Tag: ภาระ

เห็บศาสนา เปรต เทวดา

April 12, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 697 views 0

ไม่ว่าศาสนาไหนก็ล้วนแต่มีโลกธรรมอันหอมหวานทั้งสิ้น ศาสนาพุทธก็เช่นกัน คนที่เข้ามาปฏิบัติอยู่ในสำนักก็มักจะได้โลกธรรม ได้ลาภสักการะ บริวาร ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวานยั่วยวนกิเลสคนชั่วยิ่งนัก

จึงมีคนชั่วที่แสร้งปลอมปนเข้ามาเพื่อเสพผลเหล่านั้น สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการชำระ จับพระทุศีล พวกบวชล่าโลกธรรม ออกไปจากศาสนา จนบัดนี้ผ่านมาสองพันกว่าปี คนเหล่านี้ได้กระจายแทรกซึม เสพผลประโยชน์อยู่ในทุกที่ที่มีโลกธรรม แทรกเข้าไปเสพ ซึมอยู่ภายใน กัดกิน ทำให้ติดเชื้อร้าย ทำให้เสื่อม เหมือนเห็บที่มากัดกินเลือดสัตว์

นิยามศัพท์ : เห็บศาสนา คือพวกที่มาใช้ศาสนาสนองกิเลสตน, เปรต คือพวกขี้โลภ เอาแต่ได้, เทวดา(โลกีย์) คือพวกบ้าอำนาจ ชอบสั่ง เอาแต่ใจ มุ่งร้าย กำจัดคนที่ขัดขวาง

โดยธาตุแล้ว คนพวกนี้จะมีลักษณะขี้โลภ เอาแต่ได้ เดี๋ยวอยากนั่น เดี๋ยวอยากนี่ แต่พวกเขามักจะมีศิลปะ ไม่แสดงออกชัดเจน โดยเฉพาะต่อหน้าคนใหม่จะยิ่งสร้างภาพว่าตนเป็นพ่อพระแม่พระ เป็นเทวดาที่น่านับถือ เป็นผู้ใจบุญ เป็นต้น แต่ในใจมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร ฯลฯ

ตอนเข้ามาแรก ๆ มักจะเสแสร้ง และสร้างภาพลักษณ์จนทำให้คนอื่นเข้าใจผิด หลงไว้ใจ หลงเชื่อใจ แต่ถ้าปล่อยให้มีอำนาจนานไป จะเริ่มเอาแต่ใจ กดดันคนอื่น บ้าอำนาจ เผด็จการ บีบคั้น กดดัน เดี๋ยวสั่งคนนั้น สั่งคนนี้ สั่งได้แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ คือจะเริ่มตีตนเสมอ คิดว่าตนเป็นคนสำคัญ คิดว่าคนอื่นจะต้องฟังแต่ตน ต้องเกรงใจตน เพราะตนสำคัญตนผิด และจะใช้โอกาสต่าง ๆ ในการมีบทบาทในองค์กรขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ชัดว่าพยายามทำตัวเด่น มีบทบาท เรียกร้องความสนใจ พยายามทำตนให้เป็นจุดสนใจ พอโดนติ จะไม่พอใจ ขุ่นใจ โกรธ ตัดพ้อ โจมตีกลับ ฯลฯ ถ้าถูกกล่าวหาจะทำเหมือนถ่อมตัว แก้ตัว ปัดไปปัดมา หรือไม่ก็หาเรื่องผู้กล่าวหากลับ ไม่ชี้แจงตามจริง ไม่แก้ไขปัญหา จะพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ

คนพวกนี้มักจะมีลักษณะเด่นคือ ไม่ปฏิบัติตามกฎ มักจะแหกกฎ ด้วยอำนาจของตน ไม่ทำตามวัฒนธรรม เช่น เขาถือศีล มุ่งล้างกิเลสกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนพวกนี้ก็จะใช้เล่ห์กล สร้างสภาพที่เหมือนจะไม่เอื้ออำนวยให้ทำ สร้างข้อจำกัดเทียม ไม่ยอมทำ ไม่ปฏิบัติตาม ซ้ำร้ายจะกลายเป็นปฏิบัติตรงข้ามกับหมู่กลุ่มด้วย เช่นกลุ่มเขาพากันไปลดกิเลส แต่คนพวกนี้จะพาไปเพิ่มกิเลส หมู่เขาพาลดกาม คนพวกนี้เขาจะพาเพิ่มกาม ซึ่งจะมีอีกฝั่งคือฝั่งอัตตา คือดีเกินไป เช่นกรณีของพระเทวทัตที่ขอวัตถุ 5 กับพระพุทธเจ้า อันนั้นก็พวกเห็บศาสนาสายอัตตา ส่วนพวกที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็เห็บศาสนาสายกาม

ล่าบริวาร คือลักษณะเด่นชัดของเห็บศาสนา เมื่อบ้าอำนาจ ก็ต้องอยากได้คนมาสนองมาก ๆ อยากได้คนมาเป็นแขนเป็นขา (แต่ตนเองจะทำตนเป็นสมอง) หาคนที่ทำให้ได้ดั่งใจตนต้องการ ความเอาแต่ใจของเทวดาเปรตเหล่านี้คือ จะใช้อำนาจบีบให้คนทำตามใจ โดยใช้ “บุญ” มาเป็นของแลกเปลี่ยน

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์เคยออกหนังสือชื่อ “ค้าบุญคือบาป” ที่แจกแจงรายละเอียดของลักษณะผีบุญเหล่านี้ไว้ ซึ่งลักษณะโดยสรุปคือจะเอาคำว่า “บุญ” มาล่อหลอกให้คนอื่นทำตามที่ตนหวัง ทำแล้วเป็นบุญใหญ่ ทำแล้วจะได้บุญ ทำบุญให้หมู่กลุ่ม(แต่ตามคำสั่งตน) เห็บศาสนา มักจะไม่ใช่รุ่นหัวเจาะ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่จะมาแทรกซึมและใช้โลกธรรมที่องค์กรมี นำไปหลอกล่อคนให้ทำตามใจตนเอง โดยอ้างนโยบายองค์กรบ้าง อ้างครูบาอาจารย์บ้าง อ้างบุญบ้าง โดยลักษณะเด่นคือจะมีแนวโน้มไปในทางกดดันมาเพื่อสนองกิเลสตน สนองความได้ดั่งใจตน

ทำไมจึงกำจัดออกได้ยาก? นั่นก็เพราะคนพวกนี้มักจะเกาะเกณฑ์ขั้นต่ำ คือมีคุณสมบัติขั้นต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพราะจะได้หาของยั่วกิเลสมาเสพได้มาก ๆ ถ้าไปเกาะขีดบน ถือศีลเข้ม ๆ จะแทบไม่เหลือวัตถุกามให้เสพ ดังนั้น เขาก็จะมักจะเกาะอยู่ขั้นต่ำของกลุ่ม พวกเขาเฉโกพอที่จะรู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน พอถูกถามก็พูดจาเบี้ยวไปเบี้ยวมา หรือไม่ก็กล่าวหาผู้ถามกลับ เป็นการปกป้องตนเองด้วยมารยา และโดยมากคนพวกนี้มักจะสะสมอำนาจ ล่าบริวาร จึงใช้อำนาจนั่นแหละ เป็นตัวกันไม่ให้คนมาติ ให้คนเข้าถึงได้ยาก ไม่ให้คนตรวจสอบ พอใครจะมากล่าวหา มาทำร้าย ก็จะถูกบริวารที่ตนได้มอมเมาไว้เล่านั้นกันเอาไว้ ไม่ให้มาถึงตัว ดังนั้นการกำจัดคนพวกนี้ออกจึงยากมาก เพราะพวกเขามักจะสร้างเกราะที่หนาเอาไว้ป้องกันตัว และที่สำคัญคือเขาก็จะทำดีไปเรื่อย คือทำดีตามที่โลกถือสา เอาความดีนี้แหละไว้เป็นเกราะ และไว้หลอกคน เพราะอาศัยดีนี้จึงทำให้คนเข้าใจผิด หลงไปเคารพได้มาก แต่จะให้ทำดีเหนือดี ให้ลดละเลิกล้างกิเลส คนพวกนี้เขาจะไม่ทำ

มุ่งสู่นรกอันเป็นอนันต์ เหล่าเห็บศาสนา เปรตเทวดาเหล่านี้ มีโอกาสสูงมากที่จะทำอนันตริยกรรม คือกรรมหนักในข้อที่ว่าทำให้หมู่เพื่อนนักปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เพราะด้วยเหตุแห่งความบ้าอำนาจ และกลัวคนจะจับผิด คนพวกนี้จะรู้ตัวว่าใครที่มีกำลังมากพอที่จะกำจัดตนเอง จึงมักจะใช้อำนาจ บารมี บริวาร หรือเหตุปัจจัยที่มีในการกำจัดศัตรูแห่งเส้นทางอำนาจของตนก่อน

ดังที่ได้กล่าวมาข้างตน เห็บศาสนามักจะมักใหญ่ใฝ่สูง อยากเด่นอยากดัง อยากได้รับการเคารพ อยากเป็นคนสำคัญ ดังนั้น พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครข้ามหน้าข้ามตา ถ้าอยู่ในองค์กรก็จะพยายามขึ้นเป็นเบอร์ต้น ๆ และกำจัดเสี้ยนหนาม คือกำจัด ข่ม ป้ายสี คนที่ไม่ทำตามตน ต่อต้านตน ที่ขวางทางตน นั่นก็หมายความว่า คนพวกนี้ก็จะพยายามทำทุกอย่างให้ตนคงสถานะไว้ได้ ถึงแม้จะต้องกำจัดคนอื่นออกไปก็ตามที

และโดยมากแล้วศัตรูของคนชั่วก็คือคนดีนั่นแหละ แต่จะทำอย่างไร ถึงจะเล่นงานคนดีได้ มันก็ต้องทำลายดีในคนคนนั้นเสีย ลักษณะเด่นอันหนึ่งของกลุ่มเห็บศาสนาคือการตั้งกลุ่มนินทา สร้างข่าวลือ ปั้นข่าว ใส่ไข่ ใส่สี ให้มีรสเด็ดจัดจ้าน เพื่อทำลายชื่อเสียงของอีกฝ่าย ต่อให้ดีแค่ไหน มาเจอรวมพลคนพาล ร่วมกันผิดศีลข้อ ๔ คือโกหก ปั้นเรื่อง ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ให้คนแตกความสามัคคีกัน ใครเจอเข้าไป ถ้าไม่มีของจริง ก็เสร็จทุกรายไป คือจะโดนกลืนด้วยข่าวจริง(5%) ใส่ไข่อีก (95%) เป็นต้น สุดท้ายก็ทำคนดีให้เป็นคนร้ายได้ในที่สุด สร้างชื่อเสียงด้านลบให้คนอื่น ทำให้เขาผิดใจกัน แตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน สำเร็จอนันตริยกรรมในที่สุด ขุดฝังตัวเองในนรกสำเร็จ เกิดมาตายเปล่าไปอีกหนึ่งชาติเป็นผลที่คนเหล่านี้จะได้รับ

พอกำจัดคนดีมีศีลออกไปให้พ้นทางได้แล้ว ตัวเองก็จะได้บ้าอำนาจ เสพอำนาจได้อย่างไม่มีใครขัดอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ กลายเป็นเห็บศาสนาสมบูรณ์แบบ ไม่มีวันเจริญ มีแต่ความเสื่อม เต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งเป็นภาระกลุ่มที่ต้องแบก เป็นจุดอ่อนของกลุ่ม เป็นรูรั่วของกลุ่ม เป็นเชื้อร้ายของกลุ่ม ที่เหมือนมะเร็งที่จะลุกลามกัดกินเนื้อดีส่วนอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ

หากไม่กำจัดเห็บศาสนาออก ก็ต้องแบกความหนักเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ แบกคนทุศีล แบกคนมีอนันตริยกรรม ซึ่งคนพวกนี้ไม่มีวันเจริญ กลายเป็นภาระ กลายเป็นวิบากกรรมของกลุ่มที่ไม่ชัดเจนในความเป็นคนพาลในคน ที่จะต้องแบกไว้ให้มันลำบาก ให้เสื่อม ให้เมื่อย ให้หนัก ให้เสียเวลาเปล่า ๆ

ทุกคนควรจะเป็นโสดจึงจะมีความสุขนั้นหรือ?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 540 views 0

ถาม : ทุกคนควรจะเป็นโสดจึงจะมีความสุขนั้นหรือ?
ตอบ : ความโสดเป็นสภาพที่มีภาระผูกพันน้อย จริง ๆ แล้วเป็นสภาพที่สบายที่สุด ดีที่สุด แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงสภาพนั้นได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ใครที่เขาปฏิบัติตนเป็นโสด คนเขาก็รู้กันว่าท่านเหล่านั้นเป็นบัณฑิต แต่จะให้ทุกคนในโลกเป็นบัณฑิตมันเป็นไปไม่ได้ มันเจะเป็นได้ก็เฉพาะแต่ผู้มีปัญญาเท่านั้น คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติถึงขั้นนั้น ๆ ถึงจะอยู่เป็นโสดก็จะโดนเฆี่ยนด้วยความกระหายใคร่อยากไปมีคู่ จึงทำให้เป็นทุกข์ สุดท้ายด้วยความอยากก็ต้องไปแส่หามาเสพ ดังนั้นการจะตอบว่าทุกคนควรจะเป็นโสดจึงจะมีความสุขนั้นก็ตอบได้ทั้งใช่และไม่ใช่ ในมุมที่ตอบว่าใช่คือ สุดท้ายทุกคนก็จะปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ในชาติใดชาติหนึ่ง เมื่อเขามีปัญญา เขาจะปฏิบัติตนไปสู่ความเป็นโสดเอง แต่ไม่ใช่พร้อมกันทุกคน ส่วนที่ไม่ใช่ก็คือ คนที่ยังมีความอยากมาก ๆ ให้เขาอยู่เป็นโสด เขาก็เป็นทุกข์เพราะความอยาก ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

สมรสคือภาระ

May 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,051 views 0

สมรสคือภาระ

สมรสคือภาระ

แต่เดิมแล้วคนเรานั้นมีอิสระที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างมากมาย ซึ่งต่อมาอิสระเหล่านั้นก็จะถูกทำลายไปด้วยพลังแห่งราคะ เป็นสิ่งที่เข้ามาสร้างสุขลวงและทิ้งภาระให้ชีวิตและจิตวิญญาณได้ใช้หนี้กรรมไปอีกนานแสนนาน

เมื่อเราอยู่เป็นคนโสด เราสามารถใช้เวลาและโอกาสเหล่านั้นในการเรียนรู้ชีวิต ค้นหาความหมายในการเกิดมาในครั้งนี้ ว่าเราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร เรียนรู้และค้นหาไปจนกระทั่งสามารถเข้าถึงความรู้ที่เป็นที่สุดของโลก คือได้เรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ เรียนรู้ความดับทุกข์ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ทั้งปวง

ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ให้กระจ่างให้เร็วที่สุด เพราะในโลกนี้แท้จริงแล้วก็ไม่มีใครอยากทุกข์ ไม่มีใครชอบทุกข์ รักสุขเกลียดทุกข์ แต่น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความจริงที่พาพ้นทุกข์นี้

นั่นเพราะพลังของกิเลส คือราคะหรือความใคร่อยากเสพจะเป็นตัวสกัดกั้นความเจริญในธรรมและพาให้เราไปหาภาระ หรือสิ่งที่เบนความสนใจของเราให้ห่างออกไปจากทางพ้นทุกข์ ให้ไปเสพสุขลวง ให้หลงมัวเมาอยู่ในโลก

ในขั้นเริ่มต้น ก็จะเริ่มแสวงหาคนรัก คนที่จะมาบำเรอกิเลสตนได้ คนที่ถูกใจ คนที่วาดฝันไว้ แม้มีเพียงความอยากระดับนี้ ก็มีพลังมากพอจะทำให้เรา เลิกเรียนรู้ความหมายของชีวิต หันมาหาวิธีสนองตัณหาตนเองแทน แต่ในขั้นนี้ก็สามารถหลุดออกมาได้เร็ว เพราะการผิดหวังในขั้นนี้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ทุกข์นัก จึงสามารถถอนตัวกลับมาเรียนรู้ชีวิตได้

