Tag: ความกดดัน

โสดข้ามปี

January 1, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 796 views 0

ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่เป็นโสดข้ามปี เพราะอย่างน้อยก็พ้นการผูกด้วยเวร การข้องเกี่ยวกันด้วยอกุศลกรรมกันไปอีกปี

ก็คิด ๆ อยู่เหมือนกันว่า เรานี่ก็โสดข้ามมาหลายปีแล้ว มันก็สุขสบายดี ไม่ต้องแสวงหา ไม่ต้องกังวลใด ๆ

ผมเข้าใจคนมีคู่นะ ว่ามันทุกข์อย่างไร แต่เขาจะเข้าใจว่าผมไม่ทุกข์อย่างไรนี่ก็ไม่หวังว่าเขาจะเข้าใจนะ

การมีคู่ข้ามปีนี่มันต้องแบกรับความหวัง ความกดดัน ความบีบคั้นของหลาย ๆ อย่าง เชื่อไหมมันไม่เป็นสุขหรอก เพราะเขาก็ต้องการของเขา เราก็ต้องการของเรา มันก็บีบคอกันเพื่อสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้นนั่นแหละ ถ้าแลกเปลี่ยนกันได้ สมยอมกันได้ มันก็รอดพ้นไปเป็นครั้ง ๆ

แต่คนคู่นี่มันไม่มีวันลงเอยด้วยคำตอบเดียวกันทุกครั้งหรอก เพราะมันคนละคนกัน มีอุปาทาน มีตัณหา มีภพ ต่างกันไป คนหนึ่งชอบภูเขา อีกคนชอบทะเล คนหนึ่งอยากอยู่บ้าน คนหนึ่งยอมฝ่ารถติดไปเที่ยว คนหนึ่งอยากประหยัดเงิน อีกคนจะเอาเงินไปเสพสุขวันปีใหม่

แล้วเทศกาลปีใหม่นี่ต้องยอมรับเลย มีแต่กาม กับกาม ของกินอร่อย ๆ อากาศดี ๆ วิวสวย ๆ กลิ่นหอม ๆ เสียงเพราะ หรือเสียงพลุก็ยังเป็นสิ่งเสพได้ สุดท้ายก็สัมผัส ตั้งแต่สัมผัสของของกินจนไปถึงเรื่องอื่น ๆ

คนคู่เขาจะอยู่กันได้ เขาต้องบำเรอกัน มันมีรายจ่ายทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน เป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเลยในชีวิต เพื่อแลกมาซึ่งการได้เสพสมใจบางอย่างตามที่ตนยึดไว้

ลองไม่บำเรอกันดูสิ บ้านแตก เอาแบบธรรมะเข้ม ๆ เลยก็ได้ ไม่สัมผัสร่างกาย ไม่มองตา ไม่คุยด้วย อันนี้ฐานอนาคามีในพระไตรปิฎกนะ เรียกว่าบ้านแทบแตก ไปฟังธรรมะพระพุทธเจ้ามา บรรลุธรรม กลับไปบ้านเปลี่ยนเป็นคนละคน เมียจิตตกหนัก สุดท้ายฝ่ายเมียไปบวชกับพระพุทธเจ้า บรรลุเป็นพระอรหันต์ (อ้าว…)

ที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้มันแบบคนดีในอุดมคติละนะ เอามานำแปะหัวไว้ก่อน ทีนี้มาแบบคนทั่วไปบ้าง ลองไปบำเรอกันดูสิ ไม่งอนก็ทะเลาะ บ้านแตกล่ะทีนี้ มันก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นการอยู่เป็นคู่สุดท้ายมันก็ต้องยอมบำเรออีกฝ่ายอยู่ดี เพราะเขาต้องใช้เราเป็นสิ่งเสพ เป็นอาหาร พอเขาไม่ได้อาหาร เขาหิว เขาก็ร้องโวยวาย จะไปบำเรอเขามันก็เป็นบาป จะไม่ทำอีกมันก็อึดอัดกดดันอีก

นักปฏฺิบัติธรรมที่อยู่ในสภาพคู่ ก็ยังต้องทนเป็นผู้บำเรอต่อไป ยังมีสถานะเป็นทาสรัก เพราะเขาไม่ปล่อย ต้องอยู่ให้เขาเสพกามเสพอัตตาจากตัวเราไป ค่าตัวเรายังไม่สูงพอ ธรรมเรายังไม่เข้มพอ มารก็เลยเอาบ่วงคล้องคอไว้ได้นาน ถ้าปฏิบัติธรรมเข้ม ค่าตัวจะมากตาม เขาต้องจ่ายแพงเพื่อที่จะรั้งเราไว้ ไม่นานเขาหมดกุศลที่เคยทำร่วมกันมันก็หลุด แต่พวกค่าตัวถูก ศีลไม่เข้มก็อยู่ไปแบบดอกเบี้ยผ่อนบ้าน 20-30 ปีนู่น

ดังนั้นคนโสดไม่ต้องน้อยใจไป ว่าเรานี้อยู่เป็นโสดข้ามปี ให้เราทำใจให้ยินดีว่า ชีวิตเราไม่ได้ล่อลวงใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ได้ทำให้ใครมาหลงรักเรา ไม่ได้พาใจเราไปหลงรักใคร

การอยู่เป็นโสด คือสถานะของผู้ที่ไม่เบียดเบียนใคร พากเพียรอยู่เป็นโสด คนมีธรรมะเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต เราโสดข้ามปีได้แสดงว่าเรามีของเก่ามาดี มีพอให้ปกป้องเราข้ามพ้นไปอีกปี แม้มันอาจจะไม่ได้เสพสุขตามที่ใจอยาก แต่มันก็ไม่ทุกข์มาก

ลองไปดูคนที่เขาแต่งงานแล้ว ส่วนใหญ่ดูไม่จืด ยังไม่รวมกับที่เขาไม่เปิดเผยนะ เวลาเขาทะเลาะกัน โกรธกันนี่เขาไม่เอามาพูดกันมากหรอก เขาก็เอาแต่ตอนดี ๆ มาโชว์เท่านั้นแหละ

เหมือนกับนิทานที่มันตัดจบตรงที่เจ้าหญิงเจ้าชายแต่งงานกัน เพราะหลังจากนั้นมันจะมีแต่ทุกข์ไง เขาเลยตัดจบตรงนั้น ให้คนฝัน ๆ เอา อย่าไปเชื่อคำลวงโลกมาก ไม่มีหรอกสุขแท้น่ะ มีแต่สุขลวง

สุขลวง คือสุขที่ปั้นขึ้นมาเองว่ามันเป็นสุข เหมือน เอาก้อนหินมาอมแล้วหลงว่ามีรสอร่อย เพราะจินตนาการรสขึ้นเอง เหมือนเด็กที่หลงในของเล่นชิ้นนั้นชิ้นนี้ พอโตมาไปเล่นของเล่นนั้นก็ไม่สุขเหมือนเคยแล้ว เพราะตอนเสพมันปั้นรสขึ้นมา พอเสพไปนาน ๆ มันจะชิน มันจะไม่สุขเหมือนตอนเสพแรก ๆ แล้วความจริงจะปรากฎ

ที่คนเขาไปแต่งงานกัน เพราะเขาหลงว่ามันจะมีรสสุขมากกว่าตอนที่คบกันเป็นแฟน พอความจริงเปิดเผย พอวิบากกรรมที่เคยบังตาจางคลายเท่านั้นแหละ จากที่เคยชี้ไม้เป็นนก ชี้นกเป็นไม้ นกจะกลับมาเป็นนก ไม้จะกลับมาเป็นไม้ แล้วปัญหาคือมันแต่งงานไปแล้ว ออกไม่ง่ายแล้ว เหมือนตอนโสดจะแก้ปัญหา มันก็มีสมการแค่ตัวแปรเดียว 2x+1=9 อะไรแบบนี้ พอมีคู่ไปแล้วสมการมันจะไม่ใช่แค่ตัวแปรเดียว มันจะไม่ใช่แค่ 2 ตัวแปรธรรมดา มันจะติดนั่นติดนี่เต็มไปหมด สารพัดสูตรสมการ ใส่เข้ามาเถอะ จะหารกี่ชั้น จะยกกำลังกี่รอบ จะซับซ้อนแค่ไหนก็ไม่ยากเท่าไขสมการคนคู่

ดีแค่ไหนแล้ว ที่เรายังเป็นโสดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ใครเลิกกันแล้วก็ไม่ต้องหวนคืนสังเวียนเพราะ สภาพคนคู่คือสภาพที่ต้องรบกันอยู่เรื่อยไป มันจะเหนื่อยมาก ถ้าไม่อยากเหนื่อย เป็นคนดูก็แล้วกัน ให้คนที่เขายังมีความอยากมาก ๆ เล่นในสังเวียนนี้ต่อไป เราอย่าไปเล่นกับเขาเลย

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,900 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์