ความเห็นความเข้าใจ

คิดบวก จนลวงความจริง

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,314 views 0

คิดบวก จนลวงความจริง

คิดบวก จนลวงความจริง

วิธีแก้ปัญหาในชีวิตยอดนิยมวิธีหนึ่งที่ใช้กันในสังคมก็คือ “การคิดบวก” คือการพยายามทำความเห็นให้ไปในแนวทางที่ดี เพื่อที่ตนเองนั้นจะได้ไม่ต้องรู้สึกทุกข์จากความคิดติดลบเหล่านั้น

การคิดบวกเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กันมากในการบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกและการพัฒนาจิตใจในปัจจุบัน มีผลมากกับจิตใจที่อยู่ในภาวะตกต่ำเซื่องซึม เป็นการดึงจิตให้ขึ้นมาจากภวังค์โดยการผลักให้ไปอยู่ในจุดที่สูงสุด ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คืออยู่ในสภาพที่ดีเกินกว่าความเป็นจริง อยู่ในสภาพที่สวยงามที่สุด เพื่อให้จิตใจได้เสพสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์นั้นๆ

ผลของการคิดบวกนั้นออกมาค่อนข้างดูดี คือสามารถกลายเป็นคนคิดบวก มองโลกสวยงาม ไม่ติดลบ คิดไปในทางที่ดีเสมอๆ ไม่จมอยู่กับทุกข์ ดูเผินๆก็จะเห็นและเข้าใจว่าดี แต่ในความจริงแล้วการคิดบวกนั้นยังซ่อนภัยร้ายอันน่ากลัวไว้อยู่ด้วย

ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้เราคิดบวก ไม่เคยสอนให้เราสะกดจิตตัวเอง ว่าฉันดี ฉันเก่ง ฉันทำได้ เขาไม่ได้คิดไม่ดีกับฉัน เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายฉัน ฯลฯ แต่สอนให้มองความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีการคิดบวกหรือคิดลบใดๆทั้งนั้น มีเพียงแค่ความจริงตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่การคาดเดาอนาคต และไม่ใช่การยึดมั่นถือมั่นในอดีต

ในปัจจุบันเรามีข้อความ ข้อคิด คำคมที่เสริมพลังในการคิดบวกมากมาย เช่น ชั่ว 7 ที ดี 7 หน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้ไม่เป็นไปตามความจริง เหมือนคำปลอบคนที่กำลังท้อแท้เท่านั้น เพราะในความจริงแล้ว ชั่วมันก็มาเท่าที่เราเคยทำกรรมไว้ เช่นเดียวกันกับดี ถ้าทำมามาก มันก็จะมามาก ไม่จำเป็นต้องสลับกันมา แต่จะมาตามกรรมของเรา ดังนั้นคนที่คิดบวกเช่นนี้ก็จะเกิดอาการอกหักเมื่อเจอกับสภาพที่มีแต่ชั่วอย่างเดียวไม่มีดีเกิดขึ้นเลย คือตอนแรกก็พอจะคิดบวกได้อยู่แต่พอทุกข์มันกระหน่ำเข้ามามากๆก็จะเกิดอาการท้อใจ เช่นคนที่ชีวิตผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนฆ่าตัวตาย นั่นเพราะเขาเจอแต่ชั่วเข้ามาในชีวิตจากผลของการกระทำของเขานั่นเอง

บางครั้งการคิดบวกนั้นอาจจะทำให้เกิดสภาพที่ตีกลับจากขาดเป็นเกินก็ได้ เช่นคนมีปมด้อย พอไปศึกษาการคิดบวกมากๆก็ตีกลับ กลายเป็นว่าเอาปมด้อยของตัวเองมาเป็นปมเด่น สุดท้ายก็ติดสุขในปมด้อยและเด่นที่จิตของตัวเองปั้นขึ้นมาอีก กลายเป็นว่าสร้างอัตตาขึ้นมาพันอีกชั้นหนึ่ง ห่างไกลความจริงตามความเป็นจริงเข้าไปอีก ซึ่งจริงๆแล้วการแก้ไขปมด้อยก็คือการแก้ไขจิตที่เป็นทุกข์เพราะปมด้อยนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริง แต่ไม่จำเป็นต้องผลักปมด้อยให้เป็นปมเด่นแต่อย่างใด

การคิดบวกว่าทำดีมากๆ ช่วยคนมากๆ ทำทานมากๆ แล้วจะพ้นทุกข์นั้นก็เช่นกัน คนดีที่คิดบวกมักจะเข้าใจเช่นนี้ แต่ความจริงผลของกรรมก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตามใจเช่นนั้น เราจะได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ ไม่ได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ คือทำดีไปแล้วจะได้รับผลแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าตอนไหน ที่นี้คนที่คิดบวกทำดีเพื่อหวังผล มักจะมีจิตโลภซ้อนอยู่ตรงที่ว่าถ้าฉันทำดีมากพอฉันก็จะพ้นทุกข์ไปได้ ซึ่งความจริงมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ใครจะรู้ว่าเราทำกรรมชั่วมาเท่าไหร่ แล้วดีที่ทำไปมันอาจจะไม่มากพอจะมาขั้นให้ชั่วนั้นหยุดหรือพักการส่งผลก็ได้และสุดท้ายคนที่ทำดีเพราะคิดบวกก็จะอกหัก

หรือการคิดบวกว่า ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดีกับเขาแล้ว เขาจะต้องดีตอบเราในวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน เราทำดีจะต้องได้รับผลดี หรือถ้าเราทำผิดแล้วเราทำดีมากๆ เขาก็จะให้อภัย ข้อนี้เหมือนจะดี เหมือนจะถูกตรง แต่ยังมีความเอนเอียงเข้าข้างตนเองอยู่

ในความเป็นจริงแล้ว ถึงเราจะคิดดี พูดดี ทำดีกับใคร ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องดีตอบ ถึงเราจะทำดีทั้งชาติ เขาก็อาจจะไม่ได้ทำดีอะไรตอบแทนเราเลยก็ได้ หรือเขาจะหันมาทำชั่วใส่เรา ทำร้ายเราก็เป็นไปได้ นั่นเพราะกรรมที่เราทำมามันหนักหนามากกว่าดีที่เราทำในชาตินี้ ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้ากับพระเทวทัต มีการจองเวรจองกรรมกันมานับชาติไม่ได้ กว่าจะมาซึ้งในรสพระธรรมก็ตอนชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนหน้านั้นท่านทำดีเท่าไหร่ก็ยังโดนทำร้าย นั่นก็เกิดจากกรรมที่ท่านทำมา

ทีนี้คนที่พยายามคิดบวก แต่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็จะคิดดี พูดดี ทำดีแบบหวังผล ไม่รอคอย ไม่ให้อภัย คิดว่าทำดีไปมากๆ แล้วมันก็จะต้องเกิดผลดี แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำเท่าไหร่มันก็ไม่ดี แถมอาจจะยิ่งแย่ขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนคิดบวกอกหักอีกเช่นเคย

ในความจริงนั้น ดีที่ทำไปแล้วก็เป็นกุศลกรรมที่ได้สั่งสมลงไปแล้ว ส่วนผลดีจะเกิดขึ้นแบบไหนเมื่อไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่ควรคิด แต่ควรทำความเข้าใจว่ามูลเหตุของการเกิดสิ่งดีและร้ายในชีวิตนั้นเกิดจากอะไร ก็จะมีแต่เรื่องกรรมเท่านั้นที่ส่งผลให้เราได้รับดีและร้ายนั้นในปัจจุบัน ถ้าเราหยุดทำสิ่งที่ร้าย หันมาทำดี ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตก็จะมีแนวโน้มที่จะเจอสิ่งดีมากขึ้น

ทั้งนี้การคิดบวกก็ยังไม่ใช่แนวทางที่สมควรอยู่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม แต่ควรจะคิดเห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาหรือประสบทุกข์ การแก้ปัญหาที่ดีจึงไม่ใช่การคิดบวกหรือการมองโลกให้สวย แต่เป็นการมองให้เห็นความจริงของปัญหาว่าทุกข์จากอะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร จะต้องดับเหตุอะไรบ้างทุกข์จึงดับ แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ทุกข์นั้นดับไป นี่คือสิ่งที่สมควรเรียนรู้ ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดลบหรือคิดบวกอะไรทั้งนั้น

ถึงแม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ การคิดบวกจึงเหมือนยารสหวานที่จำเป็นต้องใช้กับเด็ก แม้จะมีโทษภัยอยู่แต่ก็พอจะแก้ปัญหาไปได้บ้าง แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่จิตใจเข้มแข็งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยารสหวานแบบเด็กอีกต่อไป ควรจะหันมากินยาขม มาศึกษาความจริงตามความเป็นจริง มาศึกษาการแก้ปัญหาให้แจ่มแจ้ง ให้ลึกถึงต้นเหตุ เพื่อที่ปัญหาเหล่านั้นจะได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

December 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,701 views 0

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

            คำว่าปล่อยวางนั้นมักจะเป็นคำที่นิยมใช้เมื่อชีวิตเจอกับอุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แค่ปล่อยวางเท่านั้น การปล่อยวางตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นสมมุติที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคม แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีมิติหนึ่งที่ล้ำลึกกว่า

การปล่อยวางในทางธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตไปเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นการปล่อยวางกิเลสตัณหาตั้งแต่ปัญหาเหล่านั้นยังไม่มาถึงโดยใช้ศีลเป็นเครื่องกั้นให้เห็นอุปสรรค แล้วปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อที่จะปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อถือศีล

การที่เราจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรายึดมั่นถือมั่นในอะไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองถืออะไรไว้ ก็จะไม่สามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสนั้นเป็นเหมือนยางเหนียวติดแน่นไปกับจิตใจเรา มองดูเผินๆก็จะเป็นเหมือนตัวเราของเรา เหมือนเปลือกที่ห่อหุ้มเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรา

ถ้าเราไม่รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ การปล่อยวางนั้นก็คงจะเป็นได้แค่ วาทกรรมที่ดูดีเท่านั้น เพราะกิเลสตัวเองยังไม่มีปัญญาเห็นแล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

ดังนั้นถ้าจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง อันดับแรกต้องรู้ไปถึงเหตุก่อนว่าถืออะไรไว้ ไอ้ที่ไปหลงสุขหลงเสพมันไปหลงตรงไหน ติดอะไร เพราะอะไร สุขยังไง เมื่อเห็นเหตุแล้วก็ค่อยทำความจริงให้แจ่มแจ้งท่ามกลางความลวงของกิเลส ให้มันพ้นสงสัยกันไปเลยว่าที่เราไปหลงสุขอยู่นั้นมันลวง ความจริงคือมันไม่มีสุขเลย

เมื่อเห็นจริงได้ดังนั้น สุดท้ายเราก็จะปล่อยจะคลายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาความฉลาดของกิเลสที่ไหนไปยึดสุขลวงเหล่านั้นไว้อีก กลายเป็นสภาพปล่อยวางเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสนั้น เป็นการปล่อยวางอย่างพุทธ ไม่ใช่การปล่อยวางที่ปากแต่ยังหนักใจแบบที่ประพฤติและปฏิบัติกันโดยทั่วไป

– – – – – – – – – – – – – – –

17.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,815 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศรัทธา

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,540 views 1

ศรัทธา

ศรัทธา

คนไม่มีศรัทธา พาตัวเองออกจากศาสนา

คนศรัทธาน้อย พาเงินเข้าวัด

คนศรัทธาดี พาธรรมเข้าสังคม

คนศรัทธามาก พากิเลสออกจากตน

คนศรัทธาเต็ม ชี้ทางนำกิเลสออกจากผองชน

. . . . . . . . . . . . . . . . . .

คนไม่มีศรัทธาจะไม่พาตัวเองเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และจะมีทิศทางที่จะห่างออกไปจากศาสนา ห่างออกไปจากศีลธรรม มักจะมีชุดความเชื่อของตนเอง ศีลธรรมของตนเอง ยึดตนเองเป็นที่ตั้งแห่งการตัดสินใจ

คนศรัทธาน้อยจะพาเอาลาภสักการะเข้าสู่ศาสนา มีเงินก็บริจาคเงิน มีที่ก็บริจาคที่ พาตัวเองเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งหากขาดปัญญาแล้ว ศรัทธานั้นมักจะเป็นภัยแก่ตน คือไปศรัทธาอลัชชีผู้มักมาก หลอกล่อเอาลาภสักการะเข้าสู่ตน หลอกให้บริจาคทรัพย์ เวลา แรงงาน กระทั่งชีวิตให้แก่ตน

คนศรัทธาดีพอได้ศึกษาธรรมะบ้างแล้ว ก็จะมีความอยากเผยแพร่สิ่งดีๆให้กับคนอื่น ในขั้นหยาบๆมักมาในรูปของการเชิญชวนให้ทำทาน หรือให้ไปศรัทธาในอาจารย์ที่ตนนับถือ ในแบบทั่วๆไปก็คือการแจกจ่ายข้อมูลธรรมะ ตามคำบอกเล่า ตามหลักฐาน ตามที่มีที่อ้างต่างๆ มักจะเป็นธรรมะที่จำมา ซึ่งมักจะหลงผิดว่าเป็นการแจกจ่ายธรรมทาน ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่สื่อเท่านั้น ธรรมทานจะให้ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเหล่านั้นในตนจริงๆ หากผู้ใดไม่มีธรรมนั้นในตนจริงแล้วเอามาแจกจ่าย ก็เป็นเพียงผู้ที่มีส่วนช่วยในการจำและกระจายข้อมูลเท่านั้น

คนศรัทธามากจะเข้ามาปฏิบัติที่ตนอย่างจริงจัง คือแสวงหาหนทางที่จะพาตนเองให้พ้นไปจากทุกข์ให้ได้ ซึ่งความศรัทธามากนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติที่ศรัทธาอยู่นั้นถูกต้องหรือผิดทาง ถ้าผิดทางศรัทธาที่มากนั้นก็จะพาไปเข้ารกเข้าพงเข้าป่าหลงทางกันไป แต่ถ้าถูกทางก็จะสามารถทำลายกิเลสที่ตนเองหลงติดหลงยึดโดยลำดับจนสามารถเปลี่ยนอธรรมในตนให้เป็นธรรมะได้ จึงเรียกว่าเป็นผู้สร้างธรรมะให้มีในตนได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถเป็นผู้แจกจ่ายธรรมทานนั้นๆ เท่าที่ตัวเองปฏิบัติมาได้โดยไม่ผิดสัจจะ

คนศรัทธาเต็มจะมีความเห็นว่ากิเลสนั้นเป็นสิ่งชั่วจึงล้างกิเลสออกจากตนจนสิ้นเกลี้ยง ทั้งยังชักชวนให้ผู้อื่นออกจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น รวมทั้งยังกล่าวสรรเสริญคุณในกิจกรรมการงานใดๆก็ตามที่พาให้ลดกิเลส ลดการเบียดเบียน ซึ่งผู้ที่มีคุณดังนี้ก็จะสามารถชี้ทางให้คนอื่นออกจากกิเลสได้ เพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนในคุณธรรมอันสมควรก่อน จึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลัง จักไม่มัวหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)