Tag: หนทางธรรม

นักเดินทาง …สายกลาง

April 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,441 views 0

นักเดินทาง ...สายกลาง

นักเดินทาง …สายกลาง

ในชีวิตเรานั้นมีเส้นทางมากมายให้เลือกเดินทาง หลายคนไปดูภูเขา หลายคนไปชมทะเล หลายคนไปเยือนทุ่งกว้าง หลายคนไปหาประสบการณ์ในต่างแดน

แต่ก็มีบางคนที่เลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป เป็นเส้นทางที่ไกลแสนไกล ไกลเสียจนไม่รู้ว่าจุดหมายอยู่ที่ใด เพียงแต่ได้ยินเขาเล่าเขาล่ำลือมาว่า หากไปถึงเป้าหมายนั้นก็คือที่สุดแห่งชีวิตแล้ว ทางเส้นทางที่ว่านั้นก็คือหนทางธรรม

นักเดินทางธรรมนั้นก็มีรูปแบบคล้ายกับนักเดินทางทั่วไป มีประสบการณ์จากผู้อื่น มีรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว มีกระทู้ปัญหาที่ได้พบให้เราได้อ่านและเรียนรู้ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่คำล่ำลือ ถ้าอยากเห็นความงดงามนั้นก็ต้องเริ่มออกเดินทางด้วยตัวเอง

การเดินทางนั้นไม่ยาก เพียงแค่ตั้งใจก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเตรียมวีซ่า ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องจัดเสื้อผ้า เราก็สามารถจะเดินทางออกไปได้เลย เมื่อเรามาถึงท่ารถ เราก็จะเจอกับสายรถต่างๆ มากมายหลายร้อยเจ้าที่บอกว่าทางสายกลางคือเส้นนี้ ,ทางของเราลัดที่สุด, ทางของเราถูกตรงที่สุด ,ทางคนอื่นผิดของเราสิถูก ฯลฯ

เป็นความสับสนอลหม่านของนักเดินทางมือใหม่ที่จะเริ่มเดินบนถนนหนทางธรรม เขารู้นะว่าต้องเดินทางสายกลาง แต่ทางสายกลางน่ะ…มันทางไหน จะเดินทางเองมันก็ไปไม่เป็นอยู่แล้ว หลงทางแน่นอน แต่จะไปกับคนอื่นก็มีมากมายหลายทางเลือกเหลือเกิน แต่ละคนก็บอกว่าตนเป็นทางสายกลางทั้งนั้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายและเส้นทางที่จะไปต่างกัน

ว่าแล้วเขาก็ค้นข้อมูลที่เคยอ่านมา มีหลายคนที่มารีวิวว่าเดินทางกับคนนั้นสิ คนนี้สิ สายนี้สิของแท้ สายนี้สิพาไปสู่จุดหมายแน่นอน แม้จะอ่านรีวิวมามากเพียงใด แต่ก็ยังมีความลังเลสงสัยอยู่ดี สุดท้ายเลยทำได้แค่เดาๆแล้วเลือกตามที่คนอื่นเขาว่าดี หรือทางที่คนส่วนใหญ่เลือกจะไป

…………

เส้นทางสู่ทางสายกลางนั้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้คนจำนวนมากยืนยัน ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเป็นผู้ชี้ทางที่ได้รับความนิยม ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามที่เขาอวดอ้าง เพราะสิ่งที่เขานำเสนอให้เรานั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป มีหลายครั้งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างนักเดินทางกับผู้ชี้ทางที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปที่หนึ่ง แต่ผู้ชี้ทางกลับพาไปอีกเส้นทางหนึ่ง แม้ผู้ชี้ทางจะยืนยันว่าทางที่เขาบอกไปนั้นใช่ แต่ความรู้สึกลึกๆนั้นกลับรู้สึกว่ายิ่งเดินยิ่งห่างไกลเป้าหมาย

สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีความถูกตรงในการพาเดินทางสู่ทางสายกลาง สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นอย่างไร สัมมาหรือความถูกต้องถูกตรงนั้นเป็นอย่างไร อริยะคืออะไร มรรคคืออะไร หากเราเองไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนแล้วเผลอกระโดดไปในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งด้วยความประมาท นอกจากจะพาให้หลงทางแล้วยังยากที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่เหมือนตอนแรกด้วย

เพราะคนที่ยึดมั่นถือมั่น จะเห็นว่าทางที่ตนไปนั่นแหละถูก ทั้งๆที่ทางนั้นอาจจะผิดก็ได้ โลกนี้มีวิธีการเดินทางสู่ทางสายกลางมากมายหลายสำนัก มีหลายสำนักก็หลายทิฏฐิ หลายวิธีการปฏิบัติ แต่ในความจริงแล้วคือมีทางเดียวที่จะไปถึงผลคือสัมมาอริยมรรค

ก่อนจะเข้าไปถึงทางสายกลางเราก็ต้องรู้ก่อนว่าทางโต่งทั้งสองด้านนั้นคือความติดสุขและการติดดี หรือกามและอัตตา เป็นกิเลสที่จะพาให้เราหลงทางทั้งคู่ ดังนั้นทางสายกลางก็คือการละออกจากทางโต่งหรือละกิเลสนั่นเอง ซึ่งจะสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค

สัมมาอริยมรรคคืออะไร?

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ นั่นคือความเห็นความเข้าใจใดๆก็ตามที่พาลดกิเลส เข้าใจว่าสิ่งใดที่ลดกิเลส สิ่งใดที่พาให้หลงทาง

คือความคิดที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือความคิดที่พาลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส คิดไปในทิศทางที่ลดกิเลส

คือการพูดจาที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการพูดที่พาลดกิเลส ถ้อยคำที่ไม่เสริมกิเลสแก่กันและกัน

คือการกระทำที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการกระทำใดๆ ทั้งกาย วาจา ใจ ที่พาให้ลดกิเลส ไม่โต่งไปทั้งกามและอัตตา

คือการเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเลี้ยงชีพที่ไม่ขัดกับหลักของพุทธ เป็นไปเพื่อเอื้อต่อการลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส ไม่สร้างกรรมชั่ว ไม่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับโลกธรรม

คือความเพียรที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเพียรล้างกิเลส เพียรสร้างโลกุตระธรรมให้เจริญขึ้นในตน เพียรศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

คือสติที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือมีสติที่รู้ไปถึงตัวตนของกิเลสที่ฝังอยู่ข้างใน ชำแหละกิเลสออกมาเป็นส่วนๆด้วยความรู้ตัวนั้นๆ เป็นไปตามลำดับของการรู้กาย เวทนา จิต ธรรม

และสุดท้ายคือสมาธิที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการทำองค์ประกอบของสัมมาอริยมรรคทั้งหมดก่อนหน้านี้ให้เกิดสภาพตั้งมั่น นั่นแหละจึงจะรวมลงเป็นสัมมาสมาธิ

……ในข้อมูลมากมายที่ชี้นำการเดินทางบนถนนหนทางธรรมนี้ ไม่ง่ายนักที่จะสามารถจำแนกสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิดได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อสิ่งใดง่ายนัก แต่ให้พิจารณาดูด้วยปัญญาของตนว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าคิดว่าสิ่งใดเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น แต่ถ้าสิ่งใดเป็นอกุศลก็ให้ละเสีย

ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างนั้นไม่เที่ยงเสมอไป สิ่งที่เราคิดว่าเป็นกุศล เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะไม่เป็นกุศลอย่างเคยก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นนัก เพราะต้องใช้เวลาในการย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ยิ่งเรายึดมั่นถือมั่นก็จะยิ่งหลงทางไกล แต่นักเดินทางธรรมโดยมากก็ยอมที่จะยึดสิ่งที่ตนเชื่อไว้เช่นนั้นแม้ว่าจริงๆมันจะผิดก็ตาม

ทางดับทุกข์นั้นมีด้วยกันหลายทาง แม้ที่บอกว่าเป็นสัมมาอริยมรรคก็มีด้วยกันหลายเจ้า หลายแนวทางปฏิบัติ แต่ทางที่ถูกตรงของพุทธนั้นมีทางเดียว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ )”

– – – – – – – – – – – – – – –

15.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)