Tag: การกำจัดกิเลส

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,143 views 0

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

การทำบุญที่หลายคนเข้าใจกันนั้นคือการทำบุญตักบาตร ไปวัด ทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา ทำทานช่วยเหลือวัดและพระด้วยปัจจัยต่างๆ นั่นคือการทำบุญแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการทำบุญนั้นมีมิติที่หลากหลายและละเอียดอ่อนกว่าที่เห็นและเป็นอยู่มาก

คำว่า “บุญ” คือการสละกิเลส ลดกิเลส ทำลายกิเลส กิจกรรมใดๆ ที่ทำให้กิเลสน้อยลง ไม่ว่าจะโลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง ทำให้ความอยากเสพอยากได้อยากมีในสิ่งใดๆลดลงได้ ก็ถือว่าเป็นการทำบุญ และการทำบุญที่ดีที่สุดนั้นคือการทำที่ตัวเอง คือทำตัวเองให้เป็นเนื้อนาบุญ ลดกิเลสที่ตัวเอง ทำให้เกิดสภาพที่กิเลสนั้นหายและตายไปจากจิตของตัวเองไป นั่นคือสภาพที่สุดของบุญ ซึ่งสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้น การทำบุญที่ดีที่สุดก็คือการทำที่จิตใจตัวเองนั่นเอง

การกินมังสวิรัตินั้น สำหรับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ แต่สามารถพยายามฝืน ต้านกิเลส กดข่ม พิจารณาโทษของกิเลส ให้ความอยากเสพนั้นจางคลายลงไปได้ ก็ถือว่าเป็นบุญที่ทำได้ในทุกโอกาสที่เราจะหยิบเนื้อสัตว์เข้าปาก เป็นการลดความอยากเสพ ลดกิเลสที่เคยมี สำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปเสพเนื้อสัตว์ ไม่ให้เกิดการเบียดเบียน ไม่ให้กิเลสให้กำเริบมากไป การกินมังสวิรัตินี้ก็ถือว่าเป็นบุญ ซึ่งทำได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้งตามมื้ออาหาร หรือตามจำนวนครั้งที่หักห้ามใจไม่ไปเสพได้

ถ้าการไม่ไปเสพเนื้อสัตว์คือ “บุญ” ดังนั้น การไปเสพเนื้อสัตว์ก็เป็น “บาป” เพราะคนที่ตั้งใจไว้ว่าตนเองจะละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หากบกพร่องไปจากศีลหรือตบะที่ตนตั้ง พลั้งเผลอใจ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มกิเลส ยอมให้กับกิเลส บาปนั้นคือการสั่งสมกิเลส ตามใจกิเลส เพิ่มพูนกิเลส

สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติอาจจะสงสัยว่าตัวเองบาปไหม? บาปแน่นอน เพราะทุกวันมีแต่การสั่งสมกิเลส เสพตามใจกิเลส ไม่เคยคิดค้านแย้งกับกิเลส ไม่มีโอกาสที่จะเกิดบุญเลย ต่างจากคนที่ถือศีล ตั้งตบะจะกินมังสวิรัติ เขาเหล่านั้นก็จะเกิดบุญบ้าง บาปบ้าง ตามกำลังที่แต่ละคนมี ไม่ใช่บาปอย่างเดียวอย่างที่คนทั่วไปเป็น

แต่บางครั้งเราอาจจะต้องยอมเลือกที่จะบาปบ้างเพื่อไม่ให้เกิดบาปที่มากกว่าเช่น ในกรณีคนที่มีกิเลสมาก ถ้าจะให้อดเนื้อสัตว์ในระยะเวลานานๆเขาจะไม่สามารถทำได้ หรืออดเนื้อสัตว์ในงานเลี้ยง เทศกาล วันสำคัญต่างๆ เขาจะทรมานมาก ความทรมานที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเองเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในการกินมังสวิรัติมากไปจนจิตใจทรมาน เพราะการลดเนื้อสัตว์ในระดับนั้นไม่อยู่ในฐานะที่เราจะกระทำได้ไหว จิตใจเรายังไม่เข้มแข็งพอ ก็ให้ลดความยึดดี ถือดีออกไปบ้างและกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างให้หายจากความทรมานจากการอด ซึ่งเป็นลักษณะการปฏิบัติธรรมที่ไม่เคร่งจนเครียด

เราจำเป็นต้องยอมรับว่าการกำจัดกิเลสที่สุดแสนจะหนานั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่คิดเอา บางคนดูเหมือนจิตใจแข็งแกร่ง แต่พอต้องมากินมังสวิรัติกลับไม่สามารถทำได้ แม้ว่าเขานั้นจะเห็นประโยชน์ของมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์แล้ว แต่กิเลสที่หนาของเขานั้นไม่ยอมให้เขาได้หลุดพ้นจากนรกเนื้อสัตว์ได้โดยง่ายนัก

การลดกิเลส หรือการทำบุญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาได้ หวังเอาได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเพียรพยายามทำอย่างตั้งมั่น สำหรับการกินมังสวิรัติก็คือการตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะพลาดพลั้งก็รีบตั้งตบะสู้ใหม่ ไม่จมอยู่กับความสุขที่ได้ลิ้มรสเนื้อสัตว์นาน พร้อมกับพิจารณาคุณและโทษไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำบุญ โดยที่ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องบริจาคเงิน ไม่ต้องลำบากเสาะหาพระดัง วัดดังใดๆ แต่เป็นการทำบุญที่ใจ ยอมปล่อยให้กิเลส ออกไปจากจิตใจของเรา ไม่ยึดกิเลสไว้เป็นตัวเราของเรา เป็นบุญที่พึงกระทำได้ทุกวัน จนกระทั่งวันสุดท้าย ที่เรียกว่าหมดบุญหมดบาป คือกำจัดกิเลสเนื้อสัตว์หมดแล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญอีก เพราะไม่มีกิเลสเกี่ยวกับความอยากกินเนื้อสัตว์เหลือให้กำจัด หมดบาปก็เพราะไม่มีการสั่งสมกิเลสอีก เพราะมีปัญญาเห็นโทษจากการเสพเนื้อสัตว์อย่างเต็มรอบ จึงไม่มีวันที่จะเห็นดีเห็นงามกับการกินเนื้อสัตว์อีกต่อไป

หากพุทธศาสนิกชน เข้าใจแก่นแท้ของการทำบุญ คือการกระทำใดๆ เพื่อเป็นไปซึ่งการลดกิเลสแล้ว สังคมจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก เพราะมีแต่คนที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดความกลัว ลดความเห็นแก่ตัว ลดการเก็บสะสม ลดความหลงในกิเลส เมื่อมีแต่คนที่พากันลดกิเลส สังคมก็จะเติบโตไปในทางดีงาม ไม่ไปในทางเสื่อม ไม่พากันหลงมัวเมาด้วย อบายมุข กาม ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขลวงๆ อีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

29.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

October 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,262 views 0

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

การกินมังสวิรัติในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนกินมังสวิรัติมักจะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ แต่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก บ้างก็กินเพื่อสุขภาพ บ้างก็กินเพราะประหยัด บ้างก็กินเพื่อภาพลักษณ์ บ้างก็กินเพราะยึดมั่นถือมั่น บ้างก็กินเพื่อลดกรรม บ้างก็กินเพราะเมตตา บ้างก็กินเพราะลดกิเลสฯลฯ

ผมได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาในเฟสบุ๊ค โดยมีชื่อกลุ่มว่า Buddhism Vegetarian โดยให้มีชื่อไทยว่า “มังสวิรัติวิถีพุทธ

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติมันเป็นพุทธอย่างไร แล้วกินแบบไหนจึงจะเป็นวิถีพุทธ แล้วถ้ามังสวิรัติเป็นวิถีพุทธจริง ทำไมยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย…

มังสวิรัติวิถีพุทธ ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาและหมายถึงนั้น คือการปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติ โดยใช้วิถีทางของพุทธ คือ วิธีการทั้งหมดเป็นไปเพื่อลดกิเลส เพื่อดับกิเลส คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นแนวทาง โดยมีสภาพหมดกิเลส หมดความอยากเสพเนื้อสัตว์ หมดความถือดี ยึดดี หลงตนเองว่าดีเหนือใครนั้นลงได้ ทั้งหมดนั้นคือการทำลาย กามและอัตตานั่นเอง

ซึ่งวิธีปฏิบัติที่จะนำมาใช้ก็เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสอนไว้แล้วตั้งแต่ 2600 กว่าปีก่อน ไม่ใช่วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่นำมาใช้กับกิเลสตัวหนึ่ง คือความอยากเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้นกลุ่มจึงพุ่งเป้าไปที่การกำจัดกิเลสตัวนี้ เพราะเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าใจกระบวนการล้างกิเลส จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในกิเลสตัวอื่นๆที่ตนเองยังยึดมั่นถือมั่นต่อได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพื่อการเริ่มต้น สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ต้องทำอย่างไร การกำจัดกิเลสต้องทำอย่างไร สภาพที่พ้นจากกิเลสจะเป็นอย่างไร เราจะมาร่วมแบ่งปันวิธีการที่ได้ปฏิบัติมาไม่ว่าจะถูกทางหรือผิดทางก็จะช่วยแนะนำและชี้แจง แถลงไขให้ตรงกับเป้าหมายของกลุ่มคือการกินมังสวิรัติโดยใช้วิถีของพุทธเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก

เหตุผลหนึ่งที่ต้องชี้ให้ชัดว่าเป็นวิถีพุทธนั้น เพราะการกินมังสวิรัติได้ ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสได้ หรือการที่กินมังสวิรัติเป็น ทำอาหารมังสวิรัติเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสเป็นเช่นกัน

คนที่กินมังสวิรัติได้นั้น อาจจะลดกิเลสได้จริง หรือลดไม่ได้ก็ได้ ซึ่งโดยส่วนมากก็จะเป็นสภาพที่กดข่มความอยากเอาไว้ ส่วนการทำลายความอยาก หรือล้างกิเลสนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามวิถีพุทธเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทำได้

การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะได้พบกับนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นผู้ทรงศีล มีสัตว์กินพืชมากมายเช่น วัว ควาย มันก็กินหญ้าทั้งชีวิต ไม่กินเนื้อเลย แต่มันก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร เช่นเดียวกัน ถ้าเรากินมังสวิรัติแบบไม่มีปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์กินพืชอื่นๆ

การเลือกกินมังสวิรัตินั้น เราต้องฝืน ต้องอดทนต่อกิเลส ที่สังคมมักจะบอกว่าเราเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงแค่สัตว์ที่กินตามกิเลสเท่านั้น วัว ควาย กินหญ้าเพราะมันจำเป็นต้องกิน แต่เรากินเนื้อสัตว์มากมายโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็นต้องกิน คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่พึงพิจารณาเอาเองว่าตนนั้นอยู่ในระดับไหน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติได้ เพราะกิเลสจะรั้งเราไว้ไม่ให้เราทำในสิ่งที่ดี กิเลสมักจะดึงดูดสิ่งที่ชั่วเข้าหาตัว แม้จะมีคนบอกว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเบียดเบียน แต่คนผู้มากด้วยกิเลสก็มักจะพยายามหาข้ออ้างมาให้ตนได้กินเนื้อสัตว์ได้อยู่ดี นี่คือพลังของกิเลสที่บดบังปัญญาของคน ทำให้คนไม่เอาดี ไม่เอาในสิ่งที่ดี

ถึงแม้ผู้มีปัญญาจะรู้คุณค่าในการกินมังสวิรัติและรู้โทษชั่วจากการกินเนื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติได้อย่างทันที ไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ทั้งหมดออกจากชีวิตได้อย่างทันที เพราะแรงของกิเลสนั้นผูกไว้มาก คนที่ผูกกิเลส สะสมกิเลสไว้มากก็จะแก้ยาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องทุกข์ทรมานมากหากต้องเลิกเนื้อสัตว์ในทันที ส่วนคนที่มีกิเลสน้อย หรือเคยล้างกิเลสมาก่อนแล้ว ก็จะแก้ได้ง่าย เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ง่าย

การกินมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น เป้าหมายคือดับความอยากจนสิ้นเกลี้ยงตามลำดับของกิเลสที่มี ใครที่ติดเนื้อสัตว์ใดมากก็เสพไปก่อน ใครที่พอลดได้ก็ลองลดดู ใครที่พอละได้บ้างในช่วงเวลาหนึ่งก็ลองละดู ใครที่คิดว่าละแล้วยังปกติดี มีความสุขดีก็ให้เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นไปเลย

แต่การกินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ได้ยาวนานนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถล้างกิเลสได้ ทั้งหมดที่ทำมาอาจจะเป็นเพียงการกดข่มกิเลสเท่านั้น วิธีทดสอบก็คือการกลับเข้าไปทดลองกินอีกครั้ง ถ้ากิเลสลดจริงๆ จะไม่รู้สึกสุขเหมือนอย่างเคย ดีไม่ดีจะทุกข์ด้วยซ้ำไป อาจจะทุกข์ด้วยอัตตา ทุกข์ด้วยความเข้าใจในกรรม หรือทุกข์ด้วยความยากลำบากในการกินเนื้อสัตว์นั้นก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ถ้าผ่านแล้วจะไม่มีความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจในการกินเนื้อสัตว์นั้นอีกต่อไป

…เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า การกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนาสอดคล้องไปด้วย เพื่อดับความอยากให้สิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่กดข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น แต่ต้องดับกิเลสให้สนิทเพื่อความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในชาตินี้ ชาติต่อไป และชาติอื่นๆสืบไป เป็นการเรียนรู้การกินมังสวิรัติข้ามภพข้ามชาติ เป็นนักมังสวิรัติตลอดกาลนับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของจิตดวงนี้ เพื่อประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เป็นไปด้วยความผาสุก

– – – – – – – – – – – – – – –

27.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์