Tag: สัจจะ

การตอบคำถามในหมวดที่คนยึดมาก ๆ

July 14, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 958 views 0

วันนี้มีคนมาถามคำถามเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ในพระพุทธศาสนา เป็นบทความเก่าที่ผมได้พิมพ์ไว้หลายปีแล้ว

หลัง ๆ มานี้ผมหมดฉันทะ คือหมดความยินดีในการตอบคำถามเหล่านั้น เพราะโดยมากมักจะปักธงเชื่อของเขาอยู่อย่างนั้น การถามส่วนมากก็เพียงเพื่อจะข่มหรือแข่งดีเอาชนะเท่านั้นเอง

ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นประโยชน์อะไรกับการเสียเวลาไปตอบคนที่เขาไม่ได้ศรัทธา ไม่ได้น้อมใจไปสู่การไม่เบียดเบียน มันก็เมื่อยเปล่า ๆ เหมือนตำน้ำพริกลงแม่น้ำ เพราะจริง ๆ ในบทความก็พิมพ์ตอบไว้หมดแล้ว เพียงแต่ถ้าเขาจะหาเรื่องติเรื่องเพ่งโทษ เขาก็หากันได้หมดนั่นแหละ

ถ้าวัดกันในพุทธระดับโลกจริง ๆ เขาก็ไม่กินเนื้อสัตว์กันครับ มีแต่ไทยกลุ่มใหญ่นี่แหละที่ยังกิน แล้วก็อ้างตนว่าถูก คือถ้าเถียงกันไปกันมานี่มันเสียเวลาน่ะครับ ให้สัจจะพิสูจน์ดีกว่า ว่าทำแล้วพ้นทุกข์จริงไหม?

ว่ากันจริง ๆ นะ คนที่เขาปล่อยวางได้ เขาไม่มาเถียงสู้ผมหรอก คนอัตตาจัดเขาอ่านสิ่งที่ขัดกับตนเอง เขาก็อารมณ์ขึ้น มันก็ยึดดี อยากสั่งสอน อยากแสดงตนว่าข้าแน่ ข้าถูกต้อง เขาก็มาแสดงตัวของเขานั่นแหละว่าเขายังวางความเห็นที่แตกต่างไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่โลกนี้ใครก็เห็นแตกต่างกันทั้งนั้น

ส่วนตัวผมก็ไม่ค่อยถือสาเท่าไหร่ เพราะเข้าใจว่าโลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ แต่เราก็จะโฟกัสเฉพาะกลุ่มคนที่เราพูดได้ สื่อสารได้ ศรัทธากัน เราไม่ใช่นักโต้วาที เอาวาทะธรรมไปเถียงเอาชนะกันเสียที่ไหน อันนั้นมันนักเลงธรรมคุยกัน เขาชอบก็ปล่อยเขา เราก็ทำแบบของเราไป

ก็เว้นเสียแต่ว่าคนที่มาติดตามผมบ่อย ๆ เห็นแล้วยกมาถาม ผมก็จะตอบให้ตามที่รู้ครับ หรือมีคนถามมาแล้วผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่ติดตามผมอยู่ ก็จะนำมาตอบกันครับ

รักมั่นคง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,635 views 0

รักมั่นคง

รักมั่นคง

… ความตั้งมั่นจะที่ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัวเพื่อดำรงไว้ซึ่งสัจจะ

คงจะเป็นเรื่องยากถ้าจะให้เราปล่อยวางความรัก ทำตัวเฉยๆกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา แม้ว่าจะศึกษาธรรม อ่านบทความเกี่ยวกับความรัก มีกรณีศึกษามากมายที่ทำให้รู้สึกหวั่นเกรงอยู่บ้าง แต่เมื่อได้ประสบกับความรักเข้าจริงๆแล้ว เราก็มักจะยอมปล่อยวางธรรมเหล่านั้นและเดินตามความรักไปอย่างเต็มใจ

เมื่อความรักในแบบที่เข้าใจดำเนินมาตามขั้นตอนคบหา ดูใจ เรียกว่าคนสนิท ได้ชื่อว่าแฟน จนกระทั่งแต่งงานเป็นสามีภรรยา แน่นอนว่ามีเวลามากมายให้เราได้คิดพิจารณา แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ละก็เวลาเหล่านั้นก็จะถูกใช้ไปกับการเสพสุข ใช้ในการบ่มเพาะเรื่องราวความรักจนกระทั่งแต่งงาน

ในบทความนี้เราจะมาเล่ากันในเรื่องการประคองความรักหลังแต่งงาน ทำอย่างไรให้ชีวิตรักนั้นมั่นคง สิ่งใดที่คงทำให้เจริญ สิ่งใดที่ควรทำลาย

0). เกริ่นนำ

มนุษย์นั้นได้ชื่อว่าประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง นั้นเพราะมนุษย์มีคุณธรรม มีความดีงามเหนือสัตว์อื่น ดังนั้นการครองคู่ของมนุษย์ที่ประเสริฐนั้นก็ย่อมจะมีคุณค่าและมั่นคงเหนือสัตว์อื่นเช่นกัน

นกเงือกเป็นสัตว์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของรักแท้ เพราะตลอดชีวิตมันก็จะมีคู่เดียว เลือกแล้วเลือกเลยไม่แปรผัน อยู่กันไปจนตาย สัตว์เดรัจฉานนี้อาจจะทำไปด้วยปัจจัยหรือสัญชาติญาณใดๆก็ตาม แต่ก็นับเป็นสัญลักษณ์ที่ประเสริฐ ที่ควรน้อมนำมาปฏิบัติ ดังนั้นเกิดเป็นมนุษย์ก็จงอย่าทำตนให้ต่ำกว่านกเงือก

1). เปิดม่านละครเรื่องใหม่

หลังจากที่เราได้เกี้ยวพาราสี สนองกิเลส บำรุงบำเรอคู่จนหลงในความรัก ตกลงปลงใจแต่งงานกันแล้ว ก็ถือเป็นการเริ่มต้นละครเรื่องใหม่ซึ่งต่างไปจากเดิม หลายคนมองว่าการแต่งงานคือความสมบูรณ์ในชีวิต มองว่าการแต่งงานเป็นตัววัดคุณค่าของคน เป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นความหมายในการเป็นคน

แม้ว่าเราจะมีความเห็นผิดเหล่านั้นแต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสักเท่าไรนัก เพราะปัญหาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราแต่งงานมีครอบครัวใหม่ นั่นก็เพราะว่าบทที่เราต้องเล่นจะเปลี่ยนไป ทุกอย่างที่เคยมีจะเปลี่ยนแปลง ทั้งเสพทั้งเสื่อมสลับปรับเปลี่ยนหมุนไปอย่างรวดเร็วจนเราเล่นตามบทไม่ทัน

ในละครเรื่องนี้ หน้าที่ของเราก็คือเล่นบทบาทให้สมจริง ให้เป็นสามีจริงๆ ให้เป็นภรรยาจริงๆ เป็นนักแสดงรางวัลตุ๊กตาทองที่แม้บทจะยากเย็นแสนเข็ญก็จะแสดงให้ดีให้สมจริงให้ได้

1.1). ในบทสามี

เมื่อเป็นสามี ชีวิตจะเปลี่ยนไปเพราะได้ภาระคนใหม่ในชีวิตที่ชื่อว่า “ภรรยา” เข้ามา แม้ความสวยงามของเธอ อัตตาของเธอ การสมสู่กับเธอ ในช่วงแรกๆอะไรก็ดีไปหมดดังที่เขาว่า “ข้าวใหม่ปลามัน” แต่อารมณ์สุขเหล่านั้นจะเสื่อมลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อได้เสพซ้ำๆ

ผ่านไปเรื่อยๆความเป็นเธอหรืออัตตาในแบบของเธอที่เราเคยชอบมันจะเริ่มเป็นปัญหา เพราะจริงๆเธอก็ยั้งไว้เช่นกัน ก่อนแต่งก็เก็บๆไว้ก่อนหลังแต่งก็ปล่อยเต็มที่ สุดท้ายเราจะได้พบกับความเอาแต่ใจของเธอแบบเล่นจริงเจ็บจริง เพราะเมื่อเธอได้ยึดเราเป็นที่พึ่งแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผัวเมียแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงใจกันมากนัก จริงใจกันจะดีกว่า ว่าแล้วก็เลยปลดปล่อยอัตตากันเต็มที่

ผ่านไปอีกไม่นาน ความเต่งตึงและความงามที่เคยมีจะค่อยๆเสื่อมสลาย หลายส่วนจะค่อยๆหย่อนยานเหี่ยวย่น หมองคล้ำ ไม่น่ามอง ไม่น่าสัมผัส เนื่องจากเธอไม่จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้มากเหมือนสมัยที่ต้องยั่วกิเลสเราให้เราหลงแต่งงานกับเธอ และเธอเองก็ยังไม่สามารถที่จะป้องกันความแก่ที่เพิ่มขึ้นทุกวันได้อีกด้วย

ยิ่งถ้าเธอมีลูกแล้วสามีอาจจะต้องพบกับสภาพที่น่าสงสารที่สุดก็คือ ภรรยารักลูกมากกว่า หรือไม่ก็ร่างกายเธอเปลี่ยนไปจนกู่ไม่กลับ ด้วยสัญชาติญาณความเป็นแม่ ความรักความห่วงใยมักจะไปลงที่ลูก แน่นอนว่าจริงๆแล้วคนที่อยากได้ความรักจากภรรยาคือสามี แต่โดนลูกแย่ง ทีนี้จะไปโกรธลูกก็ไม่ได้เพราะรักลูกเหมือนกัน แต่นี่เองคือสภาพความเสื่อมที่ต้องเผชิญ

รวมถึงภาระที่ต้องแบก ฝ่ายชายซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำโดยสากล ย่อมแบกภาระในหลายๆด้าน นำมาซึ่งความกดดันทางจิตใจ แต่ก็ไม่เป็นไรนะ ไหนๆเราก็เลือกที่จะมาเป็นสามีเธอแล้ว ถึงแม้เธอจะแก่จะเหี่ยว เรื่องมาก เอาแต่ใจเพียงใด นี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ดังนั้นด้วยบทสามีดีเด่น ก็ควรจะดำรงความดีไว้ แม้ว่ามันจะไม่สุขเหมือนก่อนแล้วก็ตาม

1.2). ในบทภรรยา

เมื่อเป็นภรรยาแล้ว แรกๆอาจจะพบว่าเต็มไปด้วยความสวีทหวานสามีทำการบ้านตลอดไม่เคยเกเร พอผ่านไปก็ชักจะเริ่มขาดส่ง จนกระทั่งหายไปนานๆ เราพยายามแต่งตัวสวยยั่วกิเลสก็แล้ว ทำตัวน่ารักเหมือนสมัยสาวๆก็แล้ว ก็ยังไม่ได้ผล ซึ่งจริงๆเราก็ต้องเข้าใจความเป็นจริงของโลกว่า อาการคนเสพจนเบื่อมันเป็นเช่นนี้

แล้วแต่ก่อนเราเคยถูกเอาใจ ดูแล โทรหาทุกเช้าเย็น ไปรับไปส่ง มันอาจจะเสื่อมลงสลายลง กลายเป็นผลติดลบเช่น ต้องมาคอยดูแล เอาใจ ต้องคอยโทรเช็คทุกเช้าเย็นว่าไปไหน ต้องขับรถไปรับไปส่งสามี แม่สามี และลูกอีกอะไรแบบนี้ก็คงต้องยอมเข้าใจ

เรื่องความสวยนี่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าคนเสพรูปความสวยจนเบื่อแล้ว แต่งไปก็เท่านั้น สวยไปก็เท่านั้น แต่ไม่สวยแล้วอาจจะโดนติได้ มีแต่เท่าทุนกับขาดทุน

ยิ่งถ้ามีลูกยิ่งแล้วใหญ่ ลูกก็ต้องเลี้ยง สามีก็อ้อนเอาแต่ใจ ต้องแบ่งความรักความเห็นใจวุ่นวายกันไปหมด แถมร่างกายหลังมีลูกมันก็ไม่เหมือนเดิมอีกด้วย จะทำให้เหมือนเดิมมันก็ยาก บางคนคลอดแล้วก็ยังเหมือนไม่ได้คลอด

ทีนี้พอมีลูกก็มักจะมีญาติผู้ใหญ่เข้ามาเสริมในชีวิตเข้าไปอีก ปรุงแต่งกิเลสกันสนุกสนาน คนนั้นก็จะเอาอย่างนั้น คนนี้ก็จะเอาอย่างนี้ แต่แน่นอนว่าในบทภรรยาดีเด่น เราก็ต้องกระจายความรักความเมตตาให้กับทุกคน สามีก็ต้องเป็นสุข ลูกก็ต้องเป็นสุข ญาติๆก็ต้องเป็นสุข สุดท้ายเราก็แบกทุกข์ไว้เอง ทนๆกันไปนะ

1.3). แนะนำตัวละครใหม่ที่เรียกว่า “ลูก”

ใครก็ไม่รู้ที่มาสวมบทบาทเป็นลูกของเรา แน่นอนว่าเนื้อหนังที่หุ้มนั้นเป็นส่วนที่เราสร้างมา แต่จิตใจและกรรมนั้นเป็นของเขา ซึ่งเขาจะเป็นตัวละครที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตพ่อแม่ เปลี่ยนวิถีจากคู่รักกลายเป็นครอบครัวอย่างแท้จริง เป็นคนที่จะเข้ามาพึ่งพิงพลังชีวิตของสามีและภรรยา นั่นหมายถึงเขาคือภาระที่เราต้องเลี้ยงดู เป็นเหมือนดังบ่วงที่ผูกไว้ให้เป็นสภาพครอบครัว ให้หนีจากความเป็นครอบครัวไม่ได้

แต่แน่นอนว่าในฐานะพ่อแม่ดีเด่นแล้ว เราต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกให้เหมาะสมที่สุดอย่างเป็นกุศลตามที่เขาควรจะเป็น ไม่ใช่ที่เราอยากให้เป็น ซึ่งก็เป็นผลกรรมที่พ่อแม่ต้องรับไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องเลี้ยงไปนานเท่าไหร่น่ะหรอ? ก็จนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ทำมานั่นแหละ

1.4). ตัวละครเสริมพ่อตาแม่ยาย ญาติ มิตรสหาย

เป็นคนที่มักจะเข้ามาเป็นฉากๆ ไม่ประจำนัก สมัยนี้คนไทยมักจะไม่ค่อยมีภาพครอบครัวใหญ่ให้เห็นมากเหมือนก่อน แต่ญาติมิตรสหายนั้นก็กลับเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อชีวิตคู่เช่นกัน โดยเฉพาะพ่อแม่นี่แหละ เพราะเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อชีวิตคู่อย่างมาก มีพลังอำนาจที่สามารถทำให้ทุกข์หรือสุขได้ เราไม่สามารถจะไปกำหนดบทบาทของตัวละครเสริมเหล่านี้ได้นัก ได้แต่รับผลกรรมไปตามที่ทำมา

2). หน้าที่

เมื่อเปลี่ยนจากการคบหาดูใจมาเป็นสามีภรรยาแล้ว หน้าที่ที่จะต้องทำก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย นั่นคือการสงเคราะห์ ดูแล ช่วยเหลือภรรยา บุตร ญาติ พ่อแม่ ฯลฯ ซึ่งเป็นมงคลชีวิตที่ต้องกระทำ ถ้าไม่ทำก็ถือว่าละทิ้งหน้าที่ ไม่เป็นมงคล เป็นทางเสื่อม

เรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าการเพิ่มใครเข้ามาสักคนในชีวิตนั้นหมายถึงภาระที่เพิ่ม แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ตระหนักกันในมุมนี้สักเท่าไร มักจะมองว่าช่วยกันพาเจริญ ช่วยกันทำดี เห็นแต่มุมที่สวยงาม แต่ลืมมองเรื่องของกิเลสและวิบากกรรมที่มีร่วมกัน

การพูดถึงหน้าที่นั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ใครก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจกันโดยสามัญ แต่หน้าที่ในที่นี้หมายถึงการทำหน้าที่แม้กระทั่งอยู่บนปัจจัยที่ต่างไปจากเดิม สภาพที่ไม่เอื้อต่อการทำหน้าที่ หรือแม้สภาพจิตใจที่ไม่อยากทำหน้าที่

ชีวิตคู่ไม่ได้ราบเรียบเหมือนน้ำในทะเลสาบ แต่ปรับเปลี่ยนรุนแรงเหมือนกับทะเล ดังนั้นความยากของการทำหน้าที่คือการทำหน้าที่บนความเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมไม่ได้ เราไม่ควรละทิ้งหน้าที่ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใดๆก็ตาม แต่หน้าที่นั้นเป็นภาระที่เราต้องแบ่งพลังชีวิตของเรามาทำแม้ว่ามันจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหน เพราะนั่นเป็นวิบากกรรมที่เราทำมา เราตัดสินใจแต่งงานมาเอง เราต้องรับภาระนี้เอง จะมาเหยาะแหยะอ้างนู่นอ้างนี่ ทำตัวงอแงเหมือนเด็กที่หาข้ออ้างเพื่อจะไม่ได้ทำการบ้านไม่ได้

ไม่ใช่ว่างอนหรือทะเลาะกันแล้วละเว้นหน้าที่ บ้านก็ต้องดูแล งานบ้านก็ต้องทำ ต้นไม้ก็ต้องรดน้ำ การสมสู่ก็ต้องยอม พอเรารู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้นี่แหละจะทำให้เราละเว้นจากหน้าที่ เห็นไหมว่าการทำหน้าที่ยากเพียงใด ดังนั้นจงอย่าประมาท อย่าให้ความเห็นแก่ตัวมาอยู่เหนือหน้าที่

3). ความมั่นคง

เมื่อวันคืนผันผ่าน เนิ่นนานเป็นเดือนเป็นปี เป็นสิบปี ยี่สิบปี…ความรักสุดหวานเมื่อครั้งสมัยแต่งงานใหม่ๆหรือสมัยจีบกันนั้นเลือนหายไปหมดแล้ว ถึงแม้จะคงอยู่ก็อยู่เพียงแค่รูปธรรม เป็นแค่ภาพเก่าๆ สัญลักษณ์เก่าๆ แต่ความสุขนั้นได้จางลงไปแล้ว

เมื่อความหลงที่เคยมีกลับเลือนหายเหมือนหมอกที่โดนแสงตอนสาย ความจริงก็จะปรากฏ ผู้หญิงที่เราเคยรักเคยหลงใหลอาจจะกลายเป็นเพียงแค่คนที่เอาแต่ใจ แก่ เหี่ยว ขี้งอน ขี้บ่น ขี้ลืม ขี้เหนียว ซุ่มซ่าม มักง่าย อ้วน ไม่เรียบร้อย ฯลฯ และผู้ชายที่เราเคยปักใจรักมั่นอาจจะลงพุง เกเร พูดจาไม่หวานเหมือนก่อน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โทรม ไร้ราศีหนวดเครารุงรัง ขี้โม้ ขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ฯลฯ

และทุกสภาพความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมที่ต้องเผชิญเช่น ความจน ตกงาน ล้มละลาย เสื่อมเสียชื่อเสียง โดนฟ้องในคดีต่างๆ ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง พิการ กลายเป็นผัก ลูกติดยา ลูกอยากเปลี่ยนเพศ ปัญหาในหมู่ญาติและสารพัดปัญหาอีกมากมายที่จะต้องเจอเมื่อดำเนินชีวิตคู่

เราจะสามารถมั่นคงอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อทุกสิ่งที่เราเคยหวังจะได้เสพมันได้หายไปหมดแล้ว มันเสื่อมสลายไปหมดแล้ว มองไปรอบกายดอกไม้ของคนอื่นช่างดูงดงาม แต่ทำไมดอกไม้ของเรากำลังร่วงโรย เราจะทนกับสภาพแห่งความเสื่อมเหล่านี้ได้อย่างไร

สิ่งเดียวที่จะช่วยให้รักนั้นมั่นคงและดำเนินต่อไปได้คือความเสียสละ ยอมสละความเห็นแก่ตัวทิ้งไป ยอมไม่สุข ยอมไม่เสพ ยอมอยู่กับความเสื่อม ยอมทนทุกข์เพื่อดำรงสัจจะ เพื่อพิสูจน์ความแท้ของรักที่มี เพื่อดำรงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ เป็นคุณธรรมที่ควรค่าแก่การเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง

4). บทสรุปรักลวง

ในศาสนาพุทธนั้นการแต่งงานหมายถึงการครองคู่กันดูแลกัน ทำหน้าที่ตลอดไป ศีลข้อ ๓ นั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของการครองคู่ การนอกใจคู่ครองนั้นเป็นบาปและสร้างกรรมชั่วที่ร้ายกาจ เพราะการทำลายความเชื่อใจของคนคนหนึ่งนั้นหมายถึงการทำลายศรัทธาและความเชื่อมั่นในคุณธรรมของคนไปด้วย

คนที่นอกใจนั้นคือผู้ที่ทำลายคุณค่าในตนเองด้วยกิเลสที่มีในตน เพราะตนนั้นทนพลังกิเลสตัวเองไม่ไหว จึงยอมทิ้งศีลธรรมจนกระทั่งนอกใจคู่ของตน คำว่า “นอกใจ” นั้นมีความหมายลึกซึ้ง เพราะครอบคลุมทั้งร่างกาย วาจา ไปจนถึงใจ การที่มีจิตคิดไปว่าถ้าได้เสพคนนั้นหรือคนไหนที่ไม่ใช่คู่ของตนก็ถือว่านอกใจแล้ว ใจไปถึงบาปนั้นแล้ว เพียงแค่รอร่างกายตามไป รอที่จะสะสมกิเลส สะสมกำลังและวิธีการให้ได้ไปเสพในวันใดวันหนึ่งเท่านั้นเอง

สามีภรรยาทุกคู่นั้นย่อมจะต้องเจอกับสภาพความเสื่อมอยู่แล้ว เราแต่งงานเพราะความหลง เมื่อความหลงจางคลายจึงพบความจริง หลายคนยอมทำใจรับกับความจริงได้ ยอมเสียสละสุขบางส่วนเพื่อคนที่รัก แต่ก็มีหลายคนที่ทำใจไม่ได้ จึงทำให้คนรักที่เคยพูดแค่คำหวาน ให้คำสัญญามั่นหมาย รักกันเสียสละให้กัน ดูแลกันจนตาย ยินดีที่จะทำลายคำสัญญาเหล่านี้ ยอมกลายเป็นผู้ไม่มีสัจจะเพียงเพราะแค่ตนนั้นทนสภาพทุกข์ไม่ไหว จึงขอเอาตัวรอดไปเสพสุขเพียงผู้เดียว

แม้จะละทิ้งหน้าที่ ทำลายสัจจะ ฉีกสัญญารัก เอาตัวรอดไปได้เหมือนนกที่รักอิสระโบยบินออกจากกรงทอง แต่กรรมนั้นกลับผูกมัดไว้อย่างแน่นหนา เพราะการละทิ้งหน้าที่ การไม่ดูแลคู่ของตน การประพฤตินอกใจคู่ครองนั้นเป็นความหยาบที่หนักหนาสาหัส หยาบขนาดที่ว่าสัตว์เดรัจฉานบางชนิดยังไม่ทำกันเลย

ผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความลวงในหน้ากากของความรัก ได้ชดใช้กรรมที่ตนเคยก่อไว้ และได้อิสระคือความโสดกลับมาอีกครั้ง ซึ่งมีแต่เรื่องน่ายินดี แม้ว่าในตอนแรกอาจจะเต็มไปด้วยความเสียใจที่เสียของรัก แต่ในที่สุดในวันใดวันหนึ่งก็จะเข้าใจได้เองว่าความโสดนี้คือสมบัติที่มีคุณค่าที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงควรขอบคุณคนที่ยอมทิ้งเราไป

ส่วนคนที่ละทิ้งหน้าที่ แสร้งทำเป็นผู้ยอมมาทำบาป จึงกลายเป็นตัวแทนชำระหนี้กรรมให้กับผู้ถูกทิ้ง โดยยินดีสร้างกรรมชั่วนั้นไว้กับตนเสียเอง จึงกลายเป็นผู้ที่น่าสงสารที่สุด เพราะนอกจากจะสูญเสียศักดิ์ศรี เสียสัจจะ เสียคุณค่า แล้วยังต้องมาสร้างบาปแบกวิบากกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้อีก มีแต่เสียกับเสียอย่างเดียว แต่นั่นก็หมายถึงว่าในท้ายที่สุด เขาก็จะได้เรียนรู้กับผลกรรมที่เจ็บแสบจากกรรมที่เขาเคยกระทำไว้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

15.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทางที่ไร้เป้าหมาย

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,358 views 0

ทางที่ไร้เป้าหมาย

ทางที่ไร้เป้าหมาย

…เมื่อเส้นทางที่เดินและจุดหมายที่ไปนั้นไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิบัติธรรมหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจใดๆก็ตาม หากไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลส การกระทำเหล่านั้นก็เหมือนกับการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายจึงไม่เดินทางต่อ ไม่ปฏิบัติต่อ จึงยึดมั่นถือมั่นไว้กับที่ตรงนั้น

การเดินทางของจิตวิญญาณใดๆก็ตามล้วนแต่แสวงหาเป้าหมาย แต่การจะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและต้องเดินทางไปทางใดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง คาดเดาเอาเองได้เลย ถึงคิดไปมันก็จะผิด ถึงจะพยายามเดินไปก็จะเป็นการเดินทางที่ผิด เป็นเป้าหมายที่ผิดเป้าหมายมีอยู่แต่เหมือนไม่มีอยู่เพราะไม่มีจุดจบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ว่าด้วยเรื่องการเกิดอวิชชานั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษไม่คบหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ที่พาพ้นทุกข์ สัตบุรุษนั้นคือผู้รู้ทางธรรมในพระพุทธศาสนา รู้มรรค คือรู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ รู้นิโรธ คือรู้สภาพดับทุกข์ ซึ่งสภาพที่รู้คือสัมมาอริยมรรคและสัมมาวิมุตติ คือวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ที่ถูกต้องจนกระทั่งไปถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ถูกต้อง

สัตบุรุษคือผู้ที่สามารถชี้ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ คือชี้ให้เห็นทุกข์ ชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงการดับทุกข์ จนกระทั่งสอนวิธีให้เดินทางไปสู่การดับทุกข์นั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงมรรคผลได้

ถ้าหากว่าเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาแม้ผู้เจริญกว่า เราก็จะไม่มีใครมาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าขั้นกว่าของการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้ ก็มักจะเดินทางผิดเดินหลงทางแต่จะเข้าใจว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูก ถึงแม้ว่าจะพบจุดหมายปลายทางแต่จุดหมายนั้นก็อาจจะไม่ใช่จุดหมายที่ถูกก็ได้

เมื่อเราพอใจกับสภาพที่มี พอใจกับศีลที่มี นั่นก็เพราะเราไม่ศรัทธาในศีลที่มากกว่า ไม่เชื่อว่าความสุขที่มากกว่านั้นมี เราจึงยึดสภาพที่สุขน้อยทุกข์มากอยู่เช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าตอนนี้ดีแล้วตอนนี้ก็สุขมากแล้ว เหตุนั้นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษไม่มีตัวอย่างแห่งความเจริญ เมื่อไม่คบหาสัตบุรุษก็ไม่ได้ฟังสัจธรรมที่พาพ้นทุกข์ ถึงแม้เราจะฟังธรรมมากขนาดไหนแต่ถ้าธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลสก็ไม่ใช่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นกัลยาณธรรม เป็นธรรมของคนดี ธรรมที่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาดับกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลสก็จะยินดีในกิเลส วนเวียนอยู่ในโลกแห่งการเสพกิเลสและพอใจในศีลที่ตนตั้งอยู่

ถึงแม้จะไม่มีสัตบุรุษแต่ผู้มีปัญญาย่อมหาทางทำให้ตัวเองเจริญมากขึ้น พระไตรปิฏกนั้นยังมีข้อปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อีกมากมาย ยังมีศีลที่ขัดเกลากิเลสอีกมาก ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาหนทางเพื่อเข้าถึงศีลเหล่านั้น ในส่วนคนที่หลงผิดจะมองศีลเป็นเรื่องของพระ สนใจเพียงแค่ศีล ๕ ยินดีกับชีวิตฆราวาสในระดับศีล ๕ หรือต่ำกว่า ทั้งที่จริงผู้ครองเรือนนั้นสามารถถือศีลไปได้ถึงระดับศีล ๘ ถึง ๑๐ โดยที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งยังมีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลอีกหลายข้อที่นำมาปฏิบัติได้

แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพระ ทั้งๆที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมเช่นกัน ศีลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกข์ แต่กลับจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้พบกับสุขไม่ให้ตัวเองได้เรียนรู้การขัดเกลากิเลส ไม่ยอมให้ตัวเองสุขไปมากกว่านั้น

เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ยินดีในศีลที่สูงกว่า นั่นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาผู้รู้สัจจะ ไม่มีคนพาทำ ไม่มีคนนำ ถึงจะเหมือนว่ามีคนชี้นำแต่ถ้าคนนั้นไม่มีสัจจะแท้ก็จะนำไปทางที่หลงผิดและเป้าหมายที่ผิดเช่นกัน

เป็นเรื่องยากที่คนจะยินดีในการปฏิบัติศีลที่สูงขึ้นเหตุนั้นเพราะมันขัดกิเลส กิเลสมันไม่ยอม ถือศีลแล้วทุกข์ใจ ซ้ำยังไม่เห็นเป้าหมายใดๆเพราะไม่รู้วิธีการถือศีลเพื่อล้างกิเลส สักแต่ว่าถือศีล ถือศีลเหยาะแหยะลูบๆคลำๆ ถือไปทั้งที่ไม่รู้สาระไม่รู้ประโยชน์ ไม่ได้ถือศีลด้วยปัญญา แต่ถือด้วยศรัทธาที่เป็นเพียงความเชื่อเพราะความกลัว กลัวไม่ได้บุญ กลัวบาป กลัวลำบาก จึงถือศีลนั้นๆ

ทั้งที่จริงแล้วศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยชำระบาป บาปคือการสะสมกิเลส ศีลคือสิ่งที่จะมาขัดเกลากิเลส โดยใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิธีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่คนมักไม่รู้ เข้าใจผิด หลงผิด เพียงเพราะไม่คบสัตบุรุษ ไม่ยินดีในศีล จึงมองศีลเป็นเพียงเรื่องงมงาย เป็นเพียงเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรื่องของพระ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของศีล

ซ้ำร้ายยังใช้วิธีปฏิบัติที่ผิดและเข้าใจผลของการบรรลุธรรมผิด เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปหลัง ปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามลำดับ ปฏิบัติธรรมมักง่าย เร่งผล ล่าบริวาร หาลาภยศ หาชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้พาละกิเลส ไม่ได้พาให้คลายจากกิเลส ไม่ได้ดับกิเลส เหล่านี้คือสภาพหลงทางหลงเป้าหมายดังจะเห็นได้มากมายในปัจจุบัน เป็นทางที่ไม่มีเป้าหมาย ถึงจะเดินทางไปก็วนเวียนกลับมาที่เดิม แล้วก็ต้องเดินหลงทางวนไปวนมาไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติถึงจะเจอทางที่ถูก

ทางพ้นทุกข์นั้นมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น คือสัมมาอริยมรรค ธรรมะนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีวิธีดับกิเลสเหล่านี้ในลัทธิอื่น ผู้ที่หลงเข้าใจไปว่าทุกทางก็พาถึงเป้าหมายได้เหมือนกันคือผู้ที่หลงทางตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกก็ได้คือทุกทางก็ถึงเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่ชาตินี้ อาจจะในชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมาพบและเข้าใจว่า “ทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี

ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่คบหาสัตบุรุษจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าสรุป ไม่กล้ากล่าวว่าทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว เพราะการที่เขาเห็นว่ามีหลายทางนั่นเพราะเขาไม่สามารถจับสาระหรือจับประเด็นของการพ้นทุกข์ในแบบพุทธได้ เข้าใจพุทธในเชิงของตัวเองตามที่ตัวเองนั้นหลงผิด

แม้จะได้ชื่อว่าพุทธ แม้จะได้บวชเป็นพระ แต่หากยังศึกษาและปฏิบัติในทางผิด มิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ ก็ไม่มีวันที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่ก็ไม่มีสัจจะของพุทธ เหมือนกลองอานกะที่เหลือแต่ชื่อกลอง แต่วัสดุเดิมนั้นถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วไม่เหมือนเดิมแล้วไม่เหลือแก่นไม่เหลือเนื้อเดิมแล้ว

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผ่านมาจนถึงวันนี้คำสอนและธรรมะได้เปลี่ยนผ่านมือกันมามาก ผ่านยุคสมัยมาก็มาก ผ่านกิเลสมาก็มาก ความเสื่อมนั้นยอมค่อยๆกัดกินแก่นสารสาระเป็นเรื่องธรรมดา จึงพากันสร้างลัทธิตามวิบากของตน สอนตามภูมิธรรมที่ตนเข้าใจ บางสำนักกลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้า เข้าใจว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องง่ายๆแค่เข้าใจ หรือแค่ปล่อยวาง แม้ว่าการปฏิบัติทั้งหลายจะดูเหมือนว่ามีมรรคผลแต่ผลนั้นก็ไม่ได้พาดับกิเลสเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสมถะหรือการกดข่มจิต กดไว้ในภพแล้วติดอยู่ในภพเท่านั้น

หากการปฏิบัติของพุทธนั้นเข้าใจได้ง่ายจริง ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำไมต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยทรมานขนาดนั้น นั่นเพราะธรรมะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนไม่ได้ เดาเอาไม่ได้ ละเอียด และรู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือผู้รู้สัจจะ รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมนั้นในตนเอง หรือสัตบุรุษ

หลักตัดสินธรรมวินัยนั้นมีอยู่ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ศีลนั้นมีกำหนดอยู่ ความรู้ธรรมทั้งหลายยังมีให้อ้างอิงในพระไตรปิฏกอยู่ แต่หากเราไม่ฉลาดในการขวนขวายหาประโยชน์ใส่ตน ไม่คบหาผู้ที่เจริญกว่า ไม่ยินดีในศีลที่มากกว่า ทางที่เราเดินนั้นอาจจะเป็นเส้นทางที่ไร้เป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย พาให้หลงวนเวียนไปนานแสนนานไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

September 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,940 views 1

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี…

เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด มีปัญญาที่จำกัดการที่เราจะสามารถขยายข้อจำกัดเหล่านั้นได้คือการพัฒนาตัวเอง แต่เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้วิธีที่จะเพิ่มหรือขยายสติปัญญาเหล่านั้น ดังนั้นการที่เรามีผู้ชี้นำ หรือครูบาอาจารย์ที่ดีนั้น จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

1.คบหาผู้รู้

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นไว้ในอวิชชาสูตร ว่าการที่เราหลงงมงายไปในสิ่งไร้สาระ หลงไปในกิเลสนั้นเกิดจากอวิชชา เป็นความโง่ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเหตุแรกสุดของอวิชชานั่นก็คือการไม่คบหาสัตบุรุษ

สัตบุรุษ คือ คนผู้รู้สัจจะ รู้ความจริง รู้วิธีพ้นทุกข์ ท่านเหล่านั้นได้ร่ำเรียนมาจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ สะสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนเกิดความรู้แจ้งในตนเอง เมื่อมีสัจจะ ก็สามารถสอนสัจธรรมได้ เป็นธรรมที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อย เพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อการละกิเลส ฯลฯ

ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้คบหาสัตบุรุษ ก็ไม่มีทางที่จะทำลายอวิชชาได้ หรือเรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย

2.ลักษณะของผู้รู้

ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น จะสามารถแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่ประหม่า ไม่เขินอาย ไม่ลังเล ไม่สับสน เพราะรู้แน่ชัดว่าธรรมที่ตนมีนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง สามารถสอบถาม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบกันได้ และยังเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ธรรมะนั้น เพราะรู้ว่าผู้ใดที่ศรัทธาและปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจได้ ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ ไม่ใช่เวทมนต์ ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตลอดกาลไม่ว่ายุคใดสมัยใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นขึ้นในวิญญาณของตน

สามารถเล่า ชี้แจ้ง สภาวะ การปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆได้อย่างมีศิลปะ คือมีทั้งสาระและสุนทรียะ ปรับเปลี่ยนร้อยเรียงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายอย่างวิจิตรพิสดารให้เหมาะกับผู้ฟังได้ โดยแสดงธรรมไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยมีเหตุผล มีที่อ้างอิง และมีความเอ็นดูเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดการกระทบ กดดัน บีบคั้น ทำร้ายทำลายใจ ไม่กักขังหรือผลักไส ไม่ได้สอนเพื่อให้คนมาศรัทธา ไม่สอนเพื่อแลกมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร บารมีต่างๆ แต่สอนเพื่อให้คนลดกิเลส ให้คนพ้นทุกข์

ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่ได้อยากสอนและไม่ได้ไม่อยากสอน เพียงแต่มีเมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์อยู่ จึงใช้ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับตนคือสร้างกุศลและประโยชน์ของผู้อื่น คือช่วยชี้นำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

สัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรษาที่มาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวช ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่อง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแค่มีโลกุตระธรรม คือธรรมที่พาสวนกระแส พาล้างกิเลส เป็นธรรมที่ไม่พาไปตามโลก ขัดกับโลก ขัดใจ แต่ไม่ขัดกับสัจจะ

3.คุณสมบัติของผู้รู้

คุณสมบัติหรือธรรมที่สัตบุรุษพึงมี (สัปปุริสธรรม ๗) ก็คือ ความเป็นผู้รู้ธรรม รู้ทั้งโลกียะธรรมและโลกุตระธรรม ,เป็นผู้รู้สาระประโยชน์ว่าทำสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ,เป็นผู้รู้ตน คือรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร, เป็นผู้รู้ประมาณ สามารถประมาณ คาดคะเน สิ่งต่างๆให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ,ผู้รู้เวลาอันควร รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร, เป็นผู้รู้หมู่คน รู้ว่าคนหมู่นี้ต้องพูดอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ,เป็นผู้รู้บุคคล รู้ว่าบุคคลนั้นควรจะสอนอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความเจริญ

4.การตามหาผู้รู้

การตามหาผู้รู้หรือสัตบุรุษนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเจอ ไม่ว่าจะเดินทางไปทั่วทั้งแผ่นดิน ทั่วฟ้า ใต้มหาสมุทรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม

เรามักจะคิดกันไปว่าต้องหาอาจารย์ถูกจริต หาอาจารย์ที่ใช่ เราจะเลือกอาจารย์เอง หรืออาจารย์จะเลือกศิษย์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะบางทีก็เลือกได้ บางทีก็เลือกไม่ได้ บางทีที่เลือกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ที่ไม่เลือกกลับกลายเป็นดี ไม่มีอะไรแน่นอน จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นอกจากจะเชื่อใน “กรรม

กรรมจะเป็นผู้ที่เลือกให้เราได้พบกับใคร ได้พบกับอาจารย์ท่านไหน และอาจารย์ท่านไหนจะได้พบกับเรา เพราะการที่เราจะได้พบกับครูบาอาจารย์ท่านนั้น เป็นเพราะเราบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติร่วมกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นแม้ว่าเราจะไปเจอครูบาอาจารย์ที่ใครเขาแนะนำว่าดีว่าเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าเราไม่เคยเกื้อกูลกันมา ก็มักไม่ถูกใจ ไม่เข้าใจ ถึงจะพยายามก็จะอยู่กันได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่าไม่ตรงจริตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่มีกรรมดีมาหนุนนำ แม้จะพบสัตบุรุษอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุยสนทนากันนานหลายชั่วโมง ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่ถูกใจก็ได้ เพราะวิบากบาปหรือบาปกรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำไว้ ได้บังไม่ให้เขาได้เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์คอยขัดขวางไม่ให้เขาเจอกับผู้รู้ธรรม ให้เขาได้ทนทุกข์นานเท่าที่กรรมจะยังมีผล

5.การจะได้พบผู้รู้

การได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้านั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก หากไม่เคยทำกุศลมามากพอ ก็จะไม่มีวันได้พบกับสัตบุรุษใดๆเลย ถึงแม้จะพบ ก็เหมือนไม่ได้พบ แม้จะใกล้ชิดก็เหมือนไม่ได้ใกล้ชิด

การที่เราจะได้พบผู้รู้นั้น จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรม หรือการสะสมบุญบารมีที่มากพอเราจึงต้องทำดีไปเรื่อย ช่วยเหลือคนไปตามที่ทำได้ แบ่งปัน เสียสละ ทำทาน ถือศีล อดทนฝืนข่มสู้กับกิเลสเท่าที่จะทำได้ ในวันใดวันหนึ่งเมื่อเราทำกุศลไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมบุญบารมีที่มากพอ กรรมจะจัดสรรให้เราได้เข้าถึงกุศลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

เช่น เมื่อเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็บังเอิญไปทำทานให้กับพระอริยะ ซึ่งก็เป็นทานที่ทำให้เกิดอานิสงส์มากกว่าทำทานกับ สัตว์ คน หรือพระทั่วไป เมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เราได้เจอกับผู้รู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เมื่อเราสะสมกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะผลักดันเราให้ทำกรรมดีที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากจากหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากความเศร้ามองซึ่งมีที่มาจากกิเลส

ใครที่ยังรู้สึกว่าตามหาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ ที่ตอบได้ทุกคำถามที่สงสัยไม่เจอ เป็นเพราะเรายังทำดีไม่มากพอ เหมือนเรายืนอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 แล้วการจะได้พบผู้รู้นั้นต้องขึ้นบันไดไปขั้นที่ 100 การขึ้นบันไดต้องอาศัยพลังกุศลเป็นตัวผลักดัน เมื่อเราทำกุศลมากๆ วันหนึ่งเราก็จะได้พบเจอเอง

ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่บันไดขั้นที่ 5 แล้วมีผู้ไม่รู้ ผู้หลงผิดเข้าใจว่าตนเป็นครูบาอาจารย์ อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 เมื่อเราเผลอทำอกุศลหรือสิ่งชั่ว ทำสิ่งไม่ดีมากๆ อกุศลก็อาจจะพลักดันให้เราไปเจอกับอาจารย์ที่เป็นผู้มัวเมา หลอกลวง หรือพระอลัชชี พระนอกรีต ก็เป็นได้

การจะตามหาผู้รู้นั้น เพียงแค่ทำกุศลให้ถึงรอบ เมื่อถึงเวลาที่ควรเมื่อไหร่ก็จะได้พบเอง การตั้งจิตโดยไม่ได้ทำกุศลนั้น ก็เหมือนเรายืนอยู่ที่บันไดขั้นที่ 5 แต่เฝ้าฝันว่าจะไปถึงบันไดขั้นที่ 100 โดยที่ไม่ก้าวขาออกไป ดังนั้นในชีวิตนี้คงจะไม่มีวันเจอ

เมื่อไม่เจอก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ เกิดมาตายไปเปล่าๆ หนึ่งชาติ แล้วก็ต้องเกิดมาหลงทางใหม่อีกหนึ่งชาติและเกิดต่อไปอีกหลายชาติ ถ้าจังหวะพอเหมาะวิบากบาปส่งผลก็อาจจะได้ไปเกิดในช่วงกลียุคที่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐๐ ยามที่พุทธศาสนาสูญสิ้น มีแต่คนบาปเต็มโลก ไม่สามารถทำกุศลได้ มีแต่อกุศล ก็เป็นโอกาสที่คนชั่วจะได้สะสมบาป สะสมอกุศลเพื่อเก็บไว้ทรมานในนรกกันต่อไป

6. แล้วเป็นผู้รู้จริงรึเปล่า

เมื่อเราไปคบคุ้นคบหากับผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นครูบาอาจารย์ อ้างว่าตนนั้นเป็นผู้รู้ อ้างว่ารู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อ้างว่าเป็นอรหันต์ อ้างว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก

พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าได้เชื่อถือตามที่ได้ยินมา ตามที่เขาเล่ามา ตามที่เป็นข่าวลือ ตามตำเรา ตามที่เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง นึกคิดเอาเอง อย่าเชื่อเพราะท่านเหล่านั้นคิดตรงกับเรา หรือเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งคนผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ท่านให้พิจารณาเอาว่าสิ่งนั้นหรือธรรมที่กล่าวอ้างนั้นปฏิบัติแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ถอยห่างออกมา

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระที่หลงผิดอยู่มาก หลงเข้าใจว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ก็มี ทำให้อัครสาวกต้องคอยตามแก้มิจฉาทิฏฐิกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ความเสื่อมของพุทธนั้นได้มาถึงครึ่งทางแล้ว ความหลงผิด ความมัวเมาย่อมจะรุนแรงและขยายตัวมากกว่าในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน

ถ้าอยากรู้ก็ลองปฏิบัติตามท่านที่เราศรัทธาดู ถ้าทำเต็มที่แล้ว ถามท่านก็แล้ว ยังคงสงสัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังรู้สึกว่า กิเลสไม่ลด ชีวิตยังเหมือนเดิม ปีที่แล้วชอบกินน้ำอัดลม ปีนี้ก็ยังชอบกินน้ำอัดลมเหมือนเดิม ก็ให้ลองถามท่านดูว่าจะกำจัดความอยากนี้ได้อย่างไร ถ้าเราคอยปรึกษาและทำตามท่านอย่างเต็มที่แล้ว ปฏิบัติไม่มาไม่ไป ไม่เจริญ ก็มีสองอย่าง 1.เรามีวิบากบาปที่จะกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ให้ทำดีให้มากๆ 2. ท่านไม่ได้รู้จริง … ให้ลองแก้ที่ข้อ 1 ให้เต็มที่ก่อน คือปฏิบัติตามท่านแล้วทำดีให้มากๆ ก็จะรู้เองว่าสุดท้ายคำคอบคืออะไร

7.ไม่ต้องพบสัตบุรุษแล้วบรรลุธรรมได้ไหม?

เราทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาอีกสักกี่ครั้งก็จะมีบาปบุญ ภูมิเก่า และกรรมสะสมมาด้วยเสมอ ถ้าหากท่านบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์มีหลายภพหลายชาติแล้ว เก็บสะสมปัญญาบารมี สะสมโลกะวิทู คือการรู้โลกนี้(โลกียะ)และโลกหน้า(โลกุตระ)อย่างแจ่มแจ้ง มากพอที่จะทำให้จิตตั้งมั่นว่าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพบสัตบุรุษในชาตินั้นๆ ดังจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสอนธรรมะแท้ของพุทธให้กับท่านเลยในชาตินั้น นั่นเกิดมาจากการที่ท่านสะสมบุญบารมีมานานนับ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป

ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่มีผู้มัวเมา ตีขลุม ตีกิน ทึกทักเอาเอง อวดอ้างเอาเอง ว่าตนนั้นบรรลุธรรมมีบุญบารมีมาก ก็ขอให้ท่านใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองว่าท่านเหล่านั้นมีลักษณะและคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์