Tag: ความสุข
โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ
โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ
เมื่อเราเรียนรู้การกินมังสวิรัติโดยใช้การปฏิบัติศีลเป็นตัวตั้งต้นกันแล้ว ก็จะเข้ามาสู่กระบวนการของการชำแหละกิเลส คือวิจัยให้เห็นองค์ประกอบของความอยากกินเนื้อสัตว์ เป็นกระบวนการที่จะใช้กำลังปัญญาและสมาธิอย่างหนัก เพียรพยายามหาคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องอยากกินเนื้อสัตว์ ทำไมความอยากกินเนื้อสัตว์ถึงยังไม่หายไป ทำไมเมื่อกินเนื้อสัตว์ถึงยังรู้สึกอร่อยอยู่
การปฏิบัตินี้เป็นลักษณะของการวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทำให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ตามที่กิเลสของเราอยากให้มันเป็น โดยใช้ธรรมะเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ และอธิบายสภาวธรรมหรือสภาพของจิตใจที่จะเกิดขึ้นในแต่ละลำดับขั้นตอน โดยธรรมที่จะนำมาใช้ในบทความนี้ได้แก่ โพชฌงค์๗ ,สติปัฏฐาน๔ ,ฌาน๔ ,อานิสงส์ของศีล๙ ,สภาวะของนิพพาน๗ ซึ่งในบทความนี้ก็จะอธิบายขั้นตอนหลังจากที่เราถือศีลกินมังสวิรัติและได้พบกับความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ไปจนจบที่ความรู้สึกสุขแม้จะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์หรือที่เรียกกันว่าจบกิจของกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะใช้การร้อยเรียงธรรมะทั้งหมดเข้ากันเพื่ออธิบายถึงสภาวธรรมที่สอดคล้องกันในธรรมแต่ละบท
มาเริ่มกันเลย…
เมื่อเรากินมังสวิรัติมาได้ระยะหนึ่ง สามารถกดข่ม อดทนต่อความอยากมาได้สักพัก เราก็จะสามารถที่จะเห็นกิเลสหรือความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เห็นความคิดที่คอยให้เหตุผลพาให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่เสมอ หลายคนสามารถกดข่ม ตัดรอบ ปัดทิ้งความรู้สึกอยากกินนั้นไปได้ แต่แท้ที่จริงความอยากนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแค่เรากดมันไว้ปิดบังมันไว้ ความอยากไม่ตายและจากไปไหน มันยังวนเวียนมาให้เราได้กดข่มไว้เรื่อยๆ ซึ่งการที่เราสามารถกดข่มในเบื้องต้นได้ ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ ยอมไม่ให้ศีลขาดนั้นเป็นการกระทำที่ดีแล้ว แต่จะดีกว่าถ้าเราได้กำจัดความอยากหรือกิเลสเหล่านั้นอย่างสิ้นเกลี้ยง
โพชฌงค์ คือองค์แห่งการบรรลุธรรม เป็นเครื่องทำลายกิเลส การจะปฏิบัติโพชฌงค์ให้ถูกต้องนั้น จึงจำเป็นต้องมีกิเลสเป็นตัวตั้งต้น เริ่มต้นจากการเลือกกิเลสสักตัวตามกำลังของเรา เมื่อมีกิเลสเป็นวัตถุดิบเข้ากระบวนการของโพชฌงค์แล้วปลายทางที่ได้คือการปั่นย่อยทำลายกิเลสเหล่านั้นจนได้ปัญญารู้แจ้ง คือผลเจริญจากการทำลายกิเลสเหล่านั้น
เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว จึงนำมาสู่การสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้เราไปเสพเนื้อสัตว์ เมื่อจิตใจเข้าสู่สภาพปกติ จึงจะเข้าสู่สภาวะของสติที่เป็นพุทธแท้ๆ เป็นธรรมะข้อแรกของโพชฌงค์ ๗
(1) สติ (โพชฌงค์ ๗)
สติที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์นั้นคือ “สติปัฏฐาน๔” เป็นสติที่มีไว้เพื่อชำแหละกิเลส รู้การเปลี่ยนแปลงของกายหรือตัวรู้ข้างในโดยการรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายข้างนอก รู้ถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ได้ว่าเป็นเวทนาอย่างเคหสิทตะหรือเนกขัมมะ รู้ไปในทุกท่วงท่าของจิตที่เกิดกิเลสว่ากิเลสนั้นคือตัวไหน รู้ไปถึงธรรมที่คู่ควรในการชำระล้างกิเลสนั้นๆโดยจะขอยกตัวอย่างการใช้สติปัฏฐาน๔ กับความอยากกินเนื้อสัตว์ดังนี้
กายในกาย : เมื่อเราได้เห็นเนื้อสัตว์ที่เคยชอบกิน ร่างกายจะเกิดอาการขึ้นมาเช่น กลืนน้ำลาย ท้องร้อง น้ำลายสอ ซึ่งเป็นลักษณะที่รับรู้ได้โดยการรู้สึกไปถึงข้างในจิตใจ คือให้อาการทางร่างกายสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของใจ ซึ่งการปฏิบัติของเราก็จะเป็นการปฏิบัติที่ใจ เมื่อจับการเปลี่ยนแปลงของใจผ่านร่างกายแล้วจึงนำไปสู่เวทนา
เวทนาในเวทนา : เมื่อรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของใจเมื่อผัสสะเข้ามากระทบแล้ว เราก็จะรู้ลึกไปถึงเวทนาว่าความรู้สึกของใจนั้น เป็นทุกข์ สุข หรือเฉยๆ ในกรณีที่เราถือศีลกินมังสวิรัติแล้วยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ จะเกิดเวทนาได้กรณีเดียวคือ เนกขัมมสิตโทมนัส คือความความเสียใจอย่างนักบวช เป็นความรู้สึกทุกข์ที่ต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกินเนื้อสัตว์แม้ว่าจะมีความอยากกินเนื้อสัตว์ก็ตาม
จิตในจิต : เมื่อรู้ว่าจิตเกิดทุกข์แล้วก็จะดูต่อว่าจิตของเรานั้นมีกิเลสตัวไหน มีเหตุอันใดให้เราต้องทุกข์ เป็นขั้นตอนการขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเราได้รู้ทุกข์จากเวทนาแล้ว จึงนำมาเป็นหลักฐานในการหาเหตุแห่งทุกข์ในจิตต่อ ในกรณีของเนื้อสัตว์นี้จะลองยกตัวอย่างเป็นว่า เราติดสเต็กชิ้นหนึ่งแล้วเราถือศีล จึงทุกข์เพราะความอยากแต่ไม่ยอมไปกิน จิตในจิตคือหาเหตุนั้นว่าเราอยากเพราะอะไร ซึ่งอาจจะเป็นเราอยากกินสเต็กชิ้นนั้นเพราะความติดในรสชาติ ติดในกาม ติดในความนุ่มความเหนียวของเนื้อสัตว์ เมื่อลองค้นได้ดังนี้เราก็จะไปขั้นต่อไป
ธรรมในธรรม : เมื่อเราค้นเจอรากของกิเลสแล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดความอยากเสพในรสสัมผัส เป็นราคะ โดยรวมแล้วการจะฆ่าล้างราคะต้องใช้อสุภะคือความไม่งามเข้าไปฆ่าความอยากเสพนี้ ความไม่งามในกรณีนี้คือความเสื่อมของรสสัมผัสเช่นเราไม่มีวันได้กินของที่อร่อยลิ้นตลอดไปหรอกมันต้องเสื่อมเข้าสักวัน วันไหนที่เราไม่ได้กินเนื้อที่นุ่มก็จะทุกข์ หรือไม่ก็พิจารณาอสุภะแบบรวมโดยการพิจารณากระบวนการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ การผสมพันธุ์ การเลี้ยง การฆ่า การชำแหละ การแปรรูปเนื้อสัตว์ จนเข้ามาถึงปากเรา ถ้าพิจารณาธรรมถูกธรรม ก็จะช่วยลดความอยาก ลดราคะเหล่านี้ได้
…สติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นธรรมะที่ทำงานไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ แต่ละองค์ธรรมนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่เป็นก้อนเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาปฏิบัติได้ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องสอดคล้อง เป็นไปเพื่อชำแหละให้เห็นถึงทางแก้กิเลส
(2) ธัมมวิจยะ(โพชฌงค์ ๗)
การวิจัยข้อธรรม เป็นกระบวนการของการวิปัสสนา โดยใช้สติปัญญาใช้ความรู้จากการทบทวนธรรม ตึกตรองใคร่ครวญธรรม ฟังธรรม สนทนาธรรม เพื่อหาข้อธรรมที่จะมาช่วยล้างกิเลสนั้นๆ พิจารณาให้ลึกและละเอียดลงไปเรื่อยๆ ว่ามีธรรมใดที่จะเข้ามาช่วยชำระล้างกิเลสนี้ได้
ในกรณีของการกำจัดกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์นี้ เราก็จะพิจารณาข้อมูลที่เราได้รับมา เช่น การกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนตัวเองและสัตว์อื่นอย่างไร การมีความอยากเป็นทุกข์อย่างไร ถ้าไม่ได้กินสมใจอยากจะทุกข์ร้อนแค่ไหน โดยใช้ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาเข้าทำการวิจัยกิเลส ซึ่งอาจจะไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมก็ได้
(3) วิริยะ(โพชฌงค์ ๗)
คือการเฝ้าพิจารณาธรรมอย่างเพียรพยายาม ใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนาเข้ามาในกระบวนการพิจารณาฆ่ากิเลสนี้อย่างตั้งมั่น ไม่ท้อถอย อดทนฟันฝ่าความอยากแม้จะยากลำบากก็เพียรพิจารณาต่อไป เพราะรู้ถึงผลว่าสุขที่มากกว่าเสพยังมี เป็นวิริยะที่เกิดจากปัญญา เป็นความเพียรที่มีความสุขจากการไม่มีกิเลสเป็นแรงผลักดัน หวังจะให้เกิดผลที่เจริญจึงตั้งใจทำไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง
… กระบวนการข้างต้นทั้งหมดนั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๑ คือวิตกวิจารณ์ คือการเฝ้าพิจารณา ทุกข์ โทษ ภัยผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรมในกิเลสตัวนั้นๆ ซึ่งในกระบวนการนี้จะใช้เวลามากน้อยก็แล้วบุญบารมีที่บำเพ็ญเพียรสะสมมา บางเรื่องพิจารณาไม่นานก็สามารถหลุดพ้นได้ บางเรื่องเฝ้าพิจารณาเป็นเดือนเป็นปีก็ยังไม่สามารถชำระกิเลสได้ ทำได้เพียงแค่ให้มันเบาบางลง ซึ่งเราก็ต้องเพียรวิตกวิจารณ์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสนั่นเอง
เมื่อเพียรพิจาณาธรรมจนถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จากปัญญาที่เคยเป็นมรรค (วิถีทาง ความรู้ความเข้าใจ ข้อปฏิบัติ) จะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล (ข้อสรุป ผลเจริญ วิมุตติ) เราจะได้รับความรู้บางอย่างที่รู้ชัดแจ้งเพียงพอที่จะมีกำลังตัดกิเลส รู้ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยกับชีวิตของเราและคนอื่นอย่างไร เป็นปัญญาที่จะตัดกิเลสได้อย่างหมดจด ไม่ใช่ปัญญาในลักษณะที่ “รู้หมดแต่อดไม่ได้” แต่เป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจทุกอย่างในกิเลสนั้นๆ และจะไม่มีวันกลับไปเสพอีกต่อไป
(4) ปีติ(โพชฌงค์ ๗)
หลังจากที่เราได้รับปัญญาที่เป็นผลจากการเพียรพิจารณาล้างกิเลส ก็จะเกิดความรู้สึกปีติยินดี ดีใจ ตื่นเต้น ใจฟู ฯลฯ สำหรับคนที่เข้าสู่สภาวะของปีติอาจจะมีระดับความดีใจรุนแรงแตกต่างกันไป เช่นถ้าเราสามารถชำระกิเลสที่พาให้ทุกข์มาก ยากมากได้ ก็อาจจะเกิดปีติแรง เหมือนพลุแตกระเบิดออกจากกลางตัว สว่างวาบจนรู้สึกถึงพลังที่อิ่มเอม ชุ่มฉ่ำได้ ลักษณะของปีตินั้นเกิดได้ถึง 5 แบบ คือปีติเล็กน้อย ปีติชั่วขณะ ปีติเป็นพักๆ ปีติโลดลอย ปีติซาบซ่าน เป็นความปลาบปลื้มยินดีอิ่มใจในฌาน
… ปีตินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๒ คือปีติ จะมีสภาพเดียวกัน
(5) ปัสสัทธิ(โพชฌงค์ ๗)
คือสภาพที่ปีติค่อยๆคลายลง ลดความอิ่มเอิบลง ค่อยๆสงบลงจากดีใจก็กลายเป็นความสุขใจแบบนิ่งๆ เย็นอยู่ในใจเป็นสภาพที่ผ่อนคลายมากกว่าเดิม
(6) สมาธิ(โพชฌงค์ ๗)
คือสภาพที่เห็นความต่อเนื่องของสภาวธรรมที่ได้ รู้ว่าความเจริญนั้นได้ตั้งมั่นอยู่ในใจแล้ว รู้ว่ากิเลสนั้นได้คลายลงแล้ว เป็นความสงบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สงบจากกิเลสนี้ตลอดไป
… ปัสสัทธิจนถึงสมาธินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๓ คือสุข คือสภาพที่ต่อจากปีติสงบลงจนเป็นสุข จะรู้สึกอิ่มเอิบอยู่ในใจเล็กๆ เบาใจสบายใจ รู้ได้เองว่านี่คือสภาวะที่สุขกว่าตอนมีกิเลสมาก เบาบาง กินพลังงานน้อย จะรู้สึกยินดีกับสภาวะนี้ การเกิดปีติจนมาถึงสุขอาจจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ เพียงชั่วครู่ก็จะสงบลงมาเอง
(7) อุเบกขา(โพชฌงค์ ๗)
เป็นสภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการล้างกิเลส และจะเป็นสภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อสุขได้สงบลงแล้วก็จะพบกับอุเบกขา เมื่อเราได้พิจารณาฆ่าล้างกิเลสมาตั้งแต่ในช่วงแรก เพียรพยายามจนสามารถละทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว แล้วก็จะมาละสุขที่เป็นผลจากความเจริญที่ได้รับจากการพิจารณา จบลงที่ความปล่อยวาง ไม่ทุกข์ ไม่สุข ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เพราะได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นสิ้นแล้ว นี่คือสภาวะของอุเบกขา เป็นสภาพที่ไม่กินพลังงานใดๆเลย เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้ และเราก็จะได้พลังคืนมาจากที่เราเคยเสียไปให้กับกิเลส เช่น เราไม่ต้องเสียเวลาไปหาเนื้อสัตว์กิน ความเจ็บป่วยที่จะได้รับจากพิษของเนื้อสัตว์จะหมดไป นี่คือตัวอย่างสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรม และยังมีผลทางนามธรรมอีกมาก
… อุเบกขาจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๔ คืออุเบกขาเช่นกัน เป็นสภาพเดียวกันที่เกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้คือฌานฆ่ากิเลส เป็นฌานที่เพ่งเผากิเลส ไม่ใช่ลักษณะของฌานสมถะหรือฌานฤาษีที่นั่งสมาธิแล้วเข้าภพเข้าภวังค์เกิดสภาพจิตต่างๆไปตามลำดับ แต่เป็นฌานที่ตั้งต้นด้วยกิเลสและทำความเพียรเพ่งพิจารณาเผากิเลสจนเกิดเป็นสภาพของวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข อุเบกขา เป็นความรู้สึกเดียวกับอาการที่เกิดเมื่อนั่งเข้าฌานสมาธิ แต่จะต่างกันตรงที่สามารถเผาทำลาย ชำระกิเลสให้ตายได้ด้วย เมื่อกำจัดกิเลสเสร็จก็ไม่ต้องเข้าฌานใหม่ เพราะกำจัดกิเลสจบแล้วก็ได้อุเบกขามาอย่างถาวร
ต่างจากฌานฤาษี ซึ่งถ้าเราอยากได้ภาวะของ ปีติ สุข อุเบกขา เราก็ต้องนั่งสมาธิเข้าภพเข้าภวังค์ค่อยๆดับจิตดำดิ่งสู่สภาวะดับลงเรื่อยๆ นอกจากกิเลสจะไม่ตายแล้ว โดยมากยังหลงไปในมโนมยอัตตา เห็นนรก เห็นสวรรค์ ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตปั้นแต่งให้เห็นเป็นภาพ เป็นเหตุการณ์ขึ้นมา ภาพที่เห็นนั้นเห็นจริง แต่ไม่ใช่ของจริง
การกระทำฌานเผากิเลสนี้ เมื่อเราทำลายกิเลสตัวหนึ่งก็จะจบกิจของกิเลสตัวนั้น แต่อาจจะทำลายได้แค่ความอยากกินเนื้อสัตว์ที่เป็นรูปชิ้นเนื้อเท่านั้น อย่างเช่นทำลายความอยากเนื้อสัตว์ได้ แต่ก็ต้องไปเพียรพยายามทำลายความอยากในเนื้อสัตว์แปรรูปต่ออีก เพราะพลังฌานของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนพิจารณาทีเดียวทำลายความอยากได้ทั้งตระกูล บางคนต้องใช้การพิจารณาแบบย่อยเป็นตัวๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา หรือย่อยลงไปในตระกูลเนื้อวัว เช่น เนื้อย่าง เนื้อทอด เนื้อดิบ ทำได้มากน้อยตามแต่อินทรีย์พละของแต่ละคน ใครที่เพียรมากตั้งใจมาก ปฏิบัติอย่างถูกทางมามาก ก็จะมีพลังในการชำระกิเลสมากตามไปด้วย
อานิสงส์ของศีล๙
เมื่อเราเริ่มต้นปฏิบัติศีล ถือศีลกินมังสวิรัติ จนกระทั่งเพียรพิจารณาล้างกิเลสให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดสภาพไปตามลำดับของโพฌชงค์ ๗ จนกระทั่งถึงอุเบกขา จึงเรียกได้ว่าจบกิจของกิเลสตัวนั้น กลายเป็นสภาพที่เราจะถือศีลอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่างที่ใครเขาพูดว่า “ศีลคือความปกติ” สำหรับผู้บรรลุศีลที่ปฏิบัติเพื่อลดกิเลส ความปกตินั้นคือ ไม่กินเนื้ออย่างปกติ ไม่ว่าวันไหนเวลาไหนก็ไม่มีความอยากกินเนื้อ โดยไม่รู้สึกทรมาน หรือต้องกดข่มใดๆ เป็นสภาพความเจริญที่เกิดขึ้นในจิตอย่างแท้จริง โดยมีสภาพ 9 ประการโดยอธิบายผ่านเรื่องมังสวิรัติดังนี้
1.จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์
2.มีความเบิกบานยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์
3.มีความอิ่มใจแม้เราจะกินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์
4.รู้ถึงความสงบในจิต ซึ่งไม่มีกิเลสจากการกินเนื้อสัตว์
5.เกิดความสุขจากการไม่มีกิเลสในเนื้อสัตว์
6.เกิดสมาธิตั้งมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์
7.รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ โทษ ภัย และต้องรับความเดือดร้อนจากวิบากกรรมอันมีเหตุแห่งความเบียดเบียน
8. มีความเบื่อหน่ายในการกินเนื้อสัตว์ เพราะเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียน
9.รู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้น รู้ได้ในสภาวะจิตของตนเองว่าหลุดพ้นจากเนื้อสัตว์ เป็นอิสระจากการกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีมาประเคนให้ก็ยินดีที่จะไม่รับ โดยไม่ขุ่นข้องหมองใจ ไม่เสียดาย ไม่มีแม้ธุลีความอยากใดๆในจิต รู้ชัดแจ้งว่าจากนี้ไปจะไม่มีทางยินดีในการเสพเนื้อสัตว์อีก กลายเป็นศีลปกติ คือถือศีลนั้นๆในชีวิตประจำวันตลอดไป เพราะมีแต่คุณประโยชน์ แต่ก็สามารถวางศีลนั้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะควร โดยไม่มีบาป เพราะศีลได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นหมดสิ้นแล้ว
สภาวะของนิพพาน๗
เมื่อปฏิบัติศีลอย่างถูกตรงจนเกิดภาวะอุเบกขา รับรู้ได้ถึงอานิสงส์ของศีล จะเกิดสภาพของจิตที่กิเลสได้ตายอย่างแท้จริง ไม่เกิดความอยากอีก โดยจะมีสภาพจิตที่ตัดเนื้อสัตว์ได้ดังนี้
ไม่มีอะไรเปรียบได้ (นัตถิ อุปมา) : ความรู้สึกที่ไม่ต้องการไปเสพเนื้อสัตว์อีกมันไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบได้
ไม่มีอะไรหักล้างได้(อสังหิรัง) : แม้ว่าจะมีสิ่งที่ดี มีค่าในทางโลก มาล่อแค่ไหนก็ไม่มีอะไรจะเอามาหักล้าง ความรู้แจ้งนี้ได้
ไม่กลับกำเริบ(อสังกุปปัง) : ไม่มีทางที่จะเกิด “ความอยาก” กินเนื้อสัตว์ขึ้นมาได้อีก
เที่ยง(นิจจัง) : เป็นสภาพจิตที่เที่ยงแท้แน่นอน
ยั่งยืน(ธุวัง) : คงสภาพจิตแบบนี้และเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ
ตลอดกาล(สัสสตัง) : สภาพจิตที่พ้นจากความอยากนี้จะคงอยู่ตลอดกาล ฝังไว้ในวิญญาณ ข้ามภพข้ามชาติ จนตราบปรินิพพาน
ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา (อวิปริณามธัมมัง) : ไม่มีทางที่จะแปรปรวนรวนเร โลเล เปลี่ยนใจให้ได้เห็นอีกเลย
…ผู้ที่ปฏิบัติมาถูกทางก็จะพบกับสภาพดังข้อธรรมะ อานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ สำหรับผู้ที่อ่านแล้วยังรู้สึกลังเลใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวเองอย่างเต็มใจแสดงว่ายังไม่ผ่าน ให้ปฏิบัติต่อไปด้วยความเพียร หากผู้ใดที่คิดว่าตัวเองได้ผ่านแล้ว จะลองกลับไปกินเนื้อสัตว์ดูก็ได้เพื่อตรวจสอบว่าเราผ่านเรื่องมังสวิรัติจริงหรือไม่ ถ้ายังไม่ผ่าน เราก็จะรับรู้ด้วยตัวเอง จากการรู้ในเวทนา
ผู้ที่ปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดและจริงใจต่อความรู้สึกตัวเองจึงจะมีสิทธิ์พบกับความสุขแท้ ความสุขที่ไม่ต้องเสพเนื้อสัตว์ รู้ได้เองว่า การไม่เสพเนื้อสัตว์มันสุขกว่าการเสพอีก แต่หากผู้ใดใช้การกดข่ม ใช้พลังสมถะเข้ามาเป็นหลักในการตัดความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมเหล่านี้ได้ จะมีสภาพแกว่งไปมา ถือศีลเหยาะแหยะกินเนื้อสัตว์บ้าง กินมังสวิรัติบ้าง แม้จะมีคำพูดที่ดูเหมือนปล่อยวาง แต่จริงๆมักไม่ได้ปล่อยวาง เพราะคนที่ปล่อยวางอย่างแท้จริง จะมีสภาพที่พระพุทธเจ้ายืนยัน นั่นคือสภาพของอานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ เป็นหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบตัวเองได้
การจะเกิดสภาพจิตเหล่านี้ไม่ใช่การคิดเอาหรือฝันเอา ต้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะมีได้ และจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เหมือนคนตาบอดวิ่งเข้าป่า เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ ดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นสามารถวัดผลได้ตรงที่กิเลสเราลดหรือไม่ เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้แล้วเรากิเลสลดลงหรือไม่ หรือยังอยากเหมือนเดิม ดีไม่ดีบางคนก็กิเลสหนากว่าเดิมก็มี
การเข้าใจธรรมะไม่มีความบังเอิญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างมีมาแต่เหตุ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนเพียร ไม่ใช่ของคนขี้เกียจ ที่จะเฝ้าคิด เฝ้าฝัน นั่งๆนอนๆ อยู่แล้วจะบรรลุถึงความผาสุกที่แท้จริงได้ แต่เป็นหลักปฏิบัติที่ใครอยากได้ต้องทำเอง ความสุขแท้มีอยู่ แต่ต้องทำเอาเองเท่านั้น ดังคำตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”
– – – – – – – – – – – – – – –
9.10.2557
วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง
วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง
ในยุคที่ดูเหมือนจะมีแต่ภัยอันตรายรอบด้าน คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดกังวลใจ และคงจะมีผู้คนจำนวนหนึ่งมองหาวัตถุบูชาเครื่องรางของขลังมายึดไว้ถือไว้ เพื่อเป็นหลักให้จิตใจของเขาได้พึ่งพิง
วัตถุบูชาเครื่องรางของขลังนั้นมีตั้งแต่ที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น พระเครื่อง พระพุทธรูป รูปหล่อเกจิอาจารย์ต่างๆ รูปภาพครูบาอาจารย์ และไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเช่น หิน หยก เหล็กไหล อัญมณี เขาสัตว์ ซากชิ้นส่วนของสัตว์ ไปถึงเครื่องประดับต่างๆ
เรามักจะให้คุณค่าวัตถุกันที่ความหายาก คุณค่าที่เล่าต่อกันมาว่าถ้ามีสิ่งนี้ไว้ จะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เอาโลหะ เอาดิน เอาหินมาปั้น ปรุงแต่งกันจนมีราคามากกว่าทอง โดยใช้กิเลสและอุปทานของคนเป็นเครื่องมือ
คนเขลามักเข้าใจไปว่าคุณค่าของเครื่องรางของขลังอยู่ในวัตถุชิ้นนั้นๆ จึงมัวเมาหลงให้ค่ากันไปมากมายเกินจริง กลายเป็นธุรกิจการค้าบนความเชื่อและความงมงายของคน ใช้โอกาสในการมัวเมากิเลสกับคนที่ด้อยปัญญา เป็นเครื่องมือหากิน เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีลักษณะของการล่อลวง ล่อให้หลง ล่อให้เห็นในคุณค่าลวง ล่อให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งดี ซึ่งการค้าขายความเชื่อเหล่านี้ เป็นอาชีพที่ผิด เป็นมิจฉาอาชีวะ ชาวพุทธไม่ควรทำ
คนที่เข้าใจคุณค่าที่แท้จึงไม่ได้เคารพด้วยคุณค่าของวัตถุ เช่น ไม่ว่าจะพระพุทธรูปที่บ้านหรือพระพุทธรูปที่วัดไหน ไม่ว่าจะพระเครื่องแจกฟรีหรือองค์ละสิบล้าน ก็ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน มีคุณค่าเท่ากัน ไม่ต่างกัน เพราะทำให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกัน และในเมื่อเขาเหล่านั้นรู้ดีว่าความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้อยู่ในวัตถุ แต่อยู่ในศรัทธาที่เกิดมาจากปัญญา จึงไม่จำเป็นต้องเสาะแสวงหาวัตถุบูชาเครื่องรางของขลัง พระเครื่องชื่อดังหรือสิ่งของที่ใครเขาว่าศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเพียงแค่จิตระลึกถึงสิ่งที่ควรเคารพบูชา ก็มีคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอแล้ว
การมีพระเครื่อง พระพุทธรูป หรือวัตถุที่สื่อถึงครูบาอาจารย์ไว้บูชานั้นสามารถทำได้ หากเราใช้สิ่งนั้นในการช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา บูชาในคุณความดี บูชาในธรรม มีไว้เพื่อระลึกถึง ไว้เตือนใจเตือนสติ ไม่ให้ตัวเองหลงไปทำชั่ว ไม่ให้ตัวเองประพฤติออกนอกลู่นอกทาง ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากขึ้น นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี
แต่ไม่ใช่การยึดถือบูชาเพื่อที่จะได้รับ บุญกุศล โชค บารมี ลาภ ยศ สรรเสริญ ความแคล้วคลาดปลอดภัย หรือเหตุผลและคำชวนเชื่อทั้งหลายที่มีคนบางพวกได้อวดอ้างสรรพคุณ การบูชาวัตถุอย่างไม่มีปัญญา ไม่ต่างอะไรกับการไหว้ก้อนหิน ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ทั้งยังเสียเวลาที่ต้องใช้ในการเสาะแสวงหาของดีมาไว้กับตัวอีก
บางคนถึงกับหลงไปสะสมเครื่องรางของขลังเหล่านี้ แสวงหาจนมีห้องพระใหญ่โต หลงเข้าใจไปว่ายิ่งมีเยอะยิ่งมีพลัง ยิ่งมีเยอะยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งมีเยอะยิ่งมีสิ่งคุ้มครองเยอะ หลงเข้าใจผิดไปแบบนั้น จริงๆแล้วยิ่งมีเยอะนั่นแหละภาระ ต้องมาคอยทำความสะอาด ปัดฝุ่น แถมยังต้องมาคอยระแวงระวังกลัวคนจะมาขโมยของรักของหวงกันอีก ก็โง่แบกวัตถุกันไป หลงเข้าใจว่าจะพาไปนิพพานด้วยได้ จริงๆแล้วการสะสมนี่ก็ขัดกับหลักของการพ้นทุกข์แล้ว ยิ่งสะสมก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งเพิ่มกิเลส เพิ่มภาระ ไม่ไปไหนสักที เพราะมัวแต่กอดวัตถุอยู่นั่น ไม่ไปถึงแก่นสารสาระของศาสนาสักที บูชาแต่เปลือกภายนอก บูชาแต่วัตถุ แต่ไม่บูชาธรรม เป็นศรัทธาที่งมงาย พาให้หลงวนอยู่ในโลกนี้
การหลงมัวเมาบูชาวัตถุ แล้วเข้าใจว่าวัตถุเหล่านั้นจะให้คุณแก่ตนได้ เป็นความหลงมัวเมาในระดับที่หยาบ ไม่ตรงกับคำสอนของศาสนา เพราะการที่เราไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งของวัตถุมงคลเหล่านั้น และหลงเชื่อว่าการมีสิ่งนั้นจะทำให้เกิดสิ่งดีต่างๆ จะทำให้เราไม่เชื่อในเรื่องกรรม ไม่เชื่อในเรื่องผลของกรรม ไม่เชื่อว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่เชื่อในหลักของศาสนา
ในเมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรม ก็ยากแท้ที่จะพ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมจะต้องทนทุกข์เรื่อยไป เพราะไม่รู้ว่าสิ่งดีสิ่งร้ายที่เกิดกับตนเกิดจากสาเหตุอะไร พอไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรก็ไม่รู้ว่าจะสร้างเหตุอย่างไรให้อนาคตนั้นดีขึ้น ก็ได้แต่ทำดีทำชั่วไปตามความเห็นที่ตนมี ทำไปตามกระแสสังคมที่กำลังหลงทางบอกมา โดยไม่รู้จริงๆว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว แล้วที่ว่าดีต้องดีแค่ไหน ที่ว่าชั่วมันต้องถึงขนาดไหนจึงเรียกว่าชั่ว
สุดท้ายไม่ว่าใครจะมีพระดี เครื่องราง ของขลังดีแค่ไหน หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้มีอะไรไว้บูชาเลย ทุกคนก็จะต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย ต้องตายอยู่ดี สุดท้ายมันก็เหมือนกันอยู่ดี แต่คนที่เขาไม่ได้งมงายก็จะมีเวลาไปเรียนรู้สิ่งอื่นมากกว่า ส่วนคนที่มัวเมาหลงสะสมเครื่องรางของขลังก็จะเสียเวลาไปกับการมัวเมาในวัตถุสิ่งของสร้างกิเลส บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
….พระพุทธเจ้าท่านทำให้เราดูเป็นตัวอย่างแล้ว กับชีวิตที่ไม่สะสม มีเพียงเครื่องบริขารนิดหน่อย ไม่หวังพึ่งสิ่งใดนอกจากบุญกุศลที่ท่านได้ทำมาเอง ท่านก็ยังแคล้วคลาดจากวิบากบาปที่ท่านเคยทำมา นั่นก็เพราะบุญบารมี กุศล ความดีที่ท่านได้ทำมา ได้เป็นกำแพงป้องกัน ลดทอนกำลังของสิ่งเลวร้ายที่จะเข้ามาทำร้ายท่าน เป็นบุรุษซึ่งไม่มีใครสามารถที่ปลงพระชนม์ชีพได้ เหตุเพราะพลังแห่งความดีนั้นเอง
หากอยากจะมีความสุข โชคดี พบเจอแต่คนดี สังคมดี แคล้วคลาดปลอดภัย ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ลองพิสูจน์สัจจะตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนดู ลด ละ เลิกการทำสิ่งที่ไม่ดี ทำดีไปเรื่อยๆ ทำทาน ถือศีล ทำให้จิตใจตัวเองเจริญขึ้น ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่า การหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสนี่แหละ คือข้อปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแล้ว นำความสุขความเจริญให้ชีวิตได้มากที่สุดแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
3.10.2557
อิสรภาพทางการเงิน
อิสรภาพทางการเงิน
อิสรภาพทางการเงิน เป็นคำที่ได้ยินกันจนคุ้นหูในยุคนี้ เป็นความฝันทางทุนนิยม เป็นคำนิยามที่สวยหรู เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่แต่ละคนจะคิดหรือปรุงแต่งไปเอง ปั้นแต่งให้สวยงามเลิศหรูไปตามกิเลสของแต่ละคน
เขาเหล่านั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินดังเช่น การมีอิสระในการใช้เงิน ,มีเงินมากพอจนไม่ต้องไปเสียเวลานั่งทำงาน , ให้เงินทำงานแทนเรา , มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉิน เป็นความเข้าใจที่เหมาะกับยุคทุนนิยม แต่ไม่เหมาะกับความเป็นจริงเท่าไรนัก
การมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่จำกัดไม่ได้หมายความว่าชิวิตจะมีอิสรภาพหรือจะมีความสุข เงินไม่ได้เป็นตัวประกันความมั่งคั่ง หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิตเลย เป็นเพียงแค่ของหยาบที่คนหยาบมักเอาไว้ใช้วัดคุณค่าของคน วัดความสำเร็จ เป็นวัตถุที่จับต้องได้ เข้าใจได้ง่าย เขาเหล่านั้นจึงมักจะใช้เงินเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต เป็นความมั่งคั่ง เป็นความสุข
เรามักจะมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถมีความสุขได้จากการมีเงิน เรามักจะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก แต่มักจะมองสิ่งที่ได้จากเงินเช่น เราอยากได้อะไรก็ได้ เราอยากมีอะไรก็มี อยากซื้อของที่อยากได้ อยากซื้อรถคันใหญ่ อยากมีบ้านหลังโต อยากมีเงินเลี้ยงพ่อแม่ อยากมีเงินส่งเสียลูก อยากมีเงินแต่งเมีย เพราะเหตุนั้น เราจึงคิดว่าเราจะต้องมีเงิน จึงจะสามารถสนองตามความอยากของเราได้ เมื่อได้สนองจนสมใจอยาก เราจึงจะได้พบกับความสุข
การได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่ากิจกรรมที่เราเห็นมากนัก ประกอบไปด้วยกรรมปัจจุบันและกรรมเก่า พวกที่มีกรรมเก่ามากก็อาจจะเกิดมาบนกองเงินกองทองเลย หรือไม่ก็คนประเภทที่ว่าในชาตินี้แม้จะเกิดมาจน แต่พอจับอะไรก็รวยได้ทันที อันนี้ก็มีปัจจัยหนุนนำมากกว่าเรื่องที่มองเห็น
เหมือนกับเรือใบจะแล่นได้เพราะมีลม ความสามารถ หรือกรรมปัจจุบันคือการบังคับเรือให้เหมาะกับลม แต่ลมนั้นคือกรรม คือสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คนบังคับเรือเก่งแต่ไม่มีลมก็ไปไม่ได้ คนบังคับเรือไม่เก่งแต่มีลมที่ดีพัดมาตลอดก็ไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย
นั่นหมายความว่า การที่เราจะขยันทำงานหรือขยันหาเงินลงทุน ทุ่มเทเวลากับการทำธุรกิจ กิจการร้านค้า ลงทุนเล่นหุ้น ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพบกับความมั่งคั่งหรืออิสรภาพทางการเงินเสมอไป อาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างคอยเข้ามาขัดขวางไม่ให้เราได้พบกับความมั่งคั่งทางทุนนิยมเหล่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้
นั่นเพราะแท้จริงแล้ว การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข แต่การที่เราสามารถสนองต่อกิเลสของเราได้ต่างหากคือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขที่หลอกลวง เป็นสุขจากกิเลส เป็นสุขที่เสพไม่นานก็หายไป แม้จะเสพมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มักจะต้องการเสพเพิ่ม หามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ลิ้มรสสุขที่มากกว่า
ทั้งที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ความสุข จะลองดูก็ได้ ลองไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะร้าง มีเงินวางไว้ใช้บนเกาะสักพันล้าน จะมีความสุขไหม? เมื่อเทียบคุณค่าของเงินกับเพื่อนสักคนหรืออาหารสักจานอะไรจะดีกว่า?
ความสุขที่ว่านั้นเกิดจากการได้เสพสมใจในกิเลส เป็นการสนองความโลภของตัวเองด้วยการแสวงหาทรัพย์อันไม่มีจำกัด เหมือนกับคนที่ตามล่าหาสมบัติเพื่อจะทำให้ตัวเองรวยไปทั้งชาติ เหมือนกับคนที่ตามหาชีวิตอมตะ เหมือนกับคนที่คิดฝันไปเอง
แม้ว่าเราจะได้เงินที่ไม่จำกัดต่อการสนองกิเลสเหล่านั้นมาครอบครอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคงสภาพเช่นนั้นไปได้ตลอด พอมีเงินแล้วก็มักจะมีความอยากเสพมากขึ้นตามมาด้วย จากที่เคยประหยัดก็หันมากินและใช้จ่ายแพงๆ จากที่เคยเป็นโสด ก็ไปหาใครสักคนมาเสพสมกิเลสร่วมกัน จากที่เคยอยู่เป็นคู่ก็สร้างทายาทมาเสริมกิเลสแก่กัน มาช่วยกันใช้ทรัพย์นั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มสะสมคนมีกิเลสมากขึ้นๆ ในขณะที่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างก็จะพังทลายลงในพริบตา ทรัพย์สมบัตินั้นหายไป เหลือไว้แต่คนที่เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยปริมาณกิเลสก้อนใหญ่…สภาพหลังจากนั้นก็ลองหาดูตัวอย่างชีวิตของผู้มั่งคั่งที่ล้มละลาย
ความไม่เที่ยงนั้นคงอยู่คู่กับโลกเสมอ แม้เราจะพยายามเก็บเงินนั้นไว้ ประหยัดและวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ ก็จะมีเหตุให้เราต้องพรากจากความมั่งคั่งนั้นไป ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การตาย การทำลายทรัพย์เหล่านั้นด้วยกิเลสของตัวเอง หรือแม้แต่การทำลายกันเองของเหล่าผู้มีกิเลสเช่นการปั่นหุ้น การสร้างข่าวลวง หลอกล่อให้ลงทุน และยังมีปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงเช่นภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งสามารถถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ ความหมายมั่นตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเมื่อยามแก่ อาจจะพังทลายลงโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย
……ยกตัวอย่างเช่น ทำงานอย่างหนัก ลงทุนในธุรกิจทุกอย่างจนมีเงินหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในชีวิต มีเงินปันผลให้ใช้อย่างเต็มที่ทุกปี สุดท้ายตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?
……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน แล้วก็ไปแต่งงาน สุดท้ายมาอยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกมีหลาน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งมีปัญหารายวัน เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?
……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน พอมีเงินก็ไปเที่ยวรอบโลกครั้งแรก ไปปีนเขา …แล้วก็ตกลงมาตาย เงินยังมีอยู่นะ แต่ชีวิตหายไปไหน?
มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนรวยที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินของตัวเอง หรือกระทั่งคนรวยที่ตกอับมากมาย แต่เรามักจะไม่เคยสนใจ เพราะเรามัวแต่แหงนมองไปที่คนรวยกว่า คนที่มั่งคั่ง คนที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางการเงินทั้งหลาย จนไม่มองกลับมาถึงความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง
แต่ถึงกระนั้นคนผู้หลงมัวเมาในเงินก็มักจะไม่มองกว้างนัก เขาเหล่านั้นเหมือนม้าที่ถูกปิดตาให้มองเห็นแต่ทางแห่งความมั่งคั่งอย่างที่ใครสักคนบอกไว้อยู่ข้างหน้า โดยที่เขารู้เพียงว่า ถ้ามีเงินก็สามารถจะมีความสุขได้ ทั้งๆที่จริงแล้วความสุขกับเงิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการตั้งสมการหรือสมมุติฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป เพราะเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทั้งๆที่ควรจะใช้ความสุขเป็นตัวตั้งแล้วหาเงินเพียงแค่พอเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวกิจกรรมการงาน
อิสรภาพทางการเงินในนิยามของยุคสมัยนี้นั้น มีรากมาจากความโลภและความขี้เกียจ ซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายและหยาบ
อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น คือ ไม่เป็นทาสของเงิน ไม่ทุกข์แม้จะไม่มีเงิน จะมีเงินก็ได้ไม่มีก็ได้ จะมีมากก็ได้มีน้อยก็ได้เป็นอิสระจากผลกระทบของเงิน เป็นอิสระจากความผูกพันของเงิน อิสระจากสิ่งสมมุติแห่งความมั่งคั่งที่เรียกว่า “เงิน”
อิสรภาพทางการเงินนั้น เมื่อเทียบกับอิสรภาพจากกิเลส ก็จะพบว่าเปรียบกันได้ยากยิ่ง เหล่าคนผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสตัณหามักจะสะสมโลกียะทรัพย์ ทรัพย์ทางรูปธรรม สะสมเงิน ตำแหน่ง ชื่อเสียง สุขลวงๆ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์จะเป็นหลักประกันให้ชีวิตของเขามีความสุข สามารถเสพสุขไปจนตายได้
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีปัญญานั้นมักจะสะสมอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ทางนามธรรม ทรัพย์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง เขาสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านั้นในการสร้างความมั่งคั่งก็ได้ สร้างความสุขก็ได้ สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ตามกำลังทรัพย์ที่เขามี เป็นทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด ยิ่งใช้ยิ่งสะสมก็ยิ่งเพิ่ม เป็นทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารที่เรียกกันว่า“กรรม”
คนผู้มัวเมาในกิเลสมักหลงในคำว่าอิสรภาพทางการเงิน ลงทุนลงแรง เฝ้าหาเฝ้าเติมอยู่แบบนั้น เขาเหล่านั้นหาเงิน หาความมั่งคั่งมาเพื่อเสพสมใจในชาตินี้ พอชาติหน้าชีวิตหน้าก็ต้องเกิดมาหาแบบนี้ใหม่ เหมือนดังในชาตินี้ที่ต้องมานั่งแสวงหาความมั่งคั่ง
คนผู้มีปัญญานั้นจะเข้าใจในอิสรภาพจากกิเลส เขาจึงลงทุนลงแรง เรียนรู้ พัฒนา สะสมอริยทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา…
…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่เชื่อแบบหลงงมงาย เป็นไปเพื่อลดกิเลส เป็นเหมือนไฟส่องทาง เป็นแผนที่ที่ทำให้ไม่มีวันหลงทาง จะเกิดมากี่ชาติก็ไม่มีวันไปหลงงมงาย เสียเวลากับการเดินผิดทาง เดรัจฉานวิชา ไม่หลงในลัทธินอกพุทธศาสนา
…ศีลคือ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำชั่ว เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ เมื่อมีศีลก็พ้นจากภัยต่างๆ ศีลเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม ศีลวิเศษที่สุด จะเกิดมากี่ชาติ ก็จะมีความสามารถในการถือศีลในระดับที่เคยปฏิบัติได้ติดมาด้วย จะไม่หลงติดอยู่ในอบายมุขนาน แม้ตั้งศีลตั้งตบะแล้วก็สามารถทำลายกิเลสนั้นได้ไม่ยาก
…หิริคือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว แม้คนอื่นหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นดี แต่เราจะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วจริงๆ รู้สึกจริงในวิญญาณของเรา เป็นความรู้สึกละอายที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ
…โอตตัปปะคือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวการทำชั่ว จะไม่ไปทำชั่วนั้นอีก เพราะรู้ถึงโทษภัยจากการทำชั่ว จึงเข็ดขยาดในการทำชั่วนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ชาติ ความรู้สึกนี้ก็จะติดมาด้วย คือจะไม่หลงไปทำชั่วตามที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะรู้ได้ชัดในวิญญาณของตนถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เหล่านั้น
…สุตะ คือความตั้งใจฟัง คือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยินดีรับความรู้ใหม่โดยไม่มีอัตตา สามารถฟังและจำแนกธรรมได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เป็นการฟังอย่างเปิดใจโดยน้อมเอาสิ่งที่ฟังเข้ามาพิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งเป็นการฟังที่เป็นเหตุนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ
…จาคะ คือ ความเสียสละแบ่งปัน เกิดจากการทำลายกิเลสอันคือความตระหนี่ถี่เหนียว จนเป็นความเสียสละที่ฝังไว้ในวิญญาณ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะเป็นคนที่ใจบุญ เสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับประโยชน์ส่วนรวม ยอมเสียเปรียบให้คนอื่นได้ ยินดีที่จะได้รับน้อยกว่าคนอื่นก็ได้
…ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง ชำแหละกิเลส กำจัดกิเลส ล้างกิเลสได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกิเลสนั้นว่าเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นประโยชน์ในการละกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ รู้ไปถึงกรรมและผลของกรรมของกิเลสนั้นๆ รู้ว่ากิเลสนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน
ปัญญาจึงเป็นสภาพที่เจริญและติดไปข้ามภพข้ามชาติ ดังจะเห็นได้ว่าคนทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน มีการเสพกิเลสที่ต่างกัน มีความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่ากัน เพราะเขาเหล่านั้นมีอริยทรัพย์ไม่เท่ากัน
เมื่อเห็นดังนี้ ผู้มีปัญญาจึงตามหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ เพื่อที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการลงทุน เพื่อความมั่งคั่งแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ภพไหน ชาติไหน ก็จะมีศักยภาพเหล่านี้ติดไปด้วยเสมอ นำมาซึ่งทั้งอิสรภาพทางการเงิน และอิสรภาพจากกิเลส
เมื่อมีอริยทรัพย์ดังนี้ ความสุข ความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งในชีวิต จะไปไหนเสีย..
