Tag: อาหารการกิน

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

October 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,350 views 0

การกินไม่มีโทษจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู

มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว

เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง

ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด

พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์

ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข

จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน

กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ

เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส

อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น

มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ชีวิตฟุ่มเฟือย

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,907 views 0

ชีวิตฟุ่มเฟือย

ชีวิตฟุ่มเฟือย

… เมื่อชีวิตที่มีถูกใช้ไปเพื่อสนองกิเลส

ชีวิตในสังคมเมืองปัจจุบันนั้นดูรีบเร่งและกดดัน คงมีไม่น้อยที่ต้องลำบากตั้งแต่เช้า ขึ้นรถสาธารณะที่คนแน่นจนขยับแทบจะไม่ได้ รถติดอยู่นานทั้งที่ลงทุนตื่นเช้า ทำงานอยู่กับความกดดันและน่าเบื่อจนหมดวันก็ต้องหอบชีวิตฝ่ามวลชนผสมรถติดกว่าจะถึงบ้านเพื่อที่จะได้เงินมาดำรงชีวิตและ…สนองกิเลส

เราใช้เงินในการดำรงชีวิตจริงๆไปเท่าไร เราเสียเงินให้กับกิเลสไปเท่าไร หากเราได้ลองทำบัญชีอาจจะพบว่าเรามักจะยินดีเสียเงินให้กับสิ่งฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นในชีวิตมากมาย แน่นอนว่าเรามักจะยอมแลกเงินและความเหนื่อยยากเหล่านั้นไปเพื่อการเสพสุข เรามักจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการใช้เงินมาสนองกิเลสตัวเอง เรามักจะปลอบตัวเองว่าไม่ผิดหรอกถ้าฉันจะใช้เงินที่ฉันหามาเพื่อสนองกิเลสของตัวเอง

ชีวิตที่เป็นทาสของกิเลสมันก็ต้องวิ่งวนหาเงิน ทำบาป ทำอกุศลเพื่อไปบำรุงบำเรอกิเลสแบบนี้ เพราะหลงว่าต้องเสพจึงจะเป็นสุข เข้าใจว่าความสุขเกิดได้จากการเสพเท่านั้น กิเลสจะไม่ปล่อยให้เราเข้าใจคำว่า “สุขกว่าเสพ” เป็นเหมือนคำในอุดมคติที่ไม่มีจริง เพราะเห็นกันอยู่เต็มๆตาว่าการกินของที่ชอบ ไปเที่ยวที่ที่อยากไป ได้ของที่ใฝ่ฝันนี่มันรู้สึกสุขอยู่จริงๆ

ความสุขที่ได้รับจากการเสพนั้นเป็นของจริง เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่สุขจริง เพราะมันคือ “สุขลวง” เป็นสุขที่กิเลสสร้างขึ้นเพื่อให้เราหลงเสพไปเรื่อยๆ ให้ขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำประหยัดอดออมไว้เพื่อสนองกิเลส

เรามาดูลีลาของกิเลสที่สามารถเห็นได้ทั่วไป ซึ่งกลายเป็นเรื่องทั่วไปเสียแล้วหากคนจะยอมรับกิเลสเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่กิเลสนั้นทำอะไรกับเราบ้าง ถ้าเราไม่มีกิเลสจะดีอย่างไร ลองมาอ่านกัน

!เนื้อหาหลังจากนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านระมัดระวังความรู้สึกดังเช่นว่า ฉันก็สุขของฉัน, มันเรื่องของฉัน, ความสุขของฉัน, สิทธิของฉัน, คนเราไม่เหมือนกัน, คนอื่นเขาก็ทำกัน, คนเราเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม ฯลฯ เพราะความเข้าใจเหล่านี้คือ “กิเลสของฉัน” ทั้งสิ้น ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายระวังอาการกลัวของกิเลส ซึ่งมันจะร้อนตัว ต่อต้าน ไม่ยอมให้เราพิจารณาเรื่องของมัน พึงระวังกันไว้ให้ดี

1). อบายมุข

ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้า เบียร์ การพนันต่างๆ ล้วนเป็นความอยากที่เป็นภัยมาก ซึ่งจริงๆแล้วชีวิตเราไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้เลย มันไม่จำเป็นเลย แต่เราก็ไปยึดมันมาเป็นของเรา ทำให้ต้องเสียทั้งเงิน เสียเวลา เสียสติ หรือกระทั่งเสียชีวิต เพราะต้องวนเวียนอยู่ในสถานที่และเวลาที่ไม่สมควร

