Tag: การกดข่ม

ดับภพ ดับกิเลส มีลักษณะอย่างไร? กรณีศึกษา : ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผัก

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,680 views 0

ดับภพ ดับกิเลส มีลักษณะอย่างไร? กรณีศึกษา : ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผัก

เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมคือการทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงไม่ให้เหลือแม้แต่ซาก ไม่เหลือแม้ฝุ่นผงในจิตใจให้ต้องเกิดอาการระคายเคือง ขุ่นใจใดๆอีกต่อไป

แต่การปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นส่วนๆ มีขอบเขตในการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเราจะใช้ศีลเป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบที่จะปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นการลดเนื้อกินผัก เรามุ่งเป้าที่จะลดเนื้อเท่ากับศูนย์และผักเป็นหลัก

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าสามารถจะเข้าถึงผลได้ทันที แม้ว่าเราจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้ไปเสพได้ แต่ถ้าจิตใจยังไม่สามารถชำระความหลงติดหลงยึดได้ ก็เรียกว่ายังมีกิเลสที่ต้องชำระหลงเหลืออยู่

การทำลายกิเลสนั้นเป็นการทำลายไปทีละภพของกิเลสโดยลำดับ เริ่มจากกามภพ รูปภพ และอรูปภพ เมื่อทำลายอรูปภพได้นั่นหมายถึงเราได้ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในภพทั้งหมด ทำลายความอยากที่มี จนเกิดสภาพของกิเลสดับ ซึ่งเกิดจากปัญญารู้แจ้งในกิเลส(วิชชา) ที่จะมาแทนที่ความไม่รู้(อวิชชา) ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการหลุดพ้นเป็นเรื่องๆตามที่ขอบเขตของศีลได้กำหนดไว้

เราจะมาศึกษาเกี่ยวกับภพของกิเลสกันในกรณีศึกษา ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผักกัน

เมื่อเราได้เริ่มศึกษาศีลเกี่ยวกับการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียน ด้วยเหตุจากปัญญาที่ว่าการลดเนื้อกินผักนี้ก็เป็นหนึ่งในหนทางปฏิบัติที่เราจะไม่มีส่วนเบียดเบียน โดยมีสติเป็นเครื่องประกอบในการทนรับแรงยั่วของสิ่งที่เราเคยชอบเคยหลงใหลทั้งหลาย

1).กามภพ

ในตัวอย่างนี้จะมีให้เห็นตัวเลือกของอาหารมื้อหนึ่งของผู้ศึกษาศีลนี้ มีตั้งแต่ข้อ ก ถึง ฉ ในส่วนของข้อที่ยังมีกรอบสี่เหลี่ยมไว้ให้เลือก นั้นหมายถึงสภาพของกามภพในชนิดของอาหารนั้นๆ คือยังไม่สามารถดับความอยากในระดับที่จะเข้าไปเสพได้

นั่นหมายถึงถ้ายังเป็นตัวเลือกที่เลือกได้อยู่ ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับไปกินเสมอ แต่ในกรณีนี้ ได้เลือก ก.ผัดผัก ทั้งที่ ค.ส้มตำปลาร้า ,ฉ. ลูกชิ้นปิ้ง ก็ยังเป็นตัวเลือกอยู่ มีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้เลือกผัดผัก ซึ่งเราจะเหมาเอาว่าการเลือกผัดผักเพราะลดกิเลสได้นั้นไม่แน่เสมอไป เพราะการที่ไม่กินลูกชิ้นอาจจะมีหลายเหตุผล เช่น หาลูกชิ้นกินไม่ได้ ลูกชิ้นที่ขายราคาแพง ร้านค้าดูไม่สะอาด หรืออายคนที่ไปด้วยกัน ซึ่งความอายนี้ก็อาจจะเกิดจากเหตุผลทางโลกเช่นกลัวโดนนินทาก็ได้ แต่ก็อาจจะเกิดจากความเจริญทางธรรมได้เช่นกัน คือเกิดจากหิริโอตตัปปะที่เจริญขึ้นในจิตใจ ดังนั้นการไม่เลือกเสพสิ่งใดๆ เราจึงควรวิเคราะห์เป็นกรณีไป ไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นการลดกิเลสได้ทั้งหมด

ลักษณะของกามภพคือมีโอกาสกลับไปเสพได้เสมอ ยังเปิดตัวเลือกไว้อยู่เสมอ ยังไม่สามารถดับตัวเลือกนี้ได้สนิท ยังมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเสพได้อย่างเต็มที่ ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้นก็เช่น คนที่บอกว่าตนเองจะเป็นโสดก็ได้มีคู่ก็ได้ แม้จะดูเผินๆจะเป็นสภาพไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความจริงแล้วคือสภาพของกามภพที่ยังไม่สามารถปิดประตูนรกหรือหยุดพฤติกรรมที่จะพาให้ไปเสพกามนั้นได้สนิท

ดังนั้นการยังอยู่ในกามภพคือ โอกาสที่จะกลับไปทำชั่วได้เสมอเพราะไม่ได้มีปัญญาเจริญขึ้นถึงระดับรู้ว่าการไปเสพนั้นสามารถสร้างโทษชั่วให้กับชีวิตจิตใจของเราได้อย่างไร

2).รูปภพ

รูปภพคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นที่น้อยลงจนไม่ไปเสพ เกิดจากปัญญาที่เจริญขึ้นมา ไม่ใช่การกดข่มไม่ไปเสพ ถ้าเกิดจากการกดข่มไม่ไปเสพนั้น จะเรียกว่าอยู่ในกามภพ แต่สามารถใช้กำลังของจิตที่ตัวเองมีกดข่มไว้ได้ ซึ่งมีโอกาสตบะแตกได้เหมือนกัน

แต่รูปภพคือสภาพที่เจริญขึ้นมาในอีกระดับ คือจะไม่ไปเสพไม่ว่าจะเหตุผลใด แต่ก็ยังมีความอยากให้เห็นเป็นรูปอยู่ ในกรณีตัวอย่างก็คือ ง.ปลาทอด ในตัวอย่างนี้ไม่มีช่องสี่เหลี่ยมให้เลือกแล้ว นั่นหมายความว่าเราจะไม่เลือกอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเลือกไม่ได้นะ “แต่ไม่เลือก” คนที่ปฏิบัติธรรมลดกิเลสได้กับคนที่ปฏิบัติแบบกดข่มจะต่างกันตรงนี้ คือคนที่ลดกิเลสจะไม่เลือกด้วยจิตใจปกติเพราะมีปัญญารู้ว่าถ้าเลือกแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ส่วนคนที่กดข่มจะเลือกไม่ได้ หรือไม่ยอมเลือกเพราะไม่อยากให้ตนเองไปแตะต้องสิ่งที่ไม่ดีไม่งามโดยการใช้ความพยายามของจิตมาข่มความอยาก

ถึงกระนั้นรูปภพก็ยังมีอยู่ในรายการของอาหารที่อยากกิน นั่นหมายความว่าความอยากยังไม่หมด จนกระทั่งต้องเขียนออกมาเป็นรายการหนึ่ง เปรียบเทียบให้เห็นว่าแม้จะไม่เลือกแล้ว แต่ภายในจิตใจก็ยังมีความอยากเสพในสิ่งนั้นๆอยู่ ยังคิดและปรุงแต่งไปตามกิเลสว่าสิ่งนั้นยังเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพอยู่ แต่ก็ไม่ได้ตกต่ำจนต้องไปเสพ

ลักษณะของการปรุงแต่งก็เช่น เห็นปลาทอด ฉันไม่กินหรอก แต่ก็คิดในใจอยู่ว่า ปลาทอดก็อร่อยดีนะ ความกรอบของปลา ความนุ่มของปลาก็น่าลิ้มลอง แต่ไม่กินหรอก ไม่เอาหรอก คือมีความอยากที่เห็นได้ จับรูปของกิเลสได้ว่ายังมีอยู่นั่นเอง

3).อรูปภพ

เป็นสภาพของจิตใจที่หลุดพ้นจากกิเลสมามากแล้ว ไม่มีรูปรอยของกิเลสให้เห็นเป็นตัวเป็นตนอีกต่อไป ไม่มีคำปรุงแต่งใดๆว่าอยากกิน ไม่มีความคิดว่าจะต้องไปกินหรือคิดว่าสิ่งนั้นน่าเสพอีก แต่ก็ยังไม่หลุดจากอำนาจของกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง

อรูปภพคือภพที่อันตรายมาก เพราะคนจะประมาทต่อพลังของกิเลสที่สงบลงมาจนถึงภพนี้ มีลักษณะบางจนจับอาการแทบไม่ได้ ยิ่งถ้าปฏิบัติมาอย่างกดข่ม ไม่ได้ใช้ปัญญาในการพิจารณาล้างกิเลส จะไม่มีญาณปัญญารู้กิเลสในอรูปภพได้เลย เพราะระบบของการกดข่มกับการล้างกิเลสด้วยปัญญานั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ผู้ที่กดข่มเก่งๆจะมีสภาพเหมือนหลุดพ้นจากกิเลสแม้จะไม่เคยรู้จักแจ่มแจ้งในสามภพนี้ แม้จะเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมมาอย่างถูกทางก็จะเหมือนมีสภาพหลุดพ้นจากกิเลสในอรูปภพเช่นกัน ซึ่งหลักฐานเดียวที่แสดงให้เห็นว่ายังไม่พ้นคืออาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ไม่สบายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่เบิกบานทั้งหลายเมื่อไม่ได้เสพ ซึ่งแม้ว่าจะปฏิบัติมาอย่างถูกตรง แม่นยำในสติปัฏฐาน ๔ ก็ใช่ว่าจะจับตัวตนของกิเลสที่เหลืออยู่กันได้ง่ายๆ

ยิ่งถ้าคนที่ปฏิบัติแบบกดข่มก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะการกดข่มมีกระบวนการเดียวคือกดความอยากลงไปด้วยสติหรือข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นอุบายทำให้จิตสงบต่อความอยาก การกดข่มผลของความอยากที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเข้าไปรู้ตัวตนของกิเลส ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ นั่นหมายถึงไม่ได้ปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ อย่างถูกตรง ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่กระบวนการกดข่มจะสามารถดับกิเลสในระดับอรูปภพได้ เพียงแค่รู้ตัวตนของกิเลสยังทำไม่ได้เลย แล้วถ้าเป็นระดับอรูปภพนี่ถึงจะไม่กดข่มมันก็ดับไปเอง มันจะโผล่มาแวบๆวับๆ แล้วก็หายไป รวดเร็ว เบาบาง จนไม่จำเป็นต้องกดข่มใดๆ นั่นหมายถึงถ้าปฏิบัติอย่างกดข่ม อรูปภพจะกลายเป็นเหมือนสภาพที่ไม่มีอยู่จริง

จึงเป็นเหตุผลที่ว่าสายที่ปฏิบัติธรรมอย่างฤๅษีทั้งหลายที่ใช้การกดข่มความอยาก ใช้สมถะอย่างเดียว จึงไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆได้ ถึงแม้จะมีรูปสวย นั่งสมาธิได้เป็นวันเป็นเดือน กิริยาอาการน่าเคารพ พูดจาน่าเลื่อมใส มีชื่อเสียงขจรไกล แต่ถ้าไม่ฉลาดในเรื่องกิเลส ก็ยังเป็นบุคคลที่ยังมีภัยต่อตนเอง นั่นคือต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดตามเหตุคือกิเลสกันต่อไป

ในตัวอย่างนี้ อรูปภพ จะถูกเปรียบเทียบด้วยข้อ จ. คือหมูปิ้ง หมูปิ้งไม่ใช่ตัวเลือกที่เห็นได้ชัด แต่กระนั้นก็ยังมีอยู่ มันเลือนรางจางหายไปจากเดิมมาก ถ้ามองผ่านๆก็อาจจะไม่เห็น แต่มันยังมีอยู่ มันไม่ได้หายไปไหน มันรอเวลาที่เราจะประมาทและกลับกำเริบได้

ทั้งนี้แม้จะปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเจริญมาถึงอรูปภพ แต่ถ้าไม่กำจัดกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงก็มีโอกาสที่จะเสื่อมถอยลงได้ เพราะกิเลสเป็นพลังงานที่เติบโตได้ สะสมได้ เรียกว่าบาป หากเราประมาทและไม่สามารถรู้ถึงตัวตนของกิเลสที่ยังเหลืออยู่ในอรูปภพได้ สักวันหนึ่งมันก็อาจจะโตและกลับมาเป็นกามภพได้ พอถึงตอนนั้นก็เมาหมัดกิเลสแล้ว หลงนึกว่าตนเองได้เปรียบอยู่ดีๆ เจอกิเลสลุกขึ้นมาสวนหมัดชนะน็อกไปเฉยๆก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไรนัก เพราะสภาพของอรูปภพนั้นรู้ได้ยาก ดูภายนอกก็ดูแทบไม่ออก ใครก็มองไม่เห็นนอกจากตัวเราเอง

4).ข้ามสามภพ

มาถึงข้อสุดท้าย เป็นเป้าหมายของนักปฏิบัติธรรมหรือผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ทุกคน คือสภาพดับไม่เหลือของกิเลส ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่ามี ก. ถึง ฉ. แต่ไม่มีข้อ ข.

แท้จริงแล้ว ข. นั้นมีอยู่ แต่มันไม่มีในจิตใจของผู้ที่ขัดเกลาตนเองจนถึงผล เพราะ ข. นั้นมี จึงไม่สามารถเลื่อน ค. เข้ามาเป็น ข. ได้ แม้มันจะดูเหมือนไม่มี แต่มันก็มีอยู่จริง แต่กลับไม่มีผลกระทบอะไรกับจิตใจของผู้ข้ามสามภพอีกต่อไป ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขใดๆในสิ่งนั้น

จากตัวอย่างทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นว่ากิเลสนั้นจะถูกชำระเป็นชนิดๆไปตามลำดับ ตามศีลที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา แม้ในศีลหนึ่งๆที่ศึกษานั้นก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เข้าไปศึกษากิเลสในอาหารแต่ละชนิด เพราะเราไม่สามารถตั้งศีลแล้วชำระกิเลสได้ทั้งหมดเสมอไป เราจึงจำเป็นต้องศึกษากระบวนการของไตรสิกขา ที่จะสอนให้ค่อยๆทำ ค่อยๆล้าง ไม่โลภบรรลุธรรม ไม่รีบจนหลงผิด และไม่หลงผิดจนต้องเสียเวลาและสร้างบาป เวร ภัย สะสมแก่ตนเองโดยไม่รู้ตัว

มาถึงตรงนี้ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับ ข. แล้ว ก็ใช้เวลาศึกษากิเลสในอาหารตัวอื่นไปเช่น เรายังเสพสุขอะไรในส้มตำปลาร้า เราสุขเพราะปลาร้าหรือส้มตำก็แยกให้ออก เราติดอะไรในลูกชิ้น มันมีเนื้อสัตว์ผสมแม้จะไม่เป็นรูปชิ้นเนื้อแล้ว แต่มันก็ยังมีอยู่ เรายังอยากเสพอะไรในนั้น ในเมื่อเราจะไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเราละเว้นดีไหม? ฯลฯ ซึ่งในแต่ละชนิดก็ต้องไล่ กามภพ รูปภพ อรูปภพไปเช่นกัน

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือการย่อยลงในรายละเอียดของการปฏิบัติ แต่ถ้าใครอินทรีย์พละแกร่งกล้าพอ จะตัดเนื้อสัตว์ทั้งยวงไปเลยก็สามารถทำได้ สามารถถึงผลได้เช่นกันหากปฏิบัติอย่างถูกตรง โดยไม่หลงไปใช้การกดข่มแล้วเข้าใจว่าสามารถดับกิเลสได้

เพราะการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จะเหมาเอาว่าเป็นการลดกิเลสทั้งหมดไม่ได้ ในบางกรณีอาจจะเพราะกิเลสเพิ่มด้วยซ้ำไป เช่นไปเพิ่มความยึดมั่นถือมั่นว่าฉันเป็นคนดี ว่าแล้วก็กดข่มความอยากในการกินเนื้อสัตว์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออัตตาเพิ่ม แต่กามไม่ได้ล้าง คือความหลงติดหลงยึดสุขในการเสพนั้นอาจจะยังไม่ได้หมดไป เพราะใช้ความดีเข้ามากดข่มนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ

April 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,712 views 0

สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ

สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ

มุมมองต่อการเกิดดับของกิเลสจะแตกต่างกันไปตามวิธีปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนาจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเพราะมีการทำงานที่แตกต่างกัน

ผู้ที่เรียนรู้สมถะ

สมถะคือวิธีการพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม มีใช้กันทุกศาสนา โดยมากจะอยู่ในรูปการทำสมาธิ การเจริญสติในแบบต่างๆ การระลึกรู้ การคิดบวก การใช้ข้อธรรมดีๆเข้ามาจัดการกับการเกิดดับของจิตใจ โดยแนวคิดหลักๆคือการใช้อุบายเข้ามาควบคุมใจ ซึ่งสมถะจะแทรกอยู่ในการปฏิบัติของทุกๆศาสนา เป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นมาก่อนศาสนาพุทธ และจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนานแม้ว่าพุทธจะเสื่อมสลายไปแล้วก็ตาม

มุมมองของสมถะต่อการเกิดและดับคือมองว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในแบบเปิดปิด ( on / off ) คือมีเกิด ก็ต้องมีดับ ดังนั้นหลักของสมถะคือกระทำความดับไม่ให้เกิด เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายเหมือนปิดสวิตซ์ไฟ แต่การจะดับจิตหรือความคิดที่เกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดับได้ทันที

สมถะจึงต้องการมีฝึกเช่นกัน เพื่อที่จะใช้กำลังของจิต ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด เข้ามากดข่มจิตที่เกิดขึ้นนั้นๆให้ดับไป และหมายเอาว่าถ้าสามารถทำความดับให้ต่อเนื่องจนเป็นสมาธิได้ ก็จะบรรลุธรรม

นี้คือทิฏฐิของผู้ที่ฝึกแต่สมถะ ซึ่งก็จะมีมรรคผลแบบสมถะ ได้ความสงบ สามารถดับความคิด ดับจิตที่เกิดได้ในระดับอัตโนมัติ คือดับได้โดยไม่ต้องใช้สติไปรู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือกดข่มโดยไม่มีสติอย่างเป็นธรรมชาติ สภาวธรรมเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ติดสงบ ติดภพ ติดสภาพของฤๅษี ที่หลงว่าสมถะนั้นคือทางบรรลุธรรม

บ้างก็หมายเอาว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา ทำให้หลงอยู่กับการกระทำความดับในแบบเปิดปิดเช่นนี้ โดยไม่เข้าใจเหตุปัจจัยของรูปและนามอย่างแท้จริง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถกดข่มกิเลสได้ มีรูปสวย ดูดีไปจนตาย แม้จะกดข่มได้ข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกเป็นสิบเป็นร้อยชาติ แต่ความเกิดนั้นก็จะยังเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี

ซึ่งวิธีการดับด้วยสมถะนี้เอง เป็นเรื่องที่เข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย มีสอนกันโดยทั่วไป วิธีการก็ไม่ยาก แค่พยายามกดไปเรื่อยๆ กดข่มไป คิดบวกไป ตัดรอบไป ทำเป็นลืมไป ฯลฯ เรียกว่าเจอผัสสะเข้ามากระทบแล้วก็ทำลายสภาพจิตที่เกิดเวทนาสุขทุกข์นั้นเสีย

ด้วยวิธีสมถะนี้เอง ทำให้หลายคนสามารถถือศีลที่ยากๆได้ เพราะใช้การกดข่มอย่างต่อเนื่อง พยายามบีบบังคับความอยากด้วยอุบายทางใจไม่ให้โผล่หน้าออกมา แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเพียงการถือศีลในแบบสีลัพพัตตุปาทาน คือการถือศีลอย่างงมงาย ไม่มีปัญญา เขาว่าดีก็ถือ เขาว่าเป็นกุศลก็ถือ ไม่ได้เข้าใจในสาระและข้อปฏิบัติเพื่อการศึกษาในศีลนั้นๆ ดังนั้นการถือศีลยากๆได้ไม่ได้หมายความว่าบรรลุธรรม เพราะสามารถใช้การกดข่มหรือวิธีของสมถะเข้ามาบริหารจัดการได้

ผู้ที่เรียนรู้วิปัสสนา

โดยปกติแล้ว ผู้ที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถเข้าใจสมถะอย่างถ่องแท้ด้วย นั่นเพราะสมถะคือพื้นฐานของการปฏิบัติในทุกๆศาสนา แม้ไม่มีศาสนาก็เป็นนักสมถะที่เก่งได้ แต่วิปัสสนานั้นเป็นกระบวนการของพุทธเท่านั้น หากจะนับจำนวนชาติที่หลงผิดต่อจำนวนชาติที่เห็นถูกตรง ย่อมปฏิบัติกันผิดๆมามาก ซึ่งในการปฏิบัติที่ผิดเหล่านั้นมักจะมีการใช้สมถะเป็นวิถีทางหลักอยู่แล้ว นั่นหมายถึงก่อนจะมาเรียนรู้วิปัสสนาก็มักจะสะสมบารมีเกี่ยวกับสมถะมาจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วกันมาไม่มากก็น้อย

วิปัสสนานั้นคือการทำให้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง โดยรู้เหตุปัจจัยแก่กันและกันทั้งหมดของความเกิดและความดับ รู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสที่เกิดตลอดจนถึงความจางคลายละหน่ายจากกิเลสไปโดยลำดับ โดยมีญาณปัญญารู้ถึงระดับของกิเลสในตน

ปัญญาที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนาจะกระจ่างแจ้งคนละระดับกับวิธีสมถะ เพราะเป็นปัญญาคนละโลก สมถะจะได้แค่ปัญญาโลกียะ ส่วนวิปัสสนาจะได้ทั้งปัญญาโลกียะและปัญญาโลกุตระ โดยหลักแล้วแม้สมถะจะเน้นไปที่สติ ดังคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” แต่หากยังใช้เพียงวิธีของสมถะก็จะได้แค่ปัญญาโลกียะเท่านั้น เป็นปัญญาที่มีอยู่ในระดับที่กิเลสไม่กำเริบเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาในระดับของการชำระกิเลส

วิปัสสนานั้นจะไม่ได้ทำเพื่อการดับในทันทีเหมือนสมถะ เพราะรู้แน่ชัดว่ากิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จนทำให้จิตใจหวั่นไหวนั้นมีปริมาณมาก จะจำกัดทีเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีไว้ศึกษาโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด กิเลสก็เช่นกัน มันมีสภาวะที่ละเอียดลึกลงไปตั้งแต่กามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งถ้าวิปัสสนาอย่างถูกตรงจะสามารถทำลายทั้งสามภพนี้ได้ แต่ถ้าปฏิบัติสมถะจะไม่ได้ทำลายภพ แต่จะเป็นการกดตัวเองเข้าไปอยู่ในภพ และกดข่มไปได้อย่างมากสุดก็แค่อรูปภพ จึงไม่มีวันหลุดพ้นจากกิเลสนั่นเอง

วิปัสสนานั้นจะทำให้เกิดปัญญาเจริญไปโดยลำดับ มีมรรคผลไปโดยลำดับ เติบโตไปทีละนิด กิเลสลดลงไปตามลำดับ ซึ่งอาจจะมีกิเลสเพิ่มบ้างในกรณีเกิดความทรมานจากการปฏิบัติธรรมแล้วย้อนกลับไปเสพตามกิเลสบ้างในบางคราว แต่โดยรวมแล้วจะมีทิศทางที่จะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นการเกิดดับของวิปัสสนาจะเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการจนสุดท้ายดับเหตุที่จะทำให้กิเลสเกิดได้ จึงกลายเป็นสภาวะดับตลอดกาล ไม่มีวันเกิดอีก ไม่มีเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปอีกต่อไป เพราะเป็นการดับที่ถาวร ไม่มีเชื้อของกิเลสอีกแล้ว

วิธีของวิปัสสนานั้นเห็นผลไม่ได้ง่ายๆเหมือนอย่างวิธีสมถะ เพราะต้องอาศัยความเพียรที่ถูกตรงอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดผล ต่างจากวิธีสมถะที่สามารถดับกันได้ชัดๆ จนบางครั้งสมถะวิถีเหล่านั้นกลายเป็นหลักปฏิบัติของคนที่มักง่าย หวังบรรลุธรรมไว เข้าใจว่าแค่ดับให้หมด ดับให้ได้ ดับให้ต่อเนื่องก็บรรลุธรรมแล้ว ทั้งที่จริงแล้วทั้งหมดนั้นยังไม่เข้าหลักของพุทธเลย

ทั้งนี้สภาพที่จะมียืนยันความเจริญของการปฏิบัติวิปัสสนานั้นละเอียดล้ำลึกกว่าสมถะมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติและตรวจสอบกันทั้ง วิปัสสนาญาณ ๙ ,ญาณ ๑๖(โสฬสญาณ),จรณะ ๑๕, เจโตปริยญาณ ๑๖ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นสภาพความเจริญในจิตวิญญาณของผู้ที่ปฏิบัติได้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

31.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติต่อกิเลส

March 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,132 views 1

การปฏิบัติต่อกิเลส

ดูภาพขนาดเต็มหรือดาวน์โหลด [กดที่นี่] | Download full size 1800×1976 px [Click here]

การปฏิบัติต่อกิเลส

กิเลสนี้ก็เหมือนไม้ที่ไฟกำลังลุกไหม้ มันร้อนแรง เผาทำลาย เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยงให้ไกล แต่ในความเป็นจริงนั้นเราไม่สามารถมองเห็นทุกข์หรือไฟของกิเลสได้ง่ายนัก กิเลสจึงเป็นเหมือนความหอมหวานของชีวิต จนหลายคนได้ใช้กิเลสเป็นเครื่องชี้นำชีวิตอีกด้วย

ในบทความนี้เราจะมาสรุปวิธีปฏิบัติต่อกิเลสโดยย่อพอให้เห็นภาพรวมในการปฏิบัติกัน

1). ทาสกิเลส

แรกเริ่มแต่ดั้งเดิมนั้น เราก็เป็นอิสระจากกิเลส หรือที่คนเรียกว่าจิตเดิมแท้ แต่ด้วยจิตเดิมมันไม่มีปัญญา หรือที่เรียกว่ามันโง่ พอได้ยิน ได้เสพอะไรเข้าก็หลงสุข หลงติดหลงยึดไปหมด เลยกลายเป็นทาสกิเลสนั่นเอง ซึ่งทาสกิเลสนี่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง

2). สมถะ

สมถะคืออุบายทางใจ เป็นวิธีปฏิบัติต่อกิเลสที่มีอยู่คู่โลกมาช้านาน เป็นวิธีที่จะเข้ามาช่วยกด ต้าน ยับยั้งกิเลส แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่จะสามารถทำลายกิเลสได้ คนที่เก่งในด้านสมถะจะสามารถกดข่มกิเลสได้ในระดับอัตโนมัติ ถ้าวิปัสสนาไม่เป็นแล้วหลงเข้าใจว่าสมถะคือวิปัสสนา อาจจะกลายเป็นฤๅษีติดภพไปอีกนานแสนนานก็ได้ การฝึกสมถะเป็นเรื่องที่ดี แต่การหลงไปในสมถะเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลา

2.1). สมถะทั่วไป คือการกดข่มลงไปตรงๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง ในสภาพใดสภาพหนึ่ง เช่นการบริกรรมพุท-โธ กำหนดรู้ตามจุดต่างๆในร่างกาย การเพิ่มตัวรู้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายเช่น เดินจงกรม หรือกำหนดเครื่องหมายสัญลักษณ์ใดๆก็ตามให้เป็นจุดรวมของจิตนั้นๆไม่ให้ฟุ้งซ่าน

2.2). ปัญญาสมถะ คือการใช้เหตุและผลเข้ามาช่วยจัดการกับความคิดหรือจิตที่ฟุ้งซ่าน ใช้ตรรกะ ใช้ธรรมมะเข้ามาช่วยกดอาการสั่นไหวของจิตที่เกิดขึ้น เช่น มองว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มองว่าทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งเหล่านี้คือการใช้ปัญญาเข้ามาช่วยกดจิตให้อยู่ในสภาพนิ่ง

….จุดประสงค์ของสมถะคือการดับความคิด การปรุงแต่ง หยุดความต่อเนื่องของกิเลสไว้ กดไว้ ยับยั้งไว้ ไม่ให้กิเลสกำเริบ เป็นวิธีที่จะช่วยเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่วิธีสมถะเหล่านี้มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ดังนั้นผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้รอบด้านเพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในตนเอง

3). อริยสัจ

3.1).ทุกข์ คือการเริ่มเดือดร้อนจากผลของกิเลสนั้นๆ การเห็นทุกข์นั้นเป็นด่านแรกในการเห็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ถ้าคนยังไม่เห็นทุกข์ก็ยังไม่เห็นธรรม โดยปกติแล้วคนจะเข้าใจว่ากิเลสเป็นสุข การได้เสพเป็นสุข แต่สุขเหล่านั้นเป็นของลวง เมื่อสิ้นสภาพที่ได้เสพหรือสุขลวงหาย ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น

3.2).สมุทัย เมื่อเห็นทุกข์ก็ต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์ ว่าสิ่งใดทำให้ทุกข์ ในขั้นตอนของสมุทัยคนจะหลงไปกับการทำสมถะเสียมากเพราะมองไปที่ผลแต่ไม่ได้มองไปที่เหตุ หรือมองเหตุก็มองแค่ตื้นๆ ซึ่งจริงๆแล้วต้องค้นไปที่รากของกิเลส ไม่ใช่ดูเพียงแค่การสั่นไหวของจิต แต่ค้นให้ลึกไปว่าเรายึดติดสิ่งนั้นเพราะเราติดรสสุขในอะไร เราติดรสสุขนั้นเพราะอะไร ต้องค้นลงไปให้เจอเหตุ

3.3).นิโรธ เมื่อเจอเหตุแล้วก็มาถึงการดับทุกข์ คือจะดับแบบไหน การดับนั้นทำได้หลายวิธีตั้งแต่ดับชั่วคราวไปถึงดับอย่างถาวร ถ้าดับชั่วคราวก็ใช้สมถะกดไปก่อน เพื่อลดพลังของกิเลส หรือจะดับให้ถาวรก็ต้องใช้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งได้อธิปัญญาที่จะมาต่อกรกิเลสนั้นๆ

3.4).มรรค เมื่อวางเป้าหมายของการดับแล้วก็มาถึงวิถีทางดับกิเลส ซึ่งมีกระบวนการคิด พูด ทำไปโดยลำดับ ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างถูกตรงตั้งแต่ความเห็นความเข้าใจ จึงจะเกิดสมาธิที่ถูกตรงได้ การปฏิบัติที่เข้าใจผิดเพี้ยนแม้แต่นิดเดียวก็จะทำให้ไปคนละทิศละทางกับการดับทุกข์

4). ผล (วิมุตติ)

เมื่อพากเพียรปฏิบัติมรรคอย่างถูกตรงก็จะได้ผลคือวิมุตติ หรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งชำแหละกิเลสในทุกลีลาที่ได้เจอมา

แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะให้ผลเช่นกัน ดังเช่นการใช้สมถะที่เข้าใจผิดว่าตนนั้นวิปัสสนา ก็จะได้ความสงบจากกิเลสที่เกิดจากการดับแบบกดข่มเช่นกัน การปฏิบัติใดๆอย่างตั้งมั่นล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น

แต่นัยสำคัญคือผลเหล่านั้นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ดังชื่อเต็มของมรรคก็คือ “สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘” นั่นหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องถูกตรงสู่ความเป็นผู้เจริญโดยมีองค์ประกอบครบพร้อมทั้ง ๘ ประการ คือต้องมีความเห็นความเข้าใจที่ถูก ความคิดที่ถูก การพูดที่ถูก การกระทำที่ถูก การเลี้ยงชีพที่ถูก ความเพียรที่ถูก การรู้ตัวที่ถูก และสภาพความตั้งมั่นที่ถูก

แล้วอย่างไหนจึงเรียกว่าถูก? ในเมื่อกิเลสคือความผิด นั่นหมายถึงการไม่มีกิเลสคือความถูก ดังนั้นการคิด พูด ทำใดๆที่มีผลในการลดกิเลส ไม่ส่งเสริมกิเลส ทำลายกิเลส นั่นคือสิ่งที่ถูก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี “ คือปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค แม้เราจะเห็นว่าเส้นทางการปฏิบัติและความเข้าใจนั้นมีหลากหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วการพ้นทุกข์อย่างยั่งยืนนั้นมีทางนี้ทางเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กะลา 3 ใบ

February 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,163 views 0

กะลา 3 ใบ

กะลา 3 ใบ

ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยการใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์และสามารถประยุกต์ใช้กับกิเลสอื่นๆได้ (* เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม )

การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นดำเนินไปเพื่อ “ความเป็นกลาง ไม่โต่งไปทางด้านกามและอัตตา” คือไม่ไปเสพตามกิเลสและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ซึ่งในบทความนี้จะมาอธิบายความแตกต่างของการปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติกับการกินมังสวิรัติโดยทั่วไป

กะลา…

กะลา 3 ใบ จะถูกแทนด้วยสภาวะสามแบบ ใบแรก ก็คือกามในเนื้อสัตว์ การมีความอยากกินเนื้อสัตว์ ที่ยังไปกินเนื้อสัตว์นั้นๆอยู่ ยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้

ใบที่สอง จะเป็นอัตตาในเนื้อสัตว์ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อชีวิต เนื้อสัตว์มีประโยชน์ ไม่กินเนื้อสัตว์จะป่วย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต้องมีเนื้อสัตว์ หรือความยึดในมิติอื่นๆ เช่นยึดในกามคุณ คือติดรสชาติของเนื้อสัตว์ หรือยึดในโลกธรรม คือเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต ยิ่งกินเนื้อที่คนเขาว่าดีเท่าไหร่คนอื่นก็จะยิ่งชื่นชมและอิจฉามากเท่านั้น

ส่วนใบที่สาม จะเป็นอัตตาในมุมยึดดี เป็นความรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งวัตถุดิบทางตรงและสังเคราะห์ หรือยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งไม่ยอมให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์สัตว์เข้ามาร่วมในอาหารที่กิน ซึ่งอาจจะมีโลกธรรมเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการยึดเช่น อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี อยากให้คนชม อยากให้คนนับถือ

…ซึ่งกะลา 3 ใบนั้นแท้จริงแล้วก็คือภพที่คนเข้าไปติดไปยึดอยู่นั่นเอง เราจะมาอธิบายภาพกันต่อไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดของความต่างระหว่างคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ และคนที่ปฏิบัติธรรม

ก). คนที่ยังกินเนื้อสัตว์

คนที่ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะต้องกินตามความอยาก จะอยู่ในกามภพของเนื้อสัตว์ คือยังไปเสพ ไปติด ไปยึดในการกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าแบบหยาบๆก็คือเสพติดเนื้อสัตว์ขนาดว่าต้องตระเวนหาเนื้อที่เขาว่าดีมากิน ร้านไหนดีก็ตามไปกิน ถ้าแบบกลางๆ ก็คนกินเนื้อสัตว์ทั่วไป อย่างดีหน่อยก็พวกรักสุขภาพที่กินผักมากกว่ากินเนื้อสัตว์

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปกินอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในภพนี้ ยังไม่ตัดให้ขาด ยังวนเวียนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเลิกกินได้เป็นสิบปียี่สิบปี แล้ววนกลับมากินด้วยความอยากก็ถือว่ายังไม่สามารถทำลายกามภพได้

คนส่วนมากในสังคมปัจจุบันจะอยู่ในภพนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ภาพที่เห็นก็คือยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใต้นั้นก็คืออัตตาที่หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ดี การกินเนื้อสัตว์เป็นสุข เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดการพาตัวเองไปเสพเนื้อสัตว์ตามที่ใจอยาก

ข). คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

เมื่อเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์มากเข้า คนบางพวกจึงหันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็สามารถผ่านพ้นกามภพนั้นได้ นั่นหมายถึงไม่ไปกินเนื้อสัตว์อีกเลย

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสามัญสำนึกหรือการยึดดีถือดีโดยธรรมชาติของคน เป็นความดีทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกินเนื้อสัตว์คือการทำสิ่งไม่ดีทางอ้อม อยากทำดีก็เลิกกินเนื้อสัตว์มันก็เท่านี้

ความอยากให้เกิดดีนั้นคือหมายให้เกิดผล แต่เหตุคือจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรก็ได้เช่น ไม่อยากเบียดเบียน สงสารสัตว์ รักษาสุขภาพ ฯลฯ แต่ภาพสุดท้ายที่ได้จากการเลิกกินเนื้อสัตว์คือจะได้ภาพคนดีติดมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าใครพอใจในจุดนี้ก็มักจะจบที่ตรงนี้ กินมังสวิรัติได้ กินเจได้สมบูรณ์ก็จบไป ไม่ศึกษาต่อ เพราะได้อยู่ในภพคนดีที่ตนต้องการแล้ว

การเกิดภพเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่เป็นการกดข่มความอยากกินเนื้อสัตว์ไว้ด้วยความยึดดี เหมือนเอากะลาคนดีมาครอบความชั่วไว้ มันก็จะเห็นแต่ความดี ส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นไม่รู้ ซึ่งความยึดดีถือดีนี้จะสามารถกดข่มความอยากจนมิดเลยก็ได้

การกดข่มด้วยความยึดดีจะเปลี่ยนสภาพกามในเนื้อสัตว์มาเป็นกามในผัก แต่จะพัฒนาจนปรุงแต่ง รูปร่าง กลิ่น สี รส ของอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานว่าความอยากไม่ตาย เพียงแต่กดมันไว้ด้วยความยึดดี พอมันอยากแต่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากมันก็สร้างสิ่งทดแทนมาเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยนี้สิ่งทดแทนเหล่านี้หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป

ทีนี้ปัญหามันก็จะอยู่ที่ความยึดดีนี่แหละ ถามว่าคนที่อยู่ในภพเช่นนี้เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตได้ไหม? ก็จะบอกเลยว่าได้ เพราะเวลายึดดีถือดีนี่มันยึดกันข้ามภพข้ามชาติได้เลย บางคนเกิดมาชาตินี้แค่คิดก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้เลย อาการแบบนี้คือมีพลังกดข่มสะสมมามาก

แต่ถ้าถามเรื่องกิเลสก็จะไม่รู้ชัดแจ้ง ถามเรื่องความอยากก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำลายกิเลส แต่ใช้พลังสมถะ พลังจิต พลังเจโต อัตตาฝ่ายดีในการกดข่มความอยาก จึงเกิดสภาพ กดดัน อึดอัด ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เจ้าระเบียบ ไม่ปล่อยวาง ติดดียึดดี เต็มไปด้วยกฎ ไม่ยืดหยุ่น แข็งกร้าว เอาแต่ใจ หมกมุ่น ถือตัวถือตน โดนด่าไม่ได้ โดนดูถูกไม่ได้รังเกียจคนกินเนื้อ รังเกียจที่ต้องกินเนื้อสัตว์ ทุกข์เมื่อเห็นเมนูเนื้อสัตว์ฯลฯ

ยิ่งคนที่มีอัตตามากและฝึกสมถะมามากจะสามารถกดกามภพ คือไม่ไปเสพ กดรูปภพ คือไม่คิดจะเสพ ลงได้แบบไม่ทันรู้ตัว คือกดข่มแบบอัตโนมัติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ เอาง่ายๆว่าจะดูสงบไม่หวั่นไหวเหมือนผู้บรรลุธรรมกันเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นสภาพของจิตที่กดข่มความชั่วโดยอัตโนมัติแล้วสติไม่ทันรู้ตัวก็หลงว่าตัวเรานั้นพ้นจากอัตตาได้เช่นกันบางทีหลงเข้าใจว่าการกระบวนการทำงานของจิตเหล่านั้นคือสติไปด้วย ทั้งๆที่สภาวะใดๆที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่มีปัญญานั้นไม่มีสติเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น

จึงขอยืนยันเลยว่าการลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ทั้งชีวิต ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมที่ถูกแนวทางพุทธแม้แต่นิดเดียว แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีศาสนา หรือมิจฉาทิฏฐิที่เสื่อมที่สุดในโลกก็สามารถที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้

ค). คนที่ปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม โดยใช้วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้ามาเรียนรู้กิเลส โดยใช้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัตินั้นจะต่างออกไปจากการใช้ความยึดดีเข้ามากลบความชั่ว

เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องไปโดยลำดับนั้น จะให้ผลคือการทำลายทีละภพไปตามลำดับตั้งแต่เลิกกินเนื้อสัตว์ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ และทำลายความติดดี ยึดดีถือดีว่าฉันเป็นคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

นั่นคือการทำลายแต่ละภพที่จิตได้ยึดมั่นถือมั่นไว้โดยลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากการกดข่ม เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปโดยลำดับตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้ใช้อัตตาเข้ามากดข่มความชั่วแล้วเลิกกินเนื้อสัตว์ในทันที

ผลที่แตกต่างจากวิธีที่ใช้อัตตาเข้ามาช่วยในการเลิกกินเนื้อสัตว์ คือมีความยืดหยุ่น มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของความอยากกินเนื้อสัตว์ รู้เหลี่ยมรู้มุมของกิเลสที่เจอมา ไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆ แม้ว่าจะต้องกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆอีก

แต่โดยสามัญแล้วจะไม่ไปกินเนื้อสัตว์ เพราะมีปัญญารู้ว่ากินแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ไม่ใช่การไม่ไปกินเพราะความยึดดีถือดีด้วยอัตตา สภาพสุดท้ายจะเหมือนคนที่กินมังสวิรัติทั่วไป

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความต่าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจและพอใจที่จะอยู่ในภพแบบไหน บางคนยังอยากเสพ บางคนยังยินดีกับการยึดดี ชอบเป็นคนดี หรือจะเรียนรู้การทำลายภพก็สามารถเลือกเอาได้ตามกำลังศรัทธา

– – – – – – – – – – – – – – –

27.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)