Tag: สร้างภาพ

ไม่ลดกิเลส จะไม่ทันพวกทำดีเอาหน้า พวกสร้างภาพ

June 11, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 451 views 0

วันนี้อาจารย์หมอเขียวพูดถึง คนที่ผิดศีลจะมีวิบาก(ผล) ให้ได้ข้อมูลผิด เช่น เห็นพวกทำดีเอาหน้าแล้วดูไม่ออก คือไม่เห็นความชั่วที่ซุกแอบซ่อนในการทำดีของเขา

ผมก็เคยพลาดมา แต่เราตั้งใจปฏิบัติศีล จึงได้เห็นข้อมูลจริง ว่าเขาผิดศีล ไม่ได้ขยันอย่างจริงใจ คือทำดีสร้างภาพ หวังลาภสักการะ ฯลฯ ซุกซ่อนกิเลสภายใน

ทีนี้ใช่ว่าเราออกมาได้ แล้วเราก็จะเฉย ๆ เราก็ช่วยคนอื่นโดยการเผยแพร่ข้อมูล ลักษณะของคนพาล และรูปรอยของคนผิดศีลนั่นแหละ ก็คงจะไม่ได้ประจานกันตรง ๆ เพราะชนกับคนพาลจะมีแต่เสีย แล้วเจตนาเราไม่ได้หวังจะช่วยคนพาล แต่จะช่วยคนดีที่ยังไม่รู้ทันคนชั่ว

เชื่อไหมว่า คนที่ปิดบังหรือไม่เปิดเผยความจริง ส่วนใหญ่ที่เข้ามาในชีวิต ไม่นานเขาจะหลุดความจริงออกมา ผมเคยตั้งจิตว่าขอให้ได้รู้ว่าใครเป็นใคร เท่านั้นแหละ พาลเป็นพาล บัณฑิตเป็นบัณฑิตเลย

พาลคือไม่ได้จริงอย่างที่พูด พูดอย่างทำอีกอย่าง พูดเกินความจริงที่ตนมี เช่นบรรลุขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ชีวิตจริงยังไปจีบหญิงอยู่เลย แบบนี้เรียกพวกเน่าใน ทุศีล สร้างภาพว่าสวยงาม แต่ข้างในไม่ได้มีจริง บางทีเขาก็พูดเอาโก้ ๆ หลอกคน เพราะหลงโลกธรรม

ธรรมะนั้นเป็นของสูง คือมีลาภสักการะมาก มีสรรเสริญมาก คนชั่วเขาก็จะเข้ามาเอาประโยชน์ตรงนี้เหมือนกัน คือเข้ามาแล้วทำให้ดูเหมือนขยันทำดี ขยันเอาธรรม ขยันสนทนาธรรม บางทีเขาซ่อนกิเลสเขาไว้ แต่ไม่แสดงออก แล้วก็แอบเสพไป สร้างภาพไป

ด้วยความที่ผมทำดีมามาก เลยได้ข้อมูลค่อนข้างเยอะ ที่จะช่วยไม่ให้หลงไปคบคนผิดหรือคนพาลนาน พอเราได้ข้อมูลว่าเขาผิดศีล ไม่จริงอย่างที่พูด เราก็ไม่คบ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้

แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารให้คนอื่นได้รู้อย่างเรา แม้จะพูดไปเต็มปาก ก็ใช่ว่าเขาจะเชื่อได้ เพราะถ้าเขาทำดีมาไม่มากพอ ปฏิบัติศีลเจริญในธรรมได้ไม่มากพอ เขาจะไม่เห็นความชั่วที่แอบไว้ในความดีที่คนชั่วนำเสนอ

ก็สรุปกันง่าย ๆ ว่าโดนเขาสร้างภาพลวงให้หลงไว้นั่นแหละ สุดท้ายแม้เราพูดไป แล้วเขาไปศรัทธาคนที่ขยันทำดีแต่ไม่จริงใจมากกว่าเรา เขาก็จะเพ่งโทษเรา แทนที่จะช่วยเขา ก็กลายเป็นว่าเขาจะกลับมาเพ่งโทษถือสาเราอีก

ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเสี่ยงแลกนักหรอก ถ้าดู ๆ แล้วคนเขาไม่ได้ศรัทธาเรามากพอ มันจะได้ไม่คุ้มเสีย บางคนเขาก็ทำเหมือนศรัทธาเรา แต่พอไปได้ยินคนนินทาเรื่องเรา กลับไม่มาถามเราสักคำว่า “เรื่องจริง ๆ” มันเป็นอย่างไร เราก็รู้เราว่าเขาเชื่อทางนั้น เราก็ไม่พูด เพราะพูดไปมันก็จะไปสู้กับสิ่งที่เขาศรัทธามันจะพังเปล่า ๆ

บางทีถ้าพยายามจะสื่อเต็มที่แล้วเขาไม่เข้าใจ มันก็ต้องวาง ให้ทุกข์ได้สอนเขา เราพ้นจากคนพาลแล้วเราจะทุกข์อะไร เราไม่คบ ไม่สื่อสารกับคนพาล ไม่อนุเคราะห์คนพาลให้มันลำบากชีวิตหรอก

การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)

February 27, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,792 views 1

การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)

พระพุทธเจ้าได้ให้หลักการเลือกคบคนไว้หลายหลักหลายประเด็น ในชิคุจฉสูตรนี้ (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466) จะแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คนที่น่าเกลียด ไม่ควรคบ 2. คนที่ไม่ควรใส่ใจ ไม่ควรคบ 3.คนที่น่าคบหา

1).คนที่น่าเกลียดเป็นอย่างไร? คือคนที่ทำผิดศีลเป็นประจำ ทำผิดจากคุณงามความดีที่ตนได้ประกาศไว้ มีใจสกปรก เน่าใน ปฏิบัติตนไม่ดี มีกิจกรรมที่ลึกลับปิดบัง ไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติดีแต่บอกคนอื่นว่าเป็นคนที่ปฏิบัติดีแล้ว ไม่ใช่คนที่มุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ แต่บอกคนอื่นว่าตนนั้นมุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เต็มไปด้วยความอยาก เป็นเหมือนคราบสกปรกเหนียวหนืดกลิ่นเหม็นกำจัดได้ยาก พระพุทธเจ้าบอกว่าคนแบบนี้ “ควรเกลียด”(คือไม่ไปยินดีในสิ่งที่เขาเป็น) ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าไปใกล้ แม้นั่งใกล้ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตน แม้เราจะไม่ได้ทำตัวแย่เหมือนเขาก็ตาม แต่ชื่อเสียงด้านไม่ดีของเขา นิสัยที่ไม่ดีของเขา จะทำให้คนเข้าใจเราว่าคบคนชั่ว ก็เป็นเหมือนกับคนชั่วนั้น ทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ เหมือน พระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนงูตกถังขี้ ถ้าเราเข้าใกล้ แม้มันจะไม่กัดเรา แต่ไปใกล้ชิดกัน ก็ทำให้เปื้อนขี้ได้

พระพุทธเจ้าท่านได้เตือนไว้ให้ระวัง คนผิดศีล คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมแต่สร้างภาพว่าปฏิบัติเหล่านี้ แม้เราจะมีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้ทำชั่วอย่างเขา แต่เข้าไปใกล้ ไปคบหา ไปพูดคุย ก็จะทำให้มีภัยเกิดแก่ตัวเอง คนเช่นนี้จริง ๆ ก็รู้ได้ยาก เพราะเขาจะจะแสร้งว่าตนเป็นคนดี ปกปิดบิดเบือนความจริง เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านว่า “เน่าใน” อ้าว แล้วอย่างนี้เขาเน่าในแล้วเราจะไปรู้ได้อย่างไร ก็ต้องคอยสังเกตกันไปว่าเขาดีจริงอย่างที่เขากล่าวอ้างไหม เช่นอ้างว่าจะช่วยสืบสานศาสนา เข็นกงล้อธรรมจักร แต่เขาได้ลดกิเลสไหม ได้ปฏิบัติตนเพื่อลดกามหรืออัตตาไหม ถ้าไม่ใช่ก็แปลว่าตอแหล เพราะการสืบสานศาสนาคือการลดความโลภ โกรธ หลง ถึงจะคงเนื้อแท้ของศาสนาไว้ได้ หรือคนที่มีการงานลึกลับปิดบัง ทำอะไรก็จะต้องแอบคิดแอบทำ ทำกิจกรรมด้วยกันแต่ก็แอบเสพผลประโยชน์มาเพื่อตน ยักยอกประโยชน์ไว้ที่ตนหรือกลุ่มของตน ไม่ชี้แจงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบทั้งหมด พวกนี้ก็ฝังอยู่ในหลาย ๆ กลุ่มที่มีผลประโยชน์มาก มีโลกธรรมมาก

