Tag: พอเพียง

ปลูกข้าว (update)

January 8, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,550 views 0

ปลูกข้าว (update)

ปลูกข้าว (update)

หลังจากได้ข้าว “พอเพียง” มาแล้ว ผมก็ปลูกเลยครับ ปลูกครั้งแรกก็เจ๊งเลยครับ . . .

เนื่องจากรีบเอาไปลงกระถางมากไปหน่อย เมล็ดยังไม่ทันงอก แถมรดน้ำจนน้ำท่วม (กระถางก้นตัน) ก็เลยเสียไปตามระเบียบ

หลังจากนั้นได้คุยกับเพื่อนเรื่องวิธีเพาะนี่แหละ ก็เลยได้เริ่มใหม่อีกที คราวนี้แบบประคบประหงมเลย เพาะในถ้วยใส่กระดาษทิชชู่ ซึ่งมันก็งอกน่ะนะ ก็รดน้ำเลี้ยงไปเรื่อย ๆ จนมันโตระดับหนึ่งก็ย้ายไปปลูกในกระถางก้นตันแล้วหล่อน้ำเลี้ยงเหมือนเดิม

วิธีที่ทำตอนแรกนี่ก็ถือว่ารีบเกินไป ใส่ใจน้อยเกินไป มันก็เลยไม่ได้โต มันก็ไม่ดี ส่วนวิธีที่สองนี่ก็ประคบประหงมเกินไป ใส่ใจมากไป มันก็โตช้า ไม่พอดี

ก็เหมือนกับการทำความดีนั่นแหละ เราก็ต้องหัดเรียนรู้ไป ขาดบ้าง เกินบ้าง ก็เรียนรู้จากความผิดพลาดที่ทำลงไป มันจะพอดีเลยไม่มีหรอก ถึงจะทำแบบสูตรสำเร็จได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี คือผลน่ะมันอาจจะดี แต่ถ้าไม่รู้ว่าเหตุต่าง ๆ เกิดเพราะอะไรมันก็ไม่ดี (สีลัพพตุปาทาน)

การทำความดีนั้นไม่มีสูตรสำเร็จว่าตรงไหนจะเป็นดีแท้ ดีของคนหนึ่งอาจจะไม่ใช่ดีที่สุดของอีกคนหนึ่งก็ได้ นั่นเพราะคนเราเกิดมามีฐานะ(บารมีที่สั่งสมมา) ต่างกัน การเรียนรู้จึงต้องต่างกันไปตามฐาน จะให้เด็กอนุบาลไปเรียนอย่างมหาลัยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ถามว่าความรู้ระดับมหาลัยมันดีไหม มันก็ดี และละเอียดลึกซึ้งกว่าด้วย แต่มันไม่เหมาะกับเด็กอนุบาลไง…

ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ การเรียนหรือธรรมะมันก็คล้าย ๆ กัน คือลองผิดลองถูกไปตามลำดับโดยมีผู้ที่ทำสำเร็จเป็น role model (บุคคลต้นแบบ) เอาไว้ Benchmark (เปรียบเทียบวัดผล) และศึกษาเรียนรู้

คือจะไปทำตามเลยเนี่ยมันทำไม่ได้หรอก มันไม่มีทางลัด ไม่ใช่ว่าพูดได้เหมือนครูบาอาจารย์แล้วมันจะทำได้เหมือนกันนะ ดังที่มีคำเปรียบว่าแม้ลา จะเดินตามฝูงวัวแล้วร้อง มอมอ มันก็ไม่เป็นวัวขึ้นมาได้หรอก

คนที่ปลูกข้าวแบบสูตรสำเร็จได้ เขาก็ได้ข้าว แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะรู้ว่า กว่าจะมาเป็นสูตรสำเร็จได้นั้น ต้องผิดพลาดอะไรมาบ้าง คล้าย ๆ กับคนปฏิบัติธรรมที่อ้างว่ามีผล แต่มรรคไม่มีปรากฏเลย หรือถึงจะมีมรรคก็มิจฉามรรค แบบนี้ก็มีเหมือนกัน …

เอานะ… ก็ออกนอกเรื่องกันมาเสียตั้งไกล เอาเป็นว่า ถ้าอยากเก็บเมล็ดข้าวไว้ให้ได้นานที่สุด ก็ขยันปลูกก็แล้วกัน นอกจากไม่เสียแล้วยังเพิ่มจำนวน ไปแบ่งคนอื่นได้อีก ก็ศึกษาเรียนรู้ก็ไป ได้แค่นี้ก็เรียนรู้แค่นี้ เดี๋ยวต่อไปก็คงจะเจอปัญหาอีกมาก ก็ดูดูกันต่อไป

พอเพียง

November 4, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,268 views 0

พอเพียง

พอเพียง

เมื่อเราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ โดยมากแล้วเราก็มักจะเก็บมันไว้บนที่สูง เก็บไว้บนหิ้ง คือรับรู้และยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มักจะไม่ได้เอามาทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร แม้จะมีศรัทธาแต่ก็ยังคงเป็นพลังศรัทธาที่อ่อนแอ

…เมล็ดข้าวนี้ ถ้าเราเอามากอดเก็บไว้บูชา ประโยชน์ก็จะเกิดประมาณหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราเอาเมล็ดข้าวนี้ไปปลูก สักวันหนึ่งเราก็จะได้เมล็ดข้าวอีกมากมาย สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นได้

เช่นเดียวกันกับการที่เราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ ถ้าเรานำมาศึกษาเรียนรู้ เพียรพยายามปฏิบัติตาม สักวันหนึ่งเราก็จะเกิดผลนั้นในตนเอง เป็นเอง มีเอง สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้อีกมากมาย

ปลูกข้าวก็สามารถแบ่งปันเมล็ดข้าวได้ ทำตนให้เป็นคนดีก็สามารถแบ่งปันสิ่งดีได้ ศึกษาเพื่อให้เกิดธรรมะในตนก็จะสามารถแบ่งปันธรรมะได้เช่นกัน ผู้ที่สามารถปฏิบัติตนตามสิ่งดี ตามตัวอย่างที่ดี ตามคำสอนที่ดีจนเกิดผลในตนได้จริง จะต้องมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งมั่น ยืนหยัด มั่นคง แข็งแกร่ง ไม่หวั่นไหว

…..

ผมได้เมล็ดพันธุ์แห่งความ “ พอเพียง ” นี้มา และเริ่มปลูกในวันนี้ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกวันนี้ ย่อมจะโตได้ไวที่สุดเท่าที่มันจะเจริญเติบโตได้ แต่ถ้าหากเราปล่อยเมล็ดพันธุ์ทิ้งไว้ มันก็จะเสื่อมไปตามกาลเวลา เหมือนกับความดีงาม หากเราไม่พยายามทำ  จิตใจของเราก็จะเสื่อมและต่ำลงไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะงอก, มันจะรอด, มันจะโต, มันจะสมบูรณ์จนสามารถออกรวงให้เก็บเกี่ยวผลได้หรือไม่ แต่เมล็ดพันธุ์ที่ได้มานั้นมีมากมาย เหมือนกับสิ่งดีงาม ตัวอย่างที่ดีงาม คำสอนที่ดีงามต่าง ๆ นั้นมีมากมาย แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามบางเรื่อง แต่ก็มีหลากหลายเรื่อง หลากหลายมุม ให้เราได้ยึดถือและฝึกปฏิบัติตามสิ่งที่ดีงามเหล่านั้น

การปลูกข้าวก็เช่นกัน มันอาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่ผมก็จะพากเพียรพยายามศึกษาเรียนรู้ แม้จะปลูกไม่ขึ้น ไม่เห็นผล ก็จะพยายามปลูกไปเรื่อย ๆ  เพราะรู้ดีว่า ผลของการปลูกสำเร็จนั้น เป็นสิ่งดีที่ควรให้เกิดขึ้น ปลูกข้าวได้ ก็ได้กินอิ่ม ได้แบ่งปัน ปลูกความดีงามในใจตน ก็ได้สุขเหนือสุข และสามารถแบ่งปันสุขนั้นให้กับโลกนี้ได้ด้วย

ที่ ๆ ดีที่สุดของเมล็ดข้าวคือดิน ที่ ๆ ดีที่สุดของความดีงามคือในจิตใจของตนเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,344 views 0

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย คือชีวิตที่กินใช้อย่างประหยัด พอเพียง ไม่นำสิ่งของหรือส่วนเกินใดๆ ที่ไม่จำเป็น เข้ามาเปลืองพื้นที่ในชีวิต เช่นเดียวกันกับชีวิตที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มันช่างเรียบง่าย ประหยัด และยาวนาน

ผมได้ลองใช้ชีวิตอยู่บ้านต่างจังหวัด บ้านของผมอยู่ห่างจากบ้านอื่นๆ ราวสองร้อยเมตร ห่างจากชุมชนใกล้เคียงประมาณหนึ่งกิโลเมตร ที่บ้านยังไม่ได้นำไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้ามา มีเพียงไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแผงโซล่าเซลล์ให้พอใช้สูบน้ำ,เปิดไฟ,ชาร์จโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าจะได้ใช้ทีวี ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ ในชีวิตประจำวันก็ลืมไปได้เลย

