Tag: สอนธรรม

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,696 views 0

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม ดีไม่ดียังมีอาการเมาบุญเข้าไปอีก ทำให้หลายคนเกิดความลังเลสงสัย หรือแม้กระทั่งเสื่อมศรัทธาในศาสนา

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนที่เข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่นั้น เป็นคนที่หาที่พึ่งทางจิตใจ เพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นอ่อนแอ เปราะบาง สับสน วิตก กังวล สงสัย ไม่เข้าใจ วัดจึงเหมือนเป็นศูนย์รวมคนป่วยทางจิตใจและผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปรวมกันมากมาย ทีนี้กุญแจของเรื่องนี้ก็คือ พระสามารถเป็นหมอที่จะรักษาจิตใจหรือให้ปัญญาแก่ผู้แสวงหาทางเดินของชีวิตได้หรือไม่ สามารถสอนให้คนเป็นคนดีได้หรือไม่

ถ้าพระของวัดนั้นๆ สอนแค่เรื่องทำบุญทำทาน ไม่สอนลดกิเลส คนที่ไปก็อาจจะกลายเป็นเมาบุญ แย่งกันทำบุญ เพราะกลัวตัวเองจะต้องตกนรก กลายเป็นดงผีเปรตโลภเสพบุญกันในวัดนั้นแหละ

มันไม่ผิดเลยถ้าพระที่วัดนั้นๆจะสอนธรรมแค่ระดับการทำทาน ถือศีลหรือทำสมถะในแบบทั่วไป นั่นเพราะท่านก็อาจจะเข้าใจแค่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พระก็คือคนธรรมดาที่ห่มผ้าเหลืองไปเรียนรู้ธรรมนั่นแหละ ส่วนท่านจะมีความรู้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ความเพียรของท่าน ปัญญาที่ท่านมีไม่ได้มีเพราะผ้าเหลือง แต่มีเพราะความเพียรในการศึกษาเรื่องทางธรรมของท่าน แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาและความรู้นั้น เป็นความรู้ที่สามารถพาลดกิเลส หรือทำได้แค่เยียวยาทุกข์ หรือจะกลายเป็นพาสะสมกิเลส ดังเช่นพระที่ใช้เดรัจฉานวิชาในทุกวันนี้

ดังจะเห็นได้ตามที่กล่าวมา อย่าว่าแต่คนไปวัดเลย พระในวัดก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะสอนให้คนพ้นทุกข์ ทีนี้คนทุกข์กับคนทุกข์มาอยู่ด้วยกันมันก็ทุกข์ไปด้วยกันนั่นแหละ มีแต่จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง พระก็มีทุกข์มีกิเลสของพระ โยมก็มีทุกข์มีกิเลสของโยม ในเมื่อล้างกิเลสกันไม่เป็น ก็เลยพากันเสพกิเลสเพื่อจะได้เสพสุขพักหนึ่งเท่านั้น

การปฏิบัติสมถะทั้งหลาย คือการพานั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น หากได้ศึกษาและเรียนรู้ขอบเขตของการทำสมถะจะพบว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการทำจิตให้นิ่ง กดข่มจิต ดับความคิด การทำสมถะนี้ ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมใดๆได้ ไม่สามารถทำให้ลดกิเลสได้

สามารถลองดูด้วยตัวเองก็ได้ เช่น วางขนมอร่อยๆที่ชอบไว้ตรงหน้า ทีนี้นั่งสมาธิเข้าภวังค์ไปเลย 1 ชั่วโมง 1 วัน 3 วัน 7 วัน แล้วออกมากิน ถามว่า ความอร่อยนั้นจะลดลงไหม? ความสุขจากเสพลดลงไหม? ไม่ลดลงหรอก เพราะความอร่อยถูกสร้างจากวิญญาณที่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลส มันก็ยังรู้สึกอร่อยเหมือนเดิมนั่นแหละ

การทำสมถะคือการดับความคิด ดับจิต ถ้าเก่งมากก็ดับสัญญา คือดับความจำได้หมายรู้กันไปเลย แต่ไม่ได้ดับกิเลสนะ ศาสนาพุทธสอนให้ดับกิเลส ไม่ได้ดับความคิด ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ ไม่ตื่น ผู้เฉยๆ

รู้ในที่นี้ คือรู้แจ้งเรื่องกิเลส ตื่นตัวไม่หลับใหลเมามายในอวิชชาหรือความโง่ที่พาให้หลงไปในกิเลส ผู้เบิกบานนั้นเกิดจากความปล่อยวางความเศร้ามองที่เกิดจากกิเลสในใจ

การปฏิบัติแบบพุทธต้องมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะปฏิบัติกันไปผิดๆ จึงได้ผลแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากคนเข้าวัดทำบุญมากมาย แต่นิสัยแย่ ขอลาไปปฏิบัติธรรม 7 วัน กลับมายังเอาเปรียบยังนินทาคนอื่นเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขาปฏิบัติมาผิดทาง สอนกันผิดทาง หรืออาจจะสอนถูก แต่คนผู้นั้นมีบาปมาก ไม่ตั้งใจเรียนก็อาจจะทำให้ฟังมาผิดๆ

ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว มีคนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ตั้งนาน แต่ก็กลับไปแบบไม่ได้อะไร ขนาดมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลให้สัจจะอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาใดๆได้ เหตุการณ์ดังนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น การไปเข้าวัดทำบุญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นคนดีได้เลย ดังจะเห็นตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้ คนที่เขาทำไม่ดี ทำชั่ว เขาก็ไปวัดทำบุญเหมือนกันกับเราใช่ไหม แต่ทำไมเขาก็ยังไม่หยุดทำชั่ว ไม่หยุดทำเลว ยังโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวงอยู่เลย

แก่นแท้ของการไปเข้าวัดทำบุญก็คือไปพบปะครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนสั่งเราไปในทางที่ลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นได้ สามารถสอนให้เราล้างกิเลสได้ โดยสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างละเอียดพิสดาร เข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ซับซ้อน เราก็ไปพบท่าน ฟังสัจธรรมจากท่าน แล้วนำมาปฏิบัติจนเกิดผล คือกิเลสเราลดได้จริง นั่นแหละทางถูกที่ควร

แต่ถ้าใครไปวัดทำบุญ เพียงแค่ทำบุญ ใส่บาตร ฝึกสมถะ ก็เหมือนไปเอาแต่เปลือก แต่สะเก็ด เอาแต่ใบ เอาคุณค่าแค่บางส่วน ไม่ได้เอาแก่น เหมือนคนเข้าป่าไปหวังจะเอาแก่นไม้ แต่ก็เด็ดใบไม้กลับบ้านไป แล้วหลงเข้าใจว่าใบไม้นั้นเป็นแก่น แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร….

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทางขึ้นภูเขามีหลายทาง

June 27, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,390 views 0

เป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น บางครั้งการได้ยินได้ฟังมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจได้หมดเสมอไป เพราะการฟังหรือการได้ยินมาเป็นเพียงการรับรู้ แต่ไม่ใช่ประสบการณ์

ผมเคยได้ยินได้ฟังคำพูดประมาณว่า เส้นทางประสบความสำเร็จในชีวิตมันมีหลายทาง แตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน ผู้นำทางสู่ความสำเร็จก็นำทางต่างกันแล้วแต่ใครจะชอบเดินทางแบบไหน

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะอาจจะเดินมาผิดทาง อาจจะหลงทาง อาจจะติดทางตัน ดังนั้นผู้นำทางในชีวิตจึงมีผลอย่างมากกับการประสบกับความสำเร็จ ปัญหาคือทุกวันนี้เรามีผู้นำทาง หรือการคบบัณฑิต (มงคล ๓๘) หรือยัง ในมุมมองของผมนั้นการประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม จะไปด้วยกัน มันต้องสมดุลกันคืออยู่ตรงกลางไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง จึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ

ทางขึ้นภูเขามีหลายทาง…

มาถึงเรื่องราวในตอนนี้ เป็นเรื่องของการขึ้นภูเขาลูกหนึ่ง ที่ชื่อว่า เขาฝาชี ซึ่งเมื่อต้นปี 56 ผมได้ขึ้นไปมาแล้วรอบหนึ่ง ช่วงนั้นอยู่ในช่วงหน้าหนาว ไม้ยังผลัดใบอยู่ ทุกอย่างดูจะแห้งแล้งมองเห็นอะไรได้ง่ายๆ ไม่ได้ขึ้นยากอะไรมากมาย

ในตอนที่ขึ้นครั้งล่าสุดนี้ผมคิดไว้แล้วว่ามันต้องรกขึ้นแน่นอน เนื่องจากครั้งนี้คือการขึ้นเขาในหน้าฝน มันคงจะลื่นและชื้นขึ้นมากทีเดียว ผมและเพื่อนเดินมาเจอทางที่ดูเหมือนทางขึ้นเขาที่ดูรกทึบ ดูๆแล้วมันรกกว่าเดิมมาก แต่ก็ตัดสินใจขึ้นไปทางนั้นเพราะคิดว่าเป็นทางเดิม แต่เมื่อขึ้นไปเรื่อยกลับพบว่ายิ่งลื่นและชัน เป็นภูเขาที่มีดินคลุม ทำให้การขึ้นยากมาก ซึ่งต้องใช้โคนต้นไม้เป็นที่ค้ำยัน เพราะยืนปกติไม่ได้ มันชันมากๆ ต้องเกาะต้นไม้ไปตลอดเส้นทาง ไหลลงมาบ้าง ค่อนข้างน่ากลัว เพราะถ้าพลาดไหลลื่นลงไปโอกาสบาดเจ็บหรือตายก็มีเหมือนกัน

เราขึ้นมาได้เกือบครึ่งทางและพบว่ามันผิดทาง แต่ก็ไม่สามารถลงไปทางเดิมได้แล้ว เพราะที่ขึ้นมามันชันมากๆ ลงไปต้องอันตรายแน่ ก็เลยเสี่ยงอันตรายปีนขึ้นไปต่อให้ถึงยอดเขา เพื่อที่จะได้เดินลัดเลาะยอดเขาไปซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเดินได้ไหม รู้แค่กลับไปทางเดิมไม่ได้แน่ๆ

ทุกก้าวที่ปีนขึ้นไปเต็มไปด้วยความเสี่ยง เสี่ยงที่จะไหลลงไป เสี่ยงที่ต้นไม้ที่เกาะจะหัก หินที่เหยียบแล้วอาจจะหล่นลงไปพร้อมหิน จำเป็นต้องมีสมาธิสูงมากๆ ในการขึ้นเขาครั้งนี้ สุดท้ายก็มาถึงยอดและพบว่ามันผิดลูกจริงๆ โชคยังดีที่สามารถเดินลัดเลาะยอดเขาไปยังเขาลูกเป้าหมายได้

ไม่น่าเชื่อแม้แต่การขึ้นเขาผิดลูกก็สอนธรรมได้…

ทำให้ผมกลับมามองย้อนไปในชีวิตว่า บางทีการไปถึงเป้าหมาย ถ้าเราไปถูกทางมันก็ง่ายและเสี่ยงน้อยกว่า มีทางมากมายให้ขึ้นเขาแห่งชีวิต เราจะเปิดทางใหม่ที่มันยุ่งยากหรือเดินไปในทางที่มีผู้คนมากมายไปถึงยอดแล้ว สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่การเลือกของเรา ผมได้พูดประโยคหนึ่งออกมาตอนไปถึงยอดเขาลูกเป้าหมาย “ทางขึ้นเขามันมีหลายทาง แต่ถ้าฉลาดก็จะมาทางง่าย แต่ถ้าไม่ ก็ไปทางยากๆให้มันลำบากเล่นๆไป

ปัจจัยของเรื่องนี้มันอยู่ที่ “เวลา” หากเรามีเวลามากมาย เราอาจจะสามารถใช้เวลาอันมากมายเหล่านั้นหาทางขึ้นเขาได้หลากหลายเหลี่ยมมุมตามที่เราต้องการ แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะมีเวลาเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเวลาจะหมดเมื่อไหร่ การหาผู้นำทางที่ดี ก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ถ้าหากใครต้องการขึ้นเขาด้วยตัวเองเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองก็ตามสะดวก แต่ก็อย่าลืมไปว่าเป้าหมายของชีวิตนี้คืออะไร การมีความสุขระหว่างทางก็ดี สุขเมื่อถึงก็ดี ก็ขอให้เป็นการเดินทางที่มีแต่ความเบิกบานใจแล้วกันนะครับ

สวัสดี