Tag: การล่อลวง

การมีคู่/อัตตา

August 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,507 views 0

การมีคู่ คือการแสดงความเป็นเจ้าของ ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ คือลักษณะหนึ่งของ อัตตา

ถ้าเราไม่เข้าไปเป็นเจ้าของสิ่งใด ก็คงจะไม่มีเหตุให้ต้องมีความทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น

ช่วงนี้มีแมวจรแวะเวียนเข้ามาพักที่บ้าน ผมเองก็ไม่เคยเกิดความรู้สึกว่าเราจะต้องดูแลอะไรมันมากนัก ก็อยู่กันไปตัวใครตัวมัน ไม่สร้างความเป็นเจ้าของ แม้จริง ๆ เราจะมีอำนาจในการล่อลวงก็ตามที (เคยเลี้ยงมา)

ก็เลยนึกถึงการมีคู่นี่แหละ การมีคู่นี่คือจะเข้าไปเป็นเจ้าของอีกฝ่าย ไม่ให้คนอื่นได้ไป ฉันเป็นเจ้าของเธอคนเดียว ก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์นั่นแหละ แต่เป็นสัตว์มนุษย์ บำเรอด้วยรักและการตามใจ

เพราะติดเสพในตัวตนของอีกฝ่าย เลี้ยงคนก็ติดคน เลี้ยงแมวก็ติดแมว ติดความเสพในรสสุขของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในความเป็นคู่ ในความเป็นเจ้าของ ในความเป็นของของฉันเพียงคนเดียว เขารักฉันเพียงคนเดียว ฉันคนเดียวที่มีสิทธิ์จะครอบครองเขา

พอคิด ๆ ไป อันนี้มันก็ชัดเลยว่า การไปมีคู่คือสภาพอัตตาเต็มบ้อง คือไปเอาบุคคล เป็นตัว ๆ มาเป็นตัวเราของเราเลย มีแมวก็แมวเป็นตัว ๆ มีคนก็คนเป็นตัว ๆ หยาบ ๆ เห็นได้ด้วยตา เป็นอัตตาก้อนใหญ่ ๆ ที่ใคร ๆ ก็เห็นได้

คนที่เขาไม่ได้มีศีล ไม่มีธรรม เขาก็ไม่ได้เสพแค่อัตตาเดียวหรอก เขาก็ต้องเสพหลาย ๆ อัตตา หลาย ๆ ตัวตน มีชู้ มีเมียเยอะ มีนั่นมีนี่เล็ก ๆ น้อย ๆ เต็มไปหมด

พอพัฒนาศีลธรรมขึ้นมา ศรัทธาเพิ่มขึ้นมา มีความเห็นไปในทางที่จะพาไปพ้นทุกข์มากขึ้น ก็จะลดลงมาเหลืออัตตาเดียว คือไปตกลงกันว่าเธอเสพฉัน ฉันเสพเธอ จับคู่กันบำเรอกามแก่กัน อันนี้ก็ยังดีขึ้นมากว่าขั้นก่อน ก็ไม่ได้เบียดเบียนไปทั่ว เหลือแต่เบียดเบียนกันเองนี่แหละ มีกันเอง ยึดกันเอง

ต่อมาพัฒนาลดละตัวตนไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่เหลือคู่ไง ตัวตนข้างนอกมันหยาบ มันเป็นทุกข์ มันกำหนดไม่ได้ มันไม่ยั่งยืน สุดท้ายทุกข์จะสอนว่า การมีคู่นี่มันเป็นทุกข์มาก ๆ เลย ก็เลยต้องปฏิบัติสู่การละวางความยึดอัตตาในความเป็นคู่

ละวางความเป็นกันและกัน ละวางความเป็นเจ้าของ ปล่อยสัตว์เข้าป่า ปล่อยคู่เป็นอิสระจากความผูกพัน ปล่อยให้พ้นไปจากความหลง อันนี้เป็นบุญกุศลมากเชียวหละ เงินก็ไม่ต้องเสีย เสียแต่อัตตา …เพียงแต่คนเขาไม่ชอบทำแบบนี้กัน มันสวนทาง

คนส่วนใหญ่เขาก็ยึดอัตตา ยึดเขาหรือเธอมาเป็นตัวตน มันก็แบก มันก็หนัก ส่วนคนทวนกระแสเขาก็ไปอีกทาง ก็หัดละวางตัวตน ก็เริ่มจากที่มันไกล ๆ ตัวเราก่อน คือวางตัวคนอื่นนั่นแหละ ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตเรา ไม่ต้องเอามาแบกก็ได้

กุศลสูงสุดของความสัมพันธ์คือ อย่าไปเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใครเลย

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
15.8.2563

ทุกข์จากความรัก คืออาหารของปัญญา

March 11, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 683 views 0

เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม คือข้อธรรมที่เผยแพร่เป็นที่รู้กันโดยมาก เนื้อหาสั้น ๆ เหมือนจะเข้าใจง่าย แต่จริง ๆ เข้าใจได้ยากมาก

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกิเลสมันจะบังไว้ไม่ให้เห็นธรรม จะมีก็แค่ได้เป็นทุกข์เท่านั้นเอง ถ้าไม่ชีวิตไม่เจอสัตบุรุษ ไม่มีทางเห็นธรรมแล้วพ้นทุกข์ได้เลย

คนทั่วไป เมื่อมีทุกข์จากความรัก เขาจะไม่สามารถย่อยทุกข์นั้นไปเพิ่มเป็นปัญญาได้ เขาทำได้แค่เปลี่ยนทุกข์นั้นเป็นตัณหา

เช่นเขาอกหัก ช้ำรัก เขาก็เอาความทุกข์นั้นแหละ เป็นพลังในการเปลี่ยนตัวเองให้น่าเสพมากขึ้น คือเอาไปเพิ่มกามเพิ่มอัตตา เพื่อที่จะได้เพิ่มกำลังในการล่อลวงหลอกใจคนให้หลงในตัวตนของเขามากขึ้น หรือไม่ก็ไปเพิ่มข้อเรียกร้องในการเลือกคู่ให้มากขึ้น กลัวมากขึ้น กังวลมากขึ้น หวังจะเสพสุขที่มากขึ้นจากความผิดหวังในความรัก

ถ้าไม่ไปเพิ่มฝั่งกาม คือฝั่งหาคู่ยิ่ง ๆ ขึ้น ก็เพิ่มฝั่งอัตตา คือยึดดี ยึดมั่นถือมั่น เกลียดความรัก ชังความรัก เหม็นความรัก เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา คือจริง ๆ ตัวเองต้องการเสพความรัก แต่มันเจ็บ แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยกดไว้ด้วยความเกลียดชัง ยึดดีถือดี

คนโลกีย์เขาก็ทำได้แค่เท่านี้ ไปได้สองฝั่ง ไม่กามก็อัตตา นรกทั้งสองฝั่ง

ที่ว่าทุกข์จากความรัก คืออาหารของปัญญา นั้นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้ว เพื่อที่จะใช้ทุกข์นั้นเป็นตัวพิจารณาในการละหน่ายคลายจากความหลงรัก ใช้ทุกข์นั้นเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เข้าใจธรรมะ เข้าใจตามที่ครูบาอาจารย์ เข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ไม่มีรักเลย ไม่ทุกข์เลย คือสภาพจิตเช่นใด

มันจะเป็นปัญญาก็ตรงนี้ ตรงที่ใช้ประโยชน์ให้ถูก คือใช้ทุกข์มาเป็นเครื่องมือในการล้างโลภ โกรธ หลง ถ้าเอาทุกข์ไปใช้เพิ่ม โลภ โกรธ หลง อันนั้นจะกลายเป็นว่าทุกข์คืออาหารของตัณหา

แม้ทุกข์แบบเดียวกัน เกิดเหมือนกัน แต่จิตคนต่างกัน มีความเห็นความเข้าใจต่างกัน ก็จะปฏิบัติต่างกันไป

ดังนั้นเวลาศึกษาธรรมก็ระวังให้ดี ไปเจอคนมิจฉาทิฏฐิเรื่องความรักสอนธรรมนี่จะไปคนละทิศเลย คือไปทิศเพิ่มตัณหา เพิ่มปัญหา เพิ่มทุกข์ เพิ่มความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ตั้งตนเป็นโสด ไม่ล่อลวงให้ใครมารักมาหลง

February 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 561 views 0

การปฏิบัติอย่างหนึ่งของการประพฤติตนเป็นโสด คือการสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปล่อลวงใคร ในขั้นของมรรคก็จะสังวรในข้อปฏิบัติ ถือเอาสิ่งเหล่านี้เป็นทาง อาจจะไม่ได้รู้โทษชั่วของการล่อลวงชัดเจน แต่ก็พยายามทำไปตามที่ครูบาอาจารย์สอน

แต่เมื่อปฏิบัติจนถึงผล จิตจะเปลี่ยนไป การสำรวมเหล่านั้นจะไม่ได้มีเพื่อตัวเอง แต่ทำไปเพื่อคนอื่น 100% คือ เราจะรู้สึกสงสารเขา ที่เขามาหลงเราในประเด็นที่ไม่ใช่ประโยชน์แท้ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เราก็จะปิดช่องเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ เท่าที่ทำได้

ในขั้นมรรคจะมีหิริโอตตัปปะไม่เต็มรอบ แต่ถ้าขั้นผลจะมีหิริโอตตัปปะเต็มรอบถ้วนสมบูรณ์ จะรู้จักบาปชัดเจน ดังนั้นตัวเองจึงไม่ทำและไม่นำพาให้คนอื่นทำด้วย

เมื่อปฏิบัติตนเป็นโสดจนถึงผล จึงไม่มีเจตนาที่จะสร้างอาการกิริยาใด ๆ ที่จะไปทำให้ใครเขาชอบชื่นใจ รูปก็จะลด แต่งตัวแต่งหน้านี่ไม่มีแล้ว แต่แต่งให้ถูกกาลเทศะก็อีกเรื่อง แต่ใจจะไม่เอาแล้ว กลิ่นนี่ไม่ต้องเติมให้หอมเลย เอาแค่ไม่เหม็นไปเบียดเบียนชาวบ้านก็พอแล้ว เสียงนี่ก็จะไม่ปรุงให้มันเด่น ไม่มีเสียงสองเสียงสาม มีแต่เสียงปกติ กิริยาท่าทางก็ลดลง เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องมาทำท่านั้นท่านี้ ผู้ชายปกติจะไม่ค่อยมีอยู่แล้ว แต่ผู้หญิงจะมีท่ามาก เล่นหูเล่นตา ลีลามาก กรีดกราย มือไม้จะมีท่าเยอะ อาการสะดีดสะดิ้งต่าง ๆ ตรงนี้ก็จะลดลงจนถึงขั้นไม่มีเลยเป็นปกติ คือปกติจะไม่ใช้ ถ้าจะใช้ก็ใช้ทำเพื่อเป็นประโยชน์

เมื่อจิตมีหิริโอตตัปปะ จะสะดุ้งกลัวต่อบาปแห่งการล่อลวง เขาจะร้สึกได้เองว่าการกระทำใด ทางกาย วาจา ใจ มีผลให้คนหลงรัก เขาจะกลัวบาปและเลิกทำสิ่งนั้น มันจะพลาดและเรียนรู้แล้วจะลดลงไปเรื่อย ๆ เป็นลำดับ

ส่วนคนไม่มีธรรมดังกล่าว หรือปฏิบัติไม่ถึงผล อย่างเก่งก็จะได้แค่ภาษา คือเข้าใจธรรมตามที่ครูบาอาจารย์สอน แต่ไม่มีสภาวะ คือจิตไม่ได้เป็นไปตามนั้น มันก็จะไม่รู้สึกผิดบาปอะไร แม้ตนจะจมอยู่กับบาปเหล่านั้นก็ตาม

ใช่ว่าบัณฑิตจะจีบไม่เป็นนะ จริง ๆ เก่งกว่าคนเจ้าชู้เสียอีก

February 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 609 views 0

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่เขาประพฤติตนเป็นโสด คนเขาก็รู้กันว่านั่นคือบัณฑิต … ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจีบไม่เป็นเลยไปเอาดีทางธรรมนะ แต่มันตรงกันข้าม เพราะจริง ๆ เขาเข้าถึงที่สุดของการจีบและพบว่ามันไม่มีประโยชน์ต่างหาก

คนที่ปฏิบัติตนจนเข้าถึงผล ในเรื่องการปฏิบัติตนเป็นโสด จะมีความรู้ที่เกี่ยวกับการจีบ การล่อลวงให้คนรักคนหลงที่มากเป็นพิเศษ เรียกว่าเกินสามัญ เพราะสามัญเขารู้แค่จะทำอย่างไรให้จีบติด แต่ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วจะรู้ไปถึงอะไรเป็นประโยชน์แท้ อะไรเป็นบาป เป็นทุกข์ โทษ ชั่วอีกด้วย

ถ้าจะให้นึกปรุงจิตมันก็ปรุงได้หมดนั่นแหละ จะล่อลวงเขายังไง จะทำให้เขามารักยังไง จะหลอกให้คนมาหลงรักหัวปักหัวปำยังไง มันง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย แต่ปัญหาคือมันทำแล้วไม่พาพ้นทุกข์ ตัวเองก็ต้องลำบาก เพราะทำอกุศล ส่วนคนอื่นก็หลงมัวเมา ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นเลย

ดังนั้นเมื่อรู้โทษชั่วดังนั้น ก็เลยไม่ทำชั่ว ไม่ไปจีบใคร เหมือนกับพระเจ้าอโศกมหาราช เก่งขนาดปราบทั้งแผ่นดิน แต่สุดท้ายก็เลิกการฆ่า สนับสนุนการไม่กินเนื้อสัตว์ ถามว่าท่านฆ่าเป็นไหม? ตอบว่าสุดยอดนักรบเลยก็ว่าได้ จะฟันตรงไหน จะแทงตรงไหนให้ชนะ ท่านรู้หมดนั่นแหละ แต่ท่านก็เลิกทำ เพราะมันเบียดเบียนและไม่เป็นประโยชน์กับใคร

ท่านรู้แล้วว่าการเบียดเบียนมันเป็นโทษแล้วก็เลิก กลับตัวกลับใจ เอาอำนาจที่ตนมีมาทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่พระพุทธศาสนา

ดังนั้น จะเรียนรู้ก็รู้ให้สุด เก่งก็เก่งให้สุด รู้ให้แจ่มแจ้งถึงหมดทุกข์หมดสุข แล้วที่เหลือก็เลือกเอาว่าจะทำอะไร

ผมท้าเลย คนเจ้าชู้ที่จีบเก่ง ๆ เนี่ย เขาไม่มีปัญญาพาคนออกจากวังวนของความรักได้หรอก พาเข้าได้ แต่พาออกไม่เป็นไง อย่างเก่งก็มอมเมาเขาไปเรื่อย ๆ แต่จะให้พ้นทุกข์ พ้นชั่ว พ้นหลงนี่เขาทำไม่ได้หรอก