Tag: ความสุขแท้

ยามศึกเรารบ …กับกิเลส ยามสงบเราล้าง …กิเลส

August 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,462 views 0

ยามศึกเรารบ ...กับกิเลส ยามสงบเราล้าง ...กิเลส

ยามศึกเรารบ …กับกิเลส ยามสงบเราล้าง …กิเลส

= = = = = = = = = = =

วันเวลาในชีวิตของเราผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลายสิ่งที่เคยวาดฝันไว้ว่าจะทำตั้งแต่ยังเด็กแต่กลับไม่ได้ทำจนถึงทุกวันนี้เหมือนกันกับการแสวงหาสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต เราทำเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านั้นยังไม่ควรแก่เวลา เอาไว้ทำทีหลังก็ได้ ไว้ทำตอนแก่ชราก็ได้

ทุกวันนี้คนมุ่งเข้าหาโลก พยายามพาตัวเองให้หมุนวนไปตามโลก แสวงหา ไขว่คว้า ครอบครองโลกียะทรัพย์ทั้งหลายและหมายมั่นว่าสิ่งนั้นคือที่สุดในชีวิต จนกระทั่งหลงลืมว่างานทางธรรมนั้นยังมีอยู่ สิ่งที่เป็นความสุขแท้นั้นยังมีอยู่ แต่เรากลับเพิกเฉย มองข้าม และปล่อยให้มันผ่านไป

แก่นแท้ของศาสนาพุทธจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการหลุดพ้นจากกิเลส แม้ทุกวันนี้ความหมายเหล่านี้จะเลือนหายและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่คนผู้มั่นคงในเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์นี้ก็ไม่ได้ลดละความเพียรเลย แม้จะต้องเจอเหตุการณ์มากมายที่ประดังเข้ามาในชีวิตประจำวันก็สามารถสู้รบทำศึกกับกิเลส ไม่ยอมให้กิเลสเอาชัยชนะแต่ฝ่ายเดียว และแม้ในยามสงบก็ยังหยิบยกเรื่องกิเลสมาพิจารณา เพื่อทำลายเชื้อชั่วที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจให้จางคลายได้โดยลำดับ

คนที่เห็นภัยของวัฏสงสาร จะไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่มัวเมาหลงระเริงกับเรื่องโลก จะใช้ชีวิตไปพร้อมๆกับการพัฒนาจิตใจให้เจริญได้ โดยที่โลกกับธรรมนั้นหมุนวนไปพร้อมกัน เรื่องโลกก็ต้องดำเนินต่อไปตามเหตุปัจจัยที่พอจะเอื้อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เรื่องทางธรรมก็ต้องเพียรให้ถึงที่สุด ไม่เลิกล้มจนกว่าจะสามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้

ดั้งนั้นผู้ที่จะเจริญได้ไวที่สุดคือผู้ที่เพียรพยายามต่อกรกับกิเลสในทุกๆลีลา มันจะเข้ามาเราก็ต่อสู้ ไม่ยอมง่ายๆ ถึงแม้เราจะแพ้แต่เราก็ไม่ย่อท้อ ฝึกฝนจิตใจ เพิ่มกำลังปัญญาเพื่อที่จะกลับไปสู้มันอีกครั้ง เป็นนักรบที่ไม่ก้มหัวให้กิเลส ไม่ยอมให้กิเลสเข้ามาครอบครองจิตใจได้ง่ายๆ ไม่หนีสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพราะรู้ดีว่า หนีไปก็มีแต่จะแพ้ ยิ่งหนี ยิ่งเพิกเฉย กิเลสก็ยิ่งแกร่งกล้า มันยิ่งสะสมพลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าสู้ก็ยังพอมีเสมอได้บ้าง แม้จะสู้แพ้ก็ยังได้เรียนรู้ว่าแพ้อย่างไร เพราะอะไร จะแก้ทางครั้งหน้าแบบไหน แต่ถ้าชนะได้เลยก็ยิ่งดี จบเรื่องนั้นๆได้เลย ไปลุยกิเลสเรื่องอื่นๆต่อ

– – – – – – – – – – – – – – –

16.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,379 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปล่อยเธอไป

December 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,176 views 0

ปล่อยเธอไป

ปล่อยเธอไป

…เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ

ในวันที่การพลัดพรากได้มาถึง วันที่ต้องห่างกายหรือในวันที่ต้องห่างใจและคงจะห่างออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันกลับมา เราพร้อมจะรับมันไหมหากว่าวันเวลาเหล่านั้นได้มาถึงโดยที่เราไม่ได้คาดคิดไว้ว่ามันจะมาถึงเร็วขนาดนี้

คู่รักหลายคู่ที่คบกันอย่างจริงใจ ไม่มีคู่ไหนที่คิดว่าความสัมพันธ์นั้นจะต้องเสื่อมต้องสลาย ซ้ำยังเชื่อมั่นว่าเราและเขาจะต้องเจริญไปด้วยกัน จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตของกันและกัน

ความเชื่อเหล่านี้เป็นชุดความเชื่อทั่วไปของคนที่คิดจะรักกัน ผูกพันกัน สร้างครอบครัว ดำรงชีวิตร่วมกันมองชีวิตข้างหน้ามีเพียงความสวยงาม แต่กลับกลบความจริงไว้ใต้จิตสำนึกและไม่คิดจะยอมรับมัน

ความจริงนั้นก็คือเราต้องจากคนที่รักคนที่ชอบใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จากเป็นก็จากตาย ถ้าจากตายนี่มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่าไม่ซับซ้อน ตายแล้วก็จบไป เรื่องต่อจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจากเป็นนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น จากเพราะหมดรัก จากทั้งที่ยังรัก ฯลฯ

1).ตายจาก

ในวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ตายจากสภาพเหล่านี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำกับกรรมที่ได้ทำไว้ หากเราเป็นผู้ที่จากไปก็คงจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ยืนมองคนที่รัก มองคนที่หวงแหนกำลังจะจากไป หรือจากไปแล้วไม่ว่าด้วยอุบัติเหตุ ด้วยโรคร้าย ด้วยกรรมบันดาลต่างๆ เราจะสามารถยอมปล่อยวางได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาได้หรือไม่

ยามเมื่อที่คนรักจากไป ความเศร้าโศกเสียใจนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายคนร้องให้คร่ำครวญ หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน หลายคนมีอาการซึมเศร้าและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากเสียคนที่รัก อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เห็นได้ในโลกแต่กลับไม่ใช่ธรรมชาติของธรรมะ

การที่เราเศร้าโศกเสียใจหรือมีอาการอื่นๆ โดยรวมเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์เราก็ต้องค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อค้นลงไปแล้วก็จะเจอกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น การที่เราทุกข์เพราะเราต้องพรากคนที่เรายึดมั่นถือมั่นไป ไม่ว่าจะยึดไว้ในสถานะใดก็ตาม เช่น ผู้นำครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อนชีวิต ฯลฯ เราจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมากเท่าที่เรายึดไว้

