Tag: การผิดศีล

วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?

October 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,067 views 0

กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป...จริงหรือ?

วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?

ในสังคมเรานั้นยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในประเด็นของการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาว่าบาปหรือไม่บาป ซึ่งผู้ที่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าไม่บาป ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าบาป แท้จริงแล้วมันบาปหรือไม่ ในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์กัน

ก่อนจะเข้าบทวิเคราะห์ เราก็ต้องปรับสัญญาให้ตรงกันก่อนว่า “บาป” นั้นคืออะไร บาปกับความชั่วหรือสิ่งไม่ดีนั้นเหมือนกันไหม เราจะมากำหนดหมายคำว่าบาป กับคำว่าอกุศล เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเนื้อหาของบทความนี้

บาป นั้นหมายถึงกิเลส การสนองกิเลส การสะสมกิเลส การยั่วกิเลส การมัวเมาในกิเลสย่อมเป็นบาปทั้งนั้น ตรงข้ามกับ บุญ คือการชำระกิเลส เป็นตัวทำลายกิเลส

กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ จำแนกได้สามลักษณะใหญ่ๆ คือโลภ โกรธ หลง

อกุศล คือความชั่ว ความไม่ดี ความเบียดเบียน ตรงข้ามกับกุศล คือความดีงาม และอกุศลกรรมนั้นก็คือกรรมที่ให้ผลไปในทางลบ กรรมชั่ว กรรมดำอกุศลไม่ใช่บาป เป็นคนละอย่างกัน แต่การทำบาปสร้างอกุศล

บทนำในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น

การกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาปจริงหรือ? หลายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์มักจะมีความเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่บาป ด้วยตรรกะหรือการได้ยินได้ฟังเหตุผลใดก็ตามแต่ สิ่งเหล่านั้นก็ยังเป็นเพียงแค่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความจริง

เราไม่พึงเชื่อเพราะเขากล่าวอ้างมา เพราะเขาพูดกันมา ทำกันมา เพราะการคิดเอาเอง เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นเหมือนกับที่ตนเข้าใจ เพราะเขาเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะเขาเป็นอาจารย์ของเรา ฯลฯ แต่พึงพิจารณาด้วยปัญญาว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงธรรมนั้น ถ้าเป็นอกุศลก็ละเว้นจากธรรมนั้นเสีย นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “กาลามสูตร” ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันความหลงมัวเมาในข้อมูล และป้องกันการติดภพหลงในความยึดมั่นถือมั่นและอื่นๆอีกมากมาย

อย่างที่เรารู้กันว่า ในสมัยนี้มีโรงฆ่าสัตว์มากมาย ธุรกิจค้าเนื้อสัตว์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมบ้านเรา ซึ่งจะมีสัตว์ที่ถูกบังคับ ถูกทำร้าย ถูกฆ่าทุกวันๆ ซึ่งมีองค์ประกอบในการทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วงที่ครบพร้อม คือรู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต และพยายามฆ่าจนสัตว์นั้นตาย นั่นหมายถึงผิดบัญญัติของพุทธเต็มประตูอยู่แล้ว คงจะไม่มีชาวพุทธคนไหนกล้ากล่าวว่าการฆ่าสัตว์นั้นไม่เบียดเบียน ไม่ผิดศีล

การไม่ฆ่าสัตว์นั้นถือเป็นบทบัญญัติแรกของศาสนาพุทธ เป็นขั้นต่ำที่สุดของผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตามหลักของพุทธพึงกระทำ เรียกว่าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีศีลข้อนี้ให้ได้ นี่เป็นเพียงศีลข้อแรกในศีล ๕ คือการงดเว้นการฆ่าสัตว์ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ยินดีในการฆ่า และชักชวนให้ผู้อื่นงดเว้นการฆ่า

ดังนั้นจะสรุปประเด็นนี้ไว้ก่อนเลยว่า แม้จะเรียกตนเองว่าชาวพุทธ ศรัทธาในศาสนาพุทธ เข้าวัดฟังธรรม แต่ถ้าศีล ๕ ยังถือปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เรียกว่ามีความเป็นพุทธ เป็นเพียงผู้ที่ศรัทธาแต่ไม่สามารถเข้าถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะไม่มีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อกุศล ไม่สามารถแยกแยะดีชั่วได้ จึงไม่ยินดีในการเข้าถึงสิ่งที่ดี และไม่ละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

แล้วทีนี้การฆ่าสัตว์นี้มันผิดทางพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ชาวพุทธเขาไม่ทำกัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติแล้วนำพาความเจริญมาให้ชีวิต มีแต่ความเสื่อมและอกุศลกรรม ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมหลีกเลี่ยงจากการฆ่า แม้ว่าจิตตนนั้นจะยังไม่สามารถทำลายความโกรธและอาฆาตได้ก็ตาม

บทวิเคราะห์ : เนื้อที่ถูกฆ่ามา กับการซื้อขายเนื้อสัตว์

เมื่อการฆ่าสัตว์นั้นผิดทางพุทธ เนื้อที่ถูกฆ่ามาย่อมเป็นเนื้อที่ผิดแนวทางของพุทธด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่เนื้อที่ได้มาด้วยการไม่เบียดเบียน แต่การจะได้มาต้องใช้การฆ่า นั่นหมายถึงเนื้อนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่บริสุทธิ์ เป็นของที่ถูกพรากมา เป็นของที่ขโมยมาจากสัตว์เหล่านั้น และที่สำคัญมันไม่ได้ตายเพื่อเราด้วยเจตนาของมันเอง แต่เขาฆ่ามันให้ตายเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากมัน

หลังจากได้เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว ก่อนจะได้เนื้อสัตว์มากินนั้น ต้องผ่านจุดคัดกรองที่เรียกว่า มิจฉาวณิชชา ๕ ท่านบัญญัติว่าชาวพุทธไม่ควรค้าขายเนื้อสัตว์ ถ้าค้าขายก็ถือว่าผิด ปรับตกไปได้เลย ไม่ต้องคิดต่อว่าบาปหรือไม่บาป เพราะผิดพุทธมันไม่พ้นทุกข์อยู่แล้ว

บทวิเคราะห์ : กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา บาปหรือไม่?