เราใช้เงินจากการทำงานหนักมาเพื่อเสพสิ่งไร้สาระเหล่านี้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์ยังเป็นโทษอย่างมาก แต่เรากลับมองแต่ด้านประโยชน์ สูบบุหรี่แล้วโล่ง มีความสุข…แต่คนไม่สูบเขาก็สุขนะ กินเหล้าแล้วสบายใจได้ปลดปล่อย…แต่คนไม่กินเขาก็สบายใจนะ เป็นลักษณะของคนที่ต้องเสพจึงจะเป็นสุข แถมยังหลงไปอีกว่าคนอื่นไม่รู้หรอกว่าสุขเพราะเสพอย่างตนดีอย่างไร กลายเป็นทาสผู้จงรักภักดีต่อกิเลสแม้ว่ามันจะผลาญทรัพย์สิน สุขภาพ เวลา และชีวิตไปก็ตาม

2). สิ่งบันเทิง

การมัวเมาเสพสิ่งบันเทิงนั้นก็เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ไม่ต่างกับอบายมุขเท่าไรนัก เช่นการดูละครน้ำเน่า การดูกีฬา เทศกาลดนตรี ละครเวทีที่นำเสนอเรื่องราวบันเทิงต่างๆ หลงคลั่งไคล้ดารานักแสดง สิ่งเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นในชีวิตเลยสักนิดเดียว ไม่มีสาระอะไร ถึงจะไม่ได้เสพก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือแย่ลง

แต่คนที่หลงมัวเมายึดสิ่งเหล่านี้ไว้จะมีความสุขความทุกข์ไปกับมัน เช่นเชียร์กีฬา พอฝ่ายที่เราเชียร์ทำแต้มได้ก็ดีใจ แต่พอเสียแต้มก็เสียใจ พอเขาทำไม่ถูกใจก็ขุ่นใจ มันหลงเอาตัวไปผูกกับเรื่องเล่นๆแบบนี้ ทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องจริง เขาแข่งกันให้เราดู ให้เราบันเทิง มันเป็นสิ่งบันเทิงใจแบบหนึ่ง เป็นกิเลสแบบหนึ่ง ถึงเขาจะชนะหรือแพ้มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเราเลย

ด้วยความที่เราหลงไปยึดมันหนักเข้าจนมัวเมา จึงกลายเป็นการทะเลาะกันระหว่างคนที่ชอบคนละฝ่าย มีการเย้ยหยัน กดดัน ดูถูกกัน ข่มกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลงมัวอย่างมาก จนกระทั่งมีการอวดกัน เอาชนะกัน ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันก็มีให้เห็นมาแล้ว ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากเรื่องเล่นๆ ไม่มีสาระ จะมีเรื่องเหล่านั้นหรือไม่มีก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา แต่เราก็กิเลสหนา กิเลสเลยพาหาเรื่องเข้าไปเกี่ยวจนได้

3). อาหารการกิน

มีคนมากมายเสียเงินให้กับการกิน กินของเดิมๆก็ไม่พอใจ กิเลสมันไม่ยอม ต้องไปกินของอร่อยที่เขาว่าดีว่ายอด ต่อให้ต่างประเทศก็จะบินตามไปกิน มันหลงในการกินแบบนี้ หลงว่าการติดรสมันสุขมาก จึงยินดีลำบากเอาเงินที่มาจากการทำงานไปสนองกิเลสในเรื่องกิน เริ่มที่จะอยู่เพื่อกิน ไม่ได้กินเพื่ออยู่อีกต่อไป

สิ่งที่เรียกว่า “รสอร่อย” นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนหลงมัวเมากันมากที่สุด ไม่ว่าจะอาหารหรือเครื่องดื่ม ต่างก็มัวเมาคนด้วยกามคุณ ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในสมัยนี้ยังไม่พอ ยังล่อเราด้วยโลกธรรม เช่นกินอาหารแพงๆ อาหารหรูๆ อาหารที่คนธรรมดาไม่มีปัญญาจะกิน กลายเป็นคนที่หลงงมงายอยู่กับการกิน ชีวิตมีแต่เรื่องกิน

ทรัพย์ที่หามาก็ไปหมดกับเรื่องกิน ขอให้ได้กินของดี ของที่เขาว่าอร่อย ดูดี มีคุณค่า มีรสนิยม มีประโยชน์ แต่จริงๆจะมีคุณค่าหรือประโยชน์หรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ความอร่อย ดูดีและรสนิยมนี่มันของลวงแน่นอน เป็นกิเลสแท้ๆ