ในขั้นปานกลางพอกิเลสมากเข้า และวิบากกรรมส่งผลก็จะได้คนโชคร้ายหนึ่งคนมาคบหา ภาษาธรรมะเรียกว่า “ตัวเวรตัวกรรม” ภาษาทั่วไปเรียกกันว่า “แฟน” เขาเหล่านั้นจะคอยสนองกิเลสเรา ยั่วกิเลสเรา ทั้งกิน ทั้งโกรธ ทั้งกาม ผสมปนเปกันไปจนไม่ต้องพูดถึงธรรมะ เวลาคนมันเสพสุขจากกิเลสนี่ก็มัวเมาจนมืดบอดไปหมด ระยะนี้ถือว่าสร้างภาระให้กับตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว เพราะการรับเข้ามาเป็นแฟน มันก็ใช่ว่าเลิกกันได้ง่ายๆ แทนที่จะได้เอาเวลาในชีวิตไปเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็มาเมากันอยู่แค่ตรงนี้

ในขั้นหนัก พอกิเลสสุกงอมกันทั้งคู่ ก็จะแต่งงานกัน การแต่งงานเป็นการผูกภาระที่สมบูรณ์ คนเรามักจะสัญญาว่าจะดูแลคู่ครองกันไปจนตาย นั่นหมายความว่าเราต้องเสียประโยชน์ตนเองไปเพื่อบำเรอกิเลสของคู่ครองไปจนตาย เป็นภาระที่หนัก และยังมีของแถมให้เป็นภาระอีกมากมาย เมื่อครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรวมเข้าหากัน เวลาที่จะเอาศึกษาธรรมเพื่อแสวงหาความดับทุกข์นั้นเรียกได้ว่าไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าทิ้งหน้าที่สามีหรือภรรยาหนีไปศึกษา ก็มักจะโดนกล่าวหาว่าไม่ทำหน้าที่คู่ครองที่ดี

ในขั้นหนักที่สุด คือแต่งงานกันแล้วยังสร้างสิ่งผูกมัดในชีวิตไม่พอ ก็จะสร้างลูกขึ้นมาด้วย เมื่อสร้างลูกขึ้นมาก็เหมือนกลายเป็นทาสที่ต้องใช้เวลาคอยดูแลลูกเข้าไปอีก ไหนจะต้องบำเรอคู่ ไหนจะต้องบำรุงลูก ไหนจะการงาน ในจะกิจกรรมในครอบครัว ไหนจะสุขภาพ ไหนจะเรื่องการสนองกิเลสตัวเอง กว่าจะเอาเวลาไปศึกษาธรรมะ ก็คงต้องรอลูกโตหรือไม่ก็ตายกันไปข้างหนึ่ง จะหนีไปบวชหรือหนีไปปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ใช่ว่าเขาจะยอมกันง่ายๆ รับเขามาในชีวิต ไปบำเรอกิเลสจนเขากิเลสอ้วนแล้วจะทิ้งกันง่ายๆนี่ไม่มีทาง ครอบครัวจะรั้งเราไว้ มันจะมีเหตุการณ์ประหลาดที่กั้นขวางไม่ให้เราสามารถเข้าใกล้ธรรมได้มากมาย

สุดท้ายกว่าจะได้โอกาส ได้อิสระไปค้นหาความหมายของชีวิตอีกครั้งก็คงจะใกล้วัยชราแล้ว มีเวลาเหลือน้อยแล้ว สุขภาพไม่เอื้ออำนวยเหมือนตอนวัยรุ่นแล้ว ครูบาอาจารย์ก็ตายไปหมดแล้ว สุดท้ายก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยสนองกิเลสแล้วก็รอวันตายไปเปล่าๆอีกหนึ่งชาติ ถือว่าเกิดมาเสพกิเลสฟรีๆ เป็นโมฆะบุรุษไป เสียกุศลที่สร้างมา แถมยังต้องรับอกุศลคือกรรมชั่วที่ทำไว้มากมายในชาตินี้อีก

เกิดมาเป็นคนใหม่ก็พยายามจะค้นหาความหมายของการมีชีวิตเหมือนเดิม แต่ไม่นานกิเลสเพื่อนเก่าก็เข้ามาทักทาย สุดท้ายก็แพ้กามราคะเหมือนเดิม ไปแต่งงานมีลูก ผูกครอบครัวเหมือนเดิม กว่าจะหลุดได้ก็แก่เหมือนเดิม แก่แล้วก็ขี้เกียจเหมือนเดิม สุดท้ายก็ตายไปเปล่าๆเหมือนเดิม

ถ้าอย่างแย่ที่สุดคือหักห้ามใจไม่ไปแต่งงานเสีย ถ้าคบอยู่ก็ให้เป็นแค่เพื่อน ถ้ารักกันจริงก็อย่าให้เสียประโยชน์ตนเอง ก็อาจจะทำให้พ้นจากนรกที่ไม่มีวันจบสิ้นแบบนี้ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเผลอพลาดไปแต่งงานแล้วล่ะก็ ตัวใครตัวมัน ตอนแก้มันไม่ง่ายเหมือนตอนผูกนะ เงื่อนกรรมมันพันแน่นซับซ้อนมาก

ใครอยากมีความสุขในชีวิตก็ไม่ต้องไปผูกเงื่อนกรรมพ่วงชีวิตกับใครไว้ เพราะเพียงแค่ชีวิตเราเองก็เป็นภาระที่ต้องจัดการมากพอแล้ว ยังจะเอาคนมีกิเลสมาผูกไว้ด้วยอีกคน แถมกิเลสของบรรดาญาติมิตรสหายของเขาอีก นี่มัน “ อภิมหากองกิเลส “ ใครคิดว่าแน่จะไปลองลิ้มชิมนรกเช่นนี้ดูก็ได้ เพราะถ้าปัญญามันไม่เต็มรอบ ยังไงมันก็ไม่เข็ด มันจะไปเสพอยู่นั่นแหละ มันจะโง่ไปเอาภาระ วิ่งไปหาเหามาใส่หัว แกว่งเท้าหาเสี้ยนอยู่นั่นเอง

