Tag: กุศลกรรม

การใช้จ่ายกุศลอย่างสุรุ่ยสุร่าย

July 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 918 views 0

กรรมคือสิ่งที่ทำลงไปแล้ว จะให้ผลแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผลของกรรมจะดลให้ได้รับสิ่งดี สิ่งร้าย ตามที่ได้ทำมา ซึ่งคนเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกทำกรรม แต่ผลที่จะได้รับนั้น ก็จะได้ตามกุศลกรรม(ทำดี)หรืออกุศลกรรม(ทำชั่ว)ที่ทำมา

อธิบายให้เห็นภาพแบบหยาบ ๆ คือ กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก ต้องทำความดีสะสมมามาก แต่การจะใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย

คนส่วนมาก ถูกกิเลสครอบงำ ก็เอาชีวิตและจิตวิญญาณ ไปทุ่มเทให้กับกิเลส อบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน เที่ยวเล่น สิ่งเสพที่เสพไปแล้วติดใจทั้งหลาย เอาไปเทให้กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เอาไปบำเรออัตตา อันนี้เรียกว่าความฟุ้งเฟ้อ พอถึงจุดหนึ่ง มันจะหมด ดีที่ทำมามันมีวันหมด อย่างที่เขาเรียกว่า “หมดบุญ” แต่จริง ๆ คือกุศลกรรมที่ทำมามันหมด มันไม่เหลือ เพราะเอาไปเผากับกิเลสหมด

ถ้าแบบกลาง ๆ ก็พวกที่หันมาทำดีบ้าง แต่ไม่ลดกิเลส ยังเสพ ยังติด ยังหลงมาก ก็เหมือนพวกหาเช้ากินค่ำ ทำดีสร้างกุศลประคองชีวิตกินใช้ไปวัน ๆ แม้จะทำดีมาก แต่ก็ยังมีรูรั่วที่ใหญ่ ทำดีเท่าไหร่ ก็ไหลไปกับกิเลส

ส่วนแบบละเอียดคือหันมาปฏิบัติธรรม มุ่งมาลดกิเลสแล้ว แต่ก็ยังใช้กุศล ใช้โอกาสที่ตัวเองมีไปกับเรื่องข้างนอก ไปกับสิ่งไร้สาระ เช่น ใช้โอกาส ใช้อำนาจ ใช้บารมีตัวเองไปเพื่อให้ตัวเองได้เสพสมใจในผลต่าง ๆ โดยประมาท คือไม่รู้ว่าทุกอย่างนั้นมีต้นทุน

เช่นการเข้าหาครูบาอาจารย์ ยิ่งเป็นท่านที่ถูกตรงด้วยแล้ว เป็นสาวกจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าการได้พบ ได้เข้าถึง ได้ศึกษาตามสาวกที่ถูกตรงเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด (อนุตตริยสูตร)

แล้วที่นี้สิ่งที่เยี่ยมยอดนี่มันจะมีราคาแพงไหม? มันก็แพงมากกว่าสิ่งที่มีขายอยู่ในโลกนั่นแหละ แพงจนประเมินค่าไม่ได้ ต่อให้รวยที่สุดในโลกก็ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ แต่จะสามารถพบเจอเข้าถึงได้จากความดีที่สะสมมา นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการพบสาวกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เงิน แต่เป็นกุศลวิบาก (ผลของการทำดี)

ทีนี้บางคนพบแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ คือจ่ายน่ะจ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อการพ้นทุกข์ ก็เอาสิทธิ์เหล่านั้น ไปพูดเล่นบ้าง คุยเล่นบ้าง ถามเรื่องชาวบ้านบ้าง พูดแต่เรื่องตัวเองบ้าง หรือไม่ก็ที่เลวร้ายคือ เข้าหาท่านเพื่อแสวงหาโลกธรรม อยากเด่นอยากดัง อยากเป็นที่สนใจ อยากมีอำนาจ อยากมีบริวาร อยากเป็นคนสำคัญ เป็นแม่ทัพ เป็นนั่นเป็นนี่ ลักษณะพวกนี้ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำดีมาแล้วเอาไปเทให้หมามันกิน

