Tag: อุเบกขา

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,196 views 0

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1). วัฏสงสาร

ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ

2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก

แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง

3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน

สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา

4). โสดใช่ว่าเป็นสุข

การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

5). กาม อัตตา อุเบกขา

ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม

เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย

เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ

6). โลกุตระสุข

บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่

โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ

7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง

การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้

หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน

ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้

และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ

ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)

เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

April 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,680 views 0

การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

สรุปขั้นตอนปฏิบัติธรรมแบบรวบรัด การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

สรุปหลักปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนที่สั้นและรวบรัดนั่นคือการทำลายกามด้วยอัตตา และทำลายอัตตาด้วยอุเบกขาตามลำดับ ด้วยหลักใหญ่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำลายกิเลสในเรื่องนั้นๆได้สิ้นเกลี้ยง

ในตอนแรกเราก็มักจะติดกามกันอยู่ คือการที่ยังไปเสพสุขลวงที่เกิดจากกิเลสยังเป็นความชั่วและเป็นบาปที่หยาบอยู่ และการจะออกจากสุขลวงเหล่านั้นจะต้องใช้อัตตาคือความยึดดีเข้ามาช่วยทำลายกาม เรียกว่าต้องเป็นคนดีก่อนแล้วจึงจะไม่ไปเสพสิ่งที่ชั่ว ต้องติดดีขนาดที่ว่าเว้นขาดจากการเสพกามทั้งทางกาย วาจา ใจ คือใช้อัตตาทำลายกามให้สิ้นเกลี้ยงไปก่อนเลย

ทีนี้พอออกจากกามได้ก็จะเหลืออัตตาไว้ กลายเป็นคนติดดี ยึดดี ถือดี คือชั่วไม่ทำแล้ว ทำแต่ดี แต่ก็ยังมีความยึดดีที่เคยใช้ออกจากชั่วนั้นเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ที่ทรมานตนและทำร้ายผู้อื่นอยู่ ดังนั้นเมื่อออกจากกามได้เด็ดขาดแล้ว จึงต้องใช้อุเบกขา หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ปล่อยวางตัวตนเสียก็จะสามารถทำลายอัตตาได้

เมื่อไม่มีทั้งกามและอัตตา ก็จะถือว่าจบกิจในเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องๆไป เรื่องไหนทำได้ถึงที่สุดก็คือจบ เช่นกินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียวได้โดยไม่มีกามและอัตตาก็ถือว่าจบในเรื่องนั้นๆไป

นรกของกาม

กามนั้นเป็นสิ่งที่มีภัยมาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละกามเสียก่อน จนกระทั่งให้เว้นขาดจากกามไปเลย กามนั้นส่งผลทั้งกาย วาจา ใจ แม้ว่าเราจะหักห้ามร่างกายไม่ให้ไปเสพกามได้แล้ว แต่ถ้าความรู้สึกลึกๆมันยังสุขอยู่ ใจมันยังอยากเสพอยู่ ก็เรียกได้ว่ายังไม่พ้นจากพลังของกาม ซึ่งกามในระดับของใจนั้นฝังลึกติดแน่น สามารถวัดได้คร่าวๆ จากความรู้สึกยินดี เราเมื่อได้เสพหรือเห็นผู้อื่นเสพกามนั้นๆแล้วเกิดอาการอยากบ้าง เป็นสุขบ้าง อยากเสพอีกบ้าง

ความยากของอัตตา

กามนั้นเป็นเรื่องหยาบที่ยังเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ จึงสามารถกำจัดได้ไม่ยากนัก แต่อัตตานั้นเป็นเรื่องยาก เห็นได้ยาก ล้างได้ยาก การจะล้างอัตตาโดยไม่ศึกษาธรรมะนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงจะติดอัตตาอยู่ก็อาจจะจับอาการของตัวเองไม่ได้ง่ายๆ เพราะมันมีความลึก ความละเอียด ความซับซ้อนอยู่มาก นี้เองคือความยากของอัตตา

ความหลงผิดในอนัตตา

การลัดขั้นตอนไม่เป็นไปตามลำดับนั้น จะทำให้เกิดความหลงผิด และจมหนักยิ่งกว่าเดิม เช่นเรายังติดกามอยู่ แต่เราก็ดันไปพิจารณาอุเบกขา เจอของอร่อยก็พิจารณา “ไม่ใช่ตัวเราของเรา, อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, อย่ามีตัวตน,ฯลฯ” ว่าแล้วก็ไปกินของอร่อยอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไปเสพกามอยู่นั่นเอง เป็นสภาพอนัตตาหลอกๆที่จิตปรุงขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพกามเท่านั้น กลายเป็นทิฏฐิเช่นว่า เสพสุขจากกามอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น …ซึ่งมันก็เหมือนคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย แถมยังมีกรรมอันเป็นมิจฉาทิฏฐิสะสมไว้เป็นทุนให้ต้องใช้วิบากในภายภาคหน้าอีก

