พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,906 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Related Posts

Comments (11)

  1. บทความที่ได้รับความสนใจมากที่สุด…

    บทความนี้ได้รับความสนใจมาก จากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผมก็ยอมรับว่าการจะเห็นด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

    นั่นเพราะนี่คือ “ผล” จากการปฏิบัติธรรมของผม จากที่เป็นคนเคยมัวเมาลุ่มหลงในเนื้อสัตว์ ต้องไปแสวงหาเนื้อสัตว์อร่อยๆ มากินตามประสาคนโลกๆ และปฏิบัติจนล้าง “เหตุ” แห่งความมัวเมาในเนื้อสัตว์นั้นออกไป จึงได้ผลออกมาดังเช่นในบทความนี้

    ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่คนที่ไม่เคยปฏิบัติธรรม ไม่เคยขัดเกลา ไม่เคยอดทนอดกลั้น ไม่เคยทำความเมตตาให้เจริญ ไม่เคยศึกษาอธิศีล จะสามารถเข้าใจได้เลย มันจึงเป็นสภาพเฉพาะของผู้ที่พยายามปฏิบัติจนถึงผู้ที่ก้าวข้ามความอยากกินเนื้อสัตว์เท่านั้นที่จะเข้าใจ

    แต่ก็ได้พิมพ์บทความนี้ไว้ เป็นหลักฐาน เป็นที่อ้างอิง เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันว่า การไม่กินเนื้อสัตว์นั้นมีความสุขกว่าการกินเนื้อสัตว์จริง

    ผมก็เคยเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์มาทั้งชีวิตเหมือนกับคนอื่นนั่นแหละ …ว่าแต่คุณล่ะ เคยมั่นใจในตนเองหรือยังว่าทั้งชีวิตที่เหลือจะอยู่ได้อย่างเป็นสุขโดยไม่กินเนื้อสัตว์? …ถ้าไม่มียืนอยู่ในจุดที่ผมยืนอยู่ ก็ไม่มีวันจะเห็นคุณค่าของความจริงอันนี้หรอก

    ถ้าอยากพิสูจน์ก็ลองมาปฏิบัติกันดู…เพราะเพียงแค่ธรรมตามที่กล่าวอ้างกันมานั้น อาจจะไม่ใช่ความหลุดพ้นที่แท้จริงก็ได้

    • liu

      ถ้างั้นพระอริยะทุกพระองค์คงเลือกกินแต่ของเจพวกที่ไม่ได้กินเจคงตกนรกหมดทุกคนสินะท่านผมคนหนึ่งก็ปฏิบัติเหมือนกันในเมื่อเราไม่ยึดมั่นถือมันเดินทางตามคำสอนของพระองค์จริงๆคงไม่คิดแบบคุณ

    • liu

      ก่อนวันปรินิพพานพระพุทธองค์ฉันอะไรครับคิดดูดีๆอย่าแสดงความโง่ของตัวเองยัดเยียดพระพุทธเจ้า

  2. มาโลเน่

    ส่วนตัวมองว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์นะคะ
    เพราะ พระสงฆ์ ต้องกินง่าย อยู่ง่าย ไม่เบียดเบียนชาวบ้าน
    ถ้าพระพุทธเจ้าไม่รับบิณฑบาตเนื้อสัตว์ ที่ปกติๆชาวบ้านทำทานกัน
    แล้วพอเจอพระพุทธเจ้า/พระสงฆ์มายืนหน้าบ้าน ก็ศรัทธา ตักแบ่งมา
    พระพุทธเจ้าก็จะโปรดสัตว์ได้น้อยลง ส่วนตัวมองว่าพระพุทธองค์ฉันค่ะ
    เพราะท่านมองว่านั่นคือรูป นั่นคือ ธาตุขันธ์ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
    มันตายเพราะบุพกรรมของมัน

  3. ST

    1) การกินเจหรือไม่กินเจ ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดตายตัวว่า บุคคคลนั้นจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือลงนรก หากแต่การกินเจหรือมังสวิรัติ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ผู้กินไม่ต้องการสร้างพันธกรรมกับสัตว์ที่ถูกกิน หรือเบียดเบียนเอาชีวิตสัตว์อื่นเพื่อสนองในเวทนาของตน

    2) อาหารมื้อสุดท้าย สุกรมัททวะหมายถึงยาสมุนไพรชนิดหนึ่งมากกว่าเนื้อสุกรอ่อน

    3) การกินอยู่ง่าย คือการกินหรือปรุงอาหารที่ทำได้ง่ายๆ ลองนึกดูว่า คุณทำอาหารแบบไหนยากกว่ากันระหว่าง การฆ่าสัตว์แล่เนื้อเถือหนัง กับการตัดปอกแต่พืชผัก แล้วเอามาปรุงอาหาร

    ผู้มีวิชชาย่อมเข้าใจแล้วว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่เป็นประโยชน์อันใด ท่านย่อมโปรดชาวบ้านผู้มีอวิชชาให้ตระหนักว่า การเบียดเบียนสัตว์ชีวิตสัตว์อื่นเพื่อนำมาเป็นอาหาร แล้วอ้างว่ามันตายเพราะบุพกรรมของมัน เป็นเรื่องที่ผิดศีลข้อที่ 1 ที่ท่านกำหนดเอาไว้เอง

  4. BB

    โดยส่วนตัวเลือกที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เพราะไม่ต้องการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ใดมาเพื่อบำรุงตนเอง เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย เรามองไปถึงขั้นตอนความทุกข์ทรมานที่เค้าได้รับ ความเจ็บปวด และเห็นรถขนสัตว์เข้าโรงฆ่า หรือชำแหละมาแล้วเพื่อนำมาขายเป็นตัวๆ กระดูกที่ทับถมกันเป็นคันรถ วันนึงต้องตายกี่ชีวิต แล้วทานเนื้อสัตว์ทั้งโลก สัตว์เล็กใหญ่ หัวใจเราคือเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตใคร ผลพลอยได้คือสุขภาพดีไม่มีโรคร้ายในภายหลัง มีกำลังในการปฏิบัติธรรมยิ่งขึ่น เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ

  5. เหตุและผล

    อ่านมาทั้งหมดอันสุดท้ายดีสุดเลยครับ…

  6. โจ

    รูปที่ลง ผิดมากนะคะ พระพุทธเจ้าฉันเนื้อค่ะ
    มีอยู่ในพุทธประวัติเลยค่ะ อาคันธมะสูตร

  7. พัชรี ว่องไววิทย์

    1) มนุษย์เป็นสัตว์กินพืช

    2) พุทธศาสนา #อนุญาตให้กินเนื้อสัตว์ที่ตายเอง_ไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่า

    3) คำคมของฝาหรั่ง ที่พูดว่า “When the buying stops, the killing can too”
    แปลความหมายได้ คือ ..#การเป็นนักมังสวิรัติ_ไม่เป็นเหตุให้สัตว์ถูกฆ่า

    สรุปว่า..การเป็นมังสวิรัติ ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะไม่ผิดศีลข้อที่1

  8. พุทธวจน

    ศึกษาให้เข้าถึงแกน
    อาหารสุดท้ายของพระพุทธองค์ คือเห็ดสุกมัธวะครับ
    ในหนังพระพุทธเจ้ายังมีเลยครับ
    เราใช้ความคิดเอาเองมานานแล้ว
    ทำไมพระที่อินเดียฉันมังสวิลัทต์
    พระพุทธองค์มาจากไหน ประเทศอะไร บรรลุธรรมที่ไหน
    ทำไมหนังพระพุทธเจ้าเขาถึงไม่เอาข้อมูลของประเทศไทย
    เราเก่งกว่าต้นฉบับไปแล้ว ศึกษาให้จริง คือต้นฉบับ

  9. MisterK

    ทางสายกลางเถอะครับ มีก็ฉัน ไม่มีก็ไม่ฉัน มีเนื้อก็ฉันเนื้อ มีนมก็ฉันนม มีข้าวก็ฉันข้าว … สำคัญตรงที่ไม่ให้ฆ่าเนื้อ ฆ่าสัตว์ เพื่อนำเนื้อนั้นมาเลี้ยงพระสงฆ์

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply