Tag: ศาสนา

ศรัทธา

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,536 views 1

ศรัทธา

ศรัทธา

คนไม่มีศรัทธา พาตัวเองออกจากศาสนา

คนศรัทธาน้อย พาเงินเข้าวัด

คนศรัทธาดี พาธรรมเข้าสังคม

คนศรัทธามาก พากิเลสออกจากตน

คนศรัทธาเต็ม ชี้ทางนำกิเลสออกจากผองชน

. . . . . . . . . . . . . . . . . .

คนไม่มีศรัทธาจะไม่พาตัวเองเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และจะมีทิศทางที่จะห่างออกไปจากศาสนา ห่างออกไปจากศีลธรรม มักจะมีชุดความเชื่อของตนเอง ศีลธรรมของตนเอง ยึดตนเองเป็นที่ตั้งแห่งการตัดสินใจ

คนศรัทธาน้อยจะพาเอาลาภสักการะเข้าสู่ศาสนา มีเงินก็บริจาคเงิน มีที่ก็บริจาคที่ พาตัวเองเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งหากขาดปัญญาแล้ว ศรัทธานั้นมักจะเป็นภัยแก่ตน คือไปศรัทธาอลัชชีผู้มักมาก หลอกล่อเอาลาภสักการะเข้าสู่ตน หลอกให้บริจาคทรัพย์ เวลา แรงงาน กระทั่งชีวิตให้แก่ตน

คนศรัทธาดีพอได้ศึกษาธรรมะบ้างแล้ว ก็จะมีความอยากเผยแพร่สิ่งดีๆให้กับคนอื่น ในขั้นหยาบๆมักมาในรูปของการเชิญชวนให้ทำทาน หรือให้ไปศรัทธาในอาจารย์ที่ตนนับถือ ในแบบทั่วๆไปก็คือการแจกจ่ายข้อมูลธรรมะ ตามคำบอกเล่า ตามหลักฐาน ตามที่มีที่อ้างต่างๆ มักจะเป็นธรรมะที่จำมา ซึ่งมักจะหลงผิดว่าเป็นการแจกจ่ายธรรมทาน ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่สื่อเท่านั้น ธรรมทานจะให้ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเหล่านั้นในตนจริงๆ หากผู้ใดไม่มีธรรมนั้นในตนจริงแล้วเอามาแจกจ่าย ก็เป็นเพียงผู้ที่มีส่วนช่วยในการจำและกระจายข้อมูลเท่านั้น

คนศรัทธามากจะเข้ามาปฏิบัติที่ตนอย่างจริงจัง คือแสวงหาหนทางที่จะพาตนเองให้พ้นไปจากทุกข์ให้ได้ ซึ่งความศรัทธามากนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติที่ศรัทธาอยู่นั้นถูกต้องหรือผิดทาง ถ้าผิดทางศรัทธาที่มากนั้นก็จะพาไปเข้ารกเข้าพงเข้าป่าหลงทางกันไป แต่ถ้าถูกทางก็จะสามารถทำลายกิเลสที่ตนเองหลงติดหลงยึดโดยลำดับจนสามารถเปลี่ยนอธรรมในตนให้เป็นธรรมะได้ จึงเรียกว่าเป็นผู้สร้างธรรมะให้มีในตนได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถเป็นผู้แจกจ่ายธรรมทานนั้นๆ เท่าที่ตัวเองปฏิบัติมาได้โดยไม่ผิดสัจจะ

คนศรัทธาเต็มจะมีความเห็นว่ากิเลสนั้นเป็นสิ่งชั่วจึงล้างกิเลสออกจากตนจนสิ้นเกลี้ยง ทั้งยังชักชวนให้ผู้อื่นออกจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น รวมทั้งยังกล่าวสรรเสริญคุณในกิจกรรมการงานใดๆก็ตามที่พาให้ลดกิเลส ลดการเบียดเบียน ซึ่งผู้ที่มีคุณดังนี้ก็จะสามารถชี้ทางให้คนอื่นออกจากกิเลสได้ เพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนในคุณธรรมอันสมควรก่อน จึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลัง จักไม่มัวหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความชัดเจนในความเป็นพุทธ

October 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,105 views 0

ถ้ายังมีความเห็นดังเช่นว่า ศาสนาไหนก็สอนเหมือนกัน ทางขึ้นเขามีหลายทาง ทำให้เป็นคนดี พ้นทุกข์ ถึงนิพพานได้เหมือนกัน ความเห็นนั้นยังเป็นความตื้น ความไม่ชัดในสัจจะ ความไม่ชัดเจน ลังเล สงสัย มีความเห็นผิด

พระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว คือสัมมาอริยมรรค ศาสนาไหนที่ไม่มีมรรคก็ไม่มีผล และแม้ในทางแห่งมรรคนี้ มารก็มักจะมาล่อลวงให้หลงทางได้เช่นกัน นั่นหมายถึงในมรรคก็ยังมีความลวงอยู่ในผู้ที่ไม่ชัดเจน พาให้หลงทางกันไป

การหลุดพ้นจากกิเลสกับการทำความดีนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การทำความดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส แต่การหลุดพ้นจากกิเลสคือความดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ความเป็นพุทธนั้นต้องชัดเจนในความรู้จริงว่า ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลในโลกแม้จะมีมากมาย แต่สุดท้ายแล้วความรู้ที่จะสามารถพาให้พ้นทุกข์มีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้น

ไม่ใช่รู้เพราะจำเขามา ฟังเขามา แต่เพราะศึกษาและปฏิบัติจนเห็นผลในตนว่านี่แหละ ทางนี้แหละ ทางอื่นไม่ใช่ ทางอื่นไม่เหมือนทางนี้ รู้ชัดในทางปฏิบัติทางนี้ และรู้ข้อดีข้อเสียในทางปฏิบัติทางอื่นว่าทำไมถึงไม่สามารถเข้าถึงมรรคผลอย่างพุทธได้

จะไม่มีความมัว ความไม่ชัด การเหมารวม ฯลฯ ว่าศาสนาอื่นใดหรือผู้ที่ไม่มีศาสนาจะสามารถเข้าถึงธรรมนี้ ได้ดังเช่นผู้ปฏิบัติจนสำเร็จมรรคผลโดยลำดับ

การนำเสนอภาพยนตร์ “อาบัติ” (2)

October 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,286 views 0

อ่านบทความก่อนหน้านี้ : การนำเสนอภาพยนตร์ “อาบัติ”

ผมเองไม่ได้มีความเห็นว่าควรฉายหรือไม่ควรฉายนะ โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องโลก ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะสนใจ เพราะศาสนาไม่สามารถถูกทำลายด้วยภาพยนต์เรื่องเดียวหรอก ศาสนาไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น

เพราะถึงไม่สร้างหนังเรื่องนี้ ก็มีให้ดูตามข่าวกันอยู่เกือบทุกวันอยู่แล้ว มันแสดงให้เห็นความเสื่อมของศีลธรรมในสังคมมานานมากแล้ว

ศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมได้ก็เพราะคน ถ้าคนมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ต่อให้ทำอีกสิบหรือร้อยอาบัติมันก็เท่านั้นแหละ มันก็เป็นแค่สื่อสารคดีให้เขาคนมีปัญญาเขาศึกษาเท่านั้นเอง

ศาสนาคงอยู่ได้เพราะความบริสุทธิ์ของผู้ปฏิบัติ ถ้าเอากันชัดๆก็นักบวชนี่แหละ ที่เป็นตัวแสดงภาพลักษณ์ของศาสนา

ถ้ามันจะเสื่อมลงก็เพราะคน จะเจริญขึ้นก็เพราะคน ไม่ได้เกี่ยวกับสรรเสริญ( การสร้างหนังมาชม ) นินทา( การสร้างหนังมาสะท้อนปัญหา )อะไรเลย เพราะความเป็นจริงที่ผู้คนเห็นกันทุกวันนี้มันก็ชัดอยู่แล้ว

ถ้านักบวชส่วนรวมมีความประพฤติดี เขาก็ไม่กล้าสร้างหนังแบบนี้ขึ้นมาหรอก เพราะคนจะต่อต้าน หาเรื่องซวยเปล่าๆ แต่กระแสตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น น้ำหนักมันไม่ได้ไปในทิศทางเดียว มันมีทั้งต่อต้านทั้งสนับสนุน

พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่าให้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อรักษาภาพลักษณ์เพื่อให้ได้ลาภ สักการะ สรรเสริญ แต่ให้ปฏิบัติไปเพื่อการพราก เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ที่หวงลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข

แล้วสิ่งที่ทำผิดทั้งหลายน่ะให้รีบแก้ไข ถ้ารีบแก้ไขมันก็จะไม่เสื่อม แต่ถ้าปล่อยไว้มัวแต่แก้ตัวหรือนิ่งทำเฉยมันก็จะเสื่อม ทุกวันนี้มีการแก้ไขกันเป็นตัวอย่างไหม? มีแต่อุ้มคนผิด เลี้ยงนักบวชทุศีล มันก็เสื่อมสิ พาเสื่อมปุ๊ปเดี๋ยวก็มีคนเอาไปตีแผ่อีก มันเป็นไปตามวิถีโลกอยู่แล้ว

ผมยืนยันเลยนะว่า ถึงจะฉาย”อาบัติ rate x( อย่างที่มีข่าวกันทุกวันนี้ ) พุทธก็ไม่เสื่อมไปจากคนที่มีของจริงหรอก ใครเขามีปัญญาเขาก็ศรัทธาอยู่แบบนั้น ส่วนใครสิ้นศรัทธาก็จากไป มันเป็นการคัดสรรโดยธรรมชาติเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธในมุมของผมนั้นไม่ลึกลับ เชิญใครมาดูก็ได้ว่าเราปฏิบัติเช่นนี้ เห็นเช่นนี้ ได้ผลเช่นนี้ ใครจะด่าจะว่า วิจารณ์ยังไงก็ได้ ศาสนาที่ไม่ยอมให้คนอื่นตินั้นไม่เจริญหรอก เช่นเดียวกันกับคนที่ไม่ยอมให้ใครวิจารณ์ เขาก็ยากจะเจริญเช่นกัน

ผมก็แอบสงสัยนะ ว่าการที่คิดจะแบนหรือปิดบังเนี่ย มันจะทำไปได้ตลอดหรอ ในเมื่อทุกวันนี้ก็เละเทะขนาดนี้แล้วเนี่ย

โดยส่วนตัวแล้วมองว่าถ้าปิดๆไว้ก่อนแล้วรีบแก้ไขสิ่งผิด มันก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าปิดไว้แล้วไม่แก้ไข ปล่อยให้ศีลธรรมเสื่อมแบบนี้มันจะบาปทะลักเอานะ

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,732 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์