Tag: ความอยาก

อยากมีลูก?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,203 views 0

อยากมีลูก?

อยากมีลูก?

…ความอยากนี้เกิดมาจากไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันก็เป็นเรื่องล้ำลึกที่ยากจะระบุให้แน่ชัดว่าคืออะไร เราสามารถเห็นได้เพียงปลายหางของกิเลสคือความอยากได้อยากมีอยากเป็น แต่นั่นก็เพียงแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุของกิเลสอยู่ตรงไหน ตัวตนของกิเลสอยู่ที่ใด ในบทความนี้เราจะมาไขกิเลสของความอยากมีลูกกัน

เรื่องกิเลสนี่ถ้าแบ่งออกกว้างๆสองทางเป็นทางโต่งสองด้าน ด้านหนึ่งคือกาม อีกด้านหนึ่งคืออัตตา ก็น่าจะพอให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่ากิเลสของเราอยู่ฝั่งไหน อาจจะหนักไปทางฝั่งหนึ่งหรืออาจจะกระจายทั้งสองฝั่ง แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถรู้แจ้งเรื่องกิเลสได้ตั้งแต่ตอนแรก มันจะซับซ้อน ลับลวงพรางแค่ไหนก็ต้องใช้ปัญญาถอดรหัสกิเลสกันเอาเอง

1). กาม

กามในศาสนาพุทธจริงๆ ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสมสู่หรือเรื่องลามกตามที่คนส่วนใหญ่เอาไปใช้กันผิดๆ ให้ความหมายแค่ในเชิงหยาบแต่ละทิ้งความหมายในนัยละเอียดไป แต่หมายถึงสภาวะที่เข้าไปเสพ การหลงไปเสพทั้งหมดไม่ว่าจะในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือที่เรียกว่ากามคุณ ๕ ซึ่งเป็นทางโต่งที่พาชั่วและเป็นทุกข์

กามในความอยากมีลูกนั้นเกิดขึ้นเพราะเราหลงว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นเป็นของดี เป็นของน่าหลงใหล น่าได้น่ามี เราจึงมีความรู้สึกว่าอยากมีลูกกับเขาบ้าง

เพราะในสังคมปัจจุบันเป็นยุคที่มีการแบ่งปันเรื่องราวและรูปภาพมากมาย เรามักจะเห็นพี่น้อง มิตรสหายมักจะลงรูปภาพลูกตัวเล็กน่ารัก ยิ้มหวาน หัวเราะร่า กิจกรรมที่น่าสนุกทั้งหลายที่มีกับลูก ทีนี้พอเราเห็นเข้ามากๆ เห็นบ่อยเข้าก็เริ่มอยากลองลิ้มชิมรสสุขอย่างเขาบ้าง เห็นเขาแสดงท่าทีว่าสุขแล้วมันก็อยากรู้ว่ามันจะสุขขนาดไหน ว่าแล้วก็วางแผนหาคู่มีลูกมีเต้าเสียเลยดีกว่า ไม่ลองไม่รู้…

ถ้าเราเข้าไปถามคนที่ยังติดกามในลูก ยังเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสในเด็กคนนั้นแล้วยังสุขอยู่ เขาก็จะบอกเราว่ามีแต่ความสุข แม้จะลำบากแต่ก็ยังสุข เขาจะเห็นว่าสุขลวงนั้นมากกว่าทุกข์ เพราะมันหลงติดสุขอยู่ พอเราไปคุยหรือได้รับข้อมูลจากคนมีกามกิเลสมากๆ เราก็จะรับกิเลสเหล่านั้นมาพอกกิเลสตัวเองจนหลงตามไปว่าการมีลูกนั้นสุขแบบนั้นแบบนี้ตามเขา

หากเราพิจารณาดีๆแล้ว กามคุณ ๕ นั้นแม้จะมีฝั่งของความงามเป็นตัวล่อ แต่สิ่งที่จะได้รับจริงๆแล้วเราจะได้รับกามที่เราไม่อยากได้ด้วย เช่นรูปไม่งาม เด็กหน้าตาไม่ดี หรืออาจจะพิกลพิการ ภาพเด็กร้องไห้ งอแง อึเด็ก ฉี่เด็ก กลิ่นไม่งามเช่นกลิ่นเหม็นจากของเสียของเด็ก เสียงไม่งาม เช่นเสียงร้องงอแงของเด็ก เสียงที่ดังจนแสบแก้วหู และสัมผัสที่ไม่งามเช่นต้องมาคอยเช็ดอึเด็ก เช็ดฉี่ เช็ดอ้วก เช็ดน้ำลาย ฯลฯ

ความไม่งามเหล่านี้มักจะไม่มีคนนำมาเผยแพร่ ไม่มีคนถ่ายรูปตัวเองเช็ดอึเด็กมาให้เห็น ไม่มีใครอยากอัดเสียงตอนลูกงอแงมาเผยแพร่ เพราะเขามักจะไม่ยินดีในความไม่งาม จนกระทั่งไม่ยอมรับการมีอยู่ของความไม่งามเหล่านั้น ถึงจะมีคนถามก็พูดไปเพียงแต่ว่ามีลูกแล้วดี น่ารัก มีความสุข ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง มีพี่เลี้ยงนี่จะยิ่งหลงเข้าไปใหญ่ เพราะไม่ได้รับทุกข์มาให้ได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างเต็มที่

หากเราเข้าใจว่าความน่ารักของเด็กนั้นมันไม่เที่ยง มันก็น่ารักได้ไม่นานแล้วมันก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ดื้อๆแบบเรานี่แหละ เราก็จะเริ่มคลายจากกาม และด้วยการพิจารณาความไม่งามทั้งหลายจะทำให้เราลดความหลงใหลในตัวเด็กคนนั้นหรือเด็กที่เราปั้นจินตนาการไว้ว่าจะเป็นลูกของเราในอนาคตได้มากขึ้น

2.) อัตตา

ในมุมของอัตตานั้นจะล้ำลึกซับซ้อนกว่าในมุมของกาม เพราะมีหลายเหตุปัจจัยที่ส่งผลเป็นความยึดมั่นถือมั่นที่จะเอาเหตุการณ์และอารมณ์ต่างๆมาเสพ ให้สมใจในความเป็นตัวตน สนองความเป็นตัวกู ของกู!!

2.1) ยึดมั่นถือมั่น…บางครั้งคนเราก็ยึดมั่นถือมั่นโดยที่ไม่มีเหตุผล เช่นฉันต้องมีลูก ฉันอยากมีลูก เป็นความรู้สึกอยากล้วนๆที่แสดงออกมา แน่นอนว่าในความอยากนั้นมีบางสิ่งบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งอาจจะไม่สามารถรู้ได้เลยด้วยซ้ำเพราะกิเลสนั้นซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก หลบซ่อนอยู่ลึกสุดลึกในใจ

เกิดเป็นสภาพของความเอาแต่ใจ จะพยายามสร้างเหตุผลมากมายให้การมีลูกนั้นดูมีประโยชน์ขึ้นมาได้ แต่ยิ่งหาเหตุผลก็จะยิ่งยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก ทำให้เงื่อนปมของความอยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก หลงในอัตตาตัวเองมากเข้าไปอีก

หากเราสามารถลดความยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องมีลูกลง แล้วค่อยๆพิจารณาค้นลงไปถึงสาเหตุว่าสิ่งใดหนอที่ทำให้เรายึดมั่นถือมั่นจนเอาแต่ใจขนาดนี้ แน่นอนว่าหลังจากที่คลายความยึดมั่นถือมั่นได้และพิจารณาจนเกิดปัญญารู้ได้ว่าฉันยึดติดในอะไร ในกามอย่างนั้นหรือ ในโลกธรรมอย่างนั้นหรือ หรือเพราะปมด้อยของตัวฉันเอง

2.2) สนองอัตตา … เป็นมุมที่ค่อนข้างหยาบแต่จะไม่เอามากล่าวก็คงไม่ได้ คนที่สร้างลูกขึ้นมาเพื่อตัวเอง เพื่อเสพสมใจตัวเอง เพื่อให้ตัวเองได้เสพสุขในอนาคตเช่น เพื่อให้ลูกสืบต่อกิจการ เพื่อให้ลูกมาดูแลตัวเองตอนแก่ เพื่อให้ลูกมาแก้เหงา ฯลฯ ความอยากเหล่านี้เป็นความอยากที่เห็นแก่ตัวมากเพราะจะเอามาเสพเพื่อตนเองฝ่ายเดียว ทำดีหวังผล ทำตัวเป็นนักลงทุน โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “ลูก” เป็นเครื่องมือบำเรอความสุขให้ตนสมใจ

2.3) โลกธรรม …คนบางคนก็ไม่ได้ติดตรงที่ว่าอยากมีลูกเพราะเขาน่ารักหรอก แต่ติดตรงที่ว่าถ้าไม่มีเดี๋ยวใครเขาจะว่าไม่มีน้ำยา ไม่ครบองค์ประกอบของครอบครัว ซึ่งโดยปกติแล้ว คนเรามักจะพูดจาเสริมกิเลสกันและกันเมื่อเจอกับคู่แต่งงานที่ยังไม่มีลูกว่า , เมื่อไหร่จะมีน้อง , ไม่อยากมีหรอ , มีลูกเร็วๆนะ เดี๋ยวจะโตไม่ทันใช้ ,เมื่อไหร่จะมีลูกมาให้พ่อกับแม่ดูล่ะ ฯลฯ สารพัดถ้อยคำที่คอยกระตุ้นโลกธรรมของเราให้สั่นไหว คนที่พ่ายต่อโลกธรรมมักจะหลงไปในคำพูดยุยงของกิเลส หลงเชื่อไปตามโลก มีลูกไปตามโลก เพื่อที่จะเสพสมใจบางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง

2.4) ปมด้อย…คนบางคนมีปมด้อยที่ฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เช่นพ่อแม่เลี้ยงมาไม่ถูกใจ ไม่สมดังใจหมาย ได้รับการดูแลที่รู้สึกว่าไม่เป็นมาตรฐาน เกิดเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ สะสมลงจนตกผลึกกลายเป็นปมด้อย เป็นอัตตาตัวหนึ่ง

มีให้เห็นไม่น้อยกับคนที่สนองตัณหาลูกด้วยปมด้อยของตัวเองเช่น สมัยตนเองเด็กๆไม่ได้ของเล่น พอมีลูกเลยระบายปมด้อยนั้นลงที่ลูก ซื้อของเล่นให้ลูกอย่างเต็มใจเพราะต้องการใช้ลูกเป็นสื่อในการสนองสิ่งที่ขาดในใจของตนเอง

ในมุมของความอยากมีลูกคนที่มีปมด้อยจะรู้สึกในใจอยู่ลึกๆว่าตนเองนั้นน่าจะทำได้ดีกว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงมา คิดว่าจะทำให้ดีกว่าถ้าได้ทำ อยากจะสร้างลูกขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ปมด้อยตัวเองว่าฉันทำได้ นี่ไงฉันเลี้ยงลูกได้ดีกว่า เป็นการใช้ลูกมาเป็นเครื่องสนองปมด้อยตัวเองไปในตัว

2.5) หลงในธรรมชาติ…ความเข้าใจที่ว่าการใช้ชีวิตหรือการปฏิบัติธรรมคือธรรมชาตินี่แหละคือความเห็นที่ทำให้เข้าใจผิดว่าคนเกิดมาแล้วต้องสืบพันธุ์ออกลูกออกหลาน แม้ว่าในสังคมปัจจุบันจะมองดูเหมือนเป็นความสมบูรณ์ของครอบครัว เป็นผลแห่งความสุขในชีวิตคู่ เป็นหน้าที่ของคนในสังคม การจะมีความเข้าใจเช่นนี้ก็คงไม่ผิดไปจากหลักของโลกนัก

แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า สิ่งที่เราเกิดมาแล้วควรละเสียคือการเสพเมถุน ท่านว่าแค่ใช้อาศัยเกิด แต่เกิดมาแล้วไม่ต้องไปทำแบบนั้น แทบไม่ต้องพูดถึงการมีลูกเลย เพราะท่านให้ละการสมสู่แล้วเรื่องลูกนี่ยังไงก็ต้องละเว้นอยู่แล้ว

คนที่หลงติดหลงยึดก็จะมองว่าไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ สวนทางกับธรรมชาติ คนอื่นเขายินดีในการมีลูกกัน แต่สาวกของพระพุทธเจ้าต่างไม่ยินดี นี่มันขัดกับธรรมชาติอย่างชัดเจน

ถ้าให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติคนก็ไม่ต้องมีศีลธรรมกันมากนัก ปล่อยไปตามธรรมชาติ เสพกิเลสไปตามธรรมชาติและเสื่อมไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าอยากเป็นธรรมชาติก็ไม่ยาก แค่ปล่อยไปตามสบายไม่ต้องศึกษาธรรมะให้มันหนักหัว ปล่อยให้มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ทำใจยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเอง ว่าแล้วก็เสพเมถุนสมสู่คู่ครอง มีลูกกันต่อไปตามธรรมชาติ

การมีลูกไม่ใช่คำตอบในชีวิตคู่ ไม่ใช่ความสมบูรณ์ของคู่ครอง ความรักไม่ได้ทำให้เกิดลูก แต่เป็นความใคร่ เสพเมถุน สมสู่กันจนเกิดลูก ดังที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีเด็กจำนวนมากเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ และเด็กจำนวนมากเกิดขึ้นมาโดยไม่มีวันได้ลืมตาดูโลก

การที่เรารู้สึกยินดีรักใคร่ในตัวของคู่ครอง เราเข้าใจว่าคู่ครองเป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้หมายว่าลูกจะเป็นคนดี คู่ครองเรายังพอจะเลือกเฟ้นได้บ้างจากศีลธรรม แต่ลูกนั้นเลือกไม่ได้ เป็นใครก็ไม่รู้มาเกิด เรากำลังจะเชิญใครก็ไม่รู้เข้ามาในชีวิตคู่ให้มันยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก เลือกก็เลือกไม่ได้ แถมยังต้องมาคอยบำรุงบำเรอกิเลสลูกจนกลายเป็นภาระอีก เป็นทุกข์ตามธรรมชาติของคนมีกิเลสจริงๆ

การที่เราจะสวนกระแสธรรมชาตินั้นไม่ได้มีผลให้จำนวนประชากรในโลกลดลงแม้แต่น้อย ในแต่ละวันนี้แค่ในประเทศไทยก็มีคนเกิดวันละ 2000 กว่าคนแล้ว ส่วนคนที่จะมาลดความอยากได้นั้นจะมีสักกี่คน ใครจะยอมเสียสละไม่มีลูก ใครจะมีปัญญาเห็นได้ว่าการมีลูกนั้นเป็นทุกข์

เมื่อสถิติในประเทศนั้นเกิดปีละ 7-8 แปดแสนคนต่อปี นี่แค่ในประเทศนะถ้าทั่วโลกจะเยอะขนาดไหน เพราะการมีลูกนี่มันไม่ได้เกิดด้วยปัญญาแต่มันเกิดด้วยอวิชชา ไม่ต้องมีปัญญาก็มีลูกได้ คนป่าก็มีลูกได้ แล้วยังไงล่ะ เราก็มีอัตตาซ้อนว่าเราจะผลิตลูกที่เก่งและดีขึ้นมาเพราะเราหลงว่าตัวเราเก่ง เราฉลาดขนาดนี้ลูกเราต้องดีแน่นอน โดยที่ไม่รู้เลยว่าลูกที่จะมาเกิดนั้นจะเป็นใคร เดรัจฉานกลับชาติมาเกิดหรือเจ้ากรรมนายเวรกลับมาทวงหนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน

คนมีปัญญานี่เขาจะไม่เป็นไปตามธรรมชาตินะ เขาจะไม่เห็นด้วย เพราะเขาเห็นอยู่เต็มๆตาว่ามันเป็นทุกข์ มีลูกยังไงมันก็เป็นทุกข์ มันไม่มีสุขเลยสักนิด แล้วจะไปเป็นทุกข์ให้มันโง่ทำไม ทุกวันนี้ก็โง่พออยู่แล้วจะไปหาเรื่องหาภาระใส่ตัวอีกทำไม แต่เขาก็ไม่ได้เกลียดนะ ไม่ได้ชังเด็กหรือชังคนมีลูกแต่อย่างใด เพราะเข้าใจว่าโลกก็แบบนี้ คนที่เป็นไปตามโลกก็แบบนี้ การใช้ชีวิตดำเนินไปตามธรรมชาติในโลกของกิเลสมันก็แบบนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,642 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติง่ายๆ

January 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,582 views 0

มังสวิรัติง่ายๆ

มังสวิรัติง่ายๆ

…วิธีกินมังสวิรัติแบบง่ายๆด้วยการใช้หลักการของอิทธิบาท ๔

ในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำวิธีกินมังสวิรัติที่ง่ายสุดง่ายโดยใช้ธรรมในบทของอิทธิบาท ๔ หรือธรรมที่นำมาซึ่งความสำเร็จ ใครที่ได้ลองทำตามกระบวนการของอิทธิบาท ๔ ก็จะสามารถสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จได้โดยไม่หลงทาง มาเริ่มกันเลย

1). ฉันทะ

คือความยินดี เต็มใจ พอใจที่จะกินมังสวิรัติ เมื่อเราอยากจะกินมังสวิรัติได้เป็นประจำ เราก็ต้องขยันพิจารณาประโยชน์ เมื่อเราเห็นประโยชน์เราก็จะพอใจที่จะทำสิ่งนั้น คือการหาข้อดีต่างๆของมังสวิรัติเช่น ดีต่อสุขภาพ ไม่เบียดเบียน ประหยัด ได้กุศล ฯลฯ เมื่อพิจารณาประโยชน์ดังนี้ซ้ำๆจะทำให้เข้าถึงมังสวิรัติได้ง่ายขึ้น

2). วิริยะ

คือความเพียรพยายามที่จะกินมังสวิรัติ ลดเนื้อกินผักให้ได้ตามที่จะทำไหว แม้จะหากินได้ยากและลำบากก็จะพยายามลองหาเมนูที่ผักเยอะเนื้อสัตว์น้อยดูก่อน หรือในอีกกรณีหนึ่งคือรู้สึกว่าการกินแต่ผัก แป้ง ฯลฯ โดยไม่มีเนื้อสัตว์นี่มันยากและลำบาก แต่ก็ให้อดทนฝืนกล้ำกลืนกินไปก่อน พยายามสร้างนิสัยแห่งความเพียรไปก่อน

3). จิตตะ

คือความตั้งมั่นในเรื่องที่จะทำ มีจิตใจจดจ่อกับสิ่งนั้นๆ ทุ่มเทใจทั้งหมดในสิ่งนั้น เมื่อเราสร้างความชอบ และรักษาความเพียร และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำเช่น เรากินมังสวิรัติเราก็ต้องหาเมนูมังสวิรัติ ร้านขายวัตถุดิบมังสวิรัติ หาความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติ หรือวิธีการกินมังสวิรัติต่างๆ จดจ่ออยู่กับการลดเนื้อกินผัก เพื่อที่จะลดเนื้อสัตว์ได้ดียิ่งขึ้น กินผักได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น

การที่เรามีความจดจ่อกับสิ่งที่ทำนี้เอง จะทำให้เราเกิดปัญญาแก้ปัญหาที่เจอได้ เช่นการประยุกต์เมนูอาหารขึ้นใหม่ ในร้านอาหารตามสั่งที่ไม่มีแม้แต่ผัดผัก เพราะเราจดจ่ออยู่กับการลดเนื้อกินผัก ไม่เผื่อใจเหยาะแหยะกลับไปกินเนื้อ เราจึงสามารถหาทางออกเพื่อที่จะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุดได้ โดยไม่ทำให้ตนเองลำบากจนถึงขั้นทุกข์ทรมาน

4). วิมังสา

คือการพิจารณาทบทวน เนื้อหาสาระและผลในสิ่งที่ทำ เช่นกินมังสวิรัติแล้วชีวิตดีขึ้นอย่างไร สุขภาพดีขึ้นอย่างไร จิตใจดีขึ้นอย่างไร การพิจารณาทบทวนผลที่ได้มาจากการปฏิบัติ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ซึ่งการมีวิมังสานั้นจะเพิ่มกำลังของกระบวนการทั้งหมดให้มากขึ้น หากเรากินลดเนื้อกินผักและพิจารณาผลที่ได้บ่อยๆและละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เรามีปัญญามากขึ้น ซึ่งจะต่างกับการที่เรากินมังสวิรัติเฉยๆ กินผักกินหญ้าเฉยๆ เพื่อดำรงชีวิตโดยไม่พิจารณาทบทวนในสิ่งที่ทำ ไม่หาสาระประโยชน์ใดๆ ถือว่าไม่ครบองค์แห่งอิทธิบาท

สรุป

…ด้วยหลักสั้นๆเพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถลดเนื้อกินผัก หรือกินมังสวิรัติได้ตลอดชีวิตแล้ว เพราะใช้การเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติเข้ามาเป็นเครื่องชี้นำ แต่ถึงอย่างนั้นวิธีเหล่านี้ก็เป็นเพียงการใช้ธรรมะมานำชีวิตไปสู่จุดที่ต้องการแบบโลกๆ เป็นรูปแบบของโลกียะ เป็นแบบทั่วไป ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็ถูกดัดแปลงไปใช้ในตำราเกี่ยวกับการทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จมากมาย

การกินมังสวิรัติได้ ลดเนื้อกินผักได้ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิตนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะพ้นจากความอยาก ไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น ไม่ได้เกี่ยวกับการทวนกระแสหรือโลกุตระใดๆเลยด้วยซ้ำ การกินมังสวิรัตินั้นยังเป็นการทำความดีแบบโลกๆ เข้าใจกันได้โดยทั่วไปว่านี่คือความดี ไม่ต้องเป็นพุทธ ไม่ต้องมีศาสนาก็กินมังสวิรัติได้

แต่ความดีโลกุตระนั้นจะต่างออกไป ซึ่งโจทย์ในการเริ่มต้นจะไม่เหมือนกันเลย การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจทั่วไปนั้นคือการเอาเหตุผลภายนอกเข้ามาเป็นฉันทะ แต่การที่เราจะสวนกระแสโลกได้นั้นเราต้องมีฉันทะในการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดและเข้าใจยากกว่าการเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติอย่างมาก

ดังนั้นใครที่พอใจจะเข้าถึงเพียงมังสวิรัติ อยากกินมังสวิรัติ ไม่อยากเบียดเบียน อยากมีสุขภาพดี ฯลฯ ก็ทำตามอิทธิบาท ๔ ดังที่ยกตัวอย่างในตอนต้นเรื่อง ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสของตนเองในเรื่องมังสวิรัติก็จะมีทางเลือกให้ศึกษากันในกลุ่ม Buddhism Vegetarian เป็นกลุ่มที่ตั้งไว้เพื่อปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการฝึกและปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

3.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เจ็บแล้วไม่จำ

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,345 views 0

เจ็บแล้วไม่จำ

เจ็บแล้วไม่จำ

…แม้จะไม่สมหวังในความรัก แต่ก็ยังจะพยายามเพื่อให้ได้รักมา

ผู้คนมากมายต่างแสวงหาความรัก โหยหาคนรัก คนดูแล คนเอาใจ คนที่จะมาครองคู่ คนที่จะมาอยู่ร่วมกัน แม้ว่าเส้นทางนั้นจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อให้ได้มา แต่ทำไมพวกเขาถึงยังไม่ท้อ ไม่หมดหวัง ไม่เคยเลิกล้มความตั้งใจเหล่านั้นเลย

…แรงผลักดันจากกิเลส

สิ่งที่ผลักดันให้เราพยายามเพื่อที่จะให้ได้มานั้นก็คือ “กิเลส” เจ้ากิเลสนี้เองที่เป็นตัวสร้างกำลังผลักดันให้กับเรา โดยเผาพลาญกำลัง สติ ปัญญา ของเราไปเพื่อใช้กับเรื่องเหล่านี้

คนที่หลงแสวงหาความรักจะสูญเสียศักยภาพไปส่วนหนึ่ง เพราะต้องเอากำลังความคิดและเวลาไปเสียให้กับการคิดในเรื่องของความรัก ยิ่งคิดก็ยิ่งอยากได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเป็นทุกข์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกคิดได้ เพราะมันมีความอยากมีความต้องการ ที่มันต้องการมากขนาดนั้นเพราะมันหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสุข

กิเลสนี้เองทำให้เราคิด ทำให้เราพูด ทำให้เราเดินไปหาความรัก เหมือนกับตุ๊กตาหุ่นเชิดที่ถูกจูงให้ทำตามกิเลส ไม่มีโอกาสได้คิดและทำด้วยตัวเอง มีแต่ต้องทำตามคำสั่งของกิเลสเท่านั้น

…ความรัก(กิเลส) อันยิ่งใหญ่

เรามักจะได้เห็นภาพความรักที่ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ ทุ่มเท เสียสละ อดทดเพื่อที่จะได้มาซึ่งความรัก ยอมรอคอย ดูแล เอาใจใส่ รักใคร่ เกื้อกูล ประคบประหงม เลี้ยงดู ฯลฯ สิ่งที่ดูเหมือนจะวิเศษและน่าประทับใจในทางโลกเหล่านี้ จริงๆก็เกิดมาจากความยิ่งใหญ่ของกิเลส กิเลสนั้นทำให้ดูเหมือนว่าเรามีความรักที่ยิ่งใหญ่

แต่ความเป็นจริงมันคือความอยากที่ยิ่งใหญ่ ความกระสันอยากได้อยากเสพ ต้องการมาครอบครองด้วยความรู้สึกอันแกร่งกล้าและรุนแรงทำให้คนสามารถทำอะไรที่ดูพิเศษพิสดารได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่แสดงนั้นเป็นเพียงละครที่กิเลสสั่งให้เล่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการและใคร่อยากเสพ แม้ว่าจะเล่นบทเหล่านั้นได้ดีแค่ไหน ซาบชึ้งประทับใจเรียกน้ำตาผู้ชมแค่ไหน สุดท้ายก็เป็นเพียงแค่บทที่กิเลสได้เขียนไว้เท่านั้นเอง

ความรักแท้จริงนั้นไม่ได้หวือหวา ไม่ได้พิเศษ ไม่ได้แสดงความยิ่งใหญ่ด้วยสัญลักษณ์ใดๆ แต่เป็นความเบาสบาย เรียบง่าย ผ่อนคลาย ยิ่งใหญ่เพียงแค่ในนามธรรมและไม่แสดงออกเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนนัก

….ความอิจฉา

ภาพของคนที่รักกันเป็นคู่รักกัน พลอดรักกันมีกิจกรรมต่างๆร่วมกัน มีลูกด้วยกันนั้น เป็นสิ่งที่เพิ่มพลังให้กับความอยากได้อยากมี

