กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,351 views 0

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ความเห็นผิดที่พาตนไปในทางฉิบหายเมื่อเห็น… กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ในกึ่งพุทธกาลดังเช่นทุกวันนี้ กระแสของความหลงผิดนั้นรุนแรงและมีปริมาณมาก เป็นยุคที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร

เห็นกิเลสเป็นมิตร

ยุคที่เรายินดีกับการเป็นทาสของกิเลส ยินดีเต็มใจให้มันบงการชีวิต มันบอกให้ไปเสพอะไรก็ไปเสพ มันบอกหาอะไรก็หา มันบอกให้รักอะไรก็รักตามใจมัน แล้วหลงในความสุขที่มันมอบให้ว่านั่นคือของดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่ากิเลสนั้นคือตัวเรา สุดท้ายก็เลยแยกตัวเรากับกิเลสไม่ออก เรากับกิเลสเลยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นตัวตนของกันและกัน ขาดกิเลสเราตาย

สุดท้ายเราก็มีกิเลสเป็นมิตรแท้ กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน พากันไปเสพสุขลวงได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร หรือไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมชั่ว ต้องหลงวนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้ที่เห็นกิเลสเป็นมิตร เพียงแค่มีฉัน(ทาส)และมีเธอ(กิเลส) บำเรอสุขกันไปชั่วนิรันดร

หนักเข้าก็กลายเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่เห็นเช่นนี้ “เป็นผู้ไม่เจริญ” หรือเรียกว่า ยังเลวอยู่ และถึงแม้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส แต่ไม่รู้จักพิษภัยของกิเลส ยังยินดีเลี้ยงกิเลส ก็เรียกได้ว่าไม่รู้จักกิเลส

ศัตรูของกิเลส คือศัตรูของผู้เห็นผิด

การเห็นกิเลสเป็นมิตรก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เสพสุขลวงและทำทุกข์ทับถมตนเองไปวันๆเท่านั้น เมื่อยังมีความเห็นว่าศัตรูของมิตรนั้นก็คือศัตรู และสิ่งใดที่เป็นศัตรูของกิเลส นั่นหมายถึงสิ่งนั้นก็เป็นศัตรูของตนด้วยเช่นกัน

ผู้ที่มีความเห็นผิดจะมีอาการหวงกิเลสของตน ไม่ยอมให้ใครมาแตะกิเลสในตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาว่าการที่ตนหลงเสพหลงสุขเพราะกิเลสเป็นสิ่งผิด หนักเข้าก็นิยามสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าความรักบ้าง สไตล์บ้าง วิถีชีวิตบ้าง เป็นความชอบส่วนบุคคลบ้าง คนเราไม่เหมือนกันบ้าง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปก้าวก่ายกับเรื่องกิเลสของตนเอง

เรียกได้ว่ายิ่งกว่างูหวงไข่ ถ้าใครไปวิจารณ์หรือแนะนำ คนที่เห็นกิเลสเป็นมิตรว่า “กิเลสนั่นแหละคือศัตรู” พวกเขาก็จะมีอาการต่อต้านขึ้นมา เบาหน่อยก็ทางใจ หนักขึ้นมาก็ทางวาจา หนักสุดก็ทางกายกรรมกันเลย คือใครมาว่าสิ่งที่ฉันชอบเป็นกิเลส ฉันจะด่ามัน ฉันจะทำร้ายมัน มันจะต้องพินาศ

เห็นบัณฑิตเป็นศัตรู

ทีนี้ผู้เป็นบัณฑิตโดยธรรมนั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างทำลายกิเลส และชักชวนผู้อื่นให้ทำลายกิเลสด้วยเช่นกัน ถ้อยคำของบัณฑิตนั้นจะมีแต่คำพูดที่ข่ม ด่า ประณามกิเลส เรียกได้ว่ากิเลสนั้นไม่มีค่าในสายตาของบัณฑิตทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นมารของชีวิตที่ต้องเพียรกำจัดไปให้สิ้นเกลี้ยง

เมื่อคนที่เห็นกิเลสเป็นมิตร มาเจอถ้อยคำที่กล่าวถึงการหลงติดหลงยึด สะสมกิเลสนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องที่ผู้เจริญแล้วไม่พึงปรารถนา และควรจะพยายามออกห่างจากกิเลสเหล่านั้น เมื่อได้ยินดังนั้นด้วยความที่ตนเองก็เสพสมใจกับการมีกิเลสในตน เห็นกิเลสเป็นมิตร จึงเห็นบัณฑิตเหล่านั้นเป็นศัตรู เป็นข้าศึกต่อการเสพสุขของตน

จนกระทั่งคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ กล่าวถ้อยคำที่ดึงผู้มีศีลมีธรรมให้ต่ำลง ประณามธรรมที่พาให้ลดกิเลสดูไร้ค่า(เมื่อเทียบกับการสนองกิเลส) หรือกระทั่งเกิดการไม่พอใจที่มาบอกว่ากิเลสของตนไม่ดีจนถึงขั้นทำร้ายกันก็สามารถทำได้

