Tag: สมาทาน

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,925 views 1

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

ในหนึ่งการกระทำอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันมากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แม้ดูเผินๆจะเหมือนว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์หลายคนต่างก็เหมือนๆกัน แต่ในความเหมือนนั้นก็อาจจะมีลักษณะของจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อาจจะ ยึดบ้าง อาศัยบ้าง แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะฝึกฝนจิตมามากน้อยเช่นไร

อุปาทานคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่น ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ก็มีทั้งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์ ในส่วนสมาทานคือสภาพของการยึดอาศัย ใช้เพียงแค่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งใด โดยมีการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการกินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพยึดมั่นถือมั่นในจิตว่า คนจะต้องกินเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ใครๆเขาก็กินกัน เนื้อสัตว์มีคุณค่า ฯลฯ เป็นลักษณะของการยึดเพื่อเสพ วิธีตรวจดูความยึดมั่นถือมั่นก็ง่ายๆ เพียงลองละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นสักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือหนึ่งชีวิต ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอาการทุกข์เกิดขึ้น ที่มีความทุกข์นั้นเพราะเกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องได้เสพ กิเลสจะดิ้นทุรนทุรายและหาเหตุผลอันชอบธรรมเพื่อจะให้ได้กลับไปเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ ถึงเขาจะไม่กินตลอดชีวิตเขาก็จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร ไม่คิดถึง ไม่โหยหา ไม่กระวนกระวาย ไม่ต้องหาเหตุผลให้ไปกินเนื้อสัตว์ การที่ยังมีอาการทุกข์ในจิตนั้นเพราะไปหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์

ความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก พรากจากสิ่งที่ตนหวงแหน เมื่อเขายึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ดังนั้นแล้ว เขาย่อมไม่อยากพรากจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้ธรรมะหรือความเห็นอื่นใดเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาจะยึดมันไว้เป็นสรณะ แม้ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะเป็นเนื้อผิดศีลผิดธรรม เป็นเนื้อที่เขาฆ่ามา เป็นเนื้อสัตว์ที่ผิดไปจากหลักของการพ้นทุกข์ก็ตาม

เป็นลักษณะของการมีอุปาทานในเนื้อสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ ที่มักจะหาเหตุผลและสิ่งอ้างอิงต่างๆมาใช้เพื่อให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ควรคิดหาเหตุผลและข้ออ้างในการเบียดเบียนเลย เพราะความจริงนั้นมีปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปแล้วว่า แม้เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นจะทุกข์ทรมานจากความอยากเพราะสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่นนั้นเอง

ความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เป็นสภาพของการดูดดึงเข้าไปเสพสิ่งที่เป็นภัย ยังจมอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังหลงสุขลวงจากการได้เสพ เป็นทางโต่งไปในทางกามสุขลิกะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการไม่กินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ ใครไม่กินเนื้อดี ใครกินเนื้อไม่ดี โดยมักจะมีความกดดัน อึดอัด บังคับ ยัดเยียด ยกตกข่มท่านเข้าไปร่วมด้วย มักจะมีอาการรังเกียจเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์อยู่และไม่สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้จนมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจ

หากอยากลองทดสอบความยึดมั่นถือมั่นก็ให้ลองเข้าไปอยู่ในหมู่คนกินเนื้อสัตว์ อยู่ร่วมโต๊ะอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือกระทั่งลองกินเนื้อสัตว์ จะพบสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจที่เกิดจากการที่จิตมีอาการรังเกียจผลักไส เพราะยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์แต่ถ้ามีอาการสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์แสดงว่ายังล้างกามไม่หมด ยังมีความดูดซ้อนในความผลักอยู่

การยึดมั่นถือมั่นในความดีจนตัวเองต้องทุกข์ทรมานด้วยความยึดดีนั้น เป็นการสร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะมีอัตตา เป็นทางโต่งไปในด้านอัตตกิลิมถะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่กินเนื้อสัตว์( สมาทาน )

เป็นสภาพของการสมาทานหรือยึดอาศัย คืออาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งใดเบียดเบียนก็ไม่เอา สิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เอา ไม่มีความดูดดึงในเนื้อสัตว์ ไม่มีความอยากเข้าไปกิน และไม่มีอาการผลักไส หรือไม่อยากกิน แต่จะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นสำคัญ

การสมาทานหรือการยึดอาศัยนี้เอง คือจุดที่เป็นกลางที่สุด หรือที่เรียกกันว่าทางสายกลาง เป็นกลางบนกุศลสูงสุด ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ไม่เสพกาม ไม่เมาอัตตา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่จะอาศัยให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สาระของศีล

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,582 views 0

สาระของศีล

สาระของศีล

การมีศีลนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในความเจริญของผู้แสวงหาหนทางสู่การพ้นทุกข์ แต่ในความเป็นศีลนั้นก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละความเห็นความเข้าใจซึ่งมีทั้งการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น บ้างก็เข้าใจความหมายของศีลผิดไป ซึ่งเหตุเหล่านั้นทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาระแท้ของศีลได้

ผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ถือศีลเพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสุขที่จะทำให้หลงวนเวียนเสพสุขอยู่ในภพนี้ แต่จะใช้ศีลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือขัดเกลากิเลส เพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลสเท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดเป้าหมายเดียวของเหล่าสาวกในพระพุทธศาสนา

เราจะจำแนกลักษณะของความเข้าใจในศีลออกมา 3 แบบคือ ถือศีล ทิ้งศีล ศึกษาศีล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1).ถือศีล

การถือศีล รับศีลมาถือ นำมาปฏิบัติ เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเห็นประโยชน์ของศีลว่าการมีศีลนั้นจะนำความสุขความเจริญมาให้ ทั้งยังป้องกันภัยต่างๆที่จะเข้ามาสู่ชีวิต และยังเป็นการสร้างกุศลให้กับชีวิตตนอีกด้วย

ผู้ที่ถือศีลนั้นจะมีทั้งแบบยึดอาศัยกับแบบยึดมั่นถือมั่น ผู้ที่ยึดอาศัยหรือการ “สมาทาน” นั้นก็จะใช้ศีลเป็นเครื่องประกอบในการทำคุณงามความ ใช้ศีลเพื่อความสุขความเจริญ แต่เมื่อเกิดความยึดดีถือดี เป็นความยึดมั่นถือมั่นในศีล หรือที่เรียกว่า “สีลัพพตุปาทาน” คือความยึดมั่นและงมงายในศีลและข้อปฏิบัติเป็นหนึ่งในอุปาทาน ๔

การถือศีลแบบยึดอาศัยกับยึดมั่นถือมั่นจะแตกต่างกันตรงที่ความตึงเครียด ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะถือศีลอย่างไม่ปล่อยวาง เคร่งเครียด, ยึดว่าศีลนั้นเป็นที่สุด, คนต้องมีศีลแบบนั้น, พระต้องมีศีลแบบนี้, ปฏิบัติแบบนี้จึงเรียกว่าถือศีล, ใครถือศีลได้มากข้อกว่าก็น่าเคารพกว่า, ฉันถือศีลได้เท่านั้นเท่านี้, ฉันไม่เคยทำศีลขาดหรือด่างพร้อย, มักจะมีอาการยกตกข่มผู้อื่นร่วมด้วย รวมทั้งมีอาการติดดีประกอบอยู่เพราะเหตุแห่งความยึดมั่นในศีลนั้น

ถึงแม้ว่าจะการยึดอาศัยศีลเพื่อสร้างความสุขความเจริญ หรือการยึดมั่นถือมั่นในศีลจนงมงาย แม้จะถือศีลได้ปกติแต่ไม่มีปัญญารู้แจ้งในกิเลสก็เรียกได้ว่าถือไปแบบนั้น“เหมือนกับมีเพชรและรู้ว่าเพชรมีค่าขายได้มีราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเพชรไปใช้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์” เช่นนั้นก็ยังไม่ใช่การเข้าถึงคุณประโยชน์สูงสุดของศีลในพุทธศาสนา การถือศีลเพื่อความสุขความเจริญนี้ยังเป็นเพียงแค่ประโยชน์เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแก่นสารสาระของศีล ดังนั้นคนที่ยึดเอาศีลเป็นเพียงประโยชน์เพื่อเสพสุขจากกุศลกรรม ย่อมยังไม่พบกับความพ้นทุกข์

2).ทิ้งศีล

ในข้อนี้จะยกตัวอย่างของความเห็นผิดในการถือศีล ซึ่งมีให้เห็นได้ในปัจจุบัน คือการทิ้งศีล ไม่มีศีล ไม่ปฏิบัติศีลซึ่งในส่วนของคนที่ยังไม่ถือศีลเพราะยังไม่มีปัญญาเห็นคุณประโยชน์ในศีลจะขอยกไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

คนบางกลุ่มบางจำพวก ตีความหมายของศีลนั้นไปตามความเข้าใจของเขา เช่น ศีลคือความปกติ ดังนั้นรักษากายใจให้ปกติก็ถือว่ามีศีล สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน เมื่อเห็นผิดในกระบวรการปฏิบัติดังนั้นจึงไม่มีการศึกษาในสาระของศีลแต่ละข้อว่ามีไว้เพื่ออะไร เพราะในรายละเอียดของศีลแต่ละข้อนั้นถูกจำแนกให้ขัดเกลากิเลสในมุมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านได้แยกย่อยไว้ให้ค่อยๆเรียนรู้และปฏิบัติศีลไปโดยลำดับ มิใช่เพื่อการบรรลุธรรมในทันที

ยกตัวอย่างหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่สาวกท่านหนึ่งจำศีลมากมายไม่ได้ เลยไปขอศีลจำนวนน้อยกับพระพุทธเจ้า ท่านก็ให้ไว้สามข้อ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต คือมีกายวาจาใจที่ดีงามไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลส ซึ่งเหมาะกับปัญญาของสาวกท่านนั้นเท่านั้น การที่เราจะรับศีลที่สั้นกระชับในระดับนี้มาปฏิบัติ อาจจะทำให้เกิดความหลงผิดเข้าข้างตนเองก็ได้ว่าฉันก็สุจริตทั้งสามอย่างนะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมไม่สมฐานะ ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังเมื่อศึกษาพระไตรปิฎก เพราะใช่ว่าท่านทำได้แล้วเราจะทำได้ อินทรีย์พละมันต่างกัน ซึ่งมักจะทำให้คนที่ขี้เกียจปฏิบัติธรรมหาช่องทางให้ตนได้ศึกษาธรรมได้แบบง่ายๆสบายๆ เพราะความหลงผิดนั่นเอง

กลับมาที่การรักษาใจให้ปกติที่คนบางจำพวกถือเอาเป็นข้อปฏิบัติหรือศีล เมื่อศีลของเขาคือความปกติ เขาจึงมุ่งรักษาใจให้ปกติ โดยที่มักจะใช้วิธีสมถะเข้ามากดข่มจิตใจให้ปกติ เมื่อทำได้เช่นนั้นก็มักจะหลงผิดเข้าใจว่าศีลมีเพียงเท่านี้ ตีทิ้งศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อีกมากมาย โดยไม่รู้เนื้อหาสาระแท้ในแต่ละข้อทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเห็นผิดหรือความขี้เกียจถือศีลมากๆก็ได้ จึงตีความหมายให้เป็นว่าถ้าทำเพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องถือศีล ไม่ต้องมีศีล เพียงแค่รักษาใจให้บริสุทธิ์ตามที่เข้าใจก็ถือว่ามีศีลแล้ว

เราสามารถเข้าใจว่าศีลคือความปกติได้ แต่นั่นคือผลของการปฏิบัติจนเกิดความปกติ ไม่ใช่ทำให้เกิดความปกติขึ้นในจิตด้วยการพยายามกำหนดจิต เช่น เมื่อเราถือศีลกินมื้อเดียว เราจะทำอย่างไรให้กินมื้อเดียวได้ด้วยใจปกติ ไม่มีความอยากกินที่เกินมื้อ ไม่มีความร้อนรน ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีความหดหู่ หรือลังเลสงสัยในศีลนี้ว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร

หรือหากเรามองว่าศีลคือความพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่จะทำให้อยู่อย่างเป็นสุขไม่เบียดเบียนกัน ถ้าหมายถึงศีล ๕ นั้นก็คงใช่ แต่พอขึ้นมาถึงศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็มักจะทำให้มนุษย์ในปัจจุบันขัดข้องใจที่จะถือศีลนั้นๆ โดยเฉพาะจุลศีลในข้อกินมื้อเดียว เรียกว่าหักความคิดตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปทิ้งเลยทีเดียว การกินมื้อเดียวไม่ใช่เพียงแค่ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส แต่ยังเป็นความพอดีสูงสุดในชีวิตด้วย แล้วพื้นฐานของมนุษย์นั้นอยู่ตรงไหน? ความไม่เบียดเบียนกันควรจะวัดจากจุดไหน? แล้วศีล ๑๐ เบียดเบียนตนและผู้อื่นน้อยกว่าศีล ๕ ไหม? ถ้าเบียดเบียนน้อยกว่าก็ควรจะให้ศีล ๑๐ เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์สิ ในเมื่อศีลแต่ละข้อมีความยากง่ายและนัยสำคัญที่แตกต่างกันทำไมเราจึงไม่สามารถเข้าใจแก่นสารสาระเหล่านั้นได้?

อย่างที่ได้กล่าวมาตอนต้น เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นมีเป้าหมายเดียวคือเป็นไปเพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลส นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจ เพราะรู้ชัดว่าเมื่อกิเลสนั้นคลาย ความสงบสุขจะเกิดขึ้นมาเองโดยลำดับ ดังนั้นการถือศีลก็ย่อมเป็นไปเพื่อขจัดกิเลสที่หมักหมมในสันดาน มิใช่เพียงเพื่อความสุขความเจริญดังที่กล่าวไว้ในข้อแรก

ความปกตินั้นคือ “ผล” แต่คนสับสนกลับเอาผลมาเป็น “มรรค” พอปฏิบัติกลับหัวกลับหางกัน มันก็ผิดเพี้ยนไปหมด จนทำให้เข้าใจแก่นสารสาระของศีลผิด จึงนำมาซึ่งการทิ้งศีล มองศีลเป็นเพียงสิ่งพื้นฐานที่รู้จักแล้วก็วางได้ ปฏิบัติศีลเพียงแค่กายวาจาแต่ไม่เข้าใจ จนอาจหลงผิดถึงขั้นดูหมิ่นผู้มีศีลได้

เช่น หลงผิดเข้าใจไปว่าเราคือผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีล คนที่เคร่งศีลคือคนที่ยึดมั่นถือมั่น ยิ่งคนที่ถือศีลมากๆยิ่งจะถูกมองว่าบ้า โต่ง หรือตึงเกินไป เหตุหนึ่งเพราะตนเองไม่สามารถถือศีลเหล่านั้นได้ พอถือแล้วก็ทรมานจากฤทธิ์ของกิเลส เลยต้องหย่อนลงมา จึงเกิดความเห็นผิดว่าการถือศีลคือโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วนั่นคือสภาพของอัตตกิลมถะหรือการทรมานตนเองด้วยความยึดดี

ตอนแรกก็เห็นว่าศีลดีก็เลยพยายามถือศีล แต่พออินทรีย์พละไม่พอมันก็จะทรมาน พอทรมานก็ลดศีลหรือเลิกถือศีล มันก็สบายจากความหลุดพ้นในการทรมานตนด้วยความยึดดีเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าการถือศีลเป็นสิ่งที่โต่ง แต่การถือศีลที่เกินกำลังนั้นเองคือสิ่งที่โต่ง แต่พอทิ้งศีลก็มักจะเข้าสู่ทางโต่งอีกทางคือไหลไปตามกามเลย ไปหลงเสพกาม แล้วก็ติดสุขจากกาม โดยมากจะกู่ไม่กลับเพราะเห็นผิดในการถือศีลไปแล้ว

ในศีลของนักบวชก็เช่นกัน เมื่อไม่เข้าใจสาระของศีล จึงเหลือแต่วินัย ในทุกวันนี้ศีล ๒๒๗ ข้อ คือพระวินัย ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสให้นักบวชในศาสนาของท่านถือศีล ๓ คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก แต่นักบวชทุกวันนี้กลับไม่มีศีล มีแต่วินัย เพราะไม่เข้าใจสาระของศีล จึงทิ้งศีล คงไว้เพียงวินัย หากเราจะลองเอาศีล ๓ หมวดนี้มาตรวจสอบความถูกต้องในปัจจุบัน ก็จะพบว่าส่วนมากผิดศีล เพราะไม่เคยมีศีล ไม่เคยศึกษาในศีล ไม่เห็นประโยชน์ในศีลนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ทิ้งศีล และไม่ถือศีลอย่างงมงาย เพียรศึกษาให้เข้าถึงสาระแท้ของศีล

3).ศึกษาศีล

การมีศีลนั้นคือการศึกษาเพื่อที่จะละเว้นสิ่งที่ชั่ว เว้นขาดจากการเบียดเบียนตนและผู้อื่น เริ่มต้นจากการศึกษาประโยชน์ของศีลเพื่อถือศีลก่อนเป็นอันดับแรก แล้วถือศีลนั้นไว้เพื่อศึกษาสาระแท้ของศีล นั่นคือการศึกษากิเลสในตนผ่านการถือศีล

สาระแท้ของศีลนั้นมีไว้เพื่อเปิดประตูสู่การชำระกิเลส หากไม่มีศีลมากำหนด ก็ไม่สามารถมีสิ่งใดที่จะมาทำให้เราเห็นทุกข์จากกิเลสได้ ศีลนั้นคือหนึ่งในองค์ประกอบของการพ้นทุกข์ ซึ่งหากไม่เริ่มจากศีลก็ต้องเริ่มจากปัญญาที่พัฒนาจนเห็นประโยชน์ของการถือศีล ดังนั้นหากจะปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ ก็ต้องเริ่มจากศีลอยู่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกสาวกเสมอว่าเธอจงศึกษาในศีล ๓ หมวดดังที่ยกมาอธิบายก่อนหน้านี้

การศึกษาในศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร? เมื่อเราถือศีล ศีลก็จะเป็นกำแพงไม่ให้เราไปเสพสิ่งเดิมๆที่เราเคยหลงติดหลงยึดได้ง่ายนัก อย่างน้อยก็เป็นกำแพงในใจ ซึ่งเมื่อศึกษาแรกๆ กำแพงก็จะไม่แข็งแรง เราก็มักจะปีนกำแพงออกไปเสพสุขในสิ่งที่ละเมิดศีลตามแรงยั่วของกิเลส เราก็ต้องใช้ไตรสิกขา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญานี่แหละในการสร้างความแข็งแกร่งของกำแพงศีล เจริญขึ้นไปจนถึงขั้นเกิดหิริโอตตัปปะ เริ่มจะไม่ผิดศีลด้วยความเต็มใจเพราะรู้สึกผิดละอายต่อบาป เจริญขึ้นไปอีกจนกระทั่งเพียรพิจารณากิเลสที่พยายามยั่วยวน ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยศีลและสติ จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลส กระโดดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง(โลกุตระ) ก็ถือว่าจบภารกิจในศีลนั้นๆ แล้วก็ขยับฐานไปถือศีลที่ยากขึ้นหรือศีลอื่นๆต่อไป

ศีลนั้นมีระดับยากง่ายที่ต่างกัน และในศีลหนึ่งๆยังมีการปฏิบัติไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ควบคุมกาย วาจา ไปจนกระทั่งชำระกิเลสในจิตใจได้

ผู้ที่มีศีลแต่ไม่เข้าใจว่าศีลนั้นชำระกิเลสได้อย่างไร หรือเข้าใจผิดคิดเหมาเอาเองว่าการมีศีลนั้นคือการชำระกิเลส ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการถือศีลโดยทั่วไปนั้นไม่ได้ล้วงลึกเข้าไปถึงใจ ไม่ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ ไม่สามารถชำระกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ ไม่สามารถทำให้ละหน่ายคลายจากความอยากนั้นได้ โดยทั่วไปแล้วก็เหมือนกับคนที่ถือศีลเพื่อความสงบสุข ความดีงามดังที่ยกตัวอย่างในข้อแรก

ตัวตนของกิเลสนั้นจะสามารถเห็นได้จากการถือศีล ศีลคือเครื่องมือเดียวที่จะตีกรอบให้กิเลสนั้นถูกแสดงตัว เมื่อเห็นดังนั้นจึงใช้สติปัฏฐานเข้ามาพิจารณาตัวตนแท้ของกิเลสตั้งแต่ผัสสะเกิด เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตว่ากิเลสใดหนอที่ปะปนอยู่ในจิตของเรา แล้วใช้ธรรมที่เหมาะที่ควรเข้าไปพิจารณาตามเหตุคือกิเลสนั้นๆ

การปฏิบัติศีลอย่างเข้าใจในกระบวนการ จะสามารถชำระกิเลสที่มีในจิตใจได้ ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ควบคุมกาย วาจา อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเกิดผล จึงมีสภาพของการถือศีลข้อนั้นๆอย่างปกติโดยที่ไม่ต้องพยายามกดข่ม ฝืนทน หรือมีความลำบากกายและใจใดๆเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

24.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)