คนที่ยังไม่มีก็เกิดอาการอิจฉาริษยา อยากได้อยากมีแบบเขาบ้าง หลงคิดไปว่าถ้าได้แบบเขาแล้วเราจะมีความสุข นั่นเราโดนเขาหลอกแล้ว เขาก็แสดงให้เราเห็นเฉพาะตอนเขามีความสุขนั่นแหละ ตอนเขาทุกข์เขาไม่ประกาศหรอก คนที่บูชาความรักนั้นจะไม่พูดข้อเสียของการมีคู่รักเลย เขาจะส่งเสริมให้คนมีคู่ ให้คนมีลูก เพราะเขาหลงสุขในความรักนั้น

แต่คนที่ขยาดในความรักจะทำตรงกันข้าม คือประณามความรัก รังเกียจความรัก ซึ่งตรงนี้คนที่เขาอยากมีความรักก็จะไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ เพราะคนเรามักจะเลือกสนใจตามสิ่งที่กิเลสผลักดันให้สนใจ ถึงแม้ว่าจะมีคนมาบอกว่าความรักทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่คนที่หลงไปกับความรักก็จะไม่รับสารเหล่านี้

ในทางกลับกันก็จะมุ่งไปในทางที่กิเลสต้องการ คือการใฝ่หาคู่รัก เพราะตนเห็นว่าคนรอบข้างและหลายคนในสังคมนั้นดูมีความสุข ไม่ว่าจะมีคนชี้ให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของความรักขนาดไหน แต่พวกเขาก็ยังคงยินดีที่จะศรัทธาและอิจฉาในความสุขลวงของความรักเหล่านั้น

…รักได้แต่หยุดรักไม่เป็น

อาการเจ็บแล้วไม่จำนั้นเกิดจากเราไม่สามารถปล่อยวางความอยากได้ เหมือนกับคนที่สามารถรักได้ แต่หยุดความรักไม่เป็น

การที่เราจะหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หลงแบบหัวปักหัวปำ ทุ่มเทถวายชีวิต เทิดทูนบูชารักนั้นเป็นเรื่องง่าย แทบไม่ต้องใช้สมองเลย แค่ปล่อยให้กิเลสนำพาก็สามารถทำได้ แต่เรื่องของการหยุดหรือการปล่อยวางซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับกิเลสย่อมทำได้ยาก เพราะกิเลสนี่เองจะพาเราไปเสพสุข แม้ว่าข้างหน้าจะเป็นกำแพงมันก็จะผลักเรากระแทกกำแพงนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหมือนกับเรามีกำแพงกุศล กำแพงศีลธรรม มากั้นไว้เพื่อไม่ให้เราไปทำบาป ไม่ให้เราสะสมกิเลส แต่กิเลสก็จะพาเราไปทำลายกำแพงเหล่านั้นจนสิ้นซาก ใช้ความอยากมาหลอกล่อความสนใจไม่ให้เรารู้สึกเจ็บปวด บังไม่ให้เราเห็นความจริง ให้เราหมกมุ่นกับความรัก ให้เราเดินหน้าลุยต่อไปแม้ปลายทางจะเป็นเหวนรกที่ไร้ที่สิ้นสุด ใช้สุขลวงมาล่อให้เราทุกข์จริงไปชั่วกัปชั่วกัลป์

เมื่อหยุดรักไม่เป็นมันก็จะกลายเป็นคนที่โหยหาความรัก แม้ไม่สำเร็จกับคนหนึ่งก็จะไปเริ่มใหม่กับอีกคนหนึ่ง หรือหลายคนพร้อมกัน เกิดเป็นอาการที่เรียกว่า “คนเจ้าชู้” เพราะมีความโลภ อยากได้หลายๆอย่างมาครอบครองในเวลาเดียวกัน เพราะหยุดเสพไม่ได้จึงต้องพยายามสะสมเพื่อหามาเสพ เป็นเหมือนรถที่ไม่มีเบรกขับตรงไปบนถนนแห่งหายนะโดยที่ไม่สามารถถอนคันเร่งได้

กิเลสมันก็ผลักดันเราอยู่แบบนี้ โดยใช้คำที่สวยหรูว่าในนามแห่งความรัก ฉันจะยินดีเฝ้าตามจีบ เฝ้าตามง้อและเอาใจ อดทน รอคอย จนกว่าที่ฉันจะได้เธอมาเสพสมใจ ถึงแม้จะไม่ได้ ฉันก็จะพยายามต่อไปเพราะฉันมีรักแท้ (กิเลสแท้ๆ)

…อยากได้สิ่งที่ไม่มีวันได้

ความอยากนั้นยังไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนรักเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการจะเอาสิ่งที่รักด้วย เช่นเราไปชอบดารา นักแสดง คนมีชื่อเสียง เราก็ติดตามเขา พอชีวิตเขาไปเจอเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้เราก็มีอารมณ์ร่วมไปกับเขา ไปอยากดูรูปเขา อยากฝันถึงเขา อยากให้เขาได้เจอสิ่งดีๆ คอยเสพความเป็นเขาอยู่ห่างๆเอาเขามาเป็นอัตตา เป็นตัวตนของเรา เป็นสุขเป็นทุกข์ของเรา

ทีนี้มันจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเรา เราก็จะเริ่มขุ่นใจ ไม่พอใจ เพราะไม่สมดังใจเรา เราเริ่มจะอยากได้ในสิ่งที่ไม่มีวันได้ แม้มันจะไม่เกี่ยวข้องกับเราก็ตาม เป็นเหมือนกับหมามองเครื่องบิน เมื่ออยากได้แต่ไม่มีวันได้นี่มันก็จะต้องทนทุกข์กับความอยาก ความไม่พอใจ ความไม่สมใจอยู่เรื่อยไป

…ความเพียรที่พาให้หลงผิด

ความเพียรพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งความรักนี้แม้ในทางโลกเขาจะชื่นชมความพยายาม ดังที่หลายคนได้ประกาศในงานแต่งงาน เช่นตามจีบมา 10 ปี รอคอยมาหลายปี เอาใจมาหลายปี พิสูจน์รักกันมาหลายปี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้าได้ยินได้ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกน่าประทับใจ ดูมีความมั่นคงในความพยายาม

แต่ความพยายามทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามที่ผิดทาง เป็นมิจฉาวายามะ เป็นความเพียรที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพียรหาเรื่องใส่ตัว เป็นโสดก็ดีอยู่แล้ว ยังไปหาใครเข้ามาเสพให้เป็นภาระของชีวิต เพียรแบบนี้มันจะพาลงนรก พาให้เป็นทุกข์ทรมาน

ความเพียรที่ผิดนั้นเกิดจากอะไร? ความผิดเหล่านั้นเริ่มเกิดจากความเห็นความเข้าใจที่ผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อมีความเห็นผิดก็จึงมีความเพียรที่ผิดตามไปด้วย ก็เลยตั้งหางเสือมุ่งตรงไปทางทิศของนรกอย่างเพียรพยายามไม่ลดละ สุดท้ายจึงถึงนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ได้ทุกข์ ได้ภาระ ได้กิเลสมาครอบครอง

เมื่อเราเพียรด้วยความหลงผิดจนได้คู่มาครอบครอง จะพบว่านอกจากจะต้องสนองกิเลสของตัวเองแล้วยังต้องสนองกิเลสของคู่อีก พอเราเริ่มจะใช้ร่างกายและจิตใจของคู่ครองสนองตัณหาความใคร่อยากใดๆจนเบื่อแล้วเราก็เริ่มจะเห็นนรก เริ่มเห็นเป็นภาระ แต่ในระยะที่ได้มาเสพเราจะไม่เพียรแล้ว เหมือนเรือที่ทอดสมออยู่กลางนรกมันก็จมอยู่ในนรกกันทั้งคู่นั่นเอง

เพราะต้องคอยสนองกิเลสของตัวเองและคู่ แค่กิเลสตัวเองก็แทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว ยังต้องมาบำรุงบำเรอกิเลสของคู่อีก ไหนจะมีพ่อตาแม่ยาย ญาติโกโหติกาอะไรต่อมิอะไรเข้ามาเสริมกิเลสกันอีก ดีไม่ดีมีลูกเพิ่มขึ้นมา ต้องสนองกิเลสลูกอีก ตอนเด็กๆมันก็น่ารักดีอยู่หรอก แต่พอเริ่มโตแล้วก็เริ่มจะอยากได้อยากมี เราก็ต้องมารับผิดชอบสนองกิเลสของลูกด้วย

นี่เห็นไหม คนเราเพียรพยายามเพื่อให้ได้ทุกข์มาครอบครอง เป็นความเพียรที่ผิด ความเพียรที่เกิดจากความหลง เป็นความเพียรที่โดนกิเลสลากไปตั้งแต่แรก มันเลยเพี้ยนแบบนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนอีกมากมายหลายพันล้านที่มีความเพียรขยันทำทุกข์เพราะเห็นว่าทุกข์เหล่านั้นเป็นสุข เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แต่ก็ช่างเถอะนะสุดท้ายทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่สุดแห่งทุกข์ ผู้ที่หลุดจากขุมนรกทุกคนไม่มีใครไม่เคยพลาด ไม่มีใครไม่เคยผิด ไม่มีใครไม่เคยพาตัวเองให้ทุกข์ สุดท้ายเมื่อทำผิดจนทุกข์เกินจะทน เจ็บปวดทรมานจากความทุกข์ คนก็จะเลิกทำสิ่งที่ผิดแล้วหันมาทำสิ่งที่ถูกเอง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

26.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์