4). ท่องเที่ยว

เป็นที่นิยมของคนในยุคนี้ มักจะเก็บเงินที่ทำงานหามาได้ยากลำบาก แลกกับการไปลำบากที่อื่น เพียงเพื่อจะได้เห็นดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีหน้าตาต่างไปจากบ้านตัวเอง

บางคนลงทุนไม่มากเที่ยวในประเทศก็ไม่เท่าไหร่ แต่บางคนเที่ยวในประเทศแล้วก็ยังไม่พอใจ มันเสพไม่อิ่ม กิเลสมันบอกไม่ให้พอ มันต้องไปเสพที่บ้านอื่นเมืองอื่นต่อ มันต้องไปที่นั้นที่นี้ กลายเป็นชีวิตเดินตามความฝันของกิเลสไปโดยไม่รู้ตัว เอาเงิน สุขภาพ และความเสี่ยงภัย ไปแลกกับการเสพอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

หลายคนมีข้ออ้างในการเรียนรู้ชีวิต แน่นอนว่าประโยชน์นี้ก็มีอยู่ แต่การเรียนรู้ชีวิตนั้นสามารถทำได้หลากหลาย สุดท้ายถ้าไล่กันจนจนมุมก็จะสรุปว่าชอบท่องเที่ยว จริงๆมันก็ติดเที่ยวนั่นเอง อยากไปเสพรสเสพเหตุการณ์บางอย่างที่แตกต่างออกไปจากที่ตัวเองเคยเสพ กิเลสมันก็อยากแบบนี้แหละ ต่อให้ไปทั่วโลกมันก็ไม่หยุดหรอกมันจะไปนอกโลกต่อแล้วก็กลับมาเจาะรายละเอียดในโลกต่อ วนเวียนไปมาหาเรื่องเที่ยวอยู่แบบนั้นแหละ

5). แต่งตัว

แต่งตัวนี่เป็นความฟุ่มเฟือยที่เป็นภัยอย่างลับๆ ภัยที่มาในรูปของสิ่งที่ดูดี หลายคนใช้เงินที่หามาทุ่มเทไปกับการทำร่างกายและเครื่องนุ่งห่มให้ดูดี ดูเด่น ดูน่าสนใจ เพราะต้องการสนองทั้งอบายมุข กาม โลกธรรม และอัตตาของตัวเอง มันก็เสพทุกอย่างในเวลาเดียวกันนั่นแหละ ติดกิเลสอยู่หลายเหลี่ยมหลายมุมซึ่งก็คงจะไม่ไขกันทั้งหมดในบทความนี้

แม้ว่าเราจะใช้เงินมากมายในการทำให้เกิดความสวยความหล่อความงามเหล่านั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประโยชน์กับชีวิต ถึงเราจะมองว่าความงามเหล่านั้นจะทำให้ชีวิตง่าย ทำงานสะดวก มีคนมาคบหา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเหล่านั้นจะดี

เมื่อเราแต่งตัวเพิ่มความงาม นั่นหมายถึงเรากำลังเพิ่มกำลังในการกระตุ้นกิเลสผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราไม่แต่งตัวโป๊ เขาคงไม่มองเรา พอเราแต่งโป๊เข้าหน่อยผู้คนก็เข้ามาจีบเราจนต้อนรับกันไม่ทัน นั่นเพราะเราไปกระตุ้นกิเลสเขา ไปทำให้เขาอยากเสพเรา ทีนี้แล้วยังไง? มันก็มีแต่ผีกิเลส มีแต่คนกิเลสหนาเข้ามาเท่านั้นแหละ ความคิดประมาณว่าเข้ามาเยอะๆแล้วคัดนี่มันใช้ไม่ได้นะ เพราะที่มาทั้งหมดนั่นก็พวกกิเลสหนาทั้งหมดนั่นแหละ เพียงแค่แสดงลีลาต่างกัน บางคนก็แอบไว้ บางคนก็เปิดเผย ใช่ว่าจะรู้กันง่ายๆ แต่ที่รู้ได้คือคนดีเขาไม่เข้ามาใกล้หรอก

สรุปก็คือเราฟุ่มเฟือยแต่งตัว ลงทุนไปเสริมความงาม ทั้งหญิงและชายก็มีมุมความงามในแบบของตัวเอง แต่สุดท้ายก็เหมือนกับการเสียเงิน เสียเวลาไปเพื่อลากสิ่งไม่ดีเข้ามาในชีวิตของตัวเองเท่านั้นเอง

6). การสะสม

การใช้เงินที่มีไปเพื่อการสะสม การได้รับนั้น แม้เป็นสิ่งที่สร้างสุขให้เมื่อได้รู้สึกครอบครอง แต่สุดท้ายจะกลายเป็นทุกข์ที่ขังให้หลงวนอยู่ในทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนกับสิ่งเหล่านั้นไม่จบไม่สิ้น

ไม่ว่าเราจะสะสมตุ๊กตา ของชำร่วย ต้นไม้หายาก รถราคาแพง บ้านหลายหลัง ธุรกิจมากมาย รวมไปถึงลูกและคู่ครอง ฯลฯ การเพิ่มจำนวนของสิ่งที่สะสมหมายถึงเงินที่ต้องจ่ายไปและภาระในการดูแลที่มากขึ้น แต่ด้วยความหลง เราก็จะยินดีแลกเงินกับการครอบครองสิ่งเหล่านั้น ขอแค่ให้เรารู้สึกว่าได้มี ได้ครอบครอง แล้วเราก็จะเป็นสุข

เป็นลักษณะของความโลภ ที่ต้องหามาครอบครองจึงจะเป็นสุข แต่ครอบครองชิ้นเดียวก็ไม่พอ พอได้แล้วก็อยากได้มากขึ้น อยากสะสมมากขึ้น อยากได้สิ่งที่ยอดกว่ามาครอบครอง หลงใหลอารมณ์สุขของการได้ครอบครอง ได้มี ได้อวด แม้จะไม่ได้ประกาศก็แอบภูมิใจอยู่ในตนเอง ที่สามารถครอบครองสิ่งเหล่านี้ได้

และเมื่อสะสมมากภาระก็มากและทุกข์ก็จะมากตามไปด้วย ของเสียก็ต้องมาดูแล ของหายก็ต้องหา กลัวใครเขาจะมาขโมยแย่งเอาไป เป็นภาระเป็นทุกข์ให้กระวนกระวายอยู่ตลอดการสะสมนั่นเอง

7). ลาภยศและชื่อเสียง

สมัยนี้คนก็เอาลาภแลกลาภกันมาก เอาแบบหยาบๆก็การพนัน หวย หุ้นต่างๆ ยศก็ใช้เงินซื้อกันได้ ชื่อเสียงก็ใช้เงินแลกมาได้ แต่เมื่อเราแลกสิ่งเหล่านี้มาด้วยความโลภ แลกมาเพื่อที่เราจะได้เสพในลาภ ยศ สรรเสริญที่มากขึ้น นั่นหมายถึงการสะสมบาปและสร้างอกุศลกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในมุมยศและสรรเสริญนี้ อาจจะไม่เห็นภาพเหล่านี้ในชีวิตประจำวันชัดเจนมากนัก แต่ถ้าลองมองให้ใหญ่ขึ้นเป็นในมุมขององค์กร บริษัท ธุรกิจ การลงทุน การเมืองการปกครองก็จะสามารถเห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การเอาโลกียทรัพย์ไปแลกสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมดาของคนกิเลสหนาที่ยังวนอยู่ในเรื่องโลก เมื่อใช้กิเลสเป็นเป้าหมาย แม้ว่าในตอนแรกจะได้เสพสุข แต่ในท้ายที่สุดก็จะทุกข์ และจะทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการใช้ความโลภและอำนาจที่มีเข้าไปแย่งชิงโลกธรรมนั้นหมายถึงการไปเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้เกิดการแย่งชิง แข่งขัน ทำร้ายหรือฆ่ากันได้

เมื่อเรามัวเมาไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเหล่านี้ เราก็จะพยายามรักษาและประคองไม่ให้มันเสื่อม ใช้ทรัพยากรและสิ่งที่มีเข้าไปอุดรูรั่วของความเสื่อม แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องเสื่อม เพราะโลกธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สลับหมุนวนสับเปลี่ยนขั้วกันอยู่เสมอ

แม้ว่าโลกธรรมที่ได้มาโดยธรรมเช่น เราเป็นคนดีเขาจึงให้ ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่ก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่ได้มาโดยธรรมเหล่านี้จะไม่เสื่อมไป แม้เราจะไม่ได้หามาแต่ถ้าเรายึดติดและเสพสุขกับสิ่งเหล่านี้ มันก็จะทำให้เราแสวงหาในวันใดก็วันหนึ่ง

8). อัตตา

จริงๆแล้วการที่คนเราแสวงหาเงิน ทำงานเหนื่อยยากสุดท้ายก็ใช้เงินเหล่านั้นมาสนองกิเลส ก็คือการสนองอัตตาของตัวเองนั่นแหละ เพราะเรามีตัวตนให้ยึดว่าฉันจะต้องเสพสุขแบบนั้น ฉันจะต้องได้อันนี้ ฉันจะต้องเที่ยวแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ กินแบบนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ มันก็เป็นอัตตาทั้งนั้น