แต่ถึงจะทุกข์เท่าไร การจากพรากกันด้วยความตายนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แม้ว่าเหตุการณ์จะดูบังเอิญและซับซ้อนเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องยอมรับว่าคนตายไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอย่างแน่นอน

การจะยอมปล่อยยอมวางความยึดมั่นถือมั่นในคนที่ตายจากไปแล้วนั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่หลายคนสามารถทำได้ไม่ยากไม่ลำบากเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีบางคน บางความเชื่อ บางวัฒนธรรมที่หลงติดหลงยึดไม่ยอมปล่อยยอมวางแม้ร่างนั้นจะเป็นซากที่ไร้วิญญาณไปแล้วก็ตาม

2).จากเป็น

สิ่งที่เข้าใจและยอมรับยากกว่าการจากตายก็คือการจากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเห็นกันอยู่ ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกัน แต่ความสัมพันธ์นั้นได้ตายจากไปแล้ว สถานะของคู่รักนั้นได้ยุติลงไปแล้ว อาจจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมดรักต่อกัน หรือความจำเป็นบางอย่างก็ได้

ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดรักหมดความอยากในการเสพกิเลสร่วมกัน หมดความหมายในการร่วมเคียงคู่กัน นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปล่อยวาง เพราะทั้งสองรู้ดีว่าคู่ของตนในตอนนี้สนองกิเลสให้ตนไม่ได้ ทำให้ตนไม่พอใจ จึงไม่ยินดีที่จะเคียงคู่กัน ดังนั้นการเลิกรากันอย่างเต็มใจนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เพราะไม่ได้ยึดไว้ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้ถือก็เลยไม่ต้องวาง อาจจะเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงใจนั้นทำให้เขาทั้งคู่ได้เรียนรู้และยินดีที่จะไม่ยึดมั่นในคู่ของตน

ในตอนจบของความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะจบด้วยความเข้าใจก็ได้ หรือจะจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งก็ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการยึดซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง บางครั้งเราอาจจะต้องทะเลาะกันด้วยเหตุที่ว่าเรายึดในตัวเองมากเกินไป

แต่ในกรณีการจากกันทั้งที่ยังรักกันหรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงรักยังคงผูกพันอยู่โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินดีจะเคียงคู่กันอีกต่อไป จึงนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจมากมายไปจนถึงสุขภาพและสังคม หน้าที่การงาน กระทั่งในทุกองค์ประกอบของชีวิต

2.1).หมดรักจึงจากไป

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรักโดยที่อีกฝ่ายยังคงรักและผูกพันอยู่ ผู้ที่ถอนตัวจากความรักความหลงได้ก่อนก็เป็นผู้ที่เอาตัวรอดไปได้ เหลือทิ้งไว้แต่คนซึ่งยึดมั่นถือมั่นในความรัก เหมือนกับคนสองคนดึงหนังยางคนละฝั่ง คนที่ปล่อยทีหลังก็จะเป็นคนที่เจ็บ เราเจ็บเพราะเราไม่ปล่อย แต่เราจะปล่อยได้อย่างไรในเมื่อเรายังรักและผูกพันอยู่

ไม่ว่าจะถูกเลิกราไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม เรามักจะเห็นคนที่ถูกทิ้งเป็นทุกข์โดยมีอาการคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียใจ คับแค้นใจ เหตุนั้นเพราะหลงติดหลงยึด รากปลายสุดสายของความหลงผิดก็คืออวิชชา เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ มีสังขาร มีวิญญาณ มีนามรูป มีสฬายตนะ มีผัสสะ ต่อเนื่องกันไล่มาจนถึงมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน จึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ จึงมีความตายซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากความรักนั้น และเกิดความทุกข์ต่างๆต่อมาเรื่อยๆนั่นเอง

การจะไปแก้ที่อวิชชานั้นเป็นเรื่องที่ทำทันทีไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิด เข้าใจไปเพียงว่าแค่เรา”รู้”ก็สามารถดับทุกข์นี้ได้แล้ว เพราะเข้าใจด้วยภาษาว่าอวิชชาคือ “ความไม่รู้” จึงแก้ด้วยภาษาซึ่งนำคำว่า “รู้” เข้ามาคิดจะแก้อวิชชา จึงเกิดการฝึกสติให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมโดยเข้าใจว่าการรู้ตัวคือตัวดับทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะความรู้นั้นหมายถึงวิชชา คือความรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่กิเลส ไม่ใช่ดับจิตให้นิ่ง แต่เป็นการขุดค้นเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับมันด้วยสัมมาอริยมรรค

กลับมายกตัวอย่างอาการของคนที่ยึดไว้(อุปาทาน)เสียก่อน เมื่อเรามีความยึดในคู่ครองของตนแล้วต้องถูกพรากจากไปแบบเป็นๆนั้น จะมีอาการแสดงออกมาได้หลากหลาย ทั้งซึมเศร้าเหงาหงอย กินไม่ได้นอนไม่หลับ โวยวายตีโพยตีพาย เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย อาการทำร้ายตัวเองเบียดเบียนตนเองเหล่านี้เป็นผลมาจากความยึดทั้งสิ้น

และยังสามารถแสดงอาการทำร้ายคนอื่นได้ เช่นการหึงหวง แม้จะถูกเลิกราไปแล้ว แต่ก็ยังตามรังควานอดีตคนรักที่เขาหมดรักไป ในมุมที่ไม่รุนแรงก็คือการตามง้อ ไปขอร้องให้มอบความเห็นใจ ขอให้กลับมารักกัน ร้องไห้ฟูมฟายเรียกร้องความสนใจ ไปวนเวียนอยู่ในชีวิตเขา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในระดับหนึ่ง เราเบียดเบียนเพราะเราอยากได้เขามาเสพเหมือนก่อน เพราะเรายึดว่าถ้าได้เสพจึงจะเป็นสุข และต้องเสพคนเดิมด้วยนะ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นคนเดิมไว้

ความหึงหวงแม้ยุติความสัมพันธ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มักเห็นได้ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ คือฝ่ายหนึ่งเลิกราไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังจองเวร ประมาณว่า “ถ้าข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องมีใครได้คนนี้ไป” จึงตามรังควาน กดดัน บีบคั้น ใส่ร้าย จนกระทั่งมีการทำร้ายตบตี จนถึงฆ่ากันก็มีให้เห็นกันเป็นเหมือนเรื่องปกติ ลักษณะนี้เกิดจากความยึดที่รุนแรง พอตนเองโดนพรากสิ่งที่รักไปก็ไม่ยอมให้ใครได้ไป มันจะเอามาเป็นของตนอยู่ฝ่ายเดียว จนถึงขั้นฆ่าเพื่อไม่ให้ใครมาเสพก็ยังได้ ฆ่าทั้งที่ยังรักยังยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แต่เพราะความโกรธมันมากกว่า โทสะมันแรง พอเราไม่ได้เสพสมใจโทสะมันก็ขึ้น ถ้ามันขึ้นไปเหนือความรัก เหนือหิริโอตตัปปะ เหนือศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งจนถึงการทำร้ายกันฆ่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส

ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงต้องทนทุกข์ จะบอกให้ปล่อยวาง ไม่ไปทุกข์ ไม่เอาตัวเองไปทุกข์โดยใช้ความคิด ความเห็น ความเข้าใจเดิมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยึดไปแล้ว กิเลสมันเกิดไปแล้ว อัตตามันสร้างไปแล้ว เราจะมาดูสรุปในข้อ 4. ตอนท้ายบทกัน

2.2).จากกันทั้งที่ยังรัก

การจากกันโดยที่เขาไม่ได้รักเราอีกต่อไปแล้วนั้นก็ยังทำใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับการที่ต้องจากกันทั้งที่ยังรักกัน เขาก็รักเรา และเราก็รักกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆทั้งหลายนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินชีวิตคู่ต่อไป อาจจะเป็นไปได้จากสาเหตุทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและกรรม

การจากกันโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก อาจจะทำให้คนที่ต้องถูกทิ้งเสียใจ เสียดาย หรือกระทั่งโกรธได้ หมายถึงเกิดได้ทั้งดูดและผลัก คือพยายามจะดูดดึงเขาเข้ามาในชีวิตเหมือนเดิม และสภาพผลักด้วยความโกรธ ความน้อยใจ ความผิดหวัง หรือการงอน ทำให้ผลักเข้าออกจากชีวิต

แต่การจากทั้งที่สองฝ่ายยังรักกันนั้น ยากนักที่จะเกิดสภาพผลัก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไรต่อกัน ยังคงรู้สึกดีต่อกัน ยังคงต้องการกันและกัน ดังนั้นการดูดดึงย่อมมีพลังรุนแรงเพราะไม่มีพลังผลักมาต้านหรือมาลดแรงของการดึงดูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากที่ตัดใจได้ ยากที่จะปล่อยวางได้

จะขอยกทศชาติของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทานบารมี ในชาตินั้นท่านเองก็มีลูกและภรรยาที่ทั้งรักและผูกพันแต่ก็ต้องตัดใจมอบทั้งลูกและภรรยาให้ผู้อื่นทั้งๆที่ยังรักอยู่และภรรยาท่านเองก็ยังรักท่านอยู่ เป็นเรื่องยากสุดยากที่สุดจะจินตนาการ ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาไม่มีทางทำได้ต้องบารมีระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะทำได้

ลดลงมาเป็นระดับที่เห็นได้โดยทั่วไปบ้าง ดังเช่นคนที่ครอบครัวห้ามไม่ให้คบกัน โดนสังคมกีดกันไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะหากคบกันต่อแล้วจะมีคนอื่นทุกข์อีกมากมายหรือเกิดทุกข์ที่คู่รักคู่นั้นเอง มีบางคู่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากไม่สามารถยอมรับสภาพการที่ต้องถูกพรากทั้งที่ยังรักกันได้จนกระทั่งเลือกที่จะหนีตามกันหรือตัดสินใจอื่นๆเพื่อหนีจากทุกข์นั้น ถึงแม้คู่ที่ต้องถูกพรากขณะที่ยังรักกันจะสามารถยอมรับการพลัดพรากนั้นได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นกัน

3). มากกว่ารัก

ดูเหมือนว่าความรักนั้นจะมาพร้อมกับความทุกข์เสมอ แต่ความรักนั้นก็ยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่ารักที่เราเห็นและเข้าใจ เป็นมากกว่ารักทั่วไป เป็นรักที่ไม่มีการผูกมัด ไม่มีความทุกข์ มีความหวังดีและจิตเมตตาอยู่ แต่ไม่มีความผิดหวัง เพราะไม่ยึดสิ่งใดไว้ให้ผิดหวัง เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องที่มากกว่ารัก

ในส่วนของผู้ที่ต้องการความเจริญในทางธรรม เช่นเดียวกับตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เราเองก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะไม่ยากเท่า ไม่ลำบากเท่า ผู้ที่จะต้องการทำลายกิเลสเพื่อข้ามพ้นสู่ความผาสุกที่แท้จริง จะต้องทำลายกิเลสทิ้งในขณะที่มีความรัก ในขณะที่ยังรักยังผูกพัน ในขณะที่ความรู้สึกว่ารักนั้นยังคงอยู่ ยังเหลือเยื่อใยต่อกันอย่างเต็มที่เท่านั้น

การทำลายกิเลสหรือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่การทำลายความรัก แต่เป็นการยกระดับของความรักจากรักแบบโลกีย์ ให้กลายเป็นรักในแบบโลกุตระ เป็นรักที่ยิ่งใหญ่ มีแต่ความเมตตา มีแต่การให้ ไม่คิดจะเอาอะไรกลับมา เป็นเพราะรักมากจนกระทั่งยอมปล่อยยอมวาง รักมากเสียจนยินดีสละทุกอย่างให้ มากจนยอมทนทรมานเพียรทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อที่จะได้มาซึ่งรักที่ใสบริสุทธิ์จากกิเลสและนำรักที่บริสุทธิ์นั้นมาให้กับคนที่รักและคนอื่นๆอีกมากมาย

เพราะรักมากและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของความรักมากกว่าการครองคู่ มากกว่าการยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ มากกว่าการกอดทุกข์ไว้ คือการปลดปล่อยตัวเราและผู้อื่นออกจากการจองเวรจองกรรม เป็นโอกาสเดียวที่เราจะสามารถเข้าถึงความสุขแท้ได้คือยอมรับและเข้าใจทุกสิ่ง

เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกทิ้งหรือจำใจจะต้องเลิกราก็ตาม สุดท้ายการปล่อยวางจะเกิดจากการเข้าใจทุกเหตุปัจจัยและยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ผู้ที่ยอมปล่อยสิ่งที่รักได้อย่างเป็นสุข ปล่อยวางได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะได้รับปัญญาใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความรักชุดใหม่ ได้รักใหม่ที่ดีกว่าเก่า สุขกว่าเก่า สบายกว่าเก่า สงบเย็นกว่าเก่า เมตตากว่าเก่า รักมากกว่าเก่า

4).เหตุเกิดของความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความรัก

เหตุทั้งหมดของเรื่องเหล่านี้คือการยึด แล้วมันยึดอย่างไร ยึดมาตั้งแต่ตอนไหน เราจะมาลองอธิบายปฏิจจสมุปบาทไปกับการยึดของความรักกัน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นจิตใสไม่มีกิเลส แต่ด้วยความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส จึงหลงสร้างสภาพปรุงแต่งทั้งกายวาจาใจ เมื่อมีการปรุงแต่งจึงเกิดวิญญาณคือธาตุรู้ เมื่อมีวิญญาณจึงมีนามรูปคือตัวรู้แล้วตัวที่ถูกรู้ เมื่อมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงขั้นตอนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยด้วยภาษาด้วยพยัญชนะ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายและจิตใจเรานี่เอง

เมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจึงเกิดมีผัสสะ คือมีสิ่งกระทบ เช่นตากระทบรูปเห็นคน จำได้ว่าคนแบบนี้เรียกว่าคนสวยเป็นที่นิยม จึงเกิดเวทนาคือมีความสุขที่ได้เห็นคนสวย เมื่อมีความสุขจึงเกิดตัณหาคือความอยากเสพคนสวยหรือความสวยนั้น เมื่อมีตัณหาจึงมีอุปาทานคือการยึดมั่น ว่าฉันชอบคนสวย ฉันอยากได้คนสวย ฉันสุขใจเมื่อมีคนสวย มันยึดเข้าตรงนี้เอง กิเลสกลายมาเป็นตัวเราของเราตรงนี้เอง

ความรักหรือการยึดมั่นถือมั่นในคู่ครองก็เช่นกัน เมื่อเขาล่อลวงเราด้วยอบายมุข บำเรอเราด้วยกามคุณ สนองเราด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ทำให้เราเสพสมในอัตตาของเรา ทำให้เราได้รับผัสสะต่างๆ ได้กระทบกับสิ่งต่างๆเกิดเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ในส่วนของคนคู่นั้นก็มักจะเกิดการเป็นสุขมากกว่า เมื่อเป็นสุขก็เลยมีตัณหาคือความอยากเสพความสุขนั้นอีก อยากเสพไปเรื่อยๆจึงเกิดความยึดหรืออุปาทาน มันยึดคู่รัก คนรัก อดีตคนรักไว้ก็ตรงนี้ เพราะได้เสพสมใจในกิเลสจึงยึดมั่นถือมั่นไว้ เกิดความยึดในการเสพสุขนั้นไว้ แต่มันไม่จบเพียงเท่านี้

การยึดนั้นทำให้เกิดภพ หรือที่อาศัย ในที่นี้คือสภาพที่จิตใจได้ดำรงอยู่ เช่นติดอยู่ในภพที่ว่าเขาจะเป็นของฉันเช่นนี้ตลอดไป เมื่ออาศัยอยู่ในภพเช่นนี้จึงมีชาติ คือการเกิด เกิดกิเลสซ้ำ เกิดความอยากได้อยากมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่จะเกิดต่อจากความยึดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข

แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆแก่ลงไปชราลงไป หมายถึงรักนั้นไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อก่อน มันเสื่อมลง มันน้อยลง แม้ได้เสพก็สุขน้อยลง เมื่อแก่แล้วก็ต้องตาย ความตายอาจจะตายจากกันจริงๆหรือหมายถึงความรักนั้นตายจากใจก็ได้ มันหายไปสลายไปไม่มีเหลือ ที่นี้คนที่ติดสุข ติดภพ ยึดมั่นถือมั่นในคู่รักก็จะเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ สร้างความคับแค้นใจ และความทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลในความรักที่มีกิเลสย่อมเกิดด้วยเหตุเช่นนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ดังนั้นการจะดับปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่น การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ท่องว่าปล่อยวาง แต่เป็นการทำลายกิเลสซึ่งเป็นรากแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นพระเอกในภารกิจนี้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อกหัก

November 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,624 views 0

อกหัก

อกหัก

…เมื่อความผิดหวังมาเยี่ยมเยียนความรัก

ความรัก การมีคู่ การครอบครอง เป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่หา เฝ้าฝันว่าวันใดวันหนึ่งจะได้พบคู่รักดังที่เคยฝันไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอคู่ที่เหมาะสม คู่ที่ยินดีจะมอบกายมอบใจมอบชีวิตให้เขาครอบครอง แต่สุดท้ายความฝันทั้งหมดก็พังทลายลงเมื่อเผชิญกับความจริง เหลือทิ้งไว้เพียงแค่คนที่ถูกดับความหวังหมดสิ้นความฝันหรือที่เรียกกันว่า “คนอกหัก

ในบทความนี้จะมาไขเรื่องราวของการอกหักอย่างละเอียดเท่าที่จะเกิดประโยชน์กับใครสักคนที่กำลังอกหักหรือเตรียมตัวที่จะอกหักมาสรุปเป็นหัวข้อได้ 7 หัวข้อด้วยกัน ลองอ่านกันเลย

1….ทำไมต้องอกหัก

เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีการดับ อย่างที่เรารู้กันว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เหมือนกันกับความรัก มันเกิดขึ้น มันดำเนินอยู่คงสภาพอยู่ และสุดท้ายมันก็ต้องจบลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ตอนที่เรากำลังไขว่คว้าหาความรักแสวงหาคู่ครองมาคบหาดูใจนั้น น้อยคนนักที่จะคิดว่าทุกอย่างจะต้องจบลง ยากนักสำหรับคนที่หลงไปกับความรักจะคิดได้ว่าเมื่อมีรักก็ต้องมีวันหมดรัก หรือจะเรียกได้ว่าเมื่อตกลงรักไปแล้วก็ยากนักที่ใครจะเตรียมพร้อมทำใจรอรับวันอกหัก เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับความรัก ได้รับคนรักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ก็มักจะมัวแต่เมามายประมาทในกาลเวลามองว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปดังที่หวังไว้ เมื่อได้คบหาแล้วก็วางแผน วาดฝัน สร้างสวรรค์วิมานไปตามที่จะคิดจะจินตนาการได้

แต่ถึงจะวางแผนชีวิตคู่ไว้อย่างดีแค่ไหน สัจธรรมย่อมไม่เปลี่ยนแปลง คือเราจะต้องมีความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายถึงเราจะต้องเสียคู่รักของเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเลิกคบหากัน อาจจะตายจากกัน หรืออาจจะอยู่ด้วยกันโดยที่ความรักนั้นได้ตายไปแล้วก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมาถึงในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเราอกหัก เรามักจะมองหาคนผิด คนที่ได้ชื่อว่าอกหักมักจะดูเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งก็มักจะคิดว่าตนนั้นถูกกระทำ และคิดว่าตนนั้นมีสิทธิ์ที่จะเสียใจ มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง มีสิทธิ์ที่จะทุกข์ ทั้งที่คนผิดจริงๆนั้นคือตัวเราเอง

ไม่ว่าอดีตคู่ครองจะทำอะไรและไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนกับเราก็ตาม ให้รู้และเข้าใจไว้อย่างหนึ่งคือทั้งหมดที่เขาทำนั้นคือกรรมของเราเอง เราทำมาเองเราเลยต้องรับเอง ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่าเราเคยทำกรรมอันน่ารังเกียจแค่ไหน ยิ่งเราเกลียดคนที่หักอกเรามากเท่าไหร่ นั่นแหละคือเราทำมามากกว่านั้น เราเลวร้ายมากกว่านั้น เพราะกรรมเขาแบ่งมาให้เรารับในชาตินี้ส่วนหนึ่ง ชาติหน้าส่วนหนึ่ง และชาติต่อๆไปอีกจนกว่าจะหมด