อุเบกขาธรรมะ

การหลงผิดแบบแย่สุดแย่เข้าไปอีกคือการไม่ได้คิดจะปฏิบัติอะไรเลย กามก็ไม่ล้าง อัตตาก็ไม่ล้าง แต่ใช้การอุเบกขาให้ดูเหมือนเป็นผู้มีอนัตตาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง คือมองไปว่าการปฏิบัติธรรมก็มีตัวตน จึงทำตนให้ไม่ต้องมีตัวตนตั้งแต่แรก อุเบกขาการปฏิบัติธรรมทั้งหมดไปเลย ใช้ชีวิตไปตามปกติอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น(แบบคิดไปเอง) ทีนี้พอปล่อยวางธรรมะ ทั้งที่ยังมีกิเลสหนา มันก็ไปนรกอย่างเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆแล้วอุเบกขามันมีเอาไว้จบในตอนท้าย เป็นตัวจบของกิเลส ไม่ใช่ตัวเริ่ม ใครเอาอุเบกขามาทำตั้งแต่เริ่มจะไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นอนัตตาแบบคิดไปเอง เรียกว่าเป็นปัญญาแบบเฉโก คือมีความฉลาดที่พาไปในทางฉิบหาย

– – – – – – – – – – – – – – –

30.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

January 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,345 views 0

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

การปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนนั้นมีหลากหลายวิธี มีความยากง่ายรายละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลทางรูปธรรมที่เห็นได้คือเราสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกันทุกคน แต่ผลทางนามธรรมนั้นกลับแตกต่างไปตามวิธีที่แต่ละคนยึดถือและปฏิบัติมา

ก).เมตตามังสวิรัติ

หลายคนมักจะเริ่มกินมังสวิรัติด้วยความเมตตา ความสงสาร เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นคือการเบียดเบียนทางอ้อมที่ได้รับบาปอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเริ่มมีจิตใจที่ยอมสละอาหารจานเนื้อสัตว์ที่เคยโปรดปราน เพื่อละเว้นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น การไม่เบียดเบียนทางอ้อมก็ทำให้ผลดีเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

แต่ความเมตตานั้นไม่ใช่จุดจบสมบูรณ์ เมื่อเรามีจิตใจเมตตาแล้ว มีกรุณาคือการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ได้จริงแล้ว แต่ก็มักจะมาติดตรงมุทิตา เมื่อเราเห็นว่าคนอื่นสามารถกินมังสวิรัติกินเจ เห็นดีเห็นงานในการลดเนื้อสัตว์หันมากินผักกับเรา เราก็มักจะมีมุทิตาจิตหรือมีความรู้สึกยินดีตามเขาไปด้วย

แต่เมื่อเราพบว่าหลายคนยังยินดีกินเนื้อสัตว์ แถมยังหาเหตุผลมาย้อนแย้งคนที่กินมังสวิรัติ กล่าวเพ่งโทษ ให้ร้ายมังสวิรัติหรือสิ่งที่ตนยึดถือ แน่นอนว่านอกจากเราจะไม่สามารถมีจิตมุทิตาได้แล้ว เรายังอุเบกขาไม่ได้อีกด้วย

หลายคนมักจะเจอกับปัญหาความไม่ปล่อยวางความยึดดี เมื่อสามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็มักจะยึดดีถือดี จนกระทั่งไม่สามารถปล่อยวางความดีเหล่านั้น เมื่อมีใครมาพูดกระแทกกระทบกระทั่งก็มักจะมีจิตใจที่ขุ่นเขือง ถ้าคุมไม่อยู่ก็ด่ากลับหรือออกอาการไม่พอใจต่างๆได้

เกิดเป็นสภาพพร่องๆของพรหมวิหาร ๔ เป็นคนที่มีเมตตาแต่ไม่มีอุเบกขา เริ่มเป็นแต่จบไม่เป็น จึงต้องเกิดสภาพทุกข์ใจอยู่เรื่อยไปเพราะวางความยึดดีเหล่านั้นไม่ลง

พรหมวิหาร หรือที่ตั้งแห่งความเป็นพรหมที่ครบองค์ประกอบนั้นต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาสอดร้อยอยู่ด้วยกันเสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนเมตตาที่ทุกข์ เป็นคนดีที่มีแต่ทุกข์ ทำความดีแต่ไม่มีคนเห็นคุณค่าก็ทุกข์ เพราะไม่มีอุเบกขาเป็นตัวจบนั่นเอง

แต่การถึงอุเบกขาไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปากท่องว่าปล่อยวางหรือใช้กำลังของจิตในการกดข่มสภาพทุกข์ อุเบกขานั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรายึดดีไว้เป็นตัวตนของเราก็จะเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ผู้ที่สามารถปฏิบัติจนครบองค์ของพรหมได้นั้นจะเป็นมังสวิรัติที่มีเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต กระจายความห่วงใยไปทั่วทั้งสัตว์ผู้มีกรรมและคนที่ยังมีกิเลส ไม่รู้สึกโกรธเกลียดขุ่นใจในเรื่องใดเลย แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการกินมังสวิรัติ แม้จะโดนต่อว่าหรือหักหน้าก็ยังสามารถคงสภาพจิตใจที่ผ่องใสอยู่ได้

ข). อัตตามังสวิรัติ

แม้ว่าเราจะเริ่มต้นการกินมังสวิรัติด้วยเมตตาจิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความเราจะหนีพ้นอัตตา ดังนั้นอัตตาก็เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในวิถีปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ในรูปแบบหยาบๆของอัตตานั้นคือการเปลี่ยนขั้วของการยึด ในตอนแรกนั้นหลายคนยึดเนื้อสัตว์เป็นอาหารในการดำรงชีวิต แต่พอคิดจะมากินมังสวิรัติหลายคนก็เปลี่ยนเอาผักและธัญพืชเป็นอาหารในการดำรงชีวิต เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วของการยึด

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเห็นได้ง่ายที่สุดและมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง เช่น คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติทันทีนั่นเอง จะเป็นสภาพที่สลับขั้วอย่างรุนแรง เปลี่ยนอัตตาจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังวนอยู่ในอัตตาซึ่งเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

การสลับข้างของอัตตานั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับหลายครั้งในชีวิตที่เราเคยชอบอะไรแล้ววันหนึ่งกลับไม่ชอบ หรือเคยไม่ชอบอะไรวันหนึ่งกลับมาชอบ มันก็กลับไปกลับมาแบบนี้ เรื่องการกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักในการปฏิบัติเราก็จะสลับไปสลับมาแบบนี้ อาจจะชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร?

นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนจากการยึดเนื้อสัตว์มายึดมังสวิรัตินั้นเป็นการเปลี่ยนแค่ความเห็น แต่กิเลสมันไม่ได้เปลี่ยนตามมาด้วย เราจะยังคงมีความสุข ความอร่อยจากการกินเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม สังเกตได้จากการทำวัตถุดิบเทียมเนื้อสัตว์ขึ้นมา บางชนิดทำได้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งรสชาติและสัมผัส

แล้วทำไมแล้วยังต้องกินสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ในเมื่อเราไมได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว ทำไมเราไม่เปลี่ยนเมนูไปกินผัก กินเห็ด กินเต้าหู้หรือสิ่งที่มีกระบวนการสังเคราะห์ที่น้อยลง หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่เป็นภัยมาก นั่นเพราะเรายังติดกิเลสในลักษณะที่เรียกว่ากามคุณอยู่นั่นเอง

เรายังหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์อยู่ ซึ่งในกรณีนี้เราไม่ได้ทำลายความหลงเหล่านี้ เพียงแค่ใช้อัตตาเข้ามาข่มความชั่วไว้ ยึดดีไว้ เมตตาเข้าไว้ เป็นคนดีละเว้นการเบียดเบียนเข้าไว้

แต่กิเลสมันไม่ได้ปล่อยให้เราทำดีอยู่แบบนั้น เมื่อกิเลสยังมีเชื้ออยู่ ความอยากเสพรสต่างๆของเราจะโตขึ้นเรื่อยๆ ใครที่มีแนวโน้มในการหาอาหารอร่อย หรือสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งจะต้องหลุดจากวิถีของการกินมังสวิรัติ เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม

คนที่มีทิศทางที่จะเจริญไปได้อย่างยั่งยืนนั้น คือคนที่มีแนวโน้มที่จะลดการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นลดความจัดของรสชาติ ลดการประดับตกแต่งที่สวยงาม ลดการใช้สิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือลดความต้องการในการกินอาหารที่น้อยชนิดลงเช่น เลิกกินของทอด เลิกกินขนมหวาน การลดชนิดอาหารหรือลดความหลากหลายของความอยากนี้เอง จะเป็นสิ่งที่ประกันไม่ให้กิเลสของเราพาเราไปแสวงหาเมนูแปลกๆ เมนูเด็ดๆ ซึ่งเป็นการสะสมกิเลสที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในศีลธรรมต่อไป

ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ความยึดดีหรือใช้อัตตาเข้ามายึดว่า “ฉันจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติ ,ฉันจะไม่เบียดเบียนอีก” ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืน เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่ความอยากนั้นเกินปริมาณที่ความยึดดีจะทนไหว ก็อาจจะตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์และหลงว่าเป็นทางสายกลางจนไม่กลับมากินมังสวิรัติอีกเลยก็เป็นได้

…ไม่ว่าจะกินมังสวิรัติด้วยวิธีไหน ก็หนีเรื่องกิเลสไม่พ้น ไม่ติดกามก็ต้องมาติดอัตตา ติดไปติดมาวนเวียนกันไปมา ชาติหนึ่งกินเนื้อ อีกชาติกินมังสวิรัติ สลับไปมาแบบนี้เพราะเป็นชีวิตที่ถูกผลักดันด้วยกิเลส ไม่ว่าจะหลงยึดไปในด้านใด การหลงเหล่านั้นก็คือกิเลส เมื่อเราหลงไปในสิ่งใดเราก็มักจะลำเอียงให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นอย่างมัวเมา ลองสังเกตดูว่าเรารู้สึกรักหรือชอบใจคนกินเนื้อกับคนที่กินผักเท่ากันหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,364 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์