Tag: การสะสม

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

April 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,141 views 0

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

การมี การได้รับ การได้ครอบครอง หรือการได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นได้ความรู้สึกสุขก็จะยึดมันไว้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสะสม

นักสะสมนั้นสามารถสะสมได้ตั้งแต่วัตถุที่เป็นรูปธรรมจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เรียกได้ว่าติดสุขในอะไรก็มักจะสะสมสิ่งนั้น และสิ่งที่เราทุกคนนิยมสะสมกันมากที่สุดก็คือการสะสม “กิเลส

กิเลสเป็นพลังที่พาให้คนหลงไปในสุขลวงในมุมที่แตกต่างกัน บางคนไปสุขกับการสะสมสิ่งของ บางคนสุขกับการสั่งสมคนรัก บางคนสุขกับการได้รับคำสรรเสริญเยินยอ เมื่อได้รับสิ่งใดก็จะยิ่งอยากได้รับสิ่งนั้นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นคนที่กระหายใคร่อยากจะเสพในสิ่งที่ตนหลงรักและชอบใจ

การสะสมกิเลสนั้นง่าย มีคนเก่งในการสะสมกิเลสมากมาย ยิ่งสนองกิเลสตนเองและกระตุ้นกิเลสผู้อื่นได้มากเท่าไหร่ก็มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนที่มีคุณค่าต่อโลก ฯลฯ

ต่างจากการเลิกสะสมกิเลส การลดกิเลส การละกิเลส การทำลายกิเลส เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก แม้จะเห็นแต่ก็ไม่ใยดี ไม่ยินดีที่จะลดกิเลส เพราะเข้าใจว่าการสะสมกิเลสมันได้สุขมากกว่า

ถึงแม้จะสนใจก็ใช่ว่าจะหาคนที่พาลดกิเลสได้ง่ายนัก เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในกระแสของกิเลสที่เชี่ยวกราก ยากแท้จะหาผู้ใดที่สามารถจะทวนกระแสของกิเลสนั้นได้ และยากยิ่งกว่าคือการจะพาตัวเองออกจากกระแสของกิเลสไปเจอคนเหล่านั้น จึงได้แต่ปล่อยให้ชีวิตลอยไปตามกระแสของกิเลส สนองกิเลส สะสมกิเลส เสพสุขอยู่ในโลกอย่างไม่จบไม่สิ้น

เมื่อเสพสุขอยู่แต่เรื่องโลก ไม่ว่าจะในระดับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม หรืออัตตา ต่างก็ล้วนสร้างความยึดมั่นที่ตรึงตนเองให้อยู่ในโลกมากขึ้น แม้จะต้องทนทุกข์จากกิเลส แต่ก็จะหลงมัวเมาจนไม่สามารถมองเห็นกิเลสได้ เหมือนกับปลาที่อยู่ในน้ำย่อมหมายเอาว่าแม่น้ำนั้นแหละคือที่อาศัยของมัน และโลกเหนือน้ำไม่มีอยู่จริง ถึงจะมีจริงก็อยู่ไม่ได้

แท้จริงแล้วกิเลสนี้เองคือสิ่งที่ยึดเราไว้กับโลก ยิ่งเราสะสมกิเลสมากเท่าไหร่ แรงยึด แรงที่ดูดดึงไว้กับเรื่องโลกก็จะมากเท่านั้น ดังนั้นการจะพยายามทวนกระแสโลก การจะออกจากโลก จนกระทั่งการจะอยู่เหนือโลกที่เรียกกันว่า “โลกุตระ” นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ในวิสัยของนักสะสม

กิเลสจะบังตาของนักสะสมไว้ เรียกว่าเห็นก็ไม่ได้ ถึงเห็นก็ไม่รู้ ถึงรู้ก็ไม่เข้าใจ ถึงเข้าใจก็เป็นเพียงตรรกะหรือคำบอกเล่าที่ยินได้ฟังมา

แม้จะพยายามยอมตัดใจเลิกสะสม แต่กิเลสก็มักจะเหนี่ยวรั้งไว้ ถึงจะเลิกอย่างหนึ่งก็ไปติดอีกอย่างหนึ่ง ถึงจะบังคับข่มใจอย่างไรก็จะมีแต่ความทรมานที่กิเลสมอบให้ บังคับให้นักสะสมเหล่านั้นกลับไปเสพด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ

ดังนั้นการสะสมจึงกลายเป็นนรกที่ตนเองสร้างไว้ขังตัวเอง ยึดสะสมมากก็ยิ่งลึกมาก ยิ่งปีนขึ้นมายาก ต่อให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถขนาดไหน ต่อให้ได้ปริญญาเอกเป็นร้อยใบ ต่อให้ได้ชื่อว่าฉลาดรอบรู้และเป็นที่ยอมรับในสังคม ต่อให้เป็นนักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมที่เคร่งศีล ต่อให้นักรบที่ว่าแน่แค่ไหน ผ่านความเจ็บปวดความเสี่ยงตายมาเท่าไร แต่ถ้าไม่ได้เรียนวิชาล้างกิเลสก็จะไม่สามารถหลุดออกจากห้วงนรกของการสะสมกิเลสที่ลึกสุดลึกได้

นรกของนักสะสมจึงกลายเป็นหลุมดำที่คอยดูดคนที่หลงสุขลวงเข้าไปเสพสุข กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มั่วกาม เมาอบาย บ้าอัตตา จึงกลายเป็นนรกที่ต้องเผชิญไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตที่หลงเข้าใจว่าเป็นความสุขแท้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

April 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,771 views 0

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสมสิ่งที่ไร้สาระไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตนั้น เป็นเพราะกิเลสพาให้หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งลวง ให้จมอยู่กับสุขลวงและเหลือทิ้งไว้แต่ทุกข์แท้ๆ

เราสามารถสะสมอะไรได้หลายอย่างทั้งที่เห็นเป็นรูปและไม่มีรูป ที่เห็นเป็นรูปก็เช่น ของสะสมต่างๆ แสตมป์ ตุ๊กตา ซีดี ต้นไม้ เสื้อผ้า บ้าน รถ เงิน ฯลฯ และที่ไม่มีรูปเช่น การยอมรับ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี ความสุข เป็นต้น

เมื่อเราหลงไปสะสมอะไรก็ตาม นั่นหมายถึงเรากำลังสะสมกิเลสไปทีละน้อย การสะสมกิเลสหมายถึงการทำบาป สรุปแล้วผู้ที่หลงมัวเมาสะสมสิ่งใดๆที่ไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตคือผู้ที่สร้างบาปให้แก่ตนเอง

เพราะยิ่งสะสม ก็ยิ่งอยากได้ เมื่ออยากได้ก็จะเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็ต้องไปหามาเสพ เอามาสะสมให้สมใจ เมื่อได้เสพก็สุขอยู่ชั่วครู่แล้วก็จางหายไป แล้วก็จะอยากได้สิ่งใหม่อีก เป็นทาสกิเลสแบบนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น จึงกลายเป็นผู้ที่สร้างบาป เวร ภัย ให้กับตน เพราะเอาแต่สิ่งที่ไม่มีสาระมาเป็นแก่นสารสาระในชีวิต ดังนั้นจึงทำให้ชีวิตนั้นไร้สาระ

แม้ว่าสังคมจะให้การยอมรับผู้ที่สะสม ผู้ที่มีมาก แต่นั่นก็เป็นแค่เสียงสะท้อนจากสังคมอุดมกิเลส ผู้ที่หลงมัวเมามักจะชักชวนกันให้จมอยู่ในห้วงแห่งความหลงเสพหลงสุข พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครพรากความสุขไปง่ายๆ นั่นหมายถึงการไม่ยอมให้ใครได้หลุดออกจากนรกของการสะสมด้วย

สังคมที่พาให้สะสมกิเลสนั้นไม่ใช่สังคมของบัณฑิต แต่เป็นสังคมของคนพาล แม้ว่าผู้สะสมจะมีหน้าตาในสังคม มีฐานะดี มีการศึกษาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนดีแท้ เพราะถ้าเขาเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลสแล้วล่ะก็… สามารถและคุณสมบัติที่มีก็จะกลายเป็นความสามารถที่จะสร้างนรกได้มากพอๆกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนธรรมดาสะสมต้นไม้ ก็คงจะไม่มีใครให้ความสนใจต้นไม้นั้นมาก แต่ถ้ามีดาราหรือผู้ใหญ่ในสังคมสะสมต้นไม้แล้วล่ะก็ ผู้คนก็จะให้ความสนใจกับต้นไม้นั้นมากขึ้น สิ่งนี้เองคือการสร้างบาป สร้างนรกที่มากกว่า ในผู้ที่ได้รับการยอมรับในสังคม

เมื่อเราให้เวลา ให้ทุน ให้ชีวิตไปกับการสะสม ไปสร้างบาป เวร ภัย ให้กับตัวเอง เราก็จะต้องเสียโอกาสในการทำกุศล แทนที่เราจะเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้สาระแท้ของชีวิต เอาไปทำประโยชน์ให้แก่ตนและผู้อื่น เอาเงินที่ใช้สะสมเหล่านั้นมาบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ใช้ชีวิตไปเพื่อตนและผู้อื่น ไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อสนองกิเลสในตน หรือมีชีวิตเป็นเพียงแค่ทาสกิเลส

เมื่อเสียโอกาสสร้างกุศล และใช้เวลากับการสร้างบาปที่เกิดอกุศลในเวลาเดียวกัน ก็หมายถึงการสะสมสิ่งชั่วและละเว้นการทำดี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราสร้างกรรมชั่วเพิ่มมากขึ้นและใช้กรรมดีเก่าที่ทำไว้เพื่อดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขด้วยการบำเรอกิเลส

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น

แต่การสะสมที่เป็นบุญและได้กุศลนั้นมีอยู่ นั่นคือการสะสมอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ทางนามธรรม ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของมนุษย์ ส่วนหนึ่งสามารถเกิดได้จาก “การไม่สะสม” การได้พบสัตบุรุษ การได้ฟังสัจธรรม การปฏิบัติสัมมาอริยมรรค และทรัพย์หรือคุณสมบัติที่จะติดตัวไปตลอดกาลนานทั้งหมดนั้นคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ธนสูตร ข้อ ๖)

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

February 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,698 views 0

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

ในชีวิตเรานั้นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ อาจจะรู้จักแค่คำว่าสะสม ไม่ว่าจะสะสมการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ สะสมทรัพย์สินเงินทอง สะสมสิ่งของ สะสมบ้านและรถ สะสมบริวาร สะสมบารมีชื่อเสียง สะสมความรัก สะสมความสุข ฯลฯ

เป็นเรื่องสามัญที่คนเขาทำกันทั่วไปในโลก จะว่ายากก็ยาก เพราะกว่าจะได้มาในแต่ละอย่างที่หวังไว้นั้น บางทีเอาทั้งชีวิตไปแลกก็ไม่พอ

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้ามีพลังของกิเลสเป็นตัวผลักดันแล้วล่ะก็ เราก็จะยินดีถวายชีวิตเพื่อที่จะให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพมาสะสม กิเลสจะทำให้เรายินดีเผาพลังชีวิตไปเพื่อให้ได้ความสุขที่ได้สะสมสิ่งเหล่านั้น

แต่การเลิกสะสมนั้นยากกว่าการสะสมมากนัก มีนักสะสมที่เก่งมากมาย รวบรวมของหายากมาไว้กับตัว เราสามารถเห็นนักสะสมทั้งสิ่งของ ความรู้ความสามารถ ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งของ โลกธรรมได้ไม่ยากนัก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นโดยทั่วไปในโลก แต่เรากลับไม่สามารถหาคนที่เลิกสะสมได้ง่ายนัก

การเลิกสะสมจึงเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในโลก ใครที่มีความรู้สึกที่อยากจะเลิกสะสม อยากสละ ไม่อยากเอามาเป็นภาระ เขาเหล่านั้นก็คือผู้พ้นภัยจากการสะสมจากสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

การจะสะสมนั้นต้องมีกลยุทธ์ในการแสวงหา มีขั้นตอนในการหามาครอบครอง เช่นอยากรวยก็ต้องเรียนในเรื่องที่ทำรายได้สูงๆ อาชีพที่รายได้ดี มีการเติบโตเจริญก้าวหน้าที่รวดเร็วหรือถ้าอยากรวยลัดก็เล่นพนัน หวย หุ้น ถ้าระดับหยาบๆ รวยลัดและมักง่ายก็ขายของเถื่อนหรือขโมยของกันเลย

การเลิกสะสมนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ในการสละออกเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันนี้ สิ่งที่คนเราสะสมล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไร้สาระและมอมเมาคน หากเราสละออกอย่างไม่มีศิลปะ สิ่งที่เราคิดว่าสละแล้วพ้นจากตัวของเราอาจจะไปก่อเวรภัยสร้างภาระให้กับคนอื่นก็ได้ การสละออกต้องใช้ปัญญาและศิลปะอย่างมาก ไม่ใช่แค่ปัดให้พ้นตัวเราเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย

ตอนที่เราสะสมมันจะมีกิเลสมาสร้างสุขลวงให้ แต่ตอนที่เราเลิกสะสมแล้วมันจะไม่มีกิเลสตัวเดิมนั้น ไม่มีความรู้สึกอะไรให้อยากเก็บไว้ ดังนั้นสิ่งที่เก็บสะสมไว้ก็จะกลายเป็นภาระทันที แต่เรามักจะไม่สามารถโยนภาระออกไปทันทีได้ เพราะวิบากบาปที่เราสะสมมาจะทำให้เราสลัดออกได้ไม่ง่ายนัก เราจึงต้องเรียนรู้การสละออกอย่างไม่ให้เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น

