Tag: คนโง่

ประพฤติตนเป็นโสด คือความเป็นกลาง

January 9, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 969 views 0

ได้ไปเห็นความเห็นที่คนเขามองว่าการปฏิบัติตนเป็นโสด มันจะออกไปทางโต่ง ๆ ตามความเห็นของเขา อ่านแล้วก็เห็นใจเขา เพราะจริง ๆ ประพฤติตนเป็นโสดนั้น คือความเป็นกลาง เป็นทางพ้นทุกข์อย่างหาทางอื่นไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนที่เขาประพฤติตนเป็นโสด คนเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต” นั่นหมายถึงก็มีแต่คนที่มีปัญญาเท่านั้นแหละ ที่จะตั้งตนอยู่ในความเป็นโสด ท่านยังตรัสไปต่ออีกว่า “ส่วนคนเขลาฝักใฝ่ในเมถุนย่อมเศร้าหมอง” นั่นก็หมายถึงคนที่เขาไม่มีปัญญา หรือที่เรียกกันว่าคนโง่ คนหลง เขาก็จะเศร้าหมองเพราะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการอยู่เป็นคู่ ๆ อยู่กับเรื่องคนคู่

ท่านยังตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม 25 ข้อ 29 ไว้อีกว่า “บุคคลผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต

คนที่ประพฤติตนเป็นโสดนี่ทำไมถึงเป็นบัณฑิต แล้วทำไมบัณฑิตถึงไม่มีภัย นั่นก็เพราะการประพฤติตนเป็นโสด จะไม่สร้างเวรแค่ใคร ไม่มีภัยแก่ใคร เพราะไม่ทำให้ใครหลงรัก หรือหลงชัง ไม่ไปเป็นข้าศึกในวัฏสงสารอันยาวนานของเขา ออกจากวังวนแห่งการหลงสุขหลงเสพ อันเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั่วไป

การที่คนเข้าไปรักกัน ไปแสดงความรักกันนั้น ก็ยังสร้างเวรสร้างภัยให้แก่กันอยู่ ด้วยการมอมเมาด้วยกาม ด้วยตัณหา ด้วยราคะ ด้วยอัตตา ก็ตาม ดังนั้นผู้ที่สร้างเวรสร้างภัย จะเรียกว่าเป็นบัณฑิตก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าตั้งตนอยู่บนทางสายกลางก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าปฏิบัติสู่ความเจริญก็ไม่ใช่

ทางสายกลางในมิติของคนโสดคนคู่นั้น จะอยู่ตรงการประพฤติตนเป็นโสด ส่วนทางโต่งสองด้านนั้น หนึ่งคือฝั่งของการหลงไปในทิศของกาม จะหลงใหลหมกมุ่นใคร่อยากในเรื่องคู่ครอง สองคือทิศของอัตตา จะเป็นความยึดดี ถือดี หลงดี จนเกิดความชังขึ้นในจิต อธิบายง่าย ๆ ว่าเกลียดความรัก เหม็นความรักอะไรทำนองนี้ เห็นเขารักกันก็จะไม่ชอบใจ อันนี้เป็นทางโต่งในทิศของอัตตา

แต่บัณฑิตที่ประพฤติตนเป็นโสดนั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่าเขาติดกามก็เห็นใจเขา เพราะเขาหลงไปสุข ไปเสพกับสิ่งลวง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แล้วก็มัวเมาอยู่กับกาม เขาก็ให้ค่ามัน ให้ความสำคัญกับมันเป็นธรรมดา แค่เขาหลงเขาก็ทุกข์พออยู่แล้ว มันก็น่าเห็นใจ

ส่วนทิศอัตตานี่ก็น่าสงสารอีก เขาจะยึดดีจนอึดอัด กดดัน บีบคั้น มีแต่รังสีอำมหิต เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรใครเลย ทำลายทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง ดีไม่ดี ตบะแตก อดทน อดกลั้นการมีคู่ไหมไหว กลับไปหาฝั่งกามก็มีเยอะเหมือนกัน ก็คล้าย ๆ พวกทำเป็นเก๊ก แล้วสุดท้ายใจแตก ก็น่าเห็นใจเขา

ความจริงมันก็ไม่มีอะไรน่ายึด เพียงแต่มันจะมีจุดอาศัยที่พอดี เป็นกลาง เป็นความเบาสบาย ถ้าทั้งสองฝั่งคือพื้นที่ที่มีไฟลุกเผาใจอยู่ทุกวี่วัน การประพฤติตนเป็นโสดจนหลุดพ้นจากความอยากมีคู่ก็คือตรงกลางระหว่างนรกทั้งสองฝั่ง เป็นแดนสวรรค์ของจิตที่พ้นจากความเดือดเนื้อร้อนใจ

ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า บัณฑิตคือผู้ที่มีความเกษมสำราญในธรรม ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่ใคร ใครจะมีคู่ก็เข้าใจ ใครจะชังการมีคู่ก็เข้าใจ แต่ก็จะทำงานของตนต่อไปคือเผยแพร่สิ่งที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทำกุศลให้ถึงพร้อม” เมื่อมีความรู้ ก็ควรจะแบ่งปันแจกจ่ายเป็นธรรมทาน เก็บไว้ หวงไว้ ซ่อนไว้ ไม่แบ่งแจก ก็เหมือนพรามห์ผู้เห็นผิดในโลหิจจสูตร ที่เห็นว่าผู้บรรลุธรรมนั้นไม่ควรเปิดเผยธรรม

พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้อีกว่า ธรรมะของท่าน ยิ่งเปิดเผย ยิ่งเจริญ แต่คนที่เขาไม่มีปัญญาเขาจะไม่ชอบใจหรอกนะ เขาจะค้านแย้ง ดังที่ท่่านได้ตรัสไว้ว่า ธรรมที่พาพ้นทุกข์ อสัตบุรุษจะไม่ยินดี ไม่ชอบใจ ให้พาออกจากกาม ออกจากอัตตานี่เขาจะไม่เอา เขาจะแย้ง มันก็เป็นธรรมดาของโลก ที่จะมีความเห็นทั้งสองทางมาค้านกัน

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดต่าง จะเข้าใจว่าทางสายกลางกลางกามก็เป็นสิทธิ์ที่พึงทำได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำตามใจของตน และผลกรรมก็เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงได้รับเช่นกัน ทำดีก็ได้รับผลดีสะสมไว้ ทำชั่วก็ได้รับผลชั่วสะสมไว้ ก็ให้อิสระในการเลือกกันเองว่าจะทำอะไรแบบไหน

ไม่เก่งอย่าซ่า (เผชิญหน้ากับกิเลส) : กรณีศึกษาความรักกับถ่านไฟเก่า

September 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,746 views 1

ไม่เก่งอย่าซ่า (เผชิญหน้ากับกิเลส) : กรณีศึกษาความรักกับถ่านไฟเก่า

ไม่เก่งอย่าซ่า (เผชิญหน้ากับกิเลส) : กรณีศึกษาความรักกับถ่านไฟเก่า

ในกรณีที่เลิกกับคู่รักมาด้วยเหตุอะไรก็ตาม แต่จบด้วยความบาดหมาง ไม่ลงรอยกัน แม้เขาจะมาอ้อนวอนให้กลับไปเหมือนเดิม ตอนแรกก็มักจะมีอาการใจแข็งไม่อยากกลับไปเป็นเหมือนเก่า เกลียดความทุกข์ เกลียดความผิดหวัง ฯลฯ ซึ่งก็มักจะมีอาการปากแข็ง กายแข็ง ใจแข็ง อยู่พักหนึ่ง

พออดีตคู่รักกลับเข้ามาหา ทักทาย หยอดกันตามประสาหมาที่เคยหยอกไก่ ครั้งแรกๆอาจจะมีอาการรังเกียจ โกรธ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากคุย อยากจะหายตายจากกันไปเลย ไม่ต้องมาพบเจอกันฯลฯ

แต่พอเข้ามาบ่อยๆหนักเข้าๆ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน นับประสาอะไรกับคนจิตอ่อน โดนออดอ้อนทุกวันก็หมดท่า ถ้าจิตใจอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถยืนด้วยตัวเองได้ ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ยังต้องหาที่พึ่งภายนอกอยู่ พอโดนยั่วกิเลสทุกวัน วันละนิดวันละหน่อย ค่อยๆหยอด ค่อยๆเติมเชื้อราคะ ไม่ให้ไก่ตื่น ไม่ให้รู้ตัว สุดท้ายก็มักจะพลาดท่าเสียที

ด้วยความที่ตัวเองก็กามหนาอัตตาจัด แต่ตอนแรกๆที่เลิกกันอัตตามันจะพุ่ง อัตตามันจะกำเริบ มันจะยึดดี มันจะไม่ยอมท่าเดียว สุดท้ายอัตตามันสู้กามไม่ไหว กามมันโตขึ้น มันโดนเติมเชื้อให้อยากกลับไปเสพของเก่าให้หวนนึกถึงสุขที่เคยเสพ

ทีนี้พอกามมันโตกว่าอัตตา “ก็จบเกม” กลับไปตายรังกับแฟนเก่า ดังที่เขาว่าวัวเคยค้าม้าเคยขี่ ยิ่งคนที่เคยมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งยิ่งมีเหตุให้กระตุ้นกิเลสมาก แตะนิด แตะหน่อยก็ของขึ้นกันแล้ว จากที่เคยปากแข็ง ไม่พูดด้วยก็กลับไปออดอ้อนออเซาะ จากที่เคยร่างกายแข็งไม่ให้แตะต้อง ไม่ตอบสนอง ก็เปลี่ยนเป็นตัวอ่อนยอมพลีกายถวาย จากที่เคยใจแข็ง ไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหาสุดท้ายก็กลับไปยกใจให้เขาครอบครองเป็นเจ้าของเหมือนเดิม นั่นหมายถึงสุดท้ายก็กลับไปอยู่ในนรกขุมเดิมด้วยความสุข(ลวง)ที่มากขึ้น

…นี่เป็นกรณีศึกษาความผิดพลาด ที่สุดแสนจะคลาสสิค ของผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้เท่าทันกิเลส ไม่มีกลยุทธ์ในการเอาตัวรอด จึงตกเป็นเหยื่อของกิเลสด้วยความเต็มใจ(ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง: พระพุทธเจ้า)

ซึ่งผู้ที่มีโอกาสกลับมาโสด ได้โอกาสพิจารณาบางสิ่งบางอย่าง แต่แล้วกลับไปเสียท่าให้กิเลสอีก เรียกว่าพลาดท่ายิ่งกว่าตอนที่เสียท่าไปคบกันตั้งแต่ตอนแรก และจะต้องได้รับวิบากบาปมากกว่าครั้งแรก นั่นหมายถึงการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองยิ่งๆขึ้นไป

เพราะมี [ ความหลง1(หลงคบเป็นคู่รัก) + ความหลง2(หลงกลับไปเป็นคู่รัก) = สร้างกรรมกิเลส = วิบากบาป=ทุกข์ ]

เหมือนกับคนที่เขาปล่อยออกจากคุกมาแล้ว แต่โดนกิเลสมอมเมาให้ทำชั่ว ไม่กลับตัว ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่เข็ด ไม่หลาบจำ สุดท้ายก็ต้องกลับไปอยู่ในคุกอีก จึงต้องวนเวียนเข้าออกคุก โดยไม่มีวันหนีคุกนี้พ้น เพราะมัวเมาในความสุขลวงของกิเลส จึงต้องอยู่กันอย่างมีความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กิเลสสรรสร้าง ข้ออ้างเงื่อนไข ให้ไปมีคู่ ไม่รู้คุณโสด

June 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,497 views 0

กิเลสสรรสร้าง ข้ออ้างเงื่อนไข ให้ไปมีคู่ ไม่รู้คุณโสด

กิเลสสรรสร้าง ข้ออ้างเงื่อนไข ให้ไปมีคู่ ไม่รู้คุณโสด

………………………..

ถ้าในปัจจุบันเรายังโสด แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะโสดตลอดไป นั่นหมายความว่าเรายังเปิดประตูต้อนรับวิบากกรรมและเวรภัยทั้งหลายที่จะเข้ามาในชีวิตพร้อมตัวเวรตัวกรรม

แม้ว่าเราจะมี ”ความเห็นผิด” ว่า “โสดก็ได้มีคู่ก็ได้” เป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงผู้ที่หลงวนอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังมีความอยากเสพในปริมาณมากอยู่ กิเลสจะไม่ยอมให้เราปิดโอกาสที่จะได้เสพสิ่งนั้น แม้ว่าเราจะเป็นผู้โหยหาแสวงหาความรัก หรือเจ้าหญิงที่รอคอยเจ้าชายอยู่บนหอคอยอยู่อย่างเงียบๆก็ตาม การที่ยังมีข้ออ้างและเงื่อนไขให้ต้องสละโสดนั้นแหละคือกิเลส

ใช่ว่าคนที่ยังโสดจะโสดได้ตลอดไป เขาหรือเธออาจจะมีเงื่อนไขที่อยากเสพอะไรมากเป็นพิเศษ ดังเช่นประโยคที่ว่า “ถ้าหาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า” สามารถตีความหมายได้สองมุมกว้างๆ ในมุมหนึ่งเป็นประโยคที่แสดงความกระหายในการเสพสุขที่มาก เรียกว่า “โลภ” ก็ว่าได้ เพราะเมื่อมีเงื่อนไขว่าต้องสุขกว่าตอนที่ฉันอยู่คนเดียว ใครบำเรอสุขนั้นได้ ฉันจะไปเป็นคู่ ถ้าไม่มีใครทำได้ฉันก็จะโสด นี้เองที่เรียกว่าไม่ยอมปิดโอกาสให้ตัวเอง ยังวนเวียนอยู่ในกามภพโดยมีเงื่อนไขมากมายเพื่อให้ได้เสพสุขอย่างที่ใจหมาย

เหมือนกับคนที่มีมาตรฐานในความต้องการสูง แม้ภาพลักษณ์จะดูสงบ ไม่โหยหาคู่ แต่กิเลสข้างในมันยังเรียกร้อง เสียงมันดังกึกก้อง อยากได้อยากเสพสุขที่ตนหวังไว้ แต่ก็ไม่มีสุขที่ว่านั้นมาให้เสพเสียที จึงทำได้แค่เพียงทำใจและยอมรับ จึงเกิดสภาพที่เหมือนจะยอมรับว่าโสดก็ได้ มีคู่ก็ได้ (ถ้าเจอคนที่ดีพอ หรือแปลตรงตัวว่าเจอคนที่มีศักยภาพในการบำเรอกิเลส)

ในอีกนัยหนึ่งก็คือการเล่นคำของผู้ที่ก้าวผ่านกามภพอย่างรู้แจ้ง คือรู้ดีกว่าไม่มีอะไรดีกว่าอยู่คนเดียวหรอก จึงแอบเผยความอยากโสดออกมาผ่านประโยคเหล่านั้น ในกรณีนี้เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าจะให้พูด ก็คงจะใช้คำว่า “แล้วมันจะมีอะไรที่สุขกว่าความโสดอีก” แทนคำที่มีความหมายกำกวมที่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิด

เพราะตามหลักฐานความรู้สู่ความพ้นทุกข์ที่มีปรากฏอยู่นั้น บุรุษผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งก็ยังสรรเสริญความโสด “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ดังนั้นการที่ยังมีความเห็นว่าโสดก็ได้ มีคู่ก็ดีนั้น ย่อมไม่ใช่ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ ไม่ใช่วิสัยของบัณฑิต ไม่ใช่แนวทางของพุทธ ไม่เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญใดเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

24.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)