ธรรมะประยุกต์

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,206 views 0

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1). วัฏสงสาร

ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ

2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก

แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง

3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน

สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา

4). โสดใช่ว่าเป็นสุข

การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

5). กาม อัตตา อุเบกขา

ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม

เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย

เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ

6). โลกุตระสุข

บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่

โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ

7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง

การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้

หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน

ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้

และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ

ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)

เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

May 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,139 views 0

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

ในโลกนี้ทุกชีวิตต่างล้วนดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์ ทุกคนบนโลกต่างก็เป็นผู้ศึกษาธรรม แม้เขาเหล่านั้นจะไม่รู้ตัว แต่การเรียนรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คือการเรียนรู้ธรรมะ

ความรัก ในบทความนี้หมายถึงรักที่อยากครอบครอง อยากมีคู่ อยากเป็นครอบครัว ยังเป็นรักที่มี “ความอยาก” เป็นแรงผลักดันอยู่

การพ้นทุกข์ ในที่นี้มีเพียงเป้าหมายเดียวคือการหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ และอำนาจของกิเลสในบทความนี้นั้นก็หมายถึง “ความอยากมีความรัก

ในบทความนี้แบ่งวิถีทางออกเป็นสี่หัวข้อ โดยแบ่งออกเป็นทุกข์มากและทุกข์น้อยและในทุกข์มากและทุกข์น้อยนั้นก็มีทั้งผู้ที่มีอินทรีย์ คือ ศรัทธา ความเพียร สติ ความตั้งมั่น ปัญญาที่มากน้อยแตกต่างกัน

ในวิถีทางแห่งทุกข์มากนั้นหมายถึงการมีภาระ มีวิบากที่ต้องแบก นั่นคือผู้ที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์โดยการมีคู่ และทางที่ทุกข์น้อยนั้นหมายถึงคนที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยความโสดโดยมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือการพ้นทุกข์ด้วยการทำลายความอยาก นั่นหมายถึงความโสดที่หมดความอยากในการมีคู่

จะเห็นว่าบทความนี้มีแต่เรื่องของ “ทุกข์” เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ศึกษาในเรื่องของทุกข์ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา เริ่มต้นมาข้อแรกก็ว่าด้วยเรื่องทุกข์แล้ว และจะทุกข์ไปตราบเท่าที่เรายังมีกิเลสอยู่ ดังนั้นเราจึงมาศึกษาความรักกับความเป็นทุกข์นั้น

แม้ว่าในสังคมปกตินั้นจะมองว่าการได้ครองคู่นั้นเป็นสุขอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ในความจริงแล้วสิ่งนั้นกลับเป็นทุกข์อย่างยิ่งในมุมมองของธรรมะ ซึ่งการที่เราเห็นทุกข์ว่าเป็นสุขนั้นก็เพราะกิเลสทำให้หลง ทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้

วิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จากความรักในบทความนี้มี 4 หัวข้อดังนี้

1)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากและพ้นทุกข์ยาก

ทางที่ทำให้ทุกข์มากนั้นเกิดขึ้นจากความอยากที่รุนแรง เต็มไปด้วยกิเลสปริมาณมาก จึงทำให้ต้องแสวงหาความรักมาบำเรอตนเอง ในกรณีก็คือการหาคู่ครอง

มีเหตุผลมากมายในการจะมีคู่ครอง ในมุมของการเสพสมทั่วไปก็จะเป็นเรื่องของการอยากมีคนให้สมสู่กัน เรื่องกามคุณ คือมีหน้าตาดี รูปสวย เสียงเพราะ ฯลฯ เรื่องโลกธรรม เช่น มีฐานะ มีการงานดี มีชื่อเสียงสังคมยอมรับ มีความสามารถในการบำเรอสุขให้ตน ฯลฯ และในมุมของอัตตาเช่น ฉันชอบคนนี้ ฉันชอบแบบนี้ ฯลฯ

หรือแม้แต่ในมุมของคนที่ใช้ข้อคิดเห็นต่างๆ เข้ามาเป็นเหตุผลดีๆเพื่อให้ตนได้มีคู่โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปเช่น การได้พากันเจริญ, มีคนคอยขัดเกลาอุ้มชูกัน, ดูแลกันไปปฏิบัติธรรมกันไป,หรือตรรกะใดๆที่คิดว่ามีคู่แล้วจะดีกว่าเป็นโสด

ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การครองคู่นั้นคือสิ่งที่กั้นไม่ให้เราบรรลุธรรมได้ง่ายนัก เพราะต้องคอยสนองกิเลสของกันและกัน เป็นภาระของกันและกัน สร้างวิบากกรรมร่วมกันให้ต้องมาคอยชดใช้กันทีหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแบกรับไว้และทำให้ทุกข์มาก ซึ่งทุกข์จากความอยากได้ความรักก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว ยังต้องทุกข์เพราะต้องคอยรับวิบากกรรมหลายๆอย่างจากการมีคู่อีก

แม้ว่าการมีคู่ในตอนแรกนั้นจะดูเหมือนเป็นสุข แต่สิ่งนั้นก็ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร เมื่อคนกิเลสหนาสองคนมาเจอกัน ก็อาจจะเอาใจกันเพื่อให้ได้เสพในบางสิ่งบางอย่างของอีกฝ่ายได้สักพัก แต่วันหนึ่งทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อกิเลสที่มีนั้นไม่ได้ถูกลด และมีความต้องการให้ถูกสนองมากขึ้น แต่ความสามารถหรือความพอใจของอีกฝ่ายที่จะต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรานั้นกลับลดลง และวันนั้นเองนรกก็จะมาเยือน

เหมือนกับเทวดาที่ตกสวรรค์ การที่คนมีคู่เขาก็ยังสามารถเสพสุขได้เหมือนอยู่ในสวรรค์ นั่นเพราะเขามีกุศลมาก จึงมีลาภ ยศ สรรเสริญ จนเมาสุขอยู่เช่นนั้น ซึ่งเทวดาที่แท้จริงก็คือคนที่ติดอยู่ในสุขเช่นนั้น คนที่ติดสุขติดภพเทวดานั้นจะไม่สามารถปฏิบัติหรือเจริญในธรรมใดๆได้ เพราะเขาจะไม่เห็นโทษของกิเลส จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่ แต่การหลงมัวเมาอยู่กับการเสพเช่นนั้นก็จะทำให้กุศลกรรมที่ทำมาหมดไปในวันใดวันหนึ่ง เพราะไม่มีวิบากกรรมใดที่ได้รับแล้วจะไม่หมดไป การที่เขาได้เสพสุขอยู่กับการมีคู่ก็เช่นกัน สิ่งเหล่านั้นมีวันหมด และในขณะเดียวกันวิบากบาปก็รอที่จะส่งผลอยู่เสมอ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะกลายเป็นเทวดาที่ตกลงมาจากสวรรค์ ต้องพบกับความทุกข์และเจ็บปวดอีกมากมาย

ดังนั้นเมื่อเทียบกับคนโสด คนมีคู่จึงต้องประสบทุกข์อย่างมาก จึงจัดคนที่มีคู่อยู่ในหมวดของทุกข์มาก

และคนที่มีคู่นั้น หากเป็นคนที่มีอินทรีย์อ่อน คือมี ศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย สติน้อย ความตั้งมั่นน้อย ปัญญาน้อย ก็ยากนักที่จะสามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสที่มีกำลังมากได้ซึ่งก็ต้องวนเวียนเรียนรู้ทุกข์ที่มากไปพร้อมๆกับการพัฒนาอินทรีย์พละของตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส

สิ่งที่ทำให้หลุดพ้นได้ยากเพราะตนเองนั้นก็มีกิเลสหนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังต้องมาคอยสนองกิเลสของคู่ครองอีก แล้วทีนี้การหลุดพ้นจากทุกข์คือการทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง แต่วิถีการเรียนรู้ธรรมะกลับเป็นไปในแนวทางเพิ่มกิเลส ดังนั้นจึงทำให้หลุดพ้นได้ช้า เป็นทุกข์มาก

ซึ่งกว่าจะหลุดพ้นได้ก็ต้องวนเวียนทุกข์ไปเรื่อยๆ ความอยากมีคู่ก็รุนแรง ทุกข์ก็ยอมทนเพื่อให้ได้เสพ แม้ว่าความรักจะพังทลายกี่ครั้งก็ยังไม่เข็ด ยังอยากมีความรัก ยังอยากมีคู่ไปเรื่อยๆ ยินดีเสพสุขลวงและทนทุกข์ต่อไปจนกว่าจะสามารถมีปัญญาถึงระดับที่เห็นว่าทุกข์นั้นเกิดเพราะความอยากได้

และถึงแม้ว่าจะเป็นคู่ที่พากันลดละกิเลส เช่น ในเรื่องของการสมสู่เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตัดขาดได้ทันที เพราะวิบากกรรมจะเหนี่ยวรั้งไว้ แม้จะตัดทันทีก็มีกรรมแบบหนึ่งคืออาจจะไปเบียดเบียนคู่ถ้าเขายังมีความอยากอยู่ จะไม่ตัดก็มีกรรมแบบหนึ่งคือยังต้องไปสมสู่สนองกิเลส ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสกันอยู่อีก ซึ่งไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะถูกพันไว้ด้วยความมีคู่นั่นเอง

2)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากแต่พ้นทุกข์ไว

คนที่มีกิเลสมากและหลงไปมีคู่ แต่กลับพ้นทุกข์ไว คือผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธามาก มีความเพียรมาก มีสติมาก มีความตั้งมั่นมาก มีปัญญามาก แม้จะหลงไปมีคู่จนเกิดทุกข์ที่มาก แต่ก็สามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ไว ทำลายความอยากที่จะมีคู่ได้ด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้านั้นเอง

ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีคู่ครองเจอปัญหาในชีวิตคู่ซึ่งทำให้ทุกข์มาก จึงใช้ทุกข์นั้นเอง เป็นเหตุในการพิจารณาธรรมเพื่อหลุดพ้นจากความอยากนั้น มองเห็นเหตุแห่งทุกข์ตามจริง คือเรานั้นเองที่สร้างการผูกมัดนี้มาจนเป็นทุกข์ “ถ้าเราไม่อยากมีคู่” ก็ไม่ต้องเจอปัญหานี้ตั้งแต่แรก ด้วยอินทรีย์ที่มากจึงสามารถเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง จนหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากนัก

สภาพของการหลุดพ้นอาจจะเกิดเพราะเรื่องไม่กี่เรื่อง ไม่ต้องทนทุกข์นาน อาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์ได้

แต่แม้จะทำลายความอยากมีคู่ได้แล้ว คนที่หลงไปมีคู่ก็จะต้องมีวิบากกรรมที่ต้องคอยมารับภาระในคู่ครอง ซึ่งการอยู่ด้วยกันโดยปราศจากความหลง หรือไม่มีกิเลสเป็นตัวหลอกแล้ว ชีวิตคู่จะไม่มีความสุขลวงๆที่เคยมีอีกเลย สิ่งที่เหลือจะมีแต่ความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องที่ทำให้เป็นภาระนั่นเอง

3)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยแต่พ้นทุกข์ยาก

เมื่อการมีคู่นั้นคือทุกข์มาก ความโสดที่ยังมีกิเลสนั้นเองก็คือทุกข์น้อย ที่น้อยกว่าเพราะไม่ต้องไปคอยสนองกิเลสใครให้ต้องมาคอยรับวิบากกรรมที่มากั้นขวางไม่ให้บรรลุธรรมและสร้างทุกข์ใดๆทีหลัง

แม้จะเป็นคนโสดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส คนโสดหลายคนนั้นมีการตั้งความหวังไว้ว่า วันหนึ่งฉันจะเจอคนที่ฝันไว้ คนโสดพวกนี้แม้ในตอนเป็นโสดจะยังทุกข์จากความอยากอยู่บ้าง แต่เมื่อวันหนึ่งที่วิบากกรรมเข้ามา ทำให้ได้พบกับ “ตัวเวรตัวกรรม” ก็อาจจะเปลี่ยนวิถีทางไปปฏิบัติในทางทุกข์มากก็เป็นได้

คนโสดที่คิดว่าจะโสดนั้น อาจจะมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เลือกเป็นโสด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าคนมีคู่เพราะมีทุกข์น้อย แม้ว่ากิเลสที่มีอยู่ในตนนั้นจะไม่มากพอที่จะผลักดันให้ไปแสวงหาคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ออกจากใจได้

โดยเฉพาะคนโสดที่มีอินทรีย์อ่อน ก็จะโสดไปแบบไม่เห็นโทษของความอยากในการมีคู่ เป็นโสดแบบไม่ได้พิจารณาธรรม เป็นโสดแบบไม่เห็นกิเลส ส่วนหนึ่งเพราะแรงกิเลสของเขาเหล่านั้นไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน จึงทำให้จับได้ยากและขาดการมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น

คนโสดเช่นนี้จึงพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ยาก แม้ว่าจะมีทุกข์น้อยแต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเรียกว่าเชื้อแห่งทุกข์นั้นยังไม่ตาย ซึ่งกิเลสก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ เมื่อคนโสดที่อินทรีย์พละอ่อนนั้นได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ส่งเสริมการมีคู่ บอกว่าการมีคู่นั้นดี บอกว่าการมีคนคอยสนองกิเลสให้นั้นเป็นสุข คนโสดที่มีอินทรีย์พละน้อยจึงมีโอกาสที่จะทนพลังของกิเลสไม่ไหว รับเอากิเลสนั้นมาเป็นของตน ค่อยๆสะสมกิเลส เพิ่มความอยากจนกระทั่งไปเวียนกลับไปอยากมีคู่ได้ในวันใดก็วันหนึ่ง

ดังนั้นคนที่โสดอยู่และไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีคู่มาก จึงควรพัฒนาอินทรีย์พละของตนโดยการคบหาผู้รู้ธรรมที่พาไปสู่ความพ้นทุกข์ ศึกษาธรรมที่พาให้ทำลายความอยากมีคู่ และนำธรรมเหล่านั้นมาพิจารณาลงไปถึงต้นเหตุของความอยากคือกิเลส เพียรพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้สติมาจัดการชำแหละให้เห็นกิเลสด้วยความตั้งมั่น และใช้ปัญญาที่มีพิจารณาธรรมเข้าไป จนเกิดผลเจริญไปโดยลำดับ

4). วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยและพ้นทุกข์ไว

คนที่เลือกเป็นโสดและยังมีกิเลสอยู่ แต่ด้วยความที่มีอินทรีย์มาก จึงสามารถที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากไม่ลำบากนัก

ยกตัวอย่างเช่น คนโสดที่เห็นคนมีคู่ทะเลาะกัน เห็นความทุกข์ของผู้อื่น และนำทุกข์เหล่านั้นมาพิจารณาทำลายกิเลสในตน ด้วยอินทรีย์ที่มาก จึงสามารถทำให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้เพียงแค่ใช้เหตุปัจจัยที่เล็กน้อย เหมือนกับใช้เชื้อเพลิงไม่มากก็สามารถทำให้เกิดไฟกองใหญ่ เผากิเลสให้เป็นจุลได้

…..สรุปแล้วทั้งสี่วิถีทางนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกกำหนดไว้ด้วยปริมาณกิเลสและอินทรีย์ของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกสิ่งใดได้อย่างอิสระ แต่จะต้องปฏิบัติไปตามกรรมที่ทำมา ใครทำกรรมมาแบบใดก็ต้องไปในวิถีทางแบบนั้น และกรรมใหม่ที่ทำนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มของวิถีทางในอนาคตต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

12.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปฏิบัติธรรมไม่มาไม่ไป

May 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,217 views 0

การปฏิบัติธรรมนี่ถ้า “ไม่เห็นตัวกิเลส” จะปฏิบัติไม่ไปไหนเลยนะ ถ้าหลงไปว่า “ความคิด” นั้นคือรากของกิเลสยิ่งแล้วใหญ่ พาลจะไปดับความคิดให้มันวุ่นวายกันไปอีก

จุดที่ควรจะสนใจคือเหตุใดที่ทำให้เราเกิดความคิดนั้นๆ เราหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไร ลากกิเลสที่ติดออกมาเป็นตัวๆเลย อย่าไปลากออกมาทั้งยวง ถ้าบอกว่า “ความหลง” แบบนี้มันกว้างเกินไป จัดการกิเลสไม่ได้หรอก

ต้องระบุให้ชัดเลยว่าหลงสุขใดตอนที่ได้สัมผัสสิ่งนั้น อย่างเช่นเรื่องการมีคู่ เราสุขตอนที่เขาบอกรัก จับตรงนี้ให้ได้ก่อนแล้ว ค่อยขุดหารากต่อไปอีกที

ถ้าหาเจอแล้วก็ค่อยพิจารณาธรรมกันไป ว่าสุขนั้นเกิดเพราะเรายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ จึงทำให้อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น มาถึงขั้นตอนนี้ก็เพียรทำได้แล้ว จะสมถะหรือวิปัสสนาอะไร อัตราส่วนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ความถนัด

(ที่กล่าวมาคือส่วนสรุปของ สติปัฏฐาน เพื่อไปสู่ธรรมวิจัยและวิริยะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโพชฌงค์ ๗)

= = = = = = = = = = =
**แนะนำบทความที่เกี่ยวข้อง

เหตุแห่งทุกข์

นักเดินทาง …สายกลาง

April 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,448 views 0

นักเดินทาง ...สายกลาง

นักเดินทาง …สายกลาง

ในชีวิตเรานั้นมีเส้นทางมากมายให้เลือกเดินทาง หลายคนไปดูภูเขา หลายคนไปชมทะเล หลายคนไปเยือนทุ่งกว้าง หลายคนไปหาประสบการณ์ในต่างแดน

แต่ก็มีบางคนที่เลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป เป็นเส้นทางที่ไกลแสนไกล ไกลเสียจนไม่รู้ว่าจุดหมายอยู่ที่ใด เพียงแต่ได้ยินเขาเล่าเขาล่ำลือมาว่า หากไปถึงเป้าหมายนั้นก็คือที่สุดแห่งชีวิตแล้ว ทางเส้นทางที่ว่านั้นก็คือหนทางธรรม

นักเดินทางธรรมนั้นก็มีรูปแบบคล้ายกับนักเดินทางทั่วไป มีประสบการณ์จากผู้อื่น มีรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว มีกระทู้ปัญหาที่ได้พบให้เราได้อ่านและเรียนรู้ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่คำล่ำลือ ถ้าอยากเห็นความงดงามนั้นก็ต้องเริ่มออกเดินทางด้วยตัวเอง

การเดินทางนั้นไม่ยาก เพียงแค่ตั้งใจก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเตรียมวีซ่า ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องจัดเสื้อผ้า เราก็สามารถจะเดินทางออกไปได้เลย เมื่อเรามาถึงท่ารถ เราก็จะเจอกับสายรถต่างๆ มากมายหลายร้อยเจ้าที่บอกว่าทางสายกลางคือเส้นนี้ ,ทางของเราลัดที่สุด, ทางของเราถูกตรงที่สุด ,ทางคนอื่นผิดของเราสิถูก ฯลฯ

เป็นความสับสนอลหม่านของนักเดินทางมือใหม่ที่จะเริ่มเดินบนถนนหนทางธรรม เขารู้นะว่าต้องเดินทางสายกลาง แต่ทางสายกลางน่ะ…มันทางไหน จะเดินทางเองมันก็ไปไม่เป็นอยู่แล้ว หลงทางแน่นอน แต่จะไปกับคนอื่นก็มีมากมายหลายทางเลือกเหลือเกิน แต่ละคนก็บอกว่าตนเป็นทางสายกลางทั้งนั้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายและเส้นทางที่จะไปต่างกัน

ว่าแล้วเขาก็ค้นข้อมูลที่เคยอ่านมา มีหลายคนที่มารีวิวว่าเดินทางกับคนนั้นสิ คนนี้สิ สายนี้สิของแท้ สายนี้สิพาไปสู่จุดหมายแน่นอน แม้จะอ่านรีวิวมามากเพียงใด แต่ก็ยังมีความลังเลสงสัยอยู่ดี สุดท้ายเลยทำได้แค่เดาๆแล้วเลือกตามที่คนอื่นเขาว่าดี หรือทางที่คนส่วนใหญ่เลือกจะไป

…………

เส้นทางสู่ทางสายกลางนั้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้คนจำนวนมากยืนยัน ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเป็นผู้ชี้ทางที่ได้รับความนิยม ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามที่เขาอวดอ้าง เพราะสิ่งที่เขานำเสนอให้เรานั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป มีหลายครั้งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างนักเดินทางกับผู้ชี้ทางที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปที่หนึ่ง แต่ผู้ชี้ทางกลับพาไปอีกเส้นทางหนึ่ง แม้ผู้ชี้ทางจะยืนยันว่าทางที่เขาบอกไปนั้นใช่ แต่ความรู้สึกลึกๆนั้นกลับรู้สึกว่ายิ่งเดินยิ่งห่างไกลเป้าหมาย

สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีความถูกตรงในการพาเดินทางสู่ทางสายกลาง สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นอย่างไร สัมมาหรือความถูกต้องถูกตรงนั้นเป็นอย่างไร อริยะคืออะไร มรรคคืออะไร หากเราเองไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนแล้วเผลอกระโดดไปในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งด้วยความประมาท นอกจากจะพาให้หลงทางแล้วยังยากที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่เหมือนตอนแรกด้วย

เพราะคนที่ยึดมั่นถือมั่น จะเห็นว่าทางที่ตนไปนั่นแหละถูก ทั้งๆที่ทางนั้นอาจจะผิดก็ได้ โลกนี้มีวิธีการเดินทางสู่ทางสายกลางมากมายหลายสำนัก มีหลายสำนักก็หลายทิฏฐิ หลายวิธีการปฏิบัติ แต่ในความจริงแล้วคือมีทางเดียวที่จะไปถึงผลคือสัมมาอริยมรรค

ก่อนจะเข้าไปถึงทางสายกลางเราก็ต้องรู้ก่อนว่าทางโต่งทั้งสองด้านนั้นคือความติดสุขและการติดดี หรือกามและอัตตา เป็นกิเลสที่จะพาให้เราหลงทางทั้งคู่ ดังนั้นทางสายกลางก็คือการละออกจากทางโต่งหรือละกิเลสนั่นเอง ซึ่งจะสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค

สัมมาอริยมรรคคืออะไร?

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ นั่นคือความเห็นความเข้าใจใดๆก็ตามที่พาลดกิเลส เข้าใจว่าสิ่งใดที่ลดกิเลส สิ่งใดที่พาให้หลงทาง

คือความคิดที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือความคิดที่พาลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส คิดไปในทิศทางที่ลดกิเลส

คือการพูดจาที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการพูดที่พาลดกิเลส ถ้อยคำที่ไม่เสริมกิเลสแก่กันและกัน

คือการกระทำที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการกระทำใดๆ ทั้งกาย วาจา ใจ ที่พาให้ลดกิเลส ไม่โต่งไปทั้งกามและอัตตา

คือการเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเลี้ยงชีพที่ไม่ขัดกับหลักของพุทธ เป็นไปเพื่อเอื้อต่อการลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส ไม่สร้างกรรมชั่ว ไม่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับโลกธรรม

คือความเพียรที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเพียรล้างกิเลส เพียรสร้างโลกุตระธรรมให้เจริญขึ้นในตน เพียรศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

คือสติที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือมีสติที่รู้ไปถึงตัวตนของกิเลสที่ฝังอยู่ข้างใน ชำแหละกิเลสออกมาเป็นส่วนๆด้วยความรู้ตัวนั้นๆ เป็นไปตามลำดับของการรู้กาย เวทนา จิต ธรรม

และสุดท้ายคือสมาธิที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการทำองค์ประกอบของสัมมาอริยมรรคทั้งหมดก่อนหน้านี้ให้เกิดสภาพตั้งมั่น นั่นแหละจึงจะรวมลงเป็นสัมมาสมาธิ

……ในข้อมูลมากมายที่ชี้นำการเดินทางบนถนนหนทางธรรมนี้ ไม่ง่ายนักที่จะสามารถจำแนกสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิดได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อสิ่งใดง่ายนัก แต่ให้พิจารณาดูด้วยปัญญาของตนว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าคิดว่าสิ่งใดเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น แต่ถ้าสิ่งใดเป็นอกุศลก็ให้ละเสีย

ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างนั้นไม่เที่ยงเสมอไป สิ่งที่เราคิดว่าเป็นกุศล เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะไม่เป็นกุศลอย่างเคยก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นนัก เพราะต้องใช้เวลาในการย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ยิ่งเรายึดมั่นถือมั่นก็จะยิ่งหลงทางไกล แต่นักเดินทางธรรมโดยมากก็ยอมที่จะยึดสิ่งที่ตนเชื่อไว้เช่นนั้นแม้ว่าจริงๆมันจะผิดก็ตาม

ทางดับทุกข์นั้นมีด้วยกันหลายทาง แม้ที่บอกว่าเป็นสัมมาอริยมรรคก็มีด้วยกันหลายเจ้า หลายแนวทางปฏิบัติ แต่ทางที่ถูกตรงของพุทธนั้นมีทางเดียว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ )”

– – – – – – – – – – – – – – –

15.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)