ซึ่งการสละออกอย่างไม่เป็นโทษ นั้นยากกว่าการแสวงหาและสะสมมากนั้น ต้องมีศิลปะและชั้นเชิงอย่างมากเพราะต้องรักษาความเป็นกุศลไว้ ส่วนการสะสมนั้นไปในทางอกุศลอยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็อกุศลอยู่ดี ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีผู้รู้ทั้งหลายออกมาเผยแพร่วิธีให้เป็นนักสะสมกันมากขึ้น เพราะมันไม่ต้องระวังอะไร แค่มีให้สะสมก็พอ ยิ่งสะสมได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นอกุศลเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะเห็นอกุศลเป็นกุศล เห็นสิ่งชั่วเป็นสิ่งดี เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ชีวิตฟุ่มเฟือย

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,910 views 0

ชีวิตฟุ่มเฟือย

ชีวิตฟุ่มเฟือย

… เมื่อชีวิตที่มีถูกใช้ไปเพื่อสนองกิเลส

ชีวิตในสังคมเมืองปัจจุบันนั้นดูรีบเร่งและกดดัน คงมีไม่น้อยที่ต้องลำบากตั้งแต่เช้า ขึ้นรถสาธารณะที่คนแน่นจนขยับแทบจะไม่ได้ รถติดอยู่นานทั้งที่ลงทุนตื่นเช้า ทำงานอยู่กับความกดดันและน่าเบื่อจนหมดวันก็ต้องหอบชีวิตฝ่ามวลชนผสมรถติดกว่าจะถึงบ้านเพื่อที่จะได้เงินมาดำรงชีวิตและ…สนองกิเลส

เราใช้เงินในการดำรงชีวิตจริงๆไปเท่าไร เราเสียเงินให้กับกิเลสไปเท่าไร หากเราได้ลองทำบัญชีอาจจะพบว่าเรามักจะยินดีเสียเงินให้กับสิ่งฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นในชีวิตมากมาย แน่นอนว่าเรามักจะยอมแลกเงินและความเหนื่อยยากเหล่านั้นไปเพื่อการเสพสุข เรามักจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการใช้เงินมาสนองกิเลสตัวเอง เรามักจะปลอบตัวเองว่าไม่ผิดหรอกถ้าฉันจะใช้เงินที่ฉันหามาเพื่อสนองกิเลสของตัวเอง

ชีวิตที่เป็นทาสของกิเลสมันก็ต้องวิ่งวนหาเงิน ทำบาป ทำอกุศลเพื่อไปบำรุงบำเรอกิเลสแบบนี้ เพราะหลงว่าต้องเสพจึงจะเป็นสุข เข้าใจว่าความสุขเกิดได้จากการเสพเท่านั้น กิเลสจะไม่ปล่อยให้เราเข้าใจคำว่า “สุขกว่าเสพ” เป็นเหมือนคำในอุดมคติที่ไม่มีจริง เพราะเห็นกันอยู่เต็มๆตาว่าการกินของที่ชอบ ไปเที่ยวที่ที่อยากไป ได้ของที่ใฝ่ฝันนี่มันรู้สึกสุขอยู่จริงๆ

ความสุขที่ได้รับจากการเสพนั้นเป็นของจริง เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่สุขจริง เพราะมันคือ “สุขลวง” เป็นสุขที่กิเลสสร้างขึ้นเพื่อให้เราหลงเสพไปเรื่อยๆ ให้ขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำประหยัดอดออมไว้เพื่อสนองกิเลส

เรามาดูลีลาของกิเลสที่สามารถเห็นได้ทั่วไป ซึ่งกลายเป็นเรื่องทั่วไปเสียแล้วหากคนจะยอมรับกิเลสเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่กิเลสนั้นทำอะไรกับเราบ้าง ถ้าเราไม่มีกิเลสจะดีอย่างไร ลองมาอ่านกัน

!เนื้อหาหลังจากนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านระมัดระวังความรู้สึกดังเช่นว่า ฉันก็สุขของฉัน, มันเรื่องของฉัน, ความสุขของฉัน, สิทธิของฉัน, คนเราไม่เหมือนกัน, คนอื่นเขาก็ทำกัน, คนเราเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม ฯลฯ เพราะความเข้าใจเหล่านี้คือ “กิเลสของฉัน” ทั้งสิ้น ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายระวังอาการกลัวของกิเลส ซึ่งมันจะร้อนตัว ต่อต้าน ไม่ยอมให้เราพิจารณาเรื่องของมัน พึงระวังกันไว้ให้ดี

1). อบายมุข

ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้า เบียร์ การพนันต่างๆ ล้วนเป็นความอยากที่เป็นภัยมาก ซึ่งจริงๆแล้วชีวิตเราไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้เลย มันไม่จำเป็นเลย แต่เราก็ไปยึดมันมาเป็นของเรา ทำให้ต้องเสียทั้งเงิน เสียเวลา เสียสติ หรือกระทั่งเสียชีวิต เพราะต้องวนเวียนอยู่ในสถานที่และเวลาที่ไม่สมควร

เราใช้เงินจากการทำงานหนักมาเพื่อเสพสิ่งไร้สาระเหล่านี้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์ยังเป็นโทษอย่างมาก แต่เรากลับมองแต่ด้านประโยชน์ สูบบุหรี่แล้วโล่ง มีความสุข…แต่คนไม่สูบเขาก็สุขนะ กินเหล้าแล้วสบายใจได้ปลดปล่อย…แต่คนไม่กินเขาก็สบายใจนะ เป็นลักษณะของคนที่ต้องเสพจึงจะเป็นสุข แถมยังหลงไปอีกว่าคนอื่นไม่รู้หรอกว่าสุขเพราะเสพอย่างตนดีอย่างไร กลายเป็นทาสผู้จงรักภักดีต่อกิเลสแม้ว่ามันจะผลาญทรัพย์สิน สุขภาพ เวลา และชีวิตไปก็ตาม

2). สิ่งบันเทิง

การมัวเมาเสพสิ่งบันเทิงนั้นก็เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ไม่ต่างกับอบายมุขเท่าไรนัก เช่นการดูละครน้ำเน่า การดูกีฬา เทศกาลดนตรี ละครเวทีที่นำเสนอเรื่องราวบันเทิงต่างๆ หลงคลั่งไคล้ดารานักแสดง สิ่งเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นในชีวิตเลยสักนิดเดียว ไม่มีสาระอะไร ถึงจะไม่ได้เสพก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือแย่ลง

แต่คนที่หลงมัวเมายึดสิ่งเหล่านี้ไว้จะมีความสุขความทุกข์ไปกับมัน เช่นเชียร์กีฬา พอฝ่ายที่เราเชียร์ทำแต้มได้ก็ดีใจ แต่พอเสียแต้มก็เสียใจ พอเขาทำไม่ถูกใจก็ขุ่นใจ มันหลงเอาตัวไปผูกกับเรื่องเล่นๆแบบนี้ ทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องจริง เขาแข่งกันให้เราดู ให้เราบันเทิง มันเป็นสิ่งบันเทิงใจแบบหนึ่ง เป็นกิเลสแบบหนึ่ง ถึงเขาจะชนะหรือแพ้มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเราเลย

ด้วยความที่เราหลงไปยึดมันหนักเข้าจนมัวเมา จึงกลายเป็นการทะเลาะกันระหว่างคนที่ชอบคนละฝ่าย มีการเย้ยหยัน กดดัน ดูถูกกัน ข่มกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลงมัวอย่างมาก จนกระทั่งมีการอวดกัน เอาชนะกัน ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันก็มีให้เห็นมาแล้ว ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากเรื่องเล่นๆ ไม่มีสาระ จะมีเรื่องเหล่านั้นหรือไม่มีก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา แต่เราก็กิเลสหนา กิเลสเลยพาหาเรื่องเข้าไปเกี่ยวจนได้

3). อาหารการกิน

มีคนมากมายเสียเงินให้กับการกิน กินของเดิมๆก็ไม่พอใจ กิเลสมันไม่ยอม ต้องไปกินของอร่อยที่เขาว่าดีว่ายอด ต่อให้ต่างประเทศก็จะบินตามไปกิน มันหลงในการกินแบบนี้ หลงว่าการติดรสมันสุขมาก จึงยินดีลำบากเอาเงินที่มาจากการทำงานไปสนองกิเลสในเรื่องกิน เริ่มที่จะอยู่เพื่อกิน ไม่ได้กินเพื่ออยู่อีกต่อไป

สิ่งที่เรียกว่า “รสอร่อย” นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนหลงมัวเมากันมากที่สุด ไม่ว่าจะอาหารหรือเครื่องดื่ม ต่างก็มัวเมาคนด้วยกามคุณ ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในสมัยนี้ยังไม่พอ ยังล่อเราด้วยโลกธรรม เช่นกินอาหารแพงๆ อาหารหรูๆ อาหารที่คนธรรมดาไม่มีปัญญาจะกิน กลายเป็นคนที่หลงงมงายอยู่กับการกิน ชีวิตมีแต่เรื่องกิน

ทรัพย์ที่หามาก็ไปหมดกับเรื่องกิน ขอให้ได้กินของดี ของที่เขาว่าอร่อย ดูดี มีคุณค่า มีรสนิยม มีประโยชน์ แต่จริงๆจะมีคุณค่าหรือประโยชน์หรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ความอร่อย ดูดีและรสนิยมนี่มันของลวงแน่นอน เป็นกิเลสแท้ๆ

4). ท่องเที่ยว

เป็นที่นิยมของคนในยุคนี้ มักจะเก็บเงินที่ทำงานหามาได้ยากลำบาก แลกกับการไปลำบากที่อื่น เพียงเพื่อจะได้เห็นดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีหน้าตาต่างไปจากบ้านตัวเอง

บางคนลงทุนไม่มากเที่ยวในประเทศก็ไม่เท่าไหร่ แต่บางคนเที่ยวในประเทศแล้วก็ยังไม่พอใจ มันเสพไม่อิ่ม กิเลสมันบอกไม่ให้พอ มันต้องไปเสพที่บ้านอื่นเมืองอื่นต่อ มันต้องไปที่นั้นที่นี้ กลายเป็นชีวิตเดินตามความฝันของกิเลสไปโดยไม่รู้ตัว เอาเงิน สุขภาพ และความเสี่ยงภัย ไปแลกกับการเสพอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

หลายคนมีข้ออ้างในการเรียนรู้ชีวิต แน่นอนว่าประโยชน์นี้ก็มีอยู่ แต่การเรียนรู้ชีวิตนั้นสามารถทำได้หลากหลาย สุดท้ายถ้าไล่กันจนจนมุมก็จะสรุปว่าชอบท่องเที่ยว จริงๆมันก็ติดเที่ยวนั่นเอง อยากไปเสพรสเสพเหตุการณ์บางอย่างที่แตกต่างออกไปจากที่ตัวเองเคยเสพ กิเลสมันก็อยากแบบนี้แหละ ต่อให้ไปทั่วโลกมันก็ไม่หยุดหรอกมันจะไปนอกโลกต่อแล้วก็กลับมาเจาะรายละเอียดในโลกต่อ วนเวียนไปมาหาเรื่องเที่ยวอยู่แบบนั้นแหละ

5). แต่งตัว

แต่งตัวนี่เป็นความฟุ่มเฟือยที่เป็นภัยอย่างลับๆ ภัยที่มาในรูปของสิ่งที่ดูดี หลายคนใช้เงินที่หามาทุ่มเทไปกับการทำร่างกายและเครื่องนุ่งห่มให้ดูดี ดูเด่น ดูน่าสนใจ เพราะต้องการสนองทั้งอบายมุข กาม โลกธรรม และอัตตาของตัวเอง มันก็เสพทุกอย่างในเวลาเดียวกันนั่นแหละ ติดกิเลสอยู่หลายเหลี่ยมหลายมุมซึ่งก็คงจะไม่ไขกันทั้งหมดในบทความนี้

แม้ว่าเราจะใช้เงินมากมายในการทำให้เกิดความสวยความหล่อความงามเหล่านั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประโยชน์กับชีวิต ถึงเราจะมองว่าความงามเหล่านั้นจะทำให้ชีวิตง่าย ทำงานสะดวก มีคนมาคบหา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเหล่านั้นจะดี

เมื่อเราแต่งตัวเพิ่มความงาม นั่นหมายถึงเรากำลังเพิ่มกำลังในการกระตุ้นกิเลสผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราไม่แต่งตัวโป๊ เขาคงไม่มองเรา พอเราแต่งโป๊เข้าหน่อยผู้คนก็เข้ามาจีบเราจนต้อนรับกันไม่ทัน นั่นเพราะเราไปกระตุ้นกิเลสเขา ไปทำให้เขาอยากเสพเรา ทีนี้แล้วยังไง? มันก็มีแต่ผีกิเลส มีแต่คนกิเลสหนาเข้ามาเท่านั้นแหละ ความคิดประมาณว่าเข้ามาเยอะๆแล้วคัดนี่มันใช้ไม่ได้นะ เพราะที่มาทั้งหมดนั่นก็พวกกิเลสหนาทั้งหมดนั่นแหละ เพียงแค่แสดงลีลาต่างกัน บางคนก็แอบไว้ บางคนก็เปิดเผย ใช่ว่าจะรู้กันง่ายๆ แต่ที่รู้ได้คือคนดีเขาไม่เข้ามาใกล้หรอก

สรุปก็คือเราฟุ่มเฟือยแต่งตัว ลงทุนไปเสริมความงาม ทั้งหญิงและชายก็มีมุมความงามในแบบของตัวเอง แต่สุดท้ายก็เหมือนกับการเสียเงิน เสียเวลาไปเพื่อลากสิ่งไม่ดีเข้ามาในชีวิตของตัวเองเท่านั้นเอง

6). การสะสม

การใช้เงินที่มีไปเพื่อการสะสม การได้รับนั้น แม้เป็นสิ่งที่สร้างสุขให้เมื่อได้รู้สึกครอบครอง แต่สุดท้ายจะกลายเป็นทุกข์ที่ขังให้หลงวนอยู่ในทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนกับสิ่งเหล่านั้นไม่จบไม่สิ้น

ไม่ว่าเราจะสะสมตุ๊กตา ของชำร่วย ต้นไม้หายาก รถราคาแพง บ้านหลายหลัง ธุรกิจมากมาย รวมไปถึงลูกและคู่ครอง ฯลฯ การเพิ่มจำนวนของสิ่งที่สะสมหมายถึงเงินที่ต้องจ่ายไปและภาระในการดูแลที่มากขึ้น แต่ด้วยความหลง เราก็จะยินดีแลกเงินกับการครอบครองสิ่งเหล่านั้น ขอแค่ให้เรารู้สึกว่าได้มี ได้ครอบครอง แล้วเราก็จะเป็นสุข

เป็นลักษณะของความโลภ ที่ต้องหามาครอบครองจึงจะเป็นสุข แต่ครอบครองชิ้นเดียวก็ไม่พอ พอได้แล้วก็อยากได้มากขึ้น อยากสะสมมากขึ้น อยากได้สิ่งที่ยอดกว่ามาครอบครอง หลงใหลอารมณ์สุขของการได้ครอบครอง ได้มี ได้อวด แม้จะไม่ได้ประกาศก็แอบภูมิใจอยู่ในตนเอง ที่สามารถครอบครองสิ่งเหล่านี้ได้

และเมื่อสะสมมากภาระก็มากและทุกข์ก็จะมากตามไปด้วย ของเสียก็ต้องมาดูแล ของหายก็ต้องหา กลัวใครเขาจะมาขโมยแย่งเอาไป เป็นภาระเป็นทุกข์ให้กระวนกระวายอยู่ตลอดการสะสมนั่นเอง

7). ลาภยศและชื่อเสียง

สมัยนี้คนก็เอาลาภแลกลาภกันมาก เอาแบบหยาบๆก็การพนัน หวย หุ้นต่างๆ ยศก็ใช้เงินซื้อกันได้ ชื่อเสียงก็ใช้เงินแลกมาได้ แต่เมื่อเราแลกสิ่งเหล่านี้มาด้วยความโลภ แลกมาเพื่อที่เราจะได้เสพในลาภ ยศ สรรเสริญที่มากขึ้น นั่นหมายถึงการสะสมบาปและสร้างอกุศลกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในมุมยศและสรรเสริญนี้ อาจจะไม่เห็นภาพเหล่านี้ในชีวิตประจำวันชัดเจนมากนัก แต่ถ้าลองมองให้ใหญ่ขึ้นเป็นในมุมขององค์กร บริษัท ธุรกิจ การลงทุน การเมืองการปกครองก็จะสามารถเห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การเอาโลกียทรัพย์ไปแลกสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมดาของคนกิเลสหนาที่ยังวนอยู่ในเรื่องโลก เมื่อใช้กิเลสเป็นเป้าหมาย แม้ว่าในตอนแรกจะได้เสพสุข แต่ในท้ายที่สุดก็จะทุกข์ และจะทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการใช้ความโลภและอำนาจที่มีเข้าไปแย่งชิงโลกธรรมนั้นหมายถึงการไปเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้เกิดการแย่งชิง แข่งขัน ทำร้ายหรือฆ่ากันได้

เมื่อเรามัวเมาไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเหล่านี้ เราก็จะพยายามรักษาและประคองไม่ให้มันเสื่อม ใช้ทรัพยากรและสิ่งที่มีเข้าไปอุดรูรั่วของความเสื่อม แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องเสื่อม เพราะโลกธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สลับหมุนวนสับเปลี่ยนขั้วกันอยู่เสมอ

แม้ว่าโลกธรรมที่ได้มาโดยธรรมเช่น เราเป็นคนดีเขาจึงให้ ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่ก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่ได้มาโดยธรรมเหล่านี้จะไม่เสื่อมไป แม้เราจะไม่ได้หามาแต่ถ้าเรายึดติดและเสพสุขกับสิ่งเหล่านี้ มันก็จะทำให้เราแสวงหาในวันใดก็วันหนึ่ง

8). อัตตา

จริงๆแล้วการที่คนเราแสวงหาเงิน ทำงานเหนื่อยยากสุดท้ายก็ใช้เงินเหล่านั้นมาสนองกิเลส ก็คือการสนองอัตตาของตัวเองนั่นแหละ เพราะเรามีตัวตนให้ยึดว่าฉันจะต้องเสพสุขแบบนั้น ฉันจะต้องได้อันนี้ ฉันจะต้องเที่ยวแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ กินแบบนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ มันก็เป็นอัตตาทั้งนั้น

อัตตานั้นยังมีการยึดในหลายระดับ ในระดับหยาบๆคือการยึดวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ ระดับกลางก็ยึดจิตที่ปั้นสุขขึ้นมาเอง หลงว่าเสพสิ่งนั้นแล้วมันจะสุข เช่นรสอร่อย รสสุขตอนเชียร์กีฬา ความสุขเมื่อได้เห็นพระอาทิตย์ยามเช้า เป็นความสุขที่จิตของเราปั้นขึ้นมาลวงเราเอง และในระดับละเอียดที่สุดนั้นจะเป็นการเสพสภาพสุขในอรูปภพ เช่นความมีศักดิ์ศรี เกียรติ ความเชื่อ ความเข้าใจ เช่นเข้าใจว่าคนระดับสูงอย่างเราต้องให้ทิปร้านอาหารเสมอ แบบนี้มันก็เป็นอัตตาที่พาเสียเงินได้แบบโง่ๆเหมือนกัน

สรุป

เมื่อเราเข้าใจว่าเรากำลังใช้ชีวิตของเรา ไม่ใช่ให้กิเลสใช้ชีวิตของเรา เราจึงควรพิจารณากิจกรรมส่วนเกินของชีวิตที่จะสร้างภาระและภัยให้กับตัวเอง

การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้หมายถึงการจะต้องเลิกทำงาน ละเว้นหน้าที่แต่อย่างใด หรือหมายเพียงแค่การที่เราเจียดเวลาเสาร์อาทิตย์ไปทำกุศล เข้าวัด ฟังธรรม ศึกษาธรรม สนทนาธรรมเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการใช้ชีวิตไป ทำงานไป ล้างกิเลสไป สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเราก็ค่อยๆลด ค่อยๆเลิกไปตามกำลังที่ทำไหว

ถ้าเราไม่ถูกกิเลสจูง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินให้กับกิจกรรมสนองกิเลสเหล่านั้น เพราะแม้ไม่ได้เสพก็ยังเป็นสุขอยู่ เพราะสุขที่มีนั้นสุขกว่าเสพ การทำลายกิเลสจะให้ผลเช่นนี้ คือยินดีที่จะไม่เสพด้วยใจที่เป็นสุข อธิบายแบบนี้ก็คงจะงงกันไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเร้นลับอะไร เพราะเป็นความจริงที่ปฏิบัติได้จริง ทำได้จริง ไม่ว่าความหลงติดยึดในสิ่งใดก็สามารถชำระล้างได้จริง

เมื่อเราไม่มีกิเลสมาเป็นตัวผลักดัน เราจะใช้ชีวิตอย่างประหยัด มีความสุขเพราะไม่ต้องหาเงินด้วยความโลภ ไม่เอาเงินเป็นเป้าหมาย สามารถเลือกงานได้มากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น มีเงินเหลือเยอะขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ชีวิตโดยรวมดีขึ้นเมื่อปราศจากกิเลสไปโดยลำดับ ลดกิเลสได้บ้างก็ลดทุกข์ได้บ้าง ลดกิเลสได้มากก็ทุกข์น้อยมาก ทำลายกิเลสได้หมดเลยก็ไม่ต้องทุกข์จากกิเลสอีกเลย

ในชีวิตที่เราต้องหาเพื่อให้กิเลสกินใช้นี่ยังเรียกว่ามีภาระอยู่มาก แม้จะรู้ว่ากิเลสนั้นสร้างสุขลวงให้เราเสพแต่หลายคนก็กลับยินดีพอใจในรสสุขเพียงแค่นั้น หลงว่าสุขเท่านั้นคือสุขที่เลิศ ทั้งที่จริงมันมีสุขที่มากกว่า มากจนอธิบายไม่ได้

โดยนิยามแล้วเรียกว่า “สุขกว่าเสพ” คือไม่ต้องเสพก็ยังเป็นสุข แถมยังเป็นสุขมากกว่าคนที่ยังเสพ มันเป็นยังไง มันจะดีแค่ไหน มันมีด้วยหรือ โม้หรือเปล่า คิดไปเองรึไม่ ถ้าอยากรู้ก็ต้องลองปฏิบัติดูเอง เริ่มจากสิ่งหยาบๆเช่นอบายมุข การเที่ยวกลางคืน การท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งที่ทำให้เสียทรัพย์มาก เสียแรงงานมาก เสียเวลามาก เพียงแค่ลดกิเลสเหล่านี้ได้ก็สุขมากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าถ้าทำลายกิเลสได้หมดจะสุขขนาดไหน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)