คือทำดีมาจนมีโอกาสแล้ว กลับไม่ทำประโยชน์ใส่ตัว ไม่สร้างองค์ประกอบในการลดกิเลส ไม่ถามเพื่อลดกิเลส ฯลฯ สุดท้ายตนเองก็ไม่ได้สร้างสิ่งดีแท้ให้ตนจากโอกาสนั้น ๆ พอวันหนึ่งที่กุศลวิบากหมด ก็จะหมดรอบ จะเกิดเหตุให้ต้องพรากจากครูบาอาจารย์ ในลีลาต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนเดิม

ก็ต้องวนกลับไปจน คือจนโอกาส จนความดี จนมิตรดี เพราะเวลามีโอกาสกลับไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ถึงเวลาหมด มันก็หมด แล้วก็ต้องเสียเวลามาทำสะสมใหม่ อีกหลายต่อหลายชาติ

นั่นก็เพราะ พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า ค่าตัวแพงสุด ๆ เลยเชียวล่ะ (ค่าตัวของความดีงาม)

การยอมพรากจากคู่ คือที่สุดของทุกข์ในการมีคู่

January 1, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 598 views 0

พิมพ์เรื่องคนโสดมาก็มาก ตอนนี้พิมพ์ในมุมคนคู่บ้าง เชื่อไหมว่าสุดท้ายเมื่อคนมีคู่เข้าใจธรรมะ เขาก็จะหันมาเป็นโสดกันทั้งนั้น

มีหลักฐานมากมายจากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระเวสสันดรชาดก ซึ่งจะมีตอนหนึ่งที่มีการสละภรรยาเป็นทาน ในชาดกบทนี้ เป็นชาดกที่ผมรับรู้มาว่าคนข้องใจกันมาก ไม่เข้าใจว่าการสละลูก เมียเป็นทานคือการบำเพ็ญบารมีตรงไหน ซึ่งจริง ๆ มันก็เข้าใจยากจริง ๆ นั่นแหละ เป็นเรื่องเหนือโลก เหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไปไปแล้ว

เชื่อไหมว่าถ้าเราบำเพ็ญไปเรื่อย ๆ คู่ครองของเราก็จะมีบารมีที่มากตามไปเรื่อย (เพื่อปราบเรานั่นแหละ) เขาจะมาแบบครบเลย หน้าตา ฐานะ การศึกษา นิสัย มารยาท ธรรมะ จะดีพร้อม งามพร้อม หรือถ้าไม่พร้อมก็จะมีจุดเด่นพิเศษที่เราพ่ายแพ้ ไม่ยอมปล่อยเพราะยึดสิ่งนั้นไว้

การปฏิบัติธรรมในเรื่องคู่ในบทจบก็คือ “เขาดีขนาดนี้ ยอมสละเขาได้ไหมล่ะ” มันจะยากก็ตรงนี้นี่แหละ คนก็งง จะสละทำไม ก็เขาเป็นคนดี เขาก็ดีกับเราขนาดนี้

เจอคู่ชั่ว ๆ นี่มันทิ้งกันไม่ยากหรอก ดีไม่ดีเขาก็ทิ้งเรา แต่เจอคู่ดีนี่มันทิ้งยาก ติดสวรรค์ ติดสุข ติดความเป็นเทวดา(มีอำนาจ มีคนบำเรอ) หรือไม่ก็ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ

พอคนทำดี มันจะมีกุศลกรรมให้ได้รับ บางทีมันจะมาในรูปของคู่ครอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้สิ่งนั้นจะเป็นลาภ แต่ก็เป็นลาภเลว ที่คนหลงดีใจได้ปลื้มกับมัน อยู่กับมัน แล้วก็แช่อยู่ในภพคู่ครองนั้น ๆ นานนนนนนนน…

ให้คิดก็คิดกันไม่ออกเลยนะ เจอคู่ดีสมบูรณ์ครบพร้อมจะออกยังไง จะถอนใจออกมายังไง ก็มีแต่จะเอาเขาเป็นที่พึ่งเท่านั้นแหละ ชีวิตติดเมถุน มันจะติดเสพความเป็นเทวดา ความเป็นคนพิเศษ ความมีอำนาจ มีการให้เกียรติ ให้ความรัก ความเอาใจ ความสำคัญ เป็นเครื่องร้อยรัดคนไว้กับทุกข์ เรียกว่าเมถุนสังโยค