ถึงแม้จะได้เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่านั้นมาฟรีๆ หรือเลี่ยงบาลีจนเข้าใจว่าตนเองซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ไม่ได้ฆ่าเอง จนได้เนื้อสัตว์นั้นมาก็ตาม ตรงนี้จะเป็นจุดวิเคราะห์ในเรื่อง “บาปหรือไม่” ถ้าบาปนั้นหมายถึงมีกิเลสเป็นองค์ประกอบร่วม กิเลสในที่นี้ที่จะระบุลงไปเลยคือความหลง (โมหะ) คือ การหลงยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา(ยอมรับการผิดศีลว่าดี เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยไม่มีโทษ)ถ้ามีจิตเช่นนี้ จะสรุปลงไปเลยว่า “บาป

เมื่อมีความรู้แน่ชัดแล้วว่า ในยุคสมัยนี้เนื้อสัตว์ใดก็ล้วนถูกฆ่ามาทั้งนั้น ชาวพุทธที่มีหิริโอตตัปปะ ย่อมสะดุ้งกลัวต่ออกุศลกรรมที่จะเกิดขึ้น ย่อมหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นกรรมชั่ว คือการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เขาทำชั่ว ให้เขาฆ่าสัตว์ ให้เขาทำบาป ให้เขาทำผิดวิสัยของพุทธ

การสนับสนุนให้ผู้อื่นทำบาปและอกุศลกรรมย่อมไม่ใช่ลักษณะของมิตรที่ดี ชาวพุทธย่อมรักกันดูแลกันไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นทำบาป ย่อมตักเตือนและชี้นำกันไปสู่ทางเจริญ เพราะรู้ดีว่าผลแห่งบาปนั้นสร้างทุกข์ขนาดไหน ดังนั้นผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วย่อมไม่สนับสนุนให้คนได้ทำบาปนั้นๆต่อไป จึงไม่สามารถสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาได้ เพราะรู้ดีว่าการสนับสนุนด้วยการซื้อหรือรับเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น จะเป็นเหตุให้เขาต้องทำบาปนั้นต่อไป นั่นหมายถึงเจตนาในการสนับสนุนสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นคืออกุศลกรรมของเราด้วย

ซึ่ง ณ จุดนี้เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เรากำลังจะวางเส้นทางกรรมของเรา ว่าจะให้เป็นไปอย่างไร ทางเลือกมีชัดเจนอยู่แล้วคือกุศลหรืออกุศล เบียดเบียนหรือไม่เบียดเบียน ถ้าเราไม่มีกิเลสก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราต้องเลือกที่จะไม่เบียดเบียนเพราะการเบียดเบียนผู้อื่นก็คือการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมไม่เลือกการเบียดเบียนหากสามารถหลีกเลี่ยงได้

กิเลสคือตัวแปรหลักในการทำให้คนไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ไม่สามารถแยกกุศลกับอกุศลออกได้ เพราะมีความหลง (โมหะ) เป็นเหตุ เมื่อมีความหลงในความเห็นนั้น ก็หมายถึงยังมีบาปอยู่ในสิ่งคนเหล่านั้นคิดและเข้าใจ

เพราะถ้าผู้ใดรู้ชัดว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเหตุให้ต้องเบียดเบียนสัตว์ และผลของกรรมนั้นเองจะสร้างทุกข์ให้ตนเองในท้ายที่สุด ผู้นั้นจะสามารถเข้าใจและสรุปได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอกุศล จึงเลือกที่จะละเว้นกรรมเหล่านั้น

แต่ด้วยความหลงในเนื้อสัตว์ เช่นหลงในรูป รส สัมผัส ฯลฯ หรือหลงไปจนทิฏฐิวิปลาส คือเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ทั้งที่มันไม่ดีหรือหลงไปจนกระทั่งเห็นว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี ก็จะเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศลได้

เพราะจริงๆแล้วการกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้กระทบกับการฆ่าสัตว์โดยตรง เป็น demand & supply ที่แปรผันตามกันอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงการที่เรากินเนื้อสัตว์นั้นจะไปสนับสนุนการฆ่าสัตว์โดยตรง และยังจะไปสร้างความหลง ให้สังคมเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าถามว่ามันบาปตรงไหน มันก็บาปชัดๆกันตรงนี้แหละ คือทำให้คนหลงมัวเมาในความเห็นผิด เป็นความหลงที่หลอกกันซับซ้อนจนกลายเป็นความเข้าใจที่สุดแสนจะวิบัติไปแล้วว่า “กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่บาป”

หากจะสรุปว่า มันบาปตั้งแต่ตรงไหน ก็จะให้ความเห็นว่า บาปตั้งแต่มีความเห็นผิดแล้ว และคนที่มีความเห็นผิด ก็จะมีความคิดที่ผิด มีการกระทำที่ผิด เหตุเพราะถูกโมหะครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้นจึงทำให้บาปกันต่อหลายชั้นหลายมิติ ตั้งแต่หลงมัวเมาในเนื้อสัตว์ หลงว่าการฆ่าเพื่อกินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าคนอื่นฆ่ามาแล้วเราเอามากินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าผลกรรมนั้นไม่ถึงตน ฯลฯ

– – – – – – – – – – – – – – –

4.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)