Tag: สัจธรรม

อกหัก

November 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,611 views 0

อกหัก

อกหัก

…เมื่อความผิดหวังมาเยี่ยมเยียนความรัก

ความรัก การมีคู่ การครอบครอง เป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่หา เฝ้าฝันว่าวันใดวันหนึ่งจะได้พบคู่รักดังที่เคยฝันไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอคู่ที่เหมาะสม คู่ที่ยินดีจะมอบกายมอบใจมอบชีวิตให้เขาครอบครอง แต่สุดท้ายความฝันทั้งหมดก็พังทลายลงเมื่อเผชิญกับความจริง เหลือทิ้งไว้เพียงแค่คนที่ถูกดับความหวังหมดสิ้นความฝันหรือที่เรียกกันว่า “คนอกหัก

ในบทความนี้จะมาไขเรื่องราวของการอกหักอย่างละเอียดเท่าที่จะเกิดประโยชน์กับใครสักคนที่กำลังอกหักหรือเตรียมตัวที่จะอกหักมาสรุปเป็นหัวข้อได้ 7 หัวข้อด้วยกัน ลองอ่านกันเลย

1….ทำไมต้องอกหัก

เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีการดับ อย่างที่เรารู้กันว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เหมือนกันกับความรัก มันเกิดขึ้น มันดำเนินอยู่คงสภาพอยู่ และสุดท้ายมันก็ต้องจบลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ตอนที่เรากำลังไขว่คว้าหาความรักแสวงหาคู่ครองมาคบหาดูใจนั้น น้อยคนนักที่จะคิดว่าทุกอย่างจะต้องจบลง ยากนักสำหรับคนที่หลงไปกับความรักจะคิดได้ว่าเมื่อมีรักก็ต้องมีวันหมดรัก หรือจะเรียกได้ว่าเมื่อตกลงรักไปแล้วก็ยากนักที่ใครจะเตรียมพร้อมทำใจรอรับวันอกหัก เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับความรัก ได้รับคนรักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ก็มักจะมัวแต่เมามายประมาทในกาลเวลามองว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปดังที่หวังไว้ เมื่อได้คบหาแล้วก็วางแผน วาดฝัน สร้างสวรรค์วิมานไปตามที่จะคิดจะจินตนาการได้

แต่ถึงจะวางแผนชีวิตคู่ไว้อย่างดีแค่ไหน สัจธรรมย่อมไม่เปลี่ยนแปลง คือเราจะต้องมีความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายถึงเราจะต้องเสียคู่รักของเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเลิกคบหากัน อาจจะตายจากกัน หรืออาจจะอยู่ด้วยกันโดยที่ความรักนั้นได้ตายไปแล้วก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมาถึงในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเราอกหัก เรามักจะมองหาคนผิด คนที่ได้ชื่อว่าอกหักมักจะดูเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งก็มักจะคิดว่าตนนั้นถูกกระทำ และคิดว่าตนนั้นมีสิทธิ์ที่จะเสียใจ มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง มีสิทธิ์ที่จะทุกข์ ทั้งที่คนผิดจริงๆนั้นคือตัวเราเอง

ไม่ว่าอดีตคู่ครองจะทำอะไรและไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนกับเราก็ตาม ให้รู้และเข้าใจไว้อย่างหนึ่งคือทั้งหมดที่เขาทำนั้นคือกรรมของเราเอง เราทำมาเองเราเลยต้องรับเอง ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่าเราเคยทำกรรมอันน่ารังเกียจแค่ไหน ยิ่งเราเกลียดคนที่หักอกเรามากเท่าไหร่ นั่นแหละคือเราทำมามากกว่านั้น เราเลวร้ายมากกว่านั้น เพราะกรรมเขาแบ่งมาให้เรารับในชาตินี้ส่วนหนึ่ง ชาติหน้าส่วนหนึ่ง และชาติต่อๆไปอีกจนกว่าจะหมด

นั่นหมายความว่าเรากำลังได้รับเศษกรรมที่เราเคยทำไว้ ดังนั้นเหตุที่ว่าทำไมต้องอกหัก จึงมีส่วนของกรรมเก่าส่วนหนึ่งและกรรมใหม่ที่เราทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง กรรมใหม่ก็เช่น เราดูแลเขาดีไหม เราสนองกิเลสเขาได้ไหม เราตามใจเขามากเกินไปหรือไม่ หรือเรามัวแต่สนองกิเลสตัวเองโดยไม่สนใจเขา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมใหม่ในชาตินี้ที่ส่งผลมากที่สุด ถ้าถามว่าทำไมอกหัก ก็สรุปสั้นๆได้ว่า “เราทำมา

2….ทำไมต้องทุกข์ ทำไมต้องทรมาน

ความทุกข์นั้นคือผลของกรรม และผลของกิเลส ในส่วนของกรรม กรรมที่เราทำมาจะทำหน้าที่ให้เกิดความทุกข์ ทรมาน กระวนกระวาย และอาจจะมีผลไปถึงร่างกาย เช่นไม่หิวข้าว ไม่สบาย เซื่องซึม ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตใจสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อนกับเราวนเวียนไปจนกว่ากรรมนั้นๆจะหมด

การที่กรรมนั้นจะหมดได้คือเราต้องยอมรับกรรมเสียก่อน ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เราทำมา คนที่มัวแต่โทษคนอื่น โทษอดีตคู่ครอง โทษมือที่สาม โทษดินฟ้าอากาศ โทษดวงชะตา ฯลฯ คือคนที่ไม่ยอมรับกรรมที่ทำมา เมื่อไม่ยอมรับกรรมก็ยากที่จะพ้นทุกข์ เพราะมีการโกหกซ้ำซ้อนเข้าไปอีกว่าฉันไม่ได้ทำมา ทั้งที่ทำมาแท้ๆกลับไม่ยอมรับ มองเพียงแค่ตื้นๆ เห็นเพียงแค่ผิวเผินก็ตัดสินไปแล้วว่าไม่ใช่กรรมของฉัน สิ่งที่เราได้รับนั่นแหละคือกรรมของเราแน่ๆ ไม่ต้องโทษใครที่ไหน

ในส่วนของกิเลสนั้นซ้อนเข้าไปในเรื่องกรรมอีกที แต่จะเป็นส่วนที่สามารถจะแก้ไขได้ การที่เราทุกข์ทรมานจากการอกหักนั้น เกิดจากความผิดหวัง ที่ผิดหวังเพราะว่าเรามีหวัง แต่มีความหวังนั้นไม่ผิด ผิดตรงที่เราไปยึดมั่นถือมั่นกับความหวังนั้น

เราสามารถวาดฝัน คาดหวัง หรือวางแผนชีวิตคู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อมันไม่เกิดดังที่เราคาดหวัง เราก็มักจะไม่สามารถปรับใจตัวเองได้ทัน เพราะยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเดิมที่เคยคาดหวังไว้ อาการเหล่านี้เรียกว่ามีอัตตา มีความยึดมั่นถือมั่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราคาดหวังว่าแฟนจะพาไปกินข้าวเย็นสุดหรูในวันสำคัญของเรา แต่สุดท้ายกลับต้องมากินข้าวแกงถุงกัน…

กระบวนการทั้งหมดเริ่มจากเราหวังว่าจะได้กินของอร่อยดูดี แต่เมื่อกรรมได้นำพาเหตุการณ์บางอย่างเข้ามา คือบทที่ไม่สมหวังต้องมานั่งกินข้าวแกงถุง ณ ขณะนี้มีให้เลือก 2 ทางเลือกใหญ่ๆ 1. ทุกข์เพราะผิดหวัง 2.ปล่อยวางความหวัง

ถ้าเรามีทิศทางไปทางที่หนึ่งก็คือกิเลสเต็มๆ คือสิ่งที่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น ส่วนอาการทุกข์เพราะผิดหวังนั้นจะแสดงออกอย่างไรก็แล้วแต่โทสะ ซึ่งเป็นกิเลสอีกตัวที่จะโผล่มาเมื่อไม่สมหวัง คนเรารักกันเลิกกันก็ไม่พ้นเรื่องของกิเลสหรอกมันก็มีอยู่แค่นี้ ถ้าดับกิเลสได้ก็ไม่มีทางทุกข์ที่มีทุกข์เพราะมีกิเลส

ส่วนของทางเลือกที่สองนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าอุเบกขา หรือปล่อยวางความคาดหวังเสีย แล้วมีความสุขไปกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ผู้สามารถอุเบกขาหรือปล่อยวางได้อย่างแท้จริงจะมีจิตผ่องใส โปร่งสบาย และมีไหวพริบเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

แต่การจะอุเบกขาได้อย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมะในระดับที่ล้างกิเลสเป็น ดังนั้นยากนักที่จะสามารถหนีออกจากเหตุแห่งทุกข์และความทรมานนี้ได้ พวกเขาจึงต้องจมอยู่กับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งความทุกข์นั้นก็ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหนก็เป็นเขาเองที่ยึดมั่นถือมั่นทุกข์นั้นไว้ กอดทุกข์นั้นไว้ กอดความหวังที่ไม่มีจริงเอาไว้ เมื่อไม่ปล่อยวาง จึงต้องทุกข์ทรมานอยู่เรื่อยไป

3….อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม

คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะลืมฉากรักอันแสนหวานและฉากทุกข์ทรมานที่แสนขมขื่น สิ่งที่เราจำได้นั้นเรียกว่า “สัญญา” คือการจำได้หมายรู้ทั่วไป และการที่เราคิดเรียกว่า “สังขาร” หรือการปรุงแต่งความคิด

สัญญาคือเราจำเรื่องราวจำสิ่งต่างได้ เช่น เราคบกันวันแรกที่ไหน ของขวัญชิ้นแรกคืออะไร เราพูดอะไรออกไป เราทะเลาะกันเรื่องอะไร สิ่งเหล่านี้คือความจำ ความจำนั้นไม่ใช่ตัวทำให้ทุกข์ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์นั่นคือความคิดหรือสังขารที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

คนทั่วไปมักจะมองหาทางลืม แต่สุดท้ายก็พบว่าอยากลืมกลับจำ อยากจำสิ่งดีใหม่ๆแต่กลับลืม พยายามสร้างเรื่องราวใหม่เพื่อมาทดแทนแต่ก็ไม่สามารถทำให้ลืมได้ นั่นเพราะสิ่งที่ทำให้เราจำได้ก็เพราะความคิดของเราที่ปรุงแต่งเรื่องราว คำพูด ฉากเหตุการณ์ต่างๆย้อนหลังซ้ำไปซ้ำมาในความคิดของเรา เมื่อคิดอยู่อย่างนั้นมันก็บันทึกเรื่องใหม่ไปด้วย นอกจากจะจำเรื่องเก่าได้แม่นขึ้น ยังมีเรื่องใหม่ที่ปรุงแต่งขึ้นมาเองอย่างฟุ้งซ่านลงไปด้วย

บางครั้งอาจจะทำให้เกิดอาการ สัญญาวิปลาสได้ คือ ความจำสับสน จำสิ่งที่ตัวเองคิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงทับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น เคยเลิกกับแฟนด้วยคำพูดประโยคหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไปกิเลสได้ปรุงแต่งความคิดให้ฟุ้งซ่านเป็นทุกข์ จึงเริ่มปรุงแต่งเรื่องราวเดิมซ้ำอีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมาจนประโยคเดิมนั้นกลายเป็นประโยคใหม่ ซึ่งมีน้ำหนักมีความรุนแรงมากกว่าเดิม เหตุการณ์นี้หลายคนก็คงจะเคยเจอ ภาษาทั่วไปเขาเรียกกันว่า “มโนไปเอง” หรือคิดไปเองนั่นเอง คือความคิดใหม่มันไปอัดทับของเก่าไปแล้ว เหมือนกับบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิมโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งปัญหาจริงๆมันไม่ได้อยู่ที่จำหรือลืม มันอยู่ที่ทุกข์หรือไม่ทุกข์ คนที่ล้างกิเลสได้จริงมันจะไม่ลืม แต่มันจะไม่ทุกข์ มันจะยินดีกับทุกเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ว่าจะดีหรือร้าย คิดเรื่องดีก็ยินดี คิดเรื่องร้ายก็ยินดี ยินดีที่ได้รับกรรมที่ทำไปแล้วก็จบไป ยินดีที่ได้เห็นว่าตัวเรานั้นมีกิเลสขนาดไหนยินดีที่ได้ใช้เหตุการณ์นั้นมาล้างกิเลสในใจเรา

4….อกหักทำอย่างไร

ความผูกพันที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ได้ทำลายได้ง่ายๆเพียงแค่กดข่ม หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องโดยหาสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ บางครั้งเราอาจจะหลงคิดไปว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว คิดว่าเราลืมไปแล้ว แต่จริงๆชีวิตที่เปลี่ยนแปลงนั้นเกิดมาจากการอกหักที่เกิดขึ้นนั่นแหละ กิเลสที่มีจะพยายามทำให้เราผลักจากสภาพทุกข์ที่เป็นอยู่ซึ่งโดยมากจะไปในทางอกุศล

คนส่วนมากก็มักจะใช้วิธีหากิจกรรมใหม่ เปลี่ยนวิถีชีวิต เช่นไปเที่ยวคนเดียว ไปดูหนังคนเดียว ไปทำอะไรที่ไม่เคยทำ ปลดปล่อยตัวเอง ไประบายความเครียดความบ้าคลั่งที่ไหนสักที่ มันก็พอทำได้ในลักษณะของโลกียะ แต่จริงๆแล้วบางกิจกรรมมันก็ทำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีกถ้าจะให้ดีเราควรเลือกกิจกรรมที่เป็นกุศล เช่น พบเจอเพื่อนฝูง ศึกษาธรรมะ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ล้างจาน กวาดบ้าน จัดห้อง เก็บของบริจาค จัดสวน หรืองานจิตอาสาช่วยคนอื่น ฯลฯ และเว้นขาดจากกิจกรรมที่จะมีโอกาสเพิ่มไปกิเลสอีก เช่น ไปเที่ยวกลางคืน ดูหนังคนเดียว ฟังเพลงคนเดียว กินเหล้าของมึนเมา เสพยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อื่นๆตามมา

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกวิธีที่คนนิยมคือหาแฟนใหม่หาคนใหม่มาดามอก ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ยิ่งแย่เพราะเรื่องเก่ายังทุกข์ไม่หมดยังจะไปหาทุกข์ใหม่มาซ้ำตัวเองอีก จริงอยู่ว่าแรกรักนั้นเหมือนจะหวานแต่สุดท้ายก็ขมเหมือนกันหมด การที่เราได้โอกาสกลับมาโสดนี่คือสิ่งที่วิเศษที่สุดที่เขาหรือเหตุการณ์ใดๆมาดลให้เราต้องพลัดพรากก่อนเวลาที่เราคิด ซึ่งความโสดนี่แหละดีที่สุด

เมื่อเราได้ความโสดแล้วยังกลับไปหาการมีคู่ก็มักจะต้องกลับไปพบทุกข์เหมือนเดิม วนกลับไปที่หัวข้อแรก ทำไมต้องอกหัก? อกหักก็เพราะอยากมีคู่ อยากมีคู่มันก็เกิดจากกิเลส ถ้าไม่ดับกิเลสมันก็ทุกข์วนเวียนไปเรื่อยๆ ดังนั้นวิธีหาคู่มาดับทุกข์จึงเป็นวิธียอดแย่ที่คนกลับนิยมใช้มากและเข้าใจว่าเป็นวิธีที่ดีทั้งๆที่นั่นคือวิธีสร้างนรกซ้อนขึ้นมาอีกขุม เพราะกิเลสในนรกขุมเดิมก็ยังไม่ได้แก้ ยังเพิ่มกิเลสไปหานรกขุมใหม่เพิ่มให้ตัวเองอีก

วิธีแก้ไขอาการอกหักเบื้องต้นในทางโลกก็ทำให้พอดี ไม่ให้ฟุ้งซ่านเกินไป ไม่ให้มัวเมาจนเลอะเทอะ เพราะวิธีแก้เหล่านั้นไม่ใช่วิธีแก้ที่ยั่งยืน ไม่ได้ดับที่เหตุ เมื่อไม่ได้ดับที่เหตุ ทุกข์ก็ไม่มีวันดับ อาจจะกดไว้ ข่มไว้ ฝังไว้แต่มันจะไม่ดับ มันจะเหลือเชื้อให้กลับมาเป็นทุกข์ได้เสมอ ดังนั้นเราจะเข้าสู่เนื้อหาสาระจริงๆของวิธีแก้ไขการอกหักกันเสียที

อย่างที่เกริ่นกันตอนต้นว่าอาการทุกข์จากการอกหักนั้นเกิดจากกิเลส ซึ่งกิเลสนี้คือความยึดมั่นถือมั่นมาเป็นของตน เมื่อเรารักใคร คบใคร ผูกพันกับใคร หรือแต่งงานกับใครเราก็จะยึดมั่นถือมั่นเขามาเป็นตัวเราของเรา เป็นอัตตาของเรา แต่ก่อนสมัยเรายังโสด คำว่า “อัตตา” นั้นมีแค่ตัวเราของเรา แต่พอเรามีคู่อัตตาของเราก็จะกลายเป็น “ตัวฉันและตัวเธอ” การเอาคนอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองนั้นเรียกว่าโอฬาริกอัตตา คือเอาวัตถุแท่งก้อน คนสัตว์ สิ่งของมาเป็นของตัว

ตอนแรกมันอยู่คนเดียวก็ปกติดี แต่พอมีคู่แล้วต้องกลับมาอยู่คนเดียวมันไม่ปกติเหมือนเก่า เพราะว่ากิเลสมันเพิ่มขึ้น แต่ก่อนอัตตามันมีแค่ฉัน พอมีคู่กลายเป็นฉันกับเธอ ก็ยึดมันไว้อย่างนั้น ยึดว่าเราต้องมีกันและกัน ต้องคู่กัน ชีวิตของฉันจะเป็นไปเมื่อมีฉันกับเธอ ฉันจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ ตามที่หนังรักมากมายได้หลอกให้เราเชื่อว่าความรักมันเป็นแบบนั้น คนเลยต้องทนทุกข์เพราะยึด เมื่อยึดแล้วโดนจับแยกก็เลยเจอสภาพขาด เพราะหลงเข้าใจไปว่าเขาหรือคู่ของเรานั้นเป็นตัวเราของเรา ทั้งๆที่จริงแล้วเขาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทุกข์กับสุขของเราเลย ความทุกข์ ความสุขที่เราได้รับนั้น เราปั้นปรุงแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น เราสุขจากการได้เสพสมใจในกิเลสโดยใช้เขาเป็นตัวบำเรอกิเลสของเรา สุดท้ายพอโดนพรากไปเราก็ไม่มีที่บำเรอกิเลสเหมือนเดิม อัตตามันไม่ถูกสนองให้เต็มเหมือนเก่ามันก็เลยต้องทุกข์

การจะออกจากอัตตาแบบยึดคนอื่นมาเป็นตัวเราได้นั้น ในระยะแรกนั้นต้องกลับมาเป็นตัวเองให้ได้ ต้องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองเชื่อมั่นว่าฉันอยู่คนเดียวได้ ฉันอยู่คนเดียวก็มีคุณค่า เติมอัตตาตัวเองให้เต็มด้วยความเป็นตัวเอง เติมช่องว่างที่เคยขาดหายด้วยคุณค่าของตัวเอง หรือจะใช้วิธีเติมคุณค่าด้วยการช่วยเหลือคนอื่นก็ได้ เช่นงานจิตอาสาจะสามารถถมช่องว่างของอัตตาที่เคยขาดหายไปได้ง่าย เสมือนว่าเอาคนอื่นมาแทนแฟนเก่าใช้ระงับทุกข์ได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงรากแค่ระงับอาการทุกข์

เมื่ออัตตาได้เต็มกลับมาเป็นตัวของตัวเองได้แล้ว ยืนด้วยตัวเองได้แล้ว ไม่เสียใจ ไม่ทุกข์อีกแล้ว จะเกิดการยึดดี ความยึดดีนี้เองจะสร้างความเกลียด เมื่อเราเจอแฟนเก่าเราจะไม่ทุกข์เพราะเสียเขาไป แต่จะทุกข์เพราะเกลียดเขา จะเกิดอาการรังเกียจ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากร่วมโลก ไม่อยากสนใจ อันนี้เพราะเรามีอัตตาจัด

แน่นอนว่าเราเติมอัตตาให้เต็มมาเอง แต่สุดท้ายมันต้องทำลายอัตตาอีกที หลักตรงนี้คือ ต้องออกจากความทุกข์จากการอกหักด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเองและทำลายความหลงติดหลงยึดกับตัวเองในตอนท้ายอีกที จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้ที่เรียกได้ว่าพ้นจากทุกข์ของการเลิกราอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเรามีอัตตามาก ยึดดีมาก มั่นใจในตัวเองมาก จะไม่สนใจแฟนเก่า แม้ว่าเขาจะดีเพียงใดก็จะไม่ใยดี รังเกียจ ความรู้สึกตรงนี้เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้น การล้างทุกข์ตรงนี้ต้องล้างอัตตา ความยึดดีนั้นคือสภาพของการผลัก ผลักเขาออกจากชีวิต ไม่เอาเขาอีกต่อไปแล้ว หรือเรียกว่าเกลียด บางคนถึงกับไม่เผาผีกันเลย

ซึ่งการจะล้างการผลักนั้นต้องดูดกลับไปอีกที คือการพิจารณาคุณค่าของเขาเช่น เขาก็มาให้เราเรียนรู้ทุกข์นะ ถ้าไม่มีเขาเราจะเข้าใจความทุกข์ของคนมีคู่ได้อย่างไร ไม่มีเขาแล้วใครจะมาสะท้อนกิเลสเรา เขาเสียสละมาทำกรรมกับเราเพื่อให้เราชดใช้กรรมเชียวนะ ถ้าเขาไม่ทิ้งเราจะได้เจอกับความโสดที่แสนสุขไหม จริงๆเมื่อก่อนนั้นมันก็ดีนะ เราเองผิดเองที่เรามีกิเลส ฯลฯ

เมื่อพิจารณาไปมากๆความเกลียดเขาจะลดลง แต่ตรงนี้ต้องระวังให้มาก เพราะบางครั้งเราอาจจะออกด้วยอัตตาไม่เต็ม คือตอนมีอัตตามันยังมีเขาแทรกอยู่ในตัวเรา ในกิเลสเรา ทีนี้พอพิจารณาดูดเขากลับมันก็จะเลยเถิดกลับไปรักเขาเหมือนเดิม กลับไปคิดถึงเขาเหมือนเดิม ดีไม่ดีก็กลับไปคบเขาเหมือนเดิม นี่คือลักษณะของการล้างกิเลสที่ไม่เป็นลำดับทำให้พลาดหล่นลงนรกไปเหมือนเดิม ให้สังเกตดูดีๆว่าคิดถึงเขาแล้วเรายังแอบดีใจ แอบมีความสุข แอบคิดถึงบรรยากาศดีๆที่เคยมีให้กันอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่อย่าเพิ่งคิดไปพิจารณาดูดหรือไปพิจารณาประโยชน์ของเขา ให้พิจารณาโทษให้ติดดี ให้เกลียดการมีคู่ให้มันเต็มๆก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที

เมื่อปรับระหว่างรักกับเกลียดผลักกับดูดได้แล้ว สุดท้ายมันจะสำเร็จลงที่ความเป็นกลาง กลางในที่นี้คือไม่กลับไปเสพเรื่องคู่ หรือไม่คิดกลับไปคบหากับแฟนคนก่อนอีก และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาคือไม่ถือดี ไม่ยึดดี ไม่เกลียดใครจนตัวเองทุกข์ จึงจะพ้นสภาพของความทุกข์ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ว่าเขาจะเดินผ่าน ไม่ว่าเขาจะยิ้มให้ ไม่ว่าเขาจะเข้ามาคุย ไม่ว่าเขาจะพาแฟนใหม่มาเย้ย ไม่ว่าเขาจะต้องทุกข์ทนมานจากวิบากกรรมใดของเขา หรือไม่ว่าเขาจะต้องตายจากไปก็ตาม เราก็จะยังมีความยินดี ที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้รักกันแม้ว่าทุกอย่างจะจบไปแล้วก็ตาม โดยไม่มีทุกข์ใดๆเข้ามาเจือปนในจิตใจให้หม่นหมองเลย

5….อกหักดีอย่างไร

ข้อดีของการอกหักมีมากมาย ตั้งแต่เราได้ใช้กรรม เราได้เห็นกิเลสตัวเองทำให้เรากลับมาสำรวจตัวเองว่าเรายังบกพร่องในเรื่องใดบ้าง เราได้เห็นกิเลสของคนอื่นทำให้เราได้เห็นว่าการบำรุงบำเรอกิเลสให้ใครนั้นทำเท่าไรก็ไม่พอ เราได้เห็นทุกข์ เราได้เห็นธรรม เราได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น การอกหักครั้งหนึ่งสร้างการเรียนรู้ให้เราได้มากมาย และสิ่งที่ดีที่สุดของการอกหักก็คือ “ความโสด

คนที่ไม่อกหักก็จะไม่มีวันเข้าใจความทุกข์ของความโสด และไม่มีวันเข้าใจความสุขของการโสด ทั้งสองอย่างคือสิ่งที่เราต้องพบเจอไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความทุกข์จากความโสดหรือโสดแล้วทุกข์เศร้าหมองนั้นเรามักจะเห็นกันเป็นประจำดังคำเรียกที่ว่า “คนอกหัก” แต่ความสุขของการโสด หรือ “โสดอย่างเป็นสุข” นั้นคือสภาพที่ใครหลายๆคนไม่ค่อยจะได้พบเห็นมากนัก แต่ถ้าจะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกันได้บ้างก็คือคนที่หลุดจากนรกหรือเลิกคบกับคนที่นิสัยไม่ดี ตอนแรกก็หลงรักเขาอยู่พอเขาจะทิ้งก็ไม่ยอมนะ แต่สุดท้ายพอเขาทิ้งจริงๆ ก็กลับมีความสุขขึ้น แบบนี้ก็น่าจะมีเหมือนกัน

แต่โสดอย่างเป็นสุขนั้นเป็นขั้นกว่าเป็นสิ่งที่เหนือกว่า เพราะคำว่าโสดอย่างเป็นสุขนั้นหมายถึงการยินดีในความโสดจนเกิดเป็นความสุข เพราะรู้ดีแล้วว่าไม่มีสิ่งใดจะมีความสุขเท่าความโสด ไม่มีอิสระใดจะยิ่งใหญ่เท่าความโสด เป็นความสุขแท้ที่มีเพียงผู้ที่ล้างกิเลสได้อย่างแท้จริงเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ ถ้าถามว่ามันสุขแบบไหน ก็คงจะตอบสั้นๆได้ว่า มีความสุขและความยินดีที่จะโสดตลอดชีวิต โสดทั้งชาตินี้และชาติหน้าและชาติอื่นๆสืบไป

6…ความรักหลังจากอกหัก

ความรักหลังจากอกหักของคนมีกิเลส ก็คงจะหาคนมาเติมเต็มช่องว่างของกิเลสที่ขาดหายไป ถมแล้วก็หาย เติมแล้วก็พร่อง แล้วก็ต้องหามาเติมอย่างนี้เริ่มไปไม่จบไม่สิ้น วนเวียนอยู่กับการมีรัก คบกัน อกหัก นานแสนนานตราบเท่าที่กิเลสนั้นจะดับไป

แต่คนที่อกหักแล้วสามารถล้างกิเลสได้จะต่างออกไป ความรักของคนที่ล้างกิเลสได้จริงจะเปลี่ยนชีวิตของเขาและเธอไปอย่างไม่มีวันกลับไปทุกข์เหมือนเดิม ความรักที่มีหลังจากนั้นจะมีความใสบริสุทธิ์กว่าที่เคย จะกลายเป็นรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ว่าจะมีการให้การเกื้อกูลดูแลการเอาใจใส่ แต่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาตัวเขามาเป็นตัวเรา ไม่เอาใครเข้ามาเป็นกิเลสร่วมกับเรา และไม่มีตัวเรา ไม่มีคนหลงรัก ไม่มีใครให้รักจนหลง มีแต่ความรักที่พร้อมจะให้ ให้กับใครก็ได้ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน มิตรสหาย ฯลฯ เพราะรู้ว่ารักแท้จริงนั้นเกิดจากการให้โดยไม่ยึดติด เมื่อไม่ยึดติดว่าต้องให้กับใครก็เลยยินดีที่จะให้ความรักกับทุกคน โดยไม่หวังอะไรตอบแทน

7….อกหักครั้งต่อไป

โดยทั่วไปคนที่เคยอกหักแล้ว มักจะเข้าใจว่าตัวเองได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ก็เลยมักอยากจะกลับไปลองของ เพราะความที่ตัวเองมีกิเลสอยากมีคู่ อาจจะด้วยความเหงาหรือความหื่นกระหายในสิ่งใดก็ตามแต่ เขาเหล่านั้นมักจะมั่นใจว่าครั้งต่อไปจะต้องไม่พลาด…แต่แล้วมันก็จะพลาดอีกอย่างเคย เพราะที่ใดมีรักที่นั่นก็มีทุกข์ ของมันคู่กันแบบนี้เราจะเลือกรับแต่ความสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับความทุกข์ไปด้วย แต่ที่สำคัญก็คือความสุขที่ได้รับนั้น “เป็นความสุขลวง”ที่จะล่อให้เราหลงติดอยู่ในการมีคู่ต่อไป ให้เราตามหารักแท้ไปเรื่อยๆ ให้เราอกหักไปเรื่อยๆ ผิดหวังไปเรื่อยๆ

ชีวิตนั้นยังมีเรื่องอีกตั้งมากมายให้เราผิดหวัง รอคอยให้เราล้างกิเลส หากเรายังมัวยินดีที่จะผิดหวังกับเรื่องเดิมๆ เราก็จะไม่มีวันพบกับความสุขแท้ได้ คงจะมีแต่สุขลวงๆที่กิเลสนั้นใช้ล่อเราไว้กับโลกนี้ ล่อเราไปกับการมีรัก การคบหา การเลิกรา ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ละครฉากหนึ่งที่กิเลสจัดฉากให้เราเล่น ให้เรารัก ให้เราหลง ให้เรายึด ให้เราทุกข์ ทรมาน เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน เสียใจ คับแค้นใจ อยู่เรื่อยไป

อ่านบทความมาถึงตรงนี้แล้วอกหักครั้งต่อไปจะมีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสในใจของเรา หากเรายังมีความยินดีที่จะกลับไปเสพสุขจากการมีคู่รักและพร้อมจะรับทุกข์ ก็ให้เรียนรู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องบรรลุธรรมในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ดีอาจจะชาตินี้หรือชาติต่อไปนานแสนนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่คนเรานั้นจะสามารถทำทุกข์ได้เท่าที่จะทนทุกข์ได้ เมื่อทุกข์สุดทนก็จะเลิกทำทุกข์ให้กับตัวเอง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

24.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,046 views 0

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ตั้งชื่อเปรียบเปรยกันไป ประมาณว่าในเมื่อฉันยังไม่ทุกข์ ฉันก็ยังไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ เอาไว้ฉันแก่ ฉันทุกข์ ฉันตาย ฉันค่อยไปวัดก็ได้

ในบทความนี้จะขยายถึงเรื่องของอัตตา เมื่อเราเห็นว่าคนที่เข้าวัดทำบุญนั้นไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเจริญขึ้น และแม้จะดีขึ้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่มีนัยสำคัญให้เราสนใจอะไร จนกระทั่งเราเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ การไปวัด การไปพบครูบาอาจารย์

ในโลกนี้ประกอบด้วยคนมีทุกข์และคนไม่มีทุกข์ เปรียบเสมือนคนป่วยทางจิตใจกับคนจิตใจปกติ สำหรับคนที่ไม่ป่วยหรือจิตใจปกติจะขอยกไว้ แต่จะกล่าวถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันโดยจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะของคนป่วย 5 ประเภทดังนี้

1.คนป่วย

ในสังคมเรานั้น ถ้าพูดถึงคนที่เข้าวัดทำบุญทำทาน ก็คงจะเป็นคนส่วนน้อย โดยมักจะเป็นคนแก่ แม้บ้าน คนโสด หรือเป็นคนที่มีทุกข์ ตกงาน อกหัก โดนทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ชีวิตพัง ฯลฯ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ พวกเขาจึงได้มองหาที่พึ่งพิงทางใจ เพราะเขาเหล่านั้นเริ่มจะรู้สึกแล้วว่า เขาไม่สามารถพึ่งพาจิตใจตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อเรามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เราก็ควรจะให้โอกาสกับตัวเอง โดยการให้โอกาสผู้อื่นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้บ้าง

การที่เขาเหล่านั้นหาที่พึ่งทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขามีอัตตาลดลง เขามีความยึดมั่นถือมั่นลดลง อาจจะเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและมั่นใจมาทั้งชีวิตถูกทำให้พังทลายลง สิ่งที่พอจะเหลือไว้ให้คิดถึงสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือพระรัตนตรัย ที่พอให้เขายึดเหนี่ยวและเป็นหลักให้พึ่งพิงไว้ได้

2.คนป่วยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เข้าวัดทำบุญ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าตัวเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน เมื่อยังไม่มีทุกข์หนักมากพอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนักถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม และวิบากกรรมชั่วที่เคยทำนั้นยังไม่มาถึง เขาเหล่านั้นจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท เข้าใจว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนทุกข์ และในเมื่อเขายังไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหาธรรมะขนาดนั้นก็ได้

ความคิดเหล่านี้คืออัตตาก้อนใหญ่ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แทนที่จะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เขากลับยึดเอาอัตตา คือยึดเอาความคิดตัวเองนี่แหละเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่ถึงเวลาอันสมควรกรรมจะพาให้เขาได้พบกับทุกข์ที่มากพอที่จะกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกเข็ดขยาดกับการสะสมบาป ทำลายทุกอย่างที่เขาเชื่อมั่นลงราบเป็นหน้ากลอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนคนทุกข์ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพึ่งพาที่วัดนั่นแหละ

เขาเหล่านี้มักมีความคิดเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ชั่วมาก และก็ไม่ได้ดีมาก เข้าใจว่าเป็นกลางๆ จึงใช้ชีวิตทำดี ทำชั่วปนกันไปสลับไปมา 3 วันดี 4 วันไข้ รับสุขรับทุกข์แบบนี้เรื่อยไป และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำดีทุกวันได้ เป็นการทำดีที่สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน สอดแทรกเข้าไปในความเห็นความเข้าใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

แต่ด้วยอัตตาที่เขาเหล่านั้นมี คือมีความรู้สึกว่าเข้าวัดทำบุญก็ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น และชีวิตที่ใช้อยู่นั้นก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจไปอย่างน่าเสียดาย

3.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองมียาดี

เป็นคนที่มีทุกข์มีสุขปะปนกันไปในชีวิตเหมือนกับคนป่วยที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่เขาเหล่านี้รู้ตัวว่ามียาดี คือมีครูบาอาจารย์ มีพระดี มีวัดดี มีคนดีคอยแนะนำอยู่ จึงมีความประมาทในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รอไว้ให้ทุกข์ รอไว้ให้แก่ จึงค่อยเข้าวัด จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมได้มาถึง ทุกข์มากมายได้โถมกระหน่ำเข้ามา ยาดีที่มีอยู่ ก็อาจจะหมดอายุ ครูบาอาจารย์ลาโลกนี้ไปหมดแล้ว แถมบางทียาดีที่คิดว่ามีอยู่ กลับกลายเป็นยาปลอมอีก ธรรมที่เคยศึกษามาทั้งชีวิตกลับเป็นธรรมะปลอมๆ ที่พาสะสม พาให้เสพกิเลส พาให้กลัว กังวล หลงในเรื่องโลก เป็นต้น

แม้จะมียาดี มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงอยู่ใกล้ แต่เมื่อทุกข์ เมื่อวิบากมาถึง อาจจะใช้ยานั้นไม่ทันก็ได้ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ การบรรลุธรรมแบบชั่วพริบตานั้นไม่มีทางเกิดได้ หากไม่เคยทำเหตุมา นั่นหมายถึงถ้าไม่เคยปฏิบัติมาจนบรรลุเรื่องนั้นๆมาในชาติก่อนภพก่อนแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ในวันสองวันในชาตินี้หรอก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนี้เหมือนทะเล ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ ไม่ลาดชันเหมือนเหว คือต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ จากหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดจากหยาบไปละเอียดได้เช่นบางคนปฏิบัติธรรมได้นิดเดียวก็จะไปนิพพานเลย กลายเป็นเอาหลังมาหน้า เอาหน้ามาหลัง กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นไปตามลำดับ รีบเร่ง โลภ ขี้เกียจ มักง่าย สุดท้ายก็หลงทางกันไป หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปเลยก็มี

ยังมีคนอีกพวกที่ถือยาผิด เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแก่นของพุทธ จึงไม่สนใจการทำบุญ ปฏิบัติธรรม พบปะครูบาอาจารย์ ฟังสัจธรรม คิดแค่ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว นั่นคือความหลงผิดอย่างยิ่ง เพราะว่าแก่นของพุทธนั้นคือวิมุตติ คือสภาพที่หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนึกเอา คาดคะเนเอา ไม่ใช่แค่การทำดี ไม่ทำชั่ว แต่เป็นเรื่องของการดับกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าธรรมวินัยนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้นการจะบอกว่ารู้แก่น เข้าใจแก่นของพุทธโดยไม่ได้ปฏิบัติจนถึงผลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

4.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองหายป่วย

คนอีกประเภทคือคนที่คิดว่าตนเองนั้นได้เจอหมอ ได้ยาดี ได้รับการเยียวยาทางจิตใจดีแล้ว ได้รับการอบรมสั่งสอนดีแล้ว หายป่วยแล้ว เมื่อกลับเข้ามาในสังคม ก็จะมีอาการติดดี ยึดดี ถือดี ยึดมั่นถือมั่นว่าทางที่ฉันเดินนั้นดี เราสามารถพบเจอคนเหล่านี้ได้ในหมู่นักปฏิบัติธรรมที่ช่ำชองการปฏิบัติธรรม เขาสามารถเข้าใจศัพท์ ภาษาบาลี ข้อธรรมต่างๆ สภาวธรรมเบื้องต้นได้

ตัวเขาเองนั้นมักจะไม่ได้แสดงอาการทุกข์ใจให้คนอื่นเห็นมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าไม่เป็นทุกข์หรือทุกข์น้อยแล้วก็เลยกดไว้ ปิดบังไว้ แต่มักจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นด้วยกฎระเบียบ แนวคิด ทิฏฐิที่ตัวเองได้เรียนรู้มา เช่น พระท่านว่ามาแบบนี้ ถ้าทำอย่างนั้นจะบาป ถ้าทำอย่างนี้จะบาป ถ้าทำแบบนั้นจะบุญ ต้องทำแบบที่ฉันทำนี่สิดี ได้บุญเยอะบรรลุธรรมง่ายกลายเป็นคนดีที่ชอบปราบคนไม่ดี ชอบปราบคนชั่ว ซึ่งก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง

ในสังคมทุกวันนี้จึงมีจอมยุทธ์นักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด เป็นจอมยุทธ์ที่ฟาดฟันกันด้วยอัตตามานะ ซึ่งสร้างจากความรู้ความเข้าใจที่ได้ร่ำเรียนมาในแต่ละสำนัก เชิดชูสำนักตัวเอง คอยทำลายสำนักอื่นๆ ล่าบริวาร ล่าลาภ ยศ สรรเสริญและมักสร้างกรอบว่าใครไม่คิดเหมือนฉันคนนั้นผิด ใครไม่ปฏิบัติเหมือนฉัน ฉันไม่คบคนนั้น ใครจะปฏิบัติได้ดีเหมือนฉันนั้นไม่มีสำนักไหนหรือใครจะปฏิบัติอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันมีแนวทางของฉันเอง ครูบาอาจารย์ฉันสอนมาแบบนี้ ใครอย่ามาเปลี่ยนฉันเสียให้ยาก ….ก็หลงมัวเมาในอัตตากันต่อไป

และบางคนก็ถึงกับหลงผิดว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมไปเลย เปิดสำนักหลอกลวงคนมาทำบุญ สุดท้ายเมาลาภ เมากาม เมาสรรเสริญ เมาอัตตา ยิ่งเสพยิ่งติด เมื่อต้องการเสพมากขึ้นก็มักจะไม่ระวังตัว พอเรื่องแตก กลายเป็นข่าวใหญ่ ก็วงแตกหนีกันแทบไม่ทัน เหล่าญาติโยมผู้หลงผิดบ้างก็ยังหลงมัวเมาไม่จบไม่สิ้น บ้างก็ตาสว่าง ก็แล้วแต่บาปบุญของใคร

คนที่หลงคิดไปเองว่าตัวเองหายป่วย หลงคิดไปเองว่ามีจิตใจที่ไม่ทุกข์ หรือหลงคิดไปเองว่าตัวเองบรรลุธรรม คนเหล่านี้แหละ คือคนที่ทำลายศาสนาอย่างแท้จริง เพราะตัวเองก็ไม่ได้รู้จริงเรื่องการฆ่ากิเลส แต่กลับมาสอนคนอื่น ซึ่งสอนไปก็สอนผิดๆ ทำให้คนหลงมัวเมา ทำให้คำสอนของศาสนาเพี้ยน คนปฏิบัติตามก็บรรลุธรรมแบบเพี้ยนๆตามกันไป แถมการไปสอนคนผิด และยังมีความคิดที่จะล่าบริวารเพื่อลาภยศเหล่านั้น ยังนำมาซึ่งวิบากกรรมหนัก เพราะแทนที่คนผู้มีทุกข์เหล่านั้นจะได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ตรง กลับต้องมาเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสติให้กับคนที่หลงคิดว่าตัวเองหายป่วย

วิธีสังเกตคนที่หลงว่าตัวเองบรรลุธรรมก็ลองไล่ถามดูว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุธรรมอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร กิเลสลดอย่างไร ในคนที่มีธรรมไม่จริงก็มักจะพูดวนๆ พูดเป็นข้อธรรม พูดเป็นหลักกำกวม ตีความได้หลากหลาย พอไล่เข้าหนักๆ จนเริ่มจนมุม ก็จะเริ่มโกรธ หรือทำเป็นโกรธ เปลี่ยนประเด็น ไล่ให้ไปทำเอง ให้ไปปฏิบัติมาก่อน ส่วนใหญ่ก็เก่งเพราะฟังเขามาซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วทำอย่างไร พอรู้ไม่จริงก็เลยตอบไม่ได้ ส่วนคนที่ปฏิบัติได้จริงเขาก็จะพูดได้เป็นลำดับ ชัดเจน ไม่เขิน ไม่ประหม่า ไม่โกรธ แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจ แต่ก็ยินดีที่จะพูด โดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เชิญให้มาพิสูจน์ได้

5.คนป่วยที่สามารถปรุงยารักษาตัวเองได้

เป็นคนที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงการดับทุกข์ และรู้วิธีการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ เป็นคนป่วยที่สามารถสร้างยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของตัวเองได้ ทำลายทุกข์ที่เกิดในตัวเองได้ ทำลายเหตุแห่งทุกข์หรือกิเลสของตัวเองได้

ทั้งนี้ก็เกิดจากเขาได้พบกับหมอ หรือครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องการดับทุกข์ คนที่รู้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสอนเรื่องการดับทุกข์ได้ ถ้าเราได้พบท่านเหล่านี้ ได้ฟังสัจธรรมจากท่าน จนเกิดศรัทธา จึงทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จนเกิดสติปัฏฐาน เจริญขึ้นสู่โพชฌงค์ นำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

…การตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าเราเองนั้นป่วย หรือหายป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ก็คือการตั้งศีล การตั้งศีลจะทำให้เราเห็นกิเลสหรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ชัดเจนขึ้น คนถือศีลเมื่อมีกิเลสขึ้นมาก็จะร้อนใจเปรียบเหมือนดังผีร้ายถูกด้ายสายสิญจน์ ยกตัวอย่างเช่น เราถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ยุงมากัด เราก็อยากจะตบ แต่ถือศีลจึงไม่ตบ หักห้ามใจไว้ แม้จะแค้นยุงโกรธยุง เจ็บปวดคันแค่ไหน จนสุดท้ายก็ถือศีลไปจนกระทั่งล้างความแค้นความอาฆาตยุงที่มากัด และเมตตายุงได้แม้ว่าจะถูกยุงรุมกัดอยู่ก็ตาม ศีลนี้เองคือตัวจับผี จับอาการป่วย จับกิเลส

ง่ายที่สุดก็ลองถือศีล ๕ แบบที่ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไปโกรธ ไม่โลก ไม่อยากเสพ ไม่อยากพูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ได้อย่างปกติสุข คือไม่ต้องคอยบังคับใจ ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบาย ถึงแม้จะปล่อยใจตามสบายก็ไม่ได้ผิดศีลแม้แต่น้อย ก็ลองขยับมาศีล ๘ ศีล๑๐ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นอาการป่วย หรืออาการของกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หรือจะลองปฏิบัติศีลอื่นๆดูก็ได้เช่น การกินมังสวิรัติ ก็จะทำให้เห็นทุกข์ที่อยากกินเนื้อชัดเจน หรือการกินจืด ก็จะเห็นทุกข์ที่อยากเสพรสอร่อยชัดเจน หรือลองกินมื้อเดียวดู ก็จะเห็นทุกข์ของผู้หิวโหยชัดเจนยิ่งขึ้น

ศีลที่พระพุทธเจ้าให้มาเหล่านี้ คือศีลที่พาปฏิบัติไปสู่การบรรลุธรรม ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล คนใดไม่มีศีลก็ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็เลยไม่ถือศีล และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “ ศีลยอดเยี่ยมในโลก(สีลัง โลเก อนุตตรัง) ” คนผู้มีปัญญาย่อมศรัทธาในศีล ย่อมเคารพในศีล คนหมู่ใดถือเอาคนมีศีลเท่าเทียมกับคนไม่มีศีล ท่านให้พรากออกจากคนเหล่านั้น

เมื่อไม่ถือศีลก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย บางครั้งถึงกับหลงผิดว่าบรรลุธรรมจึงไม่ถือศีล ถ้าหากมีบุญ ไม่หลงผิดไปมาก ก็ลองถือศีลยากๆสักข้อ ก็จะได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจน จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

เมื่อเราถือศีลแล้วทุกข์มาก ก็คือเรามีกิเลสมาก ป่วยมาก แต่ถ้าเราถือศีลแล้วเราทุกข์น้อย ก็ให้ขยับฐานศีลให้ยากขึ้นจนกว่าจะเจอทุกข์ สุดท้ายไม่ว่าจะถือศีลอย่างไรก็ไม่เจอทุกข์เลย นั่นแหละคือเราหายป่วยแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,696 views 0

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม ดีไม่ดียังมีอาการเมาบุญเข้าไปอีก ทำให้หลายคนเกิดความลังเลสงสัย หรือแม้กระทั่งเสื่อมศรัทธาในศาสนา

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนที่เข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่นั้น เป็นคนที่หาที่พึ่งทางจิตใจ เพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นอ่อนแอ เปราะบาง สับสน วิตก กังวล สงสัย ไม่เข้าใจ วัดจึงเหมือนเป็นศูนย์รวมคนป่วยทางจิตใจและผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปรวมกันมากมาย ทีนี้กุญแจของเรื่องนี้ก็คือ พระสามารถเป็นหมอที่จะรักษาจิตใจหรือให้ปัญญาแก่ผู้แสวงหาทางเดินของชีวิตได้หรือไม่ สามารถสอนให้คนเป็นคนดีได้หรือไม่

ถ้าพระของวัดนั้นๆ สอนแค่เรื่องทำบุญทำทาน ไม่สอนลดกิเลส คนที่ไปก็อาจจะกลายเป็นเมาบุญ แย่งกันทำบุญ เพราะกลัวตัวเองจะต้องตกนรก กลายเป็นดงผีเปรตโลภเสพบุญกันในวัดนั้นแหละ

มันไม่ผิดเลยถ้าพระที่วัดนั้นๆจะสอนธรรมแค่ระดับการทำทาน ถือศีลหรือทำสมถะในแบบทั่วไป นั่นเพราะท่านก็อาจจะเข้าใจแค่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พระก็คือคนธรรมดาที่ห่มผ้าเหลืองไปเรียนรู้ธรรมนั่นแหละ ส่วนท่านจะมีความรู้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ความเพียรของท่าน ปัญญาที่ท่านมีไม่ได้มีเพราะผ้าเหลือง แต่มีเพราะความเพียรในการศึกษาเรื่องทางธรรมของท่าน แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาและความรู้นั้น เป็นความรู้ที่สามารถพาลดกิเลส หรือทำได้แค่เยียวยาทุกข์ หรือจะกลายเป็นพาสะสมกิเลส ดังเช่นพระที่ใช้เดรัจฉานวิชาในทุกวันนี้

ดังจะเห็นได้ตามที่กล่าวมา อย่าว่าแต่คนไปวัดเลย พระในวัดก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะสอนให้คนพ้นทุกข์ ทีนี้คนทุกข์กับคนทุกข์มาอยู่ด้วยกันมันก็ทุกข์ไปด้วยกันนั่นแหละ มีแต่จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง พระก็มีทุกข์มีกิเลสของพระ โยมก็มีทุกข์มีกิเลสของโยม ในเมื่อล้างกิเลสกันไม่เป็น ก็เลยพากันเสพกิเลสเพื่อจะได้เสพสุขพักหนึ่งเท่านั้น

การปฏิบัติสมถะทั้งหลาย คือการพานั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น หากได้ศึกษาและเรียนรู้ขอบเขตของการทำสมถะจะพบว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการทำจิตให้นิ่ง กดข่มจิต ดับความคิด การทำสมถะนี้ ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมใดๆได้ ไม่สามารถทำให้ลดกิเลสได้

สามารถลองดูด้วยตัวเองก็ได้ เช่น วางขนมอร่อยๆที่ชอบไว้ตรงหน้า ทีนี้นั่งสมาธิเข้าภวังค์ไปเลย 1 ชั่วโมง 1 วัน 3 วัน 7 วัน แล้วออกมากิน ถามว่า ความอร่อยนั้นจะลดลงไหม? ความสุขจากเสพลดลงไหม? ไม่ลดลงหรอก เพราะความอร่อยถูกสร้างจากวิญญาณที่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลส มันก็ยังรู้สึกอร่อยเหมือนเดิมนั่นแหละ

การทำสมถะคือการดับความคิด ดับจิต ถ้าเก่งมากก็ดับสัญญา คือดับความจำได้หมายรู้กันไปเลย แต่ไม่ได้ดับกิเลสนะ ศาสนาพุทธสอนให้ดับกิเลส ไม่ได้ดับความคิด ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ ไม่ตื่น ผู้เฉยๆ

รู้ในที่นี้ คือรู้แจ้งเรื่องกิเลส ตื่นตัวไม่หลับใหลเมามายในอวิชชาหรือความโง่ที่พาให้หลงไปในกิเลส ผู้เบิกบานนั้นเกิดจากความปล่อยวางความเศร้ามองที่เกิดจากกิเลสในใจ

การปฏิบัติแบบพุทธต้องมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะปฏิบัติกันไปผิดๆ จึงได้ผลแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากคนเข้าวัดทำบุญมากมาย แต่นิสัยแย่ ขอลาไปปฏิบัติธรรม 7 วัน กลับมายังเอาเปรียบยังนินทาคนอื่นเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขาปฏิบัติมาผิดทาง สอนกันผิดทาง หรืออาจจะสอนถูก แต่คนผู้นั้นมีบาปมาก ไม่ตั้งใจเรียนก็อาจจะทำให้ฟังมาผิดๆ

ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว มีคนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ตั้งนาน แต่ก็กลับไปแบบไม่ได้อะไร ขนาดมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลให้สัจจะอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาใดๆได้ เหตุการณ์ดังนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น การไปเข้าวัดทำบุญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นคนดีได้เลย ดังจะเห็นตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้ คนที่เขาทำไม่ดี ทำชั่ว เขาก็ไปวัดทำบุญเหมือนกันกับเราใช่ไหม แต่ทำไมเขาก็ยังไม่หยุดทำชั่ว ไม่หยุดทำเลว ยังโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวงอยู่เลย

แก่นแท้ของการไปเข้าวัดทำบุญก็คือไปพบปะครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนสั่งเราไปในทางที่ลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นได้ สามารถสอนให้เราล้างกิเลสได้ โดยสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างละเอียดพิสดาร เข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ซับซ้อน เราก็ไปพบท่าน ฟังสัจธรรมจากท่าน แล้วนำมาปฏิบัติจนเกิดผล คือกิเลสเราลดได้จริง นั่นแหละทางถูกที่ควร

แต่ถ้าใครไปวัดทำบุญ เพียงแค่ทำบุญ ใส่บาตร ฝึกสมถะ ก็เหมือนไปเอาแต่เปลือก แต่สะเก็ด เอาแต่ใบ เอาคุณค่าแค่บางส่วน ไม่ได้เอาแก่น เหมือนคนเข้าป่าไปหวังจะเอาแก่นไม้ แต่ก็เด็ดใบไม้กลับบ้านไป แล้วหลงเข้าใจว่าใบไม้นั้นเป็นแก่น แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร….

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์