แต่เชื่อไหม แม้จะดีแค่ไหน มันจะมีจุดพร่อง มีจุดพลาดเสมอ ทีนี้คนที่หลงจะมองข้ามจุดพร่องตรงนี้ไป แล้วไม่เอามาพิจารณาทุกข์ พอไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่เห็นโทษภัยอื่น ๆ ที่ตามมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะมันเป็นกิเลสฝั่งติดสุข มันจะแกะยาก ถอนยาก

ไม่ต้องไปคิดถึงระดับพระเวสสันดรหรอก อันนั้นมันไกลไป ไม่ใช่ฐานะที่คนทั่วไปจะทำได้ แต่ก็ใช้หมวดทานมาเป็นกรรมฐานได้

เช่น คนดีนี่ใคร ๆ ก็อยากได้ใช่ไหม แล้วเราเอามาเก็บไว้คนเดียว คนอื่นเขาก็ไม่ได้ใช้ ถ้าเราสละออกไป คนอื่นเขาก็ดีใจ เพราะเราปล่อยคนดีคนหนึ่งกลับไปให้โลก เขาก็ไม่ต้องมาแย่งเรา ไม่ต้องผิดศีล

ยิ่งถ้าเราปล่อยเขาไปแล้วเขาไม่มีคู่ใหม่ ยิ่งดีใหญ่เลย เขาก็จะได้ใช้ชีวิตเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ไม่ต้องบำเรอเรา ไม่ต้องบำเรอใครอีกให้เสียเวลาชีวิต

ที่สำคัญเราจะช่วยเขาได้ เราจะพาเขาเจริญได้ เพราะการผูกกันไว้นี่มันเจริญได้ยาก มันติดเพดาน มันมีอกุศลวิบากต่อกันมาก แต่ถ้าเราปล่อยได้ เขาจะเห็นเราเป็นตัวอย่าง อาจจะขัดข้องขุ่นใจบ้าง แต่เขาจะจำว่ามันมีสิ่งดีกว่าการอยู่เป็นคู่กันอยู่ในโลก นั่นก็คือการไม่อยู่เป็นคู่กันนั่นเอง

ยกตัวอย่างมาแล้วก็รู้สึกว่ายากโคตร ๆ แต่จะเป็นโสดอย่างผาสุกได้ต้องพิจารณาธรรมหมวดนี้เหมือนกัน มันจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการก้าวเข้าสู่การเป็นโสดอย่างยั่งยืน มันต้องยินดีที่จะสละโควต้าของตัวเองที่จะมีคู่ไปให้คนอื่น

ไม่ต้องห่วงหรอก เราล่อลวงคนอื่นมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่วิบากกรรมเขาจะไม่มาเอาคืน ถึงจะตั้งจิตเป็นโสด แต่ก็จะมีผู้ท้าชิงอยู่นั่นแหละ

ดังนั้นอย่าไปกังวลเลยว่าจะไม่มีคู่ หรือจะสละไปแล้ว แล้วเขาจะหายไป เขาไม่หายไปไหนหรอก เขาก็วนเวียนมาอยู่นั่นแหละ ด้วยเหตุที่ทำบาปด้วยกันไว้มาก และถ้าเป็นคนดีจะมีอีกแรงหนึ่งคือเป็นที่รักของเขา เขาก็ยึดไว้

แท้จริงแล้วคู่ครองเป็นสภาพสมมุติที่คนยึดไว้ ความเป็นพ่อแม่ลูกยังดูจริงยิ่งกว่า แต่คนกลับไม่ค่อยยึดอาศัย ไม่ค่อยเห็นจะมีใครตั้งตนเป็นโสดเพื่อที่จะได้ใช้เวลาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าสักเท่าไหร่ จริง ๆ มันก็สมมุติเหมือนกันนั่นแหละ แต่ดันไปหลงสมมุติตัวที่มันตื้น มันเบียดเบียน มันเป็นบาป แล้วดันทิ้งสมมุติที่เป็นความเกื้อกูล เป็นกุศล

