Tag: เคหสิตเวทนา

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,377 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,319 views 0

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

การตรวจสอบระดับที่ 3 ที่จะกระทุ้งให้เห็นกิเลสอย่างเด่นชัด แบบชัดแจ้งอยู่ในใจกันเลยทีเดียว การจะมาถึงระดับนี้ได้เราจำเป็นต้องผ่านในระดับ 1 และ 2 ด้วยใจที่โปร่งโล่งสบายมาก่อน หากอ่านและทดสอบตัวเองในระดับ 1,2 แล้ว ยังมีอาการขุ่นเคืองใจไม่ว่าจากกามหรืออัตตา ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน

การที่เรายังไม่ผ่านด่านง่ายแล้วจะกระโดดมาเล่นด่านยากนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับกิเลสแล้วยังจะโดนกิเลสเล่นงานซ้ำอีก เพราะในด่านนี้ก็จะเข้าไปคลุกวงในกับกิเลสมากขึ้น เข้าไปใกล้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าหลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้

สติปัฏฐานยังคงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากสำหรับการตรวจจับสภาวะของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใครที่มาถึงขั้นตอนนี้แบบกดข่มก็จะยิ่งเป็นภัยกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมะนั้นเหมือนดาบสองคมยิ่งลึกก็จะยิ่งเข้าใจยาก พอไม่สามารถเข้าใจได้ก็อาจจะเกิดการเพ่งโทษกันเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเพราะเราไม่เข้าใจนัยสำคัญของธรรมนั้นต่างหาก

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ถ้ายังไม่ผ่านบททดสอบใจตัวเองในระดับที่ 1 , 2 ก็ไม่ควรจะอ่านบทความนี้ต่อ เพราะบทความนี้จะเป็นภัยมากถึงมากที่สุดต่อผู้ที่ยังไม่สามารถจัดการกับกิเลสได้

อีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการกินมังสวิรัติ บทความนี้อาจจะไม่เหมาะกับท่านเลย หากท่านต้องการให้บทความนี้สอนกินมังสวิรัติ เนื้อหาเหล่านั้นไม่มีอยู่ในบทความนี้ เพราะในบทความนี้เราจะสอนเฉพาะเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลส ซึ่งอาจจะไม่มีประโยชน์กับท่านที่ไม่ได้แสวงหาหนทางลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่น

การทดสอบต่อไปนี้ทำเพื่อตรวจสอบให้เห็นว่ายังคงมีกิเลสเหลืออยู่ในจิตใจเท่านั้นไม่ใช่การกระทำที่ทำโดยทั่วไป ไม่ใช่ทำเป็นประจำ แต่กระทำเฉพาะผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าตนเองนั้นไม่ได้มีความอยากในเนื้อสัตว์จริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างแท้จริงแบบไม่ต้องคิดเอาเอง จินตนาการไปเอง เพราะทดสอบกันอยู่ตรงหน้า ถ้ากามและอัตตายังเกิดอยู่ก็ไปพิจารณาธรรมใหม่ แต่ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นรู้สึกเฉยๆก็จบกันไป

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมใจ

ในการกินที่ร่วมไปกับใจนั้นเป็นคำที่ยกมาเพื่อเปรียบเทียบกับการกินที่ใกล้ใจมากที่สุด เมื่อเรามั่นใจว่าเรารู้สึกว่าไม่อยากกินเนื้อสัตว์อย่างเต็มที่แล้ว จะมีอะไรมาทดสอบใจเราได้ดีเท่ากับ “การทดลองกิน” เมนูที่ชอบ สิ่งที่เคยติดในอดีต หรือสิ่งที่เคยฝันไว้ ที่เขาว่าดีว่าเลิศคือสิ่งไหน ถ้ามีโอกาส มีทุน มีปัจจัยที่เหมาะสม ก็ทดลองดูเลย ไม่ใช่สิ่งเสียหายที่เราจะลองทดสอบ

จะลองเคี้ยวให้ละเอียดสุดละเอียด สูดดมทุกกลิ่นที่มี สัมผัสทุกคำที่เคี้ยว ลิ้มรสทุกอย่างที่มีแล้วก็คายทิ้งไปก็ได้ เพียงแค่ได้สัมผัสสิ่งที่เคยยึด เคยติด เคยเป็นตัวเป็นตนของเรา เราสามารถจะรับมันเข้ามาและปล่อยมันทิ้งอย่างสบายใจได้หรือไม่ ทำโดยไม่ฝืน ไม่ลำบาก ให้รู้ดีในใจว่าจะทำอีกกี่ครั้งผลก็เหมือนเดิม ยังเฉยๆอยู่เหมือนเดิม ก็ถือว่าผ่านบททดสอบนี้

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

เมื่อเราได้ลองกินเนื้อไป หากเรายังไม่ผ่านพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ อาการจะออกตั้งแต่ก่อนจะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากอย่างรู้สึกได้ ให้ค่อยๆสังเกตตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคิดว่าไม่ไหวรู้ดีว่าในใจนั้นอยากกินก็ไม่ต้องไปกินให้เสียเวลา เพราะมันเห็นกิเลสชัดๆอยู่แล้ว ถือว่าสอบตกตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ส่วนผู้ที่ยังเฉยๆจนกระทั่งกินเข้าปากไปแล้วเคี้ยว ก่อนกินก็ไม่รู้สึกอะไรนะ แต่พอเคี้ยวกลับมีความสุข จะเริ่มเสียดายที่ต้องทิ้ง เสียดายรส อยากจะกลืนลงคอ อยากกินอีกคำ อยากกินอีกเรื่อยๆ แม้ว่าจะคายทิ้งไม่กลืนแต่ความอยากจะยังคงอยู่ มันจะหลอกหลอนให้จิตวนเวียนกลับไปคิดถึงเมนูเนื้อจานนั้น ไม่สามารถตัดให้ขาดไปจากใจได้

ความสุขนี่แหละคือตัววัดว่ายังเหลือความอยากอยู่เท่าไหร่ ถ้ารู้สึกสุขก็คือกามขึ้น ถ้าทุกข์ก็คืออัตตาขึ้น มันจะมีอยู่สองอย่างที่มักจะเกิดขึ้น ในกรณีที่ไม่เกิดทั้งสองอย่างก็คือภาวะของอุเบกขา คือเฉยๆ ในกรณีนี้ต้องมาตรวจกันอีกทีว่าเป็นอุเบกขาแบบเคหสิตเวทนา หรือเนกขัมมเวทนา ถ้าให้คนทั่วไปมากินก็อาจจะรู้สึกเฉยๆได้ เพราะตรวจใจตัวเองไม่เป็น รับรู้ความรู้สึกไม่ได้ ปากก็บอกว่าเฉยๆ แต่ในใจก็รู้สึกสุขอยู่เล็กๆ เช่นในกรณีที่เรากินจนอิ่มแล้ว ให้ของที่เราชอบมากินต่อเราก็ไม่อยากกิน เฉยๆ แบบนี้มันคือความเฉยๆแบบชาวบ้าน ไม่ใช่การบรรลุธรรมหรือพ้นความอยากอะไรเลย

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

เราสามารถเห็นอัตตาได้ตั้งแต่ยังไม่กินเนื้อสัตว์นั้นๆ คือจะมีความรังเกียจถ้าจะต้องกลับไปกิน แม้ใครจะบอกให้ลองกลับไปกินก็จะไม่ยินดีทดลองเพราะทั้งรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจการกินเนื้อสัตว์ และรังเกียจการที่ตัวเองจะได้ชื่อว่าเป็นมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์ใจตั้งแต่เริ่มคิด อันนี้ก็เป็นลักษณะของอัตตา

ความยึดมั่นถือมั่นยังเกิดได้ในระหว่างกินและหลังกิน แม้ว่าจะทำเพียงแค่เคี้ยวแต่ไม่กลืน แต่จะรู้สึกขยะแขยง ขุ่นใจ กระวนกระวายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ให้ลองอีกก็ไม่อยากลอง หรือถ้าอัตตาแรงจัดๆก็จะรังเกียจวิธีนี้ไปเลย

ในบางครั้งอัตตาคือตัวบังไม่ให้เห็นกามคือเรามีอัตตามากจนไปกดข่มกาม ไปกลบกามไว้ จริงๆเราอาจจะรู้สึกสุขที่ได้กินได้เคี้ยวนะ แต่ความยึดดีมันไม่ยอม มันจะสร้างเหตุผลขึ้นมาทันทีที่เรารู้สึกสุข ตบความสุขทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าไม่มีสติไม่รู้รับกิเลสตามความเป็นจริง การมีอัตตามากๆจะบังทุกสิ่งทุกอย่างและกลบมันไว้ภายใต้ภาพของคนดีเหมือนการกวาดฝุ่นเข้าไปซุกในพรม แน่นอนว่าในเวลาปกติเราจะไม่เห็นฝุ่นนั้น แต่ถ้าเปิดพรมออกมาก็คงจะฝุ่นคลุ้งกันเลยทีเดียว

อัตตาก็เหมือนกับพรมที่สามารถเอากามเข้าไปซุกข้างในได้อย่างแนบเนียน เราสามารถซ่อนความอยากไว้ในความยึดดีได้ ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะเด่นของสมถะวิธี เป็นวิธีของฤๅษี ที่ใช้การกดข่มเข้าไปในภพ ใช้อัตตามากดกาม ไม่ให้กามได้แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีนี้จะทำให้การตรวจสอบความอยากทั้งหมดที่ทำมาไร้ประโยชน์ในทันที

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในการตรวจสอบนี้จะได้ผลที่ค่อนข้างชัดว่าเรายังอยากกินอยู่หรือไม่ เรายังมีอัตตามากอยู่หรือไม่ ผู้ที่เรียนรู้กิเลสต้องทำลายกามไปพร้อมๆกับอัตตา ถ้าถามว่าทำลายกามหรือความอยากกินทั้งหมดก่อนแล้วค่อยมาทำลายอัตตาได้ไหมก็ต้องตอบว่าได้ แต่มันไม่ง่ายที่จะมาทำลายอัตตาทั้งหมดตอนท้าย ถ้าเราไม่ทยอยล้างตั้งแต่แรก อัตตานี่แหละจะเป็นตัวกั้นไม่ให้เราล้างอัตตา มันจะยึดดีถือดี ไม่ยอมให้เราทำอะไรกับมันง่ายๆ ใครมาสอนก็ไม่ฟัง ใครมาบอกก็ไม่เชื่อ เชื่อแต่ตัวเองเท่านั้น ฉันทำได้ ฉันเก่งที่สุด ฉันกินมังสวิรัติมาแล้วกว่า … ปี มันจะมีข้ออ้างและเหตุผลมากมายที่จะไม่ล้างอัตตา

ก็เหมือนกันกับคนที่ติดเนื้อสัตว์นั่นแหละ มันจะมีเหตุผลและข้ออ้างมากมายที่จะไม่ออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่อัตตาจะต่างออกไปเพราะมีความยากมากกว่า นั่นเพราะโดยรวมมันอยู่ฝั่งดี เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ถ้าสังเกตให้ดีคนที่มีอัตตามากๆจะก็จะไปเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ มักจะทำให้เกิดบรรยากาศที่กดดัน อึดอัด เพราะความยึดดีถือดีนั่นเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงทบทวนตนเองอยู่เสมอว่าเรานั้นอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เรากำลังทำตัวใหญ่คับฟ้าหรือไม่ เพียงแค่กินมังสวิรัติได้เราถึงกับยกหางตัวเองว่าเป็นคนดีแล้วอย่างนั้นหรือ มีคนดีอีกมากมายที่เสียสละเพื่อสังคมและโลกแต่เขาไม่ได้กินมังสวิรัติและเขาก็ไม่เคยอวดตนว่าเขาเป็นคนดี แล้วเราทำดีได้เพียงเล็กน้อยยังกล้าอวดแบบนี้มันก็เหมือนที่เขาว่าแมงป่องมีพิษน้อยแต่อวดโอ้ชูหาง ส่วนงูมีพิษมากแต่ไม่แสดงออกง่ายๆ

อัตตาก็เช่นกัน จะทำให้เราภูมิใจในความดีอยู่ลึกๆ ถ้าใครชมก็จะฟูใจตาม แต่ถ้าใครด่าก็จะร้อนรน จากสภาพของเทวดาตกไปเป็นเดรัจฉานทันที คนดีที่ไม่ล้างอัตตาก็มีแต่จะเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ก็เป็นเรื่องยากสุดยากที่จะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครเล่าจะยอมทิ้งคราบคนดี จะยอมลอกคราบแห่งความดีทิ้ง เมื่อไม่ยอมทิ้งมันก็ติดดียึดดีอยู่แบบนั้น มันก็เป็นความดีที่ไม่ดีที่สุดอยู่นั่นเอง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)