Tag: หิริ

เขามาชอบ บัณฑิตก็ยังเฉย ส่วนคนเขลา อยู่เฉย ๆ ก็ไปชอบเขา

May 30, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 547 views 0

การตรวจสอบความเจริญในการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง คือลดการเสพลงได้อย่างผาสุก เรื่องความรัก เรื่องคู่ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติได้เจริญ ความกระหายใคร่อยากในเรื่องเหล่านี้จะลดลง

แม้ในฐานศีล ๕ ที่กำลังพัฒนาตนเอง ก็จะไม่มีอาการอย่างคนทั่วไป คือจะไม่ไปไล่จีบเขา ไม่ไปหว่านเสน่ห์ ไม่ไปเกี้ยวพาราสี หรือไม่ไปพยายามล่อลวงใครมาให้เป็นคู่

เพราะจะมี “หิริ” อยู่ในใจ คือรู้สึกว่ามันเป็นบาป มันผิด มันไม่เจริญ แต่ใจจะยังอดไม่ได้ ยังอยากอยู่ข้างใน แต่จะพยายามควบคุมอาการไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่นนัก

คนที่มีฐานศีล ๕ ที่กำลังพัฒนาไปสู่ความเจริญ จะมีความละอายต่อการไปจีบหรือไปล่อลวงเขา การจะมีคู่ของคนที่อยู่ในสภาวะนี้คืออยู่ ๆ ก็ไปชอบเขาเอง แล้วก็ลงเอยกันไปแบบไม่หวือหวา

ส่วนคนที่ต่ำกว่าศีล ๕ หรือถือศีลแบบกระท่อนกระแท่น ถือศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ อาบน้ำกลัวเปียก ถือศีลแบบยึดเป็นวินัย ก็มักจะมีส่วนพร่องไปตามปัญญาที่ไม่เต็มรอบ

ดีไม่ดีก็ไปทำตามแบบปุถุชน หรือคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมหรือไม่ได้ตั้งใจลดกิเลสเลย คือแม้จะอ้างว่าถือศีล ๕ เป็นพระอริยะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ “จริง” ตามนั้น คำพูดนี่ใครก็พูดได้ เล่นคำ เล่นภาษากันไป แต่ถ้าในสภาวะจริง มันก็ต้องมี “ใจ” เป็นองค์ประกอบด้วย

เช่น ใจจะรู้สึกผิดบาปละอายต่อการไปจีบเขา ไปล่อลวงเขา อย่างพระโสดาบันนี่จะไม่โกหกแล้ว ไม่ไปบอกใครหรือล่อลวงใครว่า ” มีคู่สิไม่ทุกข์เท่าไหร่หรอก หรือถึงมีก็ยังสามารถทำใจให้ทุกข์น้อยได้ ” คำพูดล่อลวงพวกนี้จะไม่มีหลุดออกจากปากหรือจากใจเลย เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามันทุกข์มาก แต่มันอดรนทนไม่ไหว มันอยากมี ถึงจะมีก็มีด้วยใจสังวร

เพราะรู้ว่าสิ่งที่เจริญกว่านี้ยังมี ผาสุกกว่านี้ยังมี เพราะมีสัตบุรุษที่ทำตนเป็นตัวอย่าง แสดงธรรมที่เลิศกว่า ประเสริฐกว่า พอรู้ว่ามีดีกว่า แต่ใจมันยังเอาไม่ไหว ถึงจะไปมีคู่ก็ใช่ว่าจะยินดีในการมีคู่เต็มร้อย ใจมันจะละอาย มีหิริอยู่ตลอด จะครองรักไปอย่างคนคุก สำรวม เจียมตัว เพราะรู้ว่าตนยังไม่เจริญ ตนยังทำไม่ได้ และรู้ว่าคนที่เจริญกว่าตนยังมี

คนที่ต่ำกว่าศีล ู๕ และไม่มีคุณวิเศษของสาวกที่ครบพร้อม จึงปฏิบัติตนเหมือนคนทั่วไป ไปรักเขา ชอบเขา จีบเขา ล่อลวงเขา ป้อล้ออยู่นั่น ไม่มีความละอายแก่ใจ เจอคนพวกนี้ให้ห่างไว้ แม้จะโฆษณาว่าตัวเองยิ่งใหญ่ เจริญในธรรม หรือมั่นคงเพียงใด แต่ความจริงข้างในนั้นยังเน่าเหม็นมากอยู่

ส่วนบัณฑิตนี่ไม่ต้องเล่าให้ยุ่งยาก ไม่ไปจีบใครเขา และใครมาจีบ มาชอบ มาอ่อย ก็ไม่หวั่นไหวด้วย ใส่พานมาเสิร์ฟก็ไม่กิน เพราะมีสิ่งดีกว่าให้เสพ สุขสบาย ผาสุกกว่าเอาชีวิตไปยุ่งวุ่นวายกับเรื่องความรัก ก็คือไม่ต้องมีความรัก ไม่ต้องมีคู่ให้ปวดหัว

เป็นสภาพที่ไม่ต้องทน เพราะเข้าใจทุกอย่าง ทั้งเข้าใจตัวเองและเข้าใจโลก ที่สำคัญคือเข้าใจเรื่องกรรม ก็เราทำกรรมมา เราก็ต้องรับ สมัยก่อนเราก็ไปจีบเขา เราก็ต้องรับ แล้วสมัยก่อนนี่มันกี่ชาติต่อกี่ชาติก็ไม่รู้ ไปจีบ ไปล่อลวงเขามากี่ร้อยล้านคนแล้ว ชาตินี้จะต้องเจอคนมาจีบ มาวุ่นวาย ก็ไม่ได้ทุกข์อะไร เพราะเข้าใจความเป็นไปของกรรม

ใช้กรรมแล้วมันก็จบดับไป เราไม่ได้ก่อกรรมชั่วใหม่ ไม่เห็นจะต้องทุกข์ใจอะไร ก็มีแต่จะดี จะเจริญไปเรื่อย ๆ

ส่วนคนเขลานี่ไม่ต้องให้ใครมาจีบเขาหรอก อยู่เฉย ๆ เขาก็แส่หา ทำอาการระริกระรี้ เดี๋ยวไปจีบคนนั้นทีคนนี้ที ดีไม่ดีจีบหลาย ๆ คนพร้อมกันอีก

คนรู้ธรรม รู้กรรมจริงนี่ไม่ต้องไปจีบใครให้ปวดหัวหรอก ชั่วที่ทำสะสมไว้มันมีเยอะ เดี๋ยวตัวเวรตัวกรรมเขาก็จะมาทวงอยู่ดีนั่นแหละ ทั้งทัก ทั้งอ่อย ทั้งป้อยอ ฯลฯ ป้องกันให้ทันแล้วกัน อย่าไปตกเป็นเหยื่อของกิเลสมาร ที่มาล่อให้เราหลงว่าคู่ครอง คู่รักเป็นสิ่งที่น่าได้น่ามี

กรณีศึกษา สารภาพบาป (เรื่องความรัก)

March 12, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 731 views 0

วันสองวันนี้ ก็มีคนที่เขามาสารภาพบาป 2 เคส ลักษณะคล้าย ๆ กัน ว่าเขาไปตกหลุมรัก ทั้ง ๆ ที่ในตอนแรกก็ดูเหมือนจะยินดีมาในทิศทางอยู่เป็นโสด

ก็เข้าใจเขาอยู่นะ เพราะจริง ๆ “มันยากมาก” สำหรับเรื่องคู่ ที่คนจะฝ่าไปได้ ถ้าไม่มีของเก่าสะสมมาก่อน คำว่าหืดขึ้นคอก็ดูจะเบาเกินไป

แต่ 2 เคสนี้เขาก็รอดกลับมาได้ แบบเหวอะหวะ ถ้าเป็นนักรบก็รอดกลับมาได้แบบเสียแขนเสียขาไปบ้าง คือ ตัดจบไม่สวยเท่าไหร่ แต่ก็ดีมากแล้วที่เอาตัวรอดมาได้ เคสหนึ่งมีกรรมเก่าตัดรอบช่วยเอาไว้ อีกเคสใช้สังฆานุสติ ระลึกถึงครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง กลับใจเอาตัวรอดมาได้

ซึ่งการที่เขาเอามาเล่านี่ เรียกว่าเขาก็มี “หิริ” (ความละอายต่อบาป) อยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งผมก็เคยเจอเคสที่หายไปเลยก็มี คือพอเขาเจอที่ถูกใจ เจอคู่ปุ๊ป ก็เหมือนจะตัดเราออกจากชีวิตไปเลย มารู้ข่าวอีกทีก็ใกล้จะแต่งงานแล้ว เขาก็ปิดนั่นแหละ ปิดไม่ให้เรารู้ ไม่ให้เราไปเกี่ยวข้องกับเขา เขาก็หวังจะเสพได้โดยไม่มีใครขัดนั่นแหละ พวกนี้ก็มักจะหายแล้วหายลับ เพราะคงไม่กล้าแบกหน้ากลับมาเจอเราหรอก

ในกระบวนการกลุ่มของ แพทย์วิถีธรรม ก็มีการสารภาพบาปต่อหน้าหมู่กลุ่มเช่นกัน ว่าไปทำอะไรมา คิดยังไงถึงทำอย่างนั้น ผมเคยมีช่วงเวลาที่ศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกวันกว่า 6 เดือน ซึ่งความต่อเนื่องนี้เอง เราจะได้เห็น “การเคลื่อนไหว” ของจิตที่เปลี่ยนไปของแต่ละคน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่หาศึกษาได้ยาก หากไม่มีเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

การสารภาพบาป จะทำให้เกิดความเจริญ เพราะเป็นการทบทวนธรรมซ้ำในใจว่าทำไมถึงพลาด และยังเป็นการบอกกล่าวโดยนัยว่าจะไม่ทำอีก ซึ่งการตั้งจิตที่จะแก้ไขส่วนที่พลาดนี่แหละ คือความเจริญ เรียกว่าเจริญโดยลำดับแล้ว

แต่เป้าหมายของการหลุดพ้นจากเรื่องคู่ครองก็คือการอยู่เป็นโสดอย่างผาสุก ดังนั้น จึงยังไม่ควรหยุดที่จะพัฒนาตนเองหากยังไม่ถึงสภาพนั้น

การที่ยังไม่พลาดไปมีคู่ ก็หมายถึงยังมีโอกาสที่จะได้สู้อยู่ มันก็จะมีแพ้มีชนะไปโดยลำดับ แพ้ก็ไม่ใช่ปล่อยให้แพ้ร่วงยาวไปเลย ถ้าเผลอใจชอบเขา ก็อย่าเผลอไปตกลงคบหา ถ้าหลงตกลงคบหา ก็อย่ารีบหลงไปแต่งงาน ถ้าเผลอแต่งงานไปแล้ว ก็อย่าหลงไปมีลูก คนที่ 1 2 3 …

จริง ๆ ในเรื่องความรักนี่มันมีเวลามีโอกาสให้แก้ตัวเยอะ มีจุด check point เยอะ แต่ด้วยตัณหาคือความเร่ง ก็เหมือนคนเขาจะเดินทางจาก กรุงเทพไปถึงเชียงใหม่ด้วยความเร็วแสง อันนั้นก็เป็นธรรมดาของคนไม่มีสติ

การตั้งศีลว่าจะประพฤติตนเป็นโสด จะสร้างโอกาสให้สติได้เตือนเป็นระยะ ที่เจอคนที่ถูกใจ ที่ได้มอง ที่ได้คุย… ถ้าไม่ตั้งใจว่าจะเป็นโสด ก็เหมือนไม่ได้ตั้งเป้าหมาย ไม่ได้เขียนโครงงาน ไม่ได้ตั้งนาฬิกาปลุก มันก็จะหลงหลับใหลยาวไปเลย

ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมเรื่องนี้นั่นแหละ เขาก็เคลื่อนไปตามแรงเหวี่ยงของโลก แรงของกิเลส คือเจอกัน ชอบกัน คบกัน แต่งงานกัน มีลูกกัน ฯลฯ

สรุป การสารภาพบาปนั้นเป็นการยอมรับว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็จะตั้งใจสู้ การไม่สารภาพบาปนั้น …เราก็ไม่รู้ใจเขาเหมือนกัน ส่วนการไม่ได้ตั้งจิตจะประพฤติตนเป็นโสดนั้น นอกจากจะไม่สู้แล้ว ยังไปเป็นทาสมารอีกต่างหาก

จะผาสุกยั่งยืน ถ้าไม่คบอสัตบุรุษ (เรื่องการประพฤติตนเป็นโสด)

January 5, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 632 views 0

อสัตบุรุษ นั้นคือคนที่ทำตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าสอน ยินดีในทางตรงกันข้าม และชักชวนให้ผู้คนทำในทางตรงกันข้าม

อสัตุบุรุษ ในการประพฤติตนเป็นโสดก็คือ ผู้ที่ตนเองก็ไม่ได้ประพฤติตนเป็นโสด ยังหมกมุ่นในเรื่องคู่ ยังยินดีพอใจที่จะมีคู่ ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นมีคู่ และชักชวนให้คนอื่นยินดีพอใจในการมีคู่ พูดถึงแต่ประโยชน์ในการมีคู่

องค์ประกอบเหล่านี้ประยุกต์จากพระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 1459 ซึ่งการเว้นขาดจากสิ่งที่เบียดเบียน เป็นองค์ประกอบของสาวก ส่วนการเข้าไปเบียดเบียนนั้น คือองค์ประกอบของคนนอกศาสนา

เรื่องความรักนั้นเป็นเรื่องที่เบียดเบียนตนและผู้อื่นเรื่องหนึ่ง เพราะยังเป็นเหตุให้ตนเองและผู้อื่นเป็นทุกข์อยู่ ยังผิดศีลอยู่ แต่ก็เบากว่าการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ แต่ความรักนี่เอง ก็เป็นเหตุในการฆ่าและทำร้ายกัน ดังที่ได้เห็นข่าวกันมากมายในสังคมปัจจุบัน

คนจะอยู่ผาสุก เป็นโสดได้อย่างยั่งยืน ต้องห่างจากธรรมของอสัตบุรษ ถึงแม้เขาจะเป็นนักเขียน นักพูด เกจิดัง หรือครูบาอาจารย์ที่มีชื่อ แต่อ่านหรือฟังแล้วน้อมใจไปในทางให้ยินดีในการมีคู่ ให้หมกมุ่นในการหาคู่ อันนี้ไม่ใช่ทางแล้ว คนจะมีคู่เราไม่บอกอะไร เดี๋ยวเขาก็ไปมีของเขาอยู่ดี ไม่ต้องไปชี้โพรงให้กระรอก ต้องไปทำแบบนั้น ต้องไปตรวจสอบแบบนี้ เพื่อไปมีคู่หรอก เพราะสุดท้ายจะพยายามคัดกรองยังไง ไปมีความรักมันก็คือการพาไปทุกข์อยู่ดีนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสว่ามิจฉาทิฏฐิไม่เปิดเผย ไม่เผยแพร่จึงจะเจริญ เรื่องพาหาคู่นี่จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องพาพ้นทุกข์ มันเป็นเรื่องพาเพิ่มทุกข์ คนไปศึกษาเขาก็เกิดความอยากมีคู่ มันก็เป็นบาปทั้งตนเองและผู้อื่น มันก็พากันทุกข์

เราจะสามารถสังเกตได้จากหลัก 3 ข้อ คือ 1.ละเว้นจากอธรรมนั้น 2.ไม่ชักชวนคนให้สนใจในอธรรมนั้น 3.กล่าวสรรเสริญคุณของการเว้นจากอธรรมนั้น

1.เราจะประพฤติตนเป็นโสดเนี่ย เราก็ต้องดูก่อนว่าคนที่เราศึกษาเรียนรู้อยู่ เขาเป็นโสดหรือเปล่า อันนี้ประเด็นแรกชัด ๆ เลย ถ้าเขาไม่ได้เป็นโสด เขาจะมาสอนธรรมหมวดนี้ไม่ได้หรอก สอนไปก็เพี้ยน มันจะเบี้ยว ๆ ไปตามความเห็นของเขา เพราะเขายังยินดีในการมีคู่อยู่ ทิศมันก็จะไปทางมีคู่ เช่น มีคู่ไม่ทุกข์ มีคู่ไม่ผิด เป้ามันจะไม่ชัด เขาจะพาเราประพฤติตนเป็นโสดไม่ได้

2. เราก็ดูว่าคนที่เราศึกษาอยู่นี่เขาชักชวนคนไปทางไหน ไปเป็นโสดหรือไปมีคู่ คนที่เขาชวนไปเป็นโสด เขาก็จะชวนอยู่นั่นแหละ จะไม่วกไปวนมา ทิศมันจะชัด ถ้ามันไม่ชัว มันมัว ๆ มันก็มัวไปตามจิตของเขา ถ้าตามภาษาใคร ๆ ก็ต้องพูดว่าอย่าไปมีคู่เลย แต่ต้องดูกันไปยาว ๆ ดังเช่นว่าตอนคนอื่นจะไปแต่งงาน ตอนลูกศิษย์จะไปแต่งงาน เขามีความเห็นยังไง เขาชักชวนให้เป็นโสดได้ไหม หรือไปยินดีที่เขาไปแต่งงาน ต้องดูกันตอนมีเหตุการณ์จริงกระทบ เพราะบางทีการแสดงธรรมมันก็เป็นแค่แนวคิด ที่จำ ๆ มา การชักชวนคนอื่นให้เป็นโสดที่แท้จริง ตัวเองก็ต้องช้กชวนตัวเองให้เป็นโสดด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนแล้วทำเองไม่ได้

3. เขาจะฉลาดในการพูดคุณประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด โทษของการไปมีคู่ ปัญญาคือผลของการปฏฺิบัติได้ การแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญทานกระแสโลกเป็นผลของคนที่ข้ามพ้นกิเลสได้ มันจะขัดกับโลกอย่างชัดเจน โลกนี่เขาพากันไปมีคู่ ยินดีในการมีคู่ แต่ศาสนาพุทธไม่ยินดี พอคนขยับขึ้นมาเป็นฐานศีล 8 จะพัฒนาสู่การพรากจากคู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงระดับที่สูงกว่านั้น แม้โดยฐานต่ำสุดของพุทธยังอนุโลมให้มีคู่ผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็ใช่ว่าสาวกที่ตั้งใจปฏฺิบัติจะหยุดแช่อยู่ที่ผัวเดียวเมียเดียว ผู้ปฏิบัติตนสู่ความไม่เสื่อมจะเพิ่มระดับการพรากไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะไม่มีสักผัวสักเมียนั่นแหละ

คนไม่พ้นเขาพูดไม่ชัดหรอก ให้เขาเปรียบเทียบประโยชน์ของการอยู่เป็นโสดกับมีคู่ เขาจะไม่ชัด ฟันไม่ขาด มันจะเหมือนดีเหมือนกัน อันนี้มันก็มัว ๆ ไม่แจ่มแจ้ง คิดเอาเดาเอาตามกิเลสมันก็เหมือนกันสิ แต่เหมือนกันแล้วเขาเลือกเป็นโสดไหมล่ะ ดูไปเถอะ ส่วนมากเขาว่าทุกข์เหมือนกันแต่เขาก็ไม่เลือกอยู่เป็นโสดกันหรอก อันนี้คือความจริง พูดก็อย่างหนึ่ง ทำก็อย่างหนึ่ง ก็ต้องดูกันไป

คนที่ไปศรัทธา ไปคบหา ไปศึกษากับคนที่เขาไม่ได้มีธาตุที่จะดำรงความโสดได้อย่างยั่งยืน เขาจะตั้งตนอยู่บนความโสดได้ไม่นาน มันไม่มีธาตุที่จะเอาชนะกิเลส มันมีแต่ธาตุที่แพ้กิเลสมารวมกัน ยิ่งรวมกันมากเท่าไหร่ มันจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการแพ้มากเท่านั้น ดีไม่ดีก็หาผัวหาเมียกันในที่ปฏิบัติธรรมนั่นแหละ อันนั้นคือมันไม่มีแรงต้าน

โดยหลักแล้ว จะพ้นทุกข์มันต้องมีแรงของผู้รู้มาต้านจากกิเลสบ้าง ถ้าเราศรัทธาครูบาอาจารย์ มันจะรู้สึกผิดในใจอยู่ แต่สู้ได้ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีธาตุพาโสด มีแต่ธาตุหมกมุ่นในคู่ครอง ไม่ต้องห่วง พอคิดจะมีคู่ จะมีได้ไวเหมือนขับรถบนทางด่วนชานเมืองตอนเช้ามืดที่ไม่ต้องจ่ายเงินผ่านด่าน มันจะไม่มีแรงต้าน ไม่มีหิริ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจเลย อย่างเก่งมันจะมีแค่ตรวจสอบเพื่อเสพ ว่าใช่อย่างที่ใจฉันใคร่อยากไหม แต่มันจะไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เพราะไม่มีศีลเป็นตัวกำหนด

ผมเห็นมาหลายคนแล้ว ที่ดูเหมือนจะท่าดี แต่สุดท้ายก็ไปมีคู่แบบเละเทะผิดกับภาพที่เคยสร้างไว้ เราก็รู้ อ่อ กิเลสมันเก็บกด พอมันได้เสพปุ๊ปมันก็ระเริงกามกันเลย

แล้วเขาจะไม่อาย ไม่สำรวมด้วยนะ เพราะเขาไม่มีหิริ สำนักหรือกลุ่มของเขาไม่มีสอน ถ้าอยู่ในสำนักที่ถูกต้องหรือปฏิบัติเข้ม ๆ ไม่มีหรอก มาอวดคู่น่ะ เขาจะอาย เพราะเขามีหิริ คือความละอายต่อบาป

อันนี้ก็ยกมาเตือนกันไว้ ตามที่พระุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ” เพราะถ้ามาปฏิบัติธรรมแล้วยังไม่เลิกคบคนพาล ไม่เลิกคบอสัตบุรุษ (ผู้ไม่รู้ธรรมแท้จริง) ไม่มีวันพ้นทุกข์หรอก

ก็บอกไว้สำหรับคนที่ฐานถึง ที่พอจะประพฤติตนเป็นโสดได้ มีองค์ประกอบที่จะทำได้ คุณไม่ต้องลงไปเล่นอย่างเขาอีก ให้น้อง ๆ ที่เขาเพิ่งมาปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ เล่นไป เราเห็นทุกข์แล้ว เราจะไปวนเวียนจมกับทุกข์อยู่ทำไม เราก็อยู่เป็นโสดไหว เราก็อยู่ไปสิ คนเรานั้นต่างกัน แต่ให้ทำตามทิศทางที่ปฏิบัติแล้วผาสุกกว่า ไอ้แบบที่เขาทำแล้วไม่สุข หรือสุข ๆ ทุกข์ ๆ นี่อย่าไปเอา อย่าไปตามมวลส่วนใหญ่ เพราะส่วนใหญ่เขาไม่ทำแบบนี้ อันนี้ส่วนน้อยแล้ว ต้องสำรวมระวังกันไว้ให้ดี

