Tag: ลูก

แม่หวังให้เจ้า…

August 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,388 views 0

แม่หวังให้เจ้า…

เมื่อแม่ให้กำเนิดลูกขึ้นมาแล้ว แม่หวังอะไรในตัวลูก? ถ้าเป็นยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ก็คงจะหวังให้ลูกมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เจริญก้าวหน้ากันไปตามสมมุติโลก แต่ในบทความนี้เราจะยกความหวังของแม่ในสมัยพุทธกาลมาเล่ากัน

หญิงชาวพุทธผู้มีศรัทธาตั้งมั่น เธอวอนขอให้ลูกซึ่งเป็นที่รักของเธอ ว่าจะเป็นฆราวาสก็ดี จะออกบวชก็ดี ก็จงทำตนให้เป็นพระอรหันต์ เพราะหากแม้ว่าลูกจะเป็นพระเสขะ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ถึงกระนั้นลูกก็ยังจะต้องเผชิญอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง ที่ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย ซึ่งเป็นภัยต่อการบรรลุความผาสุกที่แท้จริง(สรุปความจาก ปุตตสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๗๐)

จะเห็นได้ว่า แม่สมัยพุทธกาลนั้นหวังให้ลูกเป็นพระอรหันต์อย่างเดียวเลย แต่ไม่ได้หวังให้ลูกเป็นอรหันต์เพื่อให้ลูกได้รับการเคารพ ได้รับชื่อเสียง ได้รับความสบาย ได้โลกีย์ทรัพย์อะไรทำนองนั้นเลย เพียงแต่หวังให้ลูกนั้นพ้นภัยอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง คือให้ลูกอยู่เป็นสุข ซึ่งการจะเข้าถึงความสุขที่สุดในโลกก็คือให้ลูกนั้นเพียรพยายามศึกษาจนเป็นพระอรหันต์นั่นเอง

ส่วนแม่ในสมัยปัจจุบันก็เป็นไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน ศรัทธามากก็จะชัดเจนว่าไม่มีอะไรดีกว่าการส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์อีกแล้ว ถ้าศรัทธาน้อยก็จะโดนกระแสโลกีย์พาไป จนผลักดันลูกให้เป็นเจ้าคนนายคนบ้าง เป็นผู้มั่งคั่งบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงบ้าง เป็นผู้มีอำนาจบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามความหลงติดหลงยึดของแม่แต่ละคน

โดยพื้นฐานนั้น สิ่งที่แม่พึงให้ลูกก็คือปัจจัยสี่ แต่จะให้ดี ให้เลิศ ให้ประเสริฐก็คือให้ลูกได้มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่มากยิ่งขึ้น ยิ่งนำพาให้ลูกได้สิ่งนั้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น ให้เหตุเหล่านั้นเจริญไปถึง ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาในระดับอริยะเลยยิ่งดี และดีที่สุดคือส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ พอเป็นอรหันต์แล้วลูกจะทำอะไรต่อก็เรื่องของลูก แต่ลูกจะไม่เป็นทุกข์แน่นอน

แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่พ่อแม่จะส่งเสริมให้ลูกมีความเจริญทางด้านจิตใจได้ ถ้าตัวเองยังไม่รู้จักความเจริญนั้นจริงก็ยังไม่สามารถแนะนำสิ่งที่ดีกว่าที่ตนรู้จักให้ลูกได้ การจะทำให้ลูกนั้นเจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น จึงต้องทำสิ่งนั้นให้มีในตนก่อน หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็พาลูกไปพบกับสัตบุรุษ ไปพบกับคนที่รู้ธรรมะ มีธรรมนั้นในตนจริง เข้าใจอริยสัจ อย่างแจ่มแจ้งและทำตนเองให้หมดกิเลสได้จริง แล้วให้โอกาสเขาได้ฟังสัจธรรม ได้ศึกษาเรียนรู้ และนำธรรมเหล่านั้นมาปฏิบัติจนลูกได้เกิดความเจริญเหล่านั้นขึ้นในตน

หน้าที่ของลูกก็เช่นกัน ดูแลพ่อแม่ด้วยปัจจัยสี่อันพอประมาณ แต่ถ้าถามว่าต้องดูแลพ่อแม่แค่ไหนถึงจะได้ชื่อว่า “ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่” พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบไว้ว่า ต่อให้แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้างตลอดร้อยปี คอยเช็ดล้างทำความสะอาดให้ คอยนวดคอยดูแล มอบสมบัติ ปราสาท ราชวังให้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณแล้ว แต่ท่านบอกว่า ลูกที่สามารถพาให้พ่อแม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ที่เจริญขึ้นนั่นแหละ คือลูกที่ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่แล้ว

มันกลับหัวกลับหางกับทางโลกเขาเลยนะ ทางโลกเขาถือเอาวัตถุสิ่งของเป็นสำคัญ ส่วนทางธรรมนี่วัตถุก็เอาแค่พอเลี้ยงชีพ แต่ให้น้ำหนักในด้านความเจริญของจิตใจมากกว่า เราไม่จำเป็นต้องสมดุลโลกธรรมหรอก เพราะโลกที่มีแต่กิเลสเป็นตัวนำนั้นมีแต่ทุกข์ เกิดมากี่ชาติก็แสวงหาแต่ความเจริญทางโลก ไม่เคยยอมปล่อยยอมวางเสียที แม่ก็คลอดมาชาติแล้วชาติเล่า แทนที่จะศึกษาหาความรู้ที่จะทำให้แม่ไม่ต้องลำบากอีก ก็ไม่สนใจใยดีในการศึกษาหาความรู้ในการพ้นทุกข์ แต่กลับไปแสวงหาแต่สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ ก็เลยพากันวนเวียนกันอยู่ในโลก วนอยู่กับวัตถุสิ่งของ วนอยู่กับความสุขลวง วนอยู่กับอุดมการณ์ทั้งหลาย กอดโลกไม่ยอมปล่อย ก็เลยทำให้แม่ลำบากไปทุกชาติ เกิดแล้วก็เกิดอีก ไม่มีจุดจบ ไม่มีเป้าหมายในการหยุดแสวงหา ไม่มีความพอใจในเรื่องโลก

พอตนเองไม่สร้างความเจริญให้ตน ไม่นำพาความเจริญให้พ่อแม่ ไม่พากันลดกิเลส ตนเองก็ต้องเป็นทุกข์ พ่อแม่ก็ต้องเป็นทุกข์ วันเวลาผ่านไปก็มีแต่กิเลสเพิ่มขึ้นทุกวัน ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส ไม่ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส มันก็พากันทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์นั่นแหละ ดังนั้นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลูกที่ทำให้พ่อแม่เจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น คือผู้ที่ตอบแทนบุญคุณแล้ว นั่นคือธรรมเหล่านั้นเอง ที่จะทำให้ตนเองและพ่อแม่พ้นทุกข์ไปโดยลำดับ จนถึงขั้นไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเพราะแรงแห่งกิเลสตัณหาอีกต่อไป

