Tag: ไม่กินเนื้อสัตว์

กินน้อย ใช้น้อย สู้ภัย covid-19

March 18, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 701 views 0

ตามศึกษาข้อมูลช่วงนี้ ก็พบว่าหลายอาชีพก็มีความเสี่ยงในการขาดรายได้และตกงาน อ่านแล้วก็เห็นใจ ก็คิดว่าความสามารถในการหาเงินอาจจะแตกต่างกันไป แต่ความประหยัดนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ผมเป็นคนที่ทำอาหารกินเองและทำบัญชี เมื่อสรุปข้อมูลจากปีก่อน มีค่าอาหารเฉลี่ยต่อวันคือ 32 บาท/คน/วัน อันนี้ก็รวมข้าว น้ำ ฯลฯ

วัตถุดิบในการทำอาหารส่วนมาก จะเป็นการซื้อจากตลาด ซึ่งจากที่เคยสำรวจ ค่ารวม ๆ ตลาดในกรุงเทพจะถูกกว่าตลาดในชุมชนต่างจังหวัด ยกเว้นผลผลิตในท้องถิ่นบางชนิดที่จะมีมากและราคาถูกเป็นช่วง ๆ

อาหารที่กินนั้นก็ครบ 5 หมู่ ไม่ได้กินแบบขาด ๆ พร่อง ๆ หรืออดอยากอะไร มีผัก ผลไม้ ธัญพืช แต่ไม่มีเนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ และมีการฝึกลดมื้ออาหาร เพื่อลดกิจกรรมฟุ่มเฟือย โดยปกติในชีวิตประมาณ 95 % จะกินมื้อเดียว

การไม่กินเนื้อสัตว์และลดมื้อเช่นนี้ นำมาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย ถึงป่วยก็หายไว ทำให้ประหยัดทั้งเงินและเวลาในการรักษา

เมื่อไม่กี่วันก่อนไปตรวจสุขภาพมา ก็ไม่ได้มีโรคภัยอะไร ไม่ได้ติดเชื้อ แถมผลเลือดยังออกมาดูดี จนหมอถามว่าไปทำอะไรมา? คือค่าน้ำตาลก็ดี เก๊าก็ไม่มี แถมไขมันก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี (เขาว่ามาแบบนี้) ก็เดา ๆ ว่าส่วนใหญ่ที่หมอเขาเจอก็คงจะไม่เป็นแบบนี้ละนะ

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์และกินอาหารน้อยมื้อคนอื่นเขาจะตรวจแล้วมีผลออกมาเป็นอย่างไร จะมีดีกว่านี้หรือเปล่า หรือผลที่เราได้มันดีจริง ๆ ก็ยังไม่เคยศึกษาเปรียบเทียบ ก็ยกไว้ก่อน

แต่จากผลของการตรวจสุขภาพ ก็สามารถสรุปผลตามสมมุติโลกได้ว่า เราใช้ชีวิตแบบนี้แล้วยังมีสุขภาพดีได้อยู่

32 บ./วัน/คน นี่จริง ๆ มันก็ไม่ถูกนะ แต่สำหรับคนมีเงินเดือน มันก็ไม่ได้แพงอะไร เดือนนึงค่ากินไม่ถึงพัน มันจะเหลือเงินไปทำอย่างอื่นเยอะแยะ

ผมก็ซื้อผักตลาดกินนั่นแหละ ที่สวนตัวเองนาน ๆ ที ถึงจะได้กิน ยังไม่มีนัยสำคัญเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เน้นพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้เน้นพัฒนาผลผลิต ดังนั้นที่มาของอาหารส่วนใหญ่จึงเป็นการซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารกิน

ก็เคยปรับใช้วิถีแบบนี้ในกรุงเทพฯ พบว่าไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ จะมีต่างก็คือการหุงต้มอาหาร อยู่ กทม ใช้ไฟฟ้า อยู่ ตจว ใช้ฟืน

สรุป ถ้าเราฝึกประหยัดได้ ก็จะสามารถมีความมั่นคงในชีวิตได้นานขึ้น ยิ่งเป็นช่วงที่มีโรคระบาดด้วยแล้ว ยิ่งควรจะประหยัดไว้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะยาวนานแค่ไหน

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

April 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,207 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

ความเจริญของจิตใจนั้นสามารถชี้วัดได้จากสิ่งหนึ่ง คือการลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นผลที่เจริญขึ้นจากการทำความเห็นให้ถูกต้องโดยลำดับ

การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจโดยตรง เพราะการจะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเราจะต้องหักห้ามใจ บังคับใจ ไม่ให้ใจนั้นหลงไปกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ จะไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งปวง ก็เป็นจิตที่เมตตาจนถึงรอบที่จะลงมือทำ ไม่ใช่แค่คิดเมตตาแต่ปากยังเป็นเหตุให้เบียดเบียนอยู่ หรือว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ การหักห้ามใจไม่กินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้ไม่เบียดเบียนตนเอง ถ้ากินแล้วตนเองก็เป็นทุกข์ เป็นโรค ก็ต้องฝืนใจเลิก นั่นเพราะใจที่ทุกข์จากเหตุแห่งสุขภาพนั้นมีน้ำหนักกว่าสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์ หรือจะเหตุผลอื่นใดก็ตาม การลด ละ เลิกสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นย่อมเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น

แต่การจะเลิกกินนั้นไม่ง่าย หากเราตั้งใจละเลิกกินเนื้อสัตว์สักอย่างที่เราเคยติด เช่นเนื้อวัว การจะออกจากเนื้อวัวได้ต้องหักห้ามใจไม่ไปกินเป็นเบื้องต้น จนพิจารณาเห็นโทษภัยของการกินเนื้อวัวจนความอยากนั้นจางคลาย จึงค่อยๆ ขยับไปเลิกหมู ไก่ ปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นๆ จนถึง นม ไข่ น้ำผึ้ง ฯลฯ ซึ่งหลายคนก็สามารถตัดทุกอย่างทั้งชีวิตได้ในทันที แต่อีกหลายคนก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นต้องมีกำลังใจที่หนักแน่นและสำคัญที่สุดคือกำลังของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในโทษชั่วของการที่เรายังกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ในขณะที่เรากำลังพยายามลด ละ เลิก ก็จะมีเสียงสะท้อนกับสังคม คำชื่นชมจากคนเห็นดีกับไม่กินเนื้อสัตว์ ไปจนถึงคำประชดประชันจากคนที่มีอคติต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ถ้าเราเลิกแค่เนื้อวัวเราก็จะเจอการกระทบระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลิกหมู ไก่ ปลา ไปอีกก็จะเจอแรงกระทบอีกระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าไม่กิน นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ด้วยแล้วยิ่งจะเจอมากเข้าไปอีก ชมก็ชมมาแรง นินทาก็นินทามาแรง และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเป็นผู้นำเสนอข้อดีของการไม่กิน ชักชวนผู้อื่นให้ละเว้นเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตที่ยินดีแบ่งปันสิ่งดีให้กับคนอื่นเช่นนั้น ถึงจะสื่อสารอย่างถูกกาลเทศะอย่างไรก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถหนีสรรเสริญนินทาพ้น

สรรเสริญก็ทำให้อัตตาโต ยิ่งมีคนชื่นชมมากๆ ก็สามารถทำให้หลงติดดีได้ นินทาก็เช่นกัน มันจะมาในทุกรูปแบบ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสุภาพและหยาบ ซึ่งจะคอยแซะให้เราตบะแตกแสดงความโกรธ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกจิตใจ อดทนข่มใจไม่ลอยไปตามคำชม ไม่ขุ่นมัวไปตามคำนินทา

สรุปแล้ว ตลอดเส้นทางแห่งการละเว้นเนื้อสัตว์ ย่อมจะเจอโจทย์ที่หลากหลายเข้ามาฝึกใจ ทั้งจากข้างในและข้างนอก ความอยากกินเขาเราเองก็ว่าหนักแล้ว เสียงจากสังคมก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก คนที่จิตใจไม่ตั้งมั่นในการทำความดี ไม่มีกำลังใจ ไม่มีปัญญา ก็จะหวั่นไหวได้ง่าย เจอโลกเขาลากกลับไปกินเนื้อสัตว์ ก็กลับไปกินตามเขา เพราะใจง่ายนั่นเอง การไม่กินเนื้อสัตว์จึงเป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องฝึกฝนเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

15.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ

October 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,787 views 0

รวมบทความเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งเรื่องของการไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ

รวมบทความเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งเรื่องของการไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ

เป็นชุดบทความประยุกต์ความรู้ทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์กลายเป็นเรื่องแปลก ทั้งที่ในอดีตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชผู้มากอบกู้ศาสนาในช่วงต้น ในยุคนั้นก็ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์กัน และมีข้อมูลว่าท่านเองก็เป็นมังสวิรัติด้วย ดังนั้นจากหลักฐานที่พอจะมีปรากฏคือชาวพุทธนั้นเขาไม่กินเนื้อสัตว์กันเป็นธรรมดา คือไม่กินกันเป็นปกติ เพราะไม่มีการฆ่าสัตว์ในพื้นที่ ก็เลยไม่มีให้กินกันอย่างเช่นทุกวันนี้

ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการฆ่าสัตว์เป็นเรื่องธรรมดา ใครกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนไม่กินเนื้อกลับเป็นเรื่องแปลก กลายเป็นว่ากลับหัวกลับหางจากสมัยอดีตที่ผ่านมา สิ่งนี้คือความเจริญหรือความเสื่อมของชาวพุทธกันแน่ ก็ลองมาศึกษากัน

บทความที่รวบรวมมานี้แต่ละบทความค่อนข้างยาว ประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและสมาธิพอสมควร แต่ละบทความมีเนื้อหาแตกต่างกันไปเพื่อวิเคราะห์ข้อคิดเห็น ข้อขัดแย้ง และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมศึกษา

๑.การกินไม่มีโทษจริงหรือ การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นควรยุ่งเกี่ยวกับการกินหรือไม่ มีสาระสำคัญหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/GF2IUs )

๒.ชาวพุทธ ควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ อ้างอิงพระสูตรที่จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นกุศล (facebook : https://goo.gl/VG2MYU )

๓.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ มีความเจริญในทางธรรมหรือไม่ ควรปฏิบัติหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/q3NTH4 )

๔. กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป จริงหรือ? วิเคราะห์เกี่ยวกับคำว่า “บาป” คืออะไร ทำไมจึงบาป (facebook : https://goo.gl/HkH80y )

๕.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่เป็นบุญจริงหรือ บุญคืออะไร เป็นบุญหรือไม่ ทำอย่างไรจึงเป็นบุญ (facebook : https://goo.gl/kSDWzK )

๖.พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ ความเห็นความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการปฏิบัติธรรม (facebook : https://goo.gl/GXAolv )

๗.การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑ ว่ากันด้วยเนื้อหาของศีลของเดียว ทุกวันนี้มีศีล หรือเสื่อมจากศีล (facebook : https://goo.gl/SK65K6)

๘.สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ความเห็นจาก “มิจฉาวณิชชา” ที่นำมาขยายกัน (facebook : https://goo.gl/FHtLs6)

๙.กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น การที่คนเราละเว้นเนื้อสัตว์ ไปกินผักกินหญ้านั้นสามารถหลุดพ้นได้จริงไหม (facebook : https://goo.gl/rYxhC9 )

๑๐. การไม่กินเนื้อสัตว์ แบบอุปาทานและสมาทาน การทำความดีที่มีความต่างในทางธรรม (facebook : https://goo.gl/guJLmO )

๑๑.สงครามอัตตา ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ บนสมรภูมิแห่งโลกีย์ที่ไม่มีวันจบสิ้น (facebook : https://goo.gl/syMTNR )

๑๒. สมรภูมิคนดี โจทย์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความดี ที่ว่าเป็นคนดีนั้นดีจริงแค่ไหน (facebook : https://goo.gl/5mNxZF )

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

October 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,647 views 1

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

เป็นอีกหนึ่งประเด็นในปัจจุบันที่ยังมีข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งว่าการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นบุญจริงหรือไม่ แล้วจะเป็นบุญได้อย่างไร และที่สำคัญ “บุญ” คืออะไร?

บุญนั้นเป็นศัพท์เฉพาะของศาสนาพุทธ บุญไม่ใช่กุศล(ความดี) แต่บุญคือการชำระกิเลส และการชำระกิเลสนั้นมีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้นที่จะทำได้ และที่สำคัญความรู้เหล่านั้นต้องเป็น “สัมมาทิฏฐิ

หากเว้นจาก “สัมมาทิฏฐิ” แล้ว บุญหรือการชำระกิเลสนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้เลย ถึงจะทำดีแค่ไหนก็อยู่ในขอบเขตของกุศล แต่ไม่เป็นบุญ เพราะการทำดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะชำระกิเลสได้ การทำดี(กุศล) ไม่ว่าศาสนาไหนต่างก็สอนให้ทำดีเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสอนแตกต่างกันไป แต่พุทธนั้นมุ่งเน้นการหยุดบาปเสียก่อนเป็นอันดับแรก บาปนั้นคือกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง และสิ่งที่จะมาชำระบาปเหล่านั้นก็คือ “บุญ

ซึ่งการชำระกิเลสของพุทธนั้นเป็นเรื่องที่มีขั้นตอน เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มิใช่แค่เพียงตั้งใจทำตนเป็นคนดี ทำทาน มีน้ำใจ เสียสละเท่านั้น แต่ต้องลงไปกำจัดความหลงติดหลงยึดที่มีในจิตใจ การทำลายความหลงได้โดยลำดับนั้นเองที่เรียกว่า “บุญ

สัมมาทิฏฐิ

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วจะเห็นอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ จะยกสัมมาทิฏฐิ ข้อ ๑ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือ “ทานที่ให้แล้วมีผล” (อัตถิ ทินนัง) มีผลอย่างไร ทำอย่างไรจึงเรียกว่ามีผล เป้าหมายเดียวของของศาสนาพุทธนั้นคือทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง นั่นหมายความว่า ทานที่ทำไปแล้วนั้นต้องมีผลในการลดกิเลสจึงจะสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส ก็ไม่เรียกว่ามีผล ไม่เป็นบุญ แต่ก็มีกุศลตามกรรมที่ทำไป

ไม่ใช่ว่าการทำทานทุกครั้งจะลดกิเลสได้ ส่วนใหญ่ทำทานไปก็เพิ่มกิเลส เพิ่มความหลงติดหลงยึดไปด้วยซ้ำ เช่น ทำทานไปแล้วก็ขอให้ฉันได้แบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยๆก็ขอให้ฉันได้ความสุข ได้ทำความดี ได้เป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้มีการลดความตระหนี่ถี่เหนียวที่เป็นกิเลสในใจลงไปเลย ทานนั้นจึงยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำแล้วไม่มีผล (นัตถิ ทินนัง)

บุญกิริยาวัตถุ

หมายถึงเราจะสามารถทำให้เกิดบุญ (ชำระกิเลส) ด้วยกันทั้งหมด ๑๐ วิธี ซึ่งในการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง จะถูกจัดอยู่ในหมวดของทาน (ทานมัย) คือการสละ ซึ่งการสละในที่นี้อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง วัตถุสิ่งของ แต่สามารถสละโอกาส สละสิทธิ์ สละเวลา สละสิ่งใดๆก็ตามที่เรามีโอกาสในการครอบครองให้ผู้อื่น

ซึ่งการไม่กินเนื้อสัตว์ก็คือการสละสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์ เขามีเงินซื้อนะ หรือมีคนเอามาให้ด้วย เขาได้รับมาโดยชอบธรรม แต่เขาสละออก เขาไม่เอาไว้บำเรอตน เขาเอาคืนให้คนอื่น ซึ่งการสละตั้งแต่แรกก็คือการไม่เลือกที่จะกินเนื้อสัตว์เลย เหมือนกับแม่ที่สละสิทธิ์ในอาหารที่น่าอร่อยชิ้นหนึ่ง เพื่อเก็บไว้ให้ลูกของตน ส่วนตนเองยอมไม่กิน เพราะหวังจะให้ลูกของตนได้กินอาหารชิ้นนั้น จึงยอมสละสิทธิ์ในอาหารชิ้นที่ตนควรจะได้นั้น ทั้งๆที่กินไปก็ไม่มีใครรู้ กระบวนการนี้เรียกว่าทานเช่นกัน (สละความเห็นแก่ตัวออกไป)

แต่กระบวนการข้างต้นอาจจะไม่เป็น “บุญ” เลยก็ได้ เพราะ การเกิดบุญ (ชำระกิเลส) ได้นั้นต้องมีความเห็นที่ถูกตรง เห็นอะไร คือเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ ในกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น จะไม่เป็นบุญถ้าคุณแม่คนนั้น มีจิตลำเอียง รักใคร่ในลูกตนจนเกิดความเสียสละซ้อนขึ้นมา “อยาก” ให้ลูกได้กินของอร่อย ก็เรียกว่าการเสียสละธรรมดา เป็นคนดีตามที่โลกเข้าใจ แต่ไม่เป็นบุญเพราะไม่ได้มีการชำระกิเลส

ซึ่งถ้าจะให้เกิดบุญ ต้องมีรายละเอียดของจิต เช่น เห็นความอยากกินอาหารชิ้นนั้นของตน แล้วชัดเจนว่าเราไปติดกิเลสตัวไหน รูป รส กลิ่น สัมผัส? เมื่อเห็นว่าเราหลงติดหลงยึดในอาหารอาหารชิ้นนั้นแล้ว จะเลือกต่อต้านกิเลส โดยการสละออกก็ได้ คือไม่ให้อาหารกิเลส ไม่ตามใจกิเลส ต่อต้านกิเลส ใช้ตบะเผากิเลส ขัดขืน แข็งข้อ เช่นนี้จึงเรียกว่าเป็นบุญ คือสามารถชำระกิเลสได้โดยลำดับ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะเก็บไว้ให้ลูกหรือจะเอาให้คนอื่นก็จะต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะไปติดกิเลสอีกตัวเช่นรักลูกตนจนไม่เผื่อแผ่คนที่ขาด เป็นต้น

บุญกิริยาวัตถุนั้นมีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ทุกข้อสามารถปฏิบัติจนเกิดเป็นบุญหรือการชำระกิเลสได้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องสัมมาทิฏฐิ ถ้าทำทุกกิจกรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก็ไม่เกิดบุญ ไม่มีการชำระกิเลสใดๆ

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นบุญอย่างไร

ดังที่ยกตัวอย่างมาในข้อก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง เป็นการสละสิทธิโดยชอบธรรมที่สังคมเข้าใจว่าทุกคนกินเนื้อสัตว์ได้ไม่ผิดอะไร แต่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์นั้นกลับเลือกที่จะสละสิทธิ์ที่ควรได้นั้น ไม่รับสิทธิ์นั้น แม้ว่าในทุกวันนี้ใครจะกินเนื้อสัตว์ยังไง แบบไหน เท่าไหร่ ก็ไม่มีใครสนใจ แต่ผู้ที่ไม่กินนั้นก็เลือกสละโอกาสนั้นทิ้งไปด้วยเหตุผลอันเป็นกุศลตามที่เขาเข้าใจ

เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ยกมาก่อนหน้านี้ การไม่กินเนื้อสัตว์จะเป็นบุญก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ไม่กินนั้นว่าจะสามารถเข้าใจอย่างสัมมาทิฏฐิหรือไม่ ถ้าเข้าใจถูกก็เป็นบุญ (เกิดการชำระกิเลส) ถ้าเข้าใจไม่ถูกก็เป็นกุศล เป็นความดี เพราะเกิดการเสียสละซึ่งมีผลเจริญเช่นกัน เรียกได้ว่าแม้จะเข้าใจถูกหรือไม่เข้าใจก็มีผลดีทั้งนั้น

กรณีของการกินที่ไม่เป็นบุญ ไม่มีการชำระกิเลส คือการกินด้วยความเห็นว่าดี เป็นการเสียสละ ละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นสิ่งดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป ศาสนาหรือความเชื่อใดก็สามารถมีความเห็นเช่นนี้และสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ได้อย่างบริสุทธิ์ด้วยความมุ่งมั่นในการทำดีเหล่านี้

แต่ในกรณีของพุทธนั้นต่างออกไป ศาสนาพุทธพุ่งเป้าที่การชำระกิเลสในสันดานให้ออกจนหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สนใจโลก ยกตัวอย่างง่ายๆ คือพุทธนั้นจะขุดลงไปที่รากของปัญหาคือกิเลสก่อน แล้วค่อยวกกลับมาใช้ความเห็นที่เป็นกุศลต่างๆดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น ทำความเห็นให้ตรงและปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งผลสุดท้ายของการปฏิบัติแบบพุทธนั้นมีภาพออกมาจะคล้ายๆกับคนไม่กินเนื้อสัตว์ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น เรามีความอยากกินเนื้อสัตว์ เรารู้สึกถึงร่างกายที่แสดงอาการเมื่ออยากเนื้อสัตว์ หงุดหงิด งุ่นง่าน อยากจะได้เนื้อสัตว์มาเสพ รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นทุกข์มากเพราะความอยาก ตรวจลงไปในจิตก็พบว่ามันอยากเสพสัมผัส รส กลิ่น และที่สำคัญคือรูปร่างหน้าตาของเนื้อที่ชวนฝันนั้น เมื่อเห็นดังนั้น จึงใช้ความจริงตามความเป็นจริงเข้ามาต้านพลังกิเลสที่ชวนฝันนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยากลิ้มรสก็พิจารณารสเนื้อดิบ เมื่ออยากได้กลิ่นย่างหอมๆก็พิจารณากลิ่นเลือด เมื่ออยากได้สัมผัสนุ่มๆก็ให้พิจารณาสัมผัสเนื้อเน่าจากศพสัตว์ ฯลฯ การพิจารณาอสุภะอย่างหยาบนี้จะช่วยลดความอยากที่รุนแรงลงมาได้

ข้อพิจารณาดังกล่าวนั้นเป็นเบื้องต้นเพื่อลดความกระหายอยากให้สงบลง ซึ่งเรื่องที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ค้านแย้งกับสิ่งที่ติด แล้วค่อยๆพิจารณาลงไปถึงกรรมและผลของกรรมหากยังติดเนื้อสัตว์นั้น ความเป็นประโยชน์หากออกจากความอยากนั้น ความเป็นโทษถ้ายังหลงอยู่ในความอยากนั้น รวมทั้งพิจารณาไตรลักษณ์ คือความสุขจากการกินเนื้อนั้นไม่เที่ยง ความอยากกินเนื้อเป็นทุกข์ และความสุขจากการกินเนื้อไม่มีตัวตนอยู่จริง เราปั้นรสสุขและความทุกข์เหล่านั้นขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงคิดไปเองว่ามันมีจริง ทั้งที่จริงแล้วรสสุขเมื่อได้เสพเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริง พิจารณาไปจนรอบถ้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใคร่ครวญธรรมไปเรื่อยๆ จะสามารถลด “ความอยาก” ได้ ทำให้ความอยากนั้นจางคลายและดับไปได้

ในสภาวะสุดท้ายคือจิตนั้นแนบแน่นแนบเนียนไปตามไตรลักษณ์ คือเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆโดยไม่สงสัยใดๆอีก หมดความหลงในเนื้อสัตว์ เพราะรู้แจ้งชัดเจนในตนเองว่าแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ถึงจะไปเสพก็ไม่มีสุขหรือทุกข์ที่เกิดจากแรงของกิเลสเกิดขึ้นอีก ไม่มีทั้งรักทั้งชัง ไม่มีผลักไม่มีดูด หมดสิ้นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจของการชำระกิเลสในเรื่องนั้น ซึ่งจะเกิดบุญโดยลำดับไปจนกระทั่งปฏิบัติไปถึงในตอนสุดท้ายจะเรียกว่า “สิ้นบุญสิ้นบาป” หมายถึง หมดหน้าที่ของบุญ คือไม่มีกิเลส(บาป)ให้ชำระในเรื่องนั้นๆอีกต่อไปแล้ว แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมเรื่องอื่นต่อเช่น ขนม ของหวาน ฯลฯ

ดังจะเห็นแล้วว่า การปฏิบัติให้เกิดบุญหรือการชำระกิเลส มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ตั้งแต่การกำหนดรู้อาการของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง การอ่านเวทนา การรู้จิตว่าปนเปื้อนไปด้วยกิเลสใด จนถึงการสร้างธรรมให้เจริญขึ้นในตนจนหมดความหลงติดหลงยึดในสิ่งนั้น สามารถไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติ นี่คือการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

สรุปเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญ

ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์นี้ จะเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาทิฎฐิ) ไม่ว่าจะคิด พูด ทำสิ่งใดก็ตาม ก็จะเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อการชำระกิเลส นั่นหมายถึงเป็นบุญ ส่วนผู้ที่มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ตายยังไงก็ไม่เป็นบุญ เพราะไม่เข้าใจว่า “บุญคืออะไร”…

– – – – – – – – – – – – – – –

15.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)