อัตตานั้นยังมีการยึดในหลายระดับ ในระดับหยาบๆคือการยึดวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ ระดับกลางก็ยึดจิตที่ปั้นสุขขึ้นมาเอง หลงว่าเสพสิ่งนั้นแล้วมันจะสุข เช่นรสอร่อย รสสุขตอนเชียร์กีฬา ความสุขเมื่อได้เห็นพระอาทิตย์ยามเช้า เป็นความสุขที่จิตของเราปั้นขึ้นมาลวงเราเอง และในระดับละเอียดที่สุดนั้นจะเป็นการเสพสภาพสุขในอรูปภพ เช่นความมีศักดิ์ศรี เกียรติ ความเชื่อ ความเข้าใจ เช่นเข้าใจว่าคนระดับสูงอย่างเราต้องให้ทิปร้านอาหารเสมอ แบบนี้มันก็เป็นอัตตาที่พาเสียเงินได้แบบโง่ๆเหมือนกัน

สรุป

เมื่อเราเข้าใจว่าเรากำลังใช้ชีวิตของเรา ไม่ใช่ให้กิเลสใช้ชีวิตของเรา เราจึงควรพิจารณากิจกรรมส่วนเกินของชีวิตที่จะสร้างภาระและภัยให้กับตัวเอง

การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้หมายถึงการจะต้องเลิกทำงาน ละเว้นหน้าที่แต่อย่างใด หรือหมายเพียงแค่การที่เราเจียดเวลาเสาร์อาทิตย์ไปทำกุศล เข้าวัด ฟังธรรม ศึกษาธรรม สนทนาธรรมเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการใช้ชีวิตไป ทำงานไป ล้างกิเลสไป สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเราก็ค่อยๆลด ค่อยๆเลิกไปตามกำลังที่ทำไหว

ถ้าเราไม่ถูกกิเลสจูง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินให้กับกิจกรรมสนองกิเลสเหล่านั้น เพราะแม้ไม่ได้เสพก็ยังเป็นสุขอยู่ เพราะสุขที่มีนั้นสุขกว่าเสพ การทำลายกิเลสจะให้ผลเช่นนี้ คือยินดีที่จะไม่เสพด้วยใจที่เป็นสุข อธิบายแบบนี้ก็คงจะงงกันไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเร้นลับอะไร เพราะเป็นความจริงที่ปฏิบัติได้จริง ทำได้จริง ไม่ว่าความหลงติดยึดในสิ่งใดก็สามารถชำระล้างได้จริง

เมื่อเราไม่มีกิเลสมาเป็นตัวผลักดัน เราจะใช้ชีวิตอย่างประหยัด มีความสุขเพราะไม่ต้องหาเงินด้วยความโลภ ไม่เอาเงินเป็นเป้าหมาย สามารถเลือกงานได้มากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น มีเงินเหลือเยอะขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ชีวิตโดยรวมดีขึ้นเมื่อปราศจากกิเลสไปโดยลำดับ ลดกิเลสได้บ้างก็ลดทุกข์ได้บ้าง ลดกิเลสได้มากก็ทุกข์น้อยมาก ทำลายกิเลสได้หมดเลยก็ไม่ต้องทุกข์จากกิเลสอีกเลย

ในชีวิตที่เราต้องหาเพื่อให้กิเลสกินใช้นี่ยังเรียกว่ามีภาระอยู่มาก แม้จะรู้ว่ากิเลสนั้นสร้างสุขลวงให้เราเสพแต่หลายคนก็กลับยินดีพอใจในรสสุขเพียงแค่นั้น หลงว่าสุขเท่านั้นคือสุขที่เลิศ ทั้งที่จริงมันมีสุขที่มากกว่า มากจนอธิบายไม่ได้

โดยนิยามแล้วเรียกว่า “สุขกว่าเสพ” คือไม่ต้องเสพก็ยังเป็นสุข แถมยังเป็นสุขมากกว่าคนที่ยังเสพ มันเป็นยังไง มันจะดีแค่ไหน มันมีด้วยหรือ โม้หรือเปล่า คิดไปเองรึไม่ ถ้าอยากรู้ก็ต้องลองปฏิบัติดูเอง เริ่มจากสิ่งหยาบๆเช่นอบายมุข การเที่ยวกลางคืน การท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งที่ทำให้เสียทรัพย์มาก เสียแรงงานมาก เสียเวลามาก เพียงแค่ลดกิเลสเหล่านี้ได้ก็สุขมากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าถ้าทำลายกิเลสได้หมดจะสุขขนาดไหน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)