Tag: ความอยาก

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,651 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,927 views 0

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ

ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้

ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น

…อัตตาบังความจริงใจ

สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย

อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน

ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้

ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์

ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ

…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ

สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ

เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ

ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้

…ความหลงผิดในสมถะวิธี

เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด

สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก

แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น

สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ

เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย

…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์

มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง

นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน

…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ

การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก

ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก

…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก

สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร

ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,542 views 0

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

เป็นระดับที่สองต่อจาก “กินร่วมโต๊ะ” แต่ก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก ยังคงต้องใช้พื้นฐานเดิมคือ ”สติสัมปชัญญะ”ความรู้ตัวพร้อมแบบทั่วไป และ “สติปัฏฐาน ๔” คือรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม

ซึ่งสติทั่วไปนั้นเอาไว้รู้ตัวเพื่อไว้ใช้ในกรณีที่จะตัดสินใจใช้ขันติในการกดสภาพความอยากหรือใช้ธรรมอื่นใดเข้ามากด ลด ข่ม ตบอาการอยากนั้นๆก็ตามแต่เหตุการณ์ ส่วนสติปัฏฐานนั้นมีไว้เพื่อตรวจสอบและพิจารณาล้างกิเลส ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาธรรมต้องมีสติที่สมบูรณ์พร้อมตลอดสายไม่ปัดอาการอยากทิ้งจนหายหมดเกลี้ยง ไม่ตบทิ้งด้วยตรรกะหรือเหตุผลใดๆจนไม่เหลือเชื้อให้พิจารณาธรรมได้ต่อ ถ้ามีสติไว้ตัดอาการอยากนั้นถือว่าเป็นสมถะวิธี แต่ถ้ามีสติตลอดจนถึงจบการพิจารณาธรรมถือว่าเป็นวิปัสสนาวิธี

ในกรณีของเราจะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่จะใช้วิปัสสนาเป็นตัวหลักและสมถะเป็นตัวเสริมในบางกรณี ซึ่งจะไม่ยกขึ้นมากล่าว แล้วแต่ว่าใครจะทนความอยากไหว ใครทนไหวก็ไม่ต้องกด ใครทนไม่ไหวก็ใช้สมถะกดไว้ก็ได้

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ในขั้นตอนนี้จะเริ่มมีความยากในการวิเคราะห์กิเลสขึ้นมา ผู้ที่ไม่เห็นว่ากิเลสคือเชื้อร้ายที่เป็นตัวผลักดันให้เรากินเนื้อสัตว์ ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสสำคัญต่อการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนควรละเว้นการอ่านต่อไปเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

จะไม่มีประโยชน์ใดเกิดขึ้นหากท่านไม่มีคุณสมบัติเบื้องต้นดังที่กล่าวเมื่อตอนต้นของบทความหรือไม่มีความต้องการในการเรียนรู้กิเลส หากท่านยังคงยินดีในการที่ท่านกินมังสวิรัติได้โดยไม่สนใจความอยาก ข้อความต่อจากนี้จะเริ่มเป็นภัยต่อทิฏฐิของท่านอย่างมาก

ขอให้ท่านประมาณกำลังสติของตัวเองให้พอดี เพราะไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบความขุ่นเคืองใจของท่านนอกจากตัวท่านเอง จะขอย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการจะกินมังสวิรัติ แต่เหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้การลดกิเลสโดยใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ หากท่านพิจารณาดีแล้วว่าเหมาะควรที่ตนเองจะเรียนรู้เรื่องกิเลสก็สามารถอ่านต่อไปได้ แต่หากพิจารณาเห็นว่าเรื่องราวอันยุ่งยากเหล่านี้ไม่เหมาะกับท่าน ท่านต้องการเพียงแค่กินมังสวิรัติเท่านั้น ก็ขอแนะนำให้ปิดบทความนี้เสีย

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมจาน

การกินร่วมจานนั้นหมายถึงเราต้องกินอาหารที่มีทั้งเนื้อสัตว์และผักในจาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็จะใช้การเขี่ยผักเข้ามา เขี่ยเนื้อสัตว์ออกไปดังที่เรียกกันว่า”มังเขี่ย” หรือไม่ก็เป็นการที่เราต้องกินอาหารร่วมหม้อกับคนอื่นเช่นกรณีของต้มยำ ต้มจืด สุกี้ ชาบู หรืออะไรก็ตามที่มีเนื้อและผักร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีแยกหม้อจะขอยกไว้ในการกินร่วมโต๊ะแทนเพราะไม่ถือว่าเป็นการกินร่วมจาน ผลของการตรวจกิเลสออกมาจะไม่เหมือนกันเพราะวัตถุดิบคือเหตุการณ์ที่มีนั้นต่างกันออกไป จุดสังเกตในการตรวจสอบนี้คือเรารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องไปข้องแวะกับเนื้อสัตว์หรือมีเนื้อสัตว์อยู่ในหม้อเดียวกัน เราแยกความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากการกินมังสวิรัติได้ไหม หรือเรายังคิดว่าการกินร่วมจานนั้นหมายถึงยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์

เราจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวขุดคุ้ยกิเลสของเรา หากผู้ใดที่ไม่มีสังคม ไม่มีโอกาสทดสอบในสถานการณ์เหล่านี้ ก็ขออภัยจริงๆที่ต้องบอกว่าท่านอาจจะกำลังมาผิดทาง เพราะการปฏิบัติธรรมของเราไม่ใช่การแยกตัวกับสังคม ยังคงต้องปฏิบัติไปพร้อมกับอยู่ในสังคม ให้ปนแต่ไม่เปื้อน หากท่านไม่มีกลุ่ม ไม่มีโอกาสในการทดสอบในด่านนี้ ก็ให้กลับไปทดสอบตัวเองในด่านก่อนในตอน “กินร่วมโต๊ะ” ท่านจะไปหาวิธีใดให้เกิดการกินร่วมโต๊ะโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ ในโรงอาหารหรือในร้านค้าที่เป็นที่นิยมที่ต้องเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์อย่างใกล้ชิด

หากว่าขาดผัสสะหรือสิ่งกระทบในการกระตุ้นกิเลสเหล่านี้ บทความทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแค่นิยายบทหนึ่งที่ไม่มีความหมายอะไร เราจำเป็นต้องไปเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำมาหรือท่องมา แต่เป็นการสัมผัสทุกความอยากของตัวเองด้วยร่างกายและจิตใจของตัวเองซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกที่จำเป็นต้องผ่านหากจะเรียนรู้การล้างกิเลส

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

หากว่าเรากินร่วมหม้อหรือร่วมจานกับผู้อื่นแล้ว เรายังมีอาการเขี่ยเนื้อเข้าตัว แอบควานเนื้อสัตว์เข้าหาตัว หรือพยายามกินผสมโรงให้รู้สึกว่าเหมือนไม่ผิดในการกินเนื้อสัตว์ ท่านกำลังอยู่ในกามภพที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเดิม เพราะในแบบตรงไปตรงมาก็คือทนความอยากไม่ไหวแล้วลองกินเลย แต่คนที่ไม่จริงใจกับตัวเองก็จะทำเป็นเนียนกินไป แบบนี้ยากจะบรรลุธรรมเพราะมีการกลบเกลื่อนไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นเห็นความอยากแม้ว่าจะตักกินอยู่อย่างชัดเจน

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ จะไม่ทำเนียนกินหรือพยายามจะกินอีกต่อไป แต่จะพยายามกดข่มอาการอยากไว้ในภพ ในสภาวะที่ตัวเองไม่กิน เพื่อให้ตัวเองไม่ไปกิน ใจนั้นอยากกินอยู่ เห็นเนื้อสัตว์ที่ปนกันก็ยังอยากกินอยู่ แต่ด้วยความยึดว่าต้องมังสวิรัติจึงหักห้ามใจได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในกามภพ ซึ่งแม้ว่าจะหักห้ามใจให้ไม่ไปหยิบกินได้นั้น ก็ยังมีความอยากอยู่เต็มใจ อยากชัดเจนจนได้ยินเป็นคำพูดปรุงแต่งอยู่ในใจว่า น่ากินนะ อยากกินนะ น่าอร่อยนะ

ผู้ที่อยู่ในอรูปภพ หรือภพที่ไม่มีรูปของความอยากให้เห็นเป็นตัวตนชัดๆแล้วก็จะไม่มีอาการอยากใดๆแสดงออกมา มีแต่อาการไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เพราะลึกๆในใจมันอยากกิน แต่มันไม่มีคำปรุงแต่งใดๆแล้ว กินชาบูมีเนื้ออยู่ในหม้อเต็มไปหมดก็สามารถลวกผักกินได้ หรือกินเมนูผักกับเนื้อก็สามารถเขี่ยผักมากินได้ แต่ในใจมันยังวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์ มันยังมอง ยังจ้อง ยังรู้สึกเสียดาย มันไม่โล่ง ไม่ยอมทิ้งเนื้อสัตว์อย่างเต็มใจ ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่

การพ้นสามภพนี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในโจทย์นี้นั้นไม่ง่าย เพราะความที่เราเคยติดเนื้อสัตว์มามาก ความอยากมันยังมีอยู่มาก การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายถึงไม่อยากกินเนื้อสัตว์มันคนละเรื่องกัน ถ้าคนตีความผิดไปว่ากินมังสวิรัติได้คือไม่อยากกินเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงไปหลายขุม เพราะการกินมังสวิรัติได้กับการดับความอยากในการกินเนื้อสัตว์เป็นคนละเรื่องกัน แม้ผลจะออกมาเหมือนกันคือไม่กินเนื้อสัตว์ แต่จิตใจข้างในจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้ที่ยังวนเวียนอยู่ในสามภพนี้จะต้องทุกข์ทรมานจากความอยากเสพ แม้ได้เสพก็ทุกข์ แม้ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ต้องกดข่มนั่งเขี่ยกินผักอย่างเศร้าหมอง หดหู่ เป็นมังสวิรัติที่ไม่สดใส ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม เป็นเพียงการใช้สมถะวิธีเข้ามากดข่มความอยากแล้วติดอยู่ในรูปภพ หรืออรูปภพเท่านั้นเอง

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

คนที่มีอัตตาแรงจะออกอาการรังเกียจตั้งแต่แรก คือตั้งแต่อ่านบทความนี้เลยว่าทำไมตัวเองต้องไปกินร่วมกัน มันมีน้ำซุป น้ำมันหอย น้ำปลา ฯลฯ คนพวกนี้จะกินมังสวิรัติได้แต่ไม่เห็นความอยาก ไม่มีปัญญารู้ในเรื่องของกิเลส เขาแค่กินมังสวิรัติได้ก็พอใจแล้ว และหลงยึดว่าต้องมังสวิรัติ 100% นั่นถึงจะเรียกว่าดีที่สุด

ซึ่งการที่สัตว์ใดจะกินแต่ผักทั้งชีวิตได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา วัวควายมันก็กินหญ้าทั้งชีวิตไม่เห็นมันจะบรรลุธรรมตรงไหน มันก็ยังเป็นวัวเป็นควายอยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับคนกินมังสวิรัติโดยไม่มีปัญญา เขาก็กินกันไปได้นะ เพียงแต่ว่าไม่รู้เรื่องกิเลส แต่ก็จะรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปที่ใช้กดข่มความอยากเช่น สุขภาพ การเบียดเบียน เมตตา บุญ(กุศล) กรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป การถือศีลแบบไม่มีปัญญาหรืองมงายนี่เองที่เรียกว่า ถือศีลอย่างอุปาทาน คือถือไว้อย่างยึดมั่นถือมั่น เป็นลักษณะของคนกินมังสวิรัติที่เคร่งและเครียด แต่ก็ไม่รู้สาระข้างใน รู้แต่มันไม่ดี มันเบียดเบียน ฯลฯแล้วก็ใช้ความรู้เหล่านั้นกดข่มความชั่วคือกดข่มการไปกินเนื้อสัตว์เอาไว้ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นการกดข่ม ไม่ใช่การล้างกิเลส

ดังนั้นคนที่มีอัตตาแรงก็จะไม่เห็นด้วยกับการทดสอบนี้ตั้งแต่แรก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เขาเข้าใจเพียงแค่ว่ากินมังสวิรัติก็พอแล้วทำไมต้องมาทดสอบกิเลสกัน เขาจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นและยังไร้สาระ นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ของคนไม่เหมือนกัน ใครที่อยากกินมังสวิรัติเพราะไม่อยากเบียดเบียนก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบจิตใจแบบใดๆเลยก็ได้ ก็เพียงแค่กินมังสวิรัติไปก็เท่านั้น ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เรื่องกิเลสนั้นก็จำเป็นจริงๆที่จะต้องมีโจทย์ในการขัดเกลากิเลสของเขาเหล่านั้น

คนที่มีอัตตาผ่อนลงมาบ้างก็จะยังมีความยินดีที่จะอ่าน แต่ก็ไม่ยินดีที่จะกินร่วมกับคนอื่น ไม่ยินดีที่จะกินมังเขี่ย หรือไม่ยินดีที่จะกินร่วมหม้อกับคนกินเนื้อสัตว์ จะมีอาการรังเกียจ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอแยกหม้อหรือไม่ไปกินร่วมกันหรือหาร้านที่กินแยกจานกันเลยก็จะดีกว่าจะพยายามผลักตัวเองเข้าสู้การกินร่วมโต๊ะดีกว่าต้องมากินร่วมจาน

ทั้งนี้เป็นเพราะอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติผลักให้เกิดอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ซึ่งคนกินมังสวิรัติจะหลงว่าอัตตาเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนดี แต่ความจริงแล้วมันเรียกว่านรกคนดี เป็นนรกขุมที่หลอกให้คนที่นึกว่าตัวเองเป็นคนดียินดีที่จะเดินเข้าสู่นรกอันคือความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยความยินดี

การที่เรายังมีอัตตาหรือความรังเกียจในเนื้อสัตว์หรือรังเกียจคนที่กินเนื้ออยู่ จะผลักดันให้เราสร้างบรรยากาศกดดัน ขุ่นมัว แสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ การคิดในใจเพียงว่าไม่ชอบไม่ยินดีที่จะร่วมจานก็สร้างทุกข์ให้กับตัวเองแล้ว มันเห็นทุกข์กันอยู่ชัดๆแต่คนมีอัตตาก็จะยินดีแบกทุกข์นี้ไว้เพราะหลงเข้าใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันต้องทุกข์เมื่ออยู่กับคนที่ยังกินเนื้อ

ในมุมของการล้างกิเลส คนดีที่ติดดีนั้นก็ยังชั่วอยู่ดี มองไปก็ยังเป็นนรกเหมือนกับคนกินเนื้อสัตว์อยู่ดี แต่เป็นนรกคนละขุม อย่าไปแบ่งเลยว่าใครต่ำกว่าใครสูงกว่า เพราะนรกของใครก็ของมัน คนที่ติดดีอาจจะสร้างบาปเวรภัยได้มากกว่าก็ได้ อาจจะไปกดดันหรือระรานชีวิตคนอื่นได้มากกว่าคนกินเนื้อก็ได้ใครจะรู้

ถ้ายังรู้สึกว่าตนเองไม่พอใจที่จะต้องกินร่วมจาน ร่วมชาม ร่วมหม้อกับคนกินเนื้อแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย เรากำลังติดอยู่ในอัตตา

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในด่านนี้จะค่อนข้างยากขึ้นมาทั้งในด้านการตรวจใจและยากที่จะผ่านความอยากที่ละเอียดขึ้นและเข้ามากระแทกใกล้ขึ้น จากโจทย์ที่แล้วคือการกินร่วมโต๊ะ เนื้อสัตว์ก็ยังห่างออกไปคนละจาน แต่ครั้งนี้เราต้องกินร่วมจาน ตัวเราจะต้องเข้าใกล้เนื้อสัตว์เข้าไปอีก เป็นการบีบให้ตัวเองได้เห็นกิเลสอันคือกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่ข้างใน

ผู้ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาหรือไม่มีญาณปัญญาจะไม่สามารถจับสภาวะใดๆของจิตที่เกิดขึ้นได้เลย อยากก็ไม่รู้ ไม่อยากก็ไม่รู้ เรียกว่าไม่ละเอียดเรื่องจิตวิญญาณ การทดสอบนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกและเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสมา

จริงอยู่ที่ว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่คนที่กินมังสวิรัติอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เรามักจะเห็นคนกินมังสวิรัติที่อุดมไปด้วยอัตตา ยึดดีถือดี ไปขัดแย้งกับชาวบ้านที่ยังกินเนื้ออยู่เป็นประจำ ชอบแสดงทัศนคติ เผยแพร่ความรู้โดยที่คนอื่นเขาไม่ต้องการ ไปยัดเยียด กดดัน บีบคั้นให้เขาเห็นดีในมังสวิรัติโดยใช้สมถะวิธี

ในความจริงแล้วเราต้องเข้าใจว่าปัญญาบารมีของคนเราไม่เท่ากัน เราบำเพ็ญมาไม่เท่ากัน บางคนใช้แค่สมถะวิธี เอาความดีไปกดข่ม แค่เห็นภาพสัตว์ตายก็สามารถหลุดออกมากินมังสวิรัติได้ บางคนต้องให้ข้อมูลวิจัย บางคนแม้จะมีทุกอย่างแต่เขาก็ยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันจะจบตรงเรื่องของกิเลสเพราะกิเลสนี่เองคือรากแห่งความอยาก เป็นตัวสร้างทุกข์แท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมาตั้งแต่กว่า ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว

ดังนั้นถ้าชาวมังสวิรัติไม่เรียนรู้เรื่องกิเลสก็จะไม่ฉลาดในการสอนคนให้ถูกกับฐานะ ไม่สอนให้ถูกกับจริต จะพยายามยัดความรู้ตามที่ตัวเองได้เรียนมา ได้เห็นมา ใครหลุดมาได้จากภาพสัตว์ถูกทรมานก็ประกาศด้วยภาพสัตว์ตายอยู่แบบนั้น ใครหลุดมาด้วยข้อมูลทางการวิจัยก็แสดงข้อมูลทางการวิจัยอยู่อย่างนั้น ใครหลุดมาได้ด้วยเมตตาก็ประกาศเชิญชวนให้เมตตาอยู่แบบนั้น ยัดไปตามที่ตัวเองเห็นว่าดี พยายามจะเปรียบเทียบ อัดกระแทกให้เกิดจิตสำนึก ยัดข้อมูลเข้าไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ฉลาดในการปรับข้อมูลตามจริตของผู้รับสาร ไม่รู้กาลเทศะ จะเป็นมังสวิรัติแบบแข็งๆ รู้อย่างเดียวว่าเนื้อหาสาระนี้ดี ฉันหลุดพ้นจากการสื่อสารแบบนี้ “ดังนั้นถ้าฉันทำแบบนี้เธอก็ต้องรับได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาดเป็นคนจิตใจต่ำทราม” จากฉัน เพื่อนร่วมโลกผู้มีอัตตาหนาเตอะ

สรุปแล้วเรื่องกามมันก็เห็นไม่ยากเท่าไหร่ เพราะในส่วนของ ”ความอยาก” ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างจริงใจมันก็จะเห็นชัด ส่วนอัตตาเป็นเรื่องยากสุดยากที่จะเห็น เพราะใครเล่าจะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครจะยอมรับว่าตัวเองยึดดีถือดีในมังสวิรัติ หากไม่ได้เจอแบบทดสอบก็คงจะไม่รู้ และหลายคนถึงแม้จะมีบททดสอบมากมายในชีวิตก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเรียนเรื่องกิเลสมาก่อน จึงปล่อยเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบเหล่านั้นให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

จึงขอหยิบยกพุทธพจน์บทหนึ่งมากล่าวไว้ “ วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,669 views 0

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

การตรวจสอบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถประคองสติได้ดี และเข้าใจในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เข้าใจกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างเป็นองค์รวมเพื่อตรวจสอบและฆ่ากิเลส หากท่านไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว การตรวจสอบเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆเลย ซ้ำยังเป็นโทษเพราะการที่ไม่มีความเข้าใจในกิเลส ไม่เข้าใจในการวิปัสสนา ไม่เข้าใจธรรมจะทำให้เข้าใจความหมายและตีความเนื้อหาในบทความนี้ผิดได้

ในบทความนี้เราจะตรวจสอบกันสองอย่าง 1. กาม หมายถึงกามภพ การที่เข้าไปเสพไปติดไปยึดเนื้อสัตว์อยู่ และตรวจไปถึงรูปภพ อรูปภพ 2.อัตตา หมายถึงสภาพยึดดีถือดี

การอ่านและทำความเข้าใจตามบทความนี้แล้วนำไปทดสอบในชีวิตจริงหากยังเกิดสภาพของกามและอัตตาขึ้นอยู่ถือว่ายังไม่ผ่าน ให้เพียรพยายามฝึกฝนตัวเองล้างกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วค่อยกลับมาตรวจใจอีกครั้ง

ขั้นตอนที่1).กินร่วมโต๊ะ

เมื่อเราต้องไปกินอาหารร่วมกันกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ญาติมิตรสหาย หรือกระทั่งคนรัก เราซึ่งเป็นคนกินมังสวิรัตินั้นก็มักจะมองหาเมนูผักละเว้นเนื้อสัตว์ ซึ่งในครั้งนี้เราสามารถสั่งเมนูผักมากินเป็นส่วนตัวได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเมนูเนื้อสัตว์มากมายวางอยู่บนโต๊ะ เราไม่สามารถเบือนหน้าหนีสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่น่ากลิ่น กลิ่นที่น่าดม รสที่เคยติด สัมผัสที่เคยคุ้น มันยังคงหลอกหลอนอยู่ข้างหน้า

ขั้นตอนที่2). ตรวจสอบกาม

ถ้าหากเรายังมีความอยากอยู่ อาการของเราก็จะออกชัด อย่างเช่นผู้ที่ยังอยู่ในกามภพ คือยังหยุดเสพไม่ได้ ก็จะมีข้ออ้างสารพัดที่ทำให้กลับไปกินเนื้อสัตว์ในวงอาหารนี้เอง บางคนนี่ถ้าเขาอยู่คนเดียวก็ไม่กินแล้วนะ แต่ถ้ากินเป็นกลุ่มทีไรก็พลาดทุกที อันนี้คือยังไม่สามารถออกจากกามภพได้อย่างเด็ดขาด

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ คือมีความอยากเป็นรูปให้เห็นเช่นมีคำพูดในใจว่าอร่อย อยากกิน น่ากิน ฉันอยากกินแต่ก็อดกลั้นบังคับตัวเองไม่ให้ไปกินได้ อาการจะออกเป็นการมองไปที่เมนูเนื้อสัตว์บ่อยๆ น้ำลายสอ อยากกินแต่กดข่มไว้ ผู้ที่มีสติดีและจริงใจกับความรู้สึกของตัวเองจะรับรู้อาการได้อย่างชัดเจน ผู้ที่อยู่ในรูปภพจะดูดีเหมือนคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสมบูรณ์เพราะไม่กินแล้ว แต่จิตใจข้างในยังอยากกินอยู่ คนที่ไม่ยอมรับความรู้สึกอยากก็คือคนมีอัตตามาก ยึดดีมาก เรียกภาษาชาวบ้านว่าเก๊กหรือทำเป็นเก่ง

แต่รูปภพก็ยังถือว่าดี เจริญขึ้นมาในระดับหนึ่งแต่ก็ต้องระวังอัตตาด้วยเพราะอัตตาที่หลงว่าตัวเองเก่งนี่เองคือตัวบังไม่ให้เราเจริญในธรรมขั้นต่อไป เราจำเป็นต้องรับรู้ตามความเป็นจริง ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจเป็นไปตามธรรมชาติไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเก๊ก ไม่ต้องกดข่ม ยังไม่ต้องรีบหาเหตุผลมาบอกว่าเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ในขั้นตอนนี้เราจำเป็นต้องทำให้เห็นปริมาณความอยากก่อน เมื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นจึงจะสามารถเห็นความอยากได้ชัด เพราะถ้าเรามัวไปหมกมุ่นกับภาพลักษณ์หรือมัวแต่เก๊กก็ยากที่จะเห็นความอยากของตัวเอง

เมื่อไม่เห็นความอยากของตัวเอง ไม่เห็นกิเลสของตัวเอง ก็ปิดประตูในการล้างกิเลสของตัวเองไปเลย เพราะไม่เห็นแล้วมันก็ไม่รู้จะล้างอย่างไร นักมังสวิรัติจะมาติดอยู่ในรูปภพนี้กันมากเพราะจะใช้การกดข่ม ใช้ตรรกะ ใช้ความดีเข้ามากดไว้ ทำให้มีอัตตา ไม่ยอมมองไปที่ความอยาก มองเห็นแค่เพียงกินเนื้อสัตว์ไม่ดี แต่ถ้าใครจะยินดีอยู่ในภพนี้ก็ไม่เป็นไร ก็แล้วแต่ใครจะเลือกกรรมแบบไหนให้ตัวเอง

ส่วนผู้ที่มาติดอยู่ในอรูปภพ คือ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแม้ว่าจะเอามาวางล่อตรงหน้าก็ไม่รู้สึกว่าอยากกิน แต่อาจจะยังเหลือความรู้สึกเสียดาย เป็นความรู้สึกขุ่นมัวที่ไม่ใส ไม่ยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ แต่จะไม่ออกอาการใดๆให้คนอื่นหรือตัวเองเห็นได้ชัด ต้องใช้สติที่ละเอียดจับความเปลี่ยนแปลงของกาย หมายถึงทั้งจิตใจและร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีอาการที่สังเกตได้ยาก เล็กๆ เบาๆ สั้นๆ เหมือนกับฟ้าผ่า ฟ้าแล่บ เมฆฝนขมุกขมัว คนที่ไม่มีญาณปัญญาหรือตัวรู้กิเลสจะจับกิเลสใดๆในอรูปภพนี้ไม่ได้เลย เหมือนจะไม่มี มองไม่เห็น แต่จริงๆแล้วมันยังมีอยู่แต่จับมันไม่ได้ มันยังเป็นความอยากที่เหลืออยู่เล็กน้อยที่ทำให้ขุ่นมัวในใจ ในระยะเริ่มต้นต้องใช้อาการทางกายสะท้อนให้เห็นเอาเช่นน้ำลายไหล เสียงท้องร้อง แต่ถ้าเก่งๆจะรู้ได้เองว่ากิเลสยังเหลืออยู่หรือไม่คนที่ติดอยู่ในภพนี้จะดูดีมาก ดูเหมือนไม่ทุกข์ร้อนแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์แต่ถ้าไม่ยอมล้างกิเลส ก็มีสิทธิ์ที่จะวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้เหมือนที่เราเห็นนักมังสวิรัติหลายคนที่กลับไปกินเนื้อสัตว์แล้วไม่สามารถกินมังสวิรัติได้อีกเลย นั่นเพราะกิเลสมันแอบโต เพราะใช้วิธีกินมังสวิรัติโดยการกดข่มความอยากไว้สุดท้ายก็จะทนความอยากไม่ได้วันใดวันหนึ่งชาติใดชาติหนึ่งก็จะเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์

การพ้นจากกิเลสสามภพ ตั้งแต่ กามภพ รูปภพ อรูปภพในโจทย์ข้อนี้นั้นเพียงแค่เหตุการณ์กินร่วมโต๊ะ หากผ่านไปได้โดยที่ไม่มีความอยากเกิดขึ้นให้ได้รับรู้ก็ถือว่าผ่าน รอไปทดสอบในด่านของอัตตา หรือในระดับต่อๆไปได้

ขั้นตอนที่3). ตรวจสอบอัตตา

หากว่าเราเป็นผู้ผ่านในระดับกามมาแล้ว คือยินดีที่จะไม่เสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะมีเนื้อสัตว์มาวางตรงหน้าก็ไม่อยากกิน ไม่กินโดยที่ยังมีความสุขใจอยู่ แต่กลับมีอาการของฝั่งอัตตาขึ้นมาแทนเช่นไม่ชอบใจที่เห็นเนื้อสัตว์ ไม่ชอบที่ต้องร่วมโต๊ะกับคนกินเนื้อสัตว์ ไม่ชอบใจที่ได้กลิ่นเนื้อสัตว์และเห็นคนกินเนื้อสัตว์แสดงท่าทีเอร็ดอร่อย มีอาการรังเกียจกลิ่นและรังเกียจผู้ร่วมโต๊ะ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากร่วมโต๊ะ อยากจะแยกๆกันกินจะดีกว่า

อาการเหล่านี้เรียกว่าความยึดดีถือดี มันจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่มันก็จะไม่มีความสุขที่ต้องกินร่วมโต๊ะกับคนที่กินเนื้อสัตว์ คือไม่ยินดีร่วมใช้เวลาด้วยกัน รู้สึกขุ่นเคือง รังเกียจ ไม่ชอบใจอยู่ในใจลึกๆหรือกระทั่งแสดงอาการรังเกียจออกมาอย่างเห็นได้ชัดก็เป็นได้

การมีอัตตาหรือการยึดดีถือดีเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะที่ควรจะมี เพราะยังถือว่าเป็นความชั่วอยู่ ในส่วนที่กินมังสวิรัติได้นั้นดีแล้วแต่หากยังมีอาการเหล่านี้ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ดี เรียกว่า นรกคนดี คือหลงว่าสิ่งที่ตนทำนั้นดีกว่าคนอื่นก็เลยยกตนข่มท่าน ยกว่าตัวเองดีแล้วมักจะข่มผู้อื่นด้วยถ้อยคำ ท่าทาง ความคิด ฯลฯ

คนที่ติดดีเหล่านี้ยังไม่ผ่านด่านอัตตา จะเป็นลักษณะของมังสวิรัติทำลายโลก คือกินผักกินหญ้าไปก็ทำร้ายจิตใจคนอื่นไปด้วย ยังถือว่าหยาบอยู่ มีให้เห็นทั่วไปในสังคมผู้ลดเนื้อกินผัก เป็นอัตตาระดับหยาบธรรมดาๆไม่ใช่สิ่งพิเศษแต่อย่างใด สามารถมีได้ในคนกินมังสวิรัติทั่วไปโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้อัตตาตัวนี้มา เป็นกิเลสที่เห็นได้โดยทั่วไป ไม่น่าชื่นชม ไม่น่ายกย่อง หยาบ มีโทษมาก เป็นภัยมาก สร้างบาปกรรมอย่างมาก

ขั้นตอนที่4). สรุปผล

เราจำเป็นต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆย้ำๆ มีโอกาสก็ให้พาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์แบบนี้เพื่อให้ตัวเองได้เห็นกิเลสชัดยิ่งขึ้น เพราะความไม่อยากนี่ก็เป็นกิเลสเช่นกัน ผู้ที่ผ่านด่านนี้คือผู้ที่ไม่ยินดียินร้ายใดๆแม้จะต้องร่วมโต๊ะกับผู้อื่นซึ่งเขาเหล่านั้นยังกินเนื้อสัตว์อยู่

ด่านนี้ถือว่าเป็นด่านที่ง่าย หากจิตใจของท่านยังวนเวียนอยู่ในกามและอัตตาก็อย่าเพิ่งรีบขยับไปตรวจขั้นต่อไปให้มันลำบากเพราะถ้าด่านง่ายแบบนี้ยังผ่านไปไม่ได้ ด่านยากกว่านี้ก็ไม่มีวันที่จะผ่านได้ ดังจุดประสงค์ของเราคือการล้างกิเลส ซึ่งการกินมังสวิรัตินั้นเป็นเพียงเครื่องมือของเราเท่านั้น การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะล้างกิเลสเป็น แต่คนล้างกิเลสเป็นจะกินมังสวิรัติได้ เป็นการกินในลักษณะรู้แจ้งโทษชั่วทุกประการทั้งในมุมกามและอัตตา สุดท้ายเนื้อสัตว์เราก็จะไม่กินและอัตตาเราก็จะไม่มี

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)