Tag: สติมาปัญญาเกิด

กิเลสนอนก้น

January 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,822 views 1

กิเลสนอนก้น

กิเลสนอนก้น

…เมื่อการปฏิบัติธรรม ไม่ได้ทำให้เจริญไปถึงข้างในจิตใจ

เคยคิดสงสัยกันหรือไม่ ว่าแท้จริงแล้วผลของการปฏิบัติธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร ที่เขาว่ายิ่งกว่าสุขเป็นแบบไหน แล้วแบบที่ทำอยู่จะให้ผลเช่นไร การปฏิบัติของพุทธแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรในเมื่อมีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นก็มีเหตุผลมีที่อ้าง แล้วเราจะปฏิบัติตามแบบไหน ทางไหนคือทางที่พาพ้นทุกข์

ก่อนจะเข้าเรื่องก็มาเรียนรู้เรื่องกิเลสกันก่อน ซึ่งจะขอเปรียบกิเลสดังโคลนในแก้วน้ำ โดยปกติเราก็จะมีโคลนและมีน้ำที่เปรียบดังจิตอยู่ในแก้ว เมื่อมีการกระทบจนเกิดการสั่นไหว โคลนที่นอนก้นอยู่ก็จะกระจายตัวทำให้น้ำขุ่นเหมือนดังจิตที่ขุ่นมัว

วิธีที่จะทำให้โคลนเหล่านั้นสงบนิ่ง คือใช้วิธีของการทำสมถะ หรืออุบายทางใจเข้ามากดข่มจิตใจด้วยวิธีต่างๆมากมาย ในกรณีนี้ก็คือทำให้น้ำที่ขุ่นนั้นใสนั่นเอง และเรามักจะได้ยินคำเรียกน้ำที่ใสจากตะกอนโคลนนั้นว่า “จิตว่าง” ว่างจากอะไร? ว่างจากความคิด ว่างจากการปรุงแต่งหรือสภาพที่โคลนนั้นฟุ้งไปทั่วแก้ว เมื่อจิตว่างจากโคลนที่ฟุ้งแล้วจึงค่อยคิด นี่คือวิธีที่พบเห็นและปฏิบัติกันโดยทั่วไป

วิถีทางของสมถะจะให้ความสนใจโคลนที่ฟุ้งอยู่ในน้ำ มุ่งประเด็นไปที่ความฟุ้งซ่าน ความคิดต่างๆ ดังนั้นการใช้สมถะในวิถีทางต่างๆเช่นเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือแบบประยุกต์เช่น ขยับตัวเพื่อรู้ ใช้ธรรมะเข้ามาตบความคิด ใช้ไตรลักษณ์เข้ามาตบความฟุ้งซ่าน กำหนดรู้ รู้ตามจิต รู้ตามความคิด รู้นามรูปโดยใช้ตรรกะ หรือวิธีใดๆที่วนอยู่ในรูปแบบหนึ่งๆ เพื่อให้หลุดพ้นออกจากจิตที่เป็นทุกข์นั้นๆ เป็นวิธีการฝึกสมถะทั้งแบบหลับตาและลืมตาที่ใช้กันโดยทั่วไป จนบางครั้งอาจจะทำให้หลงเข้าใจไปว่าการฝึกสมถะเหล่านั้นคือการวิปัสสนา

! ต้องขออภัยจริงๆ ที่บทความนี้อาจจะดูเหมือนไปข่มการทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็จำเป็นจะต้องชี้ให้เห็น เพราะจะมีผลไปถึงการปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสมถะไม่ดี มันดีและเป็นสิ่งที่เพิ่มกำลังให้กับการวิปัสสนาด้วย แต่การนำสมถะขึ้นมาเป็นการปฏิบัติหลักเพื่อการพ้นทุกข์จากกิเลสนั้นจะทำให้หลงติดภพ

และเมื่อเข้าใจว่า “ความว่าง “คือ “จิตที่ว่างจากความคิด” หรือสภาพที่โคลนสงบ ไม่ฟุ้ง น้ำใส เหมือนจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิด ไม่กังวล ไม่โกรธ มีสติ สงบ ฯลฯ เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกกับหลักของพุทธเสียทีเดียว เพราะอยู่ในขีดของสมถะหรือการปฏิบัติแบบฤๅษีทั่วไปเท่านั้น

เพราะถึงแม้น้ำในแก้วจะใส แต่ถ้ามีกิเลสนอนก้นอยู่แล้วเราจะเรียกว่าจิตว่างได้อย่างไร ความคิดที่ออกมาตอนฟุ้งหรือตอนสงบก็ปนเปื้อนไปด้วยกิเลสอยู่ดี แม้น้ำนั้นจะใสแต่ก็จะมีโคลนปนอยู่ในน้ำอยู่ดี สภาพที่ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง แม้จะดูเหมือนว่าสงบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส

ศาสนาพุทธเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลสจนดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแค่การดับความคิด หยุดปรุงแต่งหรือดับสัญญาใดๆทิ้งอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่หากเป็นการชำระกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในความคิด ในสัญญา ในจิตวิญญาณนั้นให้หมดไป เปรียบดังผู้ที่สามารถนำโคลนออกจากแก้วได้ เมื่อโคลนน้อยลงก็จะฟุ้งกระจายน้อยลง ขุ่นน้อยลง จนกระทั่งเอาโคลนออกได้หมด แม้แก้วจะถูกเขย่าแรงเพียงใดก็จะไม่มีอะไรฟุ้ง ไม่ขุ่น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นน้ำใสๆอยู่เช่นเดิม

1). การปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน

วิถีทางปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลากหลายวิธี แม้ว่าจะมีรายละเอียดต่างกันไปในการปฏิบัติแต่ละแบบ แต่โดยส่วนมากนั้นจะมีทิศทางไปในทางเดียวกันคือการใช้สมถะ หรือการใช้อุบายเข้ามาบริหารใจให้เกิดสภาพจิตนิ่ง จิตว่าง สงบ หยุดคิด หยุดตัดสิน หยุดทุกข์ ฯลฯ

กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก เข้าใจได้ยาก และทำลายได้ยาก แม้ว่าเราจะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นกิเลส การที่เราสามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการดับความคิดที่ปรุงแต่งใดๆ ให้เกิดจิตที่สงบหรือที่เขาเรียกกันว่า”จิตว่าง”ได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสงบหรือความว่างแบบพุทธ เพราะนั่นคือความสงบจากสมถะ

การดับสภาพทุกข์หรือสุขที่เกิดขึ้นในใจด้วยอุบายใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ อยู่กับปัจจุบันใช้การพิจารณาไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เข้ามากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นคือการวิถีของสมถะทั้งสิ้น

แม้การปฏิบัติเหล่านั้นจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้แสดงอาการ ควบคุมวาจาไม่ให้เปล่งออกมา หรือแม้กระทั่งควบคุมใจไม่ให้คิด ไม่ให้ปรุงแต่งใดๆโดยใช้สติควบคุมไว้ ก็ยังไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะต้องมาคอยควบคุม คอยกด คอยข่ม คอยดับ สิ่งปรุงแต่งทั้งกาย วาจา ใจเอาไว้เสมอ

ซึ่งโดยทั่วไปสมถะจะเน้นการฝึกสติ เพิ่มกำลังสติ ให้มีสติตลอดเวลา ฝึกสติจนมีสติอัตโนมัติ การฝึกสติเหล่านั้นเป็นการฝึกสติความรู้ตัวทั่วพร้อมทั่วไป และใช้สติเหล่านั้นไปกระทำต่อความคิด ความทุกข์ ความสุขที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ รู้ ดับ ตบ กดข่ม ฯลฯ เพื่อให้เกิดความสงบ

แต่ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติอย่างถูกตรงจนสามารถชำระล้างกิเลสได้ด้วยปัญญา ก็ไม่ต้องมาคอยกด ข่ม ดับ หรือต้องรู้ตัวทั่วพร้อมตลอด เพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เมื่อไม่มีกิเลสเกิด ก็ไม่มีตั้งอยู่ และไม่มีดับไป เพราะมันดับสิ้นเกลี้ยงไปตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเมื่อสามารถทำลายกิเลสเรื่องใดๆได้จริงจะไม่มีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของกิเลสเรื่องนั้นๆอีก

2). ธรรมไม่ถึงธรรม

เมื่อหลงเข้าใจไปว่าวิธีฝึกสติแบบสมถะคือวิธีการพ้นทุกข์ อาจจะหลงเข้าใจไปอีกว่า เมื่อฝึกสติได้ถึงระดับหนึ่งจะบรรลุธรรมระดับนั้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นความเห็นความเข้าใจที่ผิดไปจากหลักของพุทธ เพราะการบรรลุธรรมนั้นจะเกิดจากการตัดสังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดไว้ทั้ง ๑๐ ระดับ แม้ว่าจะสะสมสติแบบสมถะมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการตัดกิเลสเหล่านี้เลย เพราะสังโยชน์แต่ละตัวนั้นมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันไป มีความซับซ้อนต่างกัน มีความยากต่างกัน ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกัน

แต่ด้วยความเห็นความเข้าใจตามวิบากกรรมที่แตกต่างของแต่ละคน ทำให้ความเข้าใจในธรรมนั้นต่างกันออกไป บางคนพอใจที่สามารถทำให้แก้วที่ขุ่นไปด้วยโคลนนั้นใสในพริบตา บางคนพอใจที่ดูและรู้การขุ่นและตกตะกอนของโคลน แล้วก็เข้าใจว่าเหล่านั้นคือวิธีพ้นทุกข์ที่ถูกต้อง เมื่อเขาเชื่อและหลงยึดเช่นนั้น ใจก็จะไม่แสวงหาทางอื่น มองวิธีนั้นเป็นวิธีหลัก ไม่สนใจจัดการกับโคลนที่อยู่ข้างใต้ เหมือนกับว่ามองไม่เห็นโคลน หลายครั้งเราได้ยินคำว่ากิเลส แต่ไม่มีใครพูดถึงวิธีทำลายกิเลส แม้จะได้ยินได้ฟังแต่ก็ไม่สามารถเอาไปปฏิบัติได้จริง ยิ่งปฏิบัติยิ่งหลง ยิ่งทำยิ่งงง ไปๆมาๆจะเพี้ยนไปเสียอีก

3). ปฏิบัติธรรมผิดทาง หลงทางจนตาย (ไปอีกหลายชาติ)

คาดเคลื่อนของความเข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นปฏิบัติและปริยัตินั้นมีอยู่ไม่มากก็น้อย การเข้าใจว่าปริยัติหรือเรียนรู้ธรรมมาก่อนนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่การเข้าใจว่าปฏิบัติมาก่อนนั้นจะผิดไปค่อนข้างมาก เหมือนกับคนที่ไม่มีแผนที่ ไม่รู้ทาง แต่ก็จะเดินเข้าป่า ปฏิบัติไปก็จะหลง มัวเมา หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรม

หลายคนเข้าใจว่าตนเองมีอาจารย์ แต่ก็ไม่ได้ดูให้ดีว่าอาจารย์ของตนนั้นเคยเดินทางหรือเปล่า เข้าใจการปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า พอติดตามคนผิดก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพงหลงทางกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ กลายเป็นกลุ่มก้อนมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป

หลักตัดสินพระธรรมวินัยก็มีอยู่ ลักษณะผู้ที่บรรลุธรรมในศาสนาก็มีอยู่ แต่ครูบาอาจารย์บางพวกจะหลีกเลี่ยงการอ้างอิงจากตำรา สร้างลัทธิ สร้างชุดความเชื่อขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้เราก็สามารถใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าตรวจสอบได้ เช่น ธรรมเหล่านั้นเป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือไม่ เป็นไปเพื่อการพรากหรือไม่ เป็นไปเพื่อการมักน้อย ไม่สะสม กล้าที่จะจนหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมบริวาร ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขหรือไม่ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เป็นคนประหยัดหรือฟุ้งเฟ้อ เป็นคนขี้เกียจหรือขยัน ฯลฯ (สามารถหาดูได้เพิ่มเติมจาก หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ,เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ,วรรณะ๙)

การเข้าถึงธรรมะนั้นไม่ได้เริ่มจากการปฏิบัติก่อน พระพุทธเจ้าไม่เคยตั้งเงื่อนไขให้ใครมาปฏิบัติก่อน ท่านมักจะเทศน์โปรดก่อนเสมอทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น และท่านยังได้ตรัสสอนไว้ว่า คนจะสามารถถึงวิมุตหรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสได้ ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ นั่นคือต้องหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริงเสียก่อน เป็นผู้มีธรรมนั้นในตนจริงๆ เมื่อมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ก็สามารถสอนให้เราพ้นทุกข์ได้จริง ลดกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริง

เมื่อได้เจอสัตบุรุษแล้วเราจึงจะได้ฟังสัจธรรม หลังจากเราได้ฟังสัจธรรมและเข้าใจ จึงจะเกิดศรัทธา ซึ่งศรัทธาตรงนี้เกิดจากปัญญา เพราะรู้ได้เองว่าธรรมที่ได้ฟังนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง พาลดกิเลสได้จริง เมื่อเกิดศรัทธาก็จะเริ่มปฏิบัติตาม เกิดการทำใจในใจที่แยบคาย คือการพิจารณาธรรมที่ได้ฟังนั้นเข้าสู่ใจ ไม่ใช่ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาหรือฟังธรรมแบบผ่านๆ แต่จะนำไปคิดพิจารณาในใจตามสภาวะของตัวเองได้ และจะเกิดสติสัมปชัญญะต่อไป เกิดการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ต่อไปจนกระทั่งเกิดสติปัฏฐาน ๔ ดำเนินต่อไปที่โพชฌงค์ ๗ และถึงวิชชาและวิมุตติโดยลำดับ(อวิชชาสูตร)

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ต้องเริ่มจากการหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์เสียก่อน ไม่อย่างนั้นปฏิบัติไปก็ฟุ้งเฟ้อ เนิ่นช้า ติดอยู่ในกิเลส ในภพ ในอัตตา สารพัดทางจะติดได้ เพราะคนที่เห็นผิด ก็จะพาเราไปแวะที่นั่น หลงที่นี่ ก็หลงกันไปทั้งหมู่คณะ เป็นมิจฉาทิฏฐิกันไปทั้งก้อน ซึ่งความหลงมันอาจจะไม่ได้เกิดแค่ชาติเดียว มันจะหลงตามกันไปเรื่อยๆ ตามกรรมที่ก่อไว้

คนที่หลงจะไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองหลงหรือเห็นว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ด้วยความหลงนั้นก็จะดลให้เขาได้เชื่อและปฏิบัติในทางที่เขาหลงอยู่เช่นนั้น เมื่อเขาสอนธรรมที่ไม่ได้พาให้ลดกิเลส กล่าวแต่ธรรมที่พาเพิ่มกิเลส ให้เสพสุข ให้ร่ำรวย ให้ยึดมั่นถือมั่น เขาเหล่านั้นก็จะสะสมพลังแห่งมิจฉาทิฏฐิที่จะบดบังความจริงสู่การพ้นทุกข์เข้าไปอีก

ดังนั้นจะสรุปได้ว่า โดยทั่วไปเราไม่มีทางปฏิบัติเองจนถึงผลได้ ต้องเจอครูบาอาจารย์ที่รู้ทางจริงๆเท่านั้น การหาของจริงในของลวงนั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร การจะเจอสัตบุรุษที่บริบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะได้ฟังสัจธรรมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการปฏิบัติจนถึงผลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเรายังต้องเสียเวลากับการปฏิบัติที่พาให้หลงทางอีกมันจะช้าเข้าไปใหญ่