นั่นหมายความว่าเรากำลังได้รับเศษกรรมที่เราเคยทำไว้ ดังนั้นเหตุที่ว่าทำไมต้องอกหัก จึงมีส่วนของกรรมเก่าส่วนหนึ่งและกรรมใหม่ที่เราทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง กรรมใหม่ก็เช่น เราดูแลเขาดีไหม เราสนองกิเลสเขาได้ไหม เราตามใจเขามากเกินไปหรือไม่ หรือเรามัวแต่สนองกิเลสตัวเองโดยไม่สนใจเขา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมใหม่ในชาตินี้ที่ส่งผลมากที่สุด ถ้าถามว่าทำไมอกหัก ก็สรุปสั้นๆได้ว่า “เราทำมา

2….ทำไมต้องทุกข์ ทำไมต้องทรมาน

ความทุกข์นั้นคือผลของกรรม และผลของกิเลส ในส่วนของกรรม กรรมที่เราทำมาจะทำหน้าที่ให้เกิดความทุกข์ ทรมาน กระวนกระวาย และอาจจะมีผลไปถึงร่างกาย เช่นไม่หิวข้าว ไม่สบาย เซื่องซึม ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตใจสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อนกับเราวนเวียนไปจนกว่ากรรมนั้นๆจะหมด

การที่กรรมนั้นจะหมดได้คือเราต้องยอมรับกรรมเสียก่อน ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เราทำมา คนที่มัวแต่โทษคนอื่น โทษอดีตคู่ครอง โทษมือที่สาม โทษดินฟ้าอากาศ โทษดวงชะตา ฯลฯ คือคนที่ไม่ยอมรับกรรมที่ทำมา เมื่อไม่ยอมรับกรรมก็ยากที่จะพ้นทุกข์ เพราะมีการโกหกซ้ำซ้อนเข้าไปอีกว่าฉันไม่ได้ทำมา ทั้งที่ทำมาแท้ๆกลับไม่ยอมรับ มองเพียงแค่ตื้นๆ เห็นเพียงแค่ผิวเผินก็ตัดสินไปแล้วว่าไม่ใช่กรรมของฉัน สิ่งที่เราได้รับนั่นแหละคือกรรมของเราแน่ๆ ไม่ต้องโทษใครที่ไหน

ในส่วนของกิเลสนั้นซ้อนเข้าไปในเรื่องกรรมอีกที แต่จะเป็นส่วนที่สามารถจะแก้ไขได้ การที่เราทุกข์ทรมานจากการอกหักนั้น เกิดจากความผิดหวัง ที่ผิดหวังเพราะว่าเรามีหวัง แต่มีความหวังนั้นไม่ผิด ผิดตรงที่เราไปยึดมั่นถือมั่นกับความหวังนั้น

เราสามารถวาดฝัน คาดหวัง หรือวางแผนชีวิตคู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อมันไม่เกิดดังที่เราคาดหวัง เราก็มักจะไม่สามารถปรับใจตัวเองได้ทัน เพราะยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเดิมที่เคยคาดหวังไว้ อาการเหล่านี้เรียกว่ามีอัตตา มีความยึดมั่นถือมั่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราคาดหวังว่าแฟนจะพาไปกินข้าวเย็นสุดหรูในวันสำคัญของเรา แต่สุดท้ายกลับต้องมากินข้าวแกงถุงกัน…

กระบวนการทั้งหมดเริ่มจากเราหวังว่าจะได้กินของอร่อยดูดี แต่เมื่อกรรมได้นำพาเหตุการณ์บางอย่างเข้ามา คือบทที่ไม่สมหวังต้องมานั่งกินข้าวแกงถุง ณ ขณะนี้มีให้เลือก 2 ทางเลือกใหญ่ๆ 1. ทุกข์เพราะผิดหวัง 2.ปล่อยวางความหวัง

ถ้าเรามีทิศทางไปทางที่หนึ่งก็คือกิเลสเต็มๆ คือสิ่งที่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น ส่วนอาการทุกข์เพราะผิดหวังนั้นจะแสดงออกอย่างไรก็แล้วแต่โทสะ ซึ่งเป็นกิเลสอีกตัวที่จะโผล่มาเมื่อไม่สมหวัง คนเรารักกันเลิกกันก็ไม่พ้นเรื่องของกิเลสหรอกมันก็มีอยู่แค่นี้ ถ้าดับกิเลสได้ก็ไม่มีทางทุกข์ที่มีทุกข์เพราะมีกิเลส

ส่วนของทางเลือกที่สองนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าอุเบกขา หรือปล่อยวางความคาดหวังเสีย แล้วมีความสุขไปกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ผู้สามารถอุเบกขาหรือปล่อยวางได้อย่างแท้จริงจะมีจิตผ่องใส โปร่งสบาย และมีไหวพริบเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

แต่การจะอุเบกขาได้อย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมะในระดับที่ล้างกิเลสเป็น ดังนั้นยากนักที่จะสามารถหนีออกจากเหตุแห่งทุกข์และความทรมานนี้ได้ พวกเขาจึงต้องจมอยู่กับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งความทุกข์นั้นก็ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหนก็เป็นเขาเองที่ยึดมั่นถือมั่นทุกข์นั้นไว้ กอดทุกข์นั้นไว้ กอดความหวังที่ไม่มีจริงเอาไว้ เมื่อไม่ปล่อยวาง จึงต้องทุกข์ทรมานอยู่เรื่อยไป

3….อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม

คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะลืมฉากรักอันแสนหวานและฉากทุกข์ทรมานที่แสนขมขื่น สิ่งที่เราจำได้นั้นเรียกว่า “สัญญา” คือการจำได้หมายรู้ทั่วไป และการที่เราคิดเรียกว่า “สังขาร” หรือการปรุงแต่งความคิด

สัญญาคือเราจำเรื่องราวจำสิ่งต่างได้ เช่น เราคบกันวันแรกที่ไหน ของขวัญชิ้นแรกคืออะไร เราพูดอะไรออกไป เราทะเลาะกันเรื่องอะไร สิ่งเหล่านี้คือความจำ ความจำนั้นไม่ใช่ตัวทำให้ทุกข์ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์นั่นคือความคิดหรือสังขารที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

คนทั่วไปมักจะมองหาทางลืม แต่สุดท้ายก็พบว่าอยากลืมกลับจำ อยากจำสิ่งดีใหม่ๆแต่กลับลืม พยายามสร้างเรื่องราวใหม่เพื่อมาทดแทนแต่ก็ไม่สามารถทำให้ลืมได้ นั่นเพราะสิ่งที่ทำให้เราจำได้ก็เพราะความคิดของเราที่ปรุงแต่งเรื่องราว คำพูด ฉากเหตุการณ์ต่างๆย้อนหลังซ้ำไปซ้ำมาในความคิดของเรา เมื่อคิดอยู่อย่างนั้นมันก็บันทึกเรื่องใหม่ไปด้วย นอกจากจะจำเรื่องเก่าได้แม่นขึ้น ยังมีเรื่องใหม่ที่ปรุงแต่งขึ้นมาเองอย่างฟุ้งซ่านลงไปด้วย

บางครั้งอาจจะทำให้เกิดอาการ สัญญาวิปลาสได้ คือ ความจำสับสน จำสิ่งที่ตัวเองคิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงทับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น เคยเลิกกับแฟนด้วยคำพูดประโยคหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไปกิเลสได้ปรุงแต่งความคิดให้ฟุ้งซ่านเป็นทุกข์ จึงเริ่มปรุงแต่งเรื่องราวเดิมซ้ำอีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมาจนประโยคเดิมนั้นกลายเป็นประโยคใหม่ ซึ่งมีน้ำหนักมีความรุนแรงมากกว่าเดิม เหตุการณ์นี้หลายคนก็คงจะเคยเจอ ภาษาทั่วไปเขาเรียกกันว่า “มโนไปเอง” หรือคิดไปเองนั่นเอง คือความคิดใหม่มันไปอัดทับของเก่าไปแล้ว เหมือนกับบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิมโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งปัญหาจริงๆมันไม่ได้อยู่ที่จำหรือลืม มันอยู่ที่ทุกข์หรือไม่ทุกข์ คนที่ล้างกิเลสได้จริงมันจะไม่ลืม แต่มันจะไม่ทุกข์ มันจะยินดีกับทุกเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ว่าจะดีหรือร้าย คิดเรื่องดีก็ยินดี คิดเรื่องร้ายก็ยินดี ยินดีที่ได้รับกรรมที่ทำไปแล้วก็จบไป ยินดีที่ได้เห็นว่าตัวเรานั้นมีกิเลสขนาดไหนยินดีที่ได้ใช้เหตุการณ์นั้นมาล้างกิเลสในใจเรา

4….อกหักทำอย่างไร

ความผูกพันที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ได้ทำลายได้ง่ายๆเพียงแค่กดข่ม หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องโดยหาสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ บางครั้งเราอาจจะหลงคิดไปว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว คิดว่าเราลืมไปแล้ว แต่จริงๆชีวิตที่เปลี่ยนแปลงนั้นเกิดมาจากการอกหักที่เกิดขึ้นนั่นแหละ กิเลสที่มีจะพยายามทำให้เราผลักจากสภาพทุกข์ที่เป็นอยู่ซึ่งโดยมากจะไปในทางอกุศล

คนส่วนมากก็มักจะใช้วิธีหากิจกรรมใหม่ เปลี่ยนวิถีชีวิต เช่นไปเที่ยวคนเดียว ไปดูหนังคนเดียว ไปทำอะไรที่ไม่เคยทำ ปลดปล่อยตัวเอง ไประบายความเครียดความบ้าคลั่งที่ไหนสักที่ มันก็พอทำได้ในลักษณะของโลกียะ แต่จริงๆแล้วบางกิจกรรมมันก็ทำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีกถ้าจะให้ดีเราควรเลือกกิจกรรมที่เป็นกุศล เช่น พบเจอเพื่อนฝูง ศึกษาธรรมะ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ล้างจาน กวาดบ้าน จัดห้อง เก็บของบริจาค จัดสวน หรืองานจิตอาสาช่วยคนอื่น ฯลฯ และเว้นขาดจากกิจกรรมที่จะมีโอกาสเพิ่มไปกิเลสอีก เช่น ไปเที่ยวกลางคืน ดูหนังคนเดียว ฟังเพลงคนเดียว กินเหล้าของมึนเมา เสพยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อื่นๆตามมา

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกวิธีที่คนนิยมคือหาแฟนใหม่หาคนใหม่มาดามอก ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ยิ่งแย่เพราะเรื่องเก่ายังทุกข์ไม่หมดยังจะไปหาทุกข์ใหม่มาซ้ำตัวเองอีก จริงอยู่ว่าแรกรักนั้นเหมือนจะหวานแต่สุดท้ายก็ขมเหมือนกันหมด การที่เราได้โอกาสกลับมาโสดนี่คือสิ่งที่วิเศษที่สุดที่เขาหรือเหตุการณ์ใดๆมาดลให้เราต้องพลัดพรากก่อนเวลาที่เราคิด ซึ่งความโสดนี่แหละดีที่สุด

เมื่อเราได้ความโสดแล้วยังกลับไปหาการมีคู่ก็มักจะต้องกลับไปพบทุกข์เหมือนเดิม วนกลับไปที่หัวข้อแรก ทำไมต้องอกหัก? อกหักก็เพราะอยากมีคู่ อยากมีคู่มันก็เกิดจากกิเลส ถ้าไม่ดับกิเลสมันก็ทุกข์วนเวียนไปเรื่อยๆ ดังนั้นวิธีหาคู่มาดับทุกข์จึงเป็นวิธียอดแย่ที่คนกลับนิยมใช้มากและเข้าใจว่าเป็นวิธีที่ดีทั้งๆที่นั่นคือวิธีสร้างนรกซ้อนขึ้นมาอีกขุม เพราะกิเลสในนรกขุมเดิมก็ยังไม่ได้แก้ ยังเพิ่มกิเลสไปหานรกขุมใหม่เพิ่มให้ตัวเองอีก

วิธีแก้ไขอาการอกหักเบื้องต้นในทางโลกก็ทำให้พอดี ไม่ให้ฟุ้งซ่านเกินไป ไม่ให้มัวเมาจนเลอะเทอะ เพราะวิธีแก้เหล่านั้นไม่ใช่วิธีแก้ที่ยั่งยืน ไม่ได้ดับที่เหตุ เมื่อไม่ได้ดับที่เหตุ ทุกข์ก็ไม่มีวันดับ อาจจะกดไว้ ข่มไว้ ฝังไว้แต่มันจะไม่ดับ มันจะเหลือเชื้อให้กลับมาเป็นทุกข์ได้เสมอ ดังนั้นเราจะเข้าสู่เนื้อหาสาระจริงๆของวิธีแก้ไขการอกหักกันเสียที

อย่างที่เกริ่นกันตอนต้นว่าอาการทุกข์จากการอกหักนั้นเกิดจากกิเลส ซึ่งกิเลสนี้คือความยึดมั่นถือมั่นมาเป็นของตน เมื่อเรารักใคร คบใคร ผูกพันกับใคร หรือแต่งงานกับใครเราก็จะยึดมั่นถือมั่นเขามาเป็นตัวเราของเรา เป็นอัตตาของเรา แต่ก่อนสมัยเรายังโสด คำว่า “อัตตา” นั้นมีแค่ตัวเราของเรา แต่พอเรามีคู่อัตตาของเราก็จะกลายเป็น “ตัวฉันและตัวเธอ” การเอาคนอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองนั้นเรียกว่าโอฬาริกอัตตา คือเอาวัตถุแท่งก้อน คนสัตว์ สิ่งของมาเป็นของตัว

ตอนแรกมันอยู่คนเดียวก็ปกติดี แต่พอมีคู่แล้วต้องกลับมาอยู่คนเดียวมันไม่ปกติเหมือนเก่า เพราะว่ากิเลสมันเพิ่มขึ้น แต่ก่อนอัตตามันมีแค่ฉัน พอมีคู่กลายเป็นฉันกับเธอ ก็ยึดมันไว้อย่างนั้น ยึดว่าเราต้องมีกันและกัน ต้องคู่กัน ชีวิตของฉันจะเป็นไปเมื่อมีฉันกับเธอ ฉันจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ ตามที่หนังรักมากมายได้หลอกให้เราเชื่อว่าความรักมันเป็นแบบนั้น คนเลยต้องทนทุกข์เพราะยึด เมื่อยึดแล้วโดนจับแยกก็เลยเจอสภาพขาด เพราะหลงเข้าใจไปว่าเขาหรือคู่ของเรานั้นเป็นตัวเราของเรา ทั้งๆที่จริงแล้วเขาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทุกข์กับสุขของเราเลย ความทุกข์ ความสุขที่เราได้รับนั้น เราปั้นปรุงแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น เราสุขจากการได้เสพสมใจในกิเลสโดยใช้เขาเป็นตัวบำเรอกิเลสของเรา สุดท้ายพอโดนพรากไปเราก็ไม่มีที่บำเรอกิเลสเหมือนเดิม อัตตามันไม่ถูกสนองให้เต็มเหมือนเก่ามันก็เลยต้องทุกข์

การจะออกจากอัตตาแบบยึดคนอื่นมาเป็นตัวเราได้นั้น ในระยะแรกนั้นต้องกลับมาเป็นตัวเองให้ได้ ต้องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองเชื่อมั่นว่าฉันอยู่คนเดียวได้ ฉันอยู่คนเดียวก็มีคุณค่า เติมอัตตาตัวเองให้เต็มด้วยความเป็นตัวเอง เติมช่องว่างที่เคยขาดหายด้วยคุณค่าของตัวเอง หรือจะใช้วิธีเติมคุณค่าด้วยการช่วยเหลือคนอื่นก็ได้ เช่นงานจิตอาสาจะสามารถถมช่องว่างของอัตตาที่เคยขาดหายไปได้ง่าย เสมือนว่าเอาคนอื่นมาแทนแฟนเก่าใช้ระงับทุกข์ได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงรากแค่ระงับอาการทุกข์

เมื่ออัตตาได้เต็มกลับมาเป็นตัวของตัวเองได้แล้ว ยืนด้วยตัวเองได้แล้ว ไม่เสียใจ ไม่ทุกข์อีกแล้ว จะเกิดการยึดดี ความยึดดีนี้เองจะสร้างความเกลียด เมื่อเราเจอแฟนเก่าเราจะไม่ทุกข์เพราะเสียเขาไป แต่จะทุกข์เพราะเกลียดเขา จะเกิดอาการรังเกียจ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากร่วมโลก ไม่อยากสนใจ อันนี้เพราะเรามีอัตตาจัด

แน่นอนว่าเราเติมอัตตาให้เต็มมาเอง แต่สุดท้ายมันต้องทำลายอัตตาอีกที หลักตรงนี้คือ ต้องออกจากความทุกข์จากการอกหักด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเองและทำลายความหลงติดหลงยึดกับตัวเองในตอนท้ายอีกที จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้ที่เรียกได้ว่าพ้นจากทุกข์ของการเลิกราอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเรามีอัตตามาก ยึดดีมาก มั่นใจในตัวเองมาก จะไม่สนใจแฟนเก่า แม้ว่าเขาจะดีเพียงใดก็จะไม่ใยดี รังเกียจ ความรู้สึกตรงนี้เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้น การล้างทุกข์ตรงนี้ต้องล้างอัตตา ความยึดดีนั้นคือสภาพของการผลัก ผลักเขาออกจากชีวิต ไม่เอาเขาอีกต่อไปแล้ว หรือเรียกว่าเกลียด บางคนถึงกับไม่เผาผีกันเลย

ซึ่งการจะล้างการผลักนั้นต้องดูดกลับไปอีกที คือการพิจารณาคุณค่าของเขาเช่น เขาก็มาให้เราเรียนรู้ทุกข์นะ ถ้าไม่มีเขาเราจะเข้าใจความทุกข์ของคนมีคู่ได้อย่างไร ไม่มีเขาแล้วใครจะมาสะท้อนกิเลสเรา เขาเสียสละมาทำกรรมกับเราเพื่อให้เราชดใช้กรรมเชียวนะ ถ้าเขาไม่ทิ้งเราจะได้เจอกับความโสดที่แสนสุขไหม จริงๆเมื่อก่อนนั้นมันก็ดีนะ เราเองผิดเองที่เรามีกิเลส ฯลฯ

เมื่อพิจารณาไปมากๆความเกลียดเขาจะลดลง แต่ตรงนี้ต้องระวังให้มาก เพราะบางครั้งเราอาจจะออกด้วยอัตตาไม่เต็ม คือตอนมีอัตตามันยังมีเขาแทรกอยู่ในตัวเรา ในกิเลสเรา ทีนี้พอพิจารณาดูดเขากลับมันก็จะเลยเถิดกลับไปรักเขาเหมือนเดิม กลับไปคิดถึงเขาเหมือนเดิม ดีไม่ดีก็กลับไปคบเขาเหมือนเดิม นี่คือลักษณะของการล้างกิเลสที่ไม่เป็นลำดับทำให้พลาดหล่นลงนรกไปเหมือนเดิม ให้สังเกตดูดีๆว่าคิดถึงเขาแล้วเรายังแอบดีใจ แอบมีความสุข แอบคิดถึงบรรยากาศดีๆที่เคยมีให้กันอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่อย่าเพิ่งคิดไปพิจารณาดูดหรือไปพิจารณาประโยชน์ของเขา ให้พิจารณาโทษให้ติดดี ให้เกลียดการมีคู่ให้มันเต็มๆก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที

เมื่อปรับระหว่างรักกับเกลียดผลักกับดูดได้แล้ว สุดท้ายมันจะสำเร็จลงที่ความเป็นกลาง กลางในที่นี้คือไม่กลับไปเสพเรื่องคู่ หรือไม่คิดกลับไปคบหากับแฟนคนก่อนอีก และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาคือไม่ถือดี ไม่ยึดดี ไม่เกลียดใครจนตัวเองทุกข์ จึงจะพ้นสภาพของความทุกข์ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ว่าเขาจะเดินผ่าน ไม่ว่าเขาจะยิ้มให้ ไม่ว่าเขาจะเข้ามาคุย ไม่ว่าเขาจะพาแฟนใหม่มาเย้ย ไม่ว่าเขาจะต้องทุกข์ทนมานจากวิบากกรรมใดของเขา หรือไม่ว่าเขาจะต้องตายจากไปก็ตาม เราก็จะยังมีความยินดี ที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้รักกันแม้ว่าทุกอย่างจะจบไปแล้วก็ตาม โดยไม่มีทุกข์ใดๆเข้ามาเจือปนในจิตใจให้หม่นหมองเลย

5….อกหักดีอย่างไร

ข้อดีของการอกหักมีมากมาย ตั้งแต่เราได้ใช้กรรม เราได้เห็นกิเลสตัวเองทำให้เรากลับมาสำรวจตัวเองว่าเรายังบกพร่องในเรื่องใดบ้าง เราได้เห็นกิเลสของคนอื่นทำให้เราได้เห็นว่าการบำรุงบำเรอกิเลสให้ใครนั้นทำเท่าไรก็ไม่พอ เราได้เห็นทุกข์ เราได้เห็นธรรม เราได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น การอกหักครั้งหนึ่งสร้างการเรียนรู้ให้เราได้มากมาย และสิ่งที่ดีที่สุดของการอกหักก็คือ “ความโสด

คนที่ไม่อกหักก็จะไม่มีวันเข้าใจความทุกข์ของความโสด และไม่มีวันเข้าใจความสุขของการโสด ทั้งสองอย่างคือสิ่งที่เราต้องพบเจอไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความทุกข์จากความโสดหรือโสดแล้วทุกข์เศร้าหมองนั้นเรามักจะเห็นกันเป็นประจำดังคำเรียกที่ว่า “คนอกหัก” แต่ความสุขของการโสด หรือ “โสดอย่างเป็นสุข” นั้นคือสภาพที่ใครหลายๆคนไม่ค่อยจะได้พบเห็นมากนัก แต่ถ้าจะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกันได้บ้างก็คือคนที่หลุดจากนรกหรือเลิกคบกับคนที่นิสัยไม่ดี ตอนแรกก็หลงรักเขาอยู่พอเขาจะทิ้งก็ไม่ยอมนะ แต่สุดท้ายพอเขาทิ้งจริงๆ ก็กลับมีความสุขขึ้น แบบนี้ก็น่าจะมีเหมือนกัน

แต่โสดอย่างเป็นสุขนั้นเป็นขั้นกว่าเป็นสิ่งที่เหนือกว่า เพราะคำว่าโสดอย่างเป็นสุขนั้นหมายถึงการยินดีในความโสดจนเกิดเป็นความสุข เพราะรู้ดีแล้วว่าไม่มีสิ่งใดจะมีความสุขเท่าความโสด ไม่มีอิสระใดจะยิ่งใหญ่เท่าความโสด เป็นความสุขแท้ที่มีเพียงผู้ที่ล้างกิเลสได้อย่างแท้จริงเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ ถ้าถามว่ามันสุขแบบไหน ก็คงจะตอบสั้นๆได้ว่า มีความสุขและความยินดีที่จะโสดตลอดชีวิต โสดทั้งชาตินี้และชาติหน้าและชาติอื่นๆสืบไป

6…ความรักหลังจากอกหัก

ความรักหลังจากอกหักของคนมีกิเลส ก็คงจะหาคนมาเติมเต็มช่องว่างของกิเลสที่ขาดหายไป ถมแล้วก็หาย เติมแล้วก็พร่อง แล้วก็ต้องหามาเติมอย่างนี้เริ่มไปไม่จบไม่สิ้น วนเวียนอยู่กับการมีรัก คบกัน อกหัก นานแสนนานตราบเท่าที่กิเลสนั้นจะดับไป

แต่คนที่อกหักแล้วสามารถล้างกิเลสได้จะต่างออกไป ความรักของคนที่ล้างกิเลสได้จริงจะเปลี่ยนชีวิตของเขาและเธอไปอย่างไม่มีวันกลับไปทุกข์เหมือนเดิม ความรักที่มีหลังจากนั้นจะมีความใสบริสุทธิ์กว่าที่เคย จะกลายเป็นรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ว่าจะมีการให้การเกื้อกูลดูแลการเอาใจใส่ แต่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาตัวเขามาเป็นตัวเรา ไม่เอาใครเข้ามาเป็นกิเลสร่วมกับเรา และไม่มีตัวเรา ไม่มีคนหลงรัก ไม่มีใครให้รักจนหลง มีแต่ความรักที่พร้อมจะให้ ให้กับใครก็ได้ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน มิตรสหาย ฯลฯ เพราะรู้ว่ารักแท้จริงนั้นเกิดจากการให้โดยไม่ยึดติด เมื่อไม่ยึดติดว่าต้องให้กับใครก็เลยยินดีที่จะให้ความรักกับทุกคน โดยไม่หวังอะไรตอบแทน

7….อกหักครั้งต่อไป

โดยทั่วไปคนที่เคยอกหักแล้ว มักจะเข้าใจว่าตัวเองได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ก็เลยมักอยากจะกลับไปลองของ เพราะความที่ตัวเองมีกิเลสอยากมีคู่ อาจจะด้วยความเหงาหรือความหื่นกระหายในสิ่งใดก็ตามแต่ เขาเหล่านั้นมักจะมั่นใจว่าครั้งต่อไปจะต้องไม่พลาด…แต่แล้วมันก็จะพลาดอีกอย่างเคย เพราะที่ใดมีรักที่นั่นก็มีทุกข์ ของมันคู่กันแบบนี้เราจะเลือกรับแต่ความสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับความทุกข์ไปด้วย แต่ที่สำคัญก็คือความสุขที่ได้รับนั้น “เป็นความสุขลวง”ที่จะล่อให้เราหลงติดอยู่ในการมีคู่ต่อไป ให้เราตามหารักแท้ไปเรื่อยๆ ให้เราอกหักไปเรื่อยๆ ผิดหวังไปเรื่อยๆ

ชีวิตนั้นยังมีเรื่องอีกตั้งมากมายให้เราผิดหวัง รอคอยให้เราล้างกิเลส หากเรายังมัวยินดีที่จะผิดหวังกับเรื่องเดิมๆ เราก็จะไม่มีวันพบกับความสุขแท้ได้ คงจะมีแต่สุขลวงๆที่กิเลสนั้นใช้ล่อเราไว้กับโลกนี้ ล่อเราไปกับการมีรัก การคบหา การเลิกรา ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ละครฉากหนึ่งที่กิเลสจัดฉากให้เราเล่น ให้เรารัก ให้เราหลง ให้เรายึด ให้เราทุกข์ ทรมาน เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน เสียใจ คับแค้นใจ อยู่เรื่อยไป

อ่านบทความมาถึงตรงนี้แล้วอกหักครั้งต่อไปจะมีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสในใจของเรา หากเรายังมีความยินดีที่จะกลับไปเสพสุขจากการมีคู่รักและพร้อมจะรับทุกข์ ก็ให้เรียนรู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องบรรลุธรรมในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ดีอาจจะชาตินี้หรือชาติต่อไปนานแสนนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่คนเรานั้นจะสามารถทำทุกข์ได้เท่าที่จะทนทุกข์ได้ เมื่อทุกข์สุดทนก็จะเลิกทำทุกข์ให้กับตัวเอง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

24.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์