Tag: เบียดเบียน
มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส
มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส
การกินมังสวิรัติในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนกินมังสวิรัติมักจะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ แต่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก บ้างก็กินเพื่อสุขภาพ บ้างก็กินเพราะประหยัด บ้างก็กินเพื่อภาพลักษณ์ บ้างก็กินเพราะยึดมั่นถือมั่น บ้างก็กินเพื่อลดกรรม บ้างก็กินเพราะเมตตา บ้างก็กินเพราะลดกิเลสฯลฯ
ผมได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาในเฟสบุ๊ค โดยมีชื่อกลุ่มว่า Buddhism Vegetarian โดยให้มีชื่อไทยว่า “มังสวิรัติวิถีพุทธ”
หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติมันเป็นพุทธอย่างไร แล้วกินแบบไหนจึงจะเป็นวิถีพุทธ แล้วถ้ามังสวิรัติเป็นวิถีพุทธจริง ทำไมยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย…
มังสวิรัติวิถีพุทธ ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาและหมายถึงนั้น คือการปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติ โดยใช้วิถีทางของพุทธ คือ วิธีการทั้งหมดเป็นไปเพื่อลดกิเลส เพื่อดับกิเลส คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นแนวทาง โดยมีสภาพหมดกิเลส หมดความอยากเสพเนื้อสัตว์ หมดความถือดี ยึดดี หลงตนเองว่าดีเหนือใครนั้นลงได้ ทั้งหมดนั้นคือการทำลาย กามและอัตตานั่นเอง
ซึ่งวิธีปฏิบัติที่จะนำมาใช้ก็เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสอนไว้แล้วตั้งแต่ 2600 กว่าปีก่อน ไม่ใช่วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่นำมาใช้กับกิเลสตัวหนึ่ง คือความอยากเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้นกลุ่มจึงพุ่งเป้าไปที่การกำจัดกิเลสตัวนี้ เพราะเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าใจกระบวนการล้างกิเลส จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในกิเลสตัวอื่นๆที่ตนเองยังยึดมั่นถือมั่นต่อได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพื่อการเริ่มต้น สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ต้องทำอย่างไร การกำจัดกิเลสต้องทำอย่างไร สภาพที่พ้นจากกิเลสจะเป็นอย่างไร เราจะมาร่วมแบ่งปันวิธีการที่ได้ปฏิบัติมาไม่ว่าจะถูกทางหรือผิดทางก็จะช่วยแนะนำและชี้แจง แถลงไขให้ตรงกับเป้าหมายของกลุ่มคือการกินมังสวิรัติโดยใช้วิถีของพุทธเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก
เหตุผลหนึ่งที่ต้องชี้ให้ชัดว่าเป็นวิถีพุทธนั้น เพราะการกินมังสวิรัติได้ ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสได้ หรือการที่กินมังสวิรัติเป็น ทำอาหารมังสวิรัติเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสเป็นเช่นกัน
คนที่กินมังสวิรัติได้นั้น อาจจะลดกิเลสได้จริง หรือลดไม่ได้ก็ได้ ซึ่งโดยส่วนมากก็จะเป็นสภาพที่กดข่มความอยากเอาไว้ ส่วนการทำลายความอยาก หรือล้างกิเลสนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามวิถีพุทธเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทำได้
การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะได้พบกับนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นผู้ทรงศีล มีสัตว์กินพืชมากมายเช่น วัว ควาย มันก็กินหญ้าทั้งชีวิต ไม่กินเนื้อเลย แต่มันก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร เช่นเดียวกัน ถ้าเรากินมังสวิรัติแบบไม่มีปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์กินพืชอื่นๆ
การเลือกกินมังสวิรัตินั้น เราต้องฝืน ต้องอดทนต่อกิเลส ที่สังคมมักจะบอกว่าเราเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงแค่สัตว์ที่กินตามกิเลสเท่านั้น วัว ควาย กินหญ้าเพราะมันจำเป็นต้องกิน แต่เรากินเนื้อสัตว์มากมายโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็นต้องกิน คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่พึงพิจารณาเอาเองว่าตนนั้นอยู่ในระดับไหน
ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติได้ เพราะกิเลสจะรั้งเราไว้ไม่ให้เราทำในสิ่งที่ดี กิเลสมักจะดึงดูดสิ่งที่ชั่วเข้าหาตัว แม้จะมีคนบอกว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเบียดเบียน แต่คนผู้มากด้วยกิเลสก็มักจะพยายามหาข้ออ้างมาให้ตนได้กินเนื้อสัตว์ได้อยู่ดี นี่คือพลังของกิเลสที่บดบังปัญญาของคน ทำให้คนไม่เอาดี ไม่เอาในสิ่งที่ดี
ถึงแม้ผู้มีปัญญาจะรู้คุณค่าในการกินมังสวิรัติและรู้โทษชั่วจากการกินเนื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติได้อย่างทันที ไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ทั้งหมดออกจากชีวิตได้อย่างทันที เพราะแรงของกิเลสนั้นผูกไว้มาก คนที่ผูกกิเลส สะสมกิเลสไว้มากก็จะแก้ยาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องทุกข์ทรมานมากหากต้องเลิกเนื้อสัตว์ในทันที ส่วนคนที่มีกิเลสน้อย หรือเคยล้างกิเลสมาก่อนแล้ว ก็จะแก้ได้ง่าย เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ง่าย
การกินมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น เป้าหมายคือดับความอยากจนสิ้นเกลี้ยงตามลำดับของกิเลสที่มี ใครที่ติดเนื้อสัตว์ใดมากก็เสพไปก่อน ใครที่พอลดได้ก็ลองลดดู ใครที่พอละได้บ้างในช่วงเวลาหนึ่งก็ลองละดู ใครที่คิดว่าละแล้วยังปกติดี มีความสุขดีก็ให้เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นไปเลย
แต่การกินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ได้ยาวนานนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถล้างกิเลสได้ ทั้งหมดที่ทำมาอาจจะเป็นเพียงการกดข่มกิเลสเท่านั้น วิธีทดสอบก็คือการกลับเข้าไปทดลองกินอีกครั้ง ถ้ากิเลสลดจริงๆ จะไม่รู้สึกสุขเหมือนอย่างเคย ดีไม่ดีจะทุกข์ด้วยซ้ำไป อาจจะทุกข์ด้วยอัตตา ทุกข์ด้วยความเข้าใจในกรรม หรือทุกข์ด้วยความยากลำบากในการกินเนื้อสัตว์นั้นก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ถ้าผ่านแล้วจะไม่มีความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจในการกินเนื้อสัตว์นั้นอีกต่อไป
…เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า การกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนาสอดคล้องไปด้วย เพื่อดับความอยากให้สิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่กดข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น แต่ต้องดับกิเลสให้สนิทเพื่อความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในชาตินี้ ชาติต่อไป และชาติอื่นๆสืบไป เป็นการเรียนรู้การกินมังสวิรัติข้ามภพข้ามชาติ เป็นนักมังสวิรัติตลอดกาลนับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของจิตดวงนี้ เพื่อประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เป็นไปด้วยความผาสุก
– – – – – – – – – – – – – – –
27.10.2557
ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้
ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้
การที่ชีวิตหนึ่งต้องพบกับการจากพรากจนถึงความตายนั้น ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของวิญญาณดวงนั้น ความตายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างกายอันคือภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งมีกรรมเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด
กว่าจะตาย…
ยกตัวอย่างเช่น พอเราชอบกินเนื้อสัตว์ กินอาหารปิ้งย่างมากๆ ด้วยกิเลสของเราจึงสร้างกรรมอันเบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เบียดเบียนย่อมมีโรคมากและอายุสั้น คนบางพวกที่กินเนื้อสัตว์มากจึงมีการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่นมะเร็ง นั่นคือสภาพหนึ่งของกรรมที่ส่งผล เป็นทั้งกรรมจากอดีตชาติคือกรรมจากกิเลสส่วนหนึ่ง กรรมจากผลที่ทำมาส่วนหนึ่ง และกรรมจากกิเลสที่ทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่งสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นสภาพของมะเร็ง
โรคที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “นาม” เข้าใจง่ายๆกันว่าอกุศลกรรม หรือพลังงาน หรือจะเข้าใจว่าบาปก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนนั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความอยากเสพ พอมีความอยากเสพมากๆ ก็จะไม่คิดถึงศีลธรรม ไม่คิดว่าชีวิตคนอื่นหรือสัตว์อื่นต้องได้รับทุกข์ร้อนใจอะไร เพียงแค่ได้เสพสมใจตนเองเท่านั้น จึงยินดีในการเบียดเบียนผู้อื่น ยอมสร้างกรรมกิเลสนี้ได้ เพียงให้ได้มาซึ่งความสุขลวง
เมื่อผลของการกระทำหรือวิบากกรรมชั่วนั้นสะสมจนลงตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงสร้าง “รูป” ขึ้นมาให้เห็น รูปในที่นี้คือสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ เช่น วัตถุ สิ่งของ ก้อนมะเร็ง หรือเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามาทำให้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นทุกข์
แม้จะตายก็ยอมเสพ…
สังเกตได้ว่าแม้ว่าคนเราจะรู้ว่าการสูบบุหรี่จะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน เหล้าและสารเสพติดจะนำมาซึ่งภัยต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ และการวิวาท หรือแม้แต่การกินเนื้อสัตว์ย่างจะมีผลให้ก่อเกิดมะเร็ง แต่เราก็ยังยินดีที่จะเสพสิ่งนั้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม เราก็ยังอยากจะเสพสิ่งนั้น ประมาณว่าขอตายก็ได้ เพียงแค่ให้ฉันได้เสพสมใจในสิ่งที่ฉันอยาก
มีชาวนาชาวไร่มากมายที่ต้องเสียชีวิตไปจากการสะสมของสารเคมีต่างๆในร่างกาย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นว่าสารเคมีเป็นโทษ หลายคนแม้ได้เห็นการตายของคนใกล้ชิดจากสารเคมีกลับมองว่าไม่ใช่เพราะสารเคมี แม้คนตายนั้นเองก็ไม่ได้โทษสารเคมีที่ใช้เลย นั้นเพราะเขามีอัตตา ยึดมั่นถือมั่นว่าสารเคมีดี สารเคมีเป็นมิตรกับเขาทำให้เขามีผลผลิตและร่ำร่วยมันไม่มีทางฆ่าเขา เห็นไหมว่ากิเลสคนเรามันรุนแรงขนาดไหน ขนาดว่ามันจะฆ่าเราตาย มันฆ่าญาติ พี่น้อง มิตร สหายของเราให้ตายไปแล้ว เรายังไม่เกลียดมันเลย
ดังนั้นความตาย หรือการพิจารณาเพียงแค่ความตายนั้นจึงไม่อาจจะนำไปล้างกิเลสได้เสมอไป เพราะบางครั้งกิเลสของเราจะหนาถึงขั้นยอมตายได้เพียงเพื่อให้ได้เสพสิ่งนั้น
เราตาย กิเลสไม่ตาย
เห็นได้เช่นนั้นว่า แม้ความตายก็ไม่อาจจะพรากกิเลสได้ และเมื่อเราตายกิเลสเหล่านั้นจะหายไปไหน?
กิเลสจะสั่งสมลงในวิญญาณ อยู่ในอุปาทาน ฝังไว้ในรากลึกๆ อยู่ในนาม อยู่ในกรรมของเรา รอวันเวลา ที่วันใดวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะได้ร่างกาย ก็จะนำกิเลสและกรรมส่วนหนึ่งมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นร่างนั้นๆ ดังเช่น ผู้ที่มักเบียดเบียนมักนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นชีวิตอื่น ก็มักจะมีโรคมาก
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเสพติดการกินเนื้อสัตว์มาก นอกจากจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่มาคร่าชีวิตเราแล้ว ยังสามารถให้ผลเป็นร่างกายที่อ่อนแอของเราในชาตินี้ด้วย นั่นเป็นผลที่มาจากการเบียดเบียนในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน
และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเกิดมาเป็นสัตว์หรือมนุษย์แล้วกิเลสก็ยังมีอยู่ จึงต้องเสาะหาสิ่งที่ตัวเองอยากเสพต่อจากชาติที่แล้ว เช่นเคยเสพติดเนื้อสัตว์ พอชาตินี้ได้มากินเนื้อสัตว์ก็เสพติด แม้คนอื่นเขาจะบอกว่ามันทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยอย่างไรก็ยังจะยินดีกินเนื้อสัตว์ ติดอยู่ในความอยากเสพเนื้อสัตว์ ออกไม่ได้ง่ายๆ
