Tag: อริยสาวก

คุณค่าของความรัก

October 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,184 views 0

คุณค่าของความรัก

คุณค่าของความรัก

ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพเป็นแรงผลักดันให้ทุกชีวิตขับเคลื่อนออกไปแสวงหาไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาในสิ่งซึ่งสามารถตอบสนองต่อความรักเหล่านั้น

ความรักสามารถดึงคนให้ขึ้นสวรรค์หรือผลักลงนรกได้ เพราะความรักนั้นคือความอยาก คือตัณหา คือแรงผลักดันให้คนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่าง

คุณค่าของความรักนั้น ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คำเรียกขาน หรือแม้แต่นิยามของมันแต่อยู่ที่รักเหล่านั้นพาเราไปพบกับอะไร…

หลายคนมักจะนิยามความรักอย่างสวยหรู ใช้คำว่ารักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่ครอง การงาน ทรัพย์สมบัติ หรือกระทั่งชื่อเสียงและคำสรรเสริญต่างๆ

หากความรักคือความอยากที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลส รักนั้นจะพาเราไปเสพและสะสมกิเลส ไปทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้เราได้เสพสมใจในกิเลสแม้จะเป็นสิ่งชั่วเช่นนี้ แต่เราก็ยังเรียกมันว่า “ความรัก

ถ้าความรักคือเจตนาที่มีแต่ความเมตตา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดี เพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์ เราก็จะพาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมไปในทิศทางที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดการสะสม ลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งนี้เราก็เรียกมันว่า “ความรัก” เช่นกัน

แต่ไม่ว่าเราจะมีความรักแบบไหน รักด้วยกิเลส รักด้วยความเมตตา หรือกระทั่งเป็นความเมตตาที่สอดไส้ไว้ด้วยกิเลสก็ตาม เราก็จะใช้เวลาเรียนรู้ถึงคุณค่า ทุกข์ โทษภัย ผลเสีย จากความรักที่ดีและร้ายเหล่านั้นจากการเดินทางผ่านจำนวนภพจำนวนชาติที่นับไม่ถ้วน ผ่านความผิดหวังและสมหวังมากมาย จนความรักที่เคยหยาบ เห็นแก่ตัว และไร้คุณค่านั้น ได้ถูกขัดเกลาจากการเรียนรู้จนเกิดปัญญา เปลี่ยนเป็นรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นรักที่ยินดีแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ดีดังใจเราหมาย เป็นรักที่ไม่ครอบครอง ไม่ยึดไว้ทั้งร่างกายและจิตใจของใครๆ เป็นรักที่เสียสละ ปล่อยวางจากการเป็นเจ้าของ ไม่การทำร้ายกันด้วยคำหวานและคำสัญญาใดๆ ปล่อยวางจากจองเวรจองกรรมกันและกันด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นนี่เอง คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำให้คนที่เรารักได้

ดังนั้น คุณค่าของความรัก ก็คือ… การทำให้เราได้เรียนรู้ ตั้งแต่การพบเจอความรัก การยึดมั่นถือมั่นในความรัก การพิจารณาคุณค่าของความรัก จนกระทั่งถึงวันที่เราสามารถปล่อยวางความรัก และสุดท้ายเราก็จะได้ปัญญาที่รู้แจ้งชัดว่าควรจะเมตตาอย่างไรจึงจะสามารถรักได้อย่างมีคุณค่า เป็นรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้ ยั่งยืน ตลอดกาล

เมื่อเข้าใจในคุณค่าของความรัก ก็จะสามารถขยายความรักเหล่านั้นออกไปได้กว้างขึ้น จากคู่รัก คนที่รัก ของที่รัก ไปถึงครอบครัว ไปถึงสังคม ชุมชน ไปถึงประเทศชาติ ไปจนทั่วโลกใบนี้ จนกระทั่งรักได้อย่างข้ามภพข้ามชาติ รักที่เสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมทนทุกข์ ยอมทรมาน ด้วยความรักและเมตตาแก่สรรพสัตว์ผู้ยังหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

และนั่นคือความรักของพระพุทธเจ้า ด้วยความรักความเมตตาที่เหลือประมาณ ยากที่จะเข้าใจ บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป เพื่อที่จะสร้างศาสนาแห่งความรักความเมตตา ส่งต่อพลังแห่งรักแท้ผ่านสาวกผู้มีศรัทธาอันไม่หวั่นไหว เพื่อสืบสานส่งต่อความรักความเมตตาเหล่านี้ให้กับบรรดาสรรพสัตว์ผู้ยังหลงมัวเมาในกิเลส

…และทั้งหมดนี้ คือคุณค่าของความรัก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.9.2557(แก้ไข 12.2.2559)

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,095 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

September 8, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,776 views 0

สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

สรณะ…เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

ในสังคมที่สับสนวุ่นวายทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความสะดวกสบาย มากมายไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส แต่มันก็ไม่เคยจะทำให้ใครมีความสุขได้อย่างยั่งยืน เพราะการสนองกิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้อย่างยั่งยืน แต่คนก็มักจะหลงมัวเมาไปพึ่ง ไปยึดว่าการสนองกิเลสนั้นดี ต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ สนองกิเลสให้เต็มที่ เพราะหลงผิดคิดไปว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้ได้เสพสุขมากที่สุด

ความสุขจากกิเลสนั้นเหมือนความสุขลวงๆ เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด สุขอยู่ได้ไม่นานแล้วก็หายไป แต่ทิ้งทุกข์ไว้ให้นานแสนนาน เหมือนกับนายทาสที่เอาของกินมาล่อมาเลี้ยงไว้ แล้วถึงเวลาใช้งานก็เอาแส้ฟาดให้เราลากของ ให้เราทำงาน ให้เราพาไปยังที่ที่เขาหมายเพียงเพื่อที่จะได้เสพเศษแห่งความสุขเพียงน้อยนิด

แต่โลกในยุคนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ยังมีมหาบุรุษที่รู้ทุกอย่างในมหาจักรวาลที่บังเกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒๖๐๐ ปีก่อนและส่งต่อคำสั่งสอนมาให้ ผ่านอริยสาวกของท่านจากรุ่นสู่รุ่น

แม้สังคมและชีวิตทุกวันนี้จะมีแต่ความทุกข์จากความสับสนวุ่นวาย แต่ถ้าเรายึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระสงฆ์ อริยสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เป็นไปในทางลดการสะสมกิเลส เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน

ชาวพุทธที่จะมีปลายทางสู่การพ้นทุกข์ จะยึดพระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีสามสิ่งนี้เป็นที่พึ่งเท่านั้น ที่พึ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี

การไปพึ่งพาสิ่งอื่นนั้นนอกจากจะไม่เกิดความสุขแล้วยังจะสร้างความทุกข์ความฉิบหายได้อีก บางคนมีวิบากกรรมที่ต้องไปเชื่อ ไปหลง ไปงมงาย ไปมัวเมา ในเดรัจฉานวิชา เช่น การทายใจ ทำนายฝัน ปลุกเสก หมอผี ดูดวง ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง หมอดูต่างๆ การบนบาน ทำพิธีบวงสรวง รดน้ำมนต์ พยากรณ์ทำนายทายทักต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ( สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้จากการศึกษามหาศีล ซึ่งเป็นศีลแบบกว้าง ครอบคลุมการเลี้ยงชีพ ไปจนถึงประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่เป็นไปในเชิงสังคม)

เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่คนโง่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้หลอกคนโง่กว่าอีกที ก็หลงโง่กันไปทั้งคนใช้คนเสพ…

คนที่ไปพึ่งพาสิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น จะไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะยังหลงอยู่กับสิ่งมัวเมาในระดับหยาบ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ทางสู่ความเจริญ ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ยิ่งไปพึ่งพาก็ยิ่งจะพาให้ทุกข์ แต่ผู้มีวิบากบาปก็จะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ และหลงมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ชาวพุทธผู้มีปัญญา พึงระลึกว่ามีเพียงพระรัตนไตรเท่านั้นเป็นที่พึ่ง แม้แต่เทพเจ้า ตำนาน หรือคำกล่าวอ้างใดๆ ก็ไม่ใช่ที่พึ่งทางใจของเรา

ผู้ที่ยังบูชา เทวดา เทพเจ้า หรือเทพต่างๆ อยู่นั้น คงยากที่จะพ้นทุกข์ ยกเว้นเสียแต่เทพเจ้าที่บูชาเคารพและยึดเป็นที่พึ่งนั้นจะเป็นอริยสาวกคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ถ้าไม่จัดอยู่ในหมวดของพระรัตนไตร บูชาไป พึ่งพาไปก็มีแต่จะหลงทาง แต่ถึงจะบูชาถูกตรงแต่บูชาเพียงรูปคือขอแค่กราบไหว้ ขอแค่ได้เคารพ ขอแค่ได้ร่วมบุญ ขอแค่มีที่ระลึกติดไว้ที่บ้าน นั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่ยังตื้นเขินนักไม่ทำให้พ้นทุกข์อีกเหมือนกันเพราะไม่ได้นำมาปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้มีพระโคดมพระองค์เดียว และท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี ประกอบกับธรรมในข้อ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ผู้ที่ยังไม่มั่นใจก็จะลังเลสงสัย จะเหมารวมว่าศาสนาอื่นๆก็ปฏิบัติได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทำให้พ้นทุกข์ได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทางพ้นทุกข์มีหลายทาง… แต่ในความเป็นจริงคือ การพ้นทุกข์ในระดับการดับกิเลสนั้น มีในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น ลัทธิอื่นนอกศาสนาพุทธไม่มี

ทีนี้เราก็มักจะเข้าใจตามที่คนอื่นว่า ท่านนี้ท่านนั้นเป็นอรหันต์บ้างละ ตำนานเขาว่ากันอย่างนั้นบ้างละ มีหลักฐานว่าอย่างนั้นบ้างละ แต่จริงๆคือเราเชื่อตามเขาเท่านั้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณสมบัติของพระอริยะมีอะไรบ้าง ถึงจะรู้ก็ดูไม่ออกอยู่ดี แต่ก็มีที่เขาว่าหลงเข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุธรรมก็มีมากเหมือนกัน เอาเป็นว่าถ้าเราไปเชื่อตามเขากล่าวอ้างกันมานั้นก็คงจะไม่ดีแน่ เรื่องนี้เรายกไว้ก่อนจะดีกว่ารอดูไปก่อนจะดีกว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขากล่าวอ้าง อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคนเขาพูดกันมา สังคมเขาเชื่อกันมา ให้ลองดูก่อน ลองนำแนวทางคำสั่งสอนมาปฏิบัติดู ถ้าชีวิตไม่ดีขึ้น ทุกข์หนักขึ้นก็ให้ถอยออกมา แต่ถ้านำคำสั่งสอนมาปฏิบัติแล้วชีวิตดีขึ้น ตัวเราและคนรอบข้างเป็นสุขมากขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ความอยากได้อยากมีน้อยลง ก็ให้ปฏิบัติตามต่อไปเรื่อยๆ

การยึดพระรัตนไตรเป็นสรณะ…

ในอีกแง่มุมหนึ่งของการยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งพา ที่อาศัย คือการทำตัวเองให้ความเป็นในสิ่งนั้นๆ คือการเรียนรู้ธรรม (ปริยัติ) การปฏิบัติธรรม(ปฏิบัติ) จนกระทั่งเกิดภาวะที่สามารถเข้าใจถึงธรรมนั้นๆได้อย่างถ่องแท้ (ปฏิเวธ) เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้นสุดท้ายการพึ่งพระรัตนไตรก็ต้องน้อมเข้ามาสู่ตัวเอง

เราจะไม่รอให้ใครหรืออะไรมาดลบันดาลความสุขให้ เราไม่รอให้วิบากกรรมส่งผลให้เราทุกข์เกินทนจนเลิกทำชั่ว แต่เราจะพาตัวเองให้พ้นทุกข์เอง โดยการศึกษาพระธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ คือการลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นกิเลสเป็นของตน จนกว่าจะถึงสภาพของการหลุดพ้นจากกิเลส เบื่อหน่ายคลายจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งถึงกิเลสนั้นๆ รู้ไปจนถึงว่ากิเลสนั้นดับสนิทแล้ว

เมื่อยึดพระรัตนไตรมาสู่ตนเองอย่างแท้จริงแล้ว ก็เหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเราจะถูกขีดไว้ให้เดินไปแต่ในทางเจริญทางด้านจิตใจ แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป ทำงานออฟฟิศ มีธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตแบบใด ถ้ามีการนำพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งเป็นที่ยึดอาศัยแล้ว เราก็จะมีโอกาสเข้าถึงความสุขแท้กันได้ทุกคน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์