Tag: เบียดเบียน

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต…

October 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,202 views 0

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต...

ใกล้กลียุค จิตใจคน วิปริต

สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เลี่ยงศึกษา

มุ่งเสพกาม ยึดยั่วเย้า เมาอัตตา

เหมือนเป็นบ้า อวดมิจฉา ทิฏฐิตน

 

เห็นกงจักร เป็นดอกบัว นั่นหลงผิด

เห็นเบียดเบียน นั้นเป็นมิตร กับมรรคผล

อวดอ้างเกียรติ์ หยิ่งศักดิ์ศรี ทะนงตน

ยังเวียนวน อยู่ในโลก และอัตตา

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

วันเวลาได้ผ่านจากยุคที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความเจริญทางจิตใจสูงสุด ก้าวไปสู่ความเสื่อมอย่างที่สุดจนประมาณไม่ได้ ที่เรียกกันว่า “กลียุค” ซึ่งตอนนี้ก็เดินทางมาเพียงแค่กึ่งหนึ่ง กลับเห็นได้ว่าจิตใจของคนนั้นต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ในยุคที่ผู้คนไม่สามารถแยกแยะถูกผิดดีชั่วได้ มีแต่เรื่องผลประโยชน์ ตามจิตใจที่โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ปล่อยให้มีการฆ่าสัตว์ได้โดยไม่มีความละอาย โกงบ้านโกงเมืองจนฉิบหาย มีชู้มีกิ๊กยั่วกามกันให้วุ่นวาย โกหกปกปิดซับซ้อนไร้ความจริงใจ เพราะลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส และไม่เคยคิดจะศึกษาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สนใจเพียงแต่ฉันจะได้เสพอะไร ฉันจะได้ครอบครองอะไร ฉันจะได้เป็นอะไร ฯลฯ

คนส่วนใหญ่นั้นลุ่มหลงอยู่กับกาม อยากได้อยากเสพ ให้ชัดกันก็เรื่องกิน เป็นเรื่องที่แสดงว่าสังคมเสื่อมไปสู่กาม แต่ก็ไม่เคยมีใครตระหนัก ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย เมนูต่างๆล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมอมเมาคนผู้หลงในกาม ต้องอร่อย ต้องดูดี ต้องแปลกใหม่ ฯลฯ คนก็แห่กันไปเสพกามด้วยความเมา ตนเองเมายังไม่พอยังมาอวดชาวบ้าน เอามายั่วชาวบ้าน “นี่ฉันได้เสพกาม, ฉันสุขในกาม, พวกเธอจงมาเสพกามอย่างฉัน” เพราะมีความยึดว่ากามนั้นคือสุขของฉัน เป็นตัวฉัน ฉันต้องเสพกาม ฉันคือกาม เป็นตัวตนของกันและกันในที่สุด

แล้วก็หลงไปว่าการหลงในรสเสพรสสุขเหล่านั้นไม่เป็นไร ไม่ขัดขวางความเจริญ เราสามารถเสพกามไปได้ พร้อมๆกับปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ไปได้ อวดมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันชัดๆแบบไร้ยางอาย คือความเสื่อมของผู้ที่เห็นผิดเป็นถูก แล้วยกทิฏฐิตนเป็นใหญ่

เป็นสภาพที่เห็นผิดเป็นถูกโดยสิ้นเชิง มืดบอดอย่างไร้แสงใดๆจะเข้ามาทำให้ปัญญานั้นสว่างขึ้นมาได้ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปแล้ว ก็หลงยึดเอาว่ากงจักรนั้นคือความเจริญ แท้ที่จริงแล้วมันเป็นความเสื่อม ยิ่งขยันยิ่งเสื่อม ยิ่งเผยแพร่ก็ยิ่งเลวร้าย และที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องที่สุดในโลก เป็นเหมือนกับความเพี้ยนที่ซ้อนอยู่ในความเป็นพุทธ และแนบแน่นแนบเนียน จนคนจับไม่ได้ เป็นยิ่งกว่ามายากล ยิ่งกว่าภาพลวงตา เพราะมันคือมิจฉาทิฏฐิลวงใจ ก็เลยล่อลวงคนผู้ตาบอดให้หลงตามไปได้มากมาย

เมื่อถูกกิเลสครอบงำเข้ามากๆ จะไม่สามารถแยกดีแยกชั่วได้ จะมองเห็นว่าแม้ตนจะไม่เลิกเบียดเบียน ก็ยังสามารถเกิดปัญญารู้แจ้งบรรลุธรรมได้ นั่นคือสภาพที่เลี้ยงกิเลสไปด้วยแล้วปฏิบัติมิจฉามรรคไปด้วย คือหลงไปเข้าใจว่าการเบียดเบียนกับการรู้แจ้งในศาสนาพุทธนั้นไม่มีความเกี่ยวเนื่อง ไม่มีนัยสำคัญต่อกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระอริยะหรือสาวกแท้ๆ ของท่านนั้น คือผู้ไม่เบียดเบียน

การเบียดเบียนนั้นมีหลายมิติ ทั้งแต่หยาบๆ เช่นมัวเมาในอบายมุข, ผิดศีล ๕ และละเอียดไปจนผิดในอธิศีลอื่นๆตามลำดับ ยกตัวอย่างการเบียดเบียนหยาบๆเช่นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เพราะไปมีความเกี่ยวเนื่องกับการฆ่า ถ้าจะให้ไม่เกี่ยวคือไม่ต้องเอามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเลย ถ้ากินอยู่ก็เกี่ยว เอาตัวไปร่วม เอากรรมไปร่วม ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และนั่นหมายถึงเบียดเบียนตนเองด้วยเช่นกัน หรือยกอีกตัวอย่างคือการกินเหล้าสูบบุหรี่ มันเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเอามาใส่ร่างกายให้มันเบียดเบียนตนเอง เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา หาประโยชน์ไม่ได้ คนที่มีปัญญารู้ประโยชน์ในการหยุดเบียดเบียนตนเองก็มีทิศทางที่จะลด ละ เลิก ส่วนคนที่หลงในกิเลสก็จะมีข้ออ้างที่แสนจะสวยหรูเพื่อไม่ให้ตัวเองได้เลิก นี่เป็นเพียงการเบียดเบียนหยาบๆเท่านั้น

เมื่อโดนกิเลสหลอกเข้ามากๆ จนเสพติด ยึดติดเข้ามากๆ เมื่อมีคนมาทักว่าทำไมถึงไม่เลิก ทำไมยังเบียดเบียนตนและผู้อื่นอยู่ ทั้งที่มีเหตุปัจจัยให้เลิกได้โดยไม่เกิดผลเสีย ก็มักจะมีอาการตอบสนองที่รุนแรง มีการโต้กลับ เพราะยึดในเกียรติ์ ศักดิ์ศรี เพราะตนนั้นมีอัตตามาก ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีภาวะของอุเบกขาเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะอยู่ข้อหนึ่ง คือ “มุทุ” หมายถึงหัวอ่อนดัดง่าย มีความแววไวในการปรับเปลี่ยนไปทางกุศล จะไม่ต้านทานสิ่งที่เป็นกุศล แต่จะน้อมไปทางกุศล ในทางที่ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น แม้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นจะขัดกับสิ่งที่ตนเคยเข้าใจก็ตาม

เมื่อมีอัตตาจึงแข็ง ไม่มีอัตตาก็ไม่แข็ง โอนอ่อนพลิ้วไหวไปในทิศทางแห่งกุศล แต่ถ้ามีอัตตามากๆ จะไม่พลิ้วไหว จะยึด จะปักมั่น ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนเข้ามาหาตัวฉัน โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน ฉันถูกคนอื่นผิด ฉันเก่ง ฉันเยี่ยม ฉันดี ฉันเลิศ ทำให้ได้อย่างฉันหรือยัง ทำให้ได้อย่างฉันเสียก่อนแล้วค่อยมาติ ให้รู้บ้างว่าใครเป็นใคร … เป็นต้น

สรุปแล้วคนที่มีอัตตามากๆ แล้วยังหลงผิด คิดว่าจะมีมรรคผลได้โดยที่ไม่ลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้สร้างประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อม พวกเขาจึงยังคงหลงอยู่ในความเป็นโลก อยู่ในความเวียนวนของโลก เหมือนปลาตายที่ลอยไปตามน้ำ แล้วแต่ชะตากรรมจะซัดพาไป ไม่มีแรงขัดขืนโลก โดยมีอัตตาเป็นตัวปิดประตูตอกฝาโลงฝังตัวเองให้ยึดติดอยู่ในความเห็นที่ตัวเองเข้าใจเช่นนั้น ไปชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เลี้ยงฉัน เพื่อกินฉัน มันถูกต้องแล้วจริงหรือ?

September 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,183 views 0

เลี้ยงฉัน เพื่อกินฉัน มันถูกต้องแล้วจริงหรือ?

เลี้ยงฉัน เพื่อกินฉัน มันถูกต้องแล้วจริงหรือ?

การที่ฉันได้เกิดมาเช่นนี้ อยู่ในคอก อยู่ในกรง มันเป็นผลกรรมของฉัน

ถูกจำกัดพื้นที่ กินและขี้ในที่เดียวกัน มันก็เป็นผลกรรมของฉัน

ลากฉันไป ทุบตีฉัน เอามีดเชือดคอฉัน ก็เป็นผลกรรมของฉันเช่นกัน

แต่การเป็นเหตุหนึ่ง ที่ดลให้เขาทำสิ่งเหล่านั้นกับฉัน มันคือกรรมของคุณ!!

. . .

ลองคิดดูสิว่า หากชีวิตเราต้องเกิดมาในคอกเล็กๆ ที่มืดและอับชื้น

ต้องกินอาหารเมนูเดิมๆ ทุกวัน และยังต้องแย่งกันกินอีกด้วย

ที่กิน ที่นอน ที่ขับถ่าย ก็เป็นที่เดียวกัน เรานอนกันบนกองขี้

พอถึงวัยรุ่น จะมีเพื่อนๆ ที่ต้องแยกจากกันไปอย่างไม่มีวันกลับ

ถึงจะมีชีวิตโตขึ้นมาได้ก็มีแต่ช่วงเวลาเดิมๆ อยู่แบบเดิมๆ

ชีวิตนี้ถูกเขาเอามาเลี้ยงไว้โดยไม่รู้ว่าวันไหนจะต้องถูกเชือด

ถ้าแย่หน่อยก็ต้องกลายเป็นแม่พันธุ์ โดนเขากักไว้ในกรงแคบ

กรงที่ขนาดพอดีตัว ไม่มีที่ให้แม้แต่จะหมุนตัว เดิน วิ่ง….

โดนข่มขืนโดยตัวผู้ที่เขาจัดมาให้ หรือไม่ก็กระบอกน้ำเชื้อ

ต้องตั้งท้อง ต้องคลอดลูกกันซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า กี่ครอกก็ไม่เคยพอ

แถมลูกที่รัก ก็ยังจะต้องถูกพรากออกไป โดยไม่ทันได้ล่ำรา

วันเวลาผ่านไป โดยไร้ความหมาย ไร้คุณค่า อยู่อย่างชินชา

ถึงจะเบื่อยังไงก็หนีไปไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องขึ้นรถไปแดนประหาร

ดินแดนที่ผู้คนต่างไม่แยแสในความตายของเราพวกเขาล้วนสมยอม

เพราะเขาจะได้เอาเนื้อเราไปขาย เขาจะได้กินเนื้อเราเขาจะมีความสุข

. . .

การเลี้ยงเพื่อกินนั้น มันถูกต้องแล้วจริงหรือ? มันสมควรแล้วจริงหรือ?

มันไม่เบียดเบียนหรือ? มันเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์อย่างนั้นหรือ?

มันเป็นไปเพื่อเพิ่มวิบากบาปหรือไม่? มันคุ้มค่าที่จะทำอย่างนั้นหรือ?

แล้วชีวิตที่จำเป็นต้องอาศัยและพึ่งพาการเบียดเบียนเพื่อดำรงชีพ

การปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปเช่นนั้น จะเป็นชีวิตที่ประเสริฐแท้ได้อย่างไร…

ใครเล่าจะสรรเสริญ ใครกันจะยินดี ก็คงจะโดนเขาประณามและย่ำยีเรื่อยไป

– – – – – – – – – – – – – – –

26.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

September 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,436 views 0

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

*ภาพประกอบจากซีรี่พระพุทธเจ้า ที่มีความเห็นว่าสุกรมัทวะ คือเห็ด

สุกรมัทวะนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาอ้างอิง เมื่อมีความเห็นต่างในเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่

มีการตีความสิ่งนี้ไปโดยสองทิศทางใหญ่ๆ คือ เนื้อและไม่ใช่เนื้อ ส่วนที่เป็นเนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเนื้อหมูอ่อน ส่วนที่ไม่ใช่เนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน

แต่ในความจริงแล้ว“สุกรมัทวะ”จะเป็นอะไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครสามารถนำหลักฐานมาอ้างอิงได้ เพราะมันผ่านมาตั้ง 2500 กว่าปีแล้ว สิ่งที่เคยเรียกว่าสุกรมัทวะในอดีตนั้น ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ เพราะสัญญานั้นไม่เที่ยง เราไม่สามารถที่จะใช้สัญญาที่เรากำหนดหมายในตอนนี้ไปเทียบเคียงกับอดีตได้เสมอไป

ถ้ากล่าวกันถึงเห็ด ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมากมายที่ตายเพราะเห็ดพิษ คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษ เข้าใจว่าเห็ดกินได้ จึงนำมาประกอบอาหาร ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากมาย นี่คือข้อมูลในยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่มีความรู้ว่าเห็ดชนิดใดกินได้ ชนิดใดมีพิษ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถป้องกันความเข้าใจผิดของคนได้ 100 % นั่นหมายถึงไม่ต้องเดาเลยว่าเมื่อ 2500 ปีก่อนจะขนาดไหน….

ถ้าเทียบกับเนื้อหมู ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะมีใครตายทันทีเพราะกินเนื้อหมู นอกเสียจากว่าติดคอ อย่างช้าๆก็คงเจ็บป่วยเพราะพยาธิหรือเป็นมะเร็ง ถ้าเป็นเนื้อหมูสุกๆดิบๆที่กินแล้วทำให้ตายได้นั้น ก็คงจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะท่านตรัสไว้ในจุลศีลว่าไม่รับเนื้อดิบ ส่วนเรื่องย่อยยากนั้นถ้าหากเคี้ยวให้ละเอียดก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นเสียแต่กินเนื้อหมูที่เน่าและเป็นโรค ก็คงจะทำให้อาหารเป็นพิษได้ แล้วเนื้อหมูที่เน่าเสียนั้นสมควรประเคนให้พระพุทธเจ้าหรือไม่?

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับความเสื่อมของพุทธไว้ว่าจะเหมือนเป็นกลองอานกะ แม้จะมีชื่อว่ากลองอานกะ แต่วัสดุของกลองดั้งเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว ไม้ก็ถูกเปลี่ยน หนังก็ถูกเปลี่ยน เหมือนกับพุทธในวันนี้ แม้จะได้ชื่อว่าศาสนาพุทธที่พาคนพ้นทุกข์ แต่ไส้ในนั้นได้ถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว แม้มีชื่อว่าพุทธ แต่ไม่มีความเป็นพุทธเหลืออยู่แล้ว

เช่นเดียวกับมรรคที่ปฏิบัติไปเพื่อลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในสมัยนี้มักจะไม่มีทิฏฐิเช่นนี้กันแล้ว ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็มักจะมองว่า “สุกรมัทวะ” นั้นเป็นเนื้อหมู ส่วนผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็จะมองว่าสิ่งนั้นเป็นเห็ด ซึ่งเป็นไปตามทิฏฐิของตน

ถ้าถามว่าทิฏฐิเช่นไรจึงจะพาให้พ้นทุกข์ ก็ต้องชี้ชัดกันไปเลยว่า “เป็นผู้ไม่เบียดเบียน” หากความเห็นหรือกิจกรรมใดๆของเรานั้นมีส่วนให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน มีเราเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนนั้น เราย่อมระงับเหตุเหล่านั้นเสีย อย่าให้เราต้องเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ประสบทุกข์เลย หรือหากมีข้อจำกัดก็จะเบียดเบียนให้น้อยที่สุด แต่ทำประโยชน์ให้โลกคืนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียกว่าต้องประมาณให้อกุศลน้อยที่สุด ในขณะที่ทำกุศลให้มากที่สุด หรือจะเรียกว่าประโยชน์ตนประโยชน์ท่านก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

9.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แมวตัวนั้น

August 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,545 views 1

แมวตัวนั้น

แมวตัวนั้น

ระหว่างที่ค้นหาภาพประกอบบทความ ก็ไปเจอกับภาพหนึ่งที่เคยถ่ายไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อน เป็นภาพแมวเด็กตัวหนึ่งที่กำลังหลบหลังเสาและจ้องมองมาที่กล้อง

ผมเคยเลี้ยงแมวและผูกพันกับแมวมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่หลังจากแมวตัวสุดท้ายได้ตายจากบ้านไปเมื่อปลายปี 2555 ก็ไม่ได้นำสัตว์ใดๆเข้ามาในชีวิตอีกเลยซึ่งในใจก็ไม่ได้คิดอยากจะเลี้ยงอีก แม้ว่ามันจะดูน่ารักแต่มันก็เป็นภาระให้เราต้องคอยเป็นห่วงอยู่เสมอ

หลังจากนั้นผมก็ได้พบเจอแมวตามสถานที่ต่างๆ ก็มักจะให้ความสนใจกับมัน ทักทายมันบ้าง ถ่ายรูปมันบ้าง หรือแม้แต่จับมันบ้าง ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่าคงไม่ได้เป็นโทษเป็นภัยอะไรมากสำหรับความชอบแมวในระดับนี้

จนผมได้พบกับลูกแมวในภาพ มันอยู่ในวัด เล่นอยู่กับแม่และพี่น้องของมัน ด้วยความที่ผมชอบแมว ผมก็เลยเดินเข้าไปถ่ายรูป และคิดจะไปเล่นกับมัน แต่มันก็วิ่งหนี วิ่งไปสักพักก็หันมามอง เราก็เดินตามไป มันก็วิ่งหนีแล้วก็หันมามองอีก เราก็แอบนึกสนุก เลยตามมันไปสักพักใหญ่

สุดท้ายแล้วมันก็มาถึงทางตัน มันวิ่งขึ้นบันไดและพบกับลูกกรง ผมเริ่มรู้สึกว่ามันกำลังกลัว และกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ มันโดนพรากจากพี่น้องและแม่ของมันมา เพราะผมไปเดินตามมัน เราอาจจะไม่ได้คิดอะไรเพราะคุ้นเคยกับแมว แต่แมวเด็กตัวนี้ไม่คุ้นเคยกับเรา ไม่เคยเจอเรา มันก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา

มันเริ่มร้องส่งเสียงดัง ผมรู้ชัดเจนว่าควรจะหลีกออกไปได้แล้ว หากยังยืนอยู่มันก็คงไม่ได้ไปหาแม่ของมัน แต่ก็ยังแอบหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพ ภาพของแมวเด็กที่หลบหลังเสา แล้วโผล่หน้ามามองว่าคนแปลกหน้าคนนี้ไปรึยัง นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเดินตามแมวเพราะหมายว่าจะจับมัน ด้วยความหลงและความเคยชิน

หลังจากนั้นผมก็ไม่ค่อยได้ยุ่งกับแมวสักเท่าไหร่ ถ้ามันเดินผ่านก็จะจับมันบ้าง ลูบมันบ้าง แต่ไม่ถึงกับเดินเข้าไปหามันเหมือนเมื่อก่อน ตัวไหนที่เดินเข้ามาใกล้จึงจะไปยุ่งกับมัน

ต่อมาไม่นานนัก ผมได้คลายความหลงในตัวแมวลงเป็นลำดับ ผมเลือกที่จะไม่ยุ่งกับมัน เลือกที่จะมองมันเฉยๆ มองให้มันเดินผ่านมาและเดินผ่านไป แต่ก็ยังมองมันอยู่ ยังเห็นว่ามันน่ารักอยู่ ยังคิดถึงขนนุ่มๆที่เคยจับอยู่ แม้แต่การดูรูปแมวที่เขาโพสลงในอินเตอร์เน็ตทั้งหลายผมก็ยังมองว่ามันน่ารักดีอยู่เหมือนเดิม

จนกระทั่งตอนนี้ผมรู้แน่ชัดแล้วว่าการที่เราไปหลงชอบใจในแมวนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรเลย ในแง่ที่ร้ายที่สุดก็คือเราจะไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตมัน ไปควบคุมมัน และเอามันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราด้วยความหวังดีที่ไร้เดียงสา ไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นการเบียดเบียนมัน เบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ รวมถึงการเข้าไปยุ่งวุ่นวายในวิถีแห่งกรรมของมัน

ในแง่ร้ายที่ลึกยิ่งกว่าคือการไปหลงรักหลงชอบใจในสัตว์นั้นเอง คือจิตที่เราจะไปผูกกับสัตว์นั้น ไปหลงเสพหลงสุขจากมัน เอามันเป็นตัวตนของเรา ถ้าได้ดู ได้จับ ได้อุ้ม ฉันจะเป็นสุข ถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านั้นฉันจะเป็นทุกข์ มันทุกข์ตรงที่อยากเสพ พออยากเสพจึงพยายามหาทางให้ได้เสพอย่างที่ต้องการ ทีนี้มันจะหยุดไม่ได้ มันจะต้องทำให้ได้เพื่อที่จะเข้าไปดู ไปจับ ไปอุ้ม ซึ่งความอยากนี้ก็ว่าเป็นทุกข์แล้ว ถ้าไม่ได้สมอยากก็ทุกข์อีก นี่แหละคือการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง

ผมคงจะเร่งทำลายความหลงในแมวในเร็ววันนี้ เพื่อที่จะได้ไม่ไปเบียดเบียนมันด้วยท่าทาง ด้วยสัมผัส ด้วยวาจา ด้วยสายตา และไม่เบียดเบียนตนเองด้วยจิตใจที่ปนเปื้อนกิเลสนี้เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

16.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)