Tag: การปฏิบัติ

การปฏิบัติต่อกิเลส

March 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,147 views 1

การปฏิบัติต่อกิเลส

ดูภาพขนาดเต็มหรือดาวน์โหลด [กดที่นี่] | Download full size 1800×1976 px [Click here]

การปฏิบัติต่อกิเลส

กิเลสนี้ก็เหมือนไม้ที่ไฟกำลังลุกไหม้ มันร้อนแรง เผาทำลาย เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยงให้ไกล แต่ในความเป็นจริงนั้นเราไม่สามารถมองเห็นทุกข์หรือไฟของกิเลสได้ง่ายนัก กิเลสจึงเป็นเหมือนความหอมหวานของชีวิต จนหลายคนได้ใช้กิเลสเป็นเครื่องชี้นำชีวิตอีกด้วย

ในบทความนี้เราจะมาสรุปวิธีปฏิบัติต่อกิเลสโดยย่อพอให้เห็นภาพรวมในการปฏิบัติกัน

1). ทาสกิเลส

แรกเริ่มแต่ดั้งเดิมนั้น เราก็เป็นอิสระจากกิเลส หรือที่คนเรียกว่าจิตเดิมแท้ แต่ด้วยจิตเดิมมันไม่มีปัญญา หรือที่เรียกว่ามันโง่ พอได้ยิน ได้เสพอะไรเข้าก็หลงสุข หลงติดหลงยึดไปหมด เลยกลายเป็นทาสกิเลสนั่นเอง ซึ่งทาสกิเลสนี่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง

2). สมถะ

สมถะคืออุบายทางใจ เป็นวิธีปฏิบัติต่อกิเลสที่มีอยู่คู่โลกมาช้านาน เป็นวิธีที่จะเข้ามาช่วยกด ต้าน ยับยั้งกิเลส แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่จะสามารถทำลายกิเลสได้ คนที่เก่งในด้านสมถะจะสามารถกดข่มกิเลสได้ในระดับอัตโนมัติ ถ้าวิปัสสนาไม่เป็นแล้วหลงเข้าใจว่าสมถะคือวิปัสสนา อาจจะกลายเป็นฤๅษีติดภพไปอีกนานแสนนานก็ได้ การฝึกสมถะเป็นเรื่องที่ดี แต่การหลงไปในสมถะเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลา

2.1). สมถะทั่วไป คือการกดข่มลงไปตรงๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง ในสภาพใดสภาพหนึ่ง เช่นการบริกรรมพุท-โธ กำหนดรู้ตามจุดต่างๆในร่างกาย การเพิ่มตัวรู้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายเช่น เดินจงกรม หรือกำหนดเครื่องหมายสัญลักษณ์ใดๆก็ตามให้เป็นจุดรวมของจิตนั้นๆไม่ให้ฟุ้งซ่าน

2.2). ปัญญาสมถะ คือการใช้เหตุและผลเข้ามาช่วยจัดการกับความคิดหรือจิตที่ฟุ้งซ่าน ใช้ตรรกะ ใช้ธรรมมะเข้ามาช่วยกดอาการสั่นไหวของจิตที่เกิดขึ้น เช่น มองว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มองว่าทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งเหล่านี้คือการใช้ปัญญาเข้ามาช่วยกดจิตให้อยู่ในสภาพนิ่ง

….จุดประสงค์ของสมถะคือการดับความคิด การปรุงแต่ง หยุดความต่อเนื่องของกิเลสไว้ กดไว้ ยับยั้งไว้ ไม่ให้กิเลสกำเริบ เป็นวิธีที่จะช่วยเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่วิธีสมถะเหล่านี้มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ดังนั้นผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้รอบด้านเพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในตนเอง

3). อริยสัจ

3.1).ทุกข์ คือการเริ่มเดือดร้อนจากผลของกิเลสนั้นๆ การเห็นทุกข์นั้นเป็นด่านแรกในการเห็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ถ้าคนยังไม่เห็นทุกข์ก็ยังไม่เห็นธรรม โดยปกติแล้วคนจะเข้าใจว่ากิเลสเป็นสุข การได้เสพเป็นสุข แต่สุขเหล่านั้นเป็นของลวง เมื่อสิ้นสภาพที่ได้เสพหรือสุขลวงหาย ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น

3.2).สมุทัย เมื่อเห็นทุกข์ก็ต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์ ว่าสิ่งใดทำให้ทุกข์ ในขั้นตอนของสมุทัยคนจะหลงไปกับการทำสมถะเสียมากเพราะมองไปที่ผลแต่ไม่ได้มองไปที่เหตุ หรือมองเหตุก็มองแค่ตื้นๆ ซึ่งจริงๆแล้วต้องค้นไปที่รากของกิเลส ไม่ใช่ดูเพียงแค่การสั่นไหวของจิต แต่ค้นให้ลึกไปว่าเรายึดติดสิ่งนั้นเพราะเราติดรสสุขในอะไร เราติดรสสุขนั้นเพราะอะไร ต้องค้นลงไปให้เจอเหตุ

3.3).นิโรธ เมื่อเจอเหตุแล้วก็มาถึงการดับทุกข์ คือจะดับแบบไหน การดับนั้นทำได้หลายวิธีตั้งแต่ดับชั่วคราวไปถึงดับอย่างถาวร ถ้าดับชั่วคราวก็ใช้สมถะกดไปก่อน เพื่อลดพลังของกิเลส หรือจะดับให้ถาวรก็ต้องใช้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งได้อธิปัญญาที่จะมาต่อกรกิเลสนั้นๆ

3.4).มรรค เมื่อวางเป้าหมายของการดับแล้วก็มาถึงวิถีทางดับกิเลส ซึ่งมีกระบวนการคิด พูด ทำไปโดยลำดับ ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างถูกตรงตั้งแต่ความเห็นความเข้าใจ จึงจะเกิดสมาธิที่ถูกตรงได้ การปฏิบัติที่เข้าใจผิดเพี้ยนแม้แต่นิดเดียวก็จะทำให้ไปคนละทิศละทางกับการดับทุกข์

4). ผล (วิมุตติ)

เมื่อพากเพียรปฏิบัติมรรคอย่างถูกตรงก็จะได้ผลคือวิมุตติ หรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งชำแหละกิเลสในทุกลีลาที่ได้เจอมา

แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะให้ผลเช่นกัน ดังเช่นการใช้สมถะที่เข้าใจผิดว่าตนนั้นวิปัสสนา ก็จะได้ความสงบจากกิเลสที่เกิดจากการดับแบบกดข่มเช่นกัน การปฏิบัติใดๆอย่างตั้งมั่นล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น

แต่นัยสำคัญคือผลเหล่านั้นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ดังชื่อเต็มของมรรคก็คือ “สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘” นั่นหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องถูกตรงสู่ความเป็นผู้เจริญโดยมีองค์ประกอบครบพร้อมทั้ง ๘ ประการ คือต้องมีความเห็นความเข้าใจที่ถูก ความคิดที่ถูก การพูดที่ถูก การกระทำที่ถูก การเลี้ยงชีพที่ถูก ความเพียรที่ถูก การรู้ตัวที่ถูก และสภาพความตั้งมั่นที่ถูก

แล้วอย่างไหนจึงเรียกว่าถูก? ในเมื่อกิเลสคือความผิด นั่นหมายถึงการไม่มีกิเลสคือความถูก ดังนั้นการคิด พูด ทำใดๆที่มีผลในการลดกิเลส ไม่ส่งเสริมกิเลส ทำลายกิเลส นั่นคือสิ่งที่ถูก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี “ คือปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค แม้เราจะเห็นว่าเส้นทางการปฏิบัติและความเข้าใจนั้นมีหลากหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วการพ้นทุกข์อย่างยั่งยืนนั้นมีทางนี้ทางเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

January 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,369 views 0

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

การปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนนั้นมีหลากหลายวิธี มีความยากง่ายรายละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลทางรูปธรรมที่เห็นได้คือเราสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกันทุกคน แต่ผลทางนามธรรมนั้นกลับแตกต่างไปตามวิธีที่แต่ละคนยึดถือและปฏิบัติมา

ก).เมตตามังสวิรัติ

หลายคนมักจะเริ่มกินมังสวิรัติด้วยความเมตตา ความสงสาร เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นคือการเบียดเบียนทางอ้อมที่ได้รับบาปอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเริ่มมีจิตใจที่ยอมสละอาหารจานเนื้อสัตว์ที่เคยโปรดปราน เพื่อละเว้นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น การไม่เบียดเบียนทางอ้อมก็ทำให้ผลดีเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

แต่ความเมตตานั้นไม่ใช่จุดจบสมบูรณ์ เมื่อเรามีจิตใจเมตตาแล้ว มีกรุณาคือการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ได้จริงแล้ว แต่ก็มักจะมาติดตรงมุทิตา เมื่อเราเห็นว่าคนอื่นสามารถกินมังสวิรัติกินเจ เห็นดีเห็นงานในการลดเนื้อสัตว์หันมากินผักกับเรา เราก็มักจะมีมุทิตาจิตหรือมีความรู้สึกยินดีตามเขาไปด้วย

แต่เมื่อเราพบว่าหลายคนยังยินดีกินเนื้อสัตว์ แถมยังหาเหตุผลมาย้อนแย้งคนที่กินมังสวิรัติ กล่าวเพ่งโทษ ให้ร้ายมังสวิรัติหรือสิ่งที่ตนยึดถือ แน่นอนว่านอกจากเราจะไม่สามารถมีจิตมุทิตาได้แล้ว เรายังอุเบกขาไม่ได้อีกด้วย

หลายคนมักจะเจอกับปัญหาความไม่ปล่อยวางความยึดดี เมื่อสามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็มักจะยึดดีถือดี จนกระทั่งไม่สามารถปล่อยวางความดีเหล่านั้น เมื่อมีใครมาพูดกระแทกกระทบกระทั่งก็มักจะมีจิตใจที่ขุ่นเขือง ถ้าคุมไม่อยู่ก็ด่ากลับหรือออกอาการไม่พอใจต่างๆได้

เกิดเป็นสภาพพร่องๆของพรหมวิหาร ๔ เป็นคนที่มีเมตตาแต่ไม่มีอุเบกขา เริ่มเป็นแต่จบไม่เป็น จึงต้องเกิดสภาพทุกข์ใจอยู่เรื่อยไปเพราะวางความยึดดีเหล่านั้นไม่ลง

พรหมวิหาร หรือที่ตั้งแห่งความเป็นพรหมที่ครบองค์ประกอบนั้นต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาสอดร้อยอยู่ด้วยกันเสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนเมตตาที่ทุกข์ เป็นคนดีที่มีแต่ทุกข์ ทำความดีแต่ไม่มีคนเห็นคุณค่าก็ทุกข์ เพราะไม่มีอุเบกขาเป็นตัวจบนั่นเอง

แต่การถึงอุเบกขาไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปากท่องว่าปล่อยวางหรือใช้กำลังของจิตในการกดข่มสภาพทุกข์ อุเบกขานั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรายึดดีไว้เป็นตัวตนของเราก็จะเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ผู้ที่สามารถปฏิบัติจนครบองค์ของพรหมได้นั้นจะเป็นมังสวิรัติที่มีเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต กระจายความห่วงใยไปทั่วทั้งสัตว์ผู้มีกรรมและคนที่ยังมีกิเลส ไม่รู้สึกโกรธเกลียดขุ่นใจในเรื่องใดเลย แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการกินมังสวิรัติ แม้จะโดนต่อว่าหรือหักหน้าก็ยังสามารถคงสภาพจิตใจที่ผ่องใสอยู่ได้

ข). อัตตามังสวิรัติ

แม้ว่าเราจะเริ่มต้นการกินมังสวิรัติด้วยเมตตาจิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความเราจะหนีพ้นอัตตา ดังนั้นอัตตาก็เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในวิถีปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ในรูปแบบหยาบๆของอัตตานั้นคือการเปลี่ยนขั้วของการยึด ในตอนแรกนั้นหลายคนยึดเนื้อสัตว์เป็นอาหารในการดำรงชีวิต แต่พอคิดจะมากินมังสวิรัติหลายคนก็เปลี่ยนเอาผักและธัญพืชเป็นอาหารในการดำรงชีวิต เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วของการยึด

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเห็นได้ง่ายที่สุดและมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง เช่น คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติทันทีนั่นเอง จะเป็นสภาพที่สลับขั้วอย่างรุนแรง เปลี่ยนอัตตาจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังวนอยู่ในอัตตาซึ่งเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

การสลับข้างของอัตตานั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับหลายครั้งในชีวิตที่เราเคยชอบอะไรแล้ววันหนึ่งกลับไม่ชอบ หรือเคยไม่ชอบอะไรวันหนึ่งกลับมาชอบ มันก็กลับไปกลับมาแบบนี้ เรื่องการกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักในการปฏิบัติเราก็จะสลับไปสลับมาแบบนี้ อาจจะชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร?

นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนจากการยึดเนื้อสัตว์มายึดมังสวิรัตินั้นเป็นการเปลี่ยนแค่ความเห็น แต่กิเลสมันไม่ได้เปลี่ยนตามมาด้วย เราจะยังคงมีความสุข ความอร่อยจากการกินเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม สังเกตได้จากการทำวัตถุดิบเทียมเนื้อสัตว์ขึ้นมา บางชนิดทำได้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งรสชาติและสัมผัส

แล้วทำไมแล้วยังต้องกินสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ในเมื่อเราไมได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว ทำไมเราไม่เปลี่ยนเมนูไปกินผัก กินเห็ด กินเต้าหู้หรือสิ่งที่มีกระบวนการสังเคราะห์ที่น้อยลง หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่เป็นภัยมาก นั่นเพราะเรายังติดกิเลสในลักษณะที่เรียกว่ากามคุณอยู่นั่นเอง

เรายังหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์อยู่ ซึ่งในกรณีนี้เราไม่ได้ทำลายความหลงเหล่านี้ เพียงแค่ใช้อัตตาเข้ามาข่มความชั่วไว้ ยึดดีไว้ เมตตาเข้าไว้ เป็นคนดีละเว้นการเบียดเบียนเข้าไว้

แต่กิเลสมันไม่ได้ปล่อยให้เราทำดีอยู่แบบนั้น เมื่อกิเลสยังมีเชื้ออยู่ ความอยากเสพรสต่างๆของเราจะโตขึ้นเรื่อยๆ ใครที่มีแนวโน้มในการหาอาหารอร่อย หรือสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งจะต้องหลุดจากวิถีของการกินมังสวิรัติ เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม

คนที่มีทิศทางที่จะเจริญไปได้อย่างยั่งยืนนั้น คือคนที่มีแนวโน้มที่จะลดการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นลดความจัดของรสชาติ ลดการประดับตกแต่งที่สวยงาม ลดการใช้สิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือลดความต้องการในการกินอาหารที่น้อยชนิดลงเช่น เลิกกินของทอด เลิกกินขนมหวาน การลดชนิดอาหารหรือลดความหลากหลายของความอยากนี้เอง จะเป็นสิ่งที่ประกันไม่ให้กิเลสของเราพาเราไปแสวงหาเมนูแปลกๆ เมนูเด็ดๆ ซึ่งเป็นการสะสมกิเลสที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในศีลธรรมต่อไป

ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ความยึดดีหรือใช้อัตตาเข้ามายึดว่า “ฉันจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติ ,ฉันจะไม่เบียดเบียนอีก” ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืน เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่ความอยากนั้นเกินปริมาณที่ความยึดดีจะทนไหว ก็อาจจะตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์และหลงว่าเป็นทางสายกลางจนไม่กลับมากินมังสวิรัติอีกเลยก็เป็นได้

…ไม่ว่าจะกินมังสวิรัติด้วยวิธีไหน ก็หนีเรื่องกิเลสไม่พ้น ไม่ติดกามก็ต้องมาติดอัตตา ติดไปติดมาวนเวียนกันไปมา ชาติหนึ่งกินเนื้อ อีกชาติกินมังสวิรัติ สลับไปมาแบบนี้เพราะเป็นชีวิตที่ถูกผลักดันด้วยกิเลส ไม่ว่าจะหลงยึดไปในด้านใด การหลงเหล่านั้นก็คือกิเลส เมื่อเราหลงไปในสิ่งใดเราก็มักจะลำเอียงให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นอย่างมัวเมา ลองสังเกตดูว่าเรารู้สึกรักหรือชอบใจคนกินเนื้อกับคนที่กินผักเท่ากันหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,812 views 0

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

จนถึงตอนนี้ก็เรียกได้ว่ากึ่งพุทธกาลแล้ว นั่นหมายความว่าศาสนาได้ดำเนินมาถึงครึ่งทาง ความเจริญก็ได้หายไปครึ่งหนึ่ง ความเสื่อมก็เข้ามาแทนที่ในส่วนนั้นเช่นกัน

ในความจริงที่ผ่านมานั้น เราได้เวียนว่ายตายเกิดและอยู่ในยุคของพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์แล้ว อย่างองค์สมณะโคดม หรือพระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้ ท่านได้ผ่านและร่ำเรียนจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆมามากกว่า 3 ล้านพระองค์

ซึ่งในอนาคตก็จะมีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ อย่างภัทรกัปนี้ องค์สุดท้ายที่จะมาบังเกิดคือพระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ไว้ว่าคนจะมีอายุถึง 80,000 ปี

พอชาวพุทธส่วนหนึ่งได้ยินดังนั้น ก็ได้หมายมั่นตั้งจิตว่าจะไปปฏิบัติในยุคหน้า ในอนาคตที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเข้าใจ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังเขาพูดมา …ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็เหมือนกัน สอนให้ลด ละ เลิกกิเลสเหมือนกัน สอนเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิถีทางดับทุกข์เหมือนกัน

และธรรมะนั้นเป็นอกาลิโก คือปฏิบัติจนเห็นผลได้ไม่ว่าเมื่อไหร่ ยุคใด สมัยใด แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แต่ธรรมะนั้นยังคงอยู่ หากว่าเราปฏิบัติตามธรรมะที่ถูกต้อง โดยผ่านคำสอนของสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ถูกตรง ก็จะสามารถไปถึงผลได้ไม่ต่างจากการปฏิบัติในสมัยพุทธกาล

นั่นคือไม่ว่าเราจะปฏิบัติตอนนี้ หรือไปปฏิบัติในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป การได้รับความสุขจากการหมดกิเลส ก็เป็นสภาพที่เหมือนกัน แต่คนที่ขยันปฏิบัติและเรียนรู้ก็จะสามารถหมดทุกข์ได้เร็ว หมดทุกข์ก่อนก็สุขก่อน หมดทุกข์ได้ในชาตินี้ก็สุขได้เลยในชาตินี้ หมดทุกข์วันนี้ก็สุขวันนี้ และสุขยาวต่อไปอีกกี่ยุค กี่สมัยก็ได้ตามแต่ใจ

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ล้างทุกข์ หรือคนขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่งก็จะแบกทุกข์ไว้ แบกกิเลสเอาไว้ปฏิบัติกับพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยไม่รู้เลยว่าตนเองนั้นทำแบบนี้มาตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนแล้ว พระพุทธเจ้าผ่านมากี่พระองค์เราก็ทำแบบนี้ ผลัดกันไปเรื่อยๆ ไม่ปฏิบัติ ไม่เรียนรู้สักที จะขอเสพกิเลส ตามใจกิเลสอยู่นั่น แล้วหลงว่าตัวเองควบคุมกิเลสได้ แต่จริงๆโดนกิเลสควบคุมชีวิตอยู่อย่างไม่รู้ตัว

การที่ตั้งจิตว่าจะไปบำเพ็ญในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ไปเกิดเป็นคนในยุคนั้นเสมอไป เพราะกว่าที่จะถึงยุคนั้น จะต้องผ่านกลียุค ผ่านยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนาอย่างยาวนานมาก นานแสนนาน จนกว่าจะไปถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ดังนั้นผู้ที่ไม่เรียนรู้และปฏิบัติในยุคนี้ ก็จะไม่รู้จักกิเลส พอถึงกลียุคก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ทำบาปตามเขา เสพกิเลสตามเขา สะสมกิเลสตามเขา

สุดท้ายกว่าถึงยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็สะสมบาปมากพอ กรรมอาจจะดลไม่ให้เกิดในยุคนั้น หรือไม่ก็เกิดเป็นสัตว์ อาจจะเป็นสุนัขไปสัก 40,000 ปี ตายแล้วเกิดใหม่มาเป็นแมวอีก 40,000 ปี เป็นเดรัจฉานวนเวียนไม่จบไม่สิ้น จนไม่พบพระพุทธเจ้าสักที แคล้วคลาดกันทุกยุคทุกสมัย พอชาติใดชาติหนึ่งได้พบศาสนาพุทธก็พลัดวันประกันพรุ่งต่อไป วนเวียนไปแบบนี้ ถึงจะผ่านพระพุทธเจ้าอีกล้านพระองค์ก็อาจจะวนเวียนอยู่เช่นนี้ก็เป็นได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เราประมาท เพราะคนประมาทก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คนที่ยังอยู่ในยุคที่ยังมีศาสนาอยู่ อยู่ในยุคที่ธรรมะยังดำรงอยู่ แต่ไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำตัวย่อหย่อน พลัดวันประกันพรุ่ง ก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

กินมื้อเดียวแล้วเป็นอย่างไร

August 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 25,241 views 4

กินมื้อเดียวแล้วเป็นอย่างไร

กินมื้อเดียวแล้วเป็นอย่างไร?

หลายคนคงจะสงสัยว่ากินมื้อเดียวนั้นดีอย่างไร? กินแล้วเป็นอย่างไร? จะมีแรงไหม? จะเป็นโรคกระเพาะไหม? จะขาดสารอาหารจนป่วยไหม?

ในโลกปัจจุบัน การกินอาหารมื้อเดียวนั้นดูจะขัดกับความรู้ที่เราได้เรียนหรือใช้ชีวิตมา ซึ่งส่วนใหญ่เราก็กินสามมื้อกัน แล้วเราก็เชื่อว่ามันดี อันนี้เป็นข้อมูลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อะไรก็ว่ากันไป แต่เมื่อ 2600 กว่าปีก่อนพระพุทธเจ้าท่านได้บอกไว้ว่า กินมื้อเดียวดีที่สุดในโลก (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก : จุลศีล ข้อ 9 และประโยชน์ของการกินมื้อเดียว ๕ )

รู้ขนาดนี้แล้วมันก็ต้องลองทำตามกันหน่อย!! เพราะมีข้อมูลจากพระไตรปิฎกว่ากินมื้อเดียวจะทำให้ เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง อยู่อย่างผาสุก

เมื่อลองบากบั่น พากเพียร พยายามจนสามารถเข้าใจถึงผลของศีลข้อนี้ได้ ก็พบว่ามันดีอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่าจริงๆ ผลที่เห็นได้ทั่วไปก็คือ น้ำหนักลด มีเวลาเพิ่ม ประหยัด สบายตัว ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดคือกิเลสก้อนใหญ่ก็ลดลงไปด้วย

สุดท้ายก็จะรู้สึกไม่ลำบากใจที่จะไม่ได้กินหลายมื้อ ยินดีเต็มใจที่จะได้กินมื้อเดียวอย่างมีความสุข ถึงจะมีคนจัดมาให้ก็จะยินดีที่จะไม่กิน ความอยากกินหลายมื้อจะหายไป มีความตั้งมั่น มั่นคงว่ามื้อเดียวนี่แหละดีที่สุดในโลก กินตลอดชีวิตกันไปเลย รู้ได้ตามจริงเลยว่ากินหลายมื้อนี่มันลำบากจริงๆ รู้สึกเบื่อ ลำบาก ขยาด…ที่จะต้องไปกินหลายมื้อ และรู้ได้เองว่าเรานี่แหละพ้นความลำบากที่จะต้องกินหลายมื้ออย่างไม่มีวันที่จะกลับไปกินแบบนั้นอีกแล้ว

อันนี้ก็เป็นผลจากการพากเพียรปฏิบัติอย่างตั้งมั่น ถ้าเราทำมากก็สำเร็จไว ทำน้อยก็ช้าหน่อย บางคนไม่ทำก็ไม่ได้เลย แล้วก็มานั่งสงสัยว่าคนกินมื้อเดียวอยู่ได้อย่างไร? คนกินมื้อเดียวเขาไม่หิวหรอ? เขาจะมีแรงหรอ?อันนี้ก็ตอบให้เลยว่าดีกว่ากินสามมื้อทุกอย่าง

แต่บางคนทำก็ผิดๆถูกๆ ไม่มาไม่ไป เดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนั้น กินมื้อเดียวได้แต่ก็ยังอยากกินหลายมื้ออยู่ เห็นเขากินก็ยังอยากกินอยู่ ไม่มีความสุข ได้แต่กดข่มความรู้สึกไว้ หรือไม่ก็ชอบหาข้ออ้างให้ตัวเองได้กินหลายมื้อก็ว่ากันไป ถือศีลบ้างไม่ถือบ้างตามเหตุปัจจัยของสังคมและโลก ถ้าเกิดอาการนี้ก็คงต้องหาที่ปรึกษา หาผู้รู้ หาโค้ชกันหน่อย เพราะการปฏิบัติที่ไม่มีผู้รู้นี่ก็เหมือนคนไปเที่ยวป่าไม่มีคนนำทาง หลงทางกันเข้ารกเข้าพง เสียเวลาเปล่าๆแต่ใครชอบชมนกชมไม้ก็ไม่ว่ากัน

แต่ก็อย่างว่า… บางคนเขาไม่รีบก็ไม่เป็นไร สบายๆกันไป แต่ก็ต้องบอกตามจริงว่าความสุขที่มากกว่ากินสามมื้อก็คือกินมื้อเดียวนี่แหละ ดีที่สุดในโลก

– – – – – – – – – – – – – – –
29.7.2557
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์