ข้อคิด

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,323 views 2

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนว่า …หาคู่ดีไม่ได้ อยู่เป็นโสดดีกว่า มีคู่ดีนั้นเป็นสุขที่สุดในชีวิต

ธรรมะสอนว่า … ผู้รู้ย่อมประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

กิเลสจะเอาแต่สร้างเงื่อนไขให้ไปเสพสุขโลกีย์ จะมีคู่ยังต้องมีให้มันสุขยิ่งกว่าสุขเดิม ต้องมีให้เสพมากขึ้น พาให้ต้องการอย่างไม่รู้จักพอ โดยมีภาพฝันแบบอุดมคติไว้ว่าถ้าได้เสพอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะต้องสุขแน่นอน ความเห็นของกิเลสหรืออธรรมมักจะเป็นไปในแนวทางนี้ คือต้องแสวงหาตามที่หลงติดหลงยึดมาเสพจึงจะเป็นสุข

ส่วนธรรมะจะสร้างข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ให้กิเลสได้เสพสมใจ ชะลอ ต่อต้าน ผลักไส ทำลาย ไล่บดขยี้กำลังของกิเลสที่มี การประพฤติตนเป็นโสดคือการทำลายเหตุแห่งการไปมีคู่เรื่อยๆ จนหมดสิ้น ตั้งแต่ภายนอกจนไปถึงภายใน ภายนอกเราก็ไม่ไปยั่วกิเลสใคร ไม่แต่งตัวแต่งหน้า ไม่ทำให้ตนดูโดดเด่นล่อตาล่อใจใครไม่สื่อสารเรื่องที่จะพาให้รักใคร่ชอบพอกันในเชิงชู้สาว ภายในเราก็ล้างความใคร่อยากเสพสุขลวงจากการมีคู่ออกจากจิตใจเสีย กำจัดกิเลสออกจากจิตวิญญาณ โดยใช้ธรรมะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว

เรามีสิทธิ์เลือกที่จะฟังคำสอนจากทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะฟังกิเลสก็ตาม จะฟังธรรมะก็ตาม แต่ความแตกต่างนั้นคือผลที่จะได้รับ กิเลสนั้นพาให้เกิดความทุกข์ ความชั่ว ความเบียดเบียน โทษภัยสารพัด ความฉิบหายวายวอดทั้งชีวิตและจิตใจ ส่วนธรรมะจะพาให้เกิดความสุข ความดี ความเกื้อกูล ความเจริญงอกงามทั้งชีวิตและจิตใจเช่นเดียวกัน เรามีอิสระที่จะเลือก และเลือกตามที่เราเห็นว่าเหมาะควร แต่สิ่งที่เราเลือก จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะได้รับเช่นกัน

กิเลสคือความหลงว่าสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก หลงว่ารู้ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้ ธรรมะคือความจริงที่จะสอนให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรเพราะอะไรอย่างมีเหตุผล ผู้หลงมัวเมาย่อมจมอยู่กับการเสพสุขที่เต็มไปด้วยโทษภัยและการเบียดเบียน ส่วนผู้รู้ย่อมพาตนออกจากเหตุที่จะทำให้เป็นทุกข์เหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

29.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เหงา

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,598 views 1

เหงา

เหงา

ความรู้สึกเหงา อ้างว้าง ว้าเหว่ เป็นภัยเงียบที่คอยดึงดูดสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษเข้ามาให้กับชีวิตอยู่เสมอ เพราะเมื่อไหร่ที่รู้สึกขาด จึงเกิดความรู้สึกว่าจะต้องหามาเติม… และสิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นสุขลวงที่เป็นส่วนเกินสำหรับชีวิตที่ผาสุกอย่างแท้จริงอยู่เสมอ

เมื่อคนรู้สึกเหงา พวกเขามักจะใช้วิธีแก้ไขปัญหาต่างกัน บ้างก็ระบายออกมาตรงๆ บ้างก็หาทางกลบเกลื่อนความเหงาด้วยการกิน เที่ยว เล่น ทำงาน ทำตัวให้ยุ่งวุ่นวายเข้าไว้ ซึ่งถ้าไม่หนักไปทางเสพกาม ก็หนักไปทางอัตตา คือยึดดี ว่าฉันไม่เหงา ฉันอยู่ได้ ทำใจให้มันลืมๆ ทำให้เหมือนชีวิตไม่เคยรู้จักคำว่าเหงา ทำเป็นว่าไม่มีความเหงา โดยที่ไม่มีเหตุ ไม่รู้ว่า “ความรู้สึกเหงา” นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และดับมันไปได้อย่างไร ทำได้เพียงกดข่มความเหงาให้มันจมหายไปดื้อๆ

ความเหงาเป็นความทุกข์ชนิดหนึ่งที่ทำให้คนต้องแสวงหาหลายสิ่งหลายอย่างมาบำเรอตนเพื่อบำบัดความทุกข์จากความเหงา ซึ่งการบำบัดความเหงาให้จางคลายเป็นครั้งคราวนั้นก็ต้องใช้เหตุปัจจัยที่มีน้ำหนักแตกต่างกันไปตามปริมาณของความเหงา หรือความเข้มข้นของกิเลสนั่นเอง

ความซวยที่สุดอย่างหนึ่งของคนขี้เหงา คือเมื่อเหงาแล้วก็อยากหาคู่มาบำบัดความเหงา มีความเห็นความเข้าใจผิดๆว่า ถ้ามีคู่แล้วจะแก้ปัญหาความเหงาได้ และยิ่งถ้ามีลูกหลานจะยิ่งไม่เหงา ซึ่งมันถูกอยู่มุมหนึ่ง แต่มันเป็นเพียงการสร้างปัญหาใหม่เข้ามาโดยที่ปัญหาเก่าก็ไม่ได้แก้ เหมือนกับเอาปัญหาใหม่มากดทับปัญหาเก่าไว้ ให้ตนเองได้ทุกข์กับเรื่องใหม่จะได้ไม่ต้องทนทุกข์กับเรื่องเก่า มันก็หนีเสือปะจระเข้ดีๆ นี่เอง

คนขี้เหงาที่หาคู่มาบำบัดความเหงานั้น ต่างจากคนที่หาเพื่อนมาบำบัด ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะหาคู่หรือหาเพื่อน คนที่เขากิเลสหนามากๆ เขาก็พิจารณาประโยชน์ของการมีคู่มาก จนน้ำหนักหรือคุณค่าในการมีอยู่ของเพื่อนตกไป เพราะเขาอยากจะเสพมากๆ การมีคู่คือการได้เสพมากๆ เธอเป็นของฉันคนเดียว เธอต้องบำเรอฉัน ต้องเป็นเพื่อนฉันตลอดไป ต่างจากคนที่หาเพื่อน ซึ่งจะได้เสพในปริมาณที่น้อยกว่า คือยุ่งกันได้ประมาณหนึ่ง ใกล้ชิดกันได้ประมาณหนึ่งเท่านั้นเอง

ซึ่งความทุกข์ที่จะเจอนั้นก็มากไปตามปริมาณของกิเลส อยากคลายเหงาจนถึงขั้นต้องหาคู่มาบำบัดความเหงาก็จะทุกข์มาก ส่วนคนที่พึ่งพาเพื่อนก็จะทุกข์ประมาณหนึ่ง แต่ทั้งสองทางก็ยังทุกข์อยู่ดี ไม่ว่าจะหาคู่หรือหาญาติมิตรสหายมาบำบัดความเหงา เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตนเอง ไม่ใช่การพึ่งตน จึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

แท้จริงแล้วความเหงาเกิดจากความรู้สึกว่าตัวเองขาด จึงต้องหาคนอื่นมาเติม ทั้งๆที่ความจริงทุกคนก็เป็นคนเต็มคนอยู่แล้ว แต่กิเลสนั้นจะทำให้เราเข้าใจว่าเราขาด เราไม่พอ เรายังพร่อง ยังเราต้องการส่วนเติมเต็ม เรายังต้องตามหาอีกครึ่งหนึ่ง เรายังต้องตามหาคำตอบในชีวิตที่หายไป ฯลฯ

เป็นความรู้สึกต้องการให้ใครสักคนเข้ามาเติม เข้ามาเห็นคุณค่า เข้ามารัก มาดูแลเอาใจใส่ ว่ามีฉันอยู่ในโลกนี้นะ ฉันอยู่ตรงนี้นะ สนใจฉันหน่อย เข้าใจฉันหน่อย คุยกับฉันหน่อย ยอมรับฉันหน่อย เป็นเพื่อนกับฉันหน่อย อยู่กับฉันหน่อย อย่าทิ้งฉันไปนะ ฉันมีตัวตนอยู่ อย่ามองข้ามฉัน อย่าเมินฉัน อย่าลืมฉัน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะของอัตตา เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่าเป็นอัตตาระดับหยาบคือ “โอฬาริกอัตตา” คือการยึด คน สัตว์ สิ่งของมาเป็นตัวเป็นตน คือต้องการคนอื่น ชีวิตอื่น สิ่งอื่นมาเพื่อเติมเต็มความเป็น “ฉัน” ถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านั้น ฉันจะเป็นคนไม่เต็มคน เป็นคนไม่มีคุณค่า เกิดความทุกข์ ถึงจะไม่ได้คนมาเสพ เป็นคู่บ้าง เป็นเพื่อนบ้าง แต่ถ้ามีสัตว์เลี้ยงมาเสพก็ยังดี หรือไม่ก็ให้วัตถุสิ่งของให้ฉันเสพเพื่อบรรเทาความพร่องลวงๆ ที่กิเลสสร้างมานี้

เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า “ความเหงา” หรือความทุกข์เพราะไม่มีสิ่งใดมาบำเรอตนนั้น เป็นความรู้สึกที่ปั้นแต่งขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอา(มโนมยอัตตา) เราสร้างมันขึ้นมาแล้วก็หลงว่ามันมีจริง มันเหงาจริงๆ มันทุกข์จริงๆ เพราะเราไปยึดว่าสิ่งลวงที่เราหลงสร้างมาเป็นสิ่งจริง

และรากแท้ๆ ของปัญหาอยู่ในระดับ อรูปอัตตา คือ ยึดความเห็นผิดว่าที่ตัวเรานั้นเหงาเพราะขาดสิ่งอื่นมาบำเรอ ชีวิตเราต้องมีคู่ ต้องมีเพื่อน ฉันอยู่คนเดียวไม่ได้ ด้วยสารพัดเหตุอย่างที่ยกมาข้างต้น คือ ฉันมีคุณค่า ฉันมีศักดิ์ศรี ฉันมีตัวตนในโลกใบนี้ ฯลฯ

การแก้ไขปัญหาทุกข์จากความเหงาของพุทธนั้นเป็นการแก้ไปถึงเหตุแห่งความเหงา สิ่งใดที่ทำให้เกิดความเหงา แล้วจะดับเหตุนั้นได้ขนาดไหน และจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในหนทางของการดับเหตุแห่งทุกข์นั้น ไม่ใช่การกดข่มหรือปล่อยวางแบบไม่มีเหตุผล ไม่รู้ว่าความเหงาเกิดจากอะไร จะดับให้สนิทต้องทำอย่างไร ความเหงาถึงจะไม่กลับมาหลอกหลอนให้เป็นทุกข์อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆ ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แยกดี แยกชั่ว

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,122 views 0

แยกดี แยกชั่ว

แยกดี แยกชั่ว

การที่เราจะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ง่ายนักที่เราจะรู้ได้ว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว หากคิดเอาเอง คาดคะเนเอาเองอาจจะไม่แน่ โชคดีที่เราเกิดในยุคสมัยที่ศาสนาพุทธยังคงอยู่ เราจึงไม่จำเป็นต้องทดลองทำดีหรือชั่วนั้นเองทั้งหมด เพราะเราสามารถเรียนรู้จากพระพุทธเจ้า สงฆ์สาวก และคนผู้ที่ปฏิบัติดีต่างๆได้เช่นกัน

พื้นฐานแรกสุดที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมควรจะเรียนรู้ก็คือการแยกดีแยกชั่ว สิ่งที่ดีมีประโยชน์ก็ทำให้มาก เข้าถึงให้มาก สิ่งที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ก็อย่าไปมัวเสพ อย่าไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่ควรมีติดตัวไว้ แยกแยะว่าสิ่งใดควรเชื่อ สิ่งใดไม่ควรเชื่อ (กาลามสูตร)

หากจะเปรียบเทียบกับการปลูกพืชในแปลงหนึ่ง เราก็ควรจะรู้ว่า พืชชนิดใดที่เราจะใช้ประโยชน์ และพืชชนิดใดที่ถ้าปล่อยให้โตจะเป็นภัยต่อพืชที่เราต้องการ เช่นเราเพาะเมล็ดผักบุ้ง แต่พอถึงเวลามีทั้งผักบุ้งและวัชพืชที่งอกออกมาจากพื้นดินที่เราให้การดูแล ตอนเป็นต้นเล็กๆ ก็คงจะแยกได้ยากสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าโตไปหรือมีความรู้ก็จะแยกได้ไม่ยากนัก

แยกพืชที่จะใช้ประโยชน์กับพืชที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้นแยกง่าย แต่แยกดีแยกชั่วนั้นไม่ง่าย ตอนที่กระทำตอนแรกๆ ก็ยากจะรู้ผล เพราะกรรมอาจจะไม่ส่งผลทันที ต้องรอดูไป เรียนรู้ไปหลายภพหลายชาติกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือชั่ว ให้ผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

ความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศมานั้นจะสามารถลดการสูญเสียเวลาจากการลองผิดลองถูกหลายชาติของเราได้ เช่นท่านตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เราก็พิจารณาตามว่าควรเชื่อไหม เราเห็นว่าสิ่งนั้นจริงอย่างไร เราจะลองลดการเบียดเบียนแล้วดูผลว่าดีจริงอย่างที่ท่านตรัสไว้หรือไม่ หรือจะเลือกเมินเฉย ยินดีเบียดเบียนต่อไปเพราะเชื่อว่ากรรมที่เบียดเบียนนั้นไม่มีผล

ศาสนาพุทธให้อิสระกับทุกคนในการเรียนรู้กรรม เชื่อสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น แต่ความจริงจะบอกผลเองว่าผิดหรือถูก ใครจะลองตามพระพุทธเจ้าก็ได้ จะลองในแบบที่ตัวเองเชื่อก็ได้ ก็พิสูจน์สัจจะกันไปตามที่เห็นสมควร

แต่กระนั้นก็การแยกดีแยกชั่วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะได้ศึกษาศาสนาพุทธมา ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและแยกแยะกรรมดีกรรมชั่ว เข้าใจคุณประโยชน์ของกรรมดีและโทษภัยของกรรมชั่วได้ทั้งหมด ทั้งๆที่เรื่องดีเรื่องชั่วนี่แหละ เป็นหลักการพื้นฐานของศาสนาเลย คือชั่วอย่าไปทำ ให้ทำแต่สิ่งดี และที่สุดของศาสนาพุทธคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากเหตุแห่งความชั่วนั้น (โอวาทปาติโมกข์)

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.” ยากนักที่จะรู้โทษของกรรมชั่ว คนโง่มักเข้าใจว่าชั่วที่ทำนั้นเป็นสิ่งดี เพราะได้เสพโลกียสุข สุดท้ายเมื่อได้รับอกุศลวิบากกรรมนั้น ก็ต้องทุกข์ทรมาน ซึ่งเกิดจากไม่รู้ดีรู้ชั่ว จึงไม่หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสนั่นเอง

การปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการแยกดีแยกชั่ว แยกกุศลแยกอกุศล พยายามเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศล หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอกุศล จึงจะเป็นทิศทางที่จะนำพาความเจริญอื่นๆมาสู่ชีวิตได้

– – – – – – – – – – – – – – –

19.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

December 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,155 views 0

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

ความยึดมั่นถือมั่นในความรักที่ตนเองมีอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าคนรักจะจากไปแล้ว หรือแม้เขาจะไม่รักเราแล้ว ก็ยังภักดีอย่างไม่เปลี่ยนแปลง คือความโรแมนติกของความรักที่จะสร้างความฉิบหายให้แก่จิตวิญญาณไปชั่วนิจนิรันดร์

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นจากการได้ฟังเพลง always ของ Bon Jovi เนื้อหาของเพลงนั้นกล่าวถึงผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในความรัก ยังหวังและรอคอยที่จะได้รักนั้นกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าในปัจจุบันสภาพคู่รักของเขานั้นจะพังทลายไปหมดแล้วก็ตาม

หากเราดูหนังรักสักเรื่อง การที่พระเอกเฝ้ารอคอยนางเอกแม้ว่าจะไม่มีหวังว่าเธอจะกลับมา ก็คงจะเป็นอะไรที่ทำให้หลายคนซาบซึ้งใจในความมั่นคงต่อความรัก ซึ่งเราจะรู้สึกดีกับมันก็ต่อเมื่อมันเป็นเพียงแค่ละครเท่านั้น

เมื่อความปักมั่นในความรักเกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้ว หลายคนที่ได้พบเห็นผู้ผิดหวังในความรัก ยังเฝ้าบ่นพร่ำเพ้อ เฝ้ารอคอยว่ารักนั้นจะกลับมา จมอยู่กับอดีตที่เคยหวาน อยู่กับภาพฝันลวงๆ มีอาการอมทุกข์ เศร้าหมอง หดหู่ ฯลฯ เพียงแค่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวหรือพบเห็นก็รู้สึกทุกข์แล้ว

นับประสาอะไรกับตัวผู้ที่ยึดมั่นในความรักเหล่านั้น แน่นอนว่าเขาเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นความทุกข์ที่ซับซ้อนเพราะมันปนกับสุขลวงที่เขาสร้างขึ้น เหมือนกับคนที่เสพติดความเจ็บปวด (masochist) แอบสุขเพียงแค่ได้ฝัน แต่ต้องทุกข์เพราะไม่สามารถคว้าฝันมาได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังยินดีที่จะเสพสุขลวงที่ต้องโดนฟาดด้วยทุกข์จริงเช่นนี้ตลอดไป

ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตเราไม่จำเป็นจมอยู่กับอดีตเลย ไม่จำเป็นต้องพยายามกอดเก็บสิ่งที่จากไปแล้ว แต่การที่เขายังจมอยู่กับอดีตนั้น เป็นเพราะติดในรสสุขของสิ่งนั้น จึงไม่อยากพรากจากไป แต่ถึงแม้จะไม่อยากถึงเวลาก็จะต้องจาก เมื่อไม่ได้เสพสมใจจึงออกอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนยึดไว้ว่าจะเป็นสิ่งที่จะเรียกร้องให้คนรักที่จากไปกลับมา อาจจะเป็นการพยายามยืนยันว่าจะรักตลอดไป, การตามง้อตามเอาใจ, ทำทีเป็นประชดรัก, การทำร้ายตัวเอง, จะให้เขาสั่งให้ทำอะไรก็ยอม ฯลฯ ทั้งหมดก็เป็นเพียงการเรียกร้องให้เขากลับมาสนใจด้วยวิธีต่างๆกัน

ในกรณีของบทความตอนนี้คือการรอ รอและหาโอกาสที่จะกลับมาเสพสิ่งที่ตนเคยเข้าใจว่าเป็นสุขอีกครั้ง ถ้ายังไม่หมดความหวังว่าจะได้เสพ ยังไม่คลายความยึดว่าคนรักที่เป็นอดีตนั้นคือที่สุดของความรัก หรือยังไม่เกิดปัญญาเห็นว่าการรอเสพเช่นนี้เป็นทุกข์ ก็จะยังตั้งหน้าตั้งตารอเรื่อยไป อาจเพราะเข้าใจไปเองว่านี่คือรักแท้ นี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ ทั้งที่จริงมันเป็นเพียงแค่ความยึดมั่นถือมั่น เพราะในความจริงสภาพของคู่รักที่เคยรักกันนั้นได้จบไปแล้ว ปัจจุบันมันไม่มีเหลือแล้ว มีแต่คนที่หลงคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างในอดีต

……..

แม้สิ่งที่แสดงออกมาจะดูมั่นคงในความรักอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย ความยึดมั่นถือมั่นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะเก็บไว้ เราจึงไม่ควรศรัทธาในสิ่งเหล่านั้น เพราะความจริงแล้วการที่มีความยึดมั่นถือมั่นในคนรักเช่นนี้ ก็จะเกิดการจองเวรจองกรรมกันชั่วนิรันดร์

เราอาจจะศรัทธาในการรักและเฝ้ารอคอยตลอดไป แต่นั่นคือการจองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายภพหลายชาติ เพราะจิตได้หลงสุขหลงเสพกับคนลักษณะนี้ ในอนาคตเราก็จะหาคนคล้ายๆแบบนี้มาเสพ แม้ในชาติหน้าหรือชาติอื่นๆต่อไป เราก็จะหาสิ่งที่เราหลงมาเสพไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น

แน่นอนว่าการมี “ความอยาก” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกสนองเสนอไป เมื่อเราอยากแต่ไม่ได้เสพสมใจอยากก็เป็นทุกข์ แม้ได้เสพสมใจอยากแต่ไม่นานก็ต้องถูกพรากไปในขณะที่ตนเองยังหลงสุขกับสิ่งนั้น หรือแม้จะเสพไปก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสุขอยู่เช่นนั้นตลอดไป เมื่อเสพบ่อยเข้ามันก็จะเบื่อ ทำให้ต้องหาสิ่งที่ยิ่งกว่ามาเสพมาสนองกิเลสตัวเองมากขึ้น ขยับกำลังของความอยากมากขึ้นไปอีก เมื่ออยากมากขึ้นก็ทุกข์มากขึ้น ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่จะมาบำเรอความอยากเพื่อกำจัดทุกข์ให้มากขึ้น ทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีก จึงเกิดเป็นเหตุการณ์ดังเช่นการนอกใจคู่ครองของตน ในตอนที่เขาคบกัน เขาก็รักกันจริงนะ แต่อยู่ไปมันสุขไม่พอเสพ ซึ่งก็อาจจะทนไปได้สักพักหนึ่ง แต่พอมันหิวโหยเข้ามากๆมันก็เลยต้องไปหากินข้างนอกเพิ่มเติม ซึ่งเกิดจากความอยากที่มันโตขึ้นนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิดการนอกใจกันแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ตัดใจกันได้ง่ายๆนะ มันก็ทนกันไปทั้งรักทั้งแค้น จองเวรจองกรรมกันไปอย่างนั้นแหละ

เคยเห็นไหม คนที่เขาจีบกันนานๆ เฝ้ารอคอยกันได้นานๆ นั่นแหละสภาพที่เขาจองเวรจองกรรมกันไว้ ไม่ยอมไปไหนสักที มีคนตั้งมากมายก็ไม่ยอมไปรัก แม้อีกคนจะไม่สนใจก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าวันใดวันหนึ่งอีกฝ่ายใจอ่อนแพ้กิเลสก็จบเกมเมื่อนั้น ก็ร่วมสร้างวิบากกรรมใหม่กันต่อไป

ถ้าเสพกันแล้วใจพอไม่มักมากก็ไม่มีปัญหามากนัก แต่เอาเข้าจริงถ้าคนเขารอเสพมาหลายภพหลายชาติ บางทีมันคาดหวังมากนะ มันจะกินอย่างตะกละตะกลาม คืออยากได้มากๆ หวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องดีสมกับที่ลงทุนรอคอยมานาน แต่พอได้คบจริงแล้วมัน “ดีไม่พอกับใจ” ก็มีหลายคู่ จีบกันนานๆ สุดท้ายก็เลิกกันง่ายๆก็หลายคู่ เลิกกันแล้วกลับมาคบกันอยู่กันได้ไม่นานก็หลายคู่ ส่วนที่คบกันอยู่ได้ก็สะสมความยึดมั่นถือมั่นกันต่อไป รอเวลาที่จองเวรจองกรรมกันต่อในชาตินี้และชาติต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

การยึดมั่นถือมั่นแม้ในช่วงเวลาที่สั้น แต่ก็เป็นกรรมที่ทำลงไปด้วยเจตนา อันเป็นเหตุให้เกิดผลของกรรม เราจองเวรจองกรรมเขา คือรอที่จะได้มารักกันด้วยความจริงจังมากเท่าไหร่และนานแค่ไหน เราจะต้องพบกับทุกข์มากและนานเท่านั้น ทั้งในขณะที่เฝ้ารอคอยความรักก็ตาม หรือในตอนที่ต้องได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆก็ตามนั่นหมายถึงเราอาจจะต้องเกิดสภาพเช่นนี้อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆต่อไป นับประสาอะไรกับคนที่เป็นคู่ชีวิตกันเพราะความอยากมี นั่นแหละคือสุดยอดของความยึดมั่นถือมั่นเลยทีเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

29.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)