ที่ได้มาอ่าน ๆ กัน มาพบเจอกันนี่จริง ๆ ส่วนใหญ่ผมว่า น่าจะพอมีกำลังในการประพฤติเป็นโสดทั้งนั้นแหละ ได้มากได้น้อยก็แล้วแต่ความพากเพียร ก็ขึ้นอยู่กับจะก้าวขึ้นหรือจะก้าวลง ชีวิตมันก็มีแค่นี้

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

August 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,499 views 0

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

การฆ่าสัตว์นั้น ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกพุทธ เพราะความเป็นพุทธจะเริ่มต้นที่การตั้งใจมั่นว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ตั้งแต่การไม่ไปฆ่าด้วยตนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่สนับสนุนให้ใครฆ่า ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นฆ่า แนะนำให้ผู้อื่นเว้นขาดจากการฆ่า และยินดีชื่นชมในการไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน ด้วยใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส

ผู้ที่ตั้งใจฆ่าสัตว์นั้น คือผู้ตั้งใจที่จะเบียดเบียนชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะผู้ที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ ฆ่าสัตว์เป็นอาชีพ ฆ่าสัตว์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ชาวพุทธจะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนไม่มีศีล ซึ่งการไม่มีศีลนั้นก็คือไม่มีปัญญา ไม่รู้คุณค่าของการมีศีลและโทษชั่วของการผิดศีล เมื่อไม่มีศีล หิริโอตตัปปะย่อมไม่สามารถเจริญหรือพัฒนาไปได้ ผู้ที่ทำผิดศีลฆ่าสัตว์อยู่เป็นประจำจึงเป็นผู้อยู่นอกพุทธ เป็นคนต่ำ เป็นคนชั่ว เป็นผู้เบียดเบียนอยู่นั่นเอง

เมื่อเราได้ยินข่าวว่าธุรกิจนั้นโกงหรือเอาเปรียบ เราก็มักจะร่วมกันคว่ำบาตร ไม่สนับสนุนธุรกิจนั้น ๆ เรียกว่าถ้ารู้ว่าเขาชั่ว หรือแม้แต่เขาไม่ได้ชั่วเอง แต่ไปสนับสนุนคนชั่ว เข้าข้างคนชั่ว เราก็ไม่อยากจะคบหากับเขาแล้ว แม้จะเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่เราเคยใช้ เคยชอบ เราก็พร้อมจะเลิกซื้อ เลิกคบค้ากับธุรกิจนั้น ๆ เพราะไม่อยากคบหาหรือสนับสนุนคนที่เราคิดว่าชั่ว

นั่นเพราะเรามีความรู้สึกผิดและมีความเกรงตัวต่อบาปในระดับที่แตกต่างกัน เขาทำชั่ว แต่เราไม่ไปชั่วกับเขา อันนี้แสดงว่าเรามีปัญญารู้สิ่งดีสิ่งชั่วและพยายามออกจากสิ่งชั่วนั้น

กลับมาที่ประเด็นหลัก นั่นคือเรื่องของการซื้อเนื้อสัตว์มากิน น่าแปลกที่คนส่วนมากรู้อยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ มาจากการเลี้ยงสัตว์ในระบบที่โหดร้ายทารุณ ไปจนถึงการฆ่าที่เรียกได้ว่าถ้าเห็นแล้วคงจะทำให้หดหู่ใจกันเลยทีเดียว

ทำไมคนเราถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์ ทั้งที่รู้ว่าเขากักขังทรมานมันมา ฉุดกระชากลากมันมา ทำร้ายและฆ่ามันมา คนที่เขาฆ่านี่เขาก็ไม่มีศีล ผิดศีลขั้นต่ำหมดทุกข้อ ตั้งแต่ฆ่าสัตว์ ขโมยเนื้อที่เขาไม่ได้ให้ เสพกาม(กินเนื้อสัตว์)ที่เขาไม่อนุญาต โกหกว่าเป็นเจ้าของชีวิตสัตว์ มัวเมาว่าสัตว์นั้นเป็นอาหารของมนุษย์ เป็นสิ่งสมควรถูกกิน เป็นการอาชีพที่เสียสละ ฯลฯ ถึงเขาจะเห็นผิดและทำชั่วได้ขนาดนี้ คนส่วนมากก็ยังคบค้าสมาคมกับเขาอยู่

ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๓๘๐ “อหิริกมูลกสูตร” มีคำตอบที่พระพุทธได้ตรัสเปรียบไว้ว่า ผู้ที่ “ไม่มีหิริ”, “ไม่มีโอตตัปปะ”, “มีปัญญาทราม” ย่อมคบค้าสมาคมกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กินทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาฆ่ามา เพราะคนเหล่านั้นมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับคนที่ฆ่าสัตว์นั้นเอง

คนที่เขาฆ่าสัตว์นั้น เขาก็ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทราม เมื่อเขาคบค้าสมาคมกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ ย่อมมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกัน จึงได้คบค้าสมาคมกัน และผู้ที่ค้าขายเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะขายส่ง ขายปลีก หรือทำอาหารขายเป็นจาน ๆ ย่อมคบค้าสมาคมกับผู้ซื้อ นั่นหมายถึงผู้ที่ซื้อเนื้อสัตว์กินก็ย่อมมี หิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์และผู้ที่ฆ่าสัตว์นั้นเช่นกัน

ซึ่งจะไปสอดคล้องกับ “วณิชชสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๗) การค้าขายเนื้อสัตว์และการค้าขายชีวิตสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ผู้ที่กระทำอยู่นั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่ก่อให้เกิดความเจริญ ไม่ทำให้เกิดกุศล ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะไปค้าขายสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่สมควร

จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เมื่อเราเกิดความรู้สึกว่าธุรกิจใด ๆ นั้นไม่เหมาะสม เราก็เลิกคบ เลิกสนับสนุน เพราะเรามีปัญญาเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี เป็นสิ่งชั่ว เราเลยตีตัวออกห่าง แต่ที่เราไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กิน เพราะข้างในจิตใจของเรานั้นยังคิดว่าสิ่งนั้นเหมาะสม ยังเป็นสิ่งดีที่ควรสนับสนุน นั่นเพราะเรามีหิริโอตตัปปะและปัญญาเสมอกันกับคนที่ฆ่าสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง

แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่มีเผยแพร่อยู่ในคำสอนของอาจารย์ส่วนมากในปัจจุบัน แต่หลักฐานคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีในพระไตรปิฎกนั้น ก็มีมากพอให้เราพิจารณาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง สิ่งใดเป็นไปเพื่อเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย หิริโอตตัปปะนั้นจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อมีศีล ศีลคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความผาสุกในชีวิต

เมื่อเราศึกษาศีลจนเข้าใจแจ่มแจ้งในคุณค่าของศีลนั้น เราจะแบ่งปันประโยชน์ของศีลนั้นให้กับผู้อื่น แนะนำให้ผู้อื่นมีศีล เราจะสรรเสริญผู้มีศีล คบหาผู้ที่มีศีล ห่างไกลคนที่ไม่มีศีล เว้นแต่จะเอื้อประโยชน์แก่เขาเป็นกรณี ๆ เมื่อมีศีล หิริ โอตตัปปะจึงเจริญได้ เมื่อมีศีล ก็จะย่อมมีปัญญา เมื่อนั้นก็จะเห็นได้เองว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

ยิ่งสังคมนั้นมีความเจริญในด้านศีลธรรมมากเท่าไหร่ การกินเนื้อสัตว์ก็จะลดลงไปมากเท่านั้น จากคำกล่าวที่ได้อ้างอิงมา จะเข้าใจได้เลยว่า ยากนักที่ชาวพุทธผู้ตั้งมั่นในศีล ๕ จะคบค้าสมาคมกับคนไม่มีศีล นั่นเพราะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่คนมีหิริโอตตัปปะและมีปัญญา จะไปคบค้าสมาคมกับคนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทรามได้

28.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)