สรุปกันสั้น ๆ ว่า อาการทุกข์ที่เกิดเพราะไม่อยากพราก ไม่อยากสละจากคู่ นั่นแหละคือประตู ถ้ารู้แจ้งในทุกข์นี้ก็จบ จิตจะปล่อย จะยอมพราก สละได้ ทิ้งได้ ตามเหตุปัจจัย ไม่ยึดติดว่าคนคนนั้นเป็นคู่อีกต่อไป จะเข้าใจทั้งสัญญาแบบโลก ๆ กับการไม่ยึดสัญญาแบบโลก ๆ จะตัดสินใจตามกุศลเป็นหลัก

หัดพิมพ์มุมคนคู่ เอาไว้เท่านี้ก่อน ได้เหลี่ยมหนึ่งก็ยาวแล้ว ไว้วันหลังค่อยว่ากันใหม่

โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน

December 3, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,373 views 1

โรงบุญโรงทาน

โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน

ตามที่ได้ศึกษาพุทธประวัติ มีอุบาสกท่านหนึ่ง ผู้เป็นเลิศในด้านการให้ทาน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นอริยะสาวก หรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกตรงนั่นเอง

จากประวัติศาสตร์นั้น ท่านได้ทำทานอย่างสม่ำเสมอ บำรุงทั้งคนยากไร้ บำรุงทั้งนักบวช ทั้งยังบำรุงได้เยี่ยมยอดอย่างหาผู้ใดเปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ในปัจจุบันนี้แม้จะผ่านมากว่า 2,500 ปีแล้ว ก็ยังมีผู้คนที่ยังปฏิบัติตามแนวทางเช่นนี้อยู่

ผมได้เห็นผู้ที่มาเปิดโรงทานที่สนามหลวง มีคนมากมายหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป กลุ่มพนักงาน กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆจนถึงผู้ปฏิบัติธรรม ฯลฯ จะเห็นได้ว่าคนไทยนั้นยังไม่เสื่อมไปจากธรรม เพราะการให้ทาน คือองค์ประกอบหนึ่งของมรรคผล

เมื่อคนมีจิตเจริญขึ้น เขาจึงจะสามารถสละความตระหนี่ บริจาคทรัพย์สินและแรงงานให้กับผู้อื่นได้ หากคนเหล่านั้นยังมีความโลภที่มากอยู่ ความโลภก็จะไม่ปล่อยให้เขาทำทาน ไม่ให้เขาเสียสละ กิเลสกับธรรมะมันจะไปด้วยกันไม่ได้ หนำซ้ำโรงทานเล็กใหญ่ที่แจกกันตามท้องสนามหลวงตามที่ได้พบเห็นนั้น ก็เป็นทานที่ไม่ระบุผู้รับ เป็นทานที่ไม่มุ่งหวังผล ทานที่มีแต่ให้ มีแต่แจก เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์

ทานที่ให้เพื่อหวังว่าตนนั้นจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือความสุขกลับมา เป็นทานที่มิจฉา ในทางพุทธถือว่าทำไปแล้วเสียของ คือทำดีแล้วเทให้กิเลสหมด ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำของดีแล้วเทให้หมากิน” หมาในที่นี้คือกิเลส คือทำดีเท่าไหร่ก็เทให้กิเลสหมด หากทานนั้นยังเต็มไปด้วยความโลภ ทำทานด้วยความเห็นผิด ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้

ในทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อจิตเจริญสูงขึ้นหรือภาวนานั้นมีผลเป็นสัมมา คือถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ รอบของการปฏิบัติจะสูงขึ้นตาม จะให้ทานได้มากขึ้น ละเอียดขึ้น ล้ำลึกขึ้น เช่นเดียวกับการถือศีล ที่สามารถถือศีลที่ปฏิบัติได้ยากได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สบายขึ้น และจะเจริญไปเป็นรอบ ๆ เป็นการยกจิตทั้งหมด มิใช่ปฏิบัติธรรมไปแล้วขี้เหนียว ขี้งก หวงความสามารถ หวงความรู้ ศีลไม่มีหรือศีลขาดเป็นประจำ อันนี้แสดงว่าปฏิบัติไปแล้วไม่มีผล ปฏิบัติผิดทางหรือมิจฉามรรค

การที่คนมาเปิดโรงทานให้เห็นนั้น เป็นสิ่งที่แสดงความเจริญของจิตใจ ที่ยินดีสละ ยินดีให้ หวังจะเกื้อกูลให้ผู้รับได้เป็นสุข จากที่ผมสังเกต คนที่มาแจกนั้นถ้าไม่นับรวมกลุ่มกิจกรรมของธุรกิจใหญ่น้อยหรือกลุ่มมูลนิธิต่าง ๆ ก็เป็นชาวบ้านธรรมดา และสำนักปฏิบัติธรรมที่มาแจก ก็เป็นสำนักที่มุ่งไปจน พากันไปจน ไม่ได้มุ่งเน้นสะสมหรือร่ำรวยอะไร เป็นความมหัศจรรย์ ตรงที่ว่า บ้านเมืองเรามีคนรวยยิ่งกว่านี้มากมาย แต่กลับมีแต่คนจนที่มาทำโรงทาน มีคนจนมาแจกของให้คนรวยกิน นี่จึงแสดงให้เห็นว่า การทำทานนั้นไม่ได้จำเป็นต้องรวย แต่จำเป็นต้องมีจิตที่เสียสละแบ่งปัน แม้คนที่เขาไม่มีเงิน เขาก็มาทำทานได้ คือเอาแรงงานเป็นทาน ทำงานฟรีเพื่อคนอื่น มาเป็นจิตอาสา นี่ก็คือความเจริญที่เห็นได้เป็นรูปธรรม

ธรรมะนั้นไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาเหมาเอาว่าตนปฏิบัติถูกต้อง แล้วมันจะถูกต้องจริงอย่างที่คิด มันต้องมีตัววัดที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย เช่น ปฏิบัติธรรมไปแล้ว ทำทานได้หรือไม่  ถือศีลที่ยิ่งกว่าที่เคยถือได้หรือไม่ จิตใจเจริญหลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลงที่เคยมีอยู่เดิมได้หรือไม่

ในส่วนตัวผมเองคิดว่า การให้ทานนี่แหละเป็นเบื้องต้นที่จะวัดผลความเจริญของจิตใจ ว่าเข้าใกล้มรรคผลบ้างหรือยัง ถ้าปฏิบัติธรรมไปแล้ว ยังไม่ยินดีให้ทาน คนอื่นเขาร่วมเปิดโรงบุญโรงทาน พากันทำงานจิตอาสากัน แต่เรากลับไม่ขยับ แม้มีเหตุปัจจัยพร้อมแต่ก็ยังไม่ขยับ เรายังนิ่งเฉยั อันนี้แสดงว่ายังไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์ของการให้ทานนั้น จิตยังไม่เจริญไปถึงจุดนั้น คือจุดที่เห็นว่าควรให้ในเวลาที่ควรให้ กลับเห็นว่ายังไม่ควรให้ในเวลาที่ควรให้ ทั้ง ๆ ที่เหตุปัจจัยในปัจจุบันนี้ สถานการณ์นี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการประกาศธรรมะให้โลกรู้ว่า การเสียสละเป็นแบบนี้ ธรรมะยังเจริญอยู่ที่นี่ ยังมีคนที่ให้โดยไม่หวังสิ่งใดอยู่ที่นี่ คือประกาศธรรมให้โลกเห็นว่า ทานที่มีผลในการลดความตระหนี่ นั้นมีอยู่จริง หลักฐานก็คือสามารถสละทรัพย์สิน เวลา แรงงานออกมาทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นได้

การประกาศนี้ไม่ใช่เพื่อการอวดตัวอวดตน แต่ทำไปเพื่อแสดงธรรมะให้ผู้อื่นเห็นเป็นรูปธรรม ให้เขาได้รับรู้ ให้เขาได้มาสัมผัส (เอหิปัสสิโก) ให้เขาได้ทำใจในใจเข้าถึงสิ่งดี และร่วมกันมาทำสิ่งที่ดีเหล่านั้น เป็นการตามหาญาติ ตามหาลูกหลานพระพุทธเจ้าที่พลัดพรากจากกัน แล้วให้มาเชื่อมต่อกันด้วยธรรมะ ด้วยทาน ด้วยศีล ที่เสมอกัน

ซึ่งมันก็จะเป็นไปตามธรรมอีกเหมือนกัน ถ้าคนที่เจริญถึงขั้นที่เข้าใจว่าการให้ทานเป็นสิ่งที่ดี ที่สมควรทำ เขาก็จะใช้โอกาสนี้ร่วมกันให้ทานในรูปแบบที่เขาพึงกระทำได้ ส่วนคนที่ยังไม่มีปัญญาเข้าใจว่าทานนั้นดีอย่างไร สมควรให้ทานอย่างไร ก็จะไม่ร่วมกันทำสิ่งใด ๆ เลย จึงเกิดสภาพเหมือน “น้ำไหลไปหาน้ำ น้ำมันไหลไปหาน้ำมัน” คนดีจะเข้าไปรวมกับคนดี ส่วนคนที่ยังไม่ดีก็รวมกับคนที่ไม่ดีเหมือน ๆ กัน

อาจจะมีคนสงสัยว่าถ้าคนปล่อยวางล่ะ จะเรียกว่าอย่างไร? คำตอบคือ แม้พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ชื่นชมคนที่หยุดหรือพอใจอยู่แค่ความดี (กุศลกรรม) เท่าที่ตัวเองทำ ยิ่งถ้าพวกเสื่อมจากความดียิ่งไม่ต้องพูดถึง ท่านชื่นชมก็แต่ผู้ที่เจริญในความดี คือทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ให้ทานก็ให้ทานได้มากขึ้น มีศีลก็มากขึ้น ส่วนกิเลส คือความโลภ โกรธ หลงนี่ต้องขัดเกลามันออกไปให้ได้ยิ่งขึ้น

และตามโอวาทปาฏิโมกข์ มีระบุไว้ชัดว่าให้ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชี้ชัดด้วยตัวชี้วัดคืออริยะสาวกอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังให้ทานเป็นประจำ เมื่ออ้างอิงหลักฐานดังนี้ คนที่ไม่สนใจใยดี  ไม่ยินดีในทำความดีของตนเองและผู้อื่น ในโอกาสแห่งการทำทานอันยิ่งใหญ่นี้ ก็อาจจะไม่ใช่ผู้บรรลุธรรมก็ได้ อาจจะเป็นเพียงผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญาที่ไม่รู้ว่าการให้ทานในโอกาสพิเศษเช่นนี้มีผลอย่างไร เหมือนกับหมาตัวหนึ่งที่เดินไปเดินมาข้างสนามหลวง มันไม่รู้ว่าคนเขาทำอะไรกัน มันก็หากินไปวันวัน ตามเวรตามกรรมของมัน

1.12.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

July 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,619 views 0

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

คำว่า “Happy ending” มักจะเป็นคำที่เราได้เห็นในหนังในละครมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก เรื่องราวหลายเรื่องมักจะจบด้วยความสมหวังด้วยการครองคู่ เราได้จดจำสิ่งเหล่านั้นโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือสิ่งที่หลอกหลอนเรามาจนถึงทุกวันนี้

การแต่งงานกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในการมีชีวิต เป็นคุณค่า เป็นความสมบูรณ์ ตามที่โลกได้ปั้นแต่งเรื่องราวเอาไว้ และสื่อที่มีอิทธิพลมากกว่านิยาย ละคร ภาพยนตร์ เพลงรัก ก็คือผู้ที่หลงใหลมัวเมาในความสุขลวงเหล่านั้น

คนที่หลงเสพหลงสุขจะเติมพลังความอยากให้แก่กันและกัน ว่าการแต่งงานมีชีวิตคู่ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ สุขอย่างนั้นสุขแบบนี้ จะได้เสพรสแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นถูกมอมเมาด้วยความหลงผิด เพิ่มความอยากได้ อยากลอง อยากเสพ อยากสัมผัสประสบการณ์ที่เขาว่าดีว่าเลิศทั้งหลาย

แม้กระทั่งการแต่งงานครั้งหนึ่งก็ต้องมีการป่าวประกาศ แห่ขันหมากตีกลองโห่ร้อง จัดงานแต่งงานประดับประดาให้เป็นที่น่าสนใจ เชิญคนมากมายมาร่วมรับรู้เรื่องส่วนตัว ปั้นแต่งภาพให้สวยงามประดุจเจ้าชายเจ้าหญิง เป็นที่น่าจับตามอง เป็นที่น่าหลงใหล เป็นการกระตุ้นกิเลสให้คนอื่นอยากได้อยากมีตามไปด้วย แม้กระทั่งการดึงนักบวชเข้ามายุ่งเรื่องทางโลก ก็กลายเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาไปแล้วสำหรับยุคนี้

เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้น

หลายคนอาจจะรู้สึกโล่งใจที่ชีวิตได้เป็นฝั่งเป็นฝา ได้ไปถึงจุดหนึ่งที่ใครเขาบอกต่อๆกันมา ว่าจำเป็นสำหรับชีวิต เหมือนจะเป็นตอนจบของละครบทหนึ่ง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของละครบทใหม่

เรื่องราวในละครต่อจากที่ตอนพระเอกนางเอกได้ครองคู่กันแล้วมักจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ละครลวงโลกมักจะจบ happy ending กันตรงที่ได้รักกัน ได้แต่งงานกัน แล้วเหมือนทุกอย่างจะเป็นสุขตลอดกาล เหมือนว่าได้เสพสิ่งเหล่านั้นคือที่สุดของชีวิต แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเพียงแค่หลุดจากสภาพทุกข์แบบหนึ่งไปสู่ทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ผู้คนมากมายทนทุกข์จากความเหงา เดียวดาย ไร้คุณค่า อยากมีใครสักคนเป็นที่พึ่ง คอยดูแลเกื้อกูล คอยพูดคุยเอาใจ ให้ความรัก ให้ความสำคัญ เมื่อไม่มีใครคนนั้นก็ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในนรกของคนโสดที่โหยหาความรักความเอาใจใส่ ไม่สามารถดำรงอยู่ผู้เดียวได้ ไม่สามารถทำใจให้เป็นโสดอย่างแท้จริงได้

เมื่อมีใครสักคนที่ถูกใจเข้ามาในชีวิต ก็เหมือนกับการปล่อยทิ้งปมทุกข์ที่เคยแบกรับไว้ ไม่ต้องเหงา ไม่ต้องเดียวดาย ไม่ต้องหาวิธีแก้ความเหงา ไม่ต้องคิดหาวิธีพึ่งตนเองอีกต่อไป ทิ้งเงื่อนปมแห่งทุกข์อันเก่าไว้ แล้วหันมาผูกปมใหม่ที่เรียกว่าคู่รัก

ในตอนแรกรักนั้นก็มักจะมีความสุขกับการผูกปมความรัก ยิ่งได้รัก ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งรู้จักรู้ใจ ดูแลเอาใจใส เป็นคนสนิทกันมากเท่าไหร่ ปมแห่งความสัมพันธ์ก็จะยิ่งพันแน่นและซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งคบหาดูใจ ความสัมพันธ์ก็ยิ่งแนบแน่นขึ้นไปอีก เหมือนปมเงื่อนที่ทบกันไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น จนถึงวันที่แต่งงาน เป็นวันที่ปมเหล่านั้นได้ถูกทาเคลือบไว้ด้วยยางเหนียว ย้ำลงไปอีกว่าจะไม่คลายความสัมพันธ์นี้ พัฒนาต่อไปจนมีลูกมีหลาน เหมือนกับมีโซ่เหล็กมาคล้อง ล็อกความสัมพันธ์นั้นให้ยิ่งแน่นหนาขึ้นไปอีก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ในความเป็นจริง นรกได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ความอยากได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มันค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ โดยไม่ให้เรารู้ตัว มันมาในภาพของความสุข เพื่อที่จะหลอกให้เราได้หลงเสพหลงสุขและวนเวียนอยู่ในโลกแห่งตัณหานี้ตลอดไป

ความเหงาเปลี่ยนคนโสดให้เป็นคนคู่ แต่ความทุกข์นั้นไม่ได้หมดไป มันแค่เพียงเปลี่ยนรูปแบบ เหมือนกับการทิ้งปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง ในตอนแรกเราก็จะเห็นเหมือนกับว่าเราหนีทุกข์ไปหาสุข แต่ความจริงแล้วเราหนีจากทุกข์น้อยไปหาทุกข์มาก

กิเลสนั้นย่อมล่อลวงเราให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเป็นเรื่องน่าใคร่น่าเสพ เห็นสิ่งลวงเป็นของที่ควรมีควรได้เห็นความทุกข์เป็นความสุข มันกลับหัวกลับหางกับความจริงทุกประการ

คนโดยส่วนมากในปัจจุบันก็ไม่มีใครยอมรับว่ากิเลสนั้นเป็นผู้ร้าย ไม่เห็นความอยากได้อยากเสพเป็นศัตรู เขามักจะมองเห็นว่าการได้เสพเป็นสุข การไม่ได้เสพเป็นทุกข์ ผู้ที่ไม่หามาเสพคือผู้ที่ทรมานตน ผู้ที่หามาเสพคือผู้ที่ทำชีวิตตนให้เป็นสุข จะมีความเห็นความเข้าใจในลักษณะที่กอดคอเดินไปกับกิเลส เห็นดีกับกิเลส เห็นต่างจากธรรมะ

แล้วทีนี้ความสุขที่ได้รับจากกิเลสนี่มันเป็นความสุขลวงทั้งหมด ที่ดูเหมือนสุขมันเกิดเพราะมีกิเลสมาก ถ้าไม่ได้เสพตามใจกิเลส มันก็จะตีให้เป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ให้กับเรา พอได้เสพมันก็ไม่ทุกข์จากกิเลส มันก็เลยเป็นสภาพสุขดังที่เห็น และสุขนั้นก็เป็นสุขลวงอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่ตามใจกิเลส มันก็จะไม่เกิดสุข ต้องให้อาหารกิเลสไปเรื่อยๆเพื่อจะเสพสุข ซึ่งสุขนั้นไม่เที่ยง มันเสื่อมสลาย และแท้ที่จริงแล้วมันไม่มีอยู่จริง

ถ้าสามารถล้างกิเลสได้จริงจะค้นพบเลยว่ารสสุขในการมีคู่นั้นไม่มีเลย การดูแลเอาใจใส่ มีคนเกื้อกูล หยอกล้อรักใคร่หรือกิจกรรมของความเป็นคู่รักทั้งหลายมันไม่มีสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ที่มันเกิดสุขเหล่านั้นเพราะพลังของกิเลสมันลวง มันพาให้หลงว่าการได้เสพแล้วความทุกข์ลดลงนั้นเป็นความสุข ให้หลงเข้าใจว่านั่นคือสุขแท้ในชีวิต ให้คนไขว่คว้าหาสุขลวงเหล่านั้น

ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ “Happy ending” อย่างแน่นอน เพราะเหมือนกับคนที่ลอยคออยู่กลางทะเล ทิ้งห่วงยางเพื่อที่จะไปเกาะเรือแห่งความหวัง โดยที่หารู้ไม่ว่า เรือลำนั้นเป็นของลวง เป็นสิ่งไม่จริง ไม่ยั่งยืน รอวันที่จะผุพังและจมหายไป และมีทิศทางพาให้ลอยห่างฝั่งออกไปอีก หันหัวเรือไปทางโลก หันหลังให้ทางธรรม ยิ่งพึ่งพาเรือไปไกลเท่าไหร่ก็จะยิ่งใกล้นรกมากเท่านั้น

เรื่องราวของชีวิตนั้นไม่เหมือนในละคร มันไม่ได้ถูกตัดจบทันทีที่สมหวัง แต่มันจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การไม่ทุกข์ในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทุกข์ในวันหน้า วันใดวันหนึ่งที่กุศลกรรมหมดรอบ ก็จะเป็นวันที่วิบากบาปได้ซัดเข้ามาในชีวิตเหมือนพายุที่ก่อตัวรออยู่ข้างหน้า

เรือลำน้อยที่เกาะไว้ค่อยๆผุพังไปเรื่อยๆ ในขณะที่คลื่นแห่งอกุศลกรรมจะซัดกระหน่ำเข้ามาอย่างไม่ลดละ แรงเท่าที่เราได้เคยทำกรรมเหล่านั้นไว้ กรรมที่เคยไปหลอกลวงใครว่าการมีคู่เป็นสุข การแต่งงานเป็นสุข การผูกพัน ผูกภพผูกชาติเป็นสุข ผลกรรมแห่งการมอมเมาผู้อื่นด้วยความหลงผิดจนกระทั่งกลายเป็นแรงผลักดันให้คนอื่นอยากได้อยากเสพ จะกลับมาเล่นงานให้เราได้เรียนรู้ทุกข์จนสาสมใจในวันใดวันหนึ่ง ไม่ชาตินี้ ก็ชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

20.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)