Tag: อัตตา

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,097 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เทศกาลกินเจ

September 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,677 views 0

เทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ

เข้าช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ก็มักจะเป็นช่วงที่สังคมหยิบยกเอาเรื่องของการกินเจ สาระความรู้ แม้แต่ข้อคิดเห็นความเข้าใจในเรื่องของการกินเจออกมาแชร์กัน

สารภาพตรงๆว่าผมเอง ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยกินเจเลย ไม่เคยสนใจ ไม่เคยรับรู้ พึ่งจะมากินมังสวิรัติมาได้ปีกว่าๆ ในปีนี้ก็เลยลองไปเดินดูบรรยากาศที่เยาวราชกันสักหน่อย และแวะเข้าไปซึมซับบรรยากาศในช่วงเทศกาลกินเจที่วัดมังกรฯกันสักนิด เพื่อที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มากกว่าอ่านบทความในอินเตอร์เน็ตและดูจากทีวี

เรามักจะได้เห็นการวิวาทะเกี่ยวความเชื่อเรื่องการกินเจอยู่บ่อยๆในสังคมออนไลน์ ว่ากินเจดี หรือไม่ดี ต้องกินหรือไม่ กินอย่างไร แบบไหนจึงจะดี แล้วต้องคิดต้องทำอย่างไรถึงจะดี บ้างก็ยกหลวงปู่หลวงพ่อที่ตนนับถือมาอ้าง บ้างก็ยกพระไตรปิฏกมาอ้าง ว่าสิ่งที่ตนคิด สิ่งที่ตนเข้าใจนั้นดี กลายเป็นเทศกาลที่มักจะเห็นคนห้ำหั่นกันด้วยอัตตากันอยู่บ่อยๆ

จะขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกินเจ เพราะเรื่องกินนั้นเป็นประเด็นหลักที่สังคมรับรู้และให้ความสำคัญมาก

คนกินเจ…

ผมคิดว่าการที่คนเราลองเปลี่ยนมากินเจนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว มีโอกาสได้ลดเนื้อกินผักหรือกินอะไรแทนเนื้อสัตว์ก็กินไปเถอะ ไม่เบียดเบียนคนอื่นก็ดีแล้วส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เราไปกินเจแล้วรู้สึกว่าเราดีกว่าคนอื่นนั้น ยังไม่ดี อันนี้ควรจะแก้ไข คนกินเจบางคนมักจะสำคัญตัวเองว่าฉันใจบุญ ฉันดี ฉันมีศีล ซึ่งความติดดียึดดีเหล่านี้แหละ คือสิ่งที่ไปทำร้ายทำลายใจคนที่เขาไม่กินเจ

คนที่กินเนื้อเองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดีไปเสียทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทั้งชีวิตที่ผ่านผมเองก็กินเนื้อมาตลอดและต้องบอกตรงๆเลยว่า สมัยก่อนก็ชอบเนื้อมาก ถึงขั้นเสพติดเนื้อกันเลยทีเดียว แต่ทุกอย่างก็ไม่เที่ยง…แปรผันได้ตลอดเวลา ติดได้ก็เลิกได้ บางทีคนที่เขายังกินเนื้อในวันนี้ แต่ปีหน้าเขาอาจจะลดเนื้อกินผักได้มากกว่าคนที่กินเจปีละครั้งก็ได้ ดังนั้นคนกินเจก็อย่าไปปรามาส อย่าไปสบประมาทคนที่เขายังกินเนื้ออยู่ เพราะเขาแค่ยังไม่รู้ถึงโทษของการกินเนื้อ เราไม่รู้หรอกว่าใครมีบุญบารมี มีวาสนาสะสมมาเท่าไหร่ คนที่กินเจก็ควรจะมุ่งมั่นกินเจของตนไป ขยายขอบเขตการลดการเบียดเบียนให้ได้มากขึ้น เป็นเดือน เป็นปี อย่าให้ใครเขาว่าเอาได้ว่าถือศีลตามเทศกาล ถือตามชาวบ้าน ถือศีลแบบไม่มีปัญญา

ดังนั้นการเพ่งโทษคนที่ไม่กินเจ หรือกินเจไม่เคร่งครัด จึงไม่ใช่วิสัยที่คนถือศีลกินเจควรทำ เพราะสิ่งที่เราควรทำคือขัดเกลาจิตใจตนเอง ไม่ใช่จิตใจของผู้อื่น

คนไม่กินเจ…

ส่วนคนที่ไม่ได้กินเจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การที่เราเห็นคนกินเจ เราก็ควรจะยินดีกับเขา เห็นคนที่เขาคิดจะทำดี แม้ว่ามันจะยังไม่ดีเลิศอะไร แต่เขาก็ยังคิดจะทำสิ่งที่ดีเท่าที่เขาจะทำได้ แม้เราจะยังไม่เห็นว่าสิ่งนั้นดี เราไม่ยินดีทำตามก็ไม่เป็นไร แต่การที่เราไปเพ่งโทษคนที่เขาทำดี อันนี้ก็ไม่ดี เขาตั้งใจทำดีเรายังไปว่าเขาไม่ดี เรานั่นแหละไม่ดี เขาทำดีเราควรจะช่วยเป็นกำลังใจ ช่วยสนับสนุนให้เขาทำดี ไม่ใช่ไปคอยไปจับผิดเขา คอยแสดงท่าทีเขาให้เลิกทำดี กลับมากินเนื้อเป็นปกติเหมือนอย่างเรา

การกินเจหรือลดเนื้อกินผักนั้น เป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องเดินสวนกระแสแห่งความอยาก ถ้าหากเรายังไม่เคยท้าทายตัวเอง เอาแต่ลอยไปตามสายน้ำแห่งความอยาก ก็ยากที่จะเข้าใจจิตใจของผู้ที่กินเจ ดังนั้นเพื่อการศึกษา คนที่ไม่กินเจ ก็อาจจะลองมากินเจดูบ้างก็ได้ ว่าสิ่งที่เขาว่ายากนั้นยากอย่างไร แล้วสิ่งที่เขาว่าดีนั้นดีจริงอย่างไร

จริงอยู่ที่ว่าการกินเจไม่ได้ทำให้ใครเป็นคนดี และคนดีทุกคนไม่จำเป็นต้องกินเจ แต่เราเองก็ควรจะรับรู้ด้วยว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นก่อให้เกิดการเบียดเบียน ซึ่งเราผู้กินเนื้อแต่ละคนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอุ้มชูและพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม การค้าขายสัตว์เป็นหรือสัตว์ตายนั้น เป็นการค้าขายที่ผิดในทางของพุทธอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เรายังไปสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ เราก็ควรจะรับรู้ด้วยว่า เราเองก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองแห่งบาปนี้เช่นกัน

การกินเจที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง คล้ายเนื้อสัตว์ออกมามากมาย เป็ดเจ ไก่เจ หมูเจ ฯลฯ ทำให้หลายคนสงสัยว่าการกินเจจะดีจริงหรือในเมื่อใจเรายังติดในรสชาติของสัตว์นั้น

ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะให้คนกิเลสหนาหักดิบมากินผักเลยมันเป็นไปไม่ได้ โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมจึงได้ผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์กับผู้ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นใหม่ หัดใหม่ หรือยังตัดความอยากไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นการลดการเบียดเบียนที่ดีวิธีหนึ่ง ถ้าเรากินกันได้แบบนี้ทุกคนบนโลก ก็จะไม่มีสัตว์ใดตายเพราะความอยากของเรา จริงไหม?

แต่เชื่อเถอะว่าเนื้อสัตว์เทียมเหล่านั้นก็ไม่สามารถหยุดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้หรอก ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาเหล่านั้นก็จะกลับไปหาเนื้อสัตว์จริงๆกิน เพราะความหิวกระหาย เพราะความอยาก เพราะกิเลสที่ถูกกดข่มไว้นานนั้นได้เพิ่มปริมาณและทะลักออกมา หรือที่เรียกว่าตบะแตก

ไม่มีสังคมใดที่จะมีคนดีคนเก่งไปเสียทั้งหมด คนที่กินเจได้แบบบริสุทธิ์ต่อเนื่องทั้งชีวิตก็คงจะมีอยู่ แค่เราอาจจะไม่เคยเห็น และถึงจะมีจริง เขาเองก็ไม่ได้สามารถที่จะสอนหรือแนะนำให้ทุกคนกินเจได้บริสุทธิ์ได้เหมือนเขา เพราะคนส่วนมากนั้นมีกิเลสที่หนาในระดับที่แตกต่างกันไป ทุกวันนี้ก็เลยมีผลิตภัณฑ์อาหารเจ เนื้อสัตว์เจขายกันอยู่ทั่วไป

– – – – – – – – – – – – – – –

27.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

September 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,476 views 0

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีการที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นการสรุปย่อเพื่อให้เข้าใจหลักปฏิบัติโดยรวมได้ง่าย พยายามที่จะใช้ศัพท์เฉพาะให้น้อยเพื่อการเข้าถึงที่ง่าย หากมีโอกาสในวันใดวันหนึ่งคงได้พิมพ์ฉบับละเอียดออกมา ซึ่งจะร้อยเรียงข้อธรรมะเข้ากับการปฏิบัติให้เห็นถึงความสอดคล้องของสภาวธรรมที่เจริญไปพร้อมกับการปฏิบัติ แต่ในบทความนี้ คงพิมพ์ไว้ให้เป็นแนวทางไปก่อน

1). บทนำ

การลดเนื้อกินผัก กินอาหารมังสวิรัติ กินเจ ใครหลายคนก็มักจะมองไปในเรื่องของเมตตา หรือการไม่เบียดเบียนเป็นหลัก แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นเราสามารถใช้มังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมได้อย่างดีเยี่ยม

การปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้น เป็นการปฏิบัติที่ใจ เป็นการขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลส พัฒนาใจให้สูงขึ้น แต่การจะพัฒนาใจให้สูงขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำสมถะเท่านั้น แต่จำเป็นต้องวิปัสสนา เพื่อให้เกิดผลเจริญขึ้นในจิตใจด้วย

ถ้าจะกล่าวถึงมังสวิรัติหลายคนคงเบือนหน้าหนี มีหลายล้านเหตุผลที่เราจะไม่กินมังสวิรัติ และมีอีกหลายล้านเหตุผลที่จะทำให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์ เหตุผลเหล่านั้นมาจากกิเลสของเรา แต่แท้จริงกิเลสนั้นไม่ใช่เรา เราจะมาเริ่มปฏิบัติการจับผี ล่าผี ล้างป่าช้า ฆ่ากิเลสกันง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน คือ เตรียมตัว ระวัง ไป!

2). เตรียมตัว! ตั้งศีล

การจะลดกิเลสไม่ได้มีความยากในเรื่องของกระบวนการ แต่จะยากในเรื่องของการปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติสู้กับกิเลสตัวเอง สู้กับความอยากของตัวเอง ใช้พลังของตัวเองในการฝ่าฟันกิเลสเหล่านั้น

การเริ่มต้น เราจะเริ่มจากการตั้งศีล ศีล คือข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อความปกติสุข เพื่อความเจริญ ศีลที่เราจะตั้ง หรือให้ตนเองถือว่าก็คือ “กินมังสวิรัติ” เราจะไม่กำหนดเวลา ไม่กำหนดกรอบ เราแค่ลดเนื้อกินผัก ลดเนื้อเท่ากับศูนย์ กินแต่ผัก

การตั้งศีลนี้เราควรตั้งหรือถือไว้ด้วยปัญญา ไม่ควรเชื่อหากใครบอกว่าศีลนี้ดี ในขั้นตอนนี้เราควรจะหาความรู้ว่าทำไมจึงต้องกินมังสวิรัติ กินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร การกินเนื้อเบียดเบียนอย่างไร จงใช้เวลาหาความรู้จนมั่นใจว่าตัวเองยินดีที่จะตั้งศีลนี้ เพราะความยินดีในประโยชน์ในการออกจากทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เป็นด่านแรกของปัญญา ซึ่งคนไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถตั้งศีลนี้ได้ เพราะไม่สามารถมองทะลุถึงประโยชน์แท้ในการมีศีล ถึงจะถือศีลก็ถือตามคนอื่นเขา ถือแบบเหยาะแหยะ ถือแบบลูบๆคลำๆถือเอาไว้อวดบารมี ถือไว้เฉยๆ ทำอะไรกับมันไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้ เหมือนคนป่าถือสมาร์ทโฟน

ข้อดีของศีลมังสวิรัติคือเราจะได้สู้กับกิเลสทุกวัน วันละหลายครั้งตามมื้ออาหารที่เรากิน เป็นการปฏิบัติธรรมที่สามารถทำได้ง่าย ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ไม่ต้องรอไปวัด ไม่ต้องใช้เวลาสวดมนต์ เพียงแค่แทนที่อาหารมื้อเดิมด้วยอาหารมังสวิรัติเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมที่ง่าย สะดวกที่สุด และเหมาะกับทุกคน ทุกสังคม ทุกชนชั้น

อาจจะมีบางคนงงเกี่ยวกับ “ศีลมังสวิรัติ” การกินมังสวิรัติเป็นศีลได้อย่างไร? มังสวิรัติคือส่วนหนึ่งของศีลข้อ ๑ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ในระดับของอธิศีล คือ ยากกว่าการไม่เบียดเบียนทั่วไป เป็นขั้นกว่าของศีลข้อ๑ แบบปกติ นั่นคือ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังต้องมีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาต่อสัตว์และเพื่อนมนุษย์อื่นๆด้วย( ดูส่วนขยายได้ในจุลศีลข้อ ๑)

3). ระวัง! ข้อควรระวังในการถือศีล

การถือศีลของเรานั้นไม่ใช่การถือเพื่อทำเล่นๆ แต่เป็นการถืออย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตั้งศีลกินมังสวิรัติตลอดชีวิตได้ตั้งแต่แรก อาจจะตั้งเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ หรือเดือนละ 2 สัปดาห์ก่อนแล้วค่อยตั้งอธิศีล คือเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 1 ปี จนกระทั่งมั่นใจว่าทำศีลนี้ได้ดีจึงตั้งศีลว่า “มังสวิรัติตลอดชีวิต

เราควรประมาณการตั้งศีลของตัวเองให้เหมาะกับพลังของตัวเอง ถ้ามันตึงจนเครียดทรมานจิตใจตัวเองเกินไปก็ให้ผ่อนลงมา เก่งแล้วค่อยขยับขึ้นไปใหม่ หรือใครที่รู้สึกว่าตัวเองทำศีลได้ดีก็อย่าไปแช่อยู่นานให้ตั้งอธิศีลขึ้นไปอีก ถ้ากินมังสวิรัติได้ดี ก็ให้ขยับไปทำศีลอื่นๆเช่น การกินจืด การกินมื้อเดียว การลดชนิดและความหลากหลายของอาหาร เป็นต้น

การปฏิบัติศีลต้องรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่ากิเลสหรือความอยากเสพของตนเองนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพิ่มขึ้นหรือลดลง มากน้อยเท่าไหร่ ถ้ายังไม่สามารถรู้ถึงกิเลสของตัวเองได้แสดงว่าอาจจะปฏิบัติมาผิดทางหรือความเข้าใจยังคลาดเคลื่อน

4). ไป! ลุยกันเลย ลงมือปฏิบัติ

หลังจากที่เราตั้งศีล ถือศีล ยึดศีลนี้เพื่ออาศัยไปสู่ความเจริญแล้ว เราก็จะดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ เราจะไปเจอกับอาหารในแต่ละมื้อ ที่เราจะต้องใช้สมาธิที่มากกว่าเดิมในการกดข่มความอยาก และปัญญาที่มากกว่าเดิมในการที่จะหาทางออกเพื่อที่จะได้กินอาหารมังสวิรัติรวมถึงปัญญาที่จะใช้ฆ่ากิเลสด้วย จะลองจำลองสถานการณ์พอเห็นภาพดังนี้

มื้อเช้า…. เราออกไปทำงานพบกับแผงขายเจอหมูปิ้งหน้าปากซอย เราเคยกินหมูปิ้งกับข้าวเหนียวและชอบมากแค่เห็นยังน้ำลายไหล แต่เราอดทนข่มใจ พิจารณาเข้าไปว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ว่าแล้วเราก็เดินเข้าร้านหมูปิ้ง ดิ่งตรงเข้าไปสั่งข้าวเหนียวสองห่อ เพื่อกินให้อิ่ม ให้ผ่านๆไปหนึ่งมื้อ

ภาพช้า… ในขณะที่เราเดินเข้าไป สายตาจะจับจ้องที่หมูปิ้ง กลิ่นควันหอมลอยแตะจมูก ใจก็คิดจะสั่ง ปากก็อยากจะบอก มือก็อยากจะเอื้อมไปคว้าหมูปิ้ง แต่ด้วยพลังการกดข่มที่เราฝึกไว้บ้าง ทำให้เราพอจะผ่านไปได้

มื้อเที่ยง…. วันนี้มีลูกค้าพาไปเลี้ยงบุฟเฟต์นานาชาติ ด้วยความเกรงใจจึงไปด้วย เห็นอาหารละลานตา ไอ้นั่นก็อยากกิน ไอ้นี่ก็อยากกิน สายตาผ่านไปเจอเมนูกุ้งเผาสุดโปรด น้ำลายไหลโดยยังไม่ทันรู้ตัว ว่าแล้วก็เดินตรงดิ่งเข้าไปจะสั่งกุ้งเผา บังเอิญว่าเพื่อนร่วมงานเข้ามาทักได้ทัน บอกเตือนว่า ไหนเราตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติ แล้วเราก็ได้สติกลับมาอีกครั้ง เลยไปตักแต่ผักกิน ผ่านไปอีกมื้อ

ภาพช้า…ในขณะที่เห็นกุ้งเผา สติ ได้หลุดลอยออกไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่มีอีกต่อไป ศีลอะไรก็ช่างมันเถอะ กุ้งเผาไม่ใช่ของที่จะกินกันได้บ่อยๆ ถ้าไม่กินตอนนี้ แล้วจะได้กินตอนไหน ยิ่งมีลูกค้าเลี้ยงด้วยแบบนี้ ลุยกันให้เต็มที่ไปเลย

มื้อบ่าย…. เพื่อนๆในออฟฟิศชวนกันไปซื้อลูกชิ้นเจ้าประจำ แต่ก่อนตอนยังไม่ตั้งศีลก็ชอบซื้อกินกับเขา ลูกชิ้นเนื้อ เอ็นเนื้อนี่ของโปรดเลยทีเดียว แต่วันนี้เกือบจะพลาดมื้อกลางวันมาแล้วจึงข่มใจ พยายามนั่งนิ่งๆไว้ไม่ตอบรับ ทันใดนั้นเพื่อนผู้หวังดีก็มาสะกิดถาม ฝากซื้อไหม เอาลูกชิ้นกี่ไม้? ด้วยความที่ตั้งศีลไว้จึงอดกลั้นไว้ก่อนบอกเพื่อนว่าวันนี้ไม่กิน ผ่านไปได้อีกวัน

ภาพช้า… ตอนเพื่อเข้ามาถาม ฝากซื้อไหม เอากี่ไม้ เหมือนมีคลื่นกิเลสผลักดันให้ลุกออกไป ใจก็คิดไปแล้วว่า เหมือนเดิมอย่างละสองไม้ ปากก็เกือบจะพูดออกไปแล้ว ดีว่าได้สติก่อนจึงสงบปากสงบคำ ปล่อยให้ความอยากนั้นอยู่แค่ในใจ

มื้อเย็น…. ว่าจะกลับบ้าน แต่เจ้านายชวนไปกินอาหารญี่ปุ่นเป็นเพื่อน เจ้านายสั่งชุดปลาดิบราคาแพงมา ประกอบด้วยปลาชั้นดี รสชาติน่าจะละมุนนุ่มลิ้น แถมยังมีแค่ในฤดูนี้เท่านั้น ในตอนนั้นใจก็กดข่มไว้ เปิดเมนูพยายามมองหาเมนูข้าวปั้นกับเต้าหู้ แต่สายตาก็ยังไม่ละจากจานที่หัวหน้าสั่งไว้ให้ ว่าแล้วด้วยความมั่นใจจึงสั่งข้าวปั้นเต้าหู้ทอดมา แต่ด้วยความที่เจ้านายเป็นห่วงสุขภาพ จึงบอกว่า กินไปเถอะ กินปลาไม่เป็นไรหรอก อย่าเคร่งมากนักเลย…

ภาพช้า… เสียงและคำพูดของเจ้านายช่างดูเป็นห่วงเรา เป็นคำพูดที่มาปลดปล่อยความเครียด ปลาอยู่ตรงหน้า ตะเกียบก็อยู่ในมือ จะช้าอยู่ทำไม ก็เขาอนุญาตแล้วนี่นา จะกินสักครั้งก็ไม่เห็นเป็นไรอย่างที่เจ้านายว่าเลย จะเครียดไปทำไมเนาะ

มือไม้แทบสั่นไปด้วยความอยาก ว่าแล้วก็หยิบปลาจิ้มโซยุ พลันคีบปลาเข้าปาก เคี้ยวด้วยความเอร็ดอร่อยสมอยาก มื้อนี้ก็แพ้กิเลสไปอย่างราบคาบ พอกลับมาบ้านก็ต้องมาสลดเพราะไปแพ้กิเลสมาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ตีตัวเองเพิ่ม รู้แค่แพ้แต่ครั้งหน้าจะสู้ใหม่ (สู้ต่อไป ทาเคชิ!)

มื้อค่ำ…. ด้วยความที่กินผักมาทั้งวัน แถมยังเป็นมือใหม่ ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะยังคงเหลืออยู่ เพราะแต่ก่อนกินแต่เนื้อ ต้องใช้น้ำย่อยเยอะ พอมากินผักน้ำย่อยเลยเหลือให้แสบท้องเล่น ว่าแล้วก็เดินไปเปิดตู้เย็น เห็นไส้กรอกหมูที่ซื้อมาเมื่อวานก่อน ถึงกลับกลืนน้ำลายดังเอื้อก

ภาพช้า… เมื่อเห็นไส้กรอก ก็พลันนึกถึงภาพ ตัวเองเอาไส้กรอกเข้าเตาไมโครเวฟ ปิดฝาตั้งตารอด้วยใจจดจ่อ นำมันออกมาพร้อมหั่นเป็นชิ้นอย่างบรรจง จิ้มซอสและมายองเนสนิดหน่อย เอาใส่ปากช้าๆ อั้มมม~

ดูเหมือนว่าสติจะหลุดลอยไปทันทีที่ได้เห็นไส้กรอก แต่โชคยังดีที่มีนมถั่วเหลืองอยู่ข้างๆอีกหนึ่งกลอ่ง

ภาพช้า… เมื่อเห็นนมถั่วเหลือง กับไส้กรอก น้ำหนักของไส้กรอกช่างหนักและดึงดูดเหมือนแม่เหล็กที่ดูดลูกเหล็ก นมถั่วเหลืองมันจะไปอิ่มได้อย่างไรมันต้องไส้กรอกสิ

ว่าแล้วก็หยิบไส้กรอกไปทำกินตามที่หมายไว้ เพราะแท้จริงแล้วเรากินไปด้วยความอยาก ไม่ได้กินเพราะความหิว การอดทนอดกลั้นมักจะมีขีดจำกัด และสะสมเป็นความเครียด ถ้าเราบริหารความเครียดไม่ดีก็จะออกมาในลักษณะของการตบะแตก ซึ่งเราควรประมาณให้ดี เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆก็อย่าไปใกล้เนื้อสัตว์มากนัก อยู่ให้ห่างๆไว้ หรือซื้ออาหารจำพวกมังสวิรัติมาเตรียมไว้แทนเลยก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง

เห็นไหมว่าการถือศีลมังสวิรัติ เราจะได้สนุกกับการเห็นกิเลสขนาดไหน เราจะได้เจอกับกิเลสทุกวัน อย่างน้อยก็วันละ 2 – 3 มื้อเชียวนะ

5). ลีลาของกิเลส

กิเลสมักจะมีลีลาที่หลากหลาย มีการส่งข้อความ ส่งความทุกข์กดดันให้เรารู้สึกอยากเสพ เช่น ทำให้เราน้ำลายไหล ทำให้เราหิวเร็ว ทำให้เราอยากกิน ทำให้เรากลับไปกินด้วยประโยคเช่น กินๆไปเถอะ พลาดมื้อเดียวไม่เป็นไรหรอก, กินไปเถอะ เรากินเขา เขาได้บุญ , กินไปเถอะ อันนี้แพง หากินยาก , กินไปเถอะ ไม่มีใครรู้หรอก, กินไปเถอะแค่มีความสุขก็พอแล้ว , กินไปเถอะไม่ได้อยากจะเอาสวรรค์วิมาน , กินไปเถอะ เกรงใจเขา , กินไปเถอะ เราต้องใช้พลังงาน , กินไปเถอะมันอร่อยนี่นา , กินไปเถอะเดี๋ยวเขาหาว่าเราเรื่องมาก , กินไปเถอะ อย่าเคร่งนักเลย ฯลฯ เหล่านี้แหละ คือลีลาของกิเลส ส่วนกิเลสของใครจะปรุงลีลาออกมาหลากหลายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ระดับความอยากของคนนั้น ยิ่งกิเลสมาก ก็จะยิ่งยาก ยิ่งซับซ้อน ต้องเพียรให้มาก

6). การพัฒนาไปเป็นลำดับ

ในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น เราจะต้องใช้ปัญญาที่เป็นมรรค(ข้อปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติ) คือเราจะกินมังสวิรัติอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ สุดท้ายเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะได้ปัญญาที่เป็นผล(ผลเจริญ ความเจริญที่ได้)มาเป็นลำดับๆ เช่นถ้าเราไปในที่แบบนี้ เราก็จะกินอาหารชนิดนี้ หรือเราอาจจะไม่กิน หรือกินไปก่อน ก็ได้ นี่เป็นลักษณะของปัญญาที่ใช้ในเชิงโลกียะ ส่วนปัญญาในเชิงโลกุตระนั้นจะเป็นลักษณะของการเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการกินมังสวิรัติ

เมื่อปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จะพบว่าตนเองสามารถตั้งศีลที่ยากขึ้นไปได้ (อธิศีล) โดยไม่ลำบากนัก เช่น ลดเนื้อสัตว์ได้แล้วยังสามารถที่จะลดไข่ได้อีก และมีพลังสติ พลังสมาธิ ความอดทนอดกลั้น (อธิจิต) เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติไปเป็นลำดับ รวมทั้งได้ปัญญาเพิ่มขึ้น (อธิปัญญา) จากการสู้สั่งสมปัญญาในแต่ละด่านที่ผ่านมา พลาดก็ได้ปัญญา ชนะก็ได้ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นความเจริญที่เป็นไปโดยลำดับ และเมื่อปฏิบัติสำเร็จจะได้ปัญญาชุดหนึ่งที่สามารถที่จะตัดกิเลสนั้นได้ ซึ่งกิเลสจะคลาย ณ จุดนี้ ในส่วนของปัญญานั้นเจริญไปต่อได้เรื่อยๆอย่างไม่มีจำกัด จนกว่าจะเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

7). ข้อสังเกต

ผู้ที่ตั้งศีลมังสวิรัติอย่างถูกต้องและมีปัญญา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์ จะมีความรู้สึกหรือเวทนาที่แตกต่างกับตอนที่ยังไม่ได้ตั้งศีล ตอนที่เราไม่ได้ถือศีลนี้ เมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แต่เราไม่ได้กินเราก็จะทุกข์จากการที่ไม่ได้กิน ในส่วนของผู้ที่ถือศีลนั้น แม้จะมีเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า แต่เราก็จะฝืนไม่ยอมกิน เป็นทุกข์ที่เกิดจากการกดข่ม ฝืนใจกิเลส

ในส่วนของผู้ไม่ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ได้กิน เรียกว่า เคหสิตโทมนัส , เคหะ หรือ ชาวบ้าน แบบบ้านๆ คนทั่วไป คือทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ได้เสพก็สุข เป็นไปในทางโลกียะ มีลักษณะ สุข ทุกข์สลับกันไปเรื่อยๆ เกิด ดับ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ในส่วนของผู้ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ยอมไปกิน เรียกว่า เนกขัมมสิตโทมนัส , เนกขัมมะ หรือ นักบวช เป็นการปฏิบัติแบบผู้บวช เป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดออกจากโลกียะเข้าสู่โลกุตระเป็นความทุกข์ที่เกิดการที่เราฝืนกิเลส กิเลสจะสร้างความรู้สึกทุกข์ให้กับเรา เพื่อที่จะกดดันให้เราไปเสพ พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆนาๆที่มันจะคอยเป่าหูเราให้เรากลับไปเสพ การปฏิบัติแบบเนกขัมมะคือการอดทนต่อสู้ ฝืน ทน ข่ม เราจะเจอแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ไปตลอดทางของการปฏิบัติ แม้ว่าเราจะกลับไปเสพเราก็จะทุกข์ ทุกข์เพราะเรารู้สึกผิดต่อศีลมากกว่าสุขที่ได้จากเสพ

เมื่อวันหนึ่งหลังจากที่เราสามารถกดหัวกิเลสอดทนไม่ไปเสพและใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากความอยากกินของเรา จนรู้แจ้ง เห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่ากิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่เพียงผู้ที่มาอาศัยใช้ร่างกายและจิตใจของเราไปบำรุงบำเรอความอยาก เราทำลายกิเลสเหล่านั้นจนสิ้นเกลี้ยง แล้วเราก็จะพบกับสุข เป็นสุขแบบเนกขัมมะ สุขจากการฆ่ากิเลส จนกระทั่งสงบลงเป็นอุเบกขา และต่อจากนี้ทั้งชีวิตที่เหลือ ในชาตินี้และชาติหน้า เราก็จะไม่มีวันทุกข์กับเรื่องนี้อีกเลย

ในการถือศีลปฏิบัติในแบบเนกขัมมะนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน บางคนอาจจะเป็นปี บางคนสิบปี บางคนทั้งชีวิตก็อาจจะไม่มีวันเข้าใจเลยก็ได้ เพราะการปฏิบัติทางใจนี้เป็นเรื่องยากกว่าการปฏิบัติทางกายนัก มีความสลับซับซ้อนของกิเลสมากมายที่เราต้องคอยแก้ ในหลากหลายสถานการณ์

เหมือนดังสงครามที่รบกันไม่จบไม่สิ้นระหว่างเรากับกิเลส มีเมืองมากมายที่เราต้องไปตีคืนจากกิเลส ในขณะเดียวกันกิเลสก็ส่งกองทัพมาโจมตีเราเช่นกัน เราจึงต้องสู้กันไปกันมาอยู่แบบนี้กันหลายภพหลายชาติแล้ว ซึ่งผู้ที่คิดจะสู้ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่สู้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติศีล ไม่ถือศีลก็เหมือนยอมให้กิเลสได้ครอบครองใจ บ้างก็อ้างว่าใจไม่มีกิเลส แต่พอได้ลองถือศีลกลับต้องพบว่ามีแต่ผีร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มจิตใจของตัวเองไปหมด

การปฏิบัติในแบบเวทนาเนกขัมมะเช่นนี้ไม่ว่า พระ หรือฆราวาสก็สามารถทำได้ ไม่ได้หมายความว่าพระจะเป็นเนกขัมมะหรือฆราวาสจะเป็นเคหสิตะ แต่เรื่องนี้เป็นสภาพของจิต ที่จิตนั้นเป็นนักบวช หรือเป็นชาวบ้าน อยู่ที่ตัวเราปฏิบัติ

8). สมถะ-วิปัสสนา

ในการปฏิบัติศีล เราจะใช้สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป โดยสมถะ คือการพักจิต เพิ่มพลังจิต โดยใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ เพื่อเพิ่มพลังที่จะใช้ในการกดข่มกิเลสไว้

และวิปัสสนา คืออุบายทางใจ ที่จะใช้สร้างปัญญา ให้รู้เห็นจริงตามความเป็นจริง การจะฆ่าล้างกิเลสนั้นต้องใช้วิปัสสนาเป็นหลักจึงจะสามารถล้างกิเลสได้ ส่วนสมถะเป็นแรงเสริมให้วิปัสสนาสามารถคงสภาพได้ยาวนานขึ้น เป็นเครื่องหนุน เครื่องช่วย

เราจะวิปัสสนาโดยการพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย พิจารณากรรมและผลของกรรม ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่น ทำไมฉันต้องอยากกิน ฉันติดใจอะไรในเนื้อสัตว์นั้น มันอร่อยตรงไหน กินผักแทนไม่ได้หรือ กินแล้วเบียดเบียนเป็นกรรมของเราจะดีได้อย่างไร ให้ใช้ปัญญาหาเหตุพิจารณาโทษของการกินเนื้อสัตว์ และประโยชน์ของการกินผัก อย่างซ้ำๆ ย้ำๆ ด้วยความเพียรพยายาม แม้บางครั้งจะต้องพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็ควรจะพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะได้ปัญญาที่จะสามารถชำระกิเลสนี้เอง

9). ข้อควรระวังในการปฏิบัติ

ความหลงไปในธรรมมักจะเกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดเรื่องสมถะ ผู้ที่หลงในสมถะ หลงในภพ หลงในการปฏิบัติแบบฤาษีจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการปฏิบัติของตนเป็นแบบวิปัสสนา เมื่อกดข่มเก่งๆ จะเข้าสู้ภาวะกดข่มแบบอัตโนมัติ สามารถดับจิตที่เกิดได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่เห็นตัวกิเลส และไม่เห็นตัวทุกข์ ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นนิโรธแบบดับสนิท ดำมืด ไม่รู้อะไรเลย และไม่ใช่สัมมามรรค เป็นการปิดตัวเองไว้ในภพ หรือสภาวะที่ตนสุขใจ ติดภพ ติดชาติ ไปอีกนาน ยากที่จะบรรลุธรรม

10). ตรวจสอบ

ในขั้นแรกก็ต้องทดสอบในระดับของการร่วมโต๊ะกับคนอื่นที่ยังกินเนื้อให้ได้ก่อนว่าเราไหวหรือไม่ เรายังอยากไปกินกับเขาหรือไม่ เขาตักเนื้อสัตว์มาให้เราแล้วเราอยากกินหรือไม่ แม้เราจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์นั้น เรายังคิดห่วงหา คิดเสียดายโอกาสนั้นหรือไม่

ถ้าอยากรู้ว่าเราผ่านด่านความอยากของเนื้อสัตว์ได้จริงไหม ก็ลองกลับไปกินดูก็ได้ ถ้าเรากินแล้วไม่รู้สึกว่าอร่อย ไม่รู้สึกว่าติดใจ สามารถทิ้งได้ ละได้ วางได้ เมื่อละมาแล้วจิตใจไม่พะวง ไม่อาลัย ไม่เสียดาย ก็ถือเป็นใช้ได้

11). กาม-อัตตา

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือการฆ่ากิเลสในทางโต่งของกามของการเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น เมื่อเรากินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขแล้ว เรายังต้องกลับไปล้างกิเลสในฝั่งของอัตตาด้วย นั่นคือทางโต่งอีกด้านที่เราจะไปติด

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ว่าด้วยเรื่องทางโต่งทั้งสองด้าน ให้พึงละเสีย คือทางหนึ่งโต่งไปด้านกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) คือการทรมานตนด้วยการเสพ อีกทางหนึ่งโต่งไปทางด้านอัตตา (อัตตกิลมถานุโยค) คือการทรมานตนด้วยความยึดดีถือดี

เมื่อเราละเนื้อสัตว์เราจะผ่านกามและอัตตาในมุมเนื้อสัตว์ แต่เราจะมาติดกามและอัตตาในมุมของคนที่ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ หรือการติดดีนั่นเองเป็นส่วนกลับของกิเลสทุกตัว เหมือนเป็นด้านมืดที่เรียกว่านรกคนดี ซึ่งก็ต้องล้างไปด้วย

กามในอัตตาที่เราต้องล้างต่อไปคือการความอยากกินแต่ผัก ไปแนะนำ ไปสั่งสอน ไปเพ่งโทษ ทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ส่วนอัตตา คือ ความยึดว่าต้องกินแต่ผัก ความยึดดี ถือดี คิดว่าตนเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้วจึงยึดว่าตนนั้นดีเลิศ ทำแบบตนสิดี ไม่มีใครดีเท่าตน

เมื่อเราสามารถพ้นนรกคือการกินเนื้อสัตว์และพ้นนรกจากความเกลียดคนกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้หรือทางสายกลางได้นั่นเอง ทางสายกลางไม่ใช่ทางที่แค่พูดและเข้าใจความหมายแล้วจะเข้าถึงได้แต่ต้องปฏิบัติทำลายทางโต่งทั้งสองด้านจนเข้ารูปเข้ารอยของทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางเอกทางเดียวในการพ้นทุกข์หรือสัมมาอริยมรรค นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

24.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,063 views 0

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ตั้งชื่อเปรียบเปรยกันไป ประมาณว่าในเมื่อฉันยังไม่ทุกข์ ฉันก็ยังไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ เอาไว้ฉันแก่ ฉันทุกข์ ฉันตาย ฉันค่อยไปวัดก็ได้

ในบทความนี้จะขยายถึงเรื่องของอัตตา เมื่อเราเห็นว่าคนที่เข้าวัดทำบุญนั้นไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเจริญขึ้น และแม้จะดีขึ้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่มีนัยสำคัญให้เราสนใจอะไร จนกระทั่งเราเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ การไปวัด การไปพบครูบาอาจารย์

ในโลกนี้ประกอบด้วยคนมีทุกข์และคนไม่มีทุกข์ เปรียบเสมือนคนป่วยทางจิตใจกับคนจิตใจปกติ สำหรับคนที่ไม่ป่วยหรือจิตใจปกติจะขอยกไว้ แต่จะกล่าวถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันโดยจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะของคนป่วย 5 ประเภทดังนี้

1.คนป่วย

ในสังคมเรานั้น ถ้าพูดถึงคนที่เข้าวัดทำบุญทำทาน ก็คงจะเป็นคนส่วนน้อย โดยมักจะเป็นคนแก่ แม้บ้าน คนโสด หรือเป็นคนที่มีทุกข์ ตกงาน อกหัก โดนทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ชีวิตพัง ฯลฯ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ พวกเขาจึงได้มองหาที่พึ่งพิงทางใจ เพราะเขาเหล่านั้นเริ่มจะรู้สึกแล้วว่า เขาไม่สามารถพึ่งพาจิตใจตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อเรามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เราก็ควรจะให้โอกาสกับตัวเอง โดยการให้โอกาสผู้อื่นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้บ้าง

การที่เขาเหล่านั้นหาที่พึ่งทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขามีอัตตาลดลง เขามีความยึดมั่นถือมั่นลดลง อาจจะเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและมั่นใจมาทั้งชีวิตถูกทำให้พังทลายลง สิ่งที่พอจะเหลือไว้ให้คิดถึงสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือพระรัตนตรัย ที่พอให้เขายึดเหนี่ยวและเป็นหลักให้พึ่งพิงไว้ได้

2.คนป่วยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เข้าวัดทำบุญ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าตัวเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน เมื่อยังไม่มีทุกข์หนักมากพอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนักถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม และวิบากกรรมชั่วที่เคยทำนั้นยังไม่มาถึง เขาเหล่านั้นจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท เข้าใจว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนทุกข์ และในเมื่อเขายังไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหาธรรมะขนาดนั้นก็ได้

ความคิดเหล่านี้คืออัตตาก้อนใหญ่ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แทนที่จะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เขากลับยึดเอาอัตตา คือยึดเอาความคิดตัวเองนี่แหละเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่ถึงเวลาอันสมควรกรรมจะพาให้เขาได้พบกับทุกข์ที่มากพอที่จะกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกเข็ดขยาดกับการสะสมบาป ทำลายทุกอย่างที่เขาเชื่อมั่นลงราบเป็นหน้ากลอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนคนทุกข์ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพึ่งพาที่วัดนั่นแหละ

เขาเหล่านี้มักมีความคิดเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ชั่วมาก และก็ไม่ได้ดีมาก เข้าใจว่าเป็นกลางๆ จึงใช้ชีวิตทำดี ทำชั่วปนกันไปสลับไปมา 3 วันดี 4 วันไข้ รับสุขรับทุกข์แบบนี้เรื่อยไป และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำดีทุกวันได้ เป็นการทำดีที่สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน สอดแทรกเข้าไปในความเห็นความเข้าใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

แต่ด้วยอัตตาที่เขาเหล่านั้นมี คือมีความรู้สึกว่าเข้าวัดทำบุญก็ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น และชีวิตที่ใช้อยู่นั้นก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจไปอย่างน่าเสียดาย

3.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองมียาดี

เป็นคนที่มีทุกข์มีสุขปะปนกันไปในชีวิตเหมือนกับคนป่วยที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่เขาเหล่านี้รู้ตัวว่ามียาดี คือมีครูบาอาจารย์ มีพระดี มีวัดดี มีคนดีคอยแนะนำอยู่ จึงมีความประมาทในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รอไว้ให้ทุกข์ รอไว้ให้แก่ จึงค่อยเข้าวัด จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมได้มาถึง ทุกข์มากมายได้โถมกระหน่ำเข้ามา ยาดีที่มีอยู่ ก็อาจจะหมดอายุ ครูบาอาจารย์ลาโลกนี้ไปหมดแล้ว แถมบางทียาดีที่คิดว่ามีอยู่ กลับกลายเป็นยาปลอมอีก ธรรมที่เคยศึกษามาทั้งชีวิตกลับเป็นธรรมะปลอมๆ ที่พาสะสม พาให้เสพกิเลส พาให้กลัว กังวล หลงในเรื่องโลก เป็นต้น

แม้จะมียาดี มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงอยู่ใกล้ แต่เมื่อทุกข์ เมื่อวิบากมาถึง อาจจะใช้ยานั้นไม่ทันก็ได้ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ การบรรลุธรรมแบบชั่วพริบตานั้นไม่มีทางเกิดได้ หากไม่เคยทำเหตุมา นั่นหมายถึงถ้าไม่เคยปฏิบัติมาจนบรรลุเรื่องนั้นๆมาในชาติก่อนภพก่อนแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ในวันสองวันในชาตินี้หรอก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนี้เหมือนทะเล ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ ไม่ลาดชันเหมือนเหว คือต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ จากหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดจากหยาบไปละเอียดได้เช่นบางคนปฏิบัติธรรมได้นิดเดียวก็จะไปนิพพานเลย กลายเป็นเอาหลังมาหน้า เอาหน้ามาหลัง กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นไปตามลำดับ รีบเร่ง โลภ ขี้เกียจ มักง่าย สุดท้ายก็หลงทางกันไป หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปเลยก็มี

ยังมีคนอีกพวกที่ถือยาผิด เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแก่นของพุทธ จึงไม่สนใจการทำบุญ ปฏิบัติธรรม พบปะครูบาอาจารย์ ฟังสัจธรรม คิดแค่ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว นั่นคือความหลงผิดอย่างยิ่ง เพราะว่าแก่นของพุทธนั้นคือวิมุตติ คือสภาพที่หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนึกเอา คาดคะเนเอา ไม่ใช่แค่การทำดี ไม่ทำชั่ว แต่เป็นเรื่องของการดับกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าธรรมวินัยนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้นการจะบอกว่ารู้แก่น เข้าใจแก่นของพุทธโดยไม่ได้ปฏิบัติจนถึงผลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

4.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองหายป่วย

คนอีกประเภทคือคนที่คิดว่าตนเองนั้นได้เจอหมอ ได้ยาดี ได้รับการเยียวยาทางจิตใจดีแล้ว ได้รับการอบรมสั่งสอนดีแล้ว หายป่วยแล้ว เมื่อกลับเข้ามาในสังคม ก็จะมีอาการติดดี ยึดดี ถือดี ยึดมั่นถือมั่นว่าทางที่ฉันเดินนั้นดี เราสามารถพบเจอคนเหล่านี้ได้ในหมู่นักปฏิบัติธรรมที่ช่ำชองการปฏิบัติธรรม เขาสามารถเข้าใจศัพท์ ภาษาบาลี ข้อธรรมต่างๆ สภาวธรรมเบื้องต้นได้

ตัวเขาเองนั้นมักจะไม่ได้แสดงอาการทุกข์ใจให้คนอื่นเห็นมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าไม่เป็นทุกข์หรือทุกข์น้อยแล้วก็เลยกดไว้ ปิดบังไว้ แต่มักจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นด้วยกฎระเบียบ แนวคิด ทิฏฐิที่ตัวเองได้เรียนรู้มา เช่น พระท่านว่ามาแบบนี้ ถ้าทำอย่างนั้นจะบาป ถ้าทำอย่างนี้จะบาป ถ้าทำแบบนั้นจะบุญ ต้องทำแบบที่ฉันทำนี่สิดี ได้บุญเยอะบรรลุธรรมง่ายกลายเป็นคนดีที่ชอบปราบคนไม่ดี ชอบปราบคนชั่ว ซึ่งก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง

ในสังคมทุกวันนี้จึงมีจอมยุทธ์นักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด เป็นจอมยุทธ์ที่ฟาดฟันกันด้วยอัตตามานะ ซึ่งสร้างจากความรู้ความเข้าใจที่ได้ร่ำเรียนมาในแต่ละสำนัก เชิดชูสำนักตัวเอง คอยทำลายสำนักอื่นๆ ล่าบริวาร ล่าลาภ ยศ สรรเสริญและมักสร้างกรอบว่าใครไม่คิดเหมือนฉันคนนั้นผิด ใครไม่ปฏิบัติเหมือนฉัน ฉันไม่คบคนนั้น ใครจะปฏิบัติได้ดีเหมือนฉันนั้นไม่มีสำนักไหนหรือใครจะปฏิบัติอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันมีแนวทางของฉันเอง ครูบาอาจารย์ฉันสอนมาแบบนี้ ใครอย่ามาเปลี่ยนฉันเสียให้ยาก ….ก็หลงมัวเมาในอัตตากันต่อไป

และบางคนก็ถึงกับหลงผิดว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมไปเลย เปิดสำนักหลอกลวงคนมาทำบุญ สุดท้ายเมาลาภ เมากาม เมาสรรเสริญ เมาอัตตา ยิ่งเสพยิ่งติด เมื่อต้องการเสพมากขึ้นก็มักจะไม่ระวังตัว พอเรื่องแตก กลายเป็นข่าวใหญ่ ก็วงแตกหนีกันแทบไม่ทัน เหล่าญาติโยมผู้หลงผิดบ้างก็ยังหลงมัวเมาไม่จบไม่สิ้น บ้างก็ตาสว่าง ก็แล้วแต่บาปบุญของใคร

คนที่หลงคิดไปเองว่าตัวเองหายป่วย หลงคิดไปเองว่ามีจิตใจที่ไม่ทุกข์ หรือหลงคิดไปเองว่าตัวเองบรรลุธรรม คนเหล่านี้แหละ คือคนที่ทำลายศาสนาอย่างแท้จริง เพราะตัวเองก็ไม่ได้รู้จริงเรื่องการฆ่ากิเลส แต่กลับมาสอนคนอื่น ซึ่งสอนไปก็สอนผิดๆ ทำให้คนหลงมัวเมา ทำให้คำสอนของศาสนาเพี้ยน คนปฏิบัติตามก็บรรลุธรรมแบบเพี้ยนๆตามกันไป แถมการไปสอนคนผิด และยังมีความคิดที่จะล่าบริวารเพื่อลาภยศเหล่านั้น ยังนำมาซึ่งวิบากกรรมหนัก เพราะแทนที่คนผู้มีทุกข์เหล่านั้นจะได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ตรง กลับต้องมาเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสติให้กับคนที่หลงคิดว่าตัวเองหายป่วย

วิธีสังเกตคนที่หลงว่าตัวเองบรรลุธรรมก็ลองไล่ถามดูว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุธรรมอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร กิเลสลดอย่างไร ในคนที่มีธรรมไม่จริงก็มักจะพูดวนๆ พูดเป็นข้อธรรม พูดเป็นหลักกำกวม ตีความได้หลากหลาย พอไล่เข้าหนักๆ จนเริ่มจนมุม ก็จะเริ่มโกรธ หรือทำเป็นโกรธ เปลี่ยนประเด็น ไล่ให้ไปทำเอง ให้ไปปฏิบัติมาก่อน ส่วนใหญ่ก็เก่งเพราะฟังเขามาซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วทำอย่างไร พอรู้ไม่จริงก็เลยตอบไม่ได้ ส่วนคนที่ปฏิบัติได้จริงเขาก็จะพูดได้เป็นลำดับ ชัดเจน ไม่เขิน ไม่ประหม่า ไม่โกรธ แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจ แต่ก็ยินดีที่จะพูด โดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เชิญให้มาพิสูจน์ได้

5.คนป่วยที่สามารถปรุงยารักษาตัวเองได้

เป็นคนที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงการดับทุกข์ และรู้วิธีการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ เป็นคนป่วยที่สามารถสร้างยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของตัวเองได้ ทำลายทุกข์ที่เกิดในตัวเองได้ ทำลายเหตุแห่งทุกข์หรือกิเลสของตัวเองได้

ทั้งนี้ก็เกิดจากเขาได้พบกับหมอ หรือครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องการดับทุกข์ คนที่รู้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสอนเรื่องการดับทุกข์ได้ ถ้าเราได้พบท่านเหล่านี้ ได้ฟังสัจธรรมจากท่าน จนเกิดศรัทธา จึงทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จนเกิดสติปัฏฐาน เจริญขึ้นสู่โพชฌงค์ นำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

…การตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าเราเองนั้นป่วย หรือหายป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ก็คือการตั้งศีล การตั้งศีลจะทำให้เราเห็นกิเลสหรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ชัดเจนขึ้น คนถือศีลเมื่อมีกิเลสขึ้นมาก็จะร้อนใจเปรียบเหมือนดังผีร้ายถูกด้ายสายสิญจน์ ยกตัวอย่างเช่น เราถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ยุงมากัด เราก็อยากจะตบ แต่ถือศีลจึงไม่ตบ หักห้ามใจไว้ แม้จะแค้นยุงโกรธยุง เจ็บปวดคันแค่ไหน จนสุดท้ายก็ถือศีลไปจนกระทั่งล้างความแค้นความอาฆาตยุงที่มากัด และเมตตายุงได้แม้ว่าจะถูกยุงรุมกัดอยู่ก็ตาม ศีลนี้เองคือตัวจับผี จับอาการป่วย จับกิเลส

ง่ายที่สุดก็ลองถือศีล ๕ แบบที่ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไปโกรธ ไม่โลก ไม่อยากเสพ ไม่อยากพูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ได้อย่างปกติสุข คือไม่ต้องคอยบังคับใจ ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบาย ถึงแม้จะปล่อยใจตามสบายก็ไม่ได้ผิดศีลแม้แต่น้อย ก็ลองขยับมาศีล ๘ ศีล๑๐ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นอาการป่วย หรืออาการของกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หรือจะลองปฏิบัติศีลอื่นๆดูก็ได้เช่น การกินมังสวิรัติ ก็จะทำให้เห็นทุกข์ที่อยากกินเนื้อชัดเจน หรือการกินจืด ก็จะเห็นทุกข์ที่อยากเสพรสอร่อยชัดเจน หรือลองกินมื้อเดียวดู ก็จะเห็นทุกข์ของผู้หิวโหยชัดเจนยิ่งขึ้น

ศีลที่พระพุทธเจ้าให้มาเหล่านี้ คือศีลที่พาปฏิบัติไปสู่การบรรลุธรรม ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล คนใดไม่มีศีลก็ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็เลยไม่ถือศีล และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “ ศีลยอดเยี่ยมในโลก(สีลัง โลเก อนุตตรัง) ” คนผู้มีปัญญาย่อมศรัทธาในศีล ย่อมเคารพในศีล คนหมู่ใดถือเอาคนมีศีลเท่าเทียมกับคนไม่มีศีล ท่านให้พรากออกจากคนเหล่านั้น

เมื่อไม่ถือศีลก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย บางครั้งถึงกับหลงผิดว่าบรรลุธรรมจึงไม่ถือศีล ถ้าหากมีบุญ ไม่หลงผิดไปมาก ก็ลองถือศีลยากๆสักข้อ ก็จะได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจน จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

เมื่อเราถือศีลแล้วทุกข์มาก ก็คือเรามีกิเลสมาก ป่วยมาก แต่ถ้าเราถือศีลแล้วเราทุกข์น้อย ก็ให้ขยับฐานศีลให้ยากขึ้นจนกว่าจะเจอทุกข์ สุดท้ายไม่ว่าจะถือศีลอย่างไรก็ไม่เจอทุกข์เลย นั่นแหละคือเราหายป่วยแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์