ดั้งนั้น ไม่ว่าแม่จะหวังอะไรก็ตามแต่ แม้ท่านจะไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ หน้าที่หลักของลูกก็คือการนำพาความเจริญมาสู่จิตวิญญาณของแม่ โดยการทำตนให้เป็นตัวอย่าง เป็นการทำดีที่ตน ทำให้เกิดในตน ให้แม่ได้เห็นคุณค่าของความดีนั้น เห็นคุณค่าของการลดกิเลส แม้จะยากเย็นขนาดไหนก็ต้องทำ ถึงจะขนาดจะเรียกว่าทำดีให้คนตาบอดเห็นได้ก็ต้องทำ เพราะเป็นคุณประโยชน์ที่สุดที่ลูกจะพึงทำให้กับแม่ได้แล้ว และผู้ที่กระทำคุณเหล่านั้นได้ ก็ถือได้ว่าได้ตอบแทนบุญคุณแม่แล้วนั่นเอง

11.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมรสคือภาระ

May 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,046 views 0

สมรสคือภาระ

สมรสคือภาระ

แต่เดิมแล้วคนเรานั้นมีอิสระที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างมากมาย ซึ่งต่อมาอิสระเหล่านั้นก็จะถูกทำลายไปด้วยพลังแห่งราคะ เป็นสิ่งที่เข้ามาสร้างสุขลวงและทิ้งภาระให้ชีวิตและจิตวิญญาณได้ใช้หนี้กรรมไปอีกนานแสนนาน

เมื่อเราอยู่เป็นคนโสด เราสามารถใช้เวลาและโอกาสเหล่านั้นในการเรียนรู้ชีวิต ค้นหาความหมายในการเกิดมาในครั้งนี้ ว่าเราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร เรียนรู้และค้นหาไปจนกระทั่งสามารถเข้าถึงความรู้ที่เป็นที่สุดของโลก คือได้เรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ เรียนรู้ความดับทุกข์ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ทั้งปวง

ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ให้กระจ่างให้เร็วที่สุด เพราะในโลกนี้แท้จริงแล้วก็ไม่มีใครอยากทุกข์ ไม่มีใครชอบทุกข์ รักสุขเกลียดทุกข์ แต่น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความจริงที่พาพ้นทุกข์นี้

นั่นเพราะพลังของกิเลส คือราคะหรือความใคร่อยากเสพจะเป็นตัวสกัดกั้นความเจริญในธรรมและพาให้เราไปหาภาระ หรือสิ่งที่เบนความสนใจของเราให้ห่างออกไปจากทางพ้นทุกข์ ให้ไปเสพสุขลวง ให้หลงมัวเมาอยู่ในโลก

ในขั้นเริ่มต้น ก็จะเริ่มแสวงหาคนรัก คนที่จะมาบำเรอกิเลสตนได้ คนที่ถูกใจ คนที่วาดฝันไว้ แม้มีเพียงความอยากระดับนี้ ก็มีพลังมากพอจะทำให้เรา เลิกเรียนรู้ความหมายของชีวิต หันมาหาวิธีสนองตัณหาตนเองแทน แต่ในขั้นนี้ก็สามารถหลุดออกมาได้เร็ว เพราะการผิดหวังในขั้นนี้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ทุกข์นัก จึงสามารถถอนตัวกลับมาเรียนรู้ชีวิตได้

ในขั้นปานกลางพอกิเลสมากเข้า และวิบากกรรมส่งผลก็จะได้คนโชคร้ายหนึ่งคนมาคบหา ภาษาธรรมะเรียกว่า “ตัวเวรตัวกรรม” ภาษาทั่วไปเรียกกันว่า “แฟน” เขาเหล่านั้นจะคอยสนองกิเลสเรา ยั่วกิเลสเรา ทั้งกิน ทั้งโกรธ ทั้งกาม ผสมปนเปกันไปจนไม่ต้องพูดถึงธรรมะ เวลาคนมันเสพสุขจากกิเลสนี่ก็มัวเมาจนมืดบอดไปหมด ระยะนี้ถือว่าสร้างภาระให้กับตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว เพราะการรับเข้ามาเป็นแฟน มันก็ใช่ว่าเลิกกันได้ง่ายๆ แทนที่จะได้เอาเวลาในชีวิตไปเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็มาเมากันอยู่แค่ตรงนี้

ในขั้นหนัก พอกิเลสสุกงอมกันทั้งคู่ ก็จะแต่งงานกัน การแต่งงานเป็นการผูกภาระที่สมบูรณ์ คนเรามักจะสัญญาว่าจะดูแลคู่ครองกันไปจนตาย นั่นหมายความว่าเราต้องเสียประโยชน์ตนเองไปเพื่อบำเรอกิเลสของคู่ครองไปจนตาย เป็นภาระที่หนัก และยังมีของแถมให้เป็นภาระอีกมากมาย เมื่อครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรวมเข้าหากัน เวลาที่จะเอาศึกษาธรรมเพื่อแสวงหาความดับทุกข์นั้นเรียกได้ว่าไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าทิ้งหน้าที่สามีหรือภรรยาหนีไปศึกษา ก็มักจะโดนกล่าวหาว่าไม่ทำหน้าที่คู่ครองที่ดี

ในขั้นหนักที่สุด คือแต่งงานกันแล้วยังสร้างสิ่งผูกมัดในชีวิตไม่พอ ก็จะสร้างลูกขึ้นมาด้วย เมื่อสร้างลูกขึ้นมาก็เหมือนกลายเป็นทาสที่ต้องใช้เวลาคอยดูแลลูกเข้าไปอีก ไหนจะต้องบำเรอคู่ ไหนจะต้องบำรุงลูก ไหนจะการงาน ในจะกิจกรรมในครอบครัว ไหนจะสุขภาพ ไหนจะเรื่องการสนองกิเลสตัวเอง กว่าจะเอาเวลาไปศึกษาธรรมะ ก็คงต้องรอลูกโตหรือไม่ก็ตายกันไปข้างหนึ่ง จะหนีไปบวชหรือหนีไปปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ใช่ว่าเขาจะยอมกันง่ายๆ รับเขามาในชีวิต ไปบำเรอกิเลสจนเขากิเลสอ้วนแล้วจะทิ้งกันง่ายๆนี่ไม่มีทาง ครอบครัวจะรั้งเราไว้ มันจะมีเหตุการณ์ประหลาดที่กั้นขวางไม่ให้เราสามารถเข้าใกล้ธรรมได้มากมาย

สุดท้ายกว่าจะได้โอกาส ได้อิสระไปค้นหาความหมายของชีวิตอีกครั้งก็คงจะใกล้วัยชราแล้ว มีเวลาเหลือน้อยแล้ว สุขภาพไม่เอื้ออำนวยเหมือนตอนวัยรุ่นแล้ว ครูบาอาจารย์ก็ตายไปหมดแล้ว สุดท้ายก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยสนองกิเลสแล้วก็รอวันตายไปเปล่าๆอีกหนึ่งชาติ ถือว่าเกิดมาเสพกิเลสฟรีๆ เป็นโมฆะบุรุษไป เสียกุศลที่สร้างมา แถมยังต้องรับอกุศลคือกรรมชั่วที่ทำไว้มากมายในชาตินี้อีก

เกิดมาเป็นคนใหม่ก็พยายามจะค้นหาความหมายของการมีชีวิตเหมือนเดิม แต่ไม่นานกิเลสเพื่อนเก่าก็เข้ามาทักทาย สุดท้ายก็แพ้กามราคะเหมือนเดิม ไปแต่งงานมีลูก ผูกครอบครัวเหมือนเดิม กว่าจะหลุดได้ก็แก่เหมือนเดิม แก่แล้วก็ขี้เกียจเหมือนเดิม สุดท้ายก็ตายไปเปล่าๆเหมือนเดิม

ถ้าอย่างแย่ที่สุดคือหักห้ามใจไม่ไปแต่งงานเสีย ถ้าคบอยู่ก็ให้เป็นแค่เพื่อน ถ้ารักกันจริงก็อย่าให้เสียประโยชน์ตนเอง ก็อาจจะทำให้พ้นจากนรกที่ไม่มีวันจบสิ้นแบบนี้ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเผลอพลาดไปแต่งงานแล้วล่ะก็ ตัวใครตัวมัน ตอนแก้มันไม่ง่ายเหมือนตอนผูกนะ เงื่อนกรรมมันพันแน่นซับซ้อนมาก

ใครอยากมีความสุขในชีวิตก็ไม่ต้องไปผูกเงื่อนกรรมพ่วงชีวิตกับใครไว้ เพราะเพียงแค่ชีวิตเราเองก็เป็นภาระที่ต้องจัดการมากพอแล้ว ยังจะเอาคนมีกิเลสมาผูกไว้ด้วยอีกคน แถมกิเลสของบรรดาญาติมิตรสหายของเขาอีก นี่มัน “ อภิมหากองกิเลส “ ใครคิดว่าแน่จะไปลองลิ้มชิมนรกเช่นนี้ดูก็ได้ เพราะถ้าปัญญามันไม่เต็มรอบ ยังไงมันก็ไม่เข็ด มันจะไปเสพอยู่นั่นแหละ มันจะโง่ไปเอาภาระ วิ่งไปหาเหามาใส่หัว แกว่งเท้าหาเสี้ยนอยู่นั่นเอง

พอมีคู่มาผูกนี่มันออกไม่ได้ง่ายๆนะ แม้เราจะมีครูบาอาจารย์ที่มีวิชชาสอนให้พ้นทุกข์ได้ แต่วิบากกรรมมันจะกั้นไม่ให้เราออกมาง่ายๆ เขาจะขวาง เขาจะห้าม ถึงเขาไม่ห้าม เราก็ห่วง เราก็ระแวง มันจะมีอะไรสักอย่างมาดลบันดาลทำให้ออกไม่ได้ ทีนี้เวลาวิบากกรรมชั่วชุดใหญ่มันมาแล้วตนเองไม่มีธรรมที่กล้าแกร่งพอ มันจะทุกข์และทุกข์หนักมาก แต่ถึงแม้จะทุกข์สุดทุกข์ก็จะออกจากนรกแห่งความทุกข์นั้นไม่ได้ มันจะผูก จะเหนี่ยว จะรั้งไว้ ให้ทนทุกข์อยู่นั่นแหละ สิ่งที่ทำให้ต้องทนทุกข์แม้ว่าเหมือนจะออกได้แต่ออกไม่ได้ก็คือ ผลของกรรมที่ไปผูกเขาไว้นี่เอง

ตอนได้เสพกัน ได้สนองกิเลสกัน ได้สมสู่กันมันก็ดูเหมือนจะมีความสุขดีอยู่หรอก แต่ตอนที่วิบากกรรมชั่วมาถึงนี่มันไม่สุข ไม่สนุกเลยนะ ใครจะลองศึกษาชีวิตด้วยทางนี้ก็ได้เหมือนกัน ทางเส้นนี้ทุกข์มากสุขน้อย แต่คนเขลาจะเห็นว่าทุกข์น้อยสุขมาก จะบอกยังไงก็คงไม่เชื่อ ก็คงต้องลองกันดูเอง แต่ถ้ารู้แล้วไม่ไปลองก็ถือว่าเอาตัวรอดเป็น

สุดท้ายนี้ก็ขอสรุปว่าการมีคู่นี่มันเป็นการผูกพันให้ต้องมารับภาระ รับทุกข์ รับวิบากกรรมกันชั่วกัปชั่วกัลป์ไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

February 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,115 views 0

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

เมื่ออายุล่วงเลยเข้าไปถึงสามทศวรรษ สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งร่างกาย ความคิด โดยเฉพาะเสียงจากสังคม

โดยส่วนมากความเปลี่ยนแปลงของวัยจะมีผลอย่างมากกับผู้หญิงและมีสิ่งที่ทำให้กังวลใจเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เมื่อเข้าช่วงอายุประมาณ 30 ขึ้นไปจะต้องรีบหารถไฟขบวนสุดท้าย เป็นความเชื่อจากสังคมและโลกที่ปรุงแต่งให้เราคิดและกังวลเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของการมีคู่

ทำให้คนที่อยู่ในช่วงอายุนั้นๆเกิดความทุกข์ ความกังวลใจ จากกระแสสังคมและความเชื่อที่มีโหมกระหน่ำเข้ามาจนทำให้จิตใจสั่นไหว ไม่มั่นคง ไม่เป็นไปตามเหตุและผล แต่เป็นไปตามกิเลส เป็นไปตามโลกธรรม เป็นปลาที่ไหลไปตามน้ำ ในบทความนี้จะมาไขเสียงเรียกร้องของกิเลสที่มักจะได้ยินกันในสังคมของคนในช่วงอายุนี้กัน

1). ทุกข์ของคนโสด

เป็นคนโสดก็มีความทุกข์ในแบบของคนโสด เราเป็นคนโสดมาตั้งแต่แรกกันทั้งนั้น แต่ใครจะเสียความโสดไปในขั้นตอนไหนก็ลองมาศึกษากันเลย

1.1). โสดไม่เป็นสุข

พออายุเข้า 30+ ก็ยังโสดอยู่ คนรู้ใจก็ไม่มี คนที่เข้าตาก็มองไม่เห็น และด้วยความที่ยังโสดแต่ก็ไม่มีความสุข ชีวิตยังเหมือนขาดอะไรไป ยังพร่องอยู่ ไม่รู้สึกว่าเต็มเสียที มองเห็นคนมีคู่ก็คิดไปว่าถ้าเรามีก็คงจะสุข ใครเขาว่ามีคู่ก็มีความสุข มันก็เลยทำให้คนโสดไม่เป็นสุข เพราะไม่เห็นคุณค่าของความโสด ไม่มีปัญญารู้แจ้งในประโยชน์ของความเป็นโสด กลับไปเห็นดีเห็นงามในการมีคู่จึงทำให้โสดอย่างไม่เป็นสุข

โลกธรรมก็จะเข้ามาช่วยเร่งรัด เช่นเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิด เข้ามาบอกว่าทำไมไม่มีคู่ล่ะ, ไม่มีแฟนสักทีล่ะ, อยู่คนเดียวตอนแก่จะลำบากนะ, เป็นคู่ปฏิบัติธรรมก็ได้นะ เหตุผลร้อยแปดพันเก้ากระหน่ำเข้ามาด้วยคำพูดเสริมกิเลสซ้ำๆย้ำๆ จนคนโสดเริ่มเมาหมัด อยู่ไม่เป็นสุข ถึงแม้ว่าตอนแรกคิดว่าตั้งใจจะโสด แต่สุดท้ายก็อาจจะหวั่นไหวไปตามกิเลสจนต้องแสวงหาก็ได้

1.2). โสดแสวงหา

พอโสดอย่างไม่เป็นสุขและโดนความเชื่อตามที่สังคมเข้าใจกันว่าเมื่อใกล้ถึงวัยนี้ โอกาสลงจากคานช่างยากเต็มที ก็จะเริ่มแสวงหาใครสักคนมาช่วยทำให้ความโสดนั้นหายไป โดยมีตัวเลขที่เรียกว่าอายุเป็นปัจจัยเร่งรัด ทำให้หน้ามืดตามัวแสวงหาคู่อย่างไม่มีสติ ทั้งนี้ทั้งนั้นอายุที่สมควรจะมีคู่นั้นเป็นเพียงสมมุติโลก ในพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้ว่า เมื่อถึงกลียุคหญิงสาวจะแต่งงานและมีบุตรได้เมื่ออายุ 5 ขวบ แต่เมื่อผ่านพ้นกลียุคและเจริญไปจนกระทั่งมนุษย์มีอายุ 80,000 ปี หญิงสาวจะแต่งงานก็ต่อเมื่อมีอายุ 500 ปี ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติโลกทั้งนั้น และสิ่งที่เราเชื่อกันว่าขบวนสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่เราหลงเชื่อกันต่อๆมานั่นเอง เป็นค่าสถิติที่เก็บได้ แต่ใช้ตามความจริงไม่ได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของของตน ดังนั้นสถิติจึงไม่มีผลใดๆเลยในวิถีของพุทธ

และเมื่อตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่พบว่าหาไม่ได้เสียที หากกิเลสน้อยก็ปลงและจมทุกข์ไป หากกิเลสมากก็จะปรุงแต่งมากขึ้น เสริมสวยมากขึ้น แต่งโป๊มากขึ้น บริหารเสน่ห์มากขึ้น เอาง่ายๆว่ายั่วกิเลสหาเหยื่อนั่นแหละ ก็ใช้การเสริมกิเลสเป็นเหยื่อล่อกิเลสกันไป

โลกธรรมจะเข้ามาเสริมทัพของกิเลสโดยอาจจะมี ครอบครัว เพื่อน เป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ ชักนำคนนั้นคนนี้เข้ามาในชีวิตเพื่อช่วยให้เราได้แสวงหาหรือมีคู่ได้มากขึ้น คนที่อยากมีคู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อพลังของกิเลสไปในที่สุด

1.3). โสดเลือกได้

ทีนี้พอมีคุณสมบัติครบพร้อม รูปงาม เสียงงาม ฐานะ หน้าที่การงาน ฯลฯ เมื่อผ่านพ้นช่วงแสวงหาจนได้เป้าหมายมา อย่างน้อยๆก็จะมีมาให้เลือกหนึ่งคนหรือที่เรียกกันว่าคนที่ดูๆกันไป แต่ในสังคมทุกวันนี้ดูไปถึงร่างกายแล้ว แม้จะมีสัมพันธ์ทางกายกันแต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นคู่กันก็มีมาก เป็นความเสื่อมอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

คนที่มีโอกาสเลือกมากก็มักจะคัดเลือกคนตามกิเลสของตน ดังคำตัดพ้อที่นิยมในสมัยนี้ว่า “ชอบคนดี รักคนหล่อ แต่งงานกับคนรวย” สุดท้ายไม่ว่าจะดีแค่ไหน ปัจจัยที่จะมีน้ำหนักในการเลือกนั้นก็คือคนที่สนองกิเลสตนให้ได้มากที่สุด ใครสนองกิเลสของฉันได้มากที่สุด ต้องสนองเท่าที่ฉันต้องการได้ด้วยนะ ก็จะได้สิทธิ์เป็นทาสกิเลสของฉันไปจนตาย โดยไม่มีสิทธิ์เลิก

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลายคนใฝ่ฝันว่าจะได้คนที่เพียบพร้อมมาสนองตนเอง แต่ในชีวิตจริงนั้นมักจะไม่ได้สมใจทั้งหมด คนที่เข้ามาให้เลือกจะพร่องๆขาดๆ คนนั้นดีตรงนั้น คนนี้ดีตรงนี้ คนนั้นรวยแต่เลว คนนั้นดีแต่จน มันก็จะทำให้ชั่งน้ำหนักยาก เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์นักหรอก

ซึ่งเวลาเลือกก็คงจะมีไม่มากสำหรับคนวัย 30+ โลกธรรมจะเข้ามาเป็นตัวเร่ง ถามอยู่นั่น เร่งอยู่นั่น เมื่อไหร่จะเลือก คนนั้นดีนะ คนนี้ดีนะ คนนั้นจนอย่าไปเอาเลย คนนั้นเจ้าชู้แต่รวยเอาเงินไว้ก่อนดีกว่า พอมันไม่ได้มีแค่กิเลสของตัวเราเป็นตัวผลักดันแต่ยังมีกิเลสของญาติมิตรสหายที่กิเลสหนาเป็นตัวร่วม โสดที่เลือกได้ก็เหมือนจะไม่ได้เลือกด้วยเหตุและผลอันเป็นกุศล แต่มักจะเลือกด้วยเหตุที่สามารถสนองผลคือสนองกิเลสของฉันและหมู่คณะของฉันได้

2). ทุกข์ของคนไม่โสด

สุดท้ายแล้วพอโสดแล้วมันอยู่ไม่เป็นสุข มันทุกข์มากก็เลยมีคู่เสียเลย เอามาสนองความอยากเสียเลยจะได้ลดทุกข์ของการไม่มีคู่ลงบ้าง แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ทุกข์มันไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นและที่สำคัญโลกธรรมก็จะยังอยู่กับเราเช่นเคย

2.1). คบหาดูใจ

เมื่อเราเริ่มคบหาดูใจกัน หรือที่เรียกว่าเป็นแฟนกัน คือคนนี้แหละที่น่าจะเป็นคู่แต่งงานในอนาคต ตอนแรกก็คิดว่าจะคบหาดูใจกันไป แต่ในความจริงมันไม่เป็นแบบนั้น สภาพของแฟนในปัจจุบันแทบไม่ต่างกับคู่แต่งงาน เพียงแค่ไม่ได้จัดงานแต่งงานกันเท่านั้น

กิเลสจะเร่งเร้าให้ทำมากกว่าคบหาดูใจ คือพยายามจะคบหาดูร่างกายกันไปด้วย เมื่อพลาดพลั้งไปจึงเกิดสภาพผูกมัดที่มากกว่าแฟน เพียงแต่ยังเรียกว่าแฟนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นแค่เพียงปากทางแห่งนรกเท่านั้น

เมื่อคบหาดูใจกันในวัย 30+ คบกันไม่ทันไรก็จะมีแต่คำถามและคำแซวมากมาย หวานกันจังนะ, เข้ากันดีนะ, ดูเหมาะสมกันดีนะ, เมื่อไหร่จะแต่งงานกัน ฯลฯ เจอใครเขาก็ถามแบบนี้ กลายเป็นโดนโลกธรรมสะกดจิต ตัวเองก็ต้านกิเลสไม่เป็นอยู่แล้ว และโดยมากมักจะเห็นดีเห็นงามกับการแต่งงานเสียด้วย

สุดท้ายเมื่อโดนโลกธรรมรบเร้าจนกิเลสโต อยากแต่งงานขึ้นมาอย่างจริงจัง ก็เลยพยายามคุยกันเรื่องแต่งงานบ่อยๆ หาเหตุที่จะได้แต่งงาน ไม่มีเงินก็ขยันหา ไม่มีเรื่องราวก็พยายามสร้าง สรุปคือพยายามสนองกิเลสจนทั้งคู่พร้อมใจจะแต่งงานนั่นเอง

2.2). แต่งงาน

เมื่อแต่งงานแล้ว ด้วยวัย 30+ เรื่องที่ตามมาก็มักจะเป็นเรื่องของลูก คนจะถามกันว่าจะมีลูกไหม, รีบมีลูกนะเดี๋ยวไม่ทันใช้, มีลูกน่ารักนะ, คิดนานไม่ดีนะ, มีลูกตอนแก่สุขภาพจะไม่อำนวย, มีลูกตอนนี้พ่อแม่ยังช่วยดูแลไหว ฯลฯ โลกธรรมมันจะเข้ามายั่วกิเลสแบบนี้ จริงๆคือมันจะลากลงนรกไปด้วยกันนั่นแหละ

คนที่พอจะต้านทานกระแสโลกได้ก็แต่งงานแต่ไม่มีลูก อยู่กันไปแบบนั้น อย่างดีเลยก็ถือศีล 8 อยู่กันแบบพรหมไป เจริญในธรรมได้แบบมีวิบากกรรมตามมาหลอกหลอนประมาณหนึ่ง แต่ไม่มีทางเป็นสุขและสบายเท่าคนโสด ส่วนคนที่กิเลสหนาก็จะเห็นว่าการแต่งงานนี่แหละดี กิเลสมันบังอยู่แบบนี้มันก็จะเห็นแบบนี้ มันก็ถูกตามแบบของคนเห็นผิดแบบนี้

ส่วนคนที่ต้านทานกระแสโลกไม่ไหว และตัวเองก็อยากมีลูกด้วย สุดท้ายก็พยายามหวังให้มีลูก ที่ว่าหวังเพราะการมีลูกกับไม่มีลูกในปัจจุบันไม่ก็ไม่ได้ต่างอะไรที่กระบวนการนัก เพราะมีการสมสู่กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การจะติดลูกนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางคนมีลูกยากก็ทุกข์ บางคนมีลูกง่ายก็ทุกข์ มันก็ทุกข์ไปคนละแบบ

2.3). ครอบครัว

ทีนี้พอมีลูกแล้วองค์ประกอบของครอบครัวก็ครบพร้อมทันที เป็นชีวิตอุดมคติที่หลายคนใฝ่ฝัน เกิดเป็นสภาพที่โดนครอบไว้ออกไปไหนไม่ได้อีกต่อไป เป็นหนี้ เป็นทาส ขาดอิสระ ต้องเอาชีวิต เวลา พลังงาน ทรัพยากรต่างๆมาดูแลเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่คนนี้ ทุกข์ตรงนี้ต้องรับไปเต็มๆ

ส่วนชาวโลกที่มาช่วยเสริมโลกธรรมตั้งแต่แรกเขาไม่มารับทุกข์ด้วยหรอก เขามาเล่นกับเด็กแค่พอสนุกไม่นานเขาก็ไป ส่วนหน้าที่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวดูแลชีวิตเด็กคนนี้ไปอีกจนกว่าเขาจะตายก็อยู่ที่คนสร้างนั่นแหละ หน้าที่ดูแลบุตรมันไม่ได้หยุดแค่เขาทำงานเลี้ยงตัวเองได้นะ แต่มันต้องดูแลเขาไปตลอดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆและไม่ว่านานเท่าไหร่ เรียกง่ายๆว่าดูแลจนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ตัวเองสร้างมา

แล้ววิบากกรรมมันจะหมดได้อย่างไร ก็เมื่อตัวเองสร้างเด็กคนนั้นมา เด็กคนนั้นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราต้องดูแลนั่นแหละ ก็รับกันไปจนตายกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ บางทีตายแล้วยังไม่จบเลย เกิดมาใหม่ยังต้องมารับกันต่ออีก

….

ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอยากมีคู่ ไม่มีความอยากมีครอบครัวเป็นส่วนตัว แต่ถ้าเราไม่มีพลังพอที่จะต้านกระแสโลกธรรม เราก็จะหลงไปตามโลก หลงไปตามที่เขาว่าดี ตามที่เขายึดถือ หลงไปตามโลกียะนั่นเอง

แต่คนโดยส่วนมากนั้นมีความอยากมีคู่ อยากมีคนสนองกิเลส อยากมีครอบครัว อยากมีลูกมาเป็นหลักประกันผูกรั้งคู่ของตนไว้กับคำว่าครอบครัว (แม้สุดท้ายจะกลายเป็นบ่วงที่ผูกรั้งตัวเองก็ตาม) เรามักจะมีกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้รับแรงผลักดันจากกิเลสของสังคมและโลกหรือที่เรียกว่าโลกธรรม ก็มักจะละทิ้งความโสดและความปกติสุขไปโดยลำดับเพื่อแลกมาซึ่งบาป เวร ภัย ภาระ อกุศลกรรม เพียงเพื่อที่จะได้เสพสมใจตามที่โลกเขาเห็นว่าดี ตามที่โลกเขายอมรับ

คนที่อยู่ในวัย 30+ มักจะโดนแรงจากโลกธรรมกระหน่ำแบบนี้ และเมื่อต้านไม่ไหวก็จะเป็นทุกข์ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์ ต่างจากคนที่โสดอย่างเป็นสุข ที่เป็นสุขเพราะมีสภาพรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในเรื่องคู่ครอง โลกธรรมที่กระหน่ำเข้ามาไม่ว่าจะมากน้อยหรือรุนแรงซับซ้อนเพียงใดก็ไม่อาจจะทะลุทะลวงกำแพงแห่งปัญญาได้เลย มิหนำซ้ำปัญญาเหล่านั้นแหละจะไปทำลายโลกธรรมจนสิ้นซากไม่เหลือท่าใดๆเลย

ถึงแม้ว่าสิ่งที่จะกดพลังแห่งโลกธรรมไว้ได้คือการใช้อัตตา คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มีความมั่นใจในตัวเองสูง จะสามารถป้องกันภัยของโลกธรรมได้บ้าง ดังที่เห็นได้บ้างว่ามีคนจำนวนหนึ่งสามารถต้านโลกธรรมด้วยความแข็งแกร่งในตน นั่นก็คืออัตตา แต่ก็ยังไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดที่จะป้องกันกิเลสได้ เพราะดีกว่านั้นยังมี สุขกว่านั้นยังมี สมบูรณ์กว่านั้นยังมี

เราจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลสให้เข้าใจอย่างรู้แจ้งชัดเจน ถ่องแท้ในกิเลสเรื่องนั้นๆจนสามารถเห็นความจริงตามความเป็นจริง ข้ามพ้นกามและอัตตา ดำเนินอยู่บนทางสายกลางที่ไม่เปื้อนไปในด้านใดด้านหนึ่ง นั่นแหละคือที่สุดของการปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

26.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักมั่นคง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,634 views 0

รักมั่นคง

รักมั่นคง

… ความตั้งมั่นจะที่ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัวเพื่อดำรงไว้ซึ่งสัจจะ

คงจะเป็นเรื่องยากถ้าจะให้เราปล่อยวางความรัก ทำตัวเฉยๆกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา แม้ว่าจะศึกษาธรรม อ่านบทความเกี่ยวกับความรัก มีกรณีศึกษามากมายที่ทำให้รู้สึกหวั่นเกรงอยู่บ้าง แต่เมื่อได้ประสบกับความรักเข้าจริงๆแล้ว เราก็มักจะยอมปล่อยวางธรรมเหล่านั้นและเดินตามความรักไปอย่างเต็มใจ

เมื่อความรักในแบบที่เข้าใจดำเนินมาตามขั้นตอนคบหา ดูใจ เรียกว่าคนสนิท ได้ชื่อว่าแฟน จนกระทั่งแต่งงานเป็นสามีภรรยา แน่นอนว่ามีเวลามากมายให้เราได้คิดพิจารณา แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ละก็เวลาเหล่านั้นก็จะถูกใช้ไปกับการเสพสุข ใช้ในการบ่มเพาะเรื่องราวความรักจนกระทั่งแต่งงาน

ในบทความนี้เราจะมาเล่ากันในเรื่องการประคองความรักหลังแต่งงาน ทำอย่างไรให้ชีวิตรักนั้นมั่นคง สิ่งใดที่คงทำให้เจริญ สิ่งใดที่ควรทำลาย

0). เกริ่นนำ

มนุษย์นั้นได้ชื่อว่าประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง นั้นเพราะมนุษย์มีคุณธรรม มีความดีงามเหนือสัตว์อื่น ดังนั้นการครองคู่ของมนุษย์ที่ประเสริฐนั้นก็ย่อมจะมีคุณค่าและมั่นคงเหนือสัตว์อื่นเช่นกัน

นกเงือกเป็นสัตว์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของรักแท้ เพราะตลอดชีวิตมันก็จะมีคู่เดียว เลือกแล้วเลือกเลยไม่แปรผัน อยู่กันไปจนตาย สัตว์เดรัจฉานนี้อาจจะทำไปด้วยปัจจัยหรือสัญชาติญาณใดๆก็ตาม แต่ก็นับเป็นสัญลักษณ์ที่ประเสริฐ ที่ควรน้อมนำมาปฏิบัติ ดังนั้นเกิดเป็นมนุษย์ก็จงอย่าทำตนให้ต่ำกว่านกเงือก

1). เปิดม่านละครเรื่องใหม่

หลังจากที่เราได้เกี้ยวพาราสี สนองกิเลส บำรุงบำเรอคู่จนหลงในความรัก ตกลงปลงใจแต่งงานกันแล้ว ก็ถือเป็นการเริ่มต้นละครเรื่องใหม่ซึ่งต่างไปจากเดิม หลายคนมองว่าการแต่งงานคือความสมบูรณ์ในชีวิต มองว่าการแต่งงานเป็นตัววัดคุณค่าของคน เป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นความหมายในการเป็นคน

แม้ว่าเราจะมีความเห็นผิดเหล่านั้นแต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสักเท่าไรนัก เพราะปัญหาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราแต่งงานมีครอบครัวใหม่ นั่นก็เพราะว่าบทที่เราต้องเล่นจะเปลี่ยนไป ทุกอย่างที่เคยมีจะเปลี่ยนแปลง ทั้งเสพทั้งเสื่อมสลับปรับเปลี่ยนหมุนไปอย่างรวดเร็วจนเราเล่นตามบทไม่ทัน

ในละครเรื่องนี้ หน้าที่ของเราก็คือเล่นบทบาทให้สมจริง ให้เป็นสามีจริงๆ ให้เป็นภรรยาจริงๆ เป็นนักแสดงรางวัลตุ๊กตาทองที่แม้บทจะยากเย็นแสนเข็ญก็จะแสดงให้ดีให้สมจริงให้ได้

1.1). ในบทสามี

เมื่อเป็นสามี ชีวิตจะเปลี่ยนไปเพราะได้ภาระคนใหม่ในชีวิตที่ชื่อว่า “ภรรยา” เข้ามา แม้ความสวยงามของเธอ อัตตาของเธอ การสมสู่กับเธอ ในช่วงแรกๆอะไรก็ดีไปหมดดังที่เขาว่า “ข้าวใหม่ปลามัน” แต่อารมณ์สุขเหล่านั้นจะเสื่อมลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อได้เสพซ้ำๆ

ผ่านไปเรื่อยๆความเป็นเธอหรืออัตตาในแบบของเธอที่เราเคยชอบมันจะเริ่มเป็นปัญหา เพราะจริงๆเธอก็ยั้งไว้เช่นกัน ก่อนแต่งก็เก็บๆไว้ก่อนหลังแต่งก็ปล่อยเต็มที่ สุดท้ายเราจะได้พบกับความเอาแต่ใจของเธอแบบเล่นจริงเจ็บจริง เพราะเมื่อเธอได้ยึดเราเป็นที่พึ่งแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผัวเมียแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงใจกันมากนัก จริงใจกันจะดีกว่า ว่าแล้วก็เลยปลดปล่อยอัตตากันเต็มที่

ผ่านไปอีกไม่นาน ความเต่งตึงและความงามที่เคยมีจะค่อยๆเสื่อมสลาย หลายส่วนจะค่อยๆหย่อนยานเหี่ยวย่น หมองคล้ำ ไม่น่ามอง ไม่น่าสัมผัส เนื่องจากเธอไม่จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้มากเหมือนสมัยที่ต้องยั่วกิเลสเราให้เราหลงแต่งงานกับเธอ และเธอเองก็ยังไม่สามารถที่จะป้องกันความแก่ที่เพิ่มขึ้นทุกวันได้อีกด้วย

ยิ่งถ้าเธอมีลูกแล้วสามีอาจจะต้องพบกับสภาพที่น่าสงสารที่สุดก็คือ ภรรยารักลูกมากกว่า หรือไม่ก็ร่างกายเธอเปลี่ยนไปจนกู่ไม่กลับ ด้วยสัญชาติญาณความเป็นแม่ ความรักความห่วงใยมักจะไปลงที่ลูก แน่นอนว่าจริงๆแล้วคนที่อยากได้ความรักจากภรรยาคือสามี แต่โดนลูกแย่ง ทีนี้จะไปโกรธลูกก็ไม่ได้เพราะรักลูกเหมือนกัน แต่นี่เองคือสภาพความเสื่อมที่ต้องเผชิญ

รวมถึงภาระที่ต้องแบก ฝ่ายชายซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำโดยสากล ย่อมแบกภาระในหลายๆด้าน นำมาซึ่งความกดดันทางจิตใจ แต่ก็ไม่เป็นไรนะ ไหนๆเราก็เลือกที่จะมาเป็นสามีเธอแล้ว ถึงแม้เธอจะแก่จะเหี่ยว เรื่องมาก เอาแต่ใจเพียงใด นี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ดังนั้นด้วยบทสามีดีเด่น ก็ควรจะดำรงความดีไว้ แม้ว่ามันจะไม่สุขเหมือนก่อนแล้วก็ตาม

1.2). ในบทภรรยา

เมื่อเป็นภรรยาแล้ว แรกๆอาจจะพบว่าเต็มไปด้วยความสวีทหวานสามีทำการบ้านตลอดไม่เคยเกเร พอผ่านไปก็ชักจะเริ่มขาดส่ง จนกระทั่งหายไปนานๆ เราพยายามแต่งตัวสวยยั่วกิเลสก็แล้ว ทำตัวน่ารักเหมือนสมัยสาวๆก็แล้ว ก็ยังไม่ได้ผล ซึ่งจริงๆเราก็ต้องเข้าใจความเป็นจริงของโลกว่า อาการคนเสพจนเบื่อมันเป็นเช่นนี้

แล้วแต่ก่อนเราเคยถูกเอาใจ ดูแล โทรหาทุกเช้าเย็น ไปรับไปส่ง มันอาจจะเสื่อมลงสลายลง กลายเป็นผลติดลบเช่น ต้องมาคอยดูแล เอาใจ ต้องคอยโทรเช็คทุกเช้าเย็นว่าไปไหน ต้องขับรถไปรับไปส่งสามี แม่สามี และลูกอีกอะไรแบบนี้ก็คงต้องยอมเข้าใจ

เรื่องความสวยนี่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าคนเสพรูปความสวยจนเบื่อแล้ว แต่งไปก็เท่านั้น สวยไปก็เท่านั้น แต่ไม่สวยแล้วอาจจะโดนติได้ มีแต่เท่าทุนกับขาดทุน

ยิ่งถ้ามีลูกยิ่งแล้วใหญ่ ลูกก็ต้องเลี้ยง สามีก็อ้อนเอาแต่ใจ ต้องแบ่งความรักความเห็นใจวุ่นวายกันไปหมด แถมร่างกายหลังมีลูกมันก็ไม่เหมือนเดิมอีกด้วย จะทำให้เหมือนเดิมมันก็ยาก บางคนคลอดแล้วก็ยังเหมือนไม่ได้คลอด

ทีนี้พอมีลูกก็มักจะมีญาติผู้ใหญ่เข้ามาเสริมในชีวิตเข้าไปอีก ปรุงแต่งกิเลสกันสนุกสนาน คนนั้นก็จะเอาอย่างนั้น คนนี้ก็จะเอาอย่างนี้ แต่แน่นอนว่าในบทภรรยาดีเด่น เราก็ต้องกระจายความรักความเมตตาให้กับทุกคน สามีก็ต้องเป็นสุข ลูกก็ต้องเป็นสุข ญาติๆก็ต้องเป็นสุข สุดท้ายเราก็แบกทุกข์ไว้เอง ทนๆกันไปนะ

1.3). แนะนำตัวละครใหม่ที่เรียกว่า “ลูก”

ใครก็ไม่รู้ที่มาสวมบทบาทเป็นลูกของเรา แน่นอนว่าเนื้อหนังที่หุ้มนั้นเป็นส่วนที่เราสร้างมา แต่จิตใจและกรรมนั้นเป็นของเขา ซึ่งเขาจะเป็นตัวละครที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตพ่อแม่ เปลี่ยนวิถีจากคู่รักกลายเป็นครอบครัวอย่างแท้จริง เป็นคนที่จะเข้ามาพึ่งพิงพลังชีวิตของสามีและภรรยา นั่นหมายถึงเขาคือภาระที่เราต้องเลี้ยงดู เป็นเหมือนดังบ่วงที่ผูกไว้ให้เป็นสภาพครอบครัว ให้หนีจากความเป็นครอบครัวไม่ได้

แต่แน่นอนว่าในฐานะพ่อแม่ดีเด่นแล้ว เราต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกให้เหมาะสมที่สุดอย่างเป็นกุศลตามที่เขาควรจะเป็น ไม่ใช่ที่เราอยากให้เป็น ซึ่งก็เป็นผลกรรมที่พ่อแม่ต้องรับไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องเลี้ยงไปนานเท่าไหร่น่ะหรอ? ก็จนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ทำมานั่นแหละ

1.4). ตัวละครเสริมพ่อตาแม่ยาย ญาติ มิตรสหาย

เป็นคนที่มักจะเข้ามาเป็นฉากๆ ไม่ประจำนัก สมัยนี้คนไทยมักจะไม่ค่อยมีภาพครอบครัวใหญ่ให้เห็นมากเหมือนก่อน แต่ญาติมิตรสหายนั้นก็กลับเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อชีวิตคู่เช่นกัน โดยเฉพาะพ่อแม่นี่แหละ เพราะเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อชีวิตคู่อย่างมาก มีพลังอำนาจที่สามารถทำให้ทุกข์หรือสุขได้ เราไม่สามารถจะไปกำหนดบทบาทของตัวละครเสริมเหล่านี้ได้นัก ได้แต่รับผลกรรมไปตามที่ทำมา

2). หน้าที่

เมื่อเปลี่ยนจากการคบหาดูใจมาเป็นสามีภรรยาแล้ว หน้าที่ที่จะต้องทำก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย นั่นคือการสงเคราะห์ ดูแล ช่วยเหลือภรรยา บุตร ญาติ พ่อแม่ ฯลฯ ซึ่งเป็นมงคลชีวิตที่ต้องกระทำ ถ้าไม่ทำก็ถือว่าละทิ้งหน้าที่ ไม่เป็นมงคล เป็นทางเสื่อม

เรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าการเพิ่มใครเข้ามาสักคนในชีวิตนั้นหมายถึงภาระที่เพิ่ม แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ตระหนักกันในมุมนี้สักเท่าไร มักจะมองว่าช่วยกันพาเจริญ ช่วยกันทำดี เห็นแต่มุมที่สวยงาม แต่ลืมมองเรื่องของกิเลสและวิบากกรรมที่มีร่วมกัน

การพูดถึงหน้าที่นั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ใครก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจกันโดยสามัญ แต่หน้าที่ในที่นี้หมายถึงการทำหน้าที่แม้กระทั่งอยู่บนปัจจัยที่ต่างไปจากเดิม สภาพที่ไม่เอื้อต่อการทำหน้าที่ หรือแม้สภาพจิตใจที่ไม่อยากทำหน้าที่

ชีวิตคู่ไม่ได้ราบเรียบเหมือนน้ำในทะเลสาบ แต่ปรับเปลี่ยนรุนแรงเหมือนกับทะเล ดังนั้นความยากของการทำหน้าที่คือการทำหน้าที่บนความเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมไม่ได้ เราไม่ควรละทิ้งหน้าที่ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใดๆก็ตาม แต่หน้าที่นั้นเป็นภาระที่เราต้องแบ่งพลังชีวิตของเรามาทำแม้ว่ามันจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหน เพราะนั่นเป็นวิบากกรรมที่เราทำมา เราตัดสินใจแต่งงานมาเอง เราต้องรับภาระนี้เอง จะมาเหยาะแหยะอ้างนู่นอ้างนี่ ทำตัวงอแงเหมือนเด็กที่หาข้ออ้างเพื่อจะไม่ได้ทำการบ้านไม่ได้

ไม่ใช่ว่างอนหรือทะเลาะกันแล้วละเว้นหน้าที่ บ้านก็ต้องดูแล งานบ้านก็ต้องทำ ต้นไม้ก็ต้องรดน้ำ การสมสู่ก็ต้องยอม พอเรารู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้นี่แหละจะทำให้เราละเว้นจากหน้าที่ เห็นไหมว่าการทำหน้าที่ยากเพียงใด ดังนั้นจงอย่าประมาท อย่าให้ความเห็นแก่ตัวมาอยู่เหนือหน้าที่

3). ความมั่นคง

เมื่อวันคืนผันผ่าน เนิ่นนานเป็นเดือนเป็นปี เป็นสิบปี ยี่สิบปี…ความรักสุดหวานเมื่อครั้งสมัยแต่งงานใหม่ๆหรือสมัยจีบกันนั้นเลือนหายไปหมดแล้ว ถึงแม้จะคงอยู่ก็อยู่เพียงแค่รูปธรรม เป็นแค่ภาพเก่าๆ สัญลักษณ์เก่าๆ แต่ความสุขนั้นได้จางลงไปแล้ว

เมื่อความหลงที่เคยมีกลับเลือนหายเหมือนหมอกที่โดนแสงตอนสาย ความจริงก็จะปรากฏ ผู้หญิงที่เราเคยรักเคยหลงใหลอาจจะกลายเป็นเพียงแค่คนที่เอาแต่ใจ แก่ เหี่ยว ขี้งอน ขี้บ่น ขี้ลืม ขี้เหนียว ซุ่มซ่าม มักง่าย อ้วน ไม่เรียบร้อย ฯลฯ และผู้ชายที่เราเคยปักใจรักมั่นอาจจะลงพุง เกเร พูดจาไม่หวานเหมือนก่อน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โทรม ไร้ราศีหนวดเครารุงรัง ขี้โม้ ขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ฯลฯ

และทุกสภาพความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมที่ต้องเผชิญเช่น ความจน ตกงาน ล้มละลาย เสื่อมเสียชื่อเสียง โดนฟ้องในคดีต่างๆ ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง พิการ กลายเป็นผัก ลูกติดยา ลูกอยากเปลี่ยนเพศ ปัญหาในหมู่ญาติและสารพัดปัญหาอีกมากมายที่จะต้องเจอเมื่อดำเนินชีวิตคู่

เราจะสามารถมั่นคงอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อทุกสิ่งที่เราเคยหวังจะได้เสพมันได้หายไปหมดแล้ว มันเสื่อมสลายไปหมดแล้ว มองไปรอบกายดอกไม้ของคนอื่นช่างดูงดงาม แต่ทำไมดอกไม้ของเรากำลังร่วงโรย เราจะทนกับสภาพแห่งความเสื่อมเหล่านี้ได้อย่างไร

สิ่งเดียวที่จะช่วยให้รักนั้นมั่นคงและดำเนินต่อไปได้คือความเสียสละ ยอมสละความเห็นแก่ตัวทิ้งไป ยอมไม่สุข ยอมไม่เสพ ยอมอยู่กับความเสื่อม ยอมทนทุกข์เพื่อดำรงสัจจะ เพื่อพิสูจน์ความแท้ของรักที่มี เพื่อดำรงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ เป็นคุณธรรมที่ควรค่าแก่การเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง

4). บทสรุปรักลวง

ในศาสนาพุทธนั้นการแต่งงานหมายถึงการครองคู่กันดูแลกัน ทำหน้าที่ตลอดไป ศีลข้อ ๓ นั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของการครองคู่ การนอกใจคู่ครองนั้นเป็นบาปและสร้างกรรมชั่วที่ร้ายกาจ เพราะการทำลายความเชื่อใจของคนคนหนึ่งนั้นหมายถึงการทำลายศรัทธาและความเชื่อมั่นในคุณธรรมของคนไปด้วย

คนที่นอกใจนั้นคือผู้ที่ทำลายคุณค่าในตนเองด้วยกิเลสที่มีในตน เพราะตนนั้นทนพลังกิเลสตัวเองไม่ไหว จึงยอมทิ้งศีลธรรมจนกระทั่งนอกใจคู่ของตน คำว่า “นอกใจ” นั้นมีความหมายลึกซึ้ง เพราะครอบคลุมทั้งร่างกาย วาจา ไปจนถึงใจ การที่มีจิตคิดไปว่าถ้าได้เสพคนนั้นหรือคนไหนที่ไม่ใช่คู่ของตนก็ถือว่านอกใจแล้ว ใจไปถึงบาปนั้นแล้ว เพียงแค่รอร่างกายตามไป รอที่จะสะสมกิเลส สะสมกำลังและวิธีการให้ได้ไปเสพในวันใดวันหนึ่งเท่านั้นเอง

สามีภรรยาทุกคู่นั้นย่อมจะต้องเจอกับสภาพความเสื่อมอยู่แล้ว เราแต่งงานเพราะความหลง เมื่อความหลงจางคลายจึงพบความจริง หลายคนยอมทำใจรับกับความจริงได้ ยอมเสียสละสุขบางส่วนเพื่อคนที่รัก แต่ก็มีหลายคนที่ทำใจไม่ได้ จึงทำให้คนรักที่เคยพูดแค่คำหวาน ให้คำสัญญามั่นหมาย รักกันเสียสละให้กัน ดูแลกันจนตาย ยินดีที่จะทำลายคำสัญญาเหล่านี้ ยอมกลายเป็นผู้ไม่มีสัจจะเพียงเพราะแค่ตนนั้นทนสภาพทุกข์ไม่ไหว จึงขอเอาตัวรอดไปเสพสุขเพียงผู้เดียว

แม้จะละทิ้งหน้าที่ ทำลายสัจจะ ฉีกสัญญารัก เอาตัวรอดไปได้เหมือนนกที่รักอิสระโบยบินออกจากกรงทอง แต่กรรมนั้นกลับผูกมัดไว้อย่างแน่นหนา เพราะการละทิ้งหน้าที่ การไม่ดูแลคู่ของตน การประพฤตินอกใจคู่ครองนั้นเป็นความหยาบที่หนักหนาสาหัส หยาบขนาดที่ว่าสัตว์เดรัจฉานบางชนิดยังไม่ทำกันเลย

ผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความลวงในหน้ากากของความรัก ได้ชดใช้กรรมที่ตนเคยก่อไว้ และได้อิสระคือความโสดกลับมาอีกครั้ง ซึ่งมีแต่เรื่องน่ายินดี แม้ว่าในตอนแรกอาจจะเต็มไปด้วยความเสียใจที่เสียของรัก แต่ในที่สุดในวันใดวันหนึ่งก็จะเข้าใจได้เองว่าความโสดนี้คือสมบัติที่มีคุณค่าที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงควรขอบคุณคนที่ยอมทิ้งเราไป

ส่วนคนที่ละทิ้งหน้าที่ แสร้งทำเป็นผู้ยอมมาทำบาป จึงกลายเป็นตัวแทนชำระหนี้กรรมให้กับผู้ถูกทิ้ง โดยยินดีสร้างกรรมชั่วนั้นไว้กับตนเสียเอง จึงกลายเป็นผู้ที่น่าสงสารที่สุด เพราะนอกจากจะสูญเสียศักดิ์ศรี เสียสัจจะ เสียคุณค่า แล้วยังต้องมาสร้างบาปแบกวิบากกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้อีก มีแต่เสียกับเสียอย่างเดียว แต่นั่นก็หมายถึงว่าในท้ายที่สุด เขาก็จะได้เรียนรู้กับผลกรรมที่เจ็บแสบจากกรรมที่เขาเคยกระทำไว้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

15.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)