เมื่อผมได้มาทดลองอยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย จึงมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ในการหาสิ่งใดๆก็ตามมาปรนเปรอกิเลส

เนื้อสัตว์ก็เป็นวัตถุอีกชนิดที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนมาก ถึงขนาดว่าขาดกันไม่ได้ เป็นคุณค่า เป็นชีวิตจิตใจสำหรับใครหลายคนกันเลยทีเดียว แต่สำหรับผม เนื้อสัตว์ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิต เป็นเพียงวัตถุแท่งก้อนอ่อนนุ่มที่หากกินเข้าไปแล้ว ย่อยยาก เป็นโทษ เป็นเหตุแห่งโรค สร้างกลิ่นตัว ราคาแพง เน่าเสียง่าย เก็บรักษายาก และอีกหลายๆ ข้อเสียของเนื้อสัตว์เมื่อเทียบกับพืชผัก แม้มันจะทำให้อิ่มท้องและสร้างพลังงานได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกพลังงานจากแหล่งเหล่านั้น ในเมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์มากกว่าขายกันอยู่ทั่วไป

หากว่าผมยังหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ผมจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ได้ เรื่องแรกคือการจัดเก็บเนื้อสัตว์ มันไม่สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้ เพราะจะทำให้เน่าเสียและมีสัตว์อื่นมากินได้ง่าย ต่างกับผักที่ซื้อมาวางไว้เป็นอาทิตย์ยังคงสภาพเดิมได้ดีอยู่ เช่น ฟักทอง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือยาว หอมใหญ่ มันต่างๆ ฯลฯ ถ้าต้องการเสพเนื้อสัตว์เป็นประจำ นั่นหมายถึงต้องมีตู้เย็นหรือสร้างที่เก็บกักความเย็นเพิ่มให้มันวุ่นวายมากกว่าการเก็บผัก นี่คือเริ่มจะฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลืองแล้ว

เรื่องที่สองคือหากไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บ เลือกที่จะออกไปซื้อเนื้อสัตว์ทุกวัน ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายและการเสียพลังงานที่ไม่จำเป็นอยู่ดี เพราะเมื่อเทียบกับผัก ผมสามารถออกไปซื้อผักมาครั้งเดียวอยู่ได้เกือบครึ่งเดือน อย่างต่ำๆก็ หนึ่งสัปดาห์

เรื่องที่สามคือค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งมื้อนั้น เนื้อสัตว์ยังไงก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าผัก และเมื่อเทียบมวลต่อน้ำหนัก หนึ่งกิโลกรัมของเนื้อสัตว์นั้นจะได้น้อยกว่ามวลของผัก คือซื้อผักหนึ่งกิโลกรัมจะดูได้เยอะกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปอีกว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์หนึ่งกิโลกรัมต้องใช้อาหารสัตว์มากมายเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่างจากผัก คือผักหนึ่งกิโลกรัม ก็มีอย่างมากแค่ปุ๋ยกับน้ำเท่านั้น เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ น้ำก็ต้องกิน พืชผักสัตว์ก็ต้องกิน อาหารเสริมสัตว์ก็ต้องกิน ไหนจะกระบวนการฆ่า ชำแหละอีก มีขั้นตอนยุ่งยากกันมากเลยทีเดียว ผักนี่เก็บมาเอารากล้างน้ำสลัดดินออกเขาก็เอามาขายกันแล้ว

เรื่องที่สี่คือเนื้อสัตว์ ผลิตเองไม่ได้ ถึงจะเลี้ยงเองแต่ชาวพุทธเขาก็จะไม่ฆ่าสัตว์กัน ไม่จ้างวานผู้อื่นฆ่าด้วย และไม่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นหากรับรู้ว่าผู้อื่นฆ่ามาด้วย ดังนั้นแม้จะเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เนื้อสัตว์เป็นผลผลิตทันทีเมื่อใจอยากเสพ คงจะต้องรอให้ฟ้าผ่ามันตาย หรือมันเดินไปโดนรถชนตายเอง หรืออะไรที่ทำให้มันตายของมันเองเท่านั้นถึงจะกินมันได้ , ต่างจากผักที่สามารถปลูกเองได้ โตเมื่อไหร่ก็กินได้ คิดอะไรไม่ออกก็ปลูกผักบุ้ง ปลูกง่ายโตไว และหากมีเวลาก็ปลูกธัญพืช และปลูกข้าวไว้กินเองได้ ผักหลายชนิดยิ่งตัดก็ยิ่งงอกออกมา บ้างก็ปักชำใหม่ได้ บางชนิดเก็บเกี่ยวแล้วก็หว่านใหม่ ได้ผลผลิตไม่จบไม่สิ้น

ถ้าชาวพุทธอยากกินเนื้อสัตว์ก็คงต้องเลี้ยงกันหลายร้อยตัว จะได้มีสัตว์ตายไปตามกรรมบ้างบางเวลา จะได้รอเสพโดยไม่ต้องให้ใครฆ่าเขามากิน แต่พอนึกถึงภาพนั้นก็ดูลำบากยุ่งยากขึ้นมาทันที

เมื่อผมพิจารณาด้วยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การที่เรายังต้องการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นจะสร้างความลำบากยุ่งยากให้กับชีวิตอย่างมาก ต้องมีสิ่งต่างๆมาเพิ่มเติมมากกว่าชีวิตที่กินผักเป็นหลัก อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็อยู่ได้สบายโดยไม่ต้องลากสายไฟเข้ามาให้เสียเงินเสียทองผมจึงยังไม่เห็นเลยว่าอะไรที่จะทำให้ชีวิตมันง่ายไปมากกว่าการที่เราไม่ต้องหาเนื้อสัตว์มากินอีก

หรือถ้าผู้ใดจะเห็นต่างก็สามารถเห็นเช่นนั้นได้ เพียงแต่ควรจะต้องอยู่บนเหตุปัจจัยเดียวกัน คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย ถึงจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปจ่ายเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจ แบบนั้นมันไม่ขัดเกลา การอยู่อย่างขัดเกลาคือมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอประมาณ ให้มีแค่พอกินพอใช้ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้พอเกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

หัดจนให้เป็น เพื่อชีวิตที่ง่ายขึ้น

October 17, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,478 views 0

อาจจะเป็นบทความที่ดูแปลกๆหน่อย เพราะเรื่องจนนี่เป็นอะไรที่คนทั่วไปเขาอยากจะหลีกหนี หลีกเลี่ยง หลีกให้ไกล แต่ทำไมผมจึงพิมพ์บทความให้หัดจน

อาจจะดูน่าหมั่นไส้มากหน่อยแต่ให้ทนๆอ่านไปนะครับ ผมเองนั้นก็ไม่ค่อยได้ลำบากเท่าไหร่ในชีวิต ความมี ทำให้เรามองข้ามความสำคัญของเงินและการสูญเสียทรัพยากรในการไปหาเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นสำคัญมาก หลายๆครั้ง หลายๆโอกาสในชีวิตผมได้ทดลองปล่อยตัวให้จมไปกับความจน แต่ความจนนี้ก็เหมือนกับล้มบนฟูก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลอง ทำให้ผมพบว่าหากเราหัดจน เป็นนิสัย เราจะลดการฟุ่มเฟือยในชีวิตไปได้มากเลย

ดังที่เห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จในโลกหลายคนนั้น มาจากคนที่จน หรือมีน้อยมาก่อน ทำให้เขาได้เรียนรู้ค่าของเงินและ ค่าของเวลาที่จะเอาไปแลกเงิน ความขยันและความประหยัดจึงเป็นคุณสมบัติของผู้มั่งคั่ง (ไม่ฉาบฉวย)

ความจนในมุมของผมนั้นไม่ใช่ไม่มี แต่หมายถึงนิสัยที่ทำให้ดูจน เรากินน้อย ใช้น้อย ใช้เท่าที่พอเพียง ใช้เท่าที่จำเป็น ดังนั้นภาพของเราก็จะออกมา “จน” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีกิน ไม่มีใช้ เราอาจจะเหลือกินเหลือใช้เหลือเก็บเพียงแต่เราไม่มีภาพเหล่านั้นให้เห็นเท่านั้นเอง

ความจนก็เหมือนเกราะที่ปกป้องภัยต่างๆที่จะเข้ามาในชีวิต ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น คนที่ดูจนก็ไม่มีใครอยากเข้ามาเอาประโยชน์แบบโลกๆ จากเรา เพราะดูเหมือนเราไม่มีอะไรไปสนองกิเลสเขาเหล่านั้น ทำให้ชีวิตไม่ค่อยมีใครที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากเราเหมือนคนรวยๆที่มีแต่คนเข้าหาเพียงเพื่อจะหาประโยชน์บางอย่างเท่านั้น และนั้นจะทำให้ชีวิตลำบากในภายหลัง

สวัสดี