Tag: รูปธรรม

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

July 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,731 views 1

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา

เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…

(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)

หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ

แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา

ความดีที่เห็นและที่เป็น

หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย

แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว

ความชั่วที่เห็น

หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา

ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก

ความจริงที่ปรากฏ

การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน

แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก

ความจริงตามความเป็นจริง

หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่

ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

January 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,345 views 0

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

การปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนนั้นมีหลากหลายวิธี มีความยากง่ายรายละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลทางรูปธรรมที่เห็นได้คือเราสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกันทุกคน แต่ผลทางนามธรรมนั้นกลับแตกต่างไปตามวิธีที่แต่ละคนยึดถือและปฏิบัติมา

ก).เมตตามังสวิรัติ

หลายคนมักจะเริ่มกินมังสวิรัติด้วยความเมตตา ความสงสาร เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นคือการเบียดเบียนทางอ้อมที่ได้รับบาปอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเริ่มมีจิตใจที่ยอมสละอาหารจานเนื้อสัตว์ที่เคยโปรดปราน เพื่อละเว้นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น การไม่เบียดเบียนทางอ้อมก็ทำให้ผลดีเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

แต่ความเมตตานั้นไม่ใช่จุดจบสมบูรณ์ เมื่อเรามีจิตใจเมตตาแล้ว มีกรุณาคือการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ได้จริงแล้ว แต่ก็มักจะมาติดตรงมุทิตา เมื่อเราเห็นว่าคนอื่นสามารถกินมังสวิรัติกินเจ เห็นดีเห็นงานในการลดเนื้อสัตว์หันมากินผักกับเรา เราก็มักจะมีมุทิตาจิตหรือมีความรู้สึกยินดีตามเขาไปด้วย

แต่เมื่อเราพบว่าหลายคนยังยินดีกินเนื้อสัตว์ แถมยังหาเหตุผลมาย้อนแย้งคนที่กินมังสวิรัติ กล่าวเพ่งโทษ ให้ร้ายมังสวิรัติหรือสิ่งที่ตนยึดถือ แน่นอนว่านอกจากเราจะไม่สามารถมีจิตมุทิตาได้แล้ว เรายังอุเบกขาไม่ได้อีกด้วย

หลายคนมักจะเจอกับปัญหาความไม่ปล่อยวางความยึดดี เมื่อสามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็มักจะยึดดีถือดี จนกระทั่งไม่สามารถปล่อยวางความดีเหล่านั้น เมื่อมีใครมาพูดกระแทกกระทบกระทั่งก็มักจะมีจิตใจที่ขุ่นเขือง ถ้าคุมไม่อยู่ก็ด่ากลับหรือออกอาการไม่พอใจต่างๆได้

เกิดเป็นสภาพพร่องๆของพรหมวิหาร ๔ เป็นคนที่มีเมตตาแต่ไม่มีอุเบกขา เริ่มเป็นแต่จบไม่เป็น จึงต้องเกิดสภาพทุกข์ใจอยู่เรื่อยไปเพราะวางความยึดดีเหล่านั้นไม่ลง

พรหมวิหาร หรือที่ตั้งแห่งความเป็นพรหมที่ครบองค์ประกอบนั้นต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาสอดร้อยอยู่ด้วยกันเสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนเมตตาที่ทุกข์ เป็นคนดีที่มีแต่ทุกข์ ทำความดีแต่ไม่มีคนเห็นคุณค่าก็ทุกข์ เพราะไม่มีอุเบกขาเป็นตัวจบนั่นเอง

แต่การถึงอุเบกขาไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปากท่องว่าปล่อยวางหรือใช้กำลังของจิตในการกดข่มสภาพทุกข์ อุเบกขานั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรายึดดีไว้เป็นตัวตนของเราก็จะเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ผู้ที่สามารถปฏิบัติจนครบองค์ของพรหมได้นั้นจะเป็นมังสวิรัติที่มีเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต กระจายความห่วงใยไปทั่วทั้งสัตว์ผู้มีกรรมและคนที่ยังมีกิเลส ไม่รู้สึกโกรธเกลียดขุ่นใจในเรื่องใดเลย แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการกินมังสวิรัติ แม้จะโดนต่อว่าหรือหักหน้าก็ยังสามารถคงสภาพจิตใจที่ผ่องใสอยู่ได้

ข). อัตตามังสวิรัติ

แม้ว่าเราจะเริ่มต้นการกินมังสวิรัติด้วยเมตตาจิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความเราจะหนีพ้นอัตตา ดังนั้นอัตตาก็เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในวิถีปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ในรูปแบบหยาบๆของอัตตานั้นคือการเปลี่ยนขั้วของการยึด ในตอนแรกนั้นหลายคนยึดเนื้อสัตว์เป็นอาหารในการดำรงชีวิต แต่พอคิดจะมากินมังสวิรัติหลายคนก็เปลี่ยนเอาผักและธัญพืชเป็นอาหารในการดำรงชีวิต เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วของการยึด

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเห็นได้ง่ายที่สุดและมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง เช่น คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติทันทีนั่นเอง จะเป็นสภาพที่สลับขั้วอย่างรุนแรง เปลี่ยนอัตตาจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังวนอยู่ในอัตตาซึ่งเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

การสลับข้างของอัตตานั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับหลายครั้งในชีวิตที่เราเคยชอบอะไรแล้ววันหนึ่งกลับไม่ชอบ หรือเคยไม่ชอบอะไรวันหนึ่งกลับมาชอบ มันก็กลับไปกลับมาแบบนี้ เรื่องการกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักในการปฏิบัติเราก็จะสลับไปสลับมาแบบนี้ อาจจะชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร?

นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนจากการยึดเนื้อสัตว์มายึดมังสวิรัตินั้นเป็นการเปลี่ยนแค่ความเห็น แต่กิเลสมันไม่ได้เปลี่ยนตามมาด้วย เราจะยังคงมีความสุข ความอร่อยจากการกินเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม สังเกตได้จากการทำวัตถุดิบเทียมเนื้อสัตว์ขึ้นมา บางชนิดทำได้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งรสชาติและสัมผัส

แล้วทำไมแล้วยังต้องกินสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ในเมื่อเราไมได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว ทำไมเราไม่เปลี่ยนเมนูไปกินผัก กินเห็ด กินเต้าหู้หรือสิ่งที่มีกระบวนการสังเคราะห์ที่น้อยลง หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่เป็นภัยมาก นั่นเพราะเรายังติดกิเลสในลักษณะที่เรียกว่ากามคุณอยู่นั่นเอง

เรายังหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์อยู่ ซึ่งในกรณีนี้เราไม่ได้ทำลายความหลงเหล่านี้ เพียงแค่ใช้อัตตาเข้ามาข่มความชั่วไว้ ยึดดีไว้ เมตตาเข้าไว้ เป็นคนดีละเว้นการเบียดเบียนเข้าไว้

แต่กิเลสมันไม่ได้ปล่อยให้เราทำดีอยู่แบบนั้น เมื่อกิเลสยังมีเชื้ออยู่ ความอยากเสพรสต่างๆของเราจะโตขึ้นเรื่อยๆ ใครที่มีแนวโน้มในการหาอาหารอร่อย หรือสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งจะต้องหลุดจากวิถีของการกินมังสวิรัติ เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม

คนที่มีทิศทางที่จะเจริญไปได้อย่างยั่งยืนนั้น คือคนที่มีแนวโน้มที่จะลดการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นลดความจัดของรสชาติ ลดการประดับตกแต่งที่สวยงาม ลดการใช้สิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือลดความต้องการในการกินอาหารที่น้อยชนิดลงเช่น เลิกกินของทอด เลิกกินขนมหวาน การลดชนิดอาหารหรือลดความหลากหลายของความอยากนี้เอง จะเป็นสิ่งที่ประกันไม่ให้กิเลสของเราพาเราไปแสวงหาเมนูแปลกๆ เมนูเด็ดๆ ซึ่งเป็นการสะสมกิเลสที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในศีลธรรมต่อไป

ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ความยึดดีหรือใช้อัตตาเข้ามายึดว่า “ฉันจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติ ,ฉันจะไม่เบียดเบียนอีก” ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืน เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่ความอยากนั้นเกินปริมาณที่ความยึดดีจะทนไหว ก็อาจจะตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์และหลงว่าเป็นทางสายกลางจนไม่กลับมากินมังสวิรัติอีกเลยก็เป็นได้

…ไม่ว่าจะกินมังสวิรัติด้วยวิธีไหน ก็หนีเรื่องกิเลสไม่พ้น ไม่ติดกามก็ต้องมาติดอัตตา ติดไปติดมาวนเวียนกันไปมา ชาติหนึ่งกินเนื้อ อีกชาติกินมังสวิรัติ สลับไปมาแบบนี้เพราะเป็นชีวิตที่ถูกผลักดันด้วยกิเลส ไม่ว่าจะหลงยึดไปในด้านใด การหลงเหล่านั้นก็คือกิเลส เมื่อเราหลงไปในสิ่งใดเราก็มักจะลำเอียงให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นอย่างมัวเมา ลองสังเกตดูว่าเรารู้สึกรักหรือชอบใจคนกินเนื้อกับคนที่กินผักเท่ากันหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,599 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,219 views 0

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน แนวคิดในการแก้กรรมหรือการแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดโดยใช้ไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมที่ชวนให้ฉงนสงสัยในเหตุและผลต่างๆก็มีให้เห็นอยู่เสมอ เป็นความเห็นผิดที่จะอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่มีวันจะหมดไปและไม่มีวันจะเลือนหายไป

การที่พิธีกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่นั่นเป็นเพราะ มนุษย์บางพวกไม่ได้เข้าใจในเรื่องกรรมและไม่มีปัญญาพอจะแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่เป็นโทษได้ จึงหมายเอาเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องคิด เพียงแค่ใช้ศรัทธาก็สามารถพ้นทุกข์ได้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือให้เรียกง่ายๆว่าอยากพ้นทุกข์แต่มักง่ายนั่นเอง

ความมักง่ายหรือความขี้เกียจแสวงหาทางพ้นทุกข์หรือไม่ยอมเรียนรู้เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์นั้นก็นับว่าเป็นความขี้เกียจ ซึ่งความขี้เกียจนี้เองก็เป็นหนึ่งในลักษณะของอบายมุข เมื่อหลงติดในอบายมุขก็เท่ากับเวียนว่ายวนไปมาอยู่ในนรก ดังนั้นการจะจมอยู่ในวิธีแก้กรรมอย่างไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมต่างๆที่เป็นไปในแนวทางของเดรัจฉานวิชาจึงเป็นเรื่องที่จะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

…เดรัจฉานวิชา

การแก้กรรมที่อวดอ้างในสรรพคุณ ต่างๆ โดยใช้วิธีทางไสยศาสตร์ เช่น น้ำมนต์ สักยันต์ สวดมนต์แก้กรรม ร่ายมนต์ พิธีแก้บน ทำนายฝัน ดูดวง ดูดาว ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง ดูฮวงจุ้ย ทำนายทายทักให้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาให้หลงมัวเมาในเดรัจฉานวิชา (ดูเพิ่มเติมได้จาก “มหาศีล”)

เดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ทำให้เกิดความโง่ เกิดความมัวเมาหลงผิด เป็นวิชาที่สร้างจากความโง่เพื่อใช้กับคนโง่อีกที คือการแก้กรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเต็มตัว ไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่มีทางที่กรรมจะถูกแก้ไปได้

แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นว่ามีผลสำเร็จในบางคน นั่นเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่ามโนมยอัตตา คือการที่จิตปรุงแต่งบางสิ่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเอง เหมือนกับการสะกดจิต สภาพอาการนั้นเป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ในนามธรรมเช่นสามารถหายป่วยจากโรคเองได้ ซึ่งเป็นเพราะเราไปสั่งจิตให้หายโรคและโรคเหล่านั้นมักจะเป็นโรคทางจิต เช่น ซึมเศร้า ส่วนโรคทางกายภาพนั้นแค่พลังของจิตคงจะทำให้หายทันทีได้ยาก แต่การที่จิตปั้นปรุงแต่งความแข็งแรงก็มีผลเช่นกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของจิตวิญญาณทั่วไป เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปซึ่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็มีผลในเรื่องนี้อยู่ไม่ต้องใช้ไสยศาสตร์ก็สามารถเห็นผลนี้ได้

ในทางรูปธรรม มโนมยอัตตายังสามารถสร้างให้เราเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น เช่นเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นภาพพระพุทธรูป หรือจนกระทั่งทำให้ร่างกายปรุงแต่งท่าทางออกมาเป็นสภาพที่เรียกว่าของขึ้น บังคับตัวเองไม่ได้ ร้องไห้ ร่ายรำ เต้นแร้งเต้นกา เหล่านี้คือสภาพของมโนมยอัตตาที่รุนแรงจนปั้นจิตให้เป็นรูปร่างท่าทางได้ สภาพเหล่านี้คือสภาพที่ไร้สติทั้งสิ้น

การสังเกตวิธีที่ผิดไปจากพุทธหรือหันหัวไปในทิศตรงข้ามสู่การพ้นทุกข์ คือดูว่าสำนักหรือลัทธินั้นทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อสะสมบริวาร เพื่อล่อลวงคนเป็นอันมาก เพื่อลาภ เพื่อความมั่งคั่ง เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อบารมี เพื่อให้มีคนมีบำรุงบำเรอตนเอง ลักษณะที่เป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลสตนเองและผู้อื่นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพราก เพื่อการไม่มี เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อยกล้าจน เพื่อการลดกิเลสแล้วก็ให้พึงพิจารณาไว้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

ทั้งนี้เดรัจฉานวิชาเองก็เป็นวิชาที่ผิดสัมมาอาชีวะอยู่แล้ว เพราะผิดในข้อที่ว่าด้วยการล่อลวงอย่างเต็มๆ หลอกลวงเต็มๆ แถมยังทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมอีก ผิดจากทางพุทธไปไกล ไม่พาให้พ้นทุกข์ แถมยังสร้างสุขลวงและทิ้งทุกข์จริงๆไว้อีก

…เรามีกรรมเป็นของของตน

หลักใหญ่ในเรื่องกรรมข้อแรกว่าด้วย เรามีกรรมเป็นของของตน นั้นหมายถึงกรรมของเรา ใครมายุ่งไม่ได้ คนที่จะไปแก้กรรมให้คนอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ การที่เราจะไปยุ่งกับกรรมของคนอื่นโดยใช้พลังจิต อำนาจต่างๆ หรือไสยศาสตร์ต่างๆนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน การที่จะเกิดผลดีผลร้ายก็เพราะกรรมของเขา ไม่ใช่ว่าเราไปสวดมนต์อ้อนวอนแล้วกรรมของเขาจะเปลี่ยนไปได้ ต่อให้มีคนเป็นล้านมานั่งสวดมนต์ขอพรให้คนคนหนึ่งหายป่วยก็ไม่มีวันที่เขาจะหายป่วยจากการสวดมนต์ของคนล้านคนได้ แต่เพราะเขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองกรรมเขาจึงเปลี่ยน

การที่เราไปรู้กรรมคนอื่น ไปเห็นกรรมของคนอื่นดังที่เจ้าสำนักหลายๆที่อวดอ้างนั้นบางทีก็เป็นมโนมยอัตตา คือจิตปั้นแต่งขึ้นมาเอง มโนไปเอง ส่วนจะถูกต้องหรือไม่ก็ตามบาปกรรมที่ทำไว้ร่วมกัน ถ้ามีวิบากบาปมากก็จะดลให้หลงไปในสิ่งผิดร่วมกัน ถ้าคนมีบุญก็จะทำให้ทายไม่ถูก ไม่ตรง ผิดเพี้ยน ทำให้คนนั้นไม่หลงมัวเมาในสิ่งผิด

ทั้งนี้การเดาใจ หรือการทายใจยังเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามมิให้สาวกกระทำ แม้จะเป็นพลังอิทธิปาฏิหาริย์หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์ที่มีจริงในตน เห็นจริง รู้จริง แต่ก็ห้ามไม่ให้ใช้ เพราะการเดาใจหรือทายใจนั้นเอง หรือการกระทำใดๆโดยใช้อิทธิปาฏิหาริย์ จะทำให้คนไม่สนใจเชื่อในเรื่องกรรม ไม่เข้าใจเรื่องกรรม จะหลงไปเชื่อในบุคคลที่ใช้พลังเหล่านี้แทน ซึ่งไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญการกระทำเช่นนี้

…กรรมตามทัน

เรื่องกรรมนี่จริงๆเราไม่ต้องกลัวหรอก กรรมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าสิ่งดีหรือสิ่งร้ายที่เราทำเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน เมื่อรู้และเข้าใจดังนี้แล้วก็ไม่ต้องกลัวกรรมตามทัน เพราะโดนแน่นอน ยังไงก็หนีไม่พ้น

ถ้าทำกรรมดีมากก็ได้รับดีมาก ถ้าทำกรรมชั่วมากก็ได้รับชั่วมาก ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ยุติธรรมดีอยู่แล้วที่เราจะได้รับสิ่งดีหรือสิ่งชั่วเท่าที่เราทำมา เราไม่มีทางรับดีหรือชั่วได้มากกว่าที่เราทำมา สิ่งที่เราได้รับแม้จะดูเหมือนว่าเราไม่ได้ทำมา แต่นั่นคือผลงานที่เราทำมาเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนจากความดีความชั่วที่เราเคยทำมา

เช่นเราไปซื้ออาหารแล้วมีคนมาแซงคิว เราก็ไม่พอใจ โกรธ โมโห แท้จริงเราก็โมโหความชั่วที่ตัวเองเคยทำมานั่นแหละ แค่ตัวเองได้รับผลกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาก็ไม่เป็นมีอะไร คนที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็จะไปโกรธ โมโหคนอื่น มองว่าคนอื่นผิด ทั้งๆที่ตัวเองนั่นแหละคือคนผิด ตัวเองทำมาทั้งนั้น มันเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าฉันเคยทำตัวเลวร้ายขนาดไหน โดยดึงใครสักคนที่มีวิบากกรรมร่วมกันมาแสดงบทเก่าที่เราเคยเล่นให้เราดูเท่านั้นเอง

สิ่งดีสิ่งร้ายที่เราเห็นในทุกวันนี้คือผลกรรมจากที่เราได้ทำมาทั้งนั้น เป็นกรรมของเรา เป็นของของเรา ไม่ใช่ของใคร ความชั่วความดี ทั้งหมดที่เห็นคือภาพสะท้อนตัวเราทั้งสิ้น กรรมมันตามทันอย่างนี้ มันไล่หลังเราแบบนี้ ส่วนจะหนักจะเบาก็แล้วแต่ใครจะทำมามากมาน้อยต่างกันไป

วิธีที่จะหนีกรรมที่ตามทันก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นกรรมที่ตามมา เพียงแค่ว่าพอจะทำให้ทุกข์น้อยลงได้บ้าง เช่นเรามีกรรมชั่วอยู่สัก 10 ส่วน แต่เรามีกรรมดี 2 ส่วน แบบนี้เราก็ต้องเจอชั่วมากดีน้อย แต่ถ้าเราขยันทำกรรมดีมากๆ กลายเป็นดี 20 ส่วน แบบนี้แม้เราจะได้รับสิ่งชั่วที่เราทำ แต่ก็อาจจะถูกขั้นด้วยความดี ไม่ชั่วต่อเนื่อง ไม่ชั่วนาน ไม่ทุกข์นาน เพราะมีกรรมดีมาช่วยไว้

กรรมนี้ต้องได้รับทั้งหมดนะ ไม่ใช่ว่าไม่รับ แต่เรารับกรรมดีมากกว่า เพราะเราทำดีมากกว่า ส่วนกรรมชั่วรับแล้วก็หมดไป บางคนทำดีมากๆ ได้รับกรรมชั่วไม่นานก็หลุดพ้นจากสภาพนั้นแล้ว เช่นรถเสียแต่ไม่นานก็มีคนมาช่วยไว้ เห็นไหมแบบนี้มันได้รับทั้งกรรมชั่วและกรรมดีมาคานกันไว้ไม่ให้มันชั่วหรือทุกข์หนักจนเกินไป ในเมื่อกรรมชั่วมันตามเราทัน ดังนั้นเราก็ทำดีให้มากเช่นกันเพราะเรารู้ดีว่ากรรมดีมันก็วิ่งตามทันเหมือนกรรมชั่วนั่นเอง

จะดีไหมถ้าเรามีกรรมดีเข้ามาช่วยในยามที่ทุกข์ให้พอหายใจหายคอบ้าง ให้พอพ้นทุกข์ได้บ้าง ถ้าสนใจสร้างกรรมดีก็เรียนรู้กันต่อในบทต่อไป…

…การแก้กรรมอย่างพุทธ

การแก้กรรมอย่างพุทธนั้น หมายถึงการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส การแก้ไขสิ่งที่ผิดไม่ใช่การทำสิ่งที่ผิดให้หายไป แต่เป็นการทำสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก

เช่นเราไปพูดจาไม่ดีกับเพื่อนคนหนึ่ง นี่เราสร้างกรรมชั่วไว้แล้ว เราพูดด้วยกิเลสของเราเพราะเราโมโหเขา ทีนี้พอความโกรธมันสงบลงเราก็สามารถเลือกได้กว้างๆสองอย่าง คือจะอยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราเริ่มจากใจคือพิจารณาดีๆว่าเราไปพูดไม่ดีกับเขาทำไม เพราะเราโกรธใช่ไหม เราโกรธเพราะเราไม่ได้สมใจใช่ไหม เพราะเราเอาแต่ใจใช่ไหม เราผิดที่เราเองเพราะกิเลสเราเอง

ทีนี้พอสำนึกผิดแล้วมันก็มีอีกจุดให้ตัดสินใจคืออยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราก็ไปขอโทษเขา อันนี้เราแก้กรรมได้ส่วนหนึ่ง คือไม่ให้กรรมชั่วเก่ามันดำเนินต่อไป ตัดไฟแต่ต้นลม เป็นการทำกรรมดีใหม่ขึ้นมา

แน่นอนว่ากรรมชั่วที่ไปพูดจาไม่ดีกับเขา เราก็ยังคงต้องรอรับอยู่เช่นกัน แต่เรามีกรรมดีก้อนใหม่ที่เราทำด้วยคือไปขอโทษเขา นี้เราลิขิตกรรมตัวเองได้ เขียนกรรมใหม่ให้ตัวเองได้ แก้กรรมตัวเองได้แบบนี้ เราหยุดให้ไม่ให้มันชั่วไปมากกว่านี้ได้แบบนี้ เราทำดีแล้วก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนเขาจะให้อภัยเราหรือไม่ก็เป็นผลจากการทำชั่วที่เราเคยได้ทำไป เราก็ยินดีรับกรรมนั้น แต่เราก็ไม่ย่อหย่อนที่จะทำกรรมดีเพิ่ม ถึงเขาไม่ให้อภัยเราก็ทำตัวให้ดี อย่าให้เกิดเรื่องไม่ดีอีก พยายามไม่ให้เราไปทำบาปกับใครอีก

แต่การแก้กรรมโดยการทำดีกลบความชั่วนี่มันไม่มีทางหมดหรอก แล้วก็ยังไม่ใช่วิธีการหลักของพุทธอีกด้วย ถือว่าเป็นวิธีการทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากและกระทำกันโดยทั่วไป สำหรับการทำดีเพื่อละลายความชั่วนั้น กว่าเราจะเป็นคนดี กว่าจะเห็นชั่วก็ผ่านมาตั้งกี่ปี ความชั่วที่เราทำก่อนที่จะรู้ตัวว่าเราเป็นคนนิสัยไม่ดีมันสะสมมาตั้งเท่าไร แล้วความดีที่จะทำต่อไปก็ยังไม่ใช่ความดีที่แท้หรือเป็นความดีที่บริสุทธิ์เสียอีก ดังนั้นการจะหวังใช้กรรมให้มันหมดๆไป นี่มันไม่วันเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าท่านทำดีขนาดไม่มีใครเปรียบได้ก็ยังคงมีกรรมตามทันให้เห็นอยู่

ดังนั้นการทำดีกลบความชั่วจึงไม่ใช่หลักใหญ่ของพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างบาปกรรมไปเรื่อยๆตราบชั่วนิรันดร์ ก็คือต้องทำดีทำชั่วสับกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น พอเราทำดีมากๆ ชีวิตเราดีเราก็ประมาทจนไปทำชั่ว พอเราทำชั่วมากๆ เราก็ทุกข์ทนมานจนไปทำดี มันก็วนอยู่ในโลกแบบนี้ตลอดกาล

สุดท้ายวิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดก็คือการล้างกิเลส การทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยง เพราะกิเลสคือเหตุแห่งทุกข์ คือต้นตอที่ผลักดันให้เราไปสร้างกรรมชั่วต่างๆ ถ้าเราล้างกิเลสใดได้ ก็ปิดประตูนรกในเรื่องนั้นๆไปได้เลย ดับกิเลสเรื่องนั้นไปก็ไม่ต้องสร้างกรรมจากกิเลสในเรื่องนั้นอีก

แต่ถึงการล้างกิเลสจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงทางเลือกนี้ได้ง่าย ใครกันจะยอมล้างกิเลสที่ตนเองหวงสุดหวง รักสุดรัก ใครจะยอมปล่อยสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ สิ่งที่หวงแหนลงได้ วิถีทางแก้กรรมอย่างพุทธจึงเป็นทางที่ทรมานกิเลสอย่างที่สุด ต้องเผชิญกับทุกข์สุดทุกข์จากอาการลงแดงของกิเลส ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องพยายามเลิกยาเสพติด

และไม่ได้หมายความว่าถ้าเรายินดีจะล้างกิเลสแล้วเราจะสามารถทำได้เอง การล้างกิเลสไปจนถึงการดับกิเลสมีวิธีขั้นตอนที่ซับซ้อนและละเอียดลออ ดังจะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้แทบจะหาคนที่พูดถึงเรื่องล้างกิเลสกันไม่ได้ จึงพูดได้แค่เรื่องทำดีให้มาก ทำชั่วให้น้อย แต่ไม่ได้สอนวิธีที่ทำให้จิตใจผ่องใสจากกิเลส มีสอนกันอย่างมากก็แค่สมถะวิธีกดข่มความคิด ตบความคิด ดีดความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะความคิดของตัวเองก็เท่านั้น

เมื่อไม่มีใครสอนวิธีการดับทุกข์ที่เหตุ หรือการล้างกิเลส ก็ไม่มีใครสามารถเข้าถึงสภาพที่ทุกข์ดับได้อย่างแท้จริง เมื่อทุกข์ดับไม่ได้ ไสยศาสตร์ เวทมนต์ เดรัจฉานวิชาต่างๆก็จะสามารถเข้ามาแทรกได้โดยง่าย เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ปัญญา ไม่ต้องใช้ความเพียร ไม่ต้องลำบาก เพียงแค่ใช้ศรัทธาและกำลังทรัพย์ก็สามารถแก้กรรมด้วยเดรัจฉานวิชาตามที่เขาอวดอ้างได้แล้ว

ซึ่งเหตุนี้เองจึงมีการเข้าใจเรื่องแก้กรรมกันผิด เพราะเหตุจากความเสื่อมของคน ในยุคที่ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ถูกสั่งสอนอย่างถูกตรง ในยุคที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ในยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส เมื่อศีลธรรมเสื่อมไปจากคน คนก็จึงเสื่อมไปจากศาสนา ปัญญาก็เลยเสื่อมไปจากคน ความเป็นพุทธแท้ๆจึงเสื่อมไปจากคน ความเสื่อมทั้งหลายจึงเกิดด้วยประการเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

23.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์