การจะรู้จักคนผิดศีลหรือคนเน่าในนี้ได้ จะต้องใช้แว่นคือธรรมะในการส่อง การเรียนรู้ปริยัติและปฏิบัติจะทำให้สามารถรู้จักความเป็นพาลในคนพาลเหล่านี้ได้ เพราะโดยทั่วไปในสังคมนั้น คนพาลมักจะแสร้งว่าตนเป็นคนดีเสมอ ที่เจ็บปวดกันมามากมายก็เพราะหลงเชื่อคนเหล่านี้นี่แหละ แต่ก็ผิดที่เราเองที่ดูเขาไม่ออก คนพาลมีมากมายกว่าคนดีอยู่ ยังไงชีวิตก็ต้องเจอ เพียงแต่เราจะรู้ทันหรือไม่ทันเขาเท่านั้นเอง ซึ่งพอคบหาคนพาลไป แม้เขาจะแสร้งทำเป็นคนดีได้ แต่ไม่นานเขาก็จะหลุดทำชั่ว ผิดศีล เริ่มจะเน่าใน(มีความเห็นผิด) เมื่อรู้แล้ว จึงไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ แต่ถ้าหากเราไม่มีปัญญา เราไม่รู้ทันกลอุบายของเขา เราก็ติดกับดักเขาเลย แย่น้อยที่สุดก็เหมือนงูตกถังขี้เลื้อยผ่าน แต่ถ้ามันกัดขึ้นมาก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งเจ็บปวด ทั้งเหม็น ทั้งติดเชื้อ เอาจริง ๆ แค่ถังเก็บขี้หรือบ่อขี้ก็ไม่มีคนอยากเข้าใกล้อยู่แล้ว ยิ่งเป็นงูยิ่งไม่น่าเข้าใกล้ไปใหญ่ เป็นภาษาที่นำมาสื่อสภาวะ คือบ่อขี้และงูน่าเกลียด ไม่น่าคบ ไม่น่าใกล้ ยิ่งรู้สึกว่าน่าห่างไกลสองสิ่งนี้เท่าไหร่ กับคนพาลเช่นนี้ก็ควรจะรู้สึกอยากห่างไกลเท่านั้นเช่นกัน การห่างไกลสิ่งที่เน่าเหม็นและอันตราย คือความปลอดภัยและเป็นอยู่ผาสุก พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า การห่างไกลคนพาลคือมงคลชีวิตนั่นเอง

2).คนที่ไม่ควรใส่ใจเป็นอย่างไร? ในพระไตรปิฎกจะใช้ภาษาว่า “คนที่ควรวางเฉย” แต่จะปรับมาเป็นภาษาที่น่าจะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น แต่สภาวะใกล้เคียงกัน วางเฉย คือไม่เอาภาระ ไม่ต้องหยิบขึ้นมา ไม่ต้องไปสนใจ จึงปรับคำเป็นคนที่ไม่ควรใส่ใจ

คนที่เราไม่ควรใส่ใจ คือคนที่ขี้โกรธ อะไรนิดอะไรหน่อยก็น้อยใจ  ถูกต่อว่า ตำหนิ ติเตือนแม้เล็กแม้น้อยก็โกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาต พยาบาท โกรธแบบเน่าในหมักหมม สะสมความโกรธเกลียด ชิงชังอยู่เสมอ คนเช่นนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าไม่ควรไปยุ่ง ไม่ควรไปคบ ไม่ควรแม้จะไปนั่งใกล้ ๆ คบไปก็พาให้เจอแต่เรื่องน่าปวดหัว เดี๋ยวก็ด่าคนนั้น เดี๋ยวนินทาคนนี้ ไป ๆ มา ๆ ก็วนมาด่าเรา นินทาเรานี่แหละ จะคบหาหรือเข้าใกล้ไป ก็มีแต่พลังลบ พลังกิเลสพุ่งพล่านเต็มไปหมด เคยเจอไหม คนที่ถูกติหรือมีคนทำไม่ถูกใจนิดเดียว แผลเล็กนิดเดียว แต่เอามาขยายกันใหญ่เท่าตึก และแม้เหตุการณ์จะจบไปนานแล้วก็ตาม เขาก็มักจะพูดต่อไปยาวทั้งจำนวนครั้งและความยาวนาน คนแบบนี้อยู่ด้วยก็ซวยเปล่า ๆ คนพวกนี้ท่านเปรียบเหมือนบ่อขี้ ถ้ามีไม้ไปกวนหรือมีอะไรไปกระทบ ก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้ง ดังนั้นหากเจอคนที่เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็ถือสาคนนี้ เอาง่าย ๆ ว่า ถ้าเขามักจะสนใจแต่ความผิดของคนอื่น ก็ให้ห่าง ๆ ไว้ เพราะคนโกรธนี่เขาจะไม่มองตัวเอง ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง เขาจะมุ่งแก้ปัญหาที่คนอื่น วันใดวันหนึ่งเขาก็จะมุ่งมาแก้ปัญหาที่เรา แม้บางทีความจริงมันจะไม่ใช่ปัญหาก็ตามที น่าปวดหัวไหมล่ะ?

การไม่ใส่ใจ การวางเฉยต่อท่าทีของผู้ที่มักโกรธ ก็เปรียบเหมือนการไม่ให้อาหารความชั่ว แม้เขาโกรธมา เราไม่ส่งเสริม(ไม่กอดคอไปนรกด้วยกัน) ไม่ผลักไส(เดี๋ยวจะเข้าตัว) แค่เราไม่ใส่ใจ ไม่ต้องไปเพิ่ม ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องเอาภาระ คนขี้โกรธสอนกันไม่ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะตอนที่เขากำลังโกรธ หงุดหงิด หรือกำลังนินทาใคร ตอนนั้นพลังของกิเลสกำลังพลุ่งพล่าน จึงไม่ใช่เวลาที่ธรรมะจะเติบโตได้ แม้มีธรรมที่เลิศยิ่งกว่าน้ำทิพย์ ราดรดลงไปก็เหมือนราดน้ำไปบนเหล็กร้อนแดงฉาน น้ำก็จะระเหยหายไปหมดนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า ๆ ดังนั้นอย่าไปใส่ใจคนขี้โกรธ

3).คนที่น่าคบหาเป็นคนอย่างไร? คือ เขาเหล่านั้นเป็นคนที่มีศีล ประพฤติตามธรรม ไม่เบียดเบียน กล่าวแต่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ พูดเรื่องที่พาให้ละ หน่าย คลาย จากความโลภโกรธหลง ท่านว่าถ้าเจอคนอย่างนี้ ให้เข้าไปคบหา ไปศึกษา ไปใกล้ชิด เพราะแม้ว่าเราจะปฏิบัติตนได้ไม่ถึง ไม่เป็น ไม่เหมือนอย่างคนมีศีลเหล่านั้นก็ตาม แต่เราก็จะมีชื่อเสียงที่ดีกระจายไปไกล ว่าเราคบคนดี เราคบคนมีศีล มีคนปฏิบัติถูกตรงเป็นมิตร ก็จะเป็นพลังบวกที่จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต คนดีเขาก็จะไม่ระแวงเพราะเราก็คบคนที่ดีมีศีล เป็นการยืนยันธรรมะในตัวเราอีกชั้นหนึ่ง นอกจากเราจะพยายามทำดีแล้ว เรายังคบหาคนดีอีก มันจะเต็มรอบ รูปจะสวย จะเป็นกุศลสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่ถ้าเราไปคบคลผิดศีล คนเน่าใน คนตอแหล เสแสร้ง แกล้งทำ และคนขี้โกรธ คนเหล่านี้ก็ทำให้เราเสียชื่อเสียงบ้าง สร้างปัญหาให้เราบ้าง คนอื่นเขาจะระแวงเรา ไม่มั่นใจในตัวเรานัก ทำอะไรก็ขัดข้องเพราะมีศรัทธาที่ไม่เต็มต่อกัน ความไม่มั่นใจจะดลให้เกิดความผิดพลาดและเสื่อมศรัทธาต่อกันได้ เพราะมีการคบหาคนพาลเป็นเหตุนั่นเอง

พระพุทธเจ้ายังสรุปไว้ในตอนท้ายว่า “บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ”

จะเห็นได้ชัดเลยว่าท่านให้เลือกคบคน ท่านก็ไม่ได้บังคับ ให้อิสระ อยากเลวก็คบคนเลว ถ้าจะประกันความผาสุกก็ให้คบหาคนที่เสมอกัน แล้วถ้าอยากได้ความเจริญรุ่งเรือง ก็ให้คบคนที่สูงกว่า มีศีลมากกว่า มีใจที่พ้นทุกข์ได้มากกว่า ก็จะมีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมเด่นขึ้นมาทันที ดังนั้น ท่านจึงและนำให้คบหาคนที่สูงกว่าไว้ในชีวิต

เพราะคนที่ไม่คบคนสูงกว่า ไม่มีคนสูงกว่าให้ศรัทธา ไม่นับถือว่าใครสูงกว่าตน คนพวกนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เขาจะไม่มีวันเจริญไปมากกว่าที่เขาเคยเป็นมา เรียกกันง่าย ๆ ว่า “โง่เท่าเดิม” ธรรมะหรือความเจริญในศาสนาพุทธนั้นจะเรียนรู้เองไม่ได้ มันจะติดเพดานกิเลส ต้องมีคนที่สูงกว่าคอยชี้นำเป็นลำดับ ๆ  ไปตามฐานของแต่ละคน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตร(เล่ม 24 ข้อ 61) ว่าผู้ที่พ้นทุกข์ได้นั้นต้องเริ่มจากการคบหาสัตบุรุษ คือผู้ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่รู้ธรรมรู้ทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ และทำความพ้นทุกข์ พ้นกิเลส พ้นกาม พ้นอัตตา พ้นความมัวเมาในสิ่งเสพติดต่าง ๆ ตั้งแต่หยาบไปจนละเอียดโดยลำดับ เป็นที่นำพาไป การสัตบุรุษจึงเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญทางธรรม

จากเนื้อหาในชิคุจฉสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466 )  จะสรุปความได้ว่า เราจะต้องเลือกคบคน คนที่คบแล้วเป็นภัยก็อย่าไปคบหา อย่าไปสนิท อย่าไปนั่งใกล้ คนเหล่านี้มีแต่จะสร้างความฉิบหาย มีแต่จะทำความเดือดร้อนให้แก่เรา และเราควรจะแสวงหาคนดีมีศีล เพื่อคบหาและศึกษาเพื่อความเจริญ เพื่อความพ้นทุกข์และความไม่เสื่อมของเรา การพรากจากคนพาลและการเข้าใกล้คนดี คือประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่นในเวลาเดียวกัน

27.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

 

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

August 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,102 views 0

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

กาลเวลาที่ผ่านไปได้แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เปลี่ยน แม้แต่ใจคนที่หนักแน่น คำพูดที่จริงจัง คำสัญญาที่ตั้งมั่นว่าจะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายไม่ว่าอะไรก็ต้องค่อยๆเสื่อม ค่อยๆพราก ค่อยๆจาก และเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล….

ขับรถไป เปิดวิทยุไป แล้วเขาก็เปิดเพลงหนึ่ง ฟังแล้วรู้สึกทันทีว่าน่าจะเอาเรื่องราว อารมณ์ความรู้สึกนี้มาพิมพ์บทความกันสักหน่อย (เปลี่ยน – บี๋ คณาคำ อภิรดี : http://www.youtube.com/watch?v=0i-e5nnDfgU)บทความนี้ก็ได้แรงบันดาลใจจากการฟังเพลงนี้ละนะ

ความรักกับความเปลี่ยนแปลง…เรื่องราวเกี่ยวกับความรักในบทนี้ ก็คงจะกล่าวกันถึงความรักที่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีทิศทางในลักษณะที่เสื่อมลง คลายลง ถดถอยลง จนถึงสลายหายไป เป็นทุกข์แบบชัดเจน

ขึ้นชื่อว่าความรักนั้นก็เหมือนของหอม ของงาม น่าโหยหา น่าเอามาผูกพัน น่าเอามายึดไว้ข้างกาย เป็นความสุขความสมบูรณ์ตามที่สังคมและโลกสอนให้เราเข้าใจ ให้เรารับรู้ว่าการที่คนเราได้รับความรัก ได้มีคู่รัก นั่นคือจุดสมบูรณ์ของชีวิต เหมือนในนิทาน ในนิยาย ในละคร ที่ตอนจบพระเอกและนางเอกก็ได้ร่วมชีวิตกัน

เป็นเหมือนเรื่องราวที่โลกทำให้เราเข้าใจว่าการได้มีคู่ ได้สมรส มีครอบครัว นั้นคือความสุข เป็นจุดจบของทุกสิ่ง เพราะส่วนใหญ่เรื่องราวในหนังมันก็จบแค่นั้น… แต่ถ้าชีวิตจริงมันจบแค่นั้นก็คงจะเป็นอย่างที่เขาว่า

เมื่อได้เสพสมใจ คือการแต่งงาน จนไปถึงการสมสู่ ความต้องการของเราจะได้รับการเติมเต็มอย่างสูงที่สุด ตามแต่ใครจะสร้างกิเลสเหล่านั้นขึ้นมา ดังจะเห็นได้โดยทั่วไปว่า ไม่มีงานใดยิ่งใหญ่มากเท่างานแต่งงานในชีวิตของคนหนึ่งคนแล้ว เรียกได้ว่าเป็น“จุดพีค” ของชีวิตเลยทีเดียว ถ้าเป็นละครก็คือตอนสำคัญเชียวละ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับต้องการเสพความสุขเหล่านี้ “มากขึ้นเรื่อยๆ” ในขณะที่ความอยากจะตอบสนองของอีกฝ่ายลดลง หรือหมดความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของคู่ตน ที่มีแต่จะพัฒนาความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ขึ้นทุกวัน

เมื่อคนเรามีความต้องการ ความอยากเป็นเจ้าของ หรือกระทั่งความใคร่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า “ความรัก” เข้ามาเป็นตัวแทนโดยทำทุกอย่างให้เหมือนทุ่มเท ใส่ใจ เอาใจใส่ ทั้งหมดก็เพื่อที่จะสนองกิเลสอีกฝ่ายให้พอใจกับการกระทำของตน เรียกง่ายๆว่า เอาใจ…จนจีบติด , เมื่ออีกฝ่ายเริ่มสนใจ ก็จะสนองกิเลสเพิ่มเข้าไปอีก หาสิ่งมาเติมกิเลสเข้าไปอีกให้เกิดความอยากร่วมชีวิต ให้มาแต่งงานร่วมกัน มีคำหวาน คำสัญญา คำพูดและสิ่งของอีกมากมายที่จะมาหลอกล่ออีกฝ่ายให้มาตกลงปลงใจกับตนเอง โดยเนื้อแท้ที่ทำทั้งหมดตั้งแต่แรกคือจะเอามาสนองกิเลสตัวเอง คือ อยากครอบครอง อยากสมสู่ อยากมีคนแก้เหงา อะไรก็ว่ากันไป… จนสนองกิเลสกันสำเร็จ ตกลงใจร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน

การกระทำเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ ไม่ต้องนึกหรือบังคับ กิเลสก็จะกุมบังเหียนพาเราไปสู่จุดที่อยากจะเสพสมใจเอง โดยทั่วไปแล้ว คนจะเข้าใจว่า ตัวเองเข้าใจว่าทำอะไรอยู่ แต่ไม่เข้าใจว่าจริงๆที่ทำอยู่ นั้นมาจากคำสั่งของกิเลส ประมาณว่าไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าโดนบงการ เลยเข้าใจไปว่า ทำด้วยหัวใจ,ความรักอยู่ที่ใจ,คนมีรักถึงจะเข้าใจ,เราให้เพราะอยากให้,ฯลฯ …กิเลสทั้งนั้น

ความฉิบหายจะเริ่มตั้งแต่จุดนี้ เมื่อฝ่ายหนึ่งได้เสพสมกิเลสตามที่ตนพอใจแล้ว อาจจะเป็นเรื่องการได้ครอบครอง การได้สมสู่ การได้มีสิ่งที่หวัง ก็จะเริ่มลดความพยายามในการตามใจ หรือการสนองกิเลสของอีกฝ่ายลง ในขณะที่อีกฝ่ายก็งง ว่าทำไมแต่งงาน หรือเป็นแฟนกันแล้ว ได้กันแล้ว กลับเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม นั่นก็เพราะเขาได้ในสิ่งที่คาดหวังมาหมดแล้ว ทั้งหมดที่เขาทำมาก็แค่เพื่อเสพสมบางสิ่งจากตัวเราเท่านั้นเอง เมื่อเขาเสพสมใจแล้วเขาจะพยายามต่อไปเพื่ออะไร?

จากจุดนี้ก็คงจะไม่มีใครพูดตรงๆถึงปัญหาซึ่งเป็นรากเหง้าเหล่านี้เพราะส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ เนื่องจากไม่เคยศึกษากิเลสตัวเอง ก็เลยจะออกมาในรูปของการทะเลาะ ความไม่เข้าใจกัน ความขัดแย้ง อยู่กันไปทั้งรักทั้งชัง ไปจนกระทั่งถึงเลิกราต่อกัน

ในอีกกรณีหนึ่งก็คือการสร้างภาพกันทั้งคู่ เวลาที่ยังไม่อยู่ร่วมกันก็เป็นคนดีทั้งคู่ แต่พอมาอยู่ด้วยกัน เริ่มเคยชินกัน จึงไม่ค่อยสำรวม กิเลสที่เคยกดข่มไว้ก็ค่อยๆคลายออกมา กลายเป็นความเอาแต่ใจ อารมณ์ร้าย เปลี่ยนไปเป็นคนละคนทีนี้พอคนมีกิเลสสองคนมาอยู่ร่วมกัน แต่ละคนก็อยากได้ อยากให้อีกฝ่ายสนอง แรกๆก็พอจะสนองกันไปได้ วันหนึ่งเริ่มไม่ไหว ก็เลิกสนอง กลายเป็นหามือที่สามมาสนองกิเลส หรือไม่ก็เลิกรากันไป

ดังจะเห็นได้ว่า ในทุกการเปลี่ยนแปลงของความรักนั้นมีกิเลสเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดัน เป็นเหมือนแรงลมที่ทำให้ทุกๆอย่างเคลื่อนไหว ดังนั้นความรักที่ขับเคลื่อนไปด้วยลมแห่งกิเลสจะไม่มีวันเปลี่ยนไปได้อย่างไร

ทีนี้คนที่มีความยึดมั่นถือมั่น หลงไปในคำสัญญา ก็จะยึดว่าเขาต้องไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนจากวันที่รักเรามากที่สุด เมื่อคิดเช่นนี้ มันก็ทุกข์เอง และพยายามจะกอดทุกข์เหล่านั้นไว้ไม่ปล่อย โดยที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่ารักที่มาจากกิเลสนั้นจะต้องมีวันเปลี่ยนแปลงไป ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ถึงแม้ว่ารักนั้นจะสะอาดปราศจากกิเลศก็ตาม ก็ยังต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลง ความพลัดพราก คนที่เคยดูแลเรา อาจจะกลายเป็นคนที่เราต้องดูแล คนที่เราฝากชีวิตไว้ อาจจะจากเราไปก่อนที่เราจะทำใจได้ ความเปลี่ยนแปลงนำพาทุกข์มาให้ผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเสมอ

ความรักที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้แน่นอน นั้นมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้เพียงแค่พูด แค่คิดเอา แค่ตั้งมั่นสัญญา หรือด้วยความเข้าใจเพียงแค่ว่า “เรานี่แหละมีรักที่มั่นคง” สิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงของกิเลสเรา ที่มันจะโตขึ้นทุกวันทุกวันได้

หากเราอยากพบกับความรักจริงๆแล้ว คงต้องพยายามบากบั่น ทำลายความเอาแต่ใจ ความอยากครอบครอง ความหลง ความเหงา ฯลฯ ของตัวเองให้สิ้นเกลี้ยงเสียก่อน จึงจะพอเห็นแสงสว่างปลายทางที่เรียกว่ารักแท้ได้บ้าง

หากใจยังปนเปื้อนไปด้วยกิเลส ก็คงมีแต่คำว่า “รักแท้” ที่เป็นคำลวง พาให้หลงใหล พาให้ปักใจเชื่อ และรอวันเวลาผ่านเข้ามาพรากสิ่งลวงนั้นไปในวันใดก็วันหนึ่ง เหลือทิ้งไว้แต่คนที่ยังยึดมั่นกับรักแท้ที่เป็นคำลวง คนที่หลงเข้าใจไปว่าทุกสิ่งจะไม่เปลี่ยนแปลง

– – – – – – – – – – – – – – –
24.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์