แม้ในขั้นที่ละเอียดที่สุดคือคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ คือคิดไปในทางตรงข้ามกับการลดกิเลส คือการสะสมกิเลส ก็เรียกได้ว่าพาตนให้ห่างไกลจากการพ้นทุกข์เข้าไปอีก นับประสาอะไรกับผู้ที่สร้างวจีกรรม และกายกรรม ในเมื่อเพียงแค่มโนกรรมก็พาให้ไปนรกได้แล้ว

ผู้ที่ยังไม่หลงผิดขนาดหน้ามืดตามัว จะพิจารณาจนเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แม้ตนเองจะยังติดสุขลวงที่กิเลสมอบให้ แต่เมื่อได้ฟังว่ากิเลสนั้นแหละคือตัวสร้างทุกข์แท้ และสร้างสุขลวงมาหลอกไว้ ก็จะพึงสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตนกำเริบ และยินดีในธรรมที่บัณฑิตได้กล่าวไว้

ส่วนผู้ที่หลงผิดจนมัวเมา ก็มีแต่หันหน้าไปทางนรกด้านเดียว เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับทางที่พาให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตไปสู่ทางพ้นทุกข์ ผู้ที่หลงผิดเหล่านั้นก็จะไปสู่ทางแห่งทุกข์ ยิ่งไปก็ยิ่งทุกข์ กลายเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่นรกด้วยความยินดี เพียงเพราะเหตุจากความหลงผิด

เหตุนั้นเพราะคนที่หลงมัวเมาในกิเลสจะสร้างอัตตาขึ้นมา หลอมรวมตนเองเข้ากับกิเลส กลายเป็นความยึดชั่ว เห็นความชั่วเป็นความสุข เห็นสุขลวงเป็นสุขแท้ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเมื่อมีอัตตา ก็จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก มาบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด เพราะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่ตนทำนั้นดีแล้ว, ไม่ได้เบียดเบียนใคร, ไม่ใช่เรื่องของใคร, ใครๆเขาก็ทำกัน, ความสุขของใครของมัน, มันคือชีวิตฉัน, เกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว เมื่อเห็นกิเลสเป็นมิตร และหลงผิดขนาดว่าเห็นบัณฑิตเป็นศัตรู ก็จะมีทิศทางที่ไปทางชั่ว และจะยิ่งเพิ่มความชั่วและมัวเมาขึ้นเรื่อยๆด้วยความหลงผิดที่สะสมมากขึ้น และวิบากกรรมชั่วที่ได้ทำก็จะพาให้เกิดความฉิบหายในชีวิตได้อีกหลายประการ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Related Posts

  • เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง ...ทำอย่างไรถึงเรียกว่ารักตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง “รักตัวเอง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจกันได้อย่างหลากหลาย เรามักจะใช้ประโยคนี้ในการปลอบใจตัวเอง […]
  • ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ… หรือฉันรักตัวเอง ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ... หรือฉันรักตัวเอง ...ความรักที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร? ในบทความก่อนหน้านี้ได้ขยายเหตุว่าทำไมฉันจึงไปหลงรักเขาในมุมของกรรมกันมาแล้ว ในบทความนี้ก็จะมาขยายกันในมุมของกิเลสบ้าง […]
  • รู้ตัวชัดแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต แนะนำหนังสือครับ เล่มนี้อ่านแล้วรู้ชัดเลยว่าไหนคนพาล ไหนบัณฑิต รู้ทั้งตัวเองและคนที่ใกล้ชิดว่าที่เขาเรียกว่ามิตรนั่นน่ะมิตรแท้หรือมิตรเทียม เล่มใหญ่ ๆ ราคา 70 บาท ลองค้น ๆ หา ๆ กันดู ถ้าหาไม่ได้ที่ธรรมทัศน์สมาคมที่สันติอโศกมีขาย […]
  • คนไหนไม่ใช่มิตร คนไหนเป็นมิตร อ่านเจอในหนังสือครับ จากหนังสือ "รู้ชัดตัวเองแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต" เป็นหนังสือสรุปเนื้อหาจากพระไตรปิฎกครับ เห็นว่าข้อนี้เอามาใช้ได้ครอบคลุมดี จึงทำภาพมาแบ่งกันครับ อ่านเจอวิธีจำแนกมิตรและคนที่ไม่ใช่มิตรออกจากกัน […]
  • มิตรแท้คนโสด มิตรแท้คนโสด ผมพิมพ์บทความเกี่ยวการไปสู่ความเป็นโสดไว้มากมาย เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาในชีวิตคู่รักแต่ละอย่างนั้นไม่มีทางแก้ไขได้เด็ดขาดหากยังจะต้องเป็นคู่รัก […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply