Tag: ปัญญา

กะลา 3 ใบ

February 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,351 views 0

กะลา 3 ใบ

กะลา 3 ใบ

ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยการใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์และสามารถประยุกต์ใช้กับกิเลสอื่นๆได้ (* เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม )

การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นดำเนินไปเพื่อ “ความเป็นกลาง ไม่โต่งไปทางด้านกามและอัตตา” คือไม่ไปเสพตามกิเลสและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ซึ่งในบทความนี้จะมาอธิบายความแตกต่างของการปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติกับการกินมังสวิรัติโดยทั่วไป

กะลา…

กะลา 3 ใบ จะถูกแทนด้วยสภาวะสามแบบ ใบแรก ก็คือกามในเนื้อสัตว์ การมีความอยากกินเนื้อสัตว์ ที่ยังไปกินเนื้อสัตว์นั้นๆอยู่ ยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้

ใบที่สอง จะเป็นอัตตาในเนื้อสัตว์ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อชีวิต เนื้อสัตว์มีประโยชน์ ไม่กินเนื้อสัตว์จะป่วย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต้องมีเนื้อสัตว์ หรือความยึดในมิติอื่นๆ เช่นยึดในกามคุณ คือติดรสชาติของเนื้อสัตว์ หรือยึดในโลกธรรม คือเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต ยิ่งกินเนื้อที่คนเขาว่าดีเท่าไหร่คนอื่นก็จะยิ่งชื่นชมและอิจฉามากเท่านั้น

ส่วนใบที่สาม จะเป็นอัตตาในมุมยึดดี เป็นความรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งวัตถุดิบทางตรงและสังเคราะห์ หรือยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งไม่ยอมให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์สัตว์เข้ามาร่วมในอาหารที่กิน ซึ่งอาจจะมีโลกธรรมเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการยึดเช่น อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี อยากให้คนชม อยากให้คนนับถือ

…ซึ่งกะลา 3 ใบนั้นแท้จริงแล้วก็คือภพที่คนเข้าไปติดไปยึดอยู่นั่นเอง เราจะมาอธิบายภาพกันต่อไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดของความต่างระหว่างคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ และคนที่ปฏิบัติธรรม

ก). คนที่ยังกินเนื้อสัตว์

คนที่ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะต้องกินตามความอยาก จะอยู่ในกามภพของเนื้อสัตว์ คือยังไปเสพ ไปติด ไปยึดในการกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าแบบหยาบๆก็คือเสพติดเนื้อสัตว์ขนาดว่าต้องตระเวนหาเนื้อที่เขาว่าดีมากิน ร้านไหนดีก็ตามไปกิน ถ้าแบบกลางๆ ก็คนกินเนื้อสัตว์ทั่วไป อย่างดีหน่อยก็พวกรักสุขภาพที่กินผักมากกว่ากินเนื้อสัตว์

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปกินอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในภพนี้ ยังไม่ตัดให้ขาด ยังวนเวียนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเลิกกินได้เป็นสิบปียี่สิบปี แล้ววนกลับมากินด้วยความอยากก็ถือว่ายังไม่สามารถทำลายกามภพได้

คนส่วนมากในสังคมปัจจุบันจะอยู่ในภพนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ภาพที่เห็นก็คือยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใต้นั้นก็คืออัตตาที่หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ดี การกินเนื้อสัตว์เป็นสุข เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดการพาตัวเองไปเสพเนื้อสัตว์ตามที่ใจอยาก

ข). คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

เมื่อเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์มากเข้า คนบางพวกจึงหันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็สามารถผ่านพ้นกามภพนั้นได้ นั่นหมายถึงไม่ไปกินเนื้อสัตว์อีกเลย

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสามัญสำนึกหรือการยึดดีถือดีโดยธรรมชาติของคน เป็นความดีทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกินเนื้อสัตว์คือการทำสิ่งไม่ดีทางอ้อม อยากทำดีก็เลิกกินเนื้อสัตว์มันก็เท่านี้

ความอยากให้เกิดดีนั้นคือหมายให้เกิดผล แต่เหตุคือจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรก็ได้เช่น ไม่อยากเบียดเบียน สงสารสัตว์ รักษาสุขภาพ ฯลฯ แต่ภาพสุดท้ายที่ได้จากการเลิกกินเนื้อสัตว์คือจะได้ภาพคนดีติดมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าใครพอใจในจุดนี้ก็มักจะจบที่ตรงนี้ กินมังสวิรัติได้ กินเจได้สมบูรณ์ก็จบไป ไม่ศึกษาต่อ เพราะได้อยู่ในภพคนดีที่ตนต้องการแล้ว

การเกิดภพเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่เป็นการกดข่มความอยากกินเนื้อสัตว์ไว้ด้วยความยึดดี เหมือนเอากะลาคนดีมาครอบความชั่วไว้ มันก็จะเห็นแต่ความดี ส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นไม่รู้ ซึ่งความยึดดีถือดีนี้จะสามารถกดข่มความอยากจนมิดเลยก็ได้

การกดข่มด้วยความยึดดีจะเปลี่ยนสภาพกามในเนื้อสัตว์มาเป็นกามในผัก แต่จะพัฒนาจนปรุงแต่ง รูปร่าง กลิ่น สี รส ของอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานว่าความอยากไม่ตาย เพียงแต่กดมันไว้ด้วยความยึดดี พอมันอยากแต่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากมันก็สร้างสิ่งทดแทนมาเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยนี้สิ่งทดแทนเหล่านี้หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป

ทีนี้ปัญหามันก็จะอยู่ที่ความยึดดีนี่แหละ ถามว่าคนที่อยู่ในภพเช่นนี้เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตได้ไหม? ก็จะบอกเลยว่าได้ เพราะเวลายึดดีถือดีนี่มันยึดกันข้ามภพข้ามชาติได้เลย บางคนเกิดมาชาตินี้แค่คิดก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้เลย อาการแบบนี้คือมีพลังกดข่มสะสมมามาก

แต่ถ้าถามเรื่องกิเลสก็จะไม่รู้ชัดแจ้ง ถามเรื่องความอยากก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำลายกิเลส แต่ใช้พลังสมถะ พลังจิต พลังเจโต อัตตาฝ่ายดีในการกดข่มความอยาก จึงเกิดสภาพ กดดัน อึดอัด ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เจ้าระเบียบ ไม่ปล่อยวาง ติดดียึดดี เต็มไปด้วยกฎ ไม่ยืดหยุ่น แข็งกร้าว เอาแต่ใจ หมกมุ่น ถือตัวถือตน โดนด่าไม่ได้ โดนดูถูกไม่ได้รังเกียจคนกินเนื้อ รังเกียจที่ต้องกินเนื้อสัตว์ ทุกข์เมื่อเห็นเมนูเนื้อสัตว์ฯลฯ

ยิ่งคนที่มีอัตตามากและฝึกสมถะมามากจะสามารถกดกามภพ คือไม่ไปเสพ กดรูปภพ คือไม่คิดจะเสพ ลงได้แบบไม่ทันรู้ตัว คือกดข่มแบบอัตโนมัติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ เอาง่ายๆว่าจะดูสงบไม่หวั่นไหวเหมือนผู้บรรลุธรรมกันเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นสภาพของจิตที่กดข่มความชั่วโดยอัตโนมัติแล้วสติไม่ทันรู้ตัวก็หลงว่าตัวเรานั้นพ้นจากอัตตาได้เช่นกันบางทีหลงเข้าใจว่าการกระบวนการทำงานของจิตเหล่านั้นคือสติไปด้วย ทั้งๆที่สภาวะใดๆที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่มีปัญญานั้นไม่มีสติเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น

จึงขอยืนยันเลยว่าการลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ทั้งชีวิต ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมที่ถูกแนวทางพุทธแม้แต่นิดเดียว แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีศาสนา หรือมิจฉาทิฏฐิที่เสื่อมที่สุดในโลกก็สามารถที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้

ค). คนที่ปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม โดยใช้วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้ามาเรียนรู้กิเลส โดยใช้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัตินั้นจะต่างออกไปจากการใช้ความยึดดีเข้ามากลบความชั่ว

เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องไปโดยลำดับนั้น จะให้ผลคือการทำลายทีละภพไปตามลำดับตั้งแต่เลิกกินเนื้อสัตว์ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ และทำลายความติดดี ยึดดีถือดีว่าฉันเป็นคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

นั่นคือการทำลายแต่ละภพที่จิตได้ยึดมั่นถือมั่นไว้โดยลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากการกดข่ม เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปโดยลำดับตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้ใช้อัตตาเข้ามากดข่มความชั่วแล้วเลิกกินเนื้อสัตว์ในทันที

ผลที่แตกต่างจากวิธีที่ใช้อัตตาเข้ามาช่วยในการเลิกกินเนื้อสัตว์ คือมีความยืดหยุ่น มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของความอยากกินเนื้อสัตว์ รู้เหลี่ยมรู้มุมของกิเลสที่เจอมา ไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆ แม้ว่าจะต้องกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆอีก

แต่โดยสามัญแล้วจะไม่ไปกินเนื้อสัตว์ เพราะมีปัญญารู้ว่ากินแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ไม่ใช่การไม่ไปกินเพราะความยึดดีถือดีด้วยอัตตา สภาพสุดท้ายจะเหมือนคนที่กินมังสวิรัติทั่วไป

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความต่าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจและพอใจที่จะอยู่ในภพแบบไหน บางคนยังอยากเสพ บางคนยังยินดีกับการยึดดี ชอบเป็นคนดี หรือจะเรียนรู้การทำลายภพก็สามารถเลือกเอาได้ตามกำลังศรัทธา

– – – – – – – – – – – – – – –

27.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

February 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,321 views 0

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

เมื่ออายุล่วงเลยเข้าไปถึงสามทศวรรษ สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งร่างกาย ความคิด โดยเฉพาะเสียงจากสังคม

โดยส่วนมากความเปลี่ยนแปลงของวัยจะมีผลอย่างมากกับผู้หญิงและมีสิ่งที่ทำให้กังวลใจเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เมื่อเข้าช่วงอายุประมาณ 30 ขึ้นไปจะต้องรีบหารถไฟขบวนสุดท้าย เป็นความเชื่อจากสังคมและโลกที่ปรุงแต่งให้เราคิดและกังวลเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของการมีคู่

ทำให้คนที่อยู่ในช่วงอายุนั้นๆเกิดความทุกข์ ความกังวลใจ จากกระแสสังคมและความเชื่อที่มีโหมกระหน่ำเข้ามาจนทำให้จิตใจสั่นไหว ไม่มั่นคง ไม่เป็นไปตามเหตุและผล แต่เป็นไปตามกิเลส เป็นไปตามโลกธรรม เป็นปลาที่ไหลไปตามน้ำ ในบทความนี้จะมาไขเสียงเรียกร้องของกิเลสที่มักจะได้ยินกันในสังคมของคนในช่วงอายุนี้กัน

1). ทุกข์ของคนโสด

เป็นคนโสดก็มีความทุกข์ในแบบของคนโสด เราเป็นคนโสดมาตั้งแต่แรกกันทั้งนั้น แต่ใครจะเสียความโสดไปในขั้นตอนไหนก็ลองมาศึกษากันเลย

1.1). โสดไม่เป็นสุข

พออายุเข้า 30+ ก็ยังโสดอยู่ คนรู้ใจก็ไม่มี คนที่เข้าตาก็มองไม่เห็น และด้วยความที่ยังโสดแต่ก็ไม่มีความสุข ชีวิตยังเหมือนขาดอะไรไป ยังพร่องอยู่ ไม่รู้สึกว่าเต็มเสียที มองเห็นคนมีคู่ก็คิดไปว่าถ้าเรามีก็คงจะสุข ใครเขาว่ามีคู่ก็มีความสุข มันก็เลยทำให้คนโสดไม่เป็นสุข เพราะไม่เห็นคุณค่าของความโสด ไม่มีปัญญารู้แจ้งในประโยชน์ของความเป็นโสด กลับไปเห็นดีเห็นงามในการมีคู่จึงทำให้โสดอย่างไม่เป็นสุข

โลกธรรมก็จะเข้ามาช่วยเร่งรัด เช่นเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิด เข้ามาบอกว่าทำไมไม่มีคู่ล่ะ, ไม่มีแฟนสักทีล่ะ, อยู่คนเดียวตอนแก่จะลำบากนะ, เป็นคู่ปฏิบัติธรรมก็ได้นะ เหตุผลร้อยแปดพันเก้ากระหน่ำเข้ามาด้วยคำพูดเสริมกิเลสซ้ำๆย้ำๆ จนคนโสดเริ่มเมาหมัด อยู่ไม่เป็นสุข ถึงแม้ว่าตอนแรกคิดว่าตั้งใจจะโสด แต่สุดท้ายก็อาจจะหวั่นไหวไปตามกิเลสจนต้องแสวงหาก็ได้

1.2). โสดแสวงหา

พอโสดอย่างไม่เป็นสุขและโดนความเชื่อตามที่สังคมเข้าใจกันว่าเมื่อใกล้ถึงวัยนี้ โอกาสลงจากคานช่างยากเต็มที ก็จะเริ่มแสวงหาใครสักคนมาช่วยทำให้ความโสดนั้นหายไป โดยมีตัวเลขที่เรียกว่าอายุเป็นปัจจัยเร่งรัด ทำให้หน้ามืดตามัวแสวงหาคู่อย่างไม่มีสติ ทั้งนี้ทั้งนั้นอายุที่สมควรจะมีคู่นั้นเป็นเพียงสมมุติโลก ในพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้ว่า เมื่อถึงกลียุคหญิงสาวจะแต่งงานและมีบุตรได้เมื่ออายุ 5 ขวบ แต่เมื่อผ่านพ้นกลียุคและเจริญไปจนกระทั่งมนุษย์มีอายุ 80,000 ปี หญิงสาวจะแต่งงานก็ต่อเมื่อมีอายุ 500 ปี ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติโลกทั้งนั้น และสิ่งที่เราเชื่อกันว่าขบวนสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่เราหลงเชื่อกันต่อๆมานั่นเอง เป็นค่าสถิติที่เก็บได้ แต่ใช้ตามความจริงไม่ได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของของตน ดังนั้นสถิติจึงไม่มีผลใดๆเลยในวิถีของพุทธ

และเมื่อตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่พบว่าหาไม่ได้เสียที หากกิเลสน้อยก็ปลงและจมทุกข์ไป หากกิเลสมากก็จะปรุงแต่งมากขึ้น เสริมสวยมากขึ้น แต่งโป๊มากขึ้น บริหารเสน่ห์มากขึ้น เอาง่ายๆว่ายั่วกิเลสหาเหยื่อนั่นแหละ ก็ใช้การเสริมกิเลสเป็นเหยื่อล่อกิเลสกันไป

โลกธรรมจะเข้ามาเสริมทัพของกิเลสโดยอาจจะมี ครอบครัว เพื่อน เป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ ชักนำคนนั้นคนนี้เข้ามาในชีวิตเพื่อช่วยให้เราได้แสวงหาหรือมีคู่ได้มากขึ้น คนที่อยากมีคู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อพลังของกิเลสไปในที่สุด

1.3). โสดเลือกได้

ทีนี้พอมีคุณสมบัติครบพร้อม รูปงาม เสียงงาม ฐานะ หน้าที่การงาน ฯลฯ เมื่อผ่านพ้นช่วงแสวงหาจนได้เป้าหมายมา อย่างน้อยๆก็จะมีมาให้เลือกหนึ่งคนหรือที่เรียกกันว่าคนที่ดูๆกันไป แต่ในสังคมทุกวันนี้ดูไปถึงร่างกายแล้ว แม้จะมีสัมพันธ์ทางกายกันแต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นคู่กันก็มีมาก เป็นความเสื่อมอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

คนที่มีโอกาสเลือกมากก็มักจะคัดเลือกคนตามกิเลสของตน ดังคำตัดพ้อที่นิยมในสมัยนี้ว่า “ชอบคนดี รักคนหล่อ แต่งงานกับคนรวย” สุดท้ายไม่ว่าจะดีแค่ไหน ปัจจัยที่จะมีน้ำหนักในการเลือกนั้นก็คือคนที่สนองกิเลสตนให้ได้มากที่สุด ใครสนองกิเลสของฉันได้มากที่สุด ต้องสนองเท่าที่ฉันต้องการได้ด้วยนะ ก็จะได้สิทธิ์เป็นทาสกิเลสของฉันไปจนตาย โดยไม่มีสิทธิ์เลิก

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลายคนใฝ่ฝันว่าจะได้คนที่เพียบพร้อมมาสนองตนเอง แต่ในชีวิตจริงนั้นมักจะไม่ได้สมใจทั้งหมด คนที่เข้ามาให้เลือกจะพร่องๆขาดๆ คนนั้นดีตรงนั้น คนนี้ดีตรงนี้ คนนั้นรวยแต่เลว คนนั้นดีแต่จน มันก็จะทำให้ชั่งน้ำหนักยาก เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์นักหรอก

ซึ่งเวลาเลือกก็คงจะมีไม่มากสำหรับคนวัย 30+ โลกธรรมจะเข้ามาเป็นตัวเร่ง ถามอยู่นั่น เร่งอยู่นั่น เมื่อไหร่จะเลือก คนนั้นดีนะ คนนี้ดีนะ คนนั้นจนอย่าไปเอาเลย คนนั้นเจ้าชู้แต่รวยเอาเงินไว้ก่อนดีกว่า พอมันไม่ได้มีแค่กิเลสของตัวเราเป็นตัวผลักดันแต่ยังมีกิเลสของญาติมิตรสหายที่กิเลสหนาเป็นตัวร่วม โสดที่เลือกได้ก็เหมือนจะไม่ได้เลือกด้วยเหตุและผลอันเป็นกุศล แต่มักจะเลือกด้วยเหตุที่สามารถสนองผลคือสนองกิเลสของฉันและหมู่คณะของฉันได้

2). ทุกข์ของคนไม่โสด

สุดท้ายแล้วพอโสดแล้วมันอยู่ไม่เป็นสุข มันทุกข์มากก็เลยมีคู่เสียเลย เอามาสนองความอยากเสียเลยจะได้ลดทุกข์ของการไม่มีคู่ลงบ้าง แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ทุกข์มันไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นและที่สำคัญโลกธรรมก็จะยังอยู่กับเราเช่นเคย

2.1). คบหาดูใจ

เมื่อเราเริ่มคบหาดูใจกัน หรือที่เรียกว่าเป็นแฟนกัน คือคนนี้แหละที่น่าจะเป็นคู่แต่งงานในอนาคต ตอนแรกก็คิดว่าจะคบหาดูใจกันไป แต่ในความจริงมันไม่เป็นแบบนั้น สภาพของแฟนในปัจจุบันแทบไม่ต่างกับคู่แต่งงาน เพียงแค่ไม่ได้จัดงานแต่งงานกันเท่านั้น

กิเลสจะเร่งเร้าให้ทำมากกว่าคบหาดูใจ คือพยายามจะคบหาดูร่างกายกันไปด้วย เมื่อพลาดพลั้งไปจึงเกิดสภาพผูกมัดที่มากกว่าแฟน เพียงแต่ยังเรียกว่าแฟนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นแค่เพียงปากทางแห่งนรกเท่านั้น

เมื่อคบหาดูใจกันในวัย 30+ คบกันไม่ทันไรก็จะมีแต่คำถามและคำแซวมากมาย หวานกันจังนะ, เข้ากันดีนะ, ดูเหมาะสมกันดีนะ, เมื่อไหร่จะแต่งงานกัน ฯลฯ เจอใครเขาก็ถามแบบนี้ กลายเป็นโดนโลกธรรมสะกดจิต ตัวเองก็ต้านกิเลสไม่เป็นอยู่แล้ว และโดยมากมักจะเห็นดีเห็นงามกับการแต่งงานเสียด้วย

สุดท้ายเมื่อโดนโลกธรรมรบเร้าจนกิเลสโต อยากแต่งงานขึ้นมาอย่างจริงจัง ก็เลยพยายามคุยกันเรื่องแต่งงานบ่อยๆ หาเหตุที่จะได้แต่งงาน ไม่มีเงินก็ขยันหา ไม่มีเรื่องราวก็พยายามสร้าง สรุปคือพยายามสนองกิเลสจนทั้งคู่พร้อมใจจะแต่งงานนั่นเอง

2.2). แต่งงาน

เมื่อแต่งงานแล้ว ด้วยวัย 30+ เรื่องที่ตามมาก็มักจะเป็นเรื่องของลูก คนจะถามกันว่าจะมีลูกไหม, รีบมีลูกนะเดี๋ยวไม่ทันใช้, มีลูกน่ารักนะ, คิดนานไม่ดีนะ, มีลูกตอนแก่สุขภาพจะไม่อำนวย, มีลูกตอนนี้พ่อแม่ยังช่วยดูแลไหว ฯลฯ โลกธรรมมันจะเข้ามายั่วกิเลสแบบนี้ จริงๆคือมันจะลากลงนรกไปด้วยกันนั่นแหละ

คนที่พอจะต้านทานกระแสโลกได้ก็แต่งงานแต่ไม่มีลูก อยู่กันไปแบบนั้น อย่างดีเลยก็ถือศีล 8 อยู่กันแบบพรหมไป เจริญในธรรมได้แบบมีวิบากกรรมตามมาหลอกหลอนประมาณหนึ่ง แต่ไม่มีทางเป็นสุขและสบายเท่าคนโสด ส่วนคนที่กิเลสหนาก็จะเห็นว่าการแต่งงานนี่แหละดี กิเลสมันบังอยู่แบบนี้มันก็จะเห็นแบบนี้ มันก็ถูกตามแบบของคนเห็นผิดแบบนี้

ส่วนคนที่ต้านทานกระแสโลกไม่ไหว และตัวเองก็อยากมีลูกด้วย สุดท้ายก็พยายามหวังให้มีลูก ที่ว่าหวังเพราะการมีลูกกับไม่มีลูกในปัจจุบันไม่ก็ไม่ได้ต่างอะไรที่กระบวนการนัก เพราะมีการสมสู่กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การจะติดลูกนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางคนมีลูกยากก็ทุกข์ บางคนมีลูกง่ายก็ทุกข์ มันก็ทุกข์ไปคนละแบบ

2.3). ครอบครัว

ทีนี้พอมีลูกแล้วองค์ประกอบของครอบครัวก็ครบพร้อมทันที เป็นชีวิตอุดมคติที่หลายคนใฝ่ฝัน เกิดเป็นสภาพที่โดนครอบไว้ออกไปไหนไม่ได้อีกต่อไป เป็นหนี้ เป็นทาส ขาดอิสระ ต้องเอาชีวิต เวลา พลังงาน ทรัพยากรต่างๆมาดูแลเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่คนนี้ ทุกข์ตรงนี้ต้องรับไปเต็มๆ

ส่วนชาวโลกที่มาช่วยเสริมโลกธรรมตั้งแต่แรกเขาไม่มารับทุกข์ด้วยหรอก เขามาเล่นกับเด็กแค่พอสนุกไม่นานเขาก็ไป ส่วนหน้าที่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวดูแลชีวิตเด็กคนนี้ไปอีกจนกว่าเขาจะตายก็อยู่ที่คนสร้างนั่นแหละ หน้าที่ดูแลบุตรมันไม่ได้หยุดแค่เขาทำงานเลี้ยงตัวเองได้นะ แต่มันต้องดูแลเขาไปตลอดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆและไม่ว่านานเท่าไหร่ เรียกง่ายๆว่าดูแลจนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ตัวเองสร้างมา

แล้ววิบากกรรมมันจะหมดได้อย่างไร ก็เมื่อตัวเองสร้างเด็กคนนั้นมา เด็กคนนั้นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราต้องดูแลนั่นแหละ ก็รับกันไปจนตายกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ บางทีตายแล้วยังไม่จบเลย เกิดมาใหม่ยังต้องมารับกันต่ออีก

….

ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอยากมีคู่ ไม่มีความอยากมีครอบครัวเป็นส่วนตัว แต่ถ้าเราไม่มีพลังพอที่จะต้านกระแสโลกธรรม เราก็จะหลงไปตามโลก หลงไปตามที่เขาว่าดี ตามที่เขายึดถือ หลงไปตามโลกียะนั่นเอง

แต่คนโดยส่วนมากนั้นมีความอยากมีคู่ อยากมีคนสนองกิเลส อยากมีครอบครัว อยากมีลูกมาเป็นหลักประกันผูกรั้งคู่ของตนไว้กับคำว่าครอบครัว (แม้สุดท้ายจะกลายเป็นบ่วงที่ผูกรั้งตัวเองก็ตาม) เรามักจะมีกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้รับแรงผลักดันจากกิเลสของสังคมและโลกหรือที่เรียกว่าโลกธรรม ก็มักจะละทิ้งความโสดและความปกติสุขไปโดยลำดับเพื่อแลกมาซึ่งบาป เวร ภัย ภาระ อกุศลกรรม เพียงเพื่อที่จะได้เสพสมใจตามที่โลกเขาเห็นว่าดี ตามที่โลกเขายอมรับ

คนที่อยู่ในวัย 30+ มักจะโดนแรงจากโลกธรรมกระหน่ำแบบนี้ และเมื่อต้านไม่ไหวก็จะเป็นทุกข์ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์ ต่างจากคนที่โสดอย่างเป็นสุข ที่เป็นสุขเพราะมีสภาพรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในเรื่องคู่ครอง โลกธรรมที่กระหน่ำเข้ามาไม่ว่าจะมากน้อยหรือรุนแรงซับซ้อนเพียงใดก็ไม่อาจจะทะลุทะลวงกำแพงแห่งปัญญาได้เลย มิหนำซ้ำปัญญาเหล่านั้นแหละจะไปทำลายโลกธรรมจนสิ้นซากไม่เหลือท่าใดๆเลย

ถึงแม้ว่าสิ่งที่จะกดพลังแห่งโลกธรรมไว้ได้คือการใช้อัตตา คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มีความมั่นใจในตัวเองสูง จะสามารถป้องกันภัยของโลกธรรมได้บ้าง ดังที่เห็นได้บ้างว่ามีคนจำนวนหนึ่งสามารถต้านโลกธรรมด้วยความแข็งแกร่งในตน นั่นก็คืออัตตา แต่ก็ยังไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดที่จะป้องกันกิเลสได้ เพราะดีกว่านั้นยังมี สุขกว่านั้นยังมี สมบูรณ์กว่านั้นยังมี

เราจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลสให้เข้าใจอย่างรู้แจ้งชัดเจน ถ่องแท้ในกิเลสเรื่องนั้นๆจนสามารถเห็นความจริงตามความเป็นจริง ข้ามพ้นกามและอัตตา ดำเนินอยู่บนทางสายกลางที่ไม่เปื้อนไปในด้านใดด้านหนึ่ง นั่นแหละคือที่สุดของการปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

26.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

February 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,917 views 0

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

ในชีวิตเรานั้นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ อาจจะรู้จักแค่คำว่าสะสม ไม่ว่าจะสะสมการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ สะสมทรัพย์สินเงินทอง สะสมสิ่งของ สะสมบ้านและรถ สะสมบริวาร สะสมบารมีชื่อเสียง สะสมความรัก สะสมความสุข ฯลฯ

เป็นเรื่องสามัญที่คนเขาทำกันทั่วไปในโลก จะว่ายากก็ยาก เพราะกว่าจะได้มาในแต่ละอย่างที่หวังไว้นั้น บางทีเอาทั้งชีวิตไปแลกก็ไม่พอ

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้ามีพลังของกิเลสเป็นตัวผลักดันแล้วล่ะก็ เราก็จะยินดีถวายชีวิตเพื่อที่จะให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพมาสะสม กิเลสจะทำให้เรายินดีเผาพลังชีวิตไปเพื่อให้ได้ความสุขที่ได้สะสมสิ่งเหล่านั้น

แต่การเลิกสะสมนั้นยากกว่าการสะสมมากนัก มีนักสะสมที่เก่งมากมาย รวบรวมของหายากมาไว้กับตัว เราสามารถเห็นนักสะสมทั้งสิ่งของ ความรู้ความสามารถ ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งของ โลกธรรมได้ไม่ยากนัก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นโดยทั่วไปในโลก แต่เรากลับไม่สามารถหาคนที่เลิกสะสมได้ง่ายนัก

การเลิกสะสมจึงเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในโลก ใครที่มีความรู้สึกที่อยากจะเลิกสะสม อยากสละ ไม่อยากเอามาเป็นภาระ เขาเหล่านั้นก็คือผู้พ้นภัยจากการสะสมจากสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

การจะสะสมนั้นต้องมีกลยุทธ์ในการแสวงหา มีขั้นตอนในการหามาครอบครอง เช่นอยากรวยก็ต้องเรียนในเรื่องที่ทำรายได้สูงๆ อาชีพที่รายได้ดี มีการเติบโตเจริญก้าวหน้าที่รวดเร็วหรือถ้าอยากรวยลัดก็เล่นพนัน หวย หุ้น ถ้าระดับหยาบๆ รวยลัดและมักง่ายก็ขายของเถื่อนหรือขโมยของกันเลย

การเลิกสะสมนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ในการสละออกเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันนี้ สิ่งที่คนเราสะสมล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไร้สาระและมอมเมาคน หากเราสละออกอย่างไม่มีศิลปะ สิ่งที่เราคิดว่าสละแล้วพ้นจากตัวของเราอาจจะไปก่อเวรภัยสร้างภาระให้กับคนอื่นก็ได้ การสละออกต้องใช้ปัญญาและศิลปะอย่างมาก ไม่ใช่แค่ปัดให้พ้นตัวเราเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย

ตอนที่เราสะสมมันจะมีกิเลสมาสร้างสุขลวงให้ แต่ตอนที่เราเลิกสะสมแล้วมันจะไม่มีกิเลสตัวเดิมนั้น ไม่มีความรู้สึกอะไรให้อยากเก็บไว้ ดังนั้นสิ่งที่เก็บสะสมไว้ก็จะกลายเป็นภาระทันที แต่เรามักจะไม่สามารถโยนภาระออกไปทันทีได้ เพราะวิบากบาปที่เราสะสมมาจะทำให้เราสลัดออกได้ไม่ง่ายนัก เราจึงต้องเรียนรู้การสละออกอย่างไม่ให้เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น

ซึ่งการสละออกอย่างไม่เป็นโทษ นั้นยากกว่าการแสวงหาและสะสมมากนั้น ต้องมีศิลปะและชั้นเชิงอย่างมากเพราะต้องรักษาความเป็นกุศลไว้ ส่วนการสะสมนั้นไปในทางอกุศลอยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็อกุศลอยู่ดี ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีผู้รู้ทั้งหลายออกมาเผยแพร่วิธีให้เป็นนักสะสมกันมากขึ้น เพราะมันไม่ต้องระวังอะไร แค่มีให้สะสมก็พอ ยิ่งสะสมได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นอกุศลเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะเห็นอกุศลเป็นกุศล เห็นสิ่งชั่วเป็นสิ่งดี เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติศีล (สมาธิ ปัญญา)

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,231 views 0

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้นเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป โดยปฏิบัติให้พอเหมาะกับกิเลสนั้นๆ

ศีล เหมือนดังเข็มทิศที่จะบอกว่าทิศทางที่เรากำลังจะไปนั้นต้องเดินไปทางด้านไหนเรากำลังมาถูกทางหรือผิดทาง

สมาธิ เหมือนดังกำลังที่จะพาให้เราปฏิบัติศีลไปจนตลอดรอดฝั่ง ให้เรามีความเพียรพยายามล้างกิเลสได้อย่างต่อเนื่อง

ปัญญา นั้นเหมือนดังเครื่องมือมีที่จะนำไปทำลายกิเลส เมื่อเราสามารถชำระกิเลสได้เท่าไหร่เราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลมากเท่านั้น

ในตอนที่เราเริ่มปฏิบัตินั้นเราจะเต็มไปด้วยกิเลส แต่เมื่อเราปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญารู้แจ้งทำลายกิเลส ปัญญาเกิดกิเลสก็หาย แต่ปัญญาไม่หายไปไหนเพราะสุดท้ายจะได้ปัญญาที่เป็นผลจากการทำลายกิเลส เป็นจิตใหม่ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ไม่เหมือนจิตตอนที่เริ่มปฏิบัติซึ่งตอนนั้นยังไม่มีปัญญา

1).มรรค

ในระหว่างที่เราถือศีล เพื่อปฏิบัติธรรม เราจะต้องใช้ปัญญาเท่าที่เรามีขุดกิเลส หากิเลส ทำลายกิเลสไปเรื่อยๆตามศีลที่เราได้ตั้งไว้ เช่น เราตั้งศีลว่าจะลดกาแฟ เราก็ใช้ปัญญาของเรานี่แหละพิจารณาโทษของกาแฟ ด้วยสมาธิ ด้วยความตั้งมั่น มีขันติ อดทนต่อความอยากกาแฟ ดำรงสภาพของสมาธิให้นานเท่าที่จะนานได้เพื่อพิจารณาธรรมต่างๆ

เพราะเมื่อกำลังสมาธิหรือพลังจิตหมด เราจะหมดแรงต้านทานกิเลสหรือทนความอยากกินกาแฟไม่ไหว ก็กลับไปกินบ้าง พอพักแล้วมีกำลังใหม่ก็อดทนใหม่ ใช้ปัญญากะเทาะกิเลสต่อไปเรื่อยๆ จะใช้พลังสมถะเข้าช่วยเพิ่มกำลังบ้างก็ได้ ซึ่งจะทำให้ช่วงของการละเว้นกาแฟนั้นยาวนานขึ้น มีเวลาให้เราเห็นทุกข์จากความอยากและพิจารณาความอยากนั้นมากขึ้น

การปฏิบัตินี้เองเรียกว่ามรรค หรือทางเดิน ซึ่งการจะเดินไปในทางสายกลางได้อย่างไม่หลงไปซ้ายหรือไปขวานั้น ต้องพยายามละเว้นการกลับไปกินกาแฟ และประมาณตัวเองไม่ให้รู้สึกทรมานจนเกินไปเมื่อความอยากกาแฟเกินจุดที่จะกดข่มไหว ซึ่งในระยะที่ปฏิบัตินั้นจะเดินปัดซ้ายขวาไปมาระหว่างทางโต่งสองด้านอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อเจริญขึ้นจะเริ่มนิ่งขึ้น จะเดินตรงขึ้น

เราไม่สามารถเข้าใจสัมมาอริยมรรคได้เพียงแค่การคิดหรือท่องจำ เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ดีเพียงใดแต่ในขณะที่เรายังมีกิเลสเราจะไม่สามารถเดินตามมรรคได้สมบูรณ์นัก ซึ่งก็ต้องปฏิบัติละเว้นทางโต่งสองด้านและใช้หลักสัมมาอริยมรรคเป็นตัวยึดอาศัยบนเส้นทางแห่งศีลนั้นเอง

2). ผล

ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติ เราจะได้ผลเป็นระยะๆ มรรคผลจะเกิดขึ้นทีละนิดละหน่อย ปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที

เราจำเป็นต้องปฏิบัติจนเห็นผลเจริญอย่างเป็นลำดับในจิตวิญญาณ ให้รู้ว่าวันนี้เราได้ผลเจริญขึ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราเห็นร้านกาแฟแล้วต้องแวะทุกทีเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้สัปดาห์หนึ่งถึงจะแวะ หรือไม่ก็แต่ก่อนเราต้องกินกาแฟทุกเช้าเลยนะแต่เดี๋ยวนี้ไม่กินก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ ไม่รู้สึกอยาก และไม่ได้รู้สึกว่ากาแฟจำเป็นอีกต่อไป

การที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นจะทำให้เราได้รับปัญญาที่เป็นผลโดยลำดับ และปัญญาเหล่านี้เองที่จะทำให้เราสามารถปฏิบัติศีลที่สูงขึ้น หรืออธิศีลในส่วนย่อยของศีลที่เราตั้งไว้ได้ ยกตัวอย่างว่าเราสามารถลดกาแฟที่กินต่อวันจากสองแก้วเหลือหนึ่งแก้วเพราะเรามีปัญญารู้ว่ากินสองแก้วต่อวันไม่ดี อยากกินไปก็ทุกข์ ฯลฯ เมื่อปฏิบัติศีลจนได้ปัญญาเป็นผล ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นจะเป็นฐานให้เราขยับขึ้นไปในระดับลดกาแฟต่อสัปดาห์ หรือเลิกกาแฟได้ง่ายขึ้น

เราจำเป็นต้องใช้ผลเจริญของปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติศีลนี่แหละเป็นฐานให้เราขยับฐานการละเว้นต่อไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถเลิกกาแฟ ชำระความอยากได้ทันที หรือไม่สามารถดับความอยากกินจนสิ้นเกลี้ยง แต่การที่เราสามารถถือศีลที่สูงขึ้น ยากขึ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะทนการบีบคั้นให้เห็นตัวกิเลสได้ดีขึ้น ยิ่งถือศีลที่ยากมากเท่าไหร่ก็จะสามารถเห็นกิเลสที่แอบหลบซ่อนอยู่ได้มากเท่านั้น

ก). ไตรสิกขากับกิเลสสามภพ

ความจริงจังในการปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าเราควรจะตั้งศีลเลิกตั้งแต่แรกแล้วยึดมั่นถือมั่นไว้ แบบนั้นอาจจะทำให้ทรมานจนโต่งไปด้านอัตตา จริงอยู่ที่ว่าเป้าของเราคือเลิกกาแฟ แต่เราควรตั้งใจลด ละ เลิกไปตามลำดับเพื่อเป็นไปตามหลักการปฏิบัติไตรสิกขา คือการเรียนรู้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นั่นก็คือการพัฒนาระดับศีล สมาธิ ปัญญา จากการ ลด ละ เลิกไปตามลำดับนี่เอง

ทั้งนี้การทำไปตามลำดับก็เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความหยาบ กลาง ไปจนถึงละเอียดของกิเลสชนิดนั้นๆ กิเลสนั้นมีสภาพอยู่สามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การที่เราถือศีลที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆจะค่อยๆทำให้เห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในแต่ละภพชัดเจนขึ้น เมื่อเห็นกิเลสจึงจะสามารถใช้สติปัญญาทำลายกิเลสได้ และศีลนี้เองคือสิ่งที่ควรประมาณให้เหมาะกับฐานะของตน

หากเรายังอยู่ในกามภพ คือสภาพที่เรายังไปกินกาแฟอยู่ เราก็ตั้งศีล ลด ละ เลิกกาแฟไปตามลำดับจนสามารถเลิกได้เด็ดขาดแล้ว จึงตั้งศีลในระดับของรูปภพ

สภาพของรูปภพคือยังมีความอยากกาแฟให้เห็นอยู่ มีความรู้สึกว่ายังอยากกินอยู่แต่ไม่กิน พอเข้ารูปภพจะต้องตั้งศีลที่ยากขึ้นอีกคือละเว้นความอยากกินกาแฟ แม้ความอยากกินกาแฟเกิดก็ผิดศีล เพราะความอยากที่เกิดเพียงในใจก็สามารถสร้างมโนกรรมได้แล้ว

เมื่อละรูปภพได้แล้ว เห็นกาแฟก็ไม่อยากกินเหมือนก่อนแล้ว ก็จะเข้าอรูปภพ หมายถึงสภาพที่ไม่สามารถเห็นกิเลสเป็นรูปได้อีกต่อไป ไม่มีความคิดว่าอยากกิน แต่เห็นกาแฟแล้วก็ยังไม่สบายใจ ยังแอบมอง ยังแอบสนใจ ยังรู้สึกดี มีคนจะซื้อมาฝากแม้จะปฏิเสธแต่ก็ยังแอบเสียดายอยู่ลึกๆ มีอาการที่ร่างกายเกิดขึ้นมาฟ้องบ้าง เช่นกลืนน้ำลาย น้ำลายไหล เราคิดว่าใจเรามันไม่อยากแล้วนะ แต่จิตใต้สำนึกมันยังอยากอยู่ มันยังมีอาการอยู่ ถ้าเข้าแบบนี้ก็ต้องตั้งศีลละเอียดขึ้น คือทุกอาการสั่นไหวของกายและจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกาแฟ ต้องละเว้นและทำลายกิเลสละเอียดที่แอบซ่อนนี้ให้ได้

3).มรรคผล

ถ้าเราตั้งศีลว่าเราอยากเลิกกาแฟนั้นอาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่าย แต่อาจจะยังติดอยู่ภพใดภพหนึ่งของกิเลสอยู่ ดังนั้นการตั้งศีลที่ว่าอยากจะพ้นจากความอยากกินกาแฟทั้งกาย วาจา ใจ นี้เป็นศีลที่พาให้เกิดกุศลมากกว่า เข้าถึงกิเลสได้จริง เห็นกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงมีโอกาสที่จะถึงวิมุตติจริงๆ

เมื่อเราปฏิบัติศีลโดยลำดับจากง่าย กลาง ยาก จนสามารถผ่านกิเลสที่ดึงรั้งเราไว้ให้อยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพได้แล้ว ก็เหมือนว่าเราสามารถพาตัวเองออกจากถ้ำกิเลสได้ ออกมาพบความจริงตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับการทำลายกิเลสเมื่อเราสามารถหลุดพ้นจากกิเลส เราจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ

เช่นถ้าเราทำลายความอยากกินกาแฟ เราก็จะรู้ทุกเหลี่ยมทุกมุมในกิเลสเกี่ยวกับเรื่องกาแฟที่ผ่านมาของเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้เรื่องกิเลสในกาแฟทั้งหมดในโลก แต่ก็เพียงพอที่จะรู้ว่ามันติดเพราะอะไรและจะออกจากกาแฟได้อย่างไร นั่นเพราะตลอดเวลาที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นเราก็จะได้ปัญญาและเจริญขึ้นมาโดยลำดับ สุดท้ายเมื่อเราทำลายกิเลสทั้งหมดเราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นไว้ใช้เพื่อเป็นธรรมทานให้คนอื่นใช้เป็นแนวทางในการทำลายความอยากกาแฟต่อไป

การปฏิบัติธรรมจนถึงผลนั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ ไม่ใช่การทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่หากเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้และละเว้นสิ่งที่เป็นโทษออกจากชีวิต พัฒนาจิตใจโดยการใช้ ศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อเกิดความเจริญไปโดยลำดับ จนสามารถรู้แจ้งมรรคผลได้ด้วยตนเอง คือรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสเหล่านั้นและรู้ผลที่เกิดขึ้นเมื่อทำลายกิเลสเหล่านั้น

จึงกลายเป็นผู้ที่ไม่มีความสงสัยในกิเลสเหล่านั้นเพราะรู้แจ้งเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จนสามารถดับความอยากซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยง

– – – – – – – – – – – – – – –

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มเติมได้ที่ …

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)