พอมีคู่มาผูกนี่มันออกไม่ได้ง่ายๆนะ แม้เราจะมีครูบาอาจารย์ที่มีวิชชาสอนให้พ้นทุกข์ได้ แต่วิบากกรรมมันจะกั้นไม่ให้เราออกมาง่ายๆ เขาจะขวาง เขาจะห้าม ถึงเขาไม่ห้าม เราก็ห่วง เราก็ระแวง มันจะมีอะไรสักอย่างมาดลบันดาลทำให้ออกไม่ได้ ทีนี้เวลาวิบากกรรมชั่วชุดใหญ่มันมาแล้วตนเองไม่มีธรรมที่กล้าแกร่งพอ มันจะทุกข์และทุกข์หนักมาก แต่ถึงแม้จะทุกข์สุดทุกข์ก็จะออกจากนรกแห่งความทุกข์นั้นไม่ได้ มันจะผูก จะเหนี่ยว จะรั้งไว้ ให้ทนทุกข์อยู่นั่นแหละ สิ่งที่ทำให้ต้องทนทุกข์แม้ว่าเหมือนจะออกได้แต่ออกไม่ได้ก็คือ ผลของกรรมที่ไปผูกเขาไว้นี่เอง

ตอนได้เสพกัน ได้สนองกิเลสกัน ได้สมสู่กันมันก็ดูเหมือนจะมีความสุขดีอยู่หรอก แต่ตอนที่วิบากกรรมชั่วมาถึงนี่มันไม่สุข ไม่สนุกเลยนะ ใครจะลองศึกษาชีวิตด้วยทางนี้ก็ได้เหมือนกัน ทางเส้นนี้ทุกข์มากสุขน้อย แต่คนเขลาจะเห็นว่าทุกข์น้อยสุขมาก จะบอกยังไงก็คงไม่เชื่อ ก็คงต้องลองกันดูเอง แต่ถ้ารู้แล้วไม่ไปลองก็ถือว่าเอาตัวรอดเป็น

สุดท้ายนี้ก็ขอสรุปว่าการมีคู่นี่มันเป็นการผูกพันให้ต้องมารับภาระ รับทุกข์ รับวิบากกรรมกันชั่วกัปชั่วกัลป์ไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

April 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,057 views 2

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

เมื่อการยึดมั่นถือมั่นของเรากลายเป็นการเสริมกิเลสให้กับผู้อื่น

ผมเป็นคนที่ชอบศึกษา เวลาอยากรู้อะไรก็จะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น ให้เวลากับมัน คิดทบทวน วิเคราะห์ ตรวจสอบ การเรียนรู้ของผมมักเป็นไปในเชิงการทดลอง

เมื่อผมได้รับความรู้เรื่องไม้ประดับมา ผมก็มักจะแบ่งปันความรู้เหล่านั้นด้วยการพิมพ์บทความลงเว็บไซต์ ซึ่งตอนนั้นเองก็คิดเพียงแค่ว่าเป็นการแบ่งปันการเรียนรู้ แต่นั่นเองคือหลุมพรางที่ผมขุดไว้เพื่อฝังตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต” แม้ความรู้ที่ผมได้มานั้นจะสามารถทำให้ผมเติบโตไปในวงการไม้ประดับได้อย่างสบายๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่ความรู้ที่ดีเลย เพราะมันเป็นความรู้ที่พาให้หลงในสุขลวงทำให้เข้าถึงความสุขแท้ได้ช้าไปอีก

ผมศึกษาตั้งแต่บอนสี กระบองเพชร ลิ้นมังกร มีประสบการณ์มากมายที่ผมเปิดเผยและไม่ได้เปิดเผย แต่เพียงแค่สิ่งที่ผมเปิดเผยไปนั้น ก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนสนใจและหันมาเลี้ยงไม้ประดับแบบผมอยู่บ้าง และนั่นคือวิบากบาปที่ผมจะต้องรับต่อไป

ถ้าผมไม่ได้พิมพ์เรื่องราวเหล่านั้นออกมา เขาคงจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ ไม่ต้องมาหลงตามที่ผมหลง จะเห็นได้ว่าเมื่อเราหลงมัวเมาในสิ่งใดแล้ว เราก็จะมีโอกาสที่จะพาคนอื่นหลงตามไปด้วย ซึ่งเราต้องรับผิดชอบกรรมที่เราสร้างขึ้นมาทั้งหมดรวมถึงดอกผลของมันด้วย เพราะสิ่งนั้นมีเราเป็นเหตุ

ผมเองรู้สึกเสียใจและต้องขออภัยกับผู้ที่สนใจไม้ประดับเพราะผม ในตอนนี้คุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ในวันที่คุณเข้าใจว่าสิ่งใดคือสาระแท้ของชีวิต และสิ่งใดไม่จำเป็นต่อชีวิต คุณก็จะเข้าใจได้เอง

ในบทความนี้ผมจะขอใช้โอกาสนี้ไขสภาวะและธรรมะทั้งหลายที่คิดว่ายังตอบไม่กระจ่างไปก่อนหน้านี้ ด้วยกัน 10 หัวข้อ ซึ่งค่อนข้างยาว ขอให้ท่านค่อยๆพิจารณากัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นความเข้าใจตามที่ผมได้เรียนรู้มา ดังนั้นท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดและเข้าใจต่างออกไป ไม่ใช่เรื่องผิด

1). ไม้ประดับคืออะไร?

ไม้ประดับนั้นก็คือสิ่งที่เข้ามาตกแต่ง เพิ่มเติมให้เกิดความงามขึ้น ในฐานของศีล 8 จะเห็นได้ว่าท่านให้งดเว้นการประดับตกแต่ง แน่นอนว่าหมายรวมถึงทุกอย่าง เพราะเป็นฐานแห่งการลด “กาม” (การเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ไม้ประดับนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามาสนอง “กาม” เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเลย ดังจะเห็นได้ว่าคนโดยมากไม่เป็นทุกข์หากขาดไม้ประดับ ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าการสะสมไม้ประดับนั้นต่างจากการปลูกต้นไม้ทั่วไป

เมื่อไม้ประดับเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต แม้จะใช้ประโยชน์ได้ในบางกรณีแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องนำมันเข้ามาในชีวิต คนที่เอาสิ่งไม่จำเป็นเข้ามาในชีวิตจนยึดมั่นถือมั่น ก็คือคนที่หลงไปตามกิเลส

2). ความสุขคืออะไร?

หลายคนบอกว่าเลี้ยงไม้ประดับแล้วมีความสุข ความสุขเหล่านั้นเป็นความสุขที่ได้เสพสมใจตามที่กิเลสบงการ ได้เสพจึงจะเป็นสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ผู้หลงว่ากิเลสเป็นตัวเป็นตนจึงต้องหามาไม้ประดับมาเสพเรื่อยไป แม้จะหาไม่ได้ ได้มองรูปก็ยังดี ได้คิดถึงก็สุขใจ อาการเหล่านี้เป็นอารมณ์ของราคะแท้จริงแล้วสุขที่ได้รับนั้นคือทุกข์ที่ลดลง

กิเลสนี้มันร้ายมากนะ มันทำให้เราเห็นสุขลวงเป็นสุขจริง และทำให้มองไม่เห็นทุกข์เลย คนที่หลงสุขเขาจะสามารถเลี้ยงไม้ประดับได้อย่างไม่ทุกข์เลยนะ เพราะกิเลสมันบังตาจนมิดเลย

3). ทุกข์คืออะไร?

ทุกข์คือสภาพที่ทนได้ยากได้ลำบาก ในกรณีทุกข์ของคนที่หลงมัวเมาก็คือความอยากได้อยากเสพ เมื่อไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการก็จะทุกข์ จึงต้องลำบากลำบนเบียดเบียนเพื่อไปแสวงหาสิ่งที่ตนอยากได้จึงจะเป็นสุข ถ้ากิเลสหนามากๆจะมองทุกข์ตัวนี้ไม่เห็นเลย

เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็เลยไม่เห็นธรรม การจะเรียนรู้และศึกษากิเลสนั้นจำเป็นต้องเห็นทุกข์เสียก่อน จึงจะหาเหตุของทุกข์ในลำดับต่อไป จะเห็นได้ว่าเมื่อผมแสดงความเห็นว่าการเลี้ยงไม้ประดับเป็นภาระ เป็นทุกข์ หลายท่านมีความเห็นที่ต่างกันออกไป บ้างก็ว่าฉันไม่ทุกข์ บ้างก็ว่าหมดรักจึงทุกข์ บ้างก็ว่ามันมีแต่สุขนะ ฯลฯ

อันนี้เขายังไม่เห็นทุกข์ด้วยตัวเอง เรื่องทุกข์นี่มันบอกกันไปก็ไม่เข้าใจ มันต้องทุกข์เอง เจ็บเอง เรียนรู้เอง จึงจะเข้าใจ

4). สัมมาอาชีวะคืออะไร?

หลายท่านอาจจะยังเข้าใจว่าการประกอบอาชีพด้วยไม้ประดับนั้นสัมมาอาชีวะ ในข้อนี้อาจจะทำให้ท่านอกหักจนถึงขั้นไม่พอใจได้ ขอให้ตั้งสติดีๆ

สัมมาอาชีวะนั้นประกอบด้วย การเลี้ยงชีพที่ไม่โกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง เป็นต้น และในมิจฉาวณิชชาว่าด้วยเรื่องการค้าที่ชาวพุทธไม่ควรทำ หนึ่งในนั้นคือ ค้าขายของเมา (มัชชวณิชชา) คำว่าเมานั้นถ้าแปลตื้นๆ เขาก็มักจะแปลกันว่าเหล้า แต่คำบาลีว่า สุรา เมระยะ มัชชะ นั้นแปลว่าเมาทั้งสามคำ แล้วเมานี้คืออะไร ก็คือมัวเมาในกิเลส หรือความหลงมัวเมา (โมหะ) นั่นเองแต่ทั้งสามคำนั้นเป็นความละเอียดในความเมาที่ต่างกัน สุรานั้นหยาบ มัชชะนั้นละเอียด นั่นหมายความว่าการค้าขายใดที่ทำให้เกิดการหลงมัวเมานั้นชาวพุทธไม่ควรทำ

ขอให้กลับไปทบทวนว่าสิ่งที่เราขายนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตจริงหรือไม่ ถ้ามันไม่จำเป็นแล้วเราขายได้อย่างไร เราก็ต้องล่อลวงผู้ซื้อ ต้นนี้งามนะ ต้นนี้หายาก เอากามคุณเช่น รูป สัมผัส เอาโลกธรรมเช่น ต้นนี้เขาฮิตกัน เอาอัตตาเช่น ต้นนี้เหมาะกับคุณ ไปล่อเขาให้ซื้อ มันก็เข้าเขตมิจฉาอาชีวะกันอยู่เห็นๆ อันนี้เป็นเรื่องลึก ถ้ามองตื้นๆก็จะทำต่อไปได้ เพียงแค่บาปโดยไม่รู้ตัวหรือว่ารู้ตัวแต่ก็ยอมเพราะหลงมัวเมาเช่นกัน

เราขายสิ่งที่ทำให้เขามัวเมาอยู่กับสิ่งไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์นี้เป็นกุศลไหม? เป็นทางของชาวพุทธหรือไม่ หากจะบอกว่าสัมมาอาชีวะและสัมมาวณิชชาขอให้ทบทวนและศึกษาดีๆ เพราะวิบากกรรมนั้นเห็นได้ยาก กว่าจะรู้ก็มักจะสายไปเสียแล้ว

5). ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นไม่ใช่ทั้งเลี้ยงไม้ประดับและไม่เลี้ยงไม้ประดับ แต่เป็นการไม่เลี้ยงโดยที่ไม่มีอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยกล่าวทางสุดโต่งสอนด้านว่า “เธอจงเสพกามแต่ไม่ติดกาม” แต่ท่านสอนว่า “ให้เว้นขาดจากกาม แต่ไม่ให้ไปติดอัตตา

กามหรือความหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นี่ให้ตัดออกไปก่อนเลย เพราะไม่มีความจำเป็น เป็นสิ่งสิ้นเปลือง เป็นบาปที่แสบเผ็ดร้อน

แล้วอัตตาคืออะไร? อัตตาคือความยึดดี เช่นเราหลงติดกามในไม้ประดับอยู่ แล้วอยู่ๆเราก็ยึดดีว่าเราจะเลิก แต่กามมันยังมีอยู่ มันยังอยากได้อยู่ มันมองแล้วสวยอยู่ ทีนี้พอไม่ได้เสพมันก็จะเริ่มรู้สึกทุกข์ทรมาน อันนี้คือทางโต่งอีกด้านหนึ่ง

การประมาณทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญา ต้องลด ละ เลิกการเสพกามให้ได้ จนไม่ทำให้ตัวเองลำบากจนถึงขั้นทรมาน ขีดของทางสายกลางนั้นมันอยู่ตรงไหนไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่มันต้องปฏิบัติเอาจึงจะรู้ได้เอง

6). ปลายทางของผู้ยึดมั่นถือมั่นคือทางไหน?

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองหลงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อหลงในสิ่งใดก็จะเห็นแต่คุณค่าของสิ่งนั้น ว่าดี ว่าเลิศ ว่ามีประโยชน์ ใครมาบอกว่าไม่ดีก็จะรู้สึกไม่พอใจ เพราะตัวเองเห็นว่าดีจริงๆ นั่นก็ถูกแล้วเพราะถ้าคนมีกิเลสมันไม่ยึดกิเลสของตัวเองมันก็ผิดสัจจะ(คนเห็นผิด จะเห็นถูกเป็นผิด = ถูกของเขา)

ทีนี้มันอยู่ที่ทิศทางที่เดินไป ทางที่ไปนั้นเป็นทางพ้นทุกข์หรือไม่ สิ่งที่ทำนั้นทำไปเพื่ออะไร เพื่อการสะสมอย่างนั้นหรือ เพื่อการเสพสมใจอย่างนั้นหรือ เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญอย่างนั้นหรือ นั่นคือทางพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นหรือ เดินไปทางตันแม้จะเดินไปได้ไกลอย่างไร ก้าวหน้าแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี เพราะมันผิดทาง

ถ้ายึดสิ่งที่เป็นกุศลอยู่บ้างยังพอหาประโยชน์ได้ แต่ถ้าไปยึดสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่จำเป็นในชีวิต เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มันก็หลงทางเข้าป่าเข้าพงไปเลย

7). เลี้ยงอย่างมีสติได้จริงไหม?

ผมเห็นความเห็นในแนวทางนี้ ก็อยากจะเสนอความคิดเห็นว่า เรื่องนี้มันค่อนข้างซับซ้อน เราลองมาค่อยๆขยายคำว่า “เลี้ยงอย่างมีสติ” กันอย่างช้าๆ

คำว่ามีสตินั้นหมายถึงความรู้ตัว จะทำอะไรก็รู้ตัว ในมุมมองทั่วไปเราก็อาจจะประยุกต์ไม้ประดับมาช่วยในการเจริญสติได้เช่น ปลูกต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน

แต่ในความจริงแล้วต้องดูว่าเรามีสติอยู่บนพื้นฐานของอะไรต่างหาก ถ้าเราหลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเรายังจะเรียกสภาวะที่เรามีนั้นว่าสติได้อีกหรือ ในเมื่อมันตกอยู่ภายใต้การบงการของกิเลสตั้งแต่แรกแล้ว มันก็สติหลอกๆเท่านั้นแหละ เพราะมันไม่มีศีลมากั้นให้เห็นกิเลส ไม่มีปัญญามาพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดไม่จำเป็นของชีวิต

หากเรายังหลงอยู่ เราจะเรียกว่าเรามีสติได้อย่างไร มันก็หลงว่ามีสติเท่านั้นเอง หรือถ้ากล่าวให้ดูสวยๆก็คือ “หลงอย่างมีสติ” มันก็ย้อนแย้งกันอยู่ หลงแล้วจะมีสติได้อย่างไร ว่าแล้วก็โดนกิเลสหลอกให้เสพสะสมแล้วสุขสมใจอยู่กับสิ่งลวงนั่นแหละ

8). ภาระคืออะไร?

ภาระนั้นคือผล หรือวิบากบาปที่ต้องแบกไว้ ความหนักของภาระนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาที่เกิดหลังจากเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น พอพระราหุลเกิด พระพุทธเจ้าท่านก็ อุทานว่า “ บ่วงเกิดแล้ว ” ว่าแล้วก็หนีไปบวชเลย นี่คือปัญญาของมหาบุรุษผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

คนเรานั้นมีปัญญาไม่เท่ากันในการที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษ คนที่มัวเมาในกิเลสเขาก็ยินดีที่จะแบกกิเลสนั้นไว้ แม้มันจะสร้างทุกข์ บาป อกุศล เวรภัย ให้กับเขา แต่ก็เขาก็ยังเห็นว่าสิ่งนั้นดี เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

สรุปแล้วคนมัวเมาก็แบกกิเลสไปได้แบบไม่คิดว่ามันหนัก คนที่รู้ความจริงพอเห็นว่าหนักก็วางลงแค่นั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องของความเบื่อ ความรัก หน้าที่ การงานหรืออะไรอื่นๆ มันเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ต่อตนเองและผู้อื่น

9). อัตตา

ผู้ที่หลงมัวเมามากๆ แม้จะไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมา แต่โดยพฤติกรรมแล้วคือจากไม่ได้ พรากไม่ได้ ไม่ยอมแยกจากกัน คือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นจนถึงระดับอัตตา

ความยึดนั้นมีความลึกที่แตกต่างกัน หลายคนเลี้ยงไม้ประดับเพราะมันสวยดี ขั้นนี้เขาติดกาม ถ้าแก้ที่กามก็จบ บางคนเลี้ยงเพราะโลกธรรมเช่น ชอบที่ตนเองเป็นกูรูไม้ประดับ ถ้าแก้ที่โลกธรรมก็จบ ส่วนที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ ฉันชอบมัน มันคือชีวิตของฉัน ขาดมันฉันตาย ขาดฉันมันตาย อันนี้แก้ที่อัตตา แต่อัตตามันไม่ได้แก้ง่ายขนาดนั้น เพราะเป็นสภาพของการยึดที่ลึกและเห็นได้ยาก เป็นภัยน้อยแต่มาก

คือถ้ามองด้วยตาและตัดสินตามโลก เขาก็เป็นคนเลี้ยงไม้ประดับคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แถมเป็นคนดีมีศีลธรรม ถ้าจะวัดโดยขีดของโลกนั้นมันก็ถูกของเขา แต่ในมุมของการทวนกระแสโลก คือหลุดจากการเป็นทาสของกามและอัตตาใดๆ การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะนี้เป็นเหมือนคนที่ตกอยู่ในทะเลยางที่เหนียว ข้น และลึก ยากนักที่จะหลุดออกมาได้

เพราะเขาเหล่านั้นได้ผูกตัวตนของตัวเองไว้กับสิ่งเท่าเขารัก โดยที่เขาไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว กิเลสเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาไม่จำเป็นต้องยึดแบบนั้น ถึงไม่ยึดก็อยู่ได้ มันไม่ใช่ตัวตนอะไรเลย มันไม่ใช่ความจริง เราไปสร้างมันขึ้นมาเองแล้วก็ยึดไว้เอง เรียกว่าอุปาทาน พอมีอุปาทานก็มีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ อุปายาส กองทุกข์ทั้งมวลจึงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จุดหมาย

10). เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

การเห็นทุกข์นั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเห็นทุกข์ทั้งๆที่ยังหลงติดหลงยึดได้ แต่การเห็นทุกข์นั้นก็ต้องใช้ปัญญา และปัญญานั้นก็ใช่ว่าจะได้มาด้วยความบังเอิญ ต้องใช้การคิด พิจารณาประโยชน์และโทษให้ถี่ถ้วน ศึกษาใช้ธรรมอ้างอิงจนเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นกุศลหรืออกุศล

ผู้ที่เห็นทุกข์ แม้จะยังไม่สามารถหลุดจากความอยากได้ แต่ก็ได้เปิดประตูแห่งอริยสัจแล้ว เราอาจจะต้องเรียนรู้ทุกข์ไปอีกหลายล้านชาติ หรือเพียงแค่จบบทความนี้ก็สามารถเห็นทุกข์ได้ทันทีแล้วแต่บุญบารมีที่แต่ละท่านสะสมมา

คนที่ไม่รู้จักทุกข์ก็จะไม่หาทางออกจากทุกข์ เขาเหล่านั้นก็จะยินดีที่จะจมลงในภพของการเสพสมในของกิเลสต่อไป ส่วนคนที่รู้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะออกได้ง่ายนัก เพราะวิบากบาปที่เราได้ทำไว้นั่นแหละจะดึงรั้งเราไว้ ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นร้านขายไม้ประดับ พอเรามีปัญญาเห็นคุณเห็นโทษแล้วมันจะเลิกไม่ง่ายนะ ลูกค้าจะไม่ยอม ไหนจะครอบครัว ค่าใช้จ่าย หนี้สิน คนงาน ไหนจะต้นไม้อีกมากมายที่จะเป็นภาระอีก เราหลุดออกไปไม่ได้ง่ายๆหรอก สร้างบาปไว้เยอะก็ต้องรับผลกรรมชั่วนั้นๆไปด้วย

คนที่เห็นโทษก็ให้ศึกษาหาทางออกในลำดับต่อไป คนที่ยังไม่เข้าใจก็ศึกษาเพิ่มเติมไปก่อน ส่วนคนที่ยังเห็นว่าเป็นสุขอยู่นั้นก็ขออภัยด้วยเพราะบทความนี้คงจะไปขัดใจท่านไม่มากก็น้อย ก็ถือซะว่าเราคิดต่างกัน แล้วก็ปล่อยวางมันไปเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

9.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)