ต่างจากผู้ที่มีกิเลสเรื่องความอยากเสพเนื้อสัตว์เบาบางหรือล้างกิเลสแห่งความอยากเนื้อสัตว์นั้นได้แล้วเมื่อเขาได้ยินทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ ก็สามารถสลัดความอยาก เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นได้โดยง่าย นี่คือลักษณะของความไม่มีกิเลสที่ติดมาเช่นกัน ให้สังเกตว่าเราสามารถหลุดจากสิ่งนั้นได้ง่ายหรือยาก ถ้าง่ายก็คือบุญบารมีเก่า แต่ถ้ายากแสนยากก็ให้พากเพียรกันต่อไป ผูกกิเลสมาเองก็ต้องมานั่งแก้กันเอง
แม้เราจะตาย แต่กรรมไม่ตายตามเรา
เมื่อเรามีกิเลส กิเลสก็มักจะพาเราไปเบียดเบียนผู้อื่น และผลที่ได้กลับมาคือความสุขเพียงชั่วครู่ กับกรรมที่ต้องรับไว้จากการเบียดเบียน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเราว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น
หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมฉันต้องได้รับกรรมที่ฉันไม่เคยทำมาด้วย ชาตินี้ฉันยังไม่เคยทำใครเดือดร้อนขนาดนี้เลย!!
บางครั้ง บางเหตุการณ์ ก็อาจจะเกิดขึ้นจากผลกรรมในชาติก่อน สังเคราะห์รวมกันกับกรรมในชาตินี้ เช่นชาติก่อนเป็นคนชอบเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ชาตินี้ก็เลยต้องมารับกรรมด้วยร่างกายอ่อนแอ มีโรคมาก แถมในชาตินี้ก็ยังชอบกินเนื้อสัตว์ โปรดปรานเนื้อสัตว์ดิบ มักชอบเมนูสัตว์ที่สด เช่น ปลาสด ปูนึ่งสด ปลาหมึกสด กุ้งสด เมื่อกรรมเก่า รวมกับกรรมกิเลสใหม่ในชาตินี้ ก็จะสังเคราะห์ออกมาเป็นทุกข์ โทษ ภัยมากมาย อาจจะแสดงออกมาในรูปของโรคภัยไข้เจ็บ การสูญเสีย ปัญหาภาระหน้าที่การงาน หรือทุกข์ใดๆก็ได้ เพราะกรรมเป็นเรื่องอจินไตย อย่าไปเสียเวลาเดาผลของมันเลย รู้ไว้เพียงแค่ว่า เบียดเบียนคนอื่นแล้วต้องได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน
กรรมนี้เองเป็นสมบัติที่จะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับผลจนหมด จะหนักจะเบาก็ต้องรับไว้หมด ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกรรม เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องรับผลกรรมนั้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นในคนที่คิดเห็นว่า “ชาตินี้ฉันไม่ได้ทำชั่ว ทำไมฉันต้องรับกรรมด้วย” ก็นั่นแหละ คือกรรมเก่าของเรา เราทำมาเอง ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางได้รับหรอก เพราะเคยชั่วมาก็ต้องรับกรรมชั่วของเรา
คนเราเวลาได้รับกรรมดีมักจะไม่นึกย้อนว่าตัวเองเคยทำดีมา เพียงแค่คิดว่า โชคดี ลาภลอย จึงไม่ทำเหตุหรือความดีที่จะทำให้เกิดสิ่งดีในชีวิตนั้นอีก แต่พอเกิดสิ่งร้ายที่มาจากกรรมชั่ว ก็มักจะหาคนผิด หาว่าคนอื่นผิด โทษดินโทษฟ้า แต่ไม่โทษตัวเอง คนพวกนี้ก็จะทุกข์สุดทุกข์ และเมื่อมัวแต่โทษผู้อื่นก็จะไม่หยุดทำชั่ว สร้างกรรมชั่วนั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด นั่นเพราะเขาไม่ยอมรับกรรมชั่วที่ตนเคยทำมา เมื่อไม่ยอมรับก็ทำเหมือนมองไม่เห็น โกหกว่าไม่เคยทำมา เมื่อโกหก ก็ได้ทำชั่วไปแล้ว
ดังนั้นแม้เราจะเห็นว่าคนที่ทำดีจะตายไปจากอุบัติเหตุ หรือในเวลาที่เราคิดว่าไม่สมควรทั้งหลายนั้น ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความดีที่เขาทำในชาตินี้ก็จะช่วยส่งเสริมเขาในชาติต่อไป ในการเกิดครั้งต่อไป
คนชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะเห็นว่าคนชั่วบางคนตายจากไปอย่างง่ายดาย หรือยังไม่ได้รับกรรมอันสมควรก่อนจะตาย ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความชั่วที่เขาทำในชาตินี้ก็จะทำให้เขาต้องทุกข์ทรมาน แม้จะเกิดอีกกี่ครั้งเขาก็ต้องรับกรรมที่เคยเบียดเบียนผู้อื่นไว้ และรับไปจนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆ
เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีปัญญาก็จะพากเพียรทำแต่ความดี เพราะรู้ว่าสิ่งที่ดีที่เราได้รับนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการทำดีในกาลก่อน เพื่อไม่ให้ดีนั้นพร่องลงไป และเพื่อที่จะใช้ความดีนี้สร้างกุศลต่อไป เขาจึงหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยการล้างกิเลส ทำลายกิเลสอันเป็นเชื้อร้ายที่จะก่อกำเนิดสิ่งชั่ว นำมาซึ่งอกุศลกรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ดับกิเลสตอนนี้ก็สุขได้เลยตอนนี้ หมดกรรมจากกิเลสใหม่ไปเลยตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรอแบกกิเลสไปดับกันในภพหน้า ชาติหน้า ชีวิตหน้า
– – – – – – – – – – – – – – –
14.10.2557
แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว
แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว
หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว
ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส
เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม
แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?
การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่
ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง
การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้
ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล
หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน
ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว
ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ
ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป
คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน
จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี
ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร
ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย
หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ
เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ
กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น
ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ
หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร
มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว
คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ
เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน
และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน
คนติดดี
คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง
ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์
การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา
ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง
ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป
การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์
และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี
การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
29.9.2557
การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง
การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง
ในบทความนี้ ผมตั้งใจเรียบเรียงให้กับทั้งผู้ที่ระลึกถึงวาระสุดท้ายของตนเอง และผู้ที่ยังประมาท ใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินในกิเลส หลงมัวเมาในโลกธรรม จนหลงลืมว่าวาระสุดท้ายของเราเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ…
ผมมีประสบการณ์จากคุณยายของผมเอง ท่านเป็นมะเร็ง ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยม ไปพูดคุย ไปดูแลท่านอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรก จนกระทั่งอาการดีขึ้นก็กลับมาอยู่ที่บ้านสักพัก สุดท้ายก็อาการกำเริบต้องกลับไปนอนโรงพยาบาลและจากไปในที่สุด
ผมจำแววตาสุดท้ายของคุณยาย ก่อนที่ท่านจะไม่รู้สึกตัวได้ดี เราเข็นเตียงพาท่านไปตรวจแสกนอะไรสักอย่าง ท่านได้แต่นอนอยู่บนเตียง ผมมองหน้าท่านแล้วยิ้มให้ แต่แววตาของท่านนั้นเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความกังวล น้ำตาคลอที่เบ้า ผมรู้ดีว่าท่านกลัวผลที่จะออกมาจากการตรวจ กลัวที่จะรับรู้ความจริงที่โหดร้าย กลัวว่าจะต้องจากไป… ผมยังจำแววตานั้นได้ดี
คุณยายเป็นผู้หญิงแกร่งที่ต่อสู้มาทั้งชีวิต ซึ่งคุณตาก็เสียไปตั้งแต่ยายยังสาว ทำให้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกมา 5 คนด้วยตัวคนเดียว ทั้งยังสวดมนต์ ทำบุญตักบาตร ทำทานอยู่เป็นประจำ แต่ความแข็งแกร่งและบุญบารมีเหล่านั้นกลับกลายเป็นเพียงผงธุลี เมื่อเจอกับการบดขยี้ของความทุกข์จากมะเร็งและความตายที่กำลังจะคืบคลานเข้ามาเยือน
จากการเรียนรู้จากเรื่องราวของคุณยายทำให้ผมได้เข้าใจว่า เราจะมาคิดที่จะวางใจในนาทีสุดท้ายไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะถึงเมื่อไหร่ และบุญบารมีที่ทำมาเพียงแค่ทำบุญตักบาตร บริจาคทานและสวดมนต์นั้น คงไม่เพียงพอที่จะทำให้จิตใจเป็นสุขได้ในสภาวะที่ใกล้ตาย
การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย…
การวางใจก่อนนาทีสุดท้ายนั้นสามารถทำได้ แต่จะมีสักกี่คนที่จะทำใจให้วางได้จริงๆ ในเมื่อเรายังยึดสิ่งต่างๆอยู่ ยึดบ้าน ยึดตำแหน่ง ยึดหน้าที่การงาน ยึดครอบครัว ยึดบทบาทของตัวเอง ยึดมั่นถือมั่นทุกอย่างเป็นตัวเป็นตน จะให้คนนั้นทำอย่างนั้นจะให้คนนี้ทำอย่างนี้ คนนั้นต้องมาเยี่ยมไม่เยี่ยมฉันจะทุกข์ ถ้าคนนี้ไม่มาดูแลเอาใจฉันจะทุกข์ ถ้าครอบครัวไม่มาอยู่ร่วมกันในนาทีสุดท้ายฉันจะทุกข์
เรากำลังจะต้องโดนบังคับให้ทิ้งร่างนี้ไปอยู่แล้ว แต่เรายังไปสร้างภพ สร้างเงื่อนไข สร้างการยึดไว้ แล้วเราจะวางได้อย่างไร? เรายังไม่ยอมถอดหัวโขน ไม่ยอมถอดความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นอะไรของใครหลายๆคน ยึดมันเอาไว้แบบนั้น ก็คงจะจะเป็นไปได้ยากหากจะปล่อยวาง เพราะวางแค่ปากกับกายก็คงจะไม่ไหว เพราะสุดท้ายแล้วใจคือประธาน จะเป็นตัวที่กำหนดทุกข์ กำหนดที่ไปของเรา
ไม่ต้องกลัวหรือกังวลไปว่า ถ้าตายในขณะที่จิตเป็นทุกข์จะทำให้ไปนรก เพราะกรรมใดที่ทำมาแล้วให้ผลทั้งนั้น ถ้าชีวิตนี้ดีมาตลอด ชั่วไม่ทำ ทำแต่ดี ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไปที่ไหน ประตูนรกมันปิดไปหมดแล้ว มันก็มีแต่ดีน้อย ดีมาก ก็แค่นั้นเองส่วนคนที่ทำชั่วมามาก ชีวิตมีแต่อบายมุข มัวเมาในการเที่ยวกินเล่น หลงลาภยศสรรเสริญสุข ยึดมั่นถือมั่น จนเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น ก็อย่าไปหวังเลยว่าถ้าไปตั้งจิตให้มันเป็นกุศลในนาทีสุดท้ายแล้วมันจะไปดี มันก็อาจจะไปดีได้สักพัก พอหมดบุญกุศลที่ทำมาก็วนกลับไปใช้กรรมชั่วที่ทำมาอยู่ดี
อีกอย่างคือ เราเองก็ไม่ได้เกิดมาชาตินี้กันชาติเดียว เราตายกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็แค่จำกันไม่ได้ การตายไม่ใช่การจากไปอย่างถาวร อีกไม่นานเราจะกลับมาเจอกันใหม่เหมือนที่เราเจอในชาตินี้ ในเมื่อยังมีกิเลส มีตัณหา มันก็จะพาเรากลับมาเกิดใหม่อีกที อย่ากังวลเรื่องตายเลย เพราะสุดท้ายไม่ว่ายังไงช้าหรือเร็วก็ต้องไปเกิดมาใหม่อยู่ดี มาแบกทุกข์แบกสุขกันแบบที่เกิดกันในชีวิตนี้อยู่ดี
ความทรมานนั้น คือทุกข์จากวิบากกรรมที่เราได้ทำมา เป็นสิ่งเลวร้ายที่เราเคยทำมา หน้าที่ของมันไม่ใช่เพียงทำให้เราเจ็บปวด ทุกข์ ทรมาน สลด หดหู่ ฯลฯ แต่ยังทำให้เราได้ระลึกถึงสิ่งเลวร้ายที่เราได้ทำมา ว่าสิ่งนั้นมันได้ส่งผลถึงเราแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้เบียดเบียนย่อมเจ็บป่วยและมีโรคมาก …
จากวันที่เราเกิดจนถึงวันนี้ เรามีส่วนในการฆ่าสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารของเรามาเท่าไหร่ การมีชีวิตอยู่ของเราไปเบียดเบียนคนอื่นมากเท่าไหร่ ความเจริญในหน้าที่การงานของเราไปขัดขาใครไปสร้างทุกข์ให้ใครมาเท่าไหร่ ความฟุ่มเฟือยของเราทำลายทรัพยากรโลกมากเท่าไหร่ เราเคยได้ระลึกถึงมันไหม?
เราไม่เคยระลึกถึงกรรมที่เราเคยทำมาเลย แต่พอเจ็บป่วย ทุกข์ ทรมาน กลับมองหาคนผิด มองหาโจร มองหาผู้ร้าย คิดไปว่าฉันทำแต่ความดี ทำไมฉันต้องเจอเรื่องแบบนี้ …ถ้าคิดแบบนี้มันก็ทุกข์ เพราะในความจริงแล้ว เราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับนั้น เราทำมาทั้งนั้น เราทำอะไรก็ต้องรับอย่างนั้น สัจจะมีอย่างเดียวและเป็นจริงตลอดกาล ไม่มีทางดิ้น ไม่มีทางหนีได้เลย
เมื่อเราสามารถทำใจให้ยอมรับทุกอย่างที่ได้ทำมาไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติก่อนได้แล้ว ทุกข์ทางใจก็จะเบาบางจางคลายลง เราจะไม่หาคนผิด เมื่อเรายอมรับทุกอย่างด้วยความเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่เราทำมา เราก็จะเริ่มมาพิจารณานำจิตใจเราไปสู่สิ่งที่ดีงาม สิ่งดีที่เราเคยทำมา สิ่งดีที่เรายังพอจะทำได้
ในตอนนี้แม้เราจะเหลือเวลาอีกไม่มาก เรายังสามารถพูดดีกับคนรอบข้างได้ไหม? สามารถทำให้คนรอบข้างสบายใจได้ไหม? เพราะเวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลาปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต การทำความดีในขณะที่ยังมีลมหายใจนั้นสำคัญที่สุด เมื่อมีสติระลึกได้ว่าควรจะอยู่ปัจจุบัน ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำกุศลเท่าที่เวลาจะเหลืออยู่ การทำกุศลก็เพียงแค่ คิดดี พูดดี ทำดี ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องลำบากไปนิมนต์พระดังวัดไหนมาทำบุญหรอก เพราะการทำให้พระลำบากก็เป็นการเบียดเบียนพระไปอีก ถ้าไม่รู้จะทำอะไรก็ทำสมถะ บริกรรม พุท-โธ ไปก็ได้ เตรียมตัวเดินทางไปสู่ภพใหม่ด้วยใจที่ไม่คาดหวังอะไร ไปไหนก็ได้แล้วแต่กรรมจะพาไป
สิ่งหนึ่งที่ควรจะยึดอาศัยตลอดเวลาที่ยังมีลมหายใจและพาไปยังอีกภพหนึ่งด้วยนอกจากกรรมแล้วนั่นก็คือผู้ชี้ทาง ซึ่งก็คือการมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ว่าจะรู้สึกท้อแท้ ท้อถอย หดหู่ เจ็บปวดกี่ครั้งก็ตาม เราก็ยังจะยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่ง เราไม่พึ่งสิ่งอื่นนอกจากนี้
ผู้ที่หวังการบรรลุธรรมในช่วงนาทีสุดท้าย ขออย่าได้หวังไกลไปเลย เพราะไม่มีใครรู้ว่านาทีสุดท้ายนั้นจะเป็นอย่างไร ทำปัจจุบันให้ดีจะดีกว่า ตราบเท่าที่ยังมีสติและลมหายใจ แม้ร่างกายจะกลายเป็นแค่พืชผักก็ยังสามารถที่จะคิดดีได้ ซึ่งนั่นก็เป็นกุศลมากพอแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
7.9.2557