การปฏิบัติต่อกิเลส

March 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,135 views 1

การปฏิบัติต่อกิเลส

ดูภาพขนาดเต็มหรือดาวน์โหลด [กดที่นี่] | Download full size 1800×1976 px [Click here]

การปฏิบัติต่อกิเลส

กิเลสนี้ก็เหมือนไม้ที่ไฟกำลังลุกไหม้ มันร้อนแรง เผาทำลาย เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยงให้ไกล แต่ในความเป็นจริงนั้นเราไม่สามารถมองเห็นทุกข์หรือไฟของกิเลสได้ง่ายนัก กิเลสจึงเป็นเหมือนความหอมหวานของชีวิต จนหลายคนได้ใช้กิเลสเป็นเครื่องชี้นำชีวิตอีกด้วย

ในบทความนี้เราจะมาสรุปวิธีปฏิบัติต่อกิเลสโดยย่อพอให้เห็นภาพรวมในการปฏิบัติกัน

1). ทาสกิเลส

แรกเริ่มแต่ดั้งเดิมนั้น เราก็เป็นอิสระจากกิเลส หรือที่คนเรียกว่าจิตเดิมแท้ แต่ด้วยจิตเดิมมันไม่มีปัญญา หรือที่เรียกว่ามันโง่ พอได้ยิน ได้เสพอะไรเข้าก็หลงสุข หลงติดหลงยึดไปหมด เลยกลายเป็นทาสกิเลสนั่นเอง ซึ่งทาสกิเลสนี่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง

2). สมถะ

สมถะคืออุบายทางใจ เป็นวิธีปฏิบัติต่อกิเลสที่มีอยู่คู่โลกมาช้านาน เป็นวิธีที่จะเข้ามาช่วยกด ต้าน ยับยั้งกิเลส แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่จะสามารถทำลายกิเลสได้ คนที่เก่งในด้านสมถะจะสามารถกดข่มกิเลสได้ในระดับอัตโนมัติ ถ้าวิปัสสนาไม่เป็นแล้วหลงเข้าใจว่าสมถะคือวิปัสสนา อาจจะกลายเป็นฤๅษีติดภพไปอีกนานแสนนานก็ได้ การฝึกสมถะเป็นเรื่องที่ดี แต่การหลงไปในสมถะเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลา

2.1). สมถะทั่วไป คือการกดข่มลงไปตรงๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง ในสภาพใดสภาพหนึ่ง เช่นการบริกรรมพุท-โธ กำหนดรู้ตามจุดต่างๆในร่างกาย การเพิ่มตัวรู้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายเช่น เดินจงกรม หรือกำหนดเครื่องหมายสัญลักษณ์ใดๆก็ตามให้เป็นจุดรวมของจิตนั้นๆไม่ให้ฟุ้งซ่าน

2.2). ปัญญาสมถะ คือการใช้เหตุและผลเข้ามาช่วยจัดการกับความคิดหรือจิตที่ฟุ้งซ่าน ใช้ตรรกะ ใช้ธรรมมะเข้ามาช่วยกดอาการสั่นไหวของจิตที่เกิดขึ้น เช่น มองว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มองว่าทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งเหล่านี้คือการใช้ปัญญาเข้ามาช่วยกดจิตให้อยู่ในสภาพนิ่ง

….จุดประสงค์ของสมถะคือการดับความคิด การปรุงแต่ง หยุดความต่อเนื่องของกิเลสไว้ กดไว้ ยับยั้งไว้ ไม่ให้กิเลสกำเริบ เป็นวิธีที่จะช่วยเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่วิธีสมถะเหล่านี้มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ดังนั้นผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้รอบด้านเพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในตนเอง

3). อริยสัจ

3.1).ทุกข์ คือการเริ่มเดือดร้อนจากผลของกิเลสนั้นๆ การเห็นทุกข์นั้นเป็นด่านแรกในการเห็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ถ้าคนยังไม่เห็นทุกข์ก็ยังไม่เห็นธรรม โดยปกติแล้วคนจะเข้าใจว่ากิเลสเป็นสุข การได้เสพเป็นสุข แต่สุขเหล่านั้นเป็นของลวง เมื่อสิ้นสภาพที่ได้เสพหรือสุขลวงหาย ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น

3.2).สมุทัย เมื่อเห็นทุกข์ก็ต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์ ว่าสิ่งใดทำให้ทุกข์ ในขั้นตอนของสมุทัยคนจะหลงไปกับการทำสมถะเสียมากเพราะมองไปที่ผลแต่ไม่ได้มองไปที่เหตุ หรือมองเหตุก็มองแค่ตื้นๆ ซึ่งจริงๆแล้วต้องค้นไปที่รากของกิเลส ไม่ใช่ดูเพียงแค่การสั่นไหวของจิต แต่ค้นให้ลึกไปว่าเรายึดติดสิ่งนั้นเพราะเราติดรสสุขในอะไร เราติดรสสุขนั้นเพราะอะไร ต้องค้นลงไปให้เจอเหตุ

3.3).นิโรธ เมื่อเจอเหตุแล้วก็มาถึงการดับทุกข์ คือจะดับแบบไหน การดับนั้นทำได้หลายวิธีตั้งแต่ดับชั่วคราวไปถึงดับอย่างถาวร ถ้าดับชั่วคราวก็ใช้สมถะกดไปก่อน เพื่อลดพลังของกิเลส หรือจะดับให้ถาวรก็ต้องใช้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งได้อธิปัญญาที่จะมาต่อกรกิเลสนั้นๆ

3.4).มรรค เมื่อวางเป้าหมายของการดับแล้วก็มาถึงวิถีทางดับกิเลส ซึ่งมีกระบวนการคิด พูด ทำไปโดยลำดับ ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างถูกตรงตั้งแต่ความเห็นความเข้าใจ จึงจะเกิดสมาธิที่ถูกตรงได้ การปฏิบัติที่เข้าใจผิดเพี้ยนแม้แต่นิดเดียวก็จะทำให้ไปคนละทิศละทางกับการดับทุกข์

4). ผล (วิมุตติ)

เมื่อพากเพียรปฏิบัติมรรคอย่างถูกตรงก็จะได้ผลคือวิมุตติ หรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งชำแหละกิเลสในทุกลีลาที่ได้เจอมา

แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะให้ผลเช่นกัน ดังเช่นการใช้สมถะที่เข้าใจผิดว่าตนนั้นวิปัสสนา ก็จะได้ความสงบจากกิเลสที่เกิดจากการดับแบบกดข่มเช่นกัน การปฏิบัติใดๆอย่างตั้งมั่นล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น

แต่นัยสำคัญคือผลเหล่านั้นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ดังชื่อเต็มของมรรคก็คือ “สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘” นั่นหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องถูกตรงสู่ความเป็นผู้เจริญโดยมีองค์ประกอบครบพร้อมทั้ง ๘ ประการ คือต้องมีความเห็นความเข้าใจที่ถูก ความคิดที่ถูก การพูดที่ถูก การกระทำที่ถูก การเลี้ยงชีพที่ถูก ความเพียรที่ถูก การรู้ตัวที่ถูก และสภาพความตั้งมั่นที่ถูก

แล้วอย่างไหนจึงเรียกว่าถูก? ในเมื่อกิเลสคือความผิด นั่นหมายถึงการไม่มีกิเลสคือความถูก ดังนั้นการคิด พูด ทำใดๆที่มีผลในการลดกิเลส ไม่ส่งเสริมกิเลส ทำลายกิเลส นั่นคือสิ่งที่ถูก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี “ คือปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค แม้เราจะเห็นว่าเส้นทางการปฏิบัติและความเข้าใจนั้นมีหลากหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วการพ้นทุกข์อย่างยั่งยืนนั้นมีทางนี้ทางเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Related Posts

  • สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔ สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔ สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ […]
  • จิตว่าง จิตว่าง ...ว่างจากอะไร? จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป […]
  • ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา ความแตกต่างของการใช้ไตรลักษณ์ระหว่างการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา หากจะจำแนกวิธีปฏิบัติธรรมในปัจจุบันคงจะมีมากมายหลากหลาย มีชื่อ นิยาม […]
  • กิเลสนอนก้น กิเลสนอนก้น ...เมื่อการปฏิบัติธรรม ไม่ได้ทำให้เจริญไปถึงข้างในจิตใจ เคยคิดสงสัยกันหรือไม่ ว่าแท้จริงแล้วผลของการปฏิบัติธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร ที่เขาว่ายิ่งกว่าสุขเป็นแบบไหน แล้วแบบที่ทำอยู่จะให้ผลเช่นไร […]
  • การปฏิบัติศีล (สมาธิ ปัญญา) การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา) การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้นเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป โดยปฏิบัติให้พอเหมาะกับกิเลสนั้นๆ ศีล […]

Comments (1)

  1. พยายามจำแนกการกดข่ม..

    ช่วงปีที่แล้วพิมพ์บทความนี้ขึ้นมา พร้อมการ์ตูนชุดนี้ เพื่อจะใช้แยกว่าการกดข่มกับการล้างความหลงติดหลงยึดโดยใช้หลักอริยสัจ ๔ นั้นต่างกันอย่างไรในภาพรวม

    ผ่านมาหนึ่งปี ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะชี้ให้เห็น จำแนกแจกแจงให้ชัดเจน ผมเห็นนักปฏิบัติธรรมหลายคน แม้จะรูปสวย ดูดี เขร่งขรึม แต่พอเขาเล่าวิธีปฏิบัติมาก็รับรู้ได้ทันทีว่าข่มไว้ มันจะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันระหว่างสมถะกับวิปัสสนา คนที่เข้าใจก็เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ~

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply