Tag: อภัยทาน

ให้อภัยใจแข็ง

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,117 views 0

ให้อภัยใจแข็ง

ให้อภัยใจแข็ง

…เมื่อการให้อภัยไม่ได้หมายถึงการกลับมาเคียงคู่กันเสมอไป

การใช้ชีวิตไปพร้อมกับการมีคู่รักก็คงต้องกระทบกันมากบ้างน้อยบ้างเหมือนลิ้นกับฟันอยู่ด้วยก็ต้องกระทบกันเป็นธรรมดา เมื่อคนสองคนที่มีความเข้าใจ ความคิดเห็น ความต้องการที่ต่างกันมาอยู่ร่วมกันแล้วความไม่ลงตัวย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเช่นกัน

หากการทะเลาะเบาะแว้งนั้นเกิดจากเรื่องที่พอจะตกลงปรับความเข้าใจกันได้ ก็มักจะให้อภัยกันได้ง่าย ยอมให้กันได้ง่าย แต่หากเหตุแห่งการไม่พอใจกันนั้นเกิดขึ้นเพราะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำปัญหามือที่สามเข้ามาในชีวิตคู่ เช่นมีกิ๊ก คบชู้ มีเมียน้อยผัวน้อย การจะให้อภัยจนถึงการตัดสินใจต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนขึ้นมาทันที

อย่างที่เรารู้กันว่าการคบชู้นั้นผิดศีลข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อคนที่รักกัน ไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ถึงขั้นที่สามารถทำลายศรัทธา ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งหมดที่เคยมีมาได้เพียงแค่รับรู้เรื่องราวการผิดศีลนั้น เมื่อมีผู้ผิดศีลจึงมีผู้ถูกเบียดเบียน และผู้ถูกเบียดเบียนด้วยกายวาจาและใจนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเลือกกรรมที่จะรับต่อไป

1).ไม่ให้อภัย

คนที่ถูกคู่รักทำลายความเชื่อมั่นที่เคยมี นั้นมีสิทธิ์ที่จะเลือกไม่ให้อภัย ไม่ยกโทษ ไม่เผาผี ไม่ต้องมาพบมาเจอกันอีกเลยในชาตินี้ เหตุเกิดจากความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานที่โดนหักหลัง โดนทำลายความไว้ใจ ถูกทำให้กลายเป็นคนไม่มีคุณค่า ฯลฯ

พอเราเสียสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้หรือเสียคู่ของเราให้กับคนอื่นไป คือการพลัดพรากจากของรัก เสียสิ่งที่รักไป แม้ว่าเขาจะกลับมาขอคืนดี ยอมเลิกกับชู้ แต่สิ่งที่รักนั้นไม่ใช่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวยังหมายรวมถึงความเชื่อใจ ความสบายใจ ความอบอุ่นใจที่ได้ใกล้ชิดกัน เมื่อเสียสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะเกิดอาการขุ่นเคืองไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท ได้ตามระดับความรุนแรงของกิเลส

หากถามว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัยไหม ในเมื่อสิ่งที่เขาทำกับเราช่างดูโหดร้ายเหลือเกิน ก็จะตอบว่ามีสิทธิ์ที่จะเลือกกรรมนั้น แต่หากพิจารณาดีๆแล้วอภัยทานนั้นเป็นทานที่มีกุศลมาก เป็นบุญมาก นั่นเพราะเป็นทานที่มีผลต่อการตัดกิเลส คือตัดความโลภ โกรธ หลง

2).ให้อภัย

การที่เราให้อภัยนั้นหมายถึงเราได้ยอมลดความโกรธที่มี ยอมทำลายความหลงที่มีในตัวเขา ทำลายความหลงติดหลงยึดว่าคู่รักต้องดีต่อกันเสมอ ยอมรับความจริงใหม่ที่เกิดขึ้นและเข้าใจว่าอดีตที่เราได้รับไปนั้นเกิดจากกรรมที่เราทำมาเอง เป็นสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด อภัยทานคือทานที่ไม่เป็นภัยแก่ใครเลย เมื่อเราดับความโลภโกรธหลงได้ เราก็จะไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการสั่งสมกิเลส และจะไม่ไปทำร้ายใจใครด้วยกิเลสของเราเช่นกัน

คนที่เขาผิดศีลนั้นทำร้ายได้แม้กระทั่งคนที่ไว้ใจกัน เขาก็ทำบาปมากพอแล้ว ทำชั่วมากพอแล้ว การที่เราจะไปซ้ำเติมเขาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า แม้ว่าเขานั้นจะมาทำร้ายจิตใจของเราก็ตาม เพราะเรารู้ตามจริงว่าการที่เขามาทำร้ายจิตใจของเรานั้นเป็นเพราะกรรมของเราดลให้เขาทำเช่นนั้นกับเรา ถ้าเราไม่เคยทำกรรมชั่วมามันก็ไม่มีทางได้รับ เพราะฉะนั้นเราจึงยินดียอมให้อภัยและรับกรรมนั้นเป็นของตนเองโดยไม่โทษใคร

เมื่อเราให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกับเขาแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ตอนที่เขาได้นอกใจเราและเรื่องเปิดเผยออกมาแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับสถานะโสดกลับมาเป็นของเราอีกครั้ง ความโสดเป็นสมบัติที่มีค่าของเรา และเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่รับความโสดนั้นกลับมาเช่นกัน

ในกรณีเมื่อเราให้อภัยจนหมดใจแล้ว คือไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มีความขุ่นเคืองใจใดๆ ยอมรับกรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เมื่ออดีตคนรักมาขอร้องให้ช่วยให้อภัยเขาและกลับมาคบกันเหมือนเดิม ในส่วนของการให้อภัย เราสามารถให้อภัยได้หมดใจ แต่ในส่วนของการกลับมาคบกันเหมือนเดิมเราสามารถเลือกที่จะกลับไปคบหาหรือไม่กลับไปคบหากันเหมือนเดิมก็ได้

2.1).ให้อภัยใจอ่อน

มีหลายคนที่เลือกให้อภัยกับอดีตคู่รักที่ได้พลั้งพลาดเผลอตามกิเลสไปให้ผิดศีล แล้วยังใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ซึ่งการยอมให้เขากลับเข้ามาในชีวิตนั้นไม่ใช่ความต่อเนื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการตัดสินใจใหม่ซึ่งเราได้เลือกตัดสินใจบนพื้นฐานจากข้อมูลเก่าที่มี เพราะเราเห็นดังเช่นว่า เขาน่าจะปรับปรุงตัวได้ เขาน่าจะสำนึกผิดแล้วไม่ทำอีก เขาน่าจะเข็ด น่าจะขยาดกับความผิดนี้ ในส่วนนี้เป็นเพราะความใจอ่อน เห็นใจเขา เมตตาเขา เห็นเขาอ้อนวอนแล้วสงสารอยากให้โอกาส ซึ่งถ้าพิจารณาจากข้อมูลเท่านี้ก็อาจจะทำให้ผิดพลาดได้ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสาเหตุที่เขานอกใจคืออะไร อาจจะมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่ใช้ในการเป็นข้ออ้าง

ถ้าเรามองไม่ทะลุถึงเหตุที่แท้จริง ถ้าความรักยังบังตาอยู่ เราก็จะไม่สามารถเห็นกิเลสที่ผลักดันเขาได้ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเชื้อร้ายที่สามารถกลับมากำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อการให้อภัยหรือการกลับมาคบกันไม่ได้มีผลไปลดกิเลสของเขา ความใจอ่อนในครั้งนี้อาจจะเป็นบทเริ่มของละครเรื่องเก่าที่นำมาเล่าใหม่ก็ได้

ในอีกมุมหนึ่งของความใจอ่อน คือมันอ่อนที่ตัวเราเอง อ่อนที่กิเลสเราเอง เรารู้ว่าเขาผิดศีลแล้วนะ เขาชั่วแล้วนะ แต่เราก็ยังรักเขา หวงเขา อยากได้เขากลับมา แม้เขาจะเคยทำผิดพลาดขนาดไหน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่เขาอ้างมา แต่ด้วยความอยากได้เขาคืนมา เราก็พร้อมจะยอมใจอ่อนให้เขากลับมาเสมอเพียงแค่เขาแสดงท่าทีสำนึกผิดให้รู้สึกสมใจเราสักนิดหนึ่ง ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า “ถ้ามาง้อสักหน่อยก็จะยอมคืนดี

หลายคนที่เวลาอดีตคนรักทำผิด ในช่วงแรกมักจะโกรธรุนแรง มีท่าทีผลักไส ทำท่าจะไม่เอา ไม่คบ ไม่อยากเจอ ทำเก๊ก มีฟอร์ม ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการ “งอน” ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่าการงอนทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายก็จะพ่ายแพ้ด้วยการ “ง้อ” สรุปได้ว่าสุดท้ายก็ท่าดีทีเหลว ใจอ่อนตั้งแต่แรกแต่ก็ทำใจแข็งไปอย่างงั้นๆให้ดูดีเท่านั้นเอง

ในมุมนี้จะเป็นตัวเราเองที่ชักศึกเข้าบ้าน อย่างที่กล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าไม่สามารถดับเหตุหรือกิเลสที่เขาไปนอกใจได้ ผลหรือการนอกใจก็อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ และส่วนมากเราจะใจอ่อนด้วยสาเหตุนี้เพราะเราเองก็มีกิเลสมาก อยากเสพเขาอยู่มาก ไม่สนใจว่าเขาจะชั่วจะเลวแค่ไหนขอให้ได้เสพเขาเป็นพอ เรากำลังเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ซ้ำร้ายคนที่เราเอามานั้นยังเป็นคนบาป คนที่ทำชั่ว คนที่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ทั้งเราทั้งเขาก็กิเลสหนามันก็จะกลับมาเสพกันได้อยู่พักหนึ่งแล้วสุดท้ายมันก็จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจกัน จนเป็นเหตุให้มีคนใหม่หรือเลิกรากันอยู่ดี

ถ้าถามว่าการให้อภัยดีไหม ก็ตอบเลยว่าดีที่สุดในโลก แต่การกลับมาคบกันนั้นดีไหม ก็จะตอบว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งโดยน้ำหนักแล้วคนที่นอกใจนั้นเป็นคนไม่ดี แล้วเรายังจะเสียดายคนไม่ดีไปทำไม จะเอาคนชั่ว คนบาปกลับมาในชีวิตทำไม

เราสามารถเป็นเพื่อนกับเขาได้ในระยะที่เหมาะสม พอให้เกิดกุศล ให้มีระยะห่างที่ตัวเราปลอดภัย สบายใจ ไม่เดือดร้อน ไม่กังวล หากจำเป็นต้องใกล้ก็ให้ระวังใจตัวเองไว้ให้ดีๆ อย่าไปพลั้งเผลอใจอ่อนเพราะเขามาง้อหรือเราอยากเสพเขาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

การที่เราใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในความสัมพันธ์ใดหรือในระยะใดก็ตาม ตัวเราเองได้กำหนดกรรมที่เราจะได้รับไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นในอนาคตเราจึงต้องรับกรรมนี้ไม่มากก็น้อย ซึ่งจะสุขน้อยทุกข์มาก หรือทุกข์มากจนทุกข์เกินทนนั้นก็สุดแล้วแต่กรรมจะบันดาล

2.2).ให้อภัยใจแข็ง

ในกรณีที่เขาทำผิดแล้วสำนึกผิดมาขออภัย เราสามารถให้อภัยเขาได้หมดใจ ไม่คิดแค้น แต่ไม่เอากลับเขาเข้ามาในชีวิตก็ได้ ซึ่งในมุมนี้คนจะมองเหมือนกับว่าเราไม่ให้อภัย ทั้งที่จริงการให้อภัยกับการรับเขากลับเข้ามาเป็นคนละเรื่องกัน

การที่เราให้อภัยเพราะเรามีจิตเมตตา ทั้งยังเห็นโทษของการจองเวร มีจิตพยาบาทผูกโกรธกันต้องมาชดใช้กันหลายภพหลายชาติ ซ้ำร้ายกิเลสที่เกิดขึ้นยังเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เราจึงให้อภัยเพื่อตัวเราและผู้อื่น

และด้วยเหตุที่เรารักตัวเรามาก เราจึงไม่เปิดโอกาสให้เขาได้กลับมาทำร้ายเราอีก แม้จะดูมีความเสี่ยงน้อย แม้จะเหมือนว่าเขาจะสำนึกผิด ยอมรับผิดทุกอย่าง แม้จะดูเหมือนว่ามันจะไม่เกิดอีก แต่เราก็จะไม่ยอมเสี่ยงอีกเลย ก็คือการไม่กลับไปคบหาเป็นคนรัก ไม่เสี่ยงเพราะไม่ได้เล่นในเกมพนันครั้งนี้ เมื่อไม่เสี่ยงก็ไม่ต้องทุกข์เพราะกลัวจะเสียไป และไม่ต้องทุกข์ในยามเสียไป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการพรากในการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะเป็นความทุกข์ที่น้อยกว่าทุกข์ในอนาคตมากนัก

เมื่อได้มองเห็นทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นแล้ว เราก็ปิดประตูทุกข์ ปิดทางทุกข์ไปเลยเสียดีกว่า ยอมให้ตัวเองเสียเขาไปวันนี้ดีกว่าต้องทุกข์ทรมานในวันหน้า เป็นความรักตัวเอง รักกรรมตัวเอง ไม่ทรมานตัวเองด้วยความอยาก ไม่เอาเขากลับมาเสพเพียงเพราะกลัวจะเสียเขาไป หรือเพราะเสียงของคนรอบข้าง

ความใจแข็งนี้นอกจากรักตัวเองแล้วยังรักอดีตคนรักอีก เพราะว่าแทนที่เราจะเปิดโอกาสให้เขากลับมาทำชั่วทำบาปกับเรา เรากลับปิดโอกาสนั้น ไม่ยอมให้เขาทำบาปทำชั่วกับเรา ถือว่าเป็นการช่วยเขาไม่ให้ทำเลวไปมากกว่านี้ หยุดบาปของเขาตั้งแต่ตอนนี้ ให้เขาได้สำนึก ให้เขาได้รับบทเรียน ให้เขาได้เรียนรู้จักการสูญเสีย ให้เขาได้รู้จักกรรม อันเป็นผลจากการกระทำของเขา เป็นความใจแข็งที่เต็มไปด้วยความเมตตา มองทะลุไปถึงบาปบุญกุศลอกุศลที่ซ่อนอยู่อีกมากมายในความใจแข็งนี้

หากเขาต้องการจะชดใช้ หรือแก้ตัว ก็ให้อยู่ในสถานะเพื่อน คนใกล้ชิด คนรู้จักหรือคนสนับสนุนอะไรก็ได้ที่อยู่ในระยะที่เหมาะสม ที่เราจะไม่เผลอไปทำบาปกับเขา และไม่ใกล้จนเขาเข้ามาทำบาปกับเรา บาปนั้นคือการเพิ่มกิเลส ถ้าเราใกล้กันแล้วกิเลสเพิ่มก็บาป เช่นการใกล้กันมากแล้วกลับไปใจอ่อนคบกันนี่มันก็เป็นบาป เพราะตอนแรกเรามีศีลที่จะไม่คบคนชั่วเป็นคนรัก แต่พอใกล้มากๆเราก็เกิดอาการอยากเสพสิ่งที่เขาเสนอให้หรืออยากเสพสิ่งที่เขามีแล้วเราก็ยอมลดศีลของเรา ยอมคบเขาดีกว่าถือศีล ยอมชั่วไม่ยอมอด ยอมบาปเพื่อที่จะได้เสพ

ความใจแข็งนี้หากเกิดเพราะความพยาบาท ความโกรธ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้อภัยอย่างเต็มที่ เราจึงต้องล้างใจเราให้ดี ล้างกิเลสเราให้เกลี้ยงเสียก่อน แบ่งเรื่องเป็นสองเรื่องให้ชัดเจน คือเรื่องให้อภัยกับเรื่องกลับมาคบหากัน เพราะถ้าไม่ชัดเจน จะหลงไปว่าตนให้อภัยแต่ไม่กลับมาคบเพราะหลงว่าพิจารณาดีแล้ว แต่สุดท้ายพอเขามาง้อเข้ามากๆ ทำดีกับเรามากๆ เราก็ใจอ่อน อันนี้แสดงว่าเราไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก เราไม่ได้ล้างใจตั้งแต่แรก การที่เราไม่กลับมาคบตั้งแต่ตอนแรกนั้นเพราะเรายังไม่ให้อภัย ไม่ใช่ให้อภัยใจแข็ง

ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความผิดคาดมากมาย หลายคนทำท่าเหมือนว่าใจแข็งปล่อยเวลาผ่านไปเป็นปีสองปี… ก็อาจจะกลับไปคบหากันได้เพราะว่าไม่ได้ล้างกิเลส แค่อยู่ในสภาพกดข่มไว้ วันดีคืนดีกิเลสเรากำเริบเราก็จะคิดใจอ่อน จนยอมให้อภัยกับเขาโดยไม่มีเหตุผลและกลับไปเสพเขาเอง เพราะมันอดอยากปากแห้งมานาน การอดโดยไม่ล้างกิเลสจะเกิดความทรมานสะสมสุดท้ายจะตบะแตก เหมือนกับคนที่โกรธอดีตคู่รักมาหลายปี พูดให้ใครฟังก็มีแต่ข้อเสีย สุดท้ายกลับไปคบกับเขาเอาเฉยๆ ซึ่งก็ทำให้คนรอบข้างหลายคนงงเป็นไก่ตาแตก เหตุการณ์แบบนี้ก็มีให้เห็นโดยทั่วไป

นั่นหมายถึงว่าหากเรายังไม่ล้างกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้ ไม่ยอมรับว่ากิเลส เป็นความอยากที่ชั่วแค่ไหน เลวแค่ไหน นำความทุกข์ความฉิบหายให้ชีวิตแค่ไหน เราก็จะยังคงยินดีในการมีกิเลส สะสมบาป สะสมกรรมชั่วต่อไป แล้วก็ต้องมารับกรรมที่ตัวเองได้ก่อนไว้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,393 views 1

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

สังคมทุกวันนี้ พอพูดกันว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องนึกกันไปว่าต้องไปที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม เข้าใจกันไปว่าต้องไปที่นั่นถึงจะได้ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าไปดูหนังก็ต้องไปโรงหนัง ไปกินข้าวก็ต้องไปร้านอาหารยังไงอย่างงั้น

ทีนี้พอกลับมาพูดกันว่าปฏิบัติธรรมภายในตัวเอง ก็ยังเข้าใจกันแบบงงๆอยู่อีก บ้างก็ว่านั่งสมาธิที่บ้าน เดินจงกรม บ้างก็ว่าเจริญสติไปในการกระทำต่างๆ ดับความคิด ทำจิตให้สงบ ก็เข้าใจกันไปว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งจะว่าใช่มันก็ใช่บางส่วน นั่นเพราะมันอยู่ในขีดของการทำสมถะเท่านั้นเอง

การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่ การทำสมาธิ เดินจงกรม ดับความคิด ทำจิตให้นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน แต่หมายถึงการทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น ในทุกๆเหตุการณ์ในชีวิต

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ในแต่ละวันเราจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกระแทก หรือที่เรียกว่า “ผัสสะ” ผัสสะ คือ เหตุที่ทำให้จิตของเราเกิดอาการไม่ปรกติ เกิดเป็นอาการได้ทั้งทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เรียกว่า “เวทนา” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังต่อแถวซื้ออาหารอยู่นั้น มีคนเข้ามาแทรกแถวข้างหน้าเรา ผัสสะที่เกิดคือเห็นคนเข้ามาแทรก ด้วยความที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าต้องเข้าแถวสิ ก็เลยเกิดความเป็นทุกข์ เราทุกข์เพราะว่าเขาทำไม่ทำดีตามที่เราหมาย ตามที่เราเข้าใจ ตามที่เราตั้งกฎไว้

ปฏิบัติแบบสมถะ…

ทีนี้นักปฏิบัติสายสมถะ ก็จะรู้ว่าจิตได้เกิดแล้ว จึงใช้สมถะที่ได้ฝึกมา เช่นบริกรรมพุทโธ ยุบหนอพองหนอ นับ 1 2 3… สร้างความรู้สึกที่ตัว ย้ายจุดสนใจของจิตไปไว้ที่จุดอื่น สุดท้ายก็ตบจิต หรือความคิดนั้นๆดับไป เป็นวิถีแห่งสมถะ ถ้าทำได้ก็ถือว่าดี เก่งพอประมาณแล้ว

แต่จริงๆ อกุศลได้เกิดขึ้นไปแล้ว จิตได้เกิดไปแล้ว เวทนาเกิดทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว และการดับแบบนี้เป็นการดับที่ไม่ถาวร เป็นการกดข่ม กดทับไว้ เกิดทีหนึ่งก็ต้องดับทีหนึ่ง ถ้าใครฝึกสมถะเก่งๆก็จะสามารถดับได้โดยไม่รู้ตัวเลย จะว่าดีไหมมันก็ดี แต่ไม่พ้นทุกข์กลายเป็นเหมือนฤาษีที่ต้องติดภพติดสุขอีกนานกว่าจะหลุดพ้นนรกแห่งความสุข

หรือแม้แต่การพิจารณาแบบสมถะ คือการใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาตบ มาทำลายความคิดนั้นทิ้ง เช่น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ,โลกก็เป็นอย่างนี้ ,จิตเราเกิดมันก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับไป แม้เราจะพิจารณาไปตามไตรลักษณ์ แต่พิจารณาไปตามเหตุปัจจัยภายนอกก็ยังไม่สามารถเข้าไปแก้เหตุแห่งทุกข์ได้ การเพ่งพิจารณาในปัจจัยภายนอกก็สามารถแก้ปัญหาได้แค่ภายนอกเท่านั้น ดับแค่ปลายเหตุ ดับได้แค่ทุกข์ที่เกิดไปแล้ว

เมื่อตบความคิด ความทุกข์เหล่านั้นทิ้งไป นักสมถะก็จะสามารถวางเฉย ปล่อยวางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ ไม่ถือสา ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะ เพราะได้วางเฉยแล้ว

ปฏิบัติแบบวิปัสสนา…

การวิปัสสนาจะต่างออกไป คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังที่ยกตัวอย่าง จะมีทางให้เราเลือกตัดสินใจเพียงชั่วครู่ หากเขาเหล่านั้นมีสติมากพอ จะสามารถจับได้ว่า เมื่อมีคนมาแทรก เขารู้สึกอย่างไร ทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เพราะอะไร เมื่อมีผัสสะนั้นๆเป็นเหตุเกิด แล้วมันเกิดจากอะไร ทำไมเราถึงต้องไปทุกข์ ไปสุข กับการที่เขาคนนั้นเข้ามาแทรก เป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในกฎใช่ไหม เป็นเพราะเราติดว่าดีเราจึงเป็นทุกข์ใช่ไหม เมื่อค้นเข้าไปอีกก็อาจจะเจอว่า จริงๆแล้วเพราะเราไม่อยากให้ใครมาแทรกเราใช่ไหม, เราหิวใช่ไหม ,ความหิวทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายแบบนี้ใช่ไหม, หรือเราโกรธเพราะอ้างความหิว , ที่เราโกรธเพราะเราหวงที่ของเราต่างหาก ไม่อยากให้ใครมาแย่งไป….

พอค้นเจอเหตุที่เกิดหรือสมุทัยได้ดังนี้ จึงพิจารณาธรรมที่ควรแก่การแก้อาการยึดมั่นถือมั่นนี้ต่อไปเช่น เราจะกินช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก , เขามาแทรกเพราะเราเคยไปแย่งของใครมาชาติในชาติหนึ่ง ฯลฯเมื่อเห็นทุกข์ที่เกิด เห็นเหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงวิธีที่ควรที่จะดับทุกข์นั้น และดับทุกข์นั้นด้วยวิธีที่ถูกที่ควร จะได้ภาวะสุดท้ายคือการปล่อยวางจากกิเลสนั้น

การวิปัสสนา จะมีหลักอยู่ตรงที่ล้วงลึกเข้าไปที่เหตุแห่งการเกิดทุกข์นั้นๆ เพื่อดับทุกข์จากต้นเหตุ ไม่ใช่ดับที่ปลายเหตุแบบสมถะ แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งต้องทำเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีพิจารณาแบบสมถะร่วมด้วย ในกรณีที่ผัสสะนั้นแรงเกินไป เช่น นอกจากเขามาแทรกแล้วเขายังเอาเพื่อนเข้ามาแทรกและคุยเสียงดังไม่เกรงใจเราด้วย เมื่อผัสสะนั้นแรงเกินกว่าที่เราจะทนรับไหว เราก็ควรจะใช้การพิจารณาแบบ กดข่ม อดทน ตบทิ้ง เข้ามาร่วมด้วย

การวิปัสสนานั้น จะสามารถดับได้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว และทุกข์ที่จะเกิดต่อๆไปจากเหตุการณ์นั้นๆ หากเราพิจารณาถึงรากของกิเลสจริงๆว่าเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดได้ เมื่อล้างได้ถูกตัวถูกตนของกิเลสนั้นจริง ไม่ว่าจะมีคนมาแทรกอีกสักกี่ครั้ง จะแทรกลีลาไหน ยียวนเพียงใด เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์อีกเลย เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์ในใจเราไปแล้ว

และเรายังสามารถที่จะเตือนเขาโดยที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยจิตที่ขุ่นมัวอีกด้วย ส่วนเขาจะสวนมาในลีลาไหนก็ต้องรอรับผัสสะอีกชุด ซึ่งก็คงจะเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากการที่เขาอาจจะไม่ยอมรับว่าเขาแทรก ถ้าเรายังทุกข์อยู่เราก็ล้างทุกข์ไป แต่ถ้าเราไม่รู้สึกอะไรแล้วและเขาไม่เชื่อที่เราแนะนำ ไม่ยอมไปต่อท้ายแถว ถ้าเขายินดีที่จะทำบาปนั้น เราก็ปล่อยเขาไปตามกรรมที่เขาทำ

การสร้างบุญกุศลในชีวิตประจำวัน

เมื่อปฏิบัติธรรมกันแล้วเราก็มาต่อกันที่ผลของการปฏิบัติธรรมว่า เกี่ยวกับ บุญ บาป กุศล อกุศล อย่างไร เช่น ในกรณีที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเกิดว่า….

ถ้า…เราสามารถใช้สมถะกดข่มจิตใจที่รู้สึกเคือง ขุ่นใจ ไม่ชอบใจนั้นได้ จนเป็นเหตุให้เราไม่ไปต่อว่าเขาเพิ่ม สร้างบาปเพิ่ม เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส เมื่อเราไม่สั่งสมกิเลสคือความโกรธ กดข่มมันไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลระดับหนึ่งแล้ว

ถ้า…เราสามารถ ใช้วิปัสสนา พิจารณาลงไปถึงที่เกิด จนสามารถทำลายกิเลสได้บางส่วน หรือสามารถฆ่าล้างกิเลสได้ทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ได้กุศลมาก เพราะอยู่ในระดับอภัยทาน ซึ่งเป็นทานที่ยอมล้างโทสะ สละเหตุแห่งโทสะ คือรากแห่งความโกรธนั้นออกจากวิญญาณของเรา จึงมีกุศลมาก มีอานิสงส์มาก

แต่ถ้า…เราใช้สมถะข่ม แต่ก็กดไม่อยู่ จึงมีอาการขุ่นใจ รำคาญใจ คิดแค้น อาฆาต จ้องจะเอาผิด เพ่งโทษ เราก็จะสั่งสมกิเลสภายในใจตัวเองเพิ่ม เป็นบาป เป็นอกุศล

แต่ถ้า…เราปล่อยใจไปตามกิเลส โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง เราจึงกล่าววาจาแห่งความติดดี ประณามผู้ที่มาแทรกด้วยใจที่เต็มไปด้วยความโกรธ และชวนให้คนอื่นโกรธคนที่มาแทรกอีกด้วย ถ้าผู้แทรกละอายถอยหนีก็จบเรื่องไป แต่ถ้าเขาหน้าด้านหน้าทน ทำเนียนไม่ยอมไป ก็อาจจะบานปลาย จนอาจจะเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ลงไม้ลงมือ เรื่องราวใหญ่โต กลายเป็นบาปมาก เพราะเพิ่มกิเลสคนเดียวไม่พอ ยังชวนคนอื่นเพิ่มกิเลสคือความโกรธอีก อกุศลก็มากตามความเลวร้ายที่เกิดนั่นแหละ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการที่เราไปตำหนิคนที่เข้ามาแทรกนั้นผิดตรงไหน คำตอบก็คือผิดตรงที่มีความโกรธปนเข้าไปด้วย คนเราเมื่อติดดียึดดีแล้วมีความโกรธ จะสามารถคิดทำลายผู้อื่นได้โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเห็นว่าตนถูกคนอื่นผิด เพราะมีความยึดดีถือดีบังหน้า เห็นว่าดีแล้วคิดว่าสามารถโกรธได้ ทั้งที่จริงเราก็สามารถที่จะเตือนเขา บอกเขาด้วยใจที่ปกติไม่ต้องมีความโกรธไปปนก็ได้การที่เราโกรธคนที่เขาทำไม่ดี มันก็ยังมีความไม่ดีในตัวเราอยู่นั่นเอง จริงๆแล้วเราก็ไม่ควรจะโกรธใครเลย

ความโกรธยังทำให้เรื่องราวใหญ่โตมากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ในตอนแรกเราโกรธเพราะเราจะได้กินข้าวช้าไป 1 คิว แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ความโกรธมันก็เพิ่มขึ้น แถมยังได้กินข้าวช้าลงไปอีก เต็มไปด้วยการสะสมกิเลส สะสมบาป สะสมอกุศล และเป็นทุกข์

แต่ละเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบเรานี่แหละ คือการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดบุญบาป กุศลอกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นการปฏิบัติสมถะวิปัสสนาที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน ในทุกวินาทีของชีวิต โดยไม่ต้องรอไปวัด

การไปวัดเพื่อหาพระหรือครูบาอาจารย์ ก็คือการไปรับฟังคำสั่งสอน ไปร่วมกุศลกับท่านบ้าง ไปตรวจสอบตัวเอง ไปส่งการบ้าน ไปถามคำถาม ไปปรึกษา การเข้าหาครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ แต่ไม่ใช่ว่าไปหาท่านแล้วจะได้บุญ เพราะเรื่องบาปบุญ กุศลอกุศลนั้น เราต้องทำเอาเอง ทำกันในชีวิตประจำวันนี่แหละ

– – – – – – – – – – – – – – –

18.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทานนี้เพื่อให้

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,604 views 0

ทานนี้เพื่อให้

 

ทานนี้เพื่อให้

การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ

การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่

เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก

การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…

ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า

วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่

ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน

อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม

ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์