– – – – – – – – – – – – – – –
1.10.2557
นรกของสัตว์เลี้ยง
นรกของสัตว์เลี้ยง
ในสังคมปัจจุบันเรามักจะนิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยประโยชน์อะไรก็ตามแต่ สัตว์เหล่านั้นก็จะมาอยู่ในความดูแลของเรา ในชีวิตของเรา ในกรรมของเรา
การช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นเมตตาธรรมที่ดี เช่นช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ ช่วยสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ แต่การเอาสัตว์มาเลี้ยงกลับกลายเป็นโทษ เพราะเราเอาสัตว์มายึดไว้เป็นของตัวของตน คือเป็นอัตตา หรือโอฬาริกอัตตา เป็นความยึดในระดับหยาบ ยึดในสิ่งที่มีรูปร่าง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วความทุกข์จะไม่เกิดเป็นไม่มี
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ปกติ ดังเช่นน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงกลับสร้างปัญหาไม่น้อยให้กับใครหลายๆคน ใครเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กดูแลง่ายก็รอดไป แต่ก็ยังมีปัญหาเช่น งูที่เลี้ยงหลุดออกมา จระเข้หลุดออกมา หรือมีภาระต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ต่างๆซึ่งไม่สะดวกเลย
การเลี้ยงสัตว์นำมาซึ่งการผูกกรรม ผูกภพ ผูกชาติด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงนั้น เคยเป็นอะไรมาในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท หรือศัตรูคู่แค้นก็ได้ เพราะถ้าไม่มีกรรมผูกกันมา ในชาตินี้เราก็คงจะไม่มาผูกกันต่อ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนคุ้นเคย แต่จริงๆมันไม่ดี ลองให้เราสลับไปเป็นสัตว์เลี้ยงดูบ้างไหมล่ะ…
การเกิดเป็นสัตว์นั้น คือการเกิดในภพของเดรัจฉาน เพื่อการชดใช้วิบากกรรมที่ทำไป สัตว์จะไม่สามารถทำกุศลได้มากนัก ไม่สามารถมีปัญญาได้มากนัก จะมีขอบเขตการเรียนรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ภารกิจจริงๆคือการชดใช้กรรม ต้องทุกข์ ต้องทรมาน ต้องลำบาก และตายไป จนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆจึงจะได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง
การที่เราเอาเขามาเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตสุขสบาย แทนที่วิบากกรรมเขาจะลด เขากลับเพิ่มความสุขในภพของเดรัจฉาน ติดสุขในภพเดรัจฉาน เมื่อวิบากกรรมไม่ได้ชดใช้ในชาตินี้ ถึงแม้จะตายไป เขาก็ต้องเกิดเป็นเดรัจฉานซ้ำๆ ไปจนกว่าจะใช้วิบากกรรมหมด
ดังนั้นการนำสัตว์มาเลี้ยง จะทำให้เขาพ้นทุกข์ช้า แทนที่เราจะปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตตามบาปบุญที่เขาทำมา เรากลับนำเขามาร่วมวิบากกรรมกับเรา ด้วยความหลง ด้วยความเสน่หา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าสัตว์นี้เป็นของฉัน เป็นเพื่อนของฉัน เป็นลูกของฉัน ก็อุปโลกน์กันไปตามแต่กิเลสจะนำพากลายเป็นการเพิ่มกิเลสทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ผูกกรรมกันด้วยการสะสมกิเลส พากันไปนรกทั้งคู่
บางครั้งเรามักจะนำเขามาเลี้ยงเพราะความรักความสงสาร แต่ความจริงถ้าเราปล่อยเขาอยู่แบบนั้นเขาก็อยู่ของเขาได้ ถึงแม้เขาจะตายมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา เพราะตายแล้วก็หมดกรรมไปอีกเรื่อง ถ้ายังไม่หมดวิบากก็กลับไปเกิดเป็นสัตว์ใหม่อยู่ดี เราเองนั่นแหละที่เข้าไปยุ่งกับเขา ไปพยายามมีส่วนในกรรมของเขา โดยถือเอาตัวเราเป็นใหญ่ พยายามที่จะไปกำหนดชะตาชีวิต ไปกำหนดกรรมของคนอื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย
สัตว์ใดไม่ได้มาหาเรา ไม่ได้มาให้เราช่วย ก็ให้เราปล่อยวางไว้ เพราะรู้ดีว่ากรรมก็เป็นแบบนี้ เขาก็ต้องทนทุกข์แบบนั้น เพราะกรรมที่เขาทำมา เขาเบียดเบียน คดโกง มัวเมา เสพอบายมุขมาเท่าไหร่ เขาจึงต้องตกไปอบายภูมิแบบนั้นเราเข้าใจดี ซึ่งเราก็จะมองเขาด้วยเมตตา แต่ก็จะไม่เอาภาระ เพราะการเอาภาระนี้นอกจากทำให้เราเองลำบากแล้วยังทำให้เขาพ้นทุกข์ช้าอีกด้วยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
แต่ถ้าสัตว์ใดบาดเจ็บ ทุกข์ทรมานอยู่ตรงหน้า ก็ให้พิจารณาหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาสบาย หายเจ็บป่วย เมื่อหมดหน้าที่อันสมควรก็ไม่ต้องไปแบกเขาเอาไว้ ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา ถ้าเขามีบุญจริงก็จะมีคนมาดูแลเขาต่อไปเอง
การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพาะพันธุ์สัตว์ ค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งผิดตามหลักของพุทธ ในบทของมิจฉาวณิชชา ๕ พระพุทธเจ้าท่านว่า ชาวพุทธไม่ควรค้าขายสัตว์ เป็นการค้าขายที่ผิด ดังนั้นการที่เราเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้คนอื่นอยากเลี้ยงตาม พอมีคนอยากเลี้ยงมากๆก็เกิดเป็นธุรกิจขายสัตว์ เป็นบาปทั้งคนเลี้ยงคนขาย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนใจจืดใจดำ แต่การที่เราจะคิดได้แบบนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เข้าใจภาพรวมของวัฏสงสาร เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนเห็นทุกการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะที่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
16.9.2557