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” คำว่าช้าในที่นี้คือไปหลงวนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ เมื่อเราติดอยู่ในความเห็นผิด ยิ่งปฏิบัติก็จะยิ่งไกลจากพุทธ ยิ่งขยันก็จะยิ่งโง่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งยึดมั่นถือมั่นขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้ต้องเสียเวลาไปชาติหนึ่ง เป็นโมฆะบุรุษ เกิดมาตายไปเปล่าๆไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

4). สติ แท้จริงคืออะไร

ดังที่เห็นในอวิชชาสูตร จะเห็นได้ว่า สติสัมปชัญญะ และสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นี่ยังไม่รวมสติรู้ตัวแบบทั่วไปด้วยนะ หลงฝึกสติผิดเพี้ยนกันไปใหญ่

สติไม่ใช่เครื่องเตือน แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรารู้ตัว ซึ่ง สติสัมปชัญญะคือการทำให้มีการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวว่าอะไร รู้ตัวว่ามีกิเลส รู้ตัวว่าโกรธ สตินี้ทำหน้าที่แค่นี้

ส่วนเครื่องเตือนใจนั้นคือ หิริ โอตตัปปะ หิรินั้นคือความละอายต่อบาป เมื่อเราโกรธแล้วมีหิริ สติจะทำงานต่อให้เราละอายต่อความโกรธของตัวเอง ส่วนโอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป เมื่อมีโอตตัปปะซึ่งจะเหนือกว่าหิริ เราจะมีอาการสะดุ้งกลัวต่อบาป พอมีสติรู้ตัวว่าโกรธเราจะไม่กล้าโกรธ กลัวว่าจะสะสมบาป เพราะความโกรธคือบาป มันจะสงบลงแบบนี้ ผลเหล่านี้ไม่ใช่การทำงานของสติ แต่เป็นการทำงานของหิริโอตตัปปะ

ถ้ามีสติเฉยๆ แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะมันจะไม่เกิดอะไรขึ้น เช่นรู้ว่ากำลังกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่มีความละอายต่อบาปหรือความเกรงกลัวต่อบาป มันก็กินไปแบบนั้นแหละ ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไร กินไปมันก็มีความสุขตามกิเลสไปแบบนั้นเอง รู้ตัวว่ากินนะ แต่ก็แค่รู้ตัว ไม่เกี่ยวกับการพ้นทุกข์ใดๆ

หิริโอตตัปปะไม่ได้เริ่มจากสติ แต่เริ่มจากศีล ผู้มีศีลจะมีสติ แต่คนมีสติไม่จำเป็นต้องมีศีลนั้นๆ การเกิดหิริโอตตัปปะนั้นเป็นความเจริญที่งอกเงยมาจากการปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง

สติปัฏฐาน ๔ นั้นจะทำงานต่างจากสติที่รู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งจะทำงานเป็นเครื่องมือ ตรวจจับ วิเคราะห์ วิจัยแยกแยะกิเลส จนถึงหาธรรมมาทำลายกิเลสนั้นๆ

ส่วนสติทั่วไปเป็นความรู้ตัวแบบสัญชาติญาณไม่ต้องฝึกก็ได้ แค่สงบๆแล้วให้ร่างกายจับการเปลี่ยนแปลงของภายในหรือภายนอกเช่น มีลมพัดมากระทบหน้า มีเหงื่อออกเล็กน้อยที่หลัง สติแบบนี้เหมือนเวลาที่วัวกำลังกินหญ้าแล้วเราเดินเข้าไป วัวจะหยุดกินและมองเรา เป็นสติระดับทั่วไปที่มีคนหลงไปฝึกปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์กันมากอยู่ในลักษณะของการทำสมถะ ซึ่งสติแบบนี้ไม่จัดอยู่ในกระบวนการเพื่อบรรลุธรรมแต่อย่างใด สรุปง่ายๆว่าฝึกไปก็ไม่พ้นทุกข์

5). สติมาปัญญาเกิด

ความเข้าใจที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” นั้น จะเป็นไปได้ในกรณีเดียวคือ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อย่างถูกตรงเท่านั้น ปัญญาจึงจะเกิด นอกเหนือจากนี้เป็นไปไม่ได้ ปัญญาที่หมายถึงในที่นี้คือปัญญาสู่การพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาแบบโลกีย์ ไม่ใช่แค่โคลนตกตะกอนน้ำใสจึงเห็นความจริง ปัญญาของพุทธไม่ใช่ปัญญาแค่นั้น

ส่วนสติมาปัญญาเกิดแบบทั่วๆไป ปัญญาที่จะเกิดได้นั้นก็จะเกิดได้เท่าที่ระดับที่มีกิเลสอยู่ มีกิเลสเท่าไหร่ก็ส่งผลให้มีปัญญาได้เท่านั้น ไม่สามารถมีได้มากกว่านั้น เหมือนกับคนที่คิดตอนโกรธกับคิดตอนไม่โกรธมันก็ต่างกันเป็นธรรมดา แต่ก็จะมีขอบเขตของปัญญาที่จำกัดเพราะยังมีกิเลสมาบงการอยู่

คำว่า”สติมาปัญญาเกิด”นั้นเป็นธรรมสั้นๆที่สามารถตีความได้หลากหลาย หากไม่ได้ถูกขยายเพื่อเป็นไปในทางลดกิเลสแล้ว ธรรมนั้นย่อมผิดเพี้ยนจากทางพ้นทุกข์ไปได้ เรามักจะชอบอ่านหรือจำธรรมสั้นๆ เพราะไม่ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ต้องทำความเข้าใจมาก แต่สิ่งที่อันตรายคือการตีความที่ผิดซึ่งจะส่งผลมาสู่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไป

การเข้าใจว่า สติมาปัญญาเกิด ส่งผลให้คนพยายามฝึกสติ สะสมสติ หรือมุ่งเน้นผลแห่งการเพิ่มสติอย่างมัวเมา ทั้งที่จริงแล้วการฝึกสติแบบสมถะ หรืออาจจะไปถึงขั้นมิจฉาทิฏฐินั้นไม่สามารถทำให้กิเลสลดลงได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ศีลคือแม่ ปัญญาคือพ่อ” นั่นหมายถึงศีลคือตัวขัดเกลา เลี้ยงดูจิตวิญญาณของเราให้เข้ารูปเข้ารอยไม่หลงไปในกิเลสมากจนเกินไป และปัญญานั้นหมายถึงปัญญาในการเข้าสู่มรรค คือปัญญารู้ว่าควรจะถือศีลนั้นๆ เมื่อปฏิบัติศีลด้วยสัมมาอริยมรรคถึงที่สุดแล้วจึงจะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล คือปัญญาในระดับที่หลุดพ้นจากกิเลสของศีลในเรื่องนั้นๆ

เรามักได้ยินว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าเป็นในไตรสิกขาก็จะเป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หมายความว่าเมื่อเราปฏิบัติศีลด้วยความตั้งมั่น(สมาธิ)จึงจะถึงปัญญาได้ หรือถ้าอธิบายในมุมไตรสิกขาก็คือเมื่อเราปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น ก็ต้องมีพลังใจที่มากขึ้น และใช้ปัญญาที่มากขึ้น เพื่อที่จะได้ปัญญาที่เป็นผลเจริญ(ภาวนา)

สตินั้นเป็นสิ่งที่เราควรจะมีตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนสติปัฏฐาน ๔ จะทำงานในระหว่างที่เริ่มกระบวนการถือศีล และปฏิบัติจนกระทั่งเกิดปัญญา เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดปัญญา และเมื่อปฏิบัติศีลจนเกิดผลในเรื่องนั้นๆแล้วก็ไม่ต้องใช้สติปัฏฐานกับเรื่องนั้นต่อ เพราะทำได้เจริญถึงผลแล้วแบบนี้จึงจะเรียกได้ว่าสติมาปัญญาเกิด

แต่การฝึกสติในทุกวันนี้มักจะเป็นเป็นไปในแนวทางสมถะ แม้จะตั้งชื่อว่าฝึกสติปัฏฐาน ๔ แต่ก็กลับกลายเป็นการฝึกสมถะ ทั้งนี้เพราะสมถะนั้นเข้าใจได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เห็นผลได้ง่าย แถมยังมีทางแวะให้หลงกันไปตามกิเลสอีก เช่นไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นผี เห็นเทวดา ก็เห็นกันไปตามที่กิเลสของใครจะปรุงเอาได้ เป็นสิ่งที่กิเลสหลอกให้ถือเป็นจริงเป็นจัง

6). ปัญหาของสติที่ไม่มีศีลและปัญญา

และการฝึกแต่สติโดยไม่สนใจที่จะศึกษาศีลและปัญญา มีปลายทางคือนักสมถะที่เก่ง กดข่มได้เก่ง แม้ว่าแก้วน้ำจะขุ่นไปด้วยโคลน แต่ก็สามารถทำให้โคลนนั้นตกตะกอนได้ในพริบตา แต่จะให้เอาโคลนออกจากแก้วนั้นทำไม่ได้ เพราะวิถีแห่งสมถะไม่ได้สอนวิธีเอาโคลนออกจากแก้วไว้ ได้แค่เพียงทำเป็นมองไม่เห็นโคลน มองเพียงว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วแบบนี้มันจะเป็นผู้ไกลจากกิเลสไหม? จะหมดกิเลสได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่มีวิธีจัดการกับกิเลส

ความซวยของการการฝึกแต่สตินี้ มันเริ่มจากการยึดมั่นถือมั่น พอเรายึดแล้วก็จะเริ่มไม่ฟังวิธีอื่น เริ่มไม่อยากทำความเข้าใจและพิจารณาหนทางอื่น เพราะยึดมั่นถือมั่นไปแล้วว่าการฝึกสติ หรือการมีสตินี้คือทางพ้นทุกข์ ถ้ายึดในสิ่งที่ถูกคงไม่มีปัญหา แต่มายึดในสิ่งที่ไม่ถูกเสียทีเดียว แถมยังยึดถือจนมั่นใจว่าใช่แน่ๆ จึงเกิดอัตตาขึ้นมา เริ่มจะมีความถือตัว ยกตนข่มท่าน ไม่ฟังธรรมอื่น ปิดประตูเข้าภพไปอย่างน่าเสียดาย และจะติดสุขในอารมณ์ของสมถะไปอีกนานแสนนาน

การมีสติแต่ไม่มีศีลและปัญญานี่มันจะมึนๆนะ พอเข้าเรื่องธรรมก็จะไม่รับ พอเข้าเรื่องศีลก็จะไม่รับ คือไม่รับทั้งปัญญาทั้งศีล ตีทิ้งหมด สรุปก็คือพอเห็นว่าการมีสติรู้ตัวคือทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่รับสิ่งอื่น ทั้งที่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องสติแต่ก็ยึดมั่นถือมั่นไปแล้ว ถ้าเราเข้าใจเรื่องสติจริงๆ เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องสติเลย คนที่เข้าใจเรื่องอะไรจริงๆจะไม่มีอัตตาในเรื่องนั้น แต่คนที่ไม่เข้าใจจริงๆจะมีอัตตาเพราะความหลง

7). การแก้ปัญหากิเลสนอนก้น

การชำระกิเลส หรือทำลายกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในจิตวิญญาณนั้น ไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายได้ เพราะสมถะนั้นทำได้แค่เพียงกด ข่ม ดับ อย่างเก่งก็ดับไปโดยไม่รู้ตัว แต่ก็แค่ดับอาการปลายเหตุที่เกิดมาเท่านั้น กิเลสที่นอนก้นนั้นยังมีอยู่ ยังกองอยู่ แต่จะทำอย่างไรล่ะ?

อย่างแรกคือต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่าเรากำลังปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา อย่าให้ชื่อมาเป็นตัวทำให้เราสับสนเพราะบางทีเขาก็เรียกสมถะเป็นวิปัสสนา บางคนปฏิบัติสมถะแล้วเข้าใจว่าตนเองเป็นวิปัสสนาก็มี บางคนหลงเข้าใจไปอีกว่าบรรลุธรรมทั้งที่ทำแค่สมถะ มันต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังทำให้ได้ก่อนแล้วจึงตั้งหลักใหม่

ไม่ใช่ปฏิบัติไปผิดทางแล้วหวังว่าจะมีแสงสว่างปลายทาง หากเราปฏิบัติไปอย่างมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางเหล่านั้นมันก็เป็นทางตันเท่านั้นเอง สุดท้ายถึงจะเพียรพยายามแค่ไหนก็ไปได้แค่สุดทางตันแล้วก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไปกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้

มันไม่ได้อยู่ที่ปฏิบัติธรรมไปถึงขั้นไหน อย่างไร แต่มันอยู่ที่ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก เพราะถ้าปฏิบัติผิดมันก็มีสภาพบรรลุธรรมผิดๆหลอกเราอยู่เหมือนกัน หน้าตาอาจจะดูดี ดูสงบ น่าเคารพ แต่กิเลสนอนก้นหนาเตอะก็มี คนที่ปฏิบัติแต่สมถะจะไม่สามารถตรวจใจได้ละเอียดนัก อย่างมากก็ไปติดที่อรูปภพ แม้จะละกามภพ คือไม่ไปเสพ ละรูปภพคือไม่คิดไม่ปรุงแต่ง แต่การละอรูปภพนั้นต่างออกไป ไม่สามารถทำลายกิเลสนี้ได้เพียงแค่กดข่มอย่างแน่นอน สุดท้ายก็จะค้างเติ่งอยู่ที่ฤๅษีนั่นแหละ รูปสวยแต่กิเลสหนา จะเอาไหมแบบนั้น?

ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือกลับมามองตัวเองตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วค่อยแสวงหาสัตบุรุษ ถ้าคิดว่าชีวิตนี้มันหายากหาเย็นหาไม่เจอก็ลองละเว้นความชั่วให้มาก ทำความดีเพิ่มขึ้น ทำจิตใจให้ผ่องใสอย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดมากนัก สิ่งใดที่คิดแล้วเป็นอกุศลมากๆก็พยายามปล่อยวาง ละทิ้งหรือจะกดข่มไปก่อนก็ได้

วันหนึ่งเมื่อเจอกับสัตบุรุษ เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ควร เจอคนที่รู้ทางมีแผนที่ ค่อยขยับเดินหน้าเพียรปฏิบัติอย่างจริงจังก็ยังไม่สาย เพราะถึงจะช้า แต่ก็ยังดีกว่าเดินหลงทาง เพราะการเดินหลงทางนั้นหมายถึงต้องเสียเวลามากขึ้นไปอีก

– – – – – – – – – – – – – – –

5.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิธีปล่อยวางความรัก

December 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 95,268 views 11

วิธีปล่อยวางความรัก

วิธีปล่อยวางความรัก

…ทั้งในทางโลกและในวิถีทางแห่งพุทธศาสนา

ในบทความนี้จะมาไขรหัสการปล่อยวางความรัก ว่าปล่อยวางอย่างไรจึงจะวางได้จริง บางคนยอมปล่อยแต่ไม่ยอมวาง ถึงอยากวางก็วางไม่ลง มันยังขุ่นใจหงุดหงิดใจอยู่ นั่นเพราะการปล่อยวางของเรานั้นยังไม่ทำจนถึงที่สุดแห่งความรู้แจ้งนั่นเอง

วิธีที่เราใช้เพื่อปล่อยวางความรักนั้นมีหลายวิธี แต่ในบทความนี้จะสรุปรวมมาให้แบบกว้างๆ 3 วิธี คือ 1).เปลี่ยนเรื่อง 2).ปัดทิ้ง 3). เข้าใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1). เปลี่ยนเรื่อง

วิธีที่ใช้กันโดยทั่วไปคือการหากิจกรรมทำ ท่องเที่ยวไปในที่ที่ไม่เคยไป ศึกษาเรื่องที่ไม่เคยรู้หรือแม้แต่การเน้นลงไปในเรื่องเดิมเช่น ชอบเที่ยวอยู่แล้วก็เที่ยวให้หนักขึ้น ก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่ควรจะสนใจอยู่ให้ไปสนใจเรื่องใหม่ที่เรากำลังทำอยู่นั่นเอง

จะเรียกว่ากลบเกลื่อนก็ว่าได้ หลายกิจกรรมนั้นมีสิ่งที่ดีและไม่ดีสอดแทรกอยู่ เช่นถ้าเราไปหาแฟนใหม่ เราก็จะสามารถปล่อยวางแฟนเก่าได้ เพราะเราเลิกยึดแฟนเก่ามายึดแฟนใหม่แทน แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้มันแค่ถูกกลบทำเป็นลืมเท่านั้น นี่คือตัวอย่างกิจกรรมที่ไม่ดี ส่วนกิจกรรมที่ดีเช่น เรากลับไปดูแลพ่อแม่และพบว่าความรักของท่านมีคุณค่ากับเรามากที่สุด ซึ่งทำให้เราปล่อยวางรักที่จากไปพร้อมกับอดีตคนรักได้ เพราะได้พบกับความรักที่ยิ่งใหญ่กว่า นี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ดี แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะของการเปลี่ยนเรื่องอยู่ดี

การเปลี่ยนเรื่องเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่หลายคนนิยมใช้เพราะเข้าใจได้ง่ายและทำได้ง่าย ซึ่งถ้าทำแล้วเป็นกุศลก็ยังถือว่าดี แต่ก็ยังมีกิจกรรมที่เป็นอกุศลสร้างบาป เวร ภัยให้ตัวเองเช่น อกหักแล้วทำตัวเสเพล ใจแตก เที่ยวผับ เมาเหล้า บ้าผู้หญิง อย่างนี้มันก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่พาลงนรกได้เช่นกัน

2).ปัดทิ้ง

ในมุมของการปัดทิ้งจะมีรายละเอียดค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่วิธีสามัญธรรมดาคือการพยายามไม่พูดถึง ไม่ใส่ใจ ใครทักก็ทำเฉยๆ เห็นภาพเก่าๆก็ทำลืมๆไป จนมาได้ศึกษาธรรมะบ้างจึงได้พบกับวิธีการทางธรรมซึ่งเรียกว่าสมถะวิธี

สมถะคืออุบายทางใจ มีไว้เพื่อพักจิตพักใจ ใช้กดข่ม ใช้ตบ ใช้แบ่งเบาผัสสะที่เข้ามา ผู้ที่ฝึกสมถะได้มากๆจะสามารถกดข่มอาการหวั่นไหวในใจจากอาการปล่อยแต่ยังไม่วางได้ ถึงกระนั้นก็ตามสมถะก็ยังมีขอบเขตของผลที่จะได้รับแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเราจะแบ่งสมถะออกเป็นสองวิธี

2.1).เจโตสมถะ

คือการใช้พลังกดข่มเอาดื้อๆนี่แหละ หรือที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าใช้สติ , รู้ , หรืออะไรก็ตามแต่ภาษาบัญญัติเป็นลักษณะของการย้ายจิตที่จมอยู่ ณ สภาพหนึ่งเปลี่ยนไปจมอยู่อีกสภาพหนึ่งโดยการปัดผลของผัสสะ(การกระทบ)นั้นทิ้ง ยกตัวอย่างเช่น แฟนเก่าเดินมาใจเราก็หวั่นไหวแต่ด้วยความที่เราฝึกสติมาเราก็รู้ตัวว่าจิตกำลังเกิดก็ปัดอาการเหล่านั้นทิ้งไปได้ทันที ลักษณะนี้คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันเกิดไปแล้วแต่ไปปัดทิ้งไม่นำมาพิจารณาต่อ จบเรื่องไปตรงนั้น ดับไปตรงนั้นแล้วเข้าใจว่าการดับมันเป็นแบบนั้น

จริงๆแล้วมันเป็นการดับที่ปลายเหตุ ซึ่งในขีดสูงสุดที่เจโตสมถะจะทำได้คือดับทุกอาการของเวทนาที่เกิด ดับไปจนถึงสังขารหรือกระทั่งสัญญาในลักษณะกึ่งอัตโนมัติ คือเมื่อมีผัสสะแล้วเกิดอาการจะสามารถดับได้ทันทีโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็เป็นคนที่มีพลังของเจโตสมถะเต็มที่ ลักษณะจะดูเหมือนว่ามีสติเต็มแต่หากมองในทางพุทธจริงๆแล้วจะพบว่าสติไม่เต็มเพราะถูกตัดความต่อเนื่องของสติขาดไปตั้งแต่ปัดทิ้งแล้ว

ข้อดีของเจโตสมถะคือไม่ต้องคิดมาก วิธีการเรียนรู้ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน สอนกันไม่นานก็จับหลักได้ มีสอนกันโดยทั่วไป เป็นวิธีที่มีมาก่อนพุทธศาสนาและจะมีไปจนตราบโลกแตก เอาเป็นว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็มีวิธีแบบนี้

ข้อเสียของเจโตสมถะคือการใช้สติตัดอาการเหล่านั้นทิ้งเสีย จึงไม่สามารถเข้าสู่วิปัสสนาได้ แต่คนมักจะหลงว่านี่คือการวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วยังคงอยู่ในขีดของเจโตสมถะเท่านั้น การเข้าวิปัสสนานั้นต้องเริ่มที่ญาณ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ แต่วิธีของเจโตสมถะจะไม่รู้ในสิ่งเหล่านี้เลย รู้เพียงแค่ว่าจิตเกิดแล้วก็ทำให้มันดับไปเท่านั้นเอง เข้าใจการเกิดและดับเพียงเท่านั้น ไม่ได้ขุดค้นไปที่ต้นเหตุ กระทำเพียงแค่ปลายเหตุ

ซึ่งคนที่เก่งในเจโตสมถะมักจะหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมเพราะสามารถดับหลายสภาพจิตที่เกิดขึ้นในจิตได้แล้ว จะยกตัวอย่างอาจารย์ของพระพุทธเจ้าคืออุทกดาบส และอาฬารดาบส ซึ่งโดยรวมก็เป็นสายสมถะเช่นกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ยืนยันแล้วว่าไม่บรรลุธรรม

ความเข้าใจที่ว่าสติมาปัญญาเกิดนั้นยังเป็นความเข้าใจที่อธิบายได้ยากและทำให้คนหลงลืมศีล มุ่งแต่ปฏิบัติสมถะซึ่งเป็นสายหลักของเจโตสมถะ เมื่อไม่กล่าวถึงศีล ไม่มีศีลในข้อปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไปเป็นองค์รวมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ก็ย่อมไม่เกิดมรรคผล ไม่เป็นพุทธ ไม่เข้าใจในพุทธ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องศีล สมาธิ ปัญญา หากเราฝึกเพียงสติแล้วหวังจะให้ปัญญาเกิด ปัญญาที่ได้จะเป็นปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาแบบปล่อยวางทุกข์ที่อยู่ตรงหน้า เหมือนสภาพปล่อยก่อนหน้าที่จะถือ แต่ไม่มีปัญญารู้ว่าไปถือเพราะอะไร

การปล่อยวางความรักโดยใช้เจโตสมถะนี้จะไม่สามารถวางได้จริง พอเจอผัสสะเช่นแฟนเก่าเดินมา เขาแต่งงานใหม่ก็ต้องมาดับจิต ข่มจิต ปัดจิตตัวเองทิ้งเป็นรอบๆไป เจอหนักๆเข้าก็ไม่ไหวสติแตกได้เช่นกัน

2.2).ปัญญาสมถะ

เป็นลักษณะของผู้พิจารณาที่มีชั้นเชิงขึ้นมาบ้าง ใช้ปัญญาเข้ามาเสริมบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญญาทางโลก เป็นเหตุผลทางโลก เป็นสัจจะที่รู้กันในโลก ไม่ใช่สัจจะที่เกิดในใจ

ลักษณะของการใช้ปัญญาเข้ามาเสริมในเชิงของสมถะคือมีการใช้กรรมฐานเข้ามาพิจารณาร่วม ส่วนกรรมฐานจะเป็นอะไรนั้นก็แล้วแต่ว่าสำนักไหนจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาเป็นกรรมฐาน ยกตัวอย่างเช่น พอเราอกหักก็แล้วปล่อยวางไม่ได้ เขาก็จะแนะนำว่าเป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราเป็นของเรา แต่สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ใช้การพิจารณาธรรมอย่างนี้เข้ามาช่วย จะมีลักษณะเป็นรูปแบบที่ชัดเจนในการพิจารณา เป็นการใช้กรรมฐานในลักษณะเช่นเดียวกับ พุทโธ , ยุบหนอพองหนอ แต่จะนำบทธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย

โดยรวมแล้วปัญญาสมถะนั้นเหมือนจะดี มีสอนกันโดยมาก แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการใช้เหตุผลเข้ามากดข่มความทุกข์ ใช้เหตุผลเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่น เอาสัจจะ เอาความรู้ เอาตรรกะ เอาปัญญาโลกียะ เข้ามากดจิตไว้ ซึ่งก็เป็นลักษณะของสมถะเช่นกัน

ข้อดีของปัญญาสมถะนั้นก็มีมาก เพราะเริ่มจะใช้เหตุผลในการพิจารณาออกจากทุกข์บ้างแล้ว ไม่ใช่การตบทิ้งเอาดื้อๆหรือหลงเข้าใจเพียงว่าการแก้อวิชชาก็แค่เพียงรู้ รู้ รู้ เท่านั้น จะเริ่มละเอียดในจิตมากขึ้น

ข้อเสียของปัญญาสมถะนั้นก็มีอยู่ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่งธรรมแต่มักจะหลงว่าถึงที่สุดแห่งธรรม เพราะมีการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณาความทุกข์ แต่ปัญหาคือล้วงไม่สุด ล้วงไม่ลึกถึงสมุทัย เจอแค่ปัญหาปลายๆก็พิจารณาเพียงปลายๆแล้วจบลงตรงนั้นคล้ายๆว่าเราพอเจอความยึดมั่นถือมั่นเราก็จะพิจารณาแค่ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เจาะลงไปในเหตุว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นเกิดจากอะไร

พอไม่ได้พิจารณาลงไปที่เหตุกิเลสก็ไม่มีทางดับ มันเพียงแค่ซ่อนตัวอยู่เพราะมีพลังของสมถะมากดไว้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้คนหลงไปได้มาก จะมีสภาพเหมือนเข้าใจทั้งธรรมและเข้าใจทั้งทุกข์ ซึ่งโดยมากจะมีรูปแบบการพิจารณาที่เป็นแบบแผนชัดเจน ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นเพราะไม่ได้ล้วงลึกไปที่เหตุ

เหมือนกับหมอที่เห็นว่าคนไข้น้ำมูกไหลก็สั่งจ่ายยาลดน้ำมูก ทั้งที่เหตุของน้ำมูกนั้นเกิดได้มากมายหลายสาเหตุ ซึ่งอาการที่น้ำมูกไหลนั้นเป็นปลายเหตุ ลักษณะของปัญญาสมถะจะเป็นเช่นนี้ เหมือนจะแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ได้ดับไปที่รากของปัญหา

…. จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าวิถีแห่งสมถะไม่สามารถล้วงลึกไปถึงสมุทัยได้ เมื่อไม่ถึงสมุทัย ไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ ก็ไม่มีวันที่จะเข้าถึงวิปัสสนา เพราะการวิปัสสนาที่แท้จริงจะต้องเริ่มกันที่นามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ จึงจะเรียกได้ว่ากระทำวิปัสสนา คือการเห็นว่ากิเลสมันเริ่มจากตรงไหน กิเลสตัวใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดทุกข์

ซึ่งสมถะวิธีนี่เองคือตัวกั้นไม่ให้เราไปถึงสมุทัย โดยเฉพาะวิธีเจโตสมถะซึ่งจะตบทิ้งทุกๆผลของผัสสะที่เข้ามาทำให้ทุกข์ เมื่อตบเวทนา สังขาร สัญญา เหล่านั้นทิ้งไปแล้วก็ไม่เหลืออะไรให้ค้นหาเหตุแห่งทุกข์อีก ซึ่งขัดกับหลักของพระพุทธเจ้า ในบทของอาหาร ๔ ในข้อหนึ่งที่ว่า ผัสสาหาร หมายถึงคนเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตเพื่อความเจริญทางจิตใจ ต้องรู้ในเวทนาที่เกิดขึ้นและค้นต่อไปว่าเวทนาสุข ทุกข์ เฉยๆเหล่านั้นเกิดเพราะเหตุใด มิใช่จิตเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แล้วปัดทิ้ง ตบทั้ง ดับทิ้ง แบบนี้เป็นวิถีของฤๅษี

3). เข้าใจ

ก่อนที่เราจะเข้าใจสิ่งใดได้นั้นเราจะต้องเห็นทุกข์กับมันอย่างแจ่มแจ้งเสียก่อน ดังคำตรัสที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” จะลองยกตัวอย่างการเห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมในแบบโลกๆให้พอเห็นภาพกันโดยสังเขป

ครั้งหนึ่งได้กินยำไข่แมงดาแต่กลับมาพบว่าปวดหัวหายใจขัด ครั้งนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าผิดที่ไข่แมงดาหรือผิดที่เราเพราะคนอื่นกินก็ปกติดีมีแต่เราเป็น ก็เลยมีการลองครั้งที่สองครั้งนี้หายใจขัดเหมือนเดิม พูดไม่ค่อยได้ ปวดหัวตัวร้อน ยังไม่ชัดแต่ก็เริ่มมั่นใจขึ้นแล้วว่าไม่ได้ผิดที่ไข่แมงดาแน่ สุดท้ายก็เลยต้องลองให้ชัดกับยำไข่แมงดาครั้งที่สาม ครั้งนี้หายใจแทบไม่ออก หายใจได้ทีละสั้นๆ ปวดหัว เหงื่อออก หมดแรงไปทั้งตัว เลยมั่นใจว่านี่แหละ “ฉันแพ้ไข่แมงดา”

การกินสามครั้งจากคนละช่วงเวลาห่างกันนานนับปี ต่างสถานที่ทำให้เข้าใจว่าไข่แมงดาไม่ได้ผิดอะไร แต่เป็นเราเองที่ผิด ที่แพ้ไข่แมงดา หลังจากได้เห็นทุกข์จากความเจ็บปวดทรมานนั้น ก็ถามตัวเองว่าจะเอาอีกไหม อยากกินอีกไหม ครั้งหน้าอาจจะตายก็ได้นะ พอพิจารณาเข้ามากๆประกอบกับทุกข์จำนวนมากที่ได้รับจึงทำให้รู้สึกเข็ดขยาดกับไข่แมงดา

ทุกข์คืออาการแพ้ไข่แมงดา เหตุแห่งทุกข์คือเราอยากกินไข่แมงดาเพราะเขาว่าอร่อย ถ้าจะดับทุกข์ก็ไม่ต้องอยากกินไข่แมงดา ก็ใช้วิธีสำรวมกายวาจาใจไม่ให้ไปยุ่งกับไข่แมงดา

เมื่อพิจารณาดีแล้วจึงเกิดสภาพเข้าใจและยอมรับว่าไข่แมงดากับเราเข้ากันไม่ได้ เราจึงยอมไม่กินไข่แมงดาได้อย่างสบายใจ แม้ใครจะให้ฟรีก็ไม่กิน เพราะเรารู้แล้วว่ามันทุกข์มาก นี่คือตัวอย่างการวิปัสสนาแบบโลกๆทั่วไปที่ยกมาเพื่อจะพอให้จินตนาการภาพของการวิปัสสนาได้บ้าง

3.1) วิปัสสนา

วิปัสสนาคืออุบายทางปัญญา คือการทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ โดยใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ และเข้าใจวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค

วิปัสสนานั้นต่างออกไปจากสมถะจนเรียกได้ว่าไปคนละทาง เพราะสมถะนั้นใช้การดับ ปัดทิ้ง ตบทิ้ง ส่วนวิปัสสนานั้นจะใช้เวทนาจากผัสสะนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการพิจารณาหาสมุทัยต่อ ซึ่งแม้แนวทางปฏิบัติจะต่างกันมาก แต่หากผู้ใดที่สามารถเข้าใจได้ทั้งวิปัสสนาและสมถะก็จะสามารถเจริญได้ไว เพราะทั้งสองวิธีใช้เกื้อหนุนกันได้ ส่งเสริมกันได้ โดยใช้สมถะเป็นตัวพัก เป็นตัวลดปริมาณเวทนาที่เกิดจากสังขารได้ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำก่อนแล้วจึงค่อยเผา”

นั่นหมายถึงว่าในบางครั้ง บางผัสสะที่เข้ามาอาจจะมีกำลังแรงเกินกว่าที่เราจะรับไว้ เราก็ใช้สมถะตบทิ้งไปสัก 80 % เหลือไว้ 20% ไว้พิจารณาต่อก็ได้ เพราะหากเรารับไว้ทั้งหมดอาจจะเกิดอาการสติแตกได้ เมื่อคุมสติไม่อยู่ก็ไม่ต้องหวังจะพิจารณาอะไรแล้ว เพราะรากของการวิปัสสนานั้นก็ต้องเริ่มจากสติเช่นกัน แต่สตินี้ต้องเป็นสายต่อเนื่องไปจนพิจารณาจบ จะไม่กดทิ้ง ไม่ดับทิ้ง ไม่ทำเป็นลืม ไม่เปลี่ยนเรื่อง แต่เป็นการนำสิ่งกระทบนั้นๆมาพิจารณาจนเกิดปัญญาว่าเพราะเหตุใดเราจึงทุกข์กับสิ่งนั้น

3.2). วิปัสสนา…ค้นหาเหตุแห่งทุกข์

การวิปัสสนานั้นต้องเริ่มจากผัสสะ คือมีสิ่งกระทบยกตัวอย่างเช่น แฟนบอกเลิก วันเวลาผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวสั่น ตัวเย็น อยากมอง อยากสบตา อยากคุย ถ้ามีสติดีก็ให้จับตรงนี้ให้ชัดๆ ส่วนจะตบทิ้งหรือจะปล่อยก็ให้ประมาณตามกำลังที่จะทนไหว ถ้าเราเลือกไม่ทักทาย เราก็กลับมาพิจารณาต่อให้เห็นว่าทำไมมันยังเกิดอาการเหล่านี้อยู่ แน่นอนมันคือความยึดมั่นถือมั่น แต่ยึดในอะไรล่ะ? ณ ตอนนี้เราก็ต้องขุดค้นลงไปว่าเรายึดในอะไร หรือจะใช้วิธีจินตนาการก็ได้ ดูรูปเก่าก็ได้ จะเห็นว่าเมื่อเรานึกถึงเหตุการณ์ใดๆแล้วใจฟูก็นั่นแหละ เช่นดูรูปถ่ายตอนไปเที่ยวด้วยกันแล้วยังแอบมีความสุข ก็ให้ค้นลงไปอีกว่ามีความสุขเพราะอะไร เพราะในการเที่ยวครั้งนั้นเขาเอาใจ เขาจ่ายเงินให้หมด เขาดูแลเอาใจใส่เรายังกับเราเป็นเจ้าหญิง ยังไม่พอต้องขุดลงไปอีกว่าทำไมเราถึงพอใจและยินดีกับการที่เขาเอาใจใส่ เพราะเราอยากให้ใครมาดูแลใช่ไหม เพราะเราโลภใช่ไหม หรือเพราะเราอยากให้ใครเห็นความสำคัญของเรา ค้นไปค้นมาไปมั่นใจตรงที่ว่าเพราะเราชอบที่ใครมาเห็นความสำคัญของเรา แล้วทีนี้ก็ค้นไปอีกว่าทำไมเราจึงอยากให้ใครมาสนใจเรา ก็ไปเจอว่าตอนเด็กๆพ่อแม่ทำแต่งาน ไม่สนใจเราเลย จะค้นไปอีกก็ได้ เพราะจริงๆเราไม่เข้าใจพ่อแม่ เราทำอะไรเราก็อยากโชว์ อยากได้รับคำชมเมื่อไม่ได้ก็เลยน้อยใจ

เอาแค่ประมาณนี้แล้วกันนะ นี่คือกระบวนการหนึ่งของการวิปัสสนาคือการค้นไปที่เหตุ มันต้องเจอเหตุก่อนไม่ใช่ยังไม่เจอเหตุแล้วไปพิจารณา กิเลสมันจะไม่ตาย แล้วเหตุนี่ไม่ใช่เจอกันง่ายๆนะ ต้องใช้ปัญญาขุดค้นกันไปหลายรอบ บางทีเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะเจอ บางคนทั้งชีวิตก็ไม่เจอ ถ้าจะให้ดีก็ให้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ช่วยไขให้ก็จะเร็วขึ้น

เอาอีกตัวอย่างหนึ่งแล้วกัน เช่นแฟนเราบอกเลิก ผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวชา ไม่อยากคุย ไม่อยากเจอ แต่เผลอก็มองทุกที ก็เก็บเรื่องมาพิจารณาต่อค้นไปในเหตุที่ทำไมเราจึงมีอาการทุกข์ หรืออาการที่จิตนั้นหวั่นไหว ทั้งๆที่เขาทิ้งเรา เราก็โกรธเขานะ แค้นเขาด้วย แต่ทำไมมันยังมองเขา ก็ค้นไปที่ปลายแรกคือโกรธ เราโกรธเพราะเขาทิ้งเรา เขาพรากเราออกจากสภาพที่เรายังสุข เหมือนกับเขาพรากความสุขของเราไปเราจึงโกรธเขา เหตุนั้นเพราะเรามีความสุขมากจนเราเผลอประมาท ทำให้เขาไม่พอใจในบางเรื่องจนเขาตัดสินใจเลิกกับเราก็เป็นได้ ทบทวนให้ดีในส่วนนี้ล้างโกรธให้ได้ก่อน

เมื่อล้างโกรธได้ จะล้างสภาพผลักได้ ซึ่งจะเหลือสภาพดูดคือรักและคิดถึง จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดเริ่มยอมรับผิด แต่อย่าเพิ่งรีบไปขอโทษ ให้พิจารณากิเลสลงไปต่อว่า เราไปรักไปคิดถึงเขาเพราะอะไร เพราะสิ่งใดเหตุการณ์ใดที่เขาทำกับเราอย่างที่ยกไว้ในตัวอย่างแรก ค้นให้สุดๆจะพบกับรากของกิเลสของตัวเอง แล้วล้างกิเลสของตัวเองให้ได้ก่อนจะกลับไปคุยกับเขาจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าการจะปล่อยวางได้นั้นต้องหาเหตุที่ไม่ยอมปล่อยวางก่อน เราไม่สามารถปล่อยวางได้เพียงพูดว่า ปล่อยวางเพราะมันจะไม่วางจริงจะวางได้แต่คำพูดได้แต่รูปข้างนอกส่วนข้างในใจนั้นยังคงร้อนรุ่มเพราะกิเลสยังไม่ได้ถูกล้างไป แม้จะกดข่มด้วยสมถะแต่ถ้าโดนยั่วต้องใกล้ชิดหรือเจอผัสสะที่แรงมากๆก็จะกดไม่ไหวสติแตกไปได้

อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเรื่องกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย กิเลสนั้นมีทั้งหยาบ กลาง ละเอียด ถ้าเราไม่ฉลาดในการค้นหาต้นตอของกิเลสก็ไม่มีวันที่จะรักษาโรคร้ายนี้หาย มันจะยังคงแพร่เชื้อลุกลามทำลายร่างกายและจิตใจของเราไปเรื่อยๆเราต้องค้นให้เจอว่าเราไปยึดไว้เพราะอะไร จึงจะสามารถทำลายความยึดนั้นได้ เพราะถ้าไม่เห็นตัวกิเลสหรือเหตุแห่งทุกข์ การจะดับทุกข์นั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย

3.3).วิปัสสนา…พิจารณากิเลส

ทีนี้มาถึงขั้นตอนพิจารณา การวิปัสสนานั้นจะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะหลักการพิจารณาจะปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสนั้นๆ บางเรื่องต้องหนักในเรื่องกรรม บางเรื่องต้องหนักในเรื่องไม่เที่ยง และในระดับต่างกันของกิเลสตัวเดียวกันก็ใช้การพิจารณาไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าควรใช้ธรรมใดมากกว่าธรรมใดและใช้ธรรมไหนจึงจะเหมาะสม แต่ผู้พิจารณาควรรู้ด้วยตนเองว่าเรานั้นยึดติดในมุมใดมากก็ใช้ธรรมข้อนั้นแหละมาแก้กิเลสตัวนั้น คือการใช้ธรรมแก้ปัญหาให้ถูกจุด เหมือนกับการให้ยากำจัดเชื้อโรคร้ายที่ถูกตัวถูกตนโดยไม่มีผลกระทบไปถึงส่วนที่ดีอื่นๆในร่างกาย

หลังจากที่เราจับโจรหรือจับตัวกิเลสได้แล้ว เราก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจากับกิเลสหรือการพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลส โดยใช้หลักไตรลักษณ์ คือความทุกข์ของการมีกิเลสนั้นว่าถ้าเรายังมีกิเลสมันจะทุกข์อย่างไร ความไม่เที่ยงของกิเลสนั้นว่ามันไม่เที่ยงไปทางใดกิเลสมันเพิ่มหรือมันลด มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปแล้วมันเกิดใหม่อย่างไร ความไม่มีตัวตนของกิเลสนั้นว่าแท้จริงแล้วกิเลสนี้ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา กิเลสเป็นเพียงแขกที่แวะเข้ามาในบ้านเราแล้วยึดบ้านเราเป็นสมบัติของมันแล้วยังใช้เราให้ทำงานหาสิ่งของมาบำเรอกิเลส และด้วยความหลงผิดไปในบางสิ่งบางอย่างทำให้เรารับใช้กิเลสด้วยความยินดี ด้วยความสุขใจ ทั้งๆที่กิเลสไม่ใช่ของเราตั้งแต่แรก มันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตเรา

หลักการต่อมาคือการพิจารณาประโยชน์และโทษของกิเลส ว่าหากเราออกจากกิเลสนี้หรือทำลายกิเลสนี้เสียจะเกิดประโยชน์ใดบ้างในชีวิตเรา และหากว่าเรายังยึดมั่นในกิเลสนี้อยู่เรายังจะต้องรับทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียใดอีกที่จะเข้ามาในชีวิตเราในอนาคต จะสร้างภาระ สร้างความลำบากให้แก่เราอย่างไรบ้าง

และพิจารณาไปถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม ให้เข้าใจก่อนว่ากิเลสนี้คือผลของกิเลสที่สั่งสมมาในชาติก่อนๆส่วนหนึ่งและในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำลายได้เพียงแค่คิด แต่การพิจารณาไปถึงกรรมข้างหน้าที่จะต้องรับก็จะสามารถช่วยคลายความยึดมั่นถือมั่นได้ เช่นในตอนนี้ยังทำลายยากขนาดนี้ แล้วถ้าเราสะสมกิเลสมากเข้าไปอีกจะยากขนาดไหน แล้วยังมีผลกรรมที่จะเกิดจากการที่เราตามใจกิเลสนี้อีกมากมายในอนาคตที่เราต้องรับไว้ ต้องแบกไว้ เช่นหากเรายังคงเอาแต่ใจตัวเอง เราก็มักจะต้องแพ้ทางให้กับคนที่เอาใจเก่งแต่ไม่จริงใจอยู่เรื่อยไป เพราะเราหลงติดในความเสพสมใจในอัตตา พอมีคนมาสนองอัตตาได้ก็ยอมเขา สุดท้ายพอโดนพรากไปก็ต้องทุกข์ใจ

3.4).ตั้งศีล

วิธีที่จะเข้าถึงการปล่อยวางได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คิดเอา แต่ต้องทดสอบด้วยตัวเอง เพียงแค่เราตั้งศีลหรือตั้งตบะไว้ง่ายๆว่าเราจะไม่หวั่นไหวในเรื่องเขา แล้วลองเปิดรูปเก่าๆ เปิดดูข้อความเก่า ค้นอดีตทั้งดีและร้ายทั้งหมดที่มี ถ้าอดีตยังเฉยๆอยู่ก็ลองจินตนาการอนาคตไปเลยว่าถ้าเขากลับมา ถ้าเขามาง้อ ถ้าเขาไปแต่งงาน หรือถ้าเขาตายเราจะหวั่นไหวหรือไม่การตรวจเวทนาทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบันนี้เป็นการตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นไปเพื่อการล้างกิเลสเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติธรรม แม้ลมหายใจขัดเสี้ยวหนึ่งก็รู้สึกตัวแล้ว แม้กลืนน้ำลายก็รู้สึกตัว แม้จิตขุ่นเคืองก็รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้เองต้องใช้การฝึกสังเกตตัวเองให้มาก ผู้ฝึกสมถะมามากจะค่อนข้างรับรู้ได้ดีในการกระเพื่อมของจิตโดยผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเป็นตัวสะท้อนของใจ

เมื่อเราเห็นแล้วว่าเรายังหวั่นไหว เป็นเพราะเรามีกิเลส ก็ให้เราขุดค้นหารากของกิเลสดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และพิจารณาไปตามธรรมที่ควรแก่กิเลสนั้น เมื่อพิจารณาไปแล้วจะค่อยๆ เจอกิเลสที่แอบอยู่ในซอกหลืบลึกไปเรื่อยๆ ในตอนแรกมันจะเจอแค่ตัวหยาบ พอพิจารณาได้ผลสำเร็จไปก็เหมือนกับผ่านไปด่านหนึ่งก็จะเจอด่านใหม่ไปเรื่อย ซึ่งต้องอาศัยผัสสะที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จากดูรูปเก่า คิดถึงวันเก่า อาจจะต้องลองจินตนาการถึงการพบเจอ หรือถ้ามีโอกาสเจอกันก็ไปเจอไปทดสอบดูว่าเรายังเหลืออาการอะไรอีกไหม ซึ่งการทดสอบเหล่านี้อาจจะพลาดได้ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรช่วยตรวจสอบ เพราะบางทีอัตตามันจะบังไม่ให้เราเห็นกิเลส ทั้งนี้กัลยาณมิตรควรมีธรรมระดับหนึ่ง ไม่ลำเอียงเพราะเป็นเพื่อนกัน แต่ให้มองตามความเป็นจริง

…สรุป

การวิปัสสนาที่ถูกตัวถูกตนของกิเลสนี้ ถ้าเพียรพิจารณาจนรู้ว่าคลายกิเลสได้จริง จะมีลักษณะอาการเป็นไปตามวิปัสสนาญาณ ๑๖ อย่างไม่ผิดเพี้ยน การทำลายกิเลสแต่ละตัวนั้นจะมีขั้นตอนไปตามญาณเหล่านั้น เปลี่ยนกิเลสตัวใหม่ก็ต้องนับหนึ่งใหม่

ความแตกต่างของสมถะกับวิปัสสนาคือสมถะจะได้อย่างมากแค่ “เคหะสิทตอุเบกขา” ซึ่งเป็นการวางเฉยอย่างทั่วไป แบบไม่ได้ใส่ใจ แบบไม่มีปัญญา แต่การวิปัสสนาจะได้ผลสูงสุดคือ “เนกขัมมสิตอุเบกขา” คือการอุเบกขาอย่างผู้รู้แจ้ง ที่ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ในการขัดเกลากิเลสจนเกิดผลเป็นสภาวะอุเบกขาแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสภาวะอุเบกขาเหมือนกันแต่การรับรู้ภายในต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

10.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์