Tag: ฉลาด

คนพาลที่ฝังตัวอยู่ในหมู่คนดี

February 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 550 views 0

เรื่องนี้ก็เคยมีมาก่อน สมัยพุทธกาล คนพาลระดับตำนาน คือพระเทวทัตผู้มักใหญ่ใฝ่สูง แข่งกับพระพุทธเจ้ามาตลอด ปองร้ายพระพุทธเจ้ามาตลอด ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนา

ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักความเป็นพาลของพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นฉลาด รอบรู้ในการล่อลวง แสร้งทำ จนครั้งหนึ่งเคยล่อลวงพระที่บวชใหม่ให้เข้าไปศึกษาในสำนักตนเองได้ถึง 500 คน

พระเทวทัตก็ใช้องค์ประกอบของศาสนาที่มีอยู่นั่นแหละ ดัดนิด แปลงหน่อย ให้ดูน่าเชื่อถือ ให้ดูน่าเคารพ แล้วก็ล่อลวงคนให้หลงตาม

พระที่บวชใหม่ก็ยังไม่รู้วินัย ยังไม่รู้ทิศทาง ก็โดนโน้มน้าวได้ง่าย สุดท้ายก็หลงตามไป ทั้ง ๆ ที่บารมีของทั้ง 500 คนนั้น อยู่ในระดับฟังธรรมแล้ว เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี สภาวะเช่นนี้ก็คือบรรลุอรหันต์นั่นแหละ นี่ขนาดคนมีภูมิอรหันต์ยังโดนพระเทวทัตล่อลวงได้เลย ท่านมีวิบากที่เคยทำชั่วร่วมกันมา ท่านก็ต้องรับ

คนที่สอนและพากลับมาให้ถูกทางคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ไปพากลับมาด้วยการสอนธรรมจนเข้าใจ เพราะพระเทวทัตนั้นประมาท หลงตนเองว่าอัครสาวกทั้งสองมาเพราะศรัทธาในตน จึงหลีกไปนอนพัก ปล่อยให้สมณะทั้งสองเทศสอนคนไป สุดท้ายตื่นมาพบว่าทั้ง 500 ที่ได้ล่อลวงมาถูกพากลับไปหมดแล้ว ถึงกลับกระอักเลือด

….

แม้สมัยก่อนก็ยังร้ายขนาดนี้ สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึง แทรกซึมเข้ามาแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย เกาะอยู่ ทนอยู่ เหมือนมะเร็งในร่างกายนั่นแหละ ฝังอยู่ เป็นเนื้ออยู่ แต่ก็เป็นพิษภัยต่อร่างกาย ทำให้ตายได้

ความจริงทุกวันนี้ภาพใหญ่ในสังคมมันก็เกิดเป็นสภาพของพระเทวทัตอยู่แล้ว สำนักมากมายสอนกันไปตามที่ตนชอบใจ ล่าทรัพย์ ล่าบริวาร ล่าอำนาจ ส่วนใหญ่ก็แตกเป็นแบบนี้ทั้งนั้น

มันจะมีแทรกปนอยู่ทุกระยะ ตั้งแต่ภาพใหญ่ จนมาถึงภาพย่อย คือเข้ากลุ่มมาเพื่อแสวงหาอำนาจ มักใหญ่ ใฝ่สูง อวดดี ฯลฯ

แต่คนพาลพวกนี้เขาจะฉลาด เขาจะไม่แสดงความพาลตรง ๆ เขาจะทำดีไปตามขั้นพื้นฐาน ดีที่คนโลก ๆ ทั่วไปเขาจะขยันทำได้ แต่ดีที่เหนือดีนี่เขาจะไม่เอา คือเขาจะทำดีแบบไม่ลดกิเลส หมายถึงทำดีไปเพื่อแลกอำนาจ ทำดีไปก็เสพความเอาแต่ใจ ได้ดั่งใจ กินอร่อย ๆ สร้างอำนาจ วาสนา บารมี อยู่ในนั้นนั่นแหละ แต่จะให้ลดกิเลส ลดกาม ลดอัตตา เขาจะไม่เอาด้วย

เขาก็รอเวลาที่จะมีโอกาสเติบโต ถ้ามีโอกาสเดี๋ยวเขาก็จะขยับ เช่นพระเทวทัตก็ไม่ได้ออกลายตั้งแต่แรก ก็ใช้เวลาสะสมประสบการณ์ ทำดีสอดใส้ชั่วมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งตายนั่นแหละ

ความมักใหญ่ใฝ่สูงจนล้นทะลักคือจุดเด่นอันหนึ่งของคนพาล ก็รู้กันว่าพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะคืออัครสาวก คือสาวกที่เลิศยอด แต่เมื่อพระเทวทัตเห็นท่านทั้งสองมาในสำนักตน ก็เกิดจิตลามก ว่าท่านทั้งสองศรัทธาตน พร้อมกับบอกคนอื่นว่า นี่ไงท่านเหล่านั้นมาเพราะศรัทธาในธรรมของเรา

นี่เห็นไหมว่าจิตลามกเป็นอย่างไร มันจะไม่รู้ฐานะแบบนี้แหละ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าใครใหญ่ใครเล็ก เพราะคิดแต่ล่าบริวาร ล่าโลกธรรม แค่เห็นเขาเดินเข้ามาใจมันก็ลำพอง จิตมันก็เลยประมาท พอไม่รู้ว่าใครเป็นใครก็เลยประมาทอย่างนี้ สำคัญตนผิด ดูถูกผู้อื่น ยกตนข่มผู้อื่น คือจุดเด่นของคนมักใหญ่ใฝ่สูง

คนพาลพวกนี้มีแทรกอยู่ในทุกกลุ่มทุกองค์กรนั่นแหละ เป็นเชื้อมะเร็งร้าย คอยกัดกินทำลายร่างกาย แล้วก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ หรือตรวจกันได้ง่าย ๆ ยิ่งถ้าภูมิธรรมน้อย ๆ เข้ามาศึกษาใหม่ ๆ หรือคนที่ทำดีอย่างไม่เน้นธรรมะ หรือแม้แต่คนที่อยู่มานานแต่ไม่มีมรรคผล ก็จะดูไม่ออก

มันต้องใช้ตาทิพย์ คือตาของผู้ที่ล้างกิเลสได้โดยลำดับ พอล้างกิเลสเรื่องใดได้ มันจะได้ตาพิเศษในเรื่องนั้น อย่างอัครสาวกนี่ก็ล้างกิเลสได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว และยังละเอียดละออเป็นพิเศษด้วย ก็เลยเห็นความพาลชัดเจน จนเอาภาระ ไปพาพระบวชใหม่กลับมา

องค์กรใหนไม่มีคนที่เอาภาระอย่างพระสารีบุตรหรือพระโมคคัลลานะ ก็จะต้องเสียคนดีไปเรื่อย ๆ ก็ปล่อยคนพาลเสพสะสมพลังชั่วไปเรื่อย ๆ ทำลายจิตวิญญาณไปเรื่อย ๆ ถ้ามีอำนาจแล้วไม่แก้ไขนี่จะเป็นบาป อย่างพระโมคคัลลานะก็เคยดึงพระทุศีลออกจากองค์ประชุม อันนั้นท่านทำได้ถูกต้องตามฐานะ เป็นพระบวชใหม่ แม้จะมีภูมิสูง แม้จะรู้ ก็ไม่เหมาะที่จะทำ เพราะไม่เหมาะสมกับฐานะ ต้องให้รุ่นพี่ลุยก่อน ถ้าไม่มีคนทำจริง ๆ ถึงจะทำได้

อะไรที่มันชั่วช้า เบียดเบียน พาตกต่ำชัด ๆ เช่นถ้าผิดศีลชัด ๆ แล้วเนี่ย ก็คงต้องจัดการกัน จะปล่อยให้คนพาลอยู่สะสมอำนาจไปนาน ๆ มันจะปราบยาก พระพุทธเจ้าเปรียบคนทุศีลเหมือนหยากเยื่อ คือมันเหนียว แน่น หนึบ สกปรก รุงรัง เลอะเทอะไปหมด เอาออกไม่ได้ง่าย ๆ คนพาลที่มาฝังอยู่ก็เหมือนกัน ถ้าไปให้อาหารเขา ก็เหมือนคนเป็นมะเร็งแล้วไม่หยุดกินอาหารเสริมกำลังมะเร็ง มะเร็งมันก็จะโต เจ็บปวด เบียดเบียนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นมะเร็งแล้วหยุดให้อาหารมะเร็ง ทำตรงกันข้าม ก็จะพอทุเลาไปได้บ้าง แต่ถ้ามะเร็งนั้นมันใหญ่จนเบียดเบียนร่างกาย ก็อาจจะจำเป็นต้องตัดทิ้งเสีย แม้จะเสียหายบ้าง แต่ก็เจ็บปวดน้อยที่สุด

ความฉลาดที่จะกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีเหตุมีผล

December 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,253 views 0

ฉลาดเฉโก คือ กิเลสฉลาด

ไม่ใช่ปัญญาที่พาพ้นทุกข์ แต่เป็นความฉลาดของกิเลสที่พาให้เป็นทุกข์ด้วยการหาช่องในการเสพสิ่งที่ไร้สาระ

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนเพราะกินเนื้อสัตว์ เป็นปัญญาระดับพื้่นๆ คนทั่วไปก็สามารถรู้ได้เข้าใจได้ ว่าการที่เรายังกินเนื้อสัตว์อยู่จะไปมีส่วนในการเบียดเบียน

ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความตื้นระดับนี้ ก็อย่าหวังจะมีปัญญาในระดับลึกเลย พระอริยะก็เป็นหวังเลย พระอรหันต์ยิ่งไม่ต้องหวังเลย เพราะนี้มันปัญญาระดับที่คนดีทั่วไปยังเข้าใจได้เท่านั้นเอง ถ้ายังเข้าใจไม่ได้แล้วจะหวังให้ตนเองมีปัญญาสูงกว่านั้นได้อย่างไร

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนกันด้วยการฆ่านี้เป็นเรื่องหยาบ การปฏิบัติธรรมของพุทธต้องเป็นไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆโผล่มาเป็นพระอรหันต์เลย มันต้องละอบายมุขให้ได้ก่อน ศีล ๕ ให้ได้ก่อน การเบียดเบียนตื้นๆเช่นนี้เอาออกให้ได้ก่อน

ไม่ใช่จะมาตีกินว่าฉันบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว หาช่องให้ตัวเองเสพ อันนั้นมันเฉโก กิเลสมันฉลาด มันไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อการเบียดเบียน ไม่มีหิริโอตตัปปะ ธรรมะมันจะขัดกันวุ่นวายไปหมด มีแต่วาทะว่าฉันนี้เลิศ แต่ไม่ลดการเบียดเบียน

สรุปไว้ก่อนเลยว่า ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็อย่าเฉโกว่าตัวเองมีปัญญามากกว่านั้นเลย ที่ยากกว่านั้นยังมีอีกเยอะ

เดี๋ยวคนเขาจะเข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาเทวดา ที่สามารถเบียดเบียนผู้อื่นได้โดยไม่มีผลกรรมอะไรที่ต้องรับผิดชอบ มันจะพาโง่ พามิจฉาทิฏฐิวุ่ยวายกันไปหมด มันจะแก้ยาก

พระไตรปิฏกมีหลักฐานไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้เจริญในทางพุทธศาสนา ตัวเองก็ต้องไม่ฆ่า และไม่ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังต้องสรรเสริญคุณของการไม่ฆ่านั้นอีก (เล่ม 19 ข้อ 1459)

ถ้าตัวเองยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ มันก็คือการทำให้คนเข้าใจว่าการให้กันด้วยเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นดี มันก็ผิดหลักปฏิบัติทั้งยังขัดกับความรู้สึกของผู้ไม่เบียดเบียนอยู่เนืองๆ

แต่ก็เอาเถอะ… คนปฏิบัติแบบมิจฉา ก็ย่อมได้มิจฉาผลเป็นธรรมดา การที่เขาเหล่านั้นจะไม่มีหิริโอตตัปปะย่อมเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน

คนที่ไม่ยึดติดจะโอนอ่อนไปสู่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เบียดเบียน แต่คนที่ยึดติด กิเลสจะพาเฉโกให้ไปทางเบียดเบียน จะเถียงกิน ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้กิน แม้จะกล่าวตู่ว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ก็ยังกล่าวได้โดยไม่ละอายใจใดๆ เพราะไม่ได้ศึกษามานั่นเอง

สรุปสุดท้ายไว้ว่า สาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนพวกที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่โดยไม่รู้สึกผิดนั้น ก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา… (เล่ม 25 ข้อ 29)

ทางขึ้นภูเขามีหลายทาง

June 27, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,404 views 0

เป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น บางครั้งการได้ยินได้ฟังมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจได้หมดเสมอไป เพราะการฟังหรือการได้ยินมาเป็นเพียงการรับรู้ แต่ไม่ใช่ประสบการณ์

ผมเคยได้ยินได้ฟังคำพูดประมาณว่า เส้นทางประสบความสำเร็จในชีวิตมันมีหลายทาง แตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน ผู้นำทางสู่ความสำเร็จก็นำทางต่างกันแล้วแต่ใครจะชอบเดินทางแบบไหน

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะอาจจะเดินมาผิดทาง อาจจะหลงทาง อาจจะติดทางตัน ดังนั้นผู้นำทางในชีวิตจึงมีผลอย่างมากกับการประสบกับความสำเร็จ ปัญหาคือทุกวันนี้เรามีผู้นำทาง หรือการคบบัณฑิต (มงคล ๓๘) หรือยัง ในมุมมองของผมนั้นการประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม จะไปด้วยกัน มันต้องสมดุลกันคืออยู่ตรงกลางไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง จึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ

ทางขึ้นภูเขามีหลายทาง…

มาถึงเรื่องราวในตอนนี้ เป็นเรื่องของการขึ้นภูเขาลูกหนึ่ง ที่ชื่อว่า เขาฝาชี ซึ่งเมื่อต้นปี 56 ผมได้ขึ้นไปมาแล้วรอบหนึ่ง ช่วงนั้นอยู่ในช่วงหน้าหนาว ไม้ยังผลัดใบอยู่ ทุกอย่างดูจะแห้งแล้งมองเห็นอะไรได้ง่ายๆ ไม่ได้ขึ้นยากอะไรมากมาย

ในตอนที่ขึ้นครั้งล่าสุดนี้ผมคิดไว้แล้วว่ามันต้องรกขึ้นแน่นอน เนื่องจากครั้งนี้คือการขึ้นเขาในหน้าฝน มันคงจะลื่นและชื้นขึ้นมากทีเดียว ผมและเพื่อนเดินมาเจอทางที่ดูเหมือนทางขึ้นเขาที่ดูรกทึบ ดูๆแล้วมันรกกว่าเดิมมาก แต่ก็ตัดสินใจขึ้นไปทางนั้นเพราะคิดว่าเป็นทางเดิม แต่เมื่อขึ้นไปเรื่อยกลับพบว่ายิ่งลื่นและชัน เป็นภูเขาที่มีดินคลุม ทำให้การขึ้นยากมาก ซึ่งต้องใช้โคนต้นไม้เป็นที่ค้ำยัน เพราะยืนปกติไม่ได้ มันชันมากๆ ต้องเกาะต้นไม้ไปตลอดเส้นทาง ไหลลงมาบ้าง ค่อนข้างน่ากลัว เพราะถ้าพลาดไหลลื่นลงไปโอกาสบาดเจ็บหรือตายก็มีเหมือนกัน

เราขึ้นมาได้เกือบครึ่งทางและพบว่ามันผิดทาง แต่ก็ไม่สามารถลงไปทางเดิมได้แล้ว เพราะที่ขึ้นมามันชันมากๆ ลงไปต้องอันตรายแน่ ก็เลยเสี่ยงอันตรายปีนขึ้นไปต่อให้ถึงยอดเขา เพื่อที่จะได้เดินลัดเลาะยอดเขาไปซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเดินได้ไหม รู้แค่กลับไปทางเดิมไม่ได้แน่ๆ

ทุกก้าวที่ปีนขึ้นไปเต็มไปด้วยความเสี่ยง เสี่ยงที่จะไหลลงไป เสี่ยงที่ต้นไม้ที่เกาะจะหัก หินที่เหยียบแล้วอาจจะหล่นลงไปพร้อมหิน จำเป็นต้องมีสมาธิสูงมากๆ ในการขึ้นเขาครั้งนี้ สุดท้ายก็มาถึงยอดและพบว่ามันผิดลูกจริงๆ โชคยังดีที่สามารถเดินลัดเลาะยอดเขาไปยังเขาลูกเป้าหมายได้

ไม่น่าเชื่อแม้แต่การขึ้นเขาผิดลูกก็สอนธรรมได้…

ทำให้ผมกลับมามองย้อนไปในชีวิตว่า บางทีการไปถึงเป้าหมาย ถ้าเราไปถูกทางมันก็ง่ายและเสี่ยงน้อยกว่า มีทางมากมายให้ขึ้นเขาแห่งชีวิต เราจะเปิดทางใหม่ที่มันยุ่งยากหรือเดินไปในทางที่มีผู้คนมากมายไปถึงยอดแล้ว สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่การเลือกของเรา ผมได้พูดประโยคหนึ่งออกมาตอนไปถึงยอดเขาลูกเป้าหมาย “ทางขึ้นเขามันมีหลายทาง แต่ถ้าฉลาดก็จะมาทางง่าย แต่ถ้าไม่ ก็ไปทางยากๆให้มันลำบากเล่นๆไป

ปัจจัยของเรื่องนี้มันอยู่ที่ “เวลา” หากเรามีเวลามากมาย เราอาจจะสามารถใช้เวลาอันมากมายเหล่านั้นหาทางขึ้นเขาได้หลากหลายเหลี่ยมมุมตามที่เราต้องการ แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะมีเวลาเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเวลาจะหมดเมื่อไหร่ การหาผู้นำทางที่ดี ก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ถ้าหากใครต้องการขึ้นเขาด้วยตัวเองเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองก็ตามสะดวก แต่ก็อย่าลืมไปว่าเป้าหมายของชีวิตนี้คืออะไร การมีความสุขระหว่างทางก็ดี สุขเมื่อถึงก็ดี ก็ขอให้เป็นการเดินทางที่มีแต่ความเบิกบานใจแล้วกันนะครับ

สวัสดี