโอตตัปปะ เริ่มจะไม่ผิดศีลด้วยความเต็มใจเพราะรู้สึกผิดละอายต่อบาป เจริญขึ้นไปอีกจนกระทั่งเพียรพิจารณากิเลสที่พยายามยั่วยวน ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยศีลและสติ จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลส กระโดดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง(โลกุตระ) ก็ถือว่าจบภารกิจในศีลนั้นๆ แล้วก็ขยับฐานไปถือศีลที่ยากขึ้นหรือศีลอื่นๆต่อไป

ศีลนั้นมีระดับยากง่ายที่ต่างกัน และในศีลหนึ่งๆยังมีการปฏิบัติไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ควบคุมกาย วาจา ไปจนกระทั่งชำระกิเลสในจิตใจได้

ผู้ที่มีศีลแต่ไม่เข้าใจว่าศีลนั้นชำระกิเลสได้อย่างไร หรือเข้าใจผิดคิดเหมาเอาเองว่าการมีศีลนั้นคือการชำระกิเลส ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการถือศีลโดยทั่วไปนั้นไม่ได้ล้วงลึกเข้าไปถึงใจ ไม่ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ ไม่สามารถชำระกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ ไม่สามารถทำให้ละหน่ายคลายจากความอยากนั้นได้ โดยทั่วไปแล้วก็เหมือนกับคนที่ถือศีลเพื่อความสงบสุข ความดีงามดังที่ยกตัวอย่างในข้อแรก

ตัวตนของกิเลสนั้นจะสามารถเห็นได้จากการถือศีล ศีลคือเครื่องมือเดียวที่จะตีกรอบให้กิเลสนั้นถูกแสดงตัว เมื่อเห็นดังนั้นจึงใช้สติปัฏฐานเข้ามาพิจารณาตัวตนแท้ของกิเลสตั้งแต่ผัสสะเกิด เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตว่ากิเลสใดหนอที่ปะปนอยู่ในจิตของเรา แล้วใช้ธรรมที่เหมาะที่ควรเข้าไปพิจารณาตามเหตุคือกิเลสนั้นๆ

การปฏิบัติศีลอย่างเข้าใจในกระบวนการ จะสามารถชำระกิเลสที่มีในจิตใจได้ ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ควบคุมกาย วาจา อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเกิดผล จึงมีสภาพของการถือศีลข้อนั้นๆอย่างปกติโดยที่ไม่ต้องพยายามกดข่ม ฝืนทน หรือมีความลำบากกายและใจใดๆเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

24.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,358 views 0

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ความเห็นผิดที่พาตนไปในทางฉิบหายเมื่อเห็น… กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ในกึ่งพุทธกาลดังเช่นทุกวันนี้ กระแสของความหลงผิดนั้นรุนแรงและมีปริมาณมาก เป็นยุคที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร

เห็นกิเลสเป็นมิตร

ยุคที่เรายินดีกับการเป็นทาสของกิเลส ยินดีเต็มใจให้มันบงการชีวิต มันบอกให้ไปเสพอะไรก็ไปเสพ มันบอกหาอะไรก็หา มันบอกให้รักอะไรก็รักตามใจมัน แล้วหลงในความสุขที่มันมอบให้ว่านั่นคือของดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่ากิเลสนั้นคือตัวเรา สุดท้ายก็เลยแยกตัวเรากับกิเลสไม่ออก เรากับกิเลสเลยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นตัวตนของกันและกัน ขาดกิเลสเราตาย

สุดท้ายเราก็มีกิเลสเป็นมิตรแท้ กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน พากันไปเสพสุขลวงได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร หรือไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมชั่ว ต้องหลงวนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้ที่เห็นกิเลสเป็นมิตร เพียงแค่มีฉัน(ทาส)และมีเธอ(กิเลส) บำเรอสุขกันไปชั่วนิรันดร

หนักเข้าก็กลายเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่เห็นเช่นนี้ “เป็นผู้ไม่เจริญ” หรือเรียกว่า ยังเลวอยู่ และถึงแม้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส แต่ไม่รู้จักพิษภัยของกิเลส ยังยินดีเลี้ยงกิเลส ก็เรียกได้ว่าไม่รู้จักกิเลส

ศัตรูของกิเลส คือศัตรูของผู้เห็นผิด

การเห็นกิเลสเป็นมิตรก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เสพสุขลวงและทำทุกข์ทับถมตนเองไปวันๆเท่านั้น เมื่อยังมีความเห็นว่าศัตรูของมิตรนั้นก็คือศัตรู และสิ่งใดที่เป็นศัตรูของกิเลส นั่นหมายถึงสิ่งนั้นก็เป็นศัตรูของตนด้วยเช่นกัน

ผู้ที่มีความเห็นผิดจะมีอาการหวงกิเลสของตน ไม่ยอมให้ใครมาแตะกิเลสในตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาว่าการที่ตนหลงเสพหลงสุขเพราะกิเลสเป็นสิ่งผิด หนักเข้าก็นิยามสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าความรักบ้าง สไตล์บ้าง วิถีชีวิตบ้าง เป็นความชอบส่วนบุคคลบ้าง คนเราไม่เหมือนกันบ้าง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปก้าวก่ายกับเรื่องกิเลสของตนเอง

เรียกได้ว่ายิ่งกว่างูหวงไข่ ถ้าใครไปวิจารณ์หรือแนะนำ คนที่เห็นกิเลสเป็นมิตรว่า “กิเลสนั่นแหละคือศัตรู” พวกเขาก็จะมีอาการต่อต้านขึ้นมา เบาหน่อยก็ทางใจ หนักขึ้นมาก็ทางวาจา หนักสุดก็ทางกายกรรมกันเลย คือใครมาว่าสิ่งที่ฉันชอบเป็นกิเลส ฉันจะด่ามัน ฉันจะทำร้ายมัน มันจะต้องพินาศ

เห็นบัณฑิตเป็นศัตรู

ทีนี้ผู้เป็นบัณฑิตโดยธรรมนั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างทำลายกิเลส และชักชวนผู้อื่นให้ทำลายกิเลสด้วยเช่นกัน ถ้อยคำของบัณฑิตนั้นจะมีแต่คำพูดที่ข่ม ด่า ประณามกิเลส เรียกได้ว่ากิเลสนั้นไม่มีค่าในสายตาของบัณฑิตทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นมารของชีวิตที่ต้องเพียรกำจัดไปให้สิ้นเกลี้ยง

เมื่อคนที่เห็นกิเลสเป็นมิตร มาเจอถ้อยคำที่กล่าวถึงการหลงติดหลงยึด สะสมกิเลสนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องที่ผู้เจริญแล้วไม่พึงปรารถนา และควรจะพยายามออกห่างจากกิเลสเหล่านั้น เมื่อได้ยินดังนั้นด้วยความที่ตนเองก็เสพสมใจกับการมีกิเลสในตน เห็นกิเลสเป็นมิตร จึงเห็นบัณฑิตเหล่านั้นเป็นศัตรู เป็นข้าศึกต่อการเสพสุขของตน

จนกระทั่งคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ กล่าวถ้อยคำที่ดึงผู้มีศีลมีธรรมให้ต่ำลง ประณามธรรมที่พาให้ลดกิเลสดูไร้ค่า(เมื่อเทียบกับการสนองกิเลส) หรือกระทั่งเกิดการไม่พอใจที่มาบอกว่ากิเลสของตนไม่ดีจนถึงขั้นทำร้ายกันก็สามารถทำได้

แม้ในขั้นที่ละเอียดที่สุดคือคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ คือคิดไปในทางตรงข้ามกับการลดกิเลส คือการสะสมกิเลส ก็เรียกได้ว่าพาตนให้ห่างไกลจากการพ้นทุกข์เข้าไปอีก นับประสาอะไรกับผู้ที่สร้างวจีกรรม และกายกรรม ในเมื่อเพียงแค่มโนกรรมก็พาให้ไปนรกได้แล้ว

ผู้ที่ยังไม่หลงผิดขนาดหน้ามืดตามัว จะพิจารณาจนเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แม้ตนเองจะยังติดสุขลวงที่กิเลสมอบให้ แต่เมื่อได้ฟังว่ากิเลสนั้นแหละคือตัวสร้างทุกข์แท้ และสร้างสุขลวงมาหลอกไว้ ก็จะพึงสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตนกำเริบ และยินดีในธรรมที่บัณฑิตได้กล่าวไว้

ส่วนผู้ที่หลงผิดจนมัวเมา ก็มีแต่หันหน้าไปทางนรกด้านเดียว เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับทางที่พาให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตไปสู่ทางพ้นทุกข์ ผู้ที่หลงผิดเหล่านั้นก็จะไปสู่ทางแห่งทุกข์ ยิ่งไปก็ยิ่งทุกข์ กลายเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่นรกด้วยความยินดี เพียงเพราะเหตุจากความหลงผิด

เหตุนั้นเพราะคนที่หลงมัวเมาในกิเลสจะสร้างอัตตาขึ้นมา หลอมรวมตนเองเข้ากับกิเลส กลายเป็นความยึดชั่ว เห็นความชั่วเป็นความสุข เห็นสุขลวงเป็นสุขแท้ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเมื่อมีอัตตา ก็จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก มาบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด เพราะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่ตนทำนั้นดีแล้ว, ไม่ได้เบียดเบียนใคร, ไม่ใช่เรื่องของใคร, ใครๆเขาก็ทำกัน, ความสุขของใครของมัน, มันคือชีวิตฉัน, เกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว เมื่อเห็นกิเลสเป็นมิตร และหลงผิดขนาดว่าเห็นบัณฑิตเป็นศัตรู ก็จะมีทิศทางที่ไปทางชั่ว และจะยิ่งเพิ่มความชั่วและมัวเมาขึ้นเรื่อยๆด้วยความหลงผิดที่สะสมมากขึ้น และวิบากกรรมชั่วที่ได้ทำก็จะพาให้เกิดความฉิบหายในชีวิตได้อีกหลายประการ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)