Tag: บริจาคทาน

ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,632 views 0

ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

ว่าด้วยการทำบุญทำทานในสมัยนี้ ไม่ว่าจะทำบุญตักบาตรให้กับพระ ทำบุญเลี้ยงอาหารผู้ยากไร้ ทำบุญในงานมงคลต่างๆ หรือการทำการกุศลที่มีอาหารเป็นส่วนประกอบในงานใดๆก็ตาม โดยส่วนมากก็มักจะเป็นอาหารที่พรั่งพร้อมไปด้วยเนื้อสัตว์ไปเสียทุกงาน

เรามักเข้าใจไปว่าการให้อาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นการทำบุญ เราหลงเข้าใจไปว่าสัตว์ตายเพื่อเป็นอาหารสัตว์นั้นก็ได้บุญ เราหลงเข้าใจกันว่าเนื้อสัตว์ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้กันมานานแสนนาน ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นการทำบุญที่ได้บาป…

ทำบุญได้บาปอย่างไร?

ในพระไตรปิฏกบทหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องทำบุญได้บาป ได้ชี้แจงไว้ดังนี้ ๑.บุญได้บาปเพราะมีการสั่งให้ไปเอาสัตว์ตัวนั้นมา ๒.ได้บาปเพราะสัตว์นั้นต้องโศกเศร้า เพราะถูกบังคับมา ๓.ได้บาปเพราะมีการสั่งให้ฆ่าสัตว์นั้น ๔.ได้บาปเพราะสัตว์นั้นได้รับความทุกข์ทรมาน ๕.ได้บาปเพราะทำให้ผู้ปฏิบัติสู่ความสงบจากกิเลสทั้งหลาย เกิดความยินดีที่ได้กินเนื้อสัตว์ที่ไม่สมควรกิน (เนื้อสัตว์ที่ได้มาด้วยการเบียดเบียน)

จึงจะเห็นได้ว่า การนำเนื้อสัตว์มาบริจาคเป็นทานนั้น มีส่วนแห่งบาปปะปนอยู่มากมาย จนเรียกได้ว่า อาจจะไม่คุ้มกันกับการทำบุญทำทานด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น

กว่าจะได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ ต้องผ่านความทุกข์ทรมาน ผ่านความเศร้าโศกเสียใจมากมาย สัตว์ที่จะถูกฆ่าต่างก็มักจะรู้ตัวว่าตัวเองนั้นจะต้องถูกฆ่า บ้างก็น้ำตาไหล บ้างก็วิ่งหนี ดิ้นรนเท่าที่มันจะสามารถทำได้ แต่สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็ไม่มีทางหนีจากบ่วงกรรม จากบาปที่สัตว์เหล่านั้นเคยทำมา ไม่มีทางหนีคมหอกคมดาบจากคนผู้มีใจเหี้ยมโหด

โดยทั่วไปมนุษย์นั้นมักจะไม่สามารถทนเห็นการกระทำที่แสนจะโหดร้ายทารุณได้ แต่ก็มักจะหลงติดในกามรส ติดในโลกธรรม หลงยึดว่าเนื้อสัตว์อร่อย หลงยึดว่าคนส่วนใหญ่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หลงยึดว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นกับชีวิตหลงยึดว่าเนื้อสัตว์ดี

มนุษย์ผู้มีใจสูง หากได้รับรู้ถึงความโหดร้ายทารุณ รู้ถึงความทรมาน รู้ถึงบ่วงกรรมที่จะเกิดขึ้น รู้ถึงโทษชั่ว รู้ถึงภัยจากกิเลสคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ เขาเหล่านั้นจะพยายามออกจากการเบียดเบียนเหล่านั้น เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าถ้ายังฝืนเบียดเบียนต่อไปจะนำมาซึ่งทุกข์ โทษ ภัย ต่อตัวเอง ดีไม่ดี อาจจะเป็นเขาเองก็ได้ที่ต้องกลายเป็นสัตว์เหล่านั้นไปในชาติใดชาติหนึ่ง

เพราะโดยสัจจะแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น สัตว์ที่ถูกกักขัง ถูกทรมาน และถูกฆ่าเหล่านั้น เขาก็เคยก่อกรรมชั่วมามากมาย และในชาติที่เราเห็นเขาเป็นสัตว์ เขาก็กำลังชดใช้กรรมของเขาอยู่ ใช้แล้วก็หมดไปเรื่องหนึ่ง ถ้ายังไม่หมดก็อาจจะเกิดเป็นสัตว์ไปชดใช้กรรมอีกเรื่อยๆก็เป็นได้ จนชาติใดชาติหนึ่งกรรมชั่วได้เบาบาง ส่งผลให้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ด้วยความที่มีกิเลสมากก็กลับไปเบียดเบียนสัตว์กินเนื้อสัตว์อีก สะสมบาป เวร ภัย สะสมความชั่วอีกมากมาย เมื่อตายก็อาจจะวนกลับไปเป็นสัตว์ได้อีก วนเวียนไปเช่นนี้ เราจึงจะเห็นได้ว่ามีสัตว์ที่ถูกฆ่าและคนที่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันเสมอ มีสัตว์ มีคนกินเนื้อสัตว์ ก็มีคนฆ่าสัตว์ และมันจะวนเวียนกันไปจนกว่าคนใดคนหนึ่งจะหลุดพ้นจากกิเลสได้นั่นเอง

ฉลาดทำบุญด้วยการละเว้นเนื้อสัตว์

เมื่อเราเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว เรายังคิดจะทำบุญด้วยเนื้อสัตว์อยู่อีกหรือ? เรายังสนับสนุนให้ผู้อื่นกินเนื้อสัตว์อยู่อีกหรือ? แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้ แต่ทำไม่เราไม่ให้โอกาสผู้อื่นได้สัมผัสอาหารมังสวิรัติบ้างเล่า

อย่างเช่น การทำบุญตักบาตรให้พระ ถ้าเราใส่แต่อาหารมังสวิรัติ ใส่ผักไป พระท่านก็จะได้โอกาสพิจารณาอาหาร ได้โอกาสที่จะกินมังสวิรัติแม้ว่าตัวท่านเองจะยังมีกิเลสอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ก็ตาม แต่หากสังคมช่วยกันด้วยการไม่ส่งเสริมกิเลสให้พระ ไม่ใส่เนื้อสัตว์ให้พระ ก็จะสามารถช่วยบำรุงความเจริญให้ศาสนาได้

เพราะผู้บวชในพระพุทธศาสนานั้น บวชไปเพื่อความพราก เพื่อความไม่มี เพื่อความลด และดับกิเลส ดังนั้นเราจึงควรส่งเสริมให้ท่านได้ลดกิเลสในเรื่องเนื้อสัตว์นี้ ไม่เอาเนื้อสัตว์ไปถวายท่าน เพราะพระที่ยังมีกิเลสมาก ก็มักจะกินเนื้อสัตว์นั้น ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่สมควร เป็นเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เราจะได้บาปเพราะทำให้พระผู้ปฏิบัติสู่การลดกิเลส กินเนื้อสัตว์ที่ประกอบไปด้วยบาป ซ้ำยังไปส่งเสริมกิเลสในตัวท่านอีก จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยหากชาวพุทธจะทำการใดๆ เพื่อส่งเสริมกิเลสพระ

การเลี้ยงพระด้วยอาหารมังสวิรัตินั้นจะเป็นกุศลอย่างยิ่งเพราะไม่ประกอบด้วยบาปใดๆ ปรุงรสให้จืด ทำด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ เสริมโปรตีนให้ท่านด้วยถั่วและธัญพืช มีรายงานและการวิจัยมากมาย รวมถึงหลักฐานชนิดที่ว่าเป็นคนทั่วไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นไม่ได้ทำให้เสียสุขภาพแต่อย่างใด ในทางกลับกันยังมีสุขภาพที่ดี ร่างกายเบาสบาย สดชื่น แข็งแรง มีโรคน้อย

ซึ่งจะไปตรงกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อยและอายุยืน” ดังนั้น หากเราคิดจะทำบุญให้ได้กุศลสูงสุด เป็นไปเพื่อสร้างความเจริญให้กับศาสนา ก็พึงพิจารณาหาอาหารมังสวิรัติมาถวายพระ นำอาหารมังสวิรัติไปจัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ นำอาหารมังสวิรัติมาทำบุญตักบาตร ส่วนท่านจะฉันหรือไม่ฉันนั้นก็ให้เป็นไปตามกิเลสของท่าน ส่วนเรามีหน้าที่ไม่เสริมกิเลสของท่านก็เป็นบุญอันยิ่งใหญ่แล้ว

เมื่อจิตของเราคิดจะสละทรัพย์บริจาคทานให้ผู้อื่นเพื่อเป็นบุญแล้ว ก็ควรพิจารณาสิ่งที่จะนำไปบริจาคนั้นให้ดีด้วย เพื่อทำกุศลให้ถึงพร้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หากทานที่เราให้ไปนั้น ให้แล้วกลับกลายเป็นเพิ่มกิเลส เพิ่มบาปให้กับผู้อื่น เราก็ไม่สมควรให้ หรือให้แต่น้อย ส่วนทานใดที่เราให้ไปแล้วพาให้เขาลดกิเลส พาให้เขาเกิดความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมไปในทางเดียวกัน ทานนั้นจึงเป็นทานที่สมควรให้

– – – – – – – – – – – – – – –

29.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทานนี้เพื่อให้

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,604 views 0

ทานนี้เพื่อให้

 

ทานนี้เพื่อให้

การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ

การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่

เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก

การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…

ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า

วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่

ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน

อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม

ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำบุญหวังผล

September 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,590 views 0

ทำบุญหวังผล

ทำบุญหวังผล

ชาวไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่สอดร้อยไปด้วยวิถีแห่งความดีงาม เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็มักจะไปทำกุศลโดยการบริจาคทาน ตามวัดวาอาราม ทำงานจิตอาสา บริจาคเงินเผื่อแผ่แก่สังคม ฯลฯ และในสังคมทั่วไปไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หากที่ใดใกล้วัดก็จะได้พบเห็นการทำบุญตักบาตรเกื้อกูลพระสงฆ์ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้เป็นประจำในทุกเช้า เป็นเรื่องที่ดีที่ยังมีให้เห็นได้อยู่ในสังคมไทย

แต่การทำบุญนั้น ใครเล่าจะรู้ว่าจะได้อานิสงส์เท่าไหร่อย่างไร สิ่งใดเล่าเป็นตัววัด จะรับรู้ได้อย่างไรว่าบุญนั้นจะเกิดผล ผู้ที่ทำบุญส่วนมากกลับมีความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักคำสอนของศาสนาพุทธ คือทำบุญแล้วมักจะหวังผล หวังให้เกิดสิ่งที่ดีกับตน หวังให้ตนได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ให้สมใจ ขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขอสวรรค์วิมาน ขอเทวดาคุ้มครอง ขอนิพพาน ขออะไรก็ขอกันไป โดยมีสิ่งของเครื่องบรรณาการไปแลกหรือติดสินบน เพื่อให้ตัวเองนั้นได้คาดหวังว่าจะมี เทวดา ฟ้า สวรรค์ หรืออะไรมาดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีในชีวิตตน

เป็นการเอาโลกียะทรัพย์ คือวัตถุ สิ่งของ ไปแลกโดยหวังสิ่งที่มากกว่า เช่นทำบุญไป 100 บาท หวังว่าจะถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง หรือคนอีกพวกก็มักจะทำบุญด้วย วัตถุ สิ่งของ เพื่อหวังไปแลกอริยทรัพย์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ทั้งสองกรณีอยู่แล้วที่จะเอาของไร้ค่าไปแลกกับของมีค่า เป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุนน้อยแต่ได้กลับมามาก

ศาสนาพุทธสอนให้เราเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม การที่เราทำสิ่งใดนั้น เราย่อมได้รับผลของมัน นั่นหมายความว่า ถ้าอยากได้ อยากเป็น อยากมีอะไร ต้องทำเอาเอง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่ว่าจะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สวรรค์ วิมาน นิพพาน ฯลฯ ถ้าอยากจะได้ ต้องทำเอาเอง ต้องปฏิบัติเอาเอง ไม่ใช่การเฝ้าร้องขอ วิงวอน บนบาน ขอพร กับใครหรืออะไรทั้งสิ้น

อ่านไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าโหดร้าย แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ เราจะได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้ทำอะไรมา เราก็ไม่สมควรได้รับสิ่งนั้น ความยุติธรรมเช่นนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ?

ผู้ที่มัวเฝ้าหวัง เฝ้าขออะไรก็ตาม แท้จริงแล้วเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ถ่องแท้ ไม่กระจ่างแจ้งเรื่องกรรม เขาเหล่านั้นจึงงมงายในสิ่งลี้ลับ สิ่งมหัศจรรย์ เทพ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงไสยศาสตร์ เดรัจฉานวิชาต่างๆ

การขอหรือการหวังใดๆนั้นอาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่การเกิดสิ่งที่หวังนั้นไม่ได้เกิดจากการร้องขอของเราเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราไม่เคยทำสิ่งดีมาก่อนก็ไม่มีวันได้สิ่งดี เหมือนกับการหยอดกระปุกสะสมเงิน ถ้าเราไม่เคยหยอดกระปุกเลย ถึงเราจะพยายามแงะแกะเขย่าเท่าไหร่ ก็ไม่มีวันที่เงินจะร่วงลงมา

ดังนั้นการที่เราขอแล้วได้นั้น ไม่ได้หมายความเทพเทวดาหรืออะไรในสถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเพราะตัวของเรามีกุศลเก่าที่เก็บไว้ ความคาดหวังอย่างตั้งมั่นในการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ทำให้เราได้เบิกทุนกุศลเก่าที่เก็บไว้ในคลังกุศลของเรามาใช้อย่างไม่รู้ตัว จะสังเกตได้ว่าเวลามีคนบนบานศาลกล่าว หรือไปทำบุญขอนั่นขอนี่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักจะมีทั้งคนสมหวังและไม่สมหวัง นั่นก็เพราะคนที่สมหวังเขาทำกุศลสะสมมามากเวลาเขาอยากได้อะไรเขาก็เบิกได้ ส่วนคนที่ไม่ได้ก็ไปเห็นคนที่เขาได้ ก็เข้าใจไปว่าสิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ และเกิดความโลภ ก็เลยหวังให้ตนขอได้บ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร…เพราะตนไม่เคยทำกุศลกรรมนั้นมา เมื่อไม่มีกรรม ก็ไม่มีผลของกรรม เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

แล้วต้องทำบุญแบบไหน?…

เราหลงไปกับการทำบุญที่เป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งเป็นทางที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกที่ควร เมื่อเข้าใจผิดก็จะห่างไกลกับความสุขแท้ไปเรื่อยๆ เราควรมีความเข้าใจที่ถูกที่ควรเสียก่อน คือ มีความเข้าใจที่พาพ้นทุกข์ พาลดกิเลสเสียก่อน จึงเรียกได้ว่าสัมมาทิฏฐิ การให้เพื่อเป็นไปสู่การสั่งสมกิเลส ไม่ใช่ทางที่ถูกที่ควรเลย

ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิว่า “ทานที่ให้แล้ว มีผล ( อัตถิ ทินนัง)“ มีผลอะไร? คือมีผลไปลดกิเลส ลดความละโมบ ลดการสะสม ลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดการเอาแต่ได้ ลดความเอาแต่ใจ ลดความยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกที่ควร หรือสัมมาทิฏฐิ

ดังนั้น เมื่อเราทำทาน เราจึงต้องเข้าใจว่า ทานนี้เราให้ไปเพื่อลดกิเลสของเรา ลดความอยากได้อยากมีของเรา จึงจะเป็นบุญที่แท้จริง สร้างกุศลอย่างเต็มที่ ไม่มีบาปหรืออกุศลใดมาหักล้างให้เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ

เมื่อเราได้เข้าใจว่าทำการทำทานของเราได้เกิดผลลดกิเลสแล้ว นั่นก็คือทานนั้นสำเร็จถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ เป็นความสมบูรณ์ของทานนั้นๆแล้ว ส่วนกุศลหรืออานิสงส์จากการทำบุญที่จะเกิดตามมานั้น จะเป็นอย่างไรให้เป็นเรื่องของเขา จะเกิดสิ่งที่ดีก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ เพราะเราเมื่อเราทำทาน เราก็ได้รับสิ่งประเสริฐที่สุดคือการลดกิเลส เป็นสมบัติของเราแล้ว

ถ้าอย่างนั้นให้ทานแล้วต้องไม่หวังผล?..

จะตอบในแง่เดียวมันก็ไม่ใช่.. การให้ทานนั้น เราควรจะรับรู้ว่าผลจะเกิดอะไร เช่นเราให้สิ่งของกับคนๆหนึ่งไป แล้วรู้ผลว่าเขาจะไปสร้างประโยชน์ต่อได้ อันนี้ก็คือเราหวังผล คือให้เกิดผลดีกับเขา แต่เราไม่หวังผลเพื่อให้เกิดกิเลสใดๆในใจเราเพิ่ม

หรือถ้าเราไปทำทานแล้ว รู้ผลว่าเขาจะไปทำชั่ว เอาไปทำสิ่งไม่ดี เราก็รู้ผลนั้นๆ จึงระงับการให้ทาน เพราะทานนั้นจะเป็นไปเพื่ออกุศล แต่ใจเราไม่ได้ติดยึดเรื่องการให้แล้ว เรายินดีที่จะให้ แต่ถ้าให้ไปแล้วมันเกิดอกุศลมากกว่ากุศลเราก็ไม่ให้ จิตตรงนี้ก็เป็นทานแล้ว คือไม่ให้ เพื่อจะไม่ส่งเสริมโอกาสที่เขาไปสร้างบาปสร้างอกุศลเพิ่ม เป็นการไม่ให้ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี เพื่อหวังไปชะลอหรือขัดกิเลสเขา ไม่ให้เขามีกิเลสเพิ่ม

การทำทานนั้น ควรทำอย่างมีปัญญา คือควรรู้ว่าเราทำแล้วเราจะได้อะไรบ้าง ได้กุศลหรืออกุศล เป็นไปเพื่อบุญหรือบาป เป็นการลดกิเลสหรือสั่งสมกิเลส จะเกิดสิ่งที่ดีหรือให้ผลที่ร้าย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงทำทานเพื่อลดกิเลสของเราและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน พาตนเองและสังคมเจริญไปด้วยกัน เป็นบุญ เป็นกุศลอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์