ข้อคิด

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,905 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทางที่ไร้เป้าหมาย

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,363 views 0

ทางที่ไร้เป้าหมาย

ทางที่ไร้เป้าหมาย

…เมื่อเส้นทางที่เดินและจุดหมายที่ไปนั้นไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิบัติธรรมหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจใดๆก็ตาม หากไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลส การกระทำเหล่านั้นก็เหมือนกับการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายจึงไม่เดินทางต่อ ไม่ปฏิบัติต่อ จึงยึดมั่นถือมั่นไว้กับที่ตรงนั้น

การเดินทางของจิตวิญญาณใดๆก็ตามล้วนแต่แสวงหาเป้าหมาย แต่การจะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและต้องเดินทางไปทางใดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง คาดเดาเอาเองได้เลย ถึงคิดไปมันก็จะผิด ถึงจะพยายามเดินไปก็จะเป็นการเดินทางที่ผิด เป็นเป้าหมายที่ผิดเป้าหมายมีอยู่แต่เหมือนไม่มีอยู่เพราะไม่มีจุดจบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ว่าด้วยเรื่องการเกิดอวิชชานั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษไม่คบหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ที่พาพ้นทุกข์ สัตบุรุษนั้นคือผู้รู้ทางธรรมในพระพุทธศาสนา รู้มรรค คือรู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ รู้นิโรธ คือรู้สภาพดับทุกข์ ซึ่งสภาพที่รู้คือสัมมาอริยมรรคและสัมมาวิมุตติ คือวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ที่ถูกต้องจนกระทั่งไปถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ถูกต้อง

สัตบุรุษคือผู้ที่สามารถชี้ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ คือชี้ให้เห็นทุกข์ ชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงการดับทุกข์ จนกระทั่งสอนวิธีให้เดินทางไปสู่การดับทุกข์นั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงมรรคผลได้

ถ้าหากว่าเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาแม้ผู้เจริญกว่า เราก็จะไม่มีใครมาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าขั้นกว่าของการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้ ก็มักจะเดินทางผิดเดินหลงทางแต่จะเข้าใจว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูก ถึงแม้ว่าจะพบจุดหมายปลายทางแต่จุดหมายนั้นก็อาจจะไม่ใช่จุดหมายที่ถูกก็ได้

เมื่อเราพอใจกับสภาพที่มี พอใจกับศีลที่มี นั่นก็เพราะเราไม่ศรัทธาในศีลที่มากกว่า ไม่เชื่อว่าความสุขที่มากกว่านั้นมี เราจึงยึดสภาพที่สุขน้อยทุกข์มากอยู่เช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าตอนนี้ดีแล้วตอนนี้ก็สุขมากแล้ว เหตุนั้นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษไม่มีตัวอย่างแห่งความเจริญ เมื่อไม่คบหาสัตบุรุษก็ไม่ได้ฟังสัจธรรมที่พาพ้นทุกข์ ถึงแม้เราจะฟังธรรมมากขนาดไหนแต่ถ้าธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลสก็ไม่ใช่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นกัลยาณธรรม เป็นธรรมของคนดี ธรรมที่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาดับกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลสก็จะยินดีในกิเลส วนเวียนอยู่ในโลกแห่งการเสพกิเลสและพอใจในศีลที่ตนตั้งอยู่

ถึงแม้จะไม่มีสัตบุรุษแต่ผู้มีปัญญาย่อมหาทางทำให้ตัวเองเจริญมากขึ้น พระไตรปิฏกนั้นยังมีข้อปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อีกมากมาย ยังมีศีลที่ขัดเกลากิเลสอีกมาก ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาหนทางเพื่อเข้าถึงศีลเหล่านั้น ในส่วนคนที่หลงผิดจะมองศีลเป็นเรื่องของพระ สนใจเพียงแค่ศีล ๕ ยินดีกับชีวิตฆราวาสในระดับศีล ๕ หรือต่ำกว่า ทั้งที่จริงผู้ครองเรือนนั้นสามารถถือศีลไปได้ถึงระดับศีล ๘ ถึง ๑๐ โดยที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งยังมีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลอีกหลายข้อที่นำมาปฏิบัติได้

แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพระ ทั้งๆที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมเช่นกัน ศีลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกข์ แต่กลับจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้พบกับสุขไม่ให้ตัวเองได้เรียนรู้การขัดเกลากิเลส ไม่ยอมให้ตัวเองสุขไปมากกว่านั้น

เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ยินดีในศีลที่สูงกว่า นั่นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาผู้รู้สัจจะ ไม่มีคนพาทำ ไม่มีคนนำ ถึงจะเหมือนว่ามีคนชี้นำแต่ถ้าคนนั้นไม่มีสัจจะแท้ก็จะนำไปทางที่หลงผิดและเป้าหมายที่ผิดเช่นกัน

เป็นเรื่องยากที่คนจะยินดีในการปฏิบัติศีลที่สูงขึ้นเหตุนั้นเพราะมันขัดกิเลส กิเลสมันไม่ยอม ถือศีลแล้วทุกข์ใจ ซ้ำยังไม่เห็นเป้าหมายใดๆเพราะไม่รู้วิธีการถือศีลเพื่อล้างกิเลส สักแต่ว่าถือศีล ถือศีลเหยาะแหยะลูบๆคลำๆ ถือไปทั้งที่ไม่รู้สาระไม่รู้ประโยชน์ ไม่ได้ถือศีลด้วยปัญญา แต่ถือด้วยศรัทธาที่เป็นเพียงความเชื่อเพราะความกลัว กลัวไม่ได้บุญ กลัวบาป กลัวลำบาก จึงถือศีลนั้นๆ

ทั้งที่จริงแล้วศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยชำระบาป บาปคือการสะสมกิเลส ศีลคือสิ่งที่จะมาขัดเกลากิเลส โดยใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิธีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่คนมักไม่รู้ เข้าใจผิด หลงผิด เพียงเพราะไม่คบสัตบุรุษ ไม่ยินดีในศีล จึงมองศีลเป็นเพียงเรื่องงมงาย เป็นเพียงเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรื่องของพระ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของศีล

ซ้ำร้ายยังใช้วิธีปฏิบัติที่ผิดและเข้าใจผลของการบรรลุธรรมผิด เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปหลัง ปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามลำดับ ปฏิบัติธรรมมักง่าย เร่งผล ล่าบริวาร หาลาภยศ หาชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้พาละกิเลส ไม่ได้พาให้คลายจากกิเลส ไม่ได้ดับกิเลส เหล่านี้คือสภาพหลงทางหลงเป้าหมายดังจะเห็นได้มากมายในปัจจุบัน เป็นทางที่ไม่มีเป้าหมาย ถึงจะเดินทางไปก็วนเวียนกลับมาที่เดิม แล้วก็ต้องเดินหลงทางวนไปวนมาไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติถึงจะเจอทางที่ถูก

ทางพ้นทุกข์นั้นมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น คือสัมมาอริยมรรค ธรรมะนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีวิธีดับกิเลสเหล่านี้ในลัทธิอื่น ผู้ที่หลงเข้าใจไปว่าทุกทางก็พาถึงเป้าหมายได้เหมือนกันคือผู้ที่หลงทางตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกก็ได้คือทุกทางก็ถึงเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่ชาตินี้ อาจจะในชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมาพบและเข้าใจว่า “ทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี

ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่คบหาสัตบุรุษจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าสรุป ไม่กล้ากล่าวว่าทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว เพราะการที่เขาเห็นว่ามีหลายทางนั่นเพราะเขาไม่สามารถจับสาระหรือจับประเด็นของการพ้นทุกข์ในแบบพุทธได้ เข้าใจพุทธในเชิงของตัวเองตามที่ตัวเองนั้นหลงผิด

แม้จะได้ชื่อว่าพุทธ แม้จะได้บวชเป็นพระ แต่หากยังศึกษาและปฏิบัติในทางผิด มิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ ก็ไม่มีวันที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่ก็ไม่มีสัจจะของพุทธ เหมือนกลองอานกะที่เหลือแต่ชื่อกลอง แต่วัสดุเดิมนั้นถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วไม่เหมือนเดิมแล้วไม่เหลือแก่นไม่เหลือเนื้อเดิมแล้ว

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผ่านมาจนถึงวันนี้คำสอนและธรรมะได้เปลี่ยนผ่านมือกันมามาก ผ่านยุคสมัยมาก็มาก ผ่านกิเลสมาก็มาก ความเสื่อมนั้นยอมค่อยๆกัดกินแก่นสารสาระเป็นเรื่องธรรมดา จึงพากันสร้างลัทธิตามวิบากของตน สอนตามภูมิธรรมที่ตนเข้าใจ บางสำนักกลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้า เข้าใจว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องง่ายๆแค่เข้าใจ หรือแค่ปล่อยวาง แม้ว่าการปฏิบัติทั้งหลายจะดูเหมือนว่ามีมรรคผลแต่ผลนั้นก็ไม่ได้พาดับกิเลสเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสมถะหรือการกดข่มจิต กดไว้ในภพแล้วติดอยู่ในภพเท่านั้น

หากการปฏิบัติของพุทธนั้นเข้าใจได้ง่ายจริง ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำไมต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยทรมานขนาดนั้น นั่นเพราะธรรมะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนไม่ได้ เดาเอาไม่ได้ ละเอียด และรู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือผู้รู้สัจจะ รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมนั้นในตนเอง หรือสัตบุรุษ

หลักตัดสินธรรมวินัยนั้นมีอยู่ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ศีลนั้นมีกำหนดอยู่ ความรู้ธรรมทั้งหลายยังมีให้อ้างอิงในพระไตรปิฏกอยู่ แต่หากเราไม่ฉลาดในการขวนขวายหาประโยชน์ใส่ตน ไม่คบหาผู้ที่เจริญกว่า ไม่ยินดีในศีลที่มากกว่า ทางที่เราเดินนั้นอาจจะเป็นเส้นทางที่ไร้เป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย พาให้หลงวนเวียนไปนานแสนนานไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

กินมังอหังการ

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,559 views 0

กินมังอหังการ

กินมังอหังการ

…วิเคราะห์อาการติดดีในทุกระยะของการกินมังสวิรัติ

ในบทความนี้จะวิเคราะห์และไขสภาพอาการติดดีหรือในเรื่องของอัตตาในทุกระยะของการกินมังสวิรัติตั้งแต่เริ่มกินไปจนกระทั่งถึงสภาพอนัตตาคือไม่มีตัวตนให้เป็นทุกข์อีกต่อไป โดยจะแบ่งระยะของความยึดเป็น 5 ข้อ ลองมาอ่านกันเลย

1).ความยึดดีของคนกินเนื้อสัตว์

ความยึดของคนกินเนื้อสัตว์ชอบเนื้อสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ เขาหลงว่าเนื้อสัตว์ดี จึงยึดดีนั้นไว้ และเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นดี นำประโยชน์มาให้กับเขา ประโยชน์ทางโลกที่มีการส่งเสริมกันมาอย่างเนิ่นนานคือต้องกินอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยตัวแทนของโปรตีนก็คือเนื้อสัตว์ พอเรารับรู้ว่าโปรตีนต้องเนื้อสัตว์ แล้วกินมาทั้งชีวิตมันก็จะจำและยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นี้เองคือโปรตีนที่ดีที่สุดที่ร่างกายต้องการ เป็นความเข้าใจทางโลกที่ถูกต้องตามที่เขาสอน แต่ไม่ถูกต้องตามธรรมเพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการยึดว่าเนื้อสัตว์คือโปรตีนที่ดีที่สุดนั้นคงไม่ใช่อย่างแน่นอน

หรือความเชื่อที่ว่าคนเราเป็นสัตว์กินเนื้อนั้นก็เป็นอัตตาหรือการยึดเนื้อสัตว์ว่าดี ถ้ายึดระดับนี้อาจจะมีเหตุหลายอย่าง แต่เหตุหลักนั้นคือการเสพติดรสเนื้อสัตว์ เมื่อเกิดความอยากเสพจึงเกิดความยึด ไม่อยากพรากไปจากเนื้อสัตว์จึงต้องสร้างเกราะอัตตาขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้มั่นใจในการเสพเนื้อสัตว์มากขึ้น เพื่อให้เสพได้อย่างเป็นสุขและสบายใจมากขึ้น จะได้ไม่รู้สึกผิดเวลาไปเจอสื่อของมังสวิรัติ เป็นสภาพที่เกิดการต่อต้านมังสวิรัติขึ้นเองโดยธรรมชาติของกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันย่อมปกป้องตัวเองและพยายามให้เราหามาเสพ เราเรียกการสะสมกิเลสสนองกิเลสว่า “บาป” และการจะลดกิเลสจนถึงดับกิเลสเราเรียกว่า”บุญ” เป็นเรื่องยากที่คนจะเอาชนะกิเลสและยอมลดกิเลส นอกจากจะไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้แล้วยังโดนกิเลสเพิ่มอัตตาเข้าไปอีกหนาขึ้นไปเรื่อยๆ นี้เองคือความยึดว่าเนื้อสัตว์ดีของคนที่ยังติดเนื้อสัตว์ทั่วไป

อัตตาของคนกินเนื้อสัตว์เมื่อยึดดีแล้วจะทำให้ต่อต้านการลดเนื้อกินผัก ต่อต้านการกินมังสวิรัติ ต่อต้านการกินเจ หากต้องเจอข้อมูลมังสวิรัติมากๆหรือโดนกล่าวหาว่ากินเนื้อไม่ดีก็อาจจะเกิดการโต้เถียง เอาชนะ ทะเลาะเบาะแว้งเหตุเพราะตนนั้นยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์

2). ความยึดดีของคนที่กินมังสวิรัติได้และยังคงกินเนื้อสัตว์

ในระยะที่เจริญขึ้นมาบ้างแล้ว เราสามารถรับรู้โทษชั่วของการเบียดเบียนได้บ้างจึงหันมากินมังสวิรัติ แต่ก็ยังไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ได้ในหลายๆเหตุผล อาจจะตัดสำหรับตัวเองไม่ได้หรืออาจจะตัดสำหรับคนอื่นไม่ได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่ามังสวิรัติดีนะ แต่ถ้ามีโอกาสเราก็จะกลับไปกินเนื้อสัตว์โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆให้กลับไปกิน เช่นความพอดีบ้างละ ธาตุอาหารบ้างละ สุขภาพบ้างละ จริงๆรากทั้งหมดนั้นมาจากความอยากนั่นละ ในมุมของการตัดสำหรับคนอื่นเช่น เรากินมังสวิรัติได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นดีกับการให้ลูกหลานกินหรือให้คนป่วยกินเพราะยังมีความหลงผิดในความรู้และยังมีความยึดในเนื้อสัตว์อยู่

สำหรับคนที่อยู่ในระยะกลางนี้จะเรียกว่าครึ่งๆกลางๆก็ได้ จะเป็นผีก็ไม่ใช่เป็นคนก็ไม่เชิง จะมังสวิรัติก็ไม่ชัดจะกินเนื้อสัตว์ก็ไม่เต็มที่ กินมังสวิรัติก็กินอย่างไม่รู้สาระ ไม่รู้กิเลส กินผ่านๆไปในแต่ละมื้อ จะกินเนื้อสัตว์ก็มีฟอร์ม มีลีลาก่อนกิน อ้างเหตุผลพอประมาณให้ดูดีแล้วค่อยกิน ก็จะวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความยึดดี ใครบอกว่ามังสวิรัติไม่ดีนี่ก็จะโกรธ จะไม่พอใจ เพราะตนเองนั้นกินมังสวิรัติ แต่ถ้าบอกให้เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเลยก็จะทำไม่ได้ เพราะยังไปยึดเนื้อสัตว์ว่าดีอยู่เช่นกัน เหมือนคนสองจิตสองใจยังไม่ยอมเลือกข้างชัดเจน ยังแยกกุศลอกุศลไม่ชัด ไม่ชัดแจ้งในธรรม ไม่ชัดเจนในกรรม

ในระยะนี้หลายคนอาจจะหลงยึดไปได้ว่านี่แหละคือความพอดีที่สุดในชีวิต คือกินเนื้อบ้างกินผักบ้างไม่ให้ทรมานตัวเองเกินไป ซึ่งเป็นทางสายกลางคนละแบบกับของพุทธ แต่จะหลงเข้าใจไปว่าถูกทางพ้นทุกข์ เข้าใจว่าพอดี เป็นกลาง ไม่ยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ถ้าเข้าไปในสภาวะเช่นนี้เรียกว่าหลงบรรลุธรรม เพราะเดินมายังไม่ถึงครึ่งทางก็หลงเข้าใจว่าถึงเป้าหมายแล้ว คนจะมาติดในระยะนี้เยอะมาก จะมายึดอยู่แค่ระยะนี้แล้วสร้างเกราะอัตตามาพอกไว้แล้วจะไม่ยินดีไปต่อ ไม่ยินดีในความดีที่มากกว่า เพราะถ้าอยู่ตรงนี้จะได้เสพทั้งเนื้อสัตว์ที่สนองกิเลสตัวเองได้และกินผักซึ่งเป็นข้ออ้างเอาไว้อวดว่าตนดีได้ เรียกได้ว่าสร้างเกราะเพื่อทำบาปโดยป้องกันไม่ให้ความดีเข้าไปถึงตัวและไม่ให้ใครมาว่าเราว่าชั่ว แล้วเสพกิเลสอยู่ในภพ อยู่ในสภาวะในอัตตาที่ตัวเองสร้างไว้ ไม่ยอมให้ใครไปยุ่ง

ถึงระยะนี้จะเริ่มอัตตาแรงและเป็นภัยมากขึ้น เพราะหลงยึดว่าเนื้อก็ดีผักก็ดี เมื่อเจอคนที่กินแต่เนื้อสัตว์จะไม่มีอาการเท่าไหร่เพราะยังเสพกิเลสเช่นเดียวกัน จะพูดออกไปมากก็ไม่ได้เพราะตัวเองก็ยังชอบเนื้อสัตว์อยู่ แต่ถ้าเจอคนที่กินมังสวิรัติเก่งๆมาข่ม ก็จะเกิดอาการต่อต้านขึ้นมาทันที มีเหตุผลต่างๆนาๆที่จะบอกว่าเนื้อบ้างผักบ้างดี คนกินมัง 100% สิไม่ดี ไม่ปล่อยวาง ไม่พอดี เห็นไหมว่าอัตตาจะทำให้มองเห็นกรงจักรเป็นดอกบัว เห็นคนมีศีลเป็นคนไม่มีสาระ

คนกินเนื้อจะไม่ค่อยมีปัญหาในการกระทบกับคนกินมังสวิรัติมากนัก เพราะโดยส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกผิดบาปและยอมรับในศีลจึงเกิดศรัทธาในคนกินมังสวิรัติ ยกเว้นคนที่กินเนื้อจนเข้าระดับยึดเนื้อสัตว์ว่าดีจะเป็นอีกกรณี แต่คนที่หลงยึดดีในเนื้อและผักเป็นความพอดีนั้น จะไม่เคารพในศีลที่สูงกว่าของผู้กินมังสวิรัติได้ดีกว่า เพราะหลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ตนเองก็สามารถกินมังสวิรัติได้ แต่ด้วยความพอดีจึงกลับมากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง เป็นทางสายกลางที่เข้าใจไปเอง และยังมองว่ามังสวิรัติสุดโต่ง

ตรงนี้เองคือบาปและอกุศลที่จะต้องได้รับมากขึ้น เป็นนรกที่หนักกว่าคนกินเนื้อสัตว์ เพราะยิ่งเจริญขึ้นมาบ้างยิ่งต้องระวังต้องสำรวม ระวังจะไปมีอัตตา เพราะการมีอัตตานอกจากจะทำให้เราไม่เจริญแล้วยังทำให้เราหลงผิดคิดว่าตนบรรลุธรรม แล้วมีอาการยึดดี อวดดี หลงตนเองจนทำให้ไปปรามาสผู้ที่มีศีลมากกว่าได้

การจะออกจากความเหยาะแหยะต้องใช้ความจริงจังเข้ามาช่วย คือเลือกไปทางด้านใดด้านหนึ่งจะเลือกด้านมังสวิรัติก็ได้ จะเลือกกินเนื้อก็ได้ ถ้าทำดีทำชั่วชัดเจนผลกรรมมันก็จะชัดเจนมากขึ้นไปด้วย คนที่ทำดีมากก็เห็นดีมาก คนที่เบียดเบียนมากก็จะได้รับผลเสียมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอีกจุดที่เจริญขึ้น จำเป็นต้องล้างอัตตาเสียก่อนเพราะความยึดทำให้เราก้าวออกไปไม่ได้ ทำให้เราไม่พัฒนา ส่วนการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่เสื่อมลงนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร พอมันไม่ทำดี มันก็สะสมชั่วไปในตัวนั่นเอง

3). ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติ

คนที่กินมังสวิรัติได้ 100% ไม่ตกร่วง ไม่พลั้งเผลอ แม้ว่าจะต้องออกไปนอกสถานที่ ไปประชุม ไปต่างจังหวัด ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปงานเลี้ยงครอบครัว ไปที่ไหนๆก็สามารถลดเนื้อกินผักได้ สามารถอนุโลมได้บ้างในบางกรณี แต่การจะไปหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากนั้นไม่มีแล้ว อาหารใดที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์อย่างชัดเจนเพื่อให้ได้รสเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบนั้นไม่เอาแล้ว ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นไม่มีแล้ว

หรือแม้กระทั่งผู้ที่กินมังสวิรัติได้นานๆ หลายเดือนติดต่อกัน หรือหลายปีติดต่อกันก็จะอนุโลมให้อยู่ในหมวดนี้แม้ว่าจะกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างก็ตาม แต่ลักษณะของการยึดมังสวิรัติว่าดีนั้นมีเต็มที่แล้วเพียงแต่อินทรีย์พละอาจจะยังไม่พอ

ในระยะนี้ถือว่าเจริญได้มากแล้ว พ้นภัยจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นแล้ว เป็นบุญมาก เป็นกุศลมาก แต่มักจะต้องมาติดอัตตายึดว่ามังสวิรัติดี กินมังสวิรัติแล้วเป็นคนดี ดูดี ศีลดี มีบุญ มีปัญญา มีสติ จะเริ่มรู้สึกไม่ดีกับเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน ไม่สามารถกินร่วมในวงเนื้อสัตว์ได้อย่างสบายใจ กินมังเขี่ยแล้วเป็นทุกข์เพราะรู้สึกขยะแขยง รวมทั้งรู้สึกไม่ดีกับคนกินเนื้อสัตว์ มีอาการข่มคนที่กินเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินมังสวิรัติไม่ได้เต็มที่

เมื่อมีคนมาแซว ด่า ว่า คนที่กินมังสวิรัติว่าโง่หรือบ้าจะมีอาการรุนแรงมาก เพราะยึดดีมาก ความรุนแรงจะเกิดตามสภาพที่ลดเนื้อสัตว์ได้ ยิ่งลดได้สมบูรณ์ก็จะยิ่งมีความยึดดีรุนแรง ไม่พอใจรุนแรง โกรธรุนแรง

คนที่อยู่ในระยะนี้จะยิ่งหลงว่าตัวเองบรรลุธรรมมากขึ้นไปอีก เพราะไม่เบียดเบียนแล้วดูเป็นคนดีมาก ผู้คนต่างสรรเสริญเป็นเหมือนพ่อพระแม่พระของสัตว์อื่น สามารถสอนคนกินเนื้อสัตว์ได้เต็มที่เพราะตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว มีบารมีมาก มีพลังมาก ซึ่งโดยส่วนมากจะเข้าใจว่าสุดทางแล้ว จบแล้ว บรรลุแล้ว ซึ่งก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียวมันยังมีดีกว่านั้นอีก

แต่เมื่อเกิดการยึดดีแล้ว ก็จะไม่ยินดีในการพัฒนาจิตใจต่อ ไม่ยินดีในการดับอัตตา เพราะหลงว่าอัตตานั้นเป็นของดี หลงในความดีความดูดีของผู้กินมังสวิรัติ กอดไว้เป็นอัตตาของตน อาจเพราะหลงในยศ สรรเสริญ และสุขที่ได้รับมากขึ้นในระยะนี้จึงทำให้หลงยึดและไม่ยอมไปต่อ

เมื่อจิตมันยึดไม่ยอมไปต่อแล้วมีผู้มาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของอัตตานั้น ก็จะเกิดการต่อต้านเพราะตนหวงแหนอัตตา เมื่อต่อต้านก็สามารถออกอาการได้หลายรูปแบบไม่ต่างกับคนยึดมั่นถือมั่นทั่วไป สามารถโกรธ ไม่พอใจ ทะเลาะเบาะแว้งได้เหมือนคนทั่วไป มีความอยากเอาชนะเป็นแรงผลักดันเพราะยึดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อนั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ถ้าอย่างดีก็คือสงบไม่ตอบโต้ แต่ไม่เชื่อไม่พิจารณาตามให้เห็นถึงโทษของอัตตา พอไม่เชื่อคนที่มาชี้ให้เห็นอัตตามันก็ยึด พอมันยึดก็ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในภพนี้ต่อไป

4).ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติที่มองกลับมาที่คนยึดดี

ในระยะนี้จะเป็นขั้นกว่าของคนที่กินมังสวิรัติได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะสามารถกินมังได้ 100% ไม่มีความอยาก ไม่มีอัตตาไปอัดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ สามารถกินอาหารร่วมจานกับผู้อื่นได้โดยไม่ทุกข์ แม้อาหารนั้นจะมีส่วนประกอบของสัตว์ปนอยู่บ้างก็จะสามารถอนุโลมไปได้เป็นกรณีๆแต่จะไม่ทำบ่อย โดยหลักอยู่ที่ความไม่ทุกข์ใจใดๆเลยนั่นเอง

แม้จะมีใครมาด่าว่ามังสวิรัติอย่างไร ใครจะว่าโง่ว่าบ้าก็ยังเฉยๆ สามารถกินมังสวิรัติไปได้พร้อมๆกับการรับคำด่าของคนอื่นและยังสามารถสอนเขากลับด้วยท่าทีสุภาพ ด้วยเมตตา ด้วยความเห็นใจ ด้วยความเข้าใจในเวลาเดียวกัน

ผู้อยู่ในระยะนี้คือผู้เจริญมากแล้วพ้นภัยจากความทุกข์ของอัตตามาได้มากแล้ว ไปกินมังสวิรัติที่ไหนก็ไม่ทุกข์ ใครจะกินเนื้อเราก็ไม่ทุกข์ ไปดูสัตว์ถูกฆ่าดูเนื้อสัตว์ในตลาดเราก็ไม่ทุกข์

แต่มันจะเหลือทุกข์จากอัตตาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอัตตาปลายสุดท้ายคือยึดสภาพนี้ว่าดี ยึดว่าสภาพที่พ้นจากการเสพเนื้อสัตว์และพ้นจากอัตตามากแล้วนี่คือดี จึงทำให้มีอัตตาเหลือในส่วนหนึ่ง เมื่อมองลงไปในคนจำพวกมังสวิรัติที่ยึดดี อัตตาแรงๆก็จะรู้สึกทุกข์ รู้สึกเห็นใจ รู้สึกอยากสอน แต่คนกินเนื้อสัตว์ คนกินเนื้อกินผักเราไม่ไปทุกข์กับเขาแล้วนะ แต่จะมาทุกข์กับพวกกินมังได้ดีแล้วติดดีนี่แหละ

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการที่เราจะออกจากชั่วได้เราต้องใช้ความดี ความยึดดีเป็นตัวช่วยผลักดันเราออกมา ทีนี้พอเราผ่านมาได้มันจะเหลือความยึดดีอยู่ เหลืออัตตาอยู่ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมเมื่อผ่านมาแล้วมักจะมีปัญหากับคนที่มีลักษณะเหมือนเราก่อนหน้านี้ก็เพราะว่าเราเพิ่งเคยผ่านมา เราเพิ่งเห็นทุกข์มา เราเห็นว่ามันไม่ดี เราก็เกลียด พอเราออกมาได้เจริญมาได้เราก็ยังเหลือความยึดดี สิ่งนี้เองจะทำให้เราทุกข์กับคนที่ตามหลังเรามาติดๆ

ความยึดดีตรงนี้แม้จะบางและน้อยแต่ก็ยังเป็นความชั่วอยู่ดี ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ดี แต่ข้อดีของคนที่อยู่ในระยะนี้คือเขาเหล่านั้นจะล้างอัตตาเป็นแล้ว เพราะล้างมาตั้งแต่ตอนกินมังสวิรัติติดดีแล้ว เมื่อพบกับอาการที่เราไปข่ม ไปอวด ก็จะสามารถจับอาการเหล่านี้ได้เอง และล้างกิเลสได้เอง ผู้ที่อยู่ในระยะนี้คือผู้ที่เจริญแล้ว แม้จะยังขัดเกลาตัวเองไม่สำเร็จแต่ก็คือผู้ที่จะก้าวเข้าสู่ความพ้นทุกข์จากเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติในสักวันหนึ่ง

5).ความไม่ยึดดี

เป็นสภาวะสุดท้ายที่เป็นเป้าหมายปลายทางของนักมังสวิรัติทุกคน เป็นสภาพที่สุขที่สุด ไม่มีอะไรเปรียบได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ความไม่ยึดดีหรือไม่มีอัตตา หรือจะเรียกว่าอนัตตาคือไม่มีตัวตนแห่งทุกข์ ไม่มีตัวตนให้ทุกข์ ไม่มีตัวตนของกิเลสในเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติเหลืออยู่

ชีวิตยังมีอยู่ ร่างกายและอวัยวะยังมีอยู่ การย่อยสลายอาหารเป็นพลังงานยังมีอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์ในเรื่องของมังสวิรัตินั้นไม่มีแล้ว ไม่ว่าใครจะทำอย่างไร จะพูดอะไร ใครจะกินเนื้อ ใครจะกินมังสวิรัติ ใครจะติดดี ใครจะเจริญ เราจะไม่ไปทุกข์กับเขาไม่ไปยินร้ายกับเขาจะมีแต่ความยินดี แม้จะเห็นคนกินเนื้อก็ยินดี กินมังสวิรัติก็ยินดี กินครึ่งๆกลางๆก็ยินดี เพราะเข้าใจแล้วว่าคนมันก็เป็นแบบนี้ แม้วันนี้เขาจะยังกินเนื้อสัตว์อยู่ วันหน้าเขาอาจจะเป็นนักมังสวิรัติที่กล้าแกร่งก็ได้ และแม้บางคนจะกินมังสวิรัติอยู่ ในวันหนึ่งเขาอาจจะเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็ได้ มันไม่เที่ยงทั้งในเรื่องความเจริญและความเสื่อม เข้าใจแล้วว่าการจะมาล้างกิเลสในการกินมังสวิรัติให้สิ้นเกลี้ยงนั้นยากสุดยาก พอเห็นความจริงดังนั้นจิตจึงตั้งไว้ที่อุเบกขา

แม้จะมีเหตุการณ์ใดเข้ามากระทบ เราก็จะเมตตา กรุณา มุทิตา และจบลงที่อุเบกขาได้เสมอ ช่วยคนไปแล้ววางใจได้เสมอ ไม่ติดไม่ยึด ไม่ทุกข์ร้อนใดๆ กับเพื่อนชาวมังสวิรัติหรือเพื่อนมนุษย์ผู้ยังกินเนื้อและสัตว์ทั้งหลาย เพราะรู้แจ้งแล้วในเรื่องกิเลสและกรรม รู้ชัดจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกรรม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นก็เกิดขึ้นจากกรรมที่เรากำลังตัดสินใจทำด้วย เมื่อชัดเจนในกรรมดังนั้นจึงเข้าใจคนในทุกฐานะของการกินมังสวิรัติ จะไม่โกรธไม่เกลียดใครเลย

ความเข้าใจทั้งหมดนั้นเกิดจากการสะสมความรู้ตั้งแต่ยังเสพติดเนื้อสัตว์ผ่านพ้นมาจนถึงระดับนี้ได้ ได้ผ่านการเรียนรู้ในทุกระดับมาหลายภพหลายชาติจนรู้ชัดเจนในทุกเหลี่ยมทุกมุม พอรู้ทั้งหมดมันก็รู้ว่าอัตตานี่มันไม่ดี มันชั่ว มันเลว มันเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ก็จะทำลายอัตตานั้นทิ้งไปจนกระทั่งเป็นอนัตตา

เรื่องของมังสวิรัติทั้งหมดมันก็จบตรงนี้นี่เอง ส่วนจะเลือกทำอะไรต่อไปนั้นก็อยู่กุศลหรืออกุศลเท่านั้น ไม่มีบุญหรือบาปอีกต่อไป เพราะไม่มีตัวตนให้มีกิเลส ให้มีการสะสมกิเลส หรือให้มีการดับกิเลส เพราะมันไม่มีอะไรเหลือให้ทำแล้วจึงมีแต่ทำความดีต่อไปเท่านั้นเอง

ในสภาพนี้จึงสามารถกินมังสวิรัติต่อไปได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นแต่เพียงว่ายึดอาศัย อาศัยให้เกิดความดี อาศัยให้เกิดความสมบูรณ์แก่ร่างกายนี้ อาศัยให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ศึกษาและปฏิบัติตาม เป็นแบบอย่างแห่งความดีด้วยความเมตตาที่มีต่อผู้อื่นสืบไป

– – – – – – – – – – – – – – –

4.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ให้อภัยใจแข็ง

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,119 views 0

ให้อภัยใจแข็ง

ให้อภัยใจแข็ง

…เมื่อการให้อภัยไม่ได้หมายถึงการกลับมาเคียงคู่กันเสมอไป

การใช้ชีวิตไปพร้อมกับการมีคู่รักก็คงต้องกระทบกันมากบ้างน้อยบ้างเหมือนลิ้นกับฟันอยู่ด้วยก็ต้องกระทบกันเป็นธรรมดา เมื่อคนสองคนที่มีความเข้าใจ ความคิดเห็น ความต้องการที่ต่างกันมาอยู่ร่วมกันแล้วความไม่ลงตัวย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเช่นกัน

หากการทะเลาะเบาะแว้งนั้นเกิดจากเรื่องที่พอจะตกลงปรับความเข้าใจกันได้ ก็มักจะให้อภัยกันได้ง่าย ยอมให้กันได้ง่าย แต่หากเหตุแห่งการไม่พอใจกันนั้นเกิดขึ้นเพราะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำปัญหามือที่สามเข้ามาในชีวิตคู่ เช่นมีกิ๊ก คบชู้ มีเมียน้อยผัวน้อย การจะให้อภัยจนถึงการตัดสินใจต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนขึ้นมาทันที

อย่างที่เรารู้กันว่าการคบชู้นั้นผิดศีลข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อคนที่รักกัน ไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ถึงขั้นที่สามารถทำลายศรัทธา ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งหมดที่เคยมีมาได้เพียงแค่รับรู้เรื่องราวการผิดศีลนั้น เมื่อมีผู้ผิดศีลจึงมีผู้ถูกเบียดเบียน และผู้ถูกเบียดเบียนด้วยกายวาจาและใจนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเลือกกรรมที่จะรับต่อไป

1).ไม่ให้อภัย

คนที่ถูกคู่รักทำลายความเชื่อมั่นที่เคยมี นั้นมีสิทธิ์ที่จะเลือกไม่ให้อภัย ไม่ยกโทษ ไม่เผาผี ไม่ต้องมาพบมาเจอกันอีกเลยในชาตินี้ เหตุเกิดจากความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานที่โดนหักหลัง โดนทำลายความไว้ใจ ถูกทำให้กลายเป็นคนไม่มีคุณค่า ฯลฯ

พอเราเสียสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้หรือเสียคู่ของเราให้กับคนอื่นไป คือการพลัดพรากจากของรัก เสียสิ่งที่รักไป แม้ว่าเขาจะกลับมาขอคืนดี ยอมเลิกกับชู้ แต่สิ่งที่รักนั้นไม่ใช่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวยังหมายรวมถึงความเชื่อใจ ความสบายใจ ความอบอุ่นใจที่ได้ใกล้ชิดกัน เมื่อเสียสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะเกิดอาการขุ่นเคืองไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท ได้ตามระดับความรุนแรงของกิเลส

หากถามว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัยไหม ในเมื่อสิ่งที่เขาทำกับเราช่างดูโหดร้ายเหลือเกิน ก็จะตอบว่ามีสิทธิ์ที่จะเลือกกรรมนั้น แต่หากพิจารณาดีๆแล้วอภัยทานนั้นเป็นทานที่มีกุศลมาก เป็นบุญมาก นั่นเพราะเป็นทานที่มีผลต่อการตัดกิเลส คือตัดความโลภ โกรธ หลง

2).ให้อภัย

การที่เราให้อภัยนั้นหมายถึงเราได้ยอมลดความโกรธที่มี ยอมทำลายความหลงที่มีในตัวเขา ทำลายความหลงติดหลงยึดว่าคู่รักต้องดีต่อกันเสมอ ยอมรับความจริงใหม่ที่เกิดขึ้นและเข้าใจว่าอดีตที่เราได้รับไปนั้นเกิดจากกรรมที่เราทำมาเอง เป็นสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด อภัยทานคือทานที่ไม่เป็นภัยแก่ใครเลย เมื่อเราดับความโลภโกรธหลงได้ เราก็จะไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการสั่งสมกิเลส และจะไม่ไปทำร้ายใจใครด้วยกิเลสของเราเช่นกัน

คนที่เขาผิดศีลนั้นทำร้ายได้แม้กระทั่งคนที่ไว้ใจกัน เขาก็ทำบาปมากพอแล้ว ทำชั่วมากพอแล้ว การที่เราจะไปซ้ำเติมเขาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า แม้ว่าเขานั้นจะมาทำร้ายจิตใจของเราก็ตาม เพราะเรารู้ตามจริงว่าการที่เขามาทำร้ายจิตใจของเรานั้นเป็นเพราะกรรมของเราดลให้เขาทำเช่นนั้นกับเรา ถ้าเราไม่เคยทำกรรมชั่วมามันก็ไม่มีทางได้รับ เพราะฉะนั้นเราจึงยินดียอมให้อภัยและรับกรรมนั้นเป็นของตนเองโดยไม่โทษใคร

เมื่อเราให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกับเขาแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ตอนที่เขาได้นอกใจเราและเรื่องเปิดเผยออกมาแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับสถานะโสดกลับมาเป็นของเราอีกครั้ง ความโสดเป็นสมบัติที่มีค่าของเรา และเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่รับความโสดนั้นกลับมาเช่นกัน

ในกรณีเมื่อเราให้อภัยจนหมดใจแล้ว คือไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มีความขุ่นเคืองใจใดๆ ยอมรับกรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เมื่ออดีตคนรักมาขอร้องให้ช่วยให้อภัยเขาและกลับมาคบกันเหมือนเดิม ในส่วนของการให้อภัย เราสามารถให้อภัยได้หมดใจ แต่ในส่วนของการกลับมาคบกันเหมือนเดิมเราสามารถเลือกที่จะกลับไปคบหาหรือไม่กลับไปคบหากันเหมือนเดิมก็ได้

2.1).ให้อภัยใจอ่อน

มีหลายคนที่เลือกให้อภัยกับอดีตคู่รักที่ได้พลั้งพลาดเผลอตามกิเลสไปให้ผิดศีล แล้วยังใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ซึ่งการยอมให้เขากลับเข้ามาในชีวิตนั้นไม่ใช่ความต่อเนื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการตัดสินใจใหม่ซึ่งเราได้เลือกตัดสินใจบนพื้นฐานจากข้อมูลเก่าที่มี เพราะเราเห็นดังเช่นว่า เขาน่าจะปรับปรุงตัวได้ เขาน่าจะสำนึกผิดแล้วไม่ทำอีก เขาน่าจะเข็ด น่าจะขยาดกับความผิดนี้ ในส่วนนี้เป็นเพราะความใจอ่อน เห็นใจเขา เมตตาเขา เห็นเขาอ้อนวอนแล้วสงสารอยากให้โอกาส ซึ่งถ้าพิจารณาจากข้อมูลเท่านี้ก็อาจจะทำให้ผิดพลาดได้ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสาเหตุที่เขานอกใจคืออะไร อาจจะมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่ใช้ในการเป็นข้ออ้าง

ถ้าเรามองไม่ทะลุถึงเหตุที่แท้จริง ถ้าความรักยังบังตาอยู่ เราก็จะไม่สามารถเห็นกิเลสที่ผลักดันเขาได้ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเชื้อร้ายที่สามารถกลับมากำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อการให้อภัยหรือการกลับมาคบกันไม่ได้มีผลไปลดกิเลสของเขา ความใจอ่อนในครั้งนี้อาจจะเป็นบทเริ่มของละครเรื่องเก่าที่นำมาเล่าใหม่ก็ได้

ในอีกมุมหนึ่งของความใจอ่อน คือมันอ่อนที่ตัวเราเอง อ่อนที่กิเลสเราเอง เรารู้ว่าเขาผิดศีลแล้วนะ เขาชั่วแล้วนะ แต่เราก็ยังรักเขา หวงเขา อยากได้เขากลับมา แม้เขาจะเคยทำผิดพลาดขนาดไหน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่เขาอ้างมา แต่ด้วยความอยากได้เขาคืนมา เราก็พร้อมจะยอมใจอ่อนให้เขากลับมาเสมอเพียงแค่เขาแสดงท่าทีสำนึกผิดให้รู้สึกสมใจเราสักนิดหนึ่ง ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า “ถ้ามาง้อสักหน่อยก็จะยอมคืนดี

หลายคนที่เวลาอดีตคนรักทำผิด ในช่วงแรกมักจะโกรธรุนแรง มีท่าทีผลักไส ทำท่าจะไม่เอา ไม่คบ ไม่อยากเจอ ทำเก๊ก มีฟอร์ม ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการ “งอน” ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่าการงอนทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายก็จะพ่ายแพ้ด้วยการ “ง้อ” สรุปได้ว่าสุดท้ายก็ท่าดีทีเหลว ใจอ่อนตั้งแต่แรกแต่ก็ทำใจแข็งไปอย่างงั้นๆให้ดูดีเท่านั้นเอง

ในมุมนี้จะเป็นตัวเราเองที่ชักศึกเข้าบ้าน อย่างที่กล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าไม่สามารถดับเหตุหรือกิเลสที่เขาไปนอกใจได้ ผลหรือการนอกใจก็อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ และส่วนมากเราจะใจอ่อนด้วยสาเหตุนี้เพราะเราเองก็มีกิเลสมาก อยากเสพเขาอยู่มาก ไม่สนใจว่าเขาจะชั่วจะเลวแค่ไหนขอให้ได้เสพเขาเป็นพอ เรากำลังเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ซ้ำร้ายคนที่เราเอามานั้นยังเป็นคนบาป คนที่ทำชั่ว คนที่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ทั้งเราทั้งเขาก็กิเลสหนามันก็จะกลับมาเสพกันได้อยู่พักหนึ่งแล้วสุดท้ายมันก็จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจกัน จนเป็นเหตุให้มีคนใหม่หรือเลิกรากันอยู่ดี

ถ้าถามว่าการให้อภัยดีไหม ก็ตอบเลยว่าดีที่สุดในโลก แต่การกลับมาคบกันนั้นดีไหม ก็จะตอบว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งโดยน้ำหนักแล้วคนที่นอกใจนั้นเป็นคนไม่ดี แล้วเรายังจะเสียดายคนไม่ดีไปทำไม จะเอาคนชั่ว คนบาปกลับมาในชีวิตทำไม

เราสามารถเป็นเพื่อนกับเขาได้ในระยะที่เหมาะสม พอให้เกิดกุศล ให้มีระยะห่างที่ตัวเราปลอดภัย สบายใจ ไม่เดือดร้อน ไม่กังวล หากจำเป็นต้องใกล้ก็ให้ระวังใจตัวเองไว้ให้ดีๆ อย่าไปพลั้งเผลอใจอ่อนเพราะเขามาง้อหรือเราอยากเสพเขาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

การที่เราใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในความสัมพันธ์ใดหรือในระยะใดก็ตาม ตัวเราเองได้กำหนดกรรมที่เราจะได้รับไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นในอนาคตเราจึงต้องรับกรรมนี้ไม่มากก็น้อย ซึ่งจะสุขน้อยทุกข์มาก หรือทุกข์มากจนทุกข์เกินทนนั้นก็สุดแล้วแต่กรรมจะบันดาล

2.2).ให้อภัยใจแข็ง

ในกรณีที่เขาทำผิดแล้วสำนึกผิดมาขออภัย เราสามารถให้อภัยเขาได้หมดใจ ไม่คิดแค้น แต่ไม่เอากลับเขาเข้ามาในชีวิตก็ได้ ซึ่งในมุมนี้คนจะมองเหมือนกับว่าเราไม่ให้อภัย ทั้งที่จริงการให้อภัยกับการรับเขากลับเข้ามาเป็นคนละเรื่องกัน

การที่เราให้อภัยเพราะเรามีจิตเมตตา ทั้งยังเห็นโทษของการจองเวร มีจิตพยาบาทผูกโกรธกันต้องมาชดใช้กันหลายภพหลายชาติ ซ้ำร้ายกิเลสที่เกิดขึ้นยังเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เราจึงให้อภัยเพื่อตัวเราและผู้อื่น

และด้วยเหตุที่เรารักตัวเรามาก เราจึงไม่เปิดโอกาสให้เขาได้กลับมาทำร้ายเราอีก แม้จะดูมีความเสี่ยงน้อย แม้จะเหมือนว่าเขาจะสำนึกผิด ยอมรับผิดทุกอย่าง แม้จะดูเหมือนว่ามันจะไม่เกิดอีก แต่เราก็จะไม่ยอมเสี่ยงอีกเลย ก็คือการไม่กลับไปคบหาเป็นคนรัก ไม่เสี่ยงเพราะไม่ได้เล่นในเกมพนันครั้งนี้ เมื่อไม่เสี่ยงก็ไม่ต้องทุกข์เพราะกลัวจะเสียไป และไม่ต้องทุกข์ในยามเสียไป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการพรากในการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะเป็นความทุกข์ที่น้อยกว่าทุกข์ในอนาคตมากนัก

เมื่อได้มองเห็นทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นแล้ว เราก็ปิดประตูทุกข์ ปิดทางทุกข์ไปเลยเสียดีกว่า ยอมให้ตัวเองเสียเขาไปวันนี้ดีกว่าต้องทุกข์ทรมานในวันหน้า เป็นความรักตัวเอง รักกรรมตัวเอง ไม่ทรมานตัวเองด้วยความอยาก ไม่เอาเขากลับมาเสพเพียงเพราะกลัวจะเสียเขาไป หรือเพราะเสียงของคนรอบข้าง

ความใจแข็งนี้นอกจากรักตัวเองแล้วยังรักอดีตคนรักอีก เพราะว่าแทนที่เราจะเปิดโอกาสให้เขากลับมาทำชั่วทำบาปกับเรา เรากลับปิดโอกาสนั้น ไม่ยอมให้เขาทำบาปทำชั่วกับเรา ถือว่าเป็นการช่วยเขาไม่ให้ทำเลวไปมากกว่านี้ หยุดบาปของเขาตั้งแต่ตอนนี้ ให้เขาได้สำนึก ให้เขาได้รับบทเรียน ให้เขาได้เรียนรู้จักการสูญเสีย ให้เขาได้รู้จักกรรม อันเป็นผลจากการกระทำของเขา เป็นความใจแข็งที่เต็มไปด้วยความเมตตา มองทะลุไปถึงบาปบุญกุศลอกุศลที่ซ่อนอยู่อีกมากมายในความใจแข็งนี้

หากเขาต้องการจะชดใช้ หรือแก้ตัว ก็ให้อยู่ในสถานะเพื่อน คนใกล้ชิด คนรู้จักหรือคนสนับสนุนอะไรก็ได้ที่อยู่ในระยะที่เหมาะสม ที่เราจะไม่เผลอไปทำบาปกับเขา และไม่ใกล้จนเขาเข้ามาทำบาปกับเรา บาปนั้นคือการเพิ่มกิเลส ถ้าเราใกล้กันแล้วกิเลสเพิ่มก็บาป เช่นการใกล้กันมากแล้วกลับไปใจอ่อนคบกันนี่มันก็เป็นบาป เพราะตอนแรกเรามีศีลที่จะไม่คบคนชั่วเป็นคนรัก แต่พอใกล้มากๆเราก็เกิดอาการอยากเสพสิ่งที่เขาเสนอให้หรืออยากเสพสิ่งที่เขามีแล้วเราก็ยอมลดศีลของเรา ยอมคบเขาดีกว่าถือศีล ยอมชั่วไม่ยอมอด ยอมบาปเพื่อที่จะได้เสพ

ความใจแข็งนี้หากเกิดเพราะความพยาบาท ความโกรธ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้อภัยอย่างเต็มที่ เราจึงต้องล้างใจเราให้ดี ล้างกิเลสเราให้เกลี้ยงเสียก่อน แบ่งเรื่องเป็นสองเรื่องให้ชัดเจน คือเรื่องให้อภัยกับเรื่องกลับมาคบหากัน เพราะถ้าไม่ชัดเจน จะหลงไปว่าตนให้อภัยแต่ไม่กลับมาคบเพราะหลงว่าพิจารณาดีแล้ว แต่สุดท้ายพอเขามาง้อเข้ามากๆ ทำดีกับเรามากๆ เราก็ใจอ่อน อันนี้แสดงว่าเราไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก เราไม่ได้ล้างใจตั้งแต่แรก การที่เราไม่กลับมาคบตั้งแต่ตอนแรกนั้นเพราะเรายังไม่ให้อภัย ไม่ใช่ให้อภัยใจแข็ง

ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความผิดคาดมากมาย หลายคนทำท่าเหมือนว่าใจแข็งปล่อยเวลาผ่านไปเป็นปีสองปี… ก็อาจจะกลับไปคบหากันได้เพราะว่าไม่ได้ล้างกิเลส แค่อยู่ในสภาพกดข่มไว้ วันดีคืนดีกิเลสเรากำเริบเราก็จะคิดใจอ่อน จนยอมให้อภัยกับเขาโดยไม่มีเหตุผลและกลับไปเสพเขาเอง เพราะมันอดอยากปากแห้งมานาน การอดโดยไม่ล้างกิเลสจะเกิดความทรมานสะสมสุดท้ายจะตบะแตก เหมือนกับคนที่โกรธอดีตคู่รักมาหลายปี พูดให้ใครฟังก็มีแต่ข้อเสีย สุดท้ายกลับไปคบกับเขาเอาเฉยๆ ซึ่งก็ทำให้คนรอบข้างหลายคนงงเป็นไก่ตาแตก เหตุการณ์แบบนี้ก็มีให้เห็นโดยทั่วไป

นั่นหมายถึงว่าหากเรายังไม่ล้างกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้ ไม่ยอมรับว่ากิเลส เป็นความอยากที่ชั่วแค่ไหน เลวแค่ไหน นำความทุกข์ความฉิบหายให้ชีวิตแค่ไหน เราก็จะยังคงยินดีในการมีกิเลส สะสมบาป สะสมกรรมชั่วต่อไป แล้วก็ต้องมารับกรรมที่ตัวเองได้ก่อนไว้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์