Tag: การสละกิเลส

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

July 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,738 views 1

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา

เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…

(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)

หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ

แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา

ความดีที่เห็นและที่เป็น

หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย

แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว

ความชั่วที่เห็น

หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา

ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก

ความจริงที่ปรากฏ

การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน

แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก

ความจริงตามความเป็นจริง

หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่

ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,142 views 0

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

การทำบุญที่หลายคนเข้าใจกันนั้นคือการทำบุญตักบาตร ไปวัด ทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา ทำทานช่วยเหลือวัดและพระด้วยปัจจัยต่างๆ นั่นคือการทำบุญแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการทำบุญนั้นมีมิติที่หลากหลายและละเอียดอ่อนกว่าที่เห็นและเป็นอยู่มาก

คำว่า “บุญ” คือการสละกิเลส ลดกิเลส ทำลายกิเลส กิจกรรมใดๆ ที่ทำให้กิเลสน้อยลง ไม่ว่าจะโลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง ทำให้ความอยากเสพอยากได้อยากมีในสิ่งใดๆลดลงได้ ก็ถือว่าเป็นการทำบุญ และการทำบุญที่ดีที่สุดนั้นคือการทำที่ตัวเอง คือทำตัวเองให้เป็นเนื้อนาบุญ ลดกิเลสที่ตัวเอง ทำให้เกิดสภาพที่กิเลสนั้นหายและตายไปจากจิตของตัวเองไป นั่นคือสภาพที่สุดของบุญ ซึ่งสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้น การทำบุญที่ดีที่สุดก็คือการทำที่จิตใจตัวเองนั่นเอง

การกินมังสวิรัตินั้น สำหรับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ แต่สามารถพยายามฝืน ต้านกิเลส กดข่ม พิจารณาโทษของกิเลส ให้ความอยากเสพนั้นจางคลายลงไปได้ ก็ถือว่าเป็นบุญที่ทำได้ในทุกโอกาสที่เราจะหยิบเนื้อสัตว์เข้าปาก เป็นการลดความอยากเสพ ลดกิเลสที่เคยมี สำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปเสพเนื้อสัตว์ ไม่ให้เกิดการเบียดเบียน ไม่ให้กิเลสให้กำเริบมากไป การกินมังสวิรัตินี้ก็ถือว่าเป็นบุญ ซึ่งทำได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้งตามมื้ออาหาร หรือตามจำนวนครั้งที่หักห้ามใจไม่ไปเสพได้

ถ้าการไม่ไปเสพเนื้อสัตว์คือ “บุญ” ดังนั้น การไปเสพเนื้อสัตว์ก็เป็น “บาป” เพราะคนที่ตั้งใจไว้ว่าตนเองจะละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หากบกพร่องไปจากศีลหรือตบะที่ตนตั้ง พลั้งเผลอใจ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มกิเลส ยอมให้กับกิเลส บาปนั้นคือการสั่งสมกิเลส ตามใจกิเลส เพิ่มพูนกิเลส

สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติอาจจะสงสัยว่าตัวเองบาปไหม? บาปแน่นอน เพราะทุกวันมีแต่การสั่งสมกิเลส เสพตามใจกิเลส ไม่เคยคิดค้านแย้งกับกิเลส ไม่มีโอกาสที่จะเกิดบุญเลย ต่างจากคนที่ถือศีล ตั้งตบะจะกินมังสวิรัติ เขาเหล่านั้นก็จะเกิดบุญบ้าง บาปบ้าง ตามกำลังที่แต่ละคนมี ไม่ใช่บาปอย่างเดียวอย่างที่คนทั่วไปเป็น

แต่บางครั้งเราอาจจะต้องยอมเลือกที่จะบาปบ้างเพื่อไม่ให้เกิดบาปที่มากกว่าเช่น ในกรณีคนที่มีกิเลสมาก ถ้าจะให้อดเนื้อสัตว์ในระยะเวลานานๆเขาจะไม่สามารถทำได้ หรืออดเนื้อสัตว์ในงานเลี้ยง เทศกาล วันสำคัญต่างๆ เขาจะทรมานมาก ความทรมานที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเองเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในการกินมังสวิรัติมากไปจนจิตใจทรมาน เพราะการลดเนื้อสัตว์ในระดับนั้นไม่อยู่ในฐานะที่เราจะกระทำได้ไหว จิตใจเรายังไม่เข้มแข็งพอ ก็ให้ลดความยึดดี ถือดีออกไปบ้างและกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างให้หายจากความทรมานจากการอด ซึ่งเป็นลักษณะการปฏิบัติธรรมที่ไม่เคร่งจนเครียด

เราจำเป็นต้องยอมรับว่าการกำจัดกิเลสที่สุดแสนจะหนานั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่คิดเอา บางคนดูเหมือนจิตใจแข็งแกร่ง แต่พอต้องมากินมังสวิรัติกลับไม่สามารถทำได้ แม้ว่าเขานั้นจะเห็นประโยชน์ของมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์แล้ว แต่กิเลสที่หนาของเขานั้นไม่ยอมให้เขาได้หลุดพ้นจากนรกเนื้อสัตว์ได้โดยง่ายนัก

การลดกิเลส หรือการทำบุญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาได้ หวังเอาได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเพียรพยายามทำอย่างตั้งมั่น สำหรับการกินมังสวิรัติก็คือการตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะพลาดพลั้งก็รีบตั้งตบะสู้ใหม่ ไม่จมอยู่กับความสุขที่ได้ลิ้มรสเนื้อสัตว์นาน พร้อมกับพิจารณาคุณและโทษไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำบุญ โดยที่ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องบริจาคเงิน ไม่ต้องลำบากเสาะหาพระดัง วัดดังใดๆ แต่เป็นการทำบุญที่ใจ ยอมปล่อยให้กิเลส ออกไปจากจิตใจของเรา ไม่ยึดกิเลสไว้เป็นตัวเราของเรา เป็นบุญที่พึงกระทำได้ทุกวัน จนกระทั่งวันสุดท้าย ที่เรียกว่าหมดบุญหมดบาป คือกำจัดกิเลสเนื้อสัตว์หมดแล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญอีก เพราะไม่มีกิเลสเกี่ยวกับความอยากกินเนื้อสัตว์เหลือให้กำจัด หมดบาปก็เพราะไม่มีการสั่งสมกิเลสอีก เพราะมีปัญญาเห็นโทษจากการเสพเนื้อสัตว์อย่างเต็มรอบ จึงไม่มีวันที่จะเห็นดีเห็นงามกับการกินเนื้อสัตว์อีกต่อไป

หากพุทธศาสนิกชน เข้าใจแก่นแท้ของการทำบุญ คือการกระทำใดๆ เพื่อเป็นไปซึ่งการลดกิเลสแล้ว สังคมจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก เพราะมีแต่คนที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดความกลัว ลดความเห็นแก่ตัว ลดการเก็บสะสม ลดความหลงในกิเลส เมื่อมีแต่คนที่พากันลดกิเลส สังคมก็จะเติบโตไปในทางดีงาม ไม่ไปในทางเสื่อม ไม่พากันหลงมัวเมาด้วย อบายมุข กาม ